Skip to main content

ไม่เพียงแต่นักเขียนบางคนเท่านั้นที่อาจจะไม่เข้าใจหรือมองข้ามประเด็นความแตกต่างทางชาติพันธ์ุ แต่ผมคิดว่าแวดวงภาษาและวรรณกรรมบ้านเราอาจจะไม่ตระหนักถึงปัญหานี้โดยรวมเลยก็ได้ และในแง่หนึ่ง ผมคิดว่าซีไรต์เองอาจจะมีส่วนสร้างวัฒนธรรมไม่อ่อนไหวต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน และถึงที่สุดแล้ว นี่อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดที่ปิดกั้นโอกาสที่วรรณกรรมไทยจะก้าวเข้าสู่ระดับสากล

เมื่อวันเสาร์ที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา ผมได้รับเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญให้ไปร่วมสนทนากับคนในแวดวงวรรณกรรมในหัวข้อ "วรรณ(วาท)กรรมซีไรต์ เมื่อรางวัลซีไรต์ถูกตั้งคำถาม" จัดโดยชุมนุมวรรณศิลป์ ธรรมศาสตร์ ในโอกาสครบรอบ 50 ปีของชมรม ที่สวนศิลป์ ท่าพระจันทร์ ผมเข้าใจว่าส่วนหนึ่งที่ผู้จัดเชิญมาคงเพราะหนังสือเล่มหนึ่งที่เข้ารอบซีไรต์ปีนี้ ถูกตั้งคำถามอย่างแรงถึงการที่ผู้เขียนใช้สัญลักษณ์ในเชิงดูถูกกลุ่มชาติพันธ์ุหนึ่ง 

 

ขอคัดสรรประเด็นที่นำเสนอในงานเสวนาดังกล่าวมาเรียบเรียงนำเสนอดังนี้

 

(1) ซีไรต์ ไม่ write อะไร

 

ผมเข้าไปใน www.seawrite.com (ซึ่งก็อาจไม่ยุติธรรมกับซีไรต์นัก เพราะเขาคงเพิ่งเขียนขึ้น จึงไม่ได้ให้ข้อมูลครบถ้วนนัก) ผมอ่านประวัติการก่อตั้ง วัตถุประสงค์ เกณฑ์การคัดเลือกผลงานเพื่อให้รางวัลแล้ว ก็สรุปเอาเองว่าที่มาของรางวัลนี้เป็นความคิดจากอีลีทตั้งแต่แรก ก่อตั้งโดยเชื่อมโยงกับโรงแรมหนึ่ง สายการบินหนึ่ง บริษัทก่อสร้างที่มีอิทธิพลแห่งหนึ่ง เจ้านายคนหนึ่ง และออกจะ "orientalism" ทั้งในความหมายที่นักวิจารณ์วรรณคดีหลังอาณานิคมใช้ และในความหมายที่ผูกโยงกับผู้ก่อตั้งรางวัลนี้

 

แน่นอนว่าเราไม่ควรมีอคติกับชนชั้นสูง ชนชั้นนำ คนรวย เพราะอย่างน้อย อาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ผู้ร่วมเสวนา ก็ได้กรุณาอธิบายว่า กำเนิดซีไรต์นั้น ส่วนหนึ่งมาจากกระแสสังคมหลัง 6 ตุลาคม 2519 ที่ทำให้ซีไรต์เป็น "เสมือนคณะกรรมการสมานฉันท์ทางวรรณกรรม" (คำของอาจารย์ชูศักดิ์) คือไม่ซ้ายเกินไป ไม่ขวาจัดไป เพียงแต่ว่า ถึงทุกวันนี้แล้ว เราทบทวนทิศทางของซีไรต์กันแค่ไหน ระบบคุณค่าแบบไหนกันแน่ที่ซีไรต์ส่งเสริมและปิดกั้น

 

ผมอ่านวัตถุประสงค์สองในสี่ข้อของซีไรต์ในพากย์ภาษาอังกฤษ (ซึ่งไม่เหมือนกับที่แปลเป็นภาษาไทย) แล้วเห็นว่า ซีไรต์ไม่ได้ทำอย่างที่ได้วางวัตถุประสงค์ไว้เลย หรือสงสัยว่า ซีไรต์ได้ทำสิ่งเหล่านั้นแค่ไหน มีข้อหนึ่งระบุว่า "เพื่อขยายความตระหนักและความเข้าใจถึงความรุ่มรวยของวรรณคดีระหว่างประเทศอาเซียนสิบประเทศ" อีกข้อหนึ่งระบุว่า "เพื่อนำเอาบรรดอัจฉริยภาพของเหล่านักเขียนอาเซียนเข้ามาไว้ด้วยกัน" 

 

อ่านจากวัตถุประสงค์สองข้อนี้ ผมเห็นการแลกเปลี่ยนวรรณกรรมระหว่างประเทศและระหว่างนักเขียนอาเซียน เห็นมิติของวรรณกรรมที่จะต้องครอบคลุมระดับภูมิภาค เห็นการไหลเวียนเรียนรู้จากกันและกันของแวดวงวรรณกรรมอาเซียน แต่นั่นเป็นภาพซึ่งผมจินตนาการไม่ออกเลยว่าได้เห็นจากรางวัลซีไรต์ที่สืบทอดมากว่า 30 ปีแล้ว 

 

แถมซีไรต์ยังมีเกณฑ์บางอย่างที่เรียกได้ว่ากำกับความเป็นวรรณกรรมให้เป็นแบบใดแบบหนึ่ง เช่นที่ระบุในภาษาอังกฤษแปลได้ว่า "ควรจะเป็นผลงานที่ไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง (non-political)" และดังที่รู้กันว่า งานแนวอีโรติคจะเป็นงานที่ตกรอบซีไรต์แน่ๆ ไม่ต้องส่งมา

 

ผมจึงเห็นว่า จะว่าซีไรต์สนใจเฉพาะคุณค่าเชิงวรรณกรรมเหนือคุณค่าอื่นๆ ก็ไม่ถูก เพราะการก่อตั้งก็ตั้งมาด้วยความคิดบางอย่าง แถมในวัตถุประสงค์และเกณฑ์การคัดเลือกก็ยังระบุมิติที่นอกเหนือไปจากค่าเชิงวรรณศิลป์เอาไว้ด้วย และดังนั้น ซีไรต์จึง “ไม่ได้ไรต์” อะไรอีกมากมาย พร้อมๆ กับที่มันสร้างการเขียนแบบหนึ่งขึ้นมา 

 

มิติที่ผมเห็นว่าซีไรต์ขาดหรือจนกระทั่งอาจมีส่วนทำให้มันหดหายไปก็คือ การส่งเสริมความเข้าใจระหว่างคนที่แตกต่างกัน และการแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาทางวรรณศิลป์ระหว่างคนที่แตกต่างกัน อย่าว่าแต่ระหว่างประเทศอาเซียนเลย ภายในประเทศไทยเองก็ยังไม่ได้ทำ

 

(2) ซีไรต์กับการเขียนคนอื่น

 

จะว่าไป ประวัติการก่อตั้งซีไรต์ก็ทั้งมีความเป็น "บูรพคดีนิยม" (orientalism) และเกี่ยวโยงกับแวดวงวรรณกรรมที่เขียนเกี่ยวกับ "คนอื่น" ในระดับสากล ผมกำลังกล่าวถึงโจเซฟ คอนราด (Joseph Conrad) ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับการเขียนถึงชาวเกาะทรอเบียนของบรอนิสลอว์ มาลินอฟสกี (Bronislaw Malinowski) ที่คอนราดมาเกี่ยวกับซีไรต์ก็เพราะเขาได้มาพักที่กรุงเทพฯ โดยพำนักอยู่ที่โรงแรมซึ่งมีส่วนก่อตั้งรางวัลซีไรต์ นี่ทำให้ซีไรต์ไปโยงกับมานุษยวิทยาทางอ้อมๆ ผ่านนักเขียนที่มีอิทธิพลต่อนักมานุษยวิทยาคนสำคัญของโลกในศตวรรษที่ 20 อย่างไรก็ดี ทั้งงานของคอนราดและมาลินอฟสกีก็ล้วนถูกวิจารณ์ว่า เขียนถึงคนอื่นจากมุมมองที่มอง "คนตะวันออก" อย่างเหมารวมว่าตรงข้ามกับ "คนตะวันตก" แล้วสร้างภาพที่ด้อยกว่าของชาวตะวันออก 

 

หากถามว่าหนัังสือรางวัลซีไรต์สะท้อนอะไรแบบนั้นบ้างหรือไม่ ซีไรต์คงไม่ถึงกับสร้างภาพตะวันออกหรือภาพคนอื่น คนชั้นล่าง คนชนบท เพื่อให้คนเมือง คนชั้นสูงอ่านเพื่อความบันเทิงอย่่างขนบการเขียนแบบที่ถูกนักวิจารณ์วรรณกรรมแนวหลังอาณานิคมวิจารณ์คอนราดอย่างนั้น หากแต่ผมกำลังจะวิจารณ์ว่า ซีไรต์ของไทยผลิตซ้ำวัฒนธรรมภาษาและวรรณคดีแบบที่ยึดเอากรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง

 

ถ้าละจากซีไรต์ไปก่อน วรรณกรรมไทยเขียนถึง "ชนอื่นในแดนตน" แบบต่างๆ เช่น โคลงวัดโพธิ์ บทละครเงาะป่า นิราศหนองคาย จนถึงการเขียนถึงคนชนบท คนในท้องถิ่นต่างๆ ในจำนวนนี้ งานที่ได้ซีไรต์ที่ผมจำได้ชัดๆ ได้แก่ “ลูกอีสาน” และ “เจ้าจันทร์ผมหอม” อย่างไรก็ดี งานทั้งสองเป็นตัวอย่างอันน้อยนิดในจำนวนงานจำนวนมากที่เขียนด้วยภาษาและแนวการประพันธ์แบบภาคกลาง และหากไม่นับยอดขายแล้ว ใครสักกี่คนที่จะอ่านหนังสือสองเล่มนี้

 

คำถามที่ใหญ่กว่านั้นคือ งานเขียนที่ได้รางวัลซีไรต์นั้นจำกัดอยู่ในงานวรรณกรรมภาษาไทยมาตรฐานหรือไม่ และหากขยายไปถึงในแง่รูปแบบการประพันธ์ รูปแบบการประพันธ์แบบภาคกลางเท่านั้นหรือไม่ที่จะมีโอกาสเข้ารอบซีไรต์

 

ผมไม่ใช่คนที่จะอ่านนวนิยายหรือเรื่องสั้นอย่างเอาจริงเอาจัง ผมอาจจะอ่านบทกวีมากกว่า และเผอิญมี "เพื่อนกิน" เป็นกวีอยู่หนึ่งคน ที่พอจะได้แลกเปลี่ยนอะไรกันได้บ้าง วันหนึ่งผมถามเพื่อนคนนี้ถึงงานของกวีซีไรต์คนหนึ่ง ว่าทำไมนักเขียนคนนี้ถึงไม่เขียนงานด้วยภาษาและ "ลำ" แบบลาว หรือแม้แต่อันที่จริงเขาคนนี้น่าจะรู้ภาษาเขมร หรือผมเดาว่าเขาน่าจะรู้จักเพลงกันตรึม ทำไมเขาไม่เอางานพวกนั้นมาเผยแพร่บ้าง เพื่อนผมบอกเขาก็เคยถามกวีคนนี้เหมือนกัน กวีคนนี้ตอบว่า "เขียนแบบนั้นแล้วใครจะอ่านล่ะ จะเอาอะไรกินล่ะ" รายละเอียดที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ พี่ชายของกวีคนนี้เป็นนักร้องกันตรึม ส่วนน้องชายที่กำลังเป็นกวีดาวรุ่งก็เขียนบทกวีไทยโดยแทรกคำขแมร์เสมอๆ 

 

ผมถามตนเองในใจว่า นี่คือการทำลายวัฒนธรรมภาษาและวรรณคดีหรือไม่ แล้วนึกเลยไปอีกว่า ซีไรต์มีส่วนทำลายสิ่งเหล่านี้หรือไม่ กวีอย่างอังคาร กัลยาณพงศ์ ซึ่งรู้ภาษาไทยกลางดีกว่าคนกรุงเทพฯ ที่มีการศึกษาสูงๆ นั้น ทำไมไม่นำเพลงบอก เพลงโนรามาเผยแพร่หรือแทรกใส่เข้าไปในบทกวีของเขา ทำไมอังคารจึงละทิ้งตัวตนของตนเองไปเสีย แล้วเมื่อทำอย่างนั้นได้ดีแล้ว เขาก็กลับยิ่งได้รับการยกย่องจากคนกรุงเทพฯ ได้เป็นกวีซีไรต์ แล้วอังคารก็ภาคภูมิใจที่ตนเองร่วมลดทอนตัวตนของตนเอง ทั้งๆ ที่ฟังจากสำเนียงแล้ว อังคารต้องพูดภาษาใต้ได้ไพเราะกว่าภาษากลางแน่นอน และอังคารต้องได้ซึมซับเพลงบอก เพลงโนรามาอย่างลึกซ้ึงตั้งแต่วัยเด็กแน่นอน

 

นี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ แต่มันเกิดขึ้นในบริบททางการเมืองของการสร้างชาติสมัยใหม่แบบหนึ่ง หากมีโอกาส ผมสามารถเขียนสาธยายยาวๆ เปรียบเทียบให้เห็นถึงการให้การศึกษาทางภาษาและวรรณคดีในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามได้อย่างเป็นวรรคเป็นเวร ว่าเขาเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ทางภาษาและวัฒนธรรมข้ามวัฒนธรรมอย่างไร แม้แต่ภาษาเวียดถิ่นต่างๆ เขายังไม่กดไม่ปิดกั้นแบบรัฐไทยอันเป็นที่รักของเราเลย 

 

แต่เนื่องจากวิธีที่เราสร้างชาติ ซึ่งอันที่จริงเริ่มมาอย่างเข้มข้นตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และยิ่งเข้มข้นขึ้นอย่างไม่ขาดสายตั้งแต่สมัยที่คณะราษฎรมีอำนาจจนถึงปัจจุบัน เลือกที่จะทำลายภาษาและวรรณกรรมท้องถิ่น แนวทางนี้ยังสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน แม้แต่องค์กรเอกชนอย่างซีไรต์ก็ยังรับเอากรอบความคิดนี้ไว้

 

เรารู้จักหรือให้การศึกษาเรื่องวรรณกรรมท้องถิ่น วรรณกรรมชนกลุ่มชาติพันธ์ุอื่นๆ แค่ไหน รู้ไหมว่าลำมีกี่แบบ ค่าวซอเป็นอย่างไรทุกวันนี้เด็กเหนือรุ่นใหม่ๆ ยังไม่รู้จักเลย กันตรึมเขาเอาไว้ทำอะไรกันแน่ แล้วยังมีเจรียงอีก ส่วนภาคกลาง เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเรือ เพลงเต้นกำรำเคียว มันมีทำนองต่างกันอย่างไร เพลงบอก เพลงโนรา เด็กใต้ยังร้องได้ไหม ถ้าร้องได้แล้วจะมีวันได้ซีไรต์ไหม หรือต้องร้องจนแก่ใกล้ตายแล้วค่อยได้ศิลปินแห่งชาติไป

 

ซีไรต์ทำลายสิ่งเหล่านี้หมดเลย ซีไรต์มีส่วนร่วมสร้างภาษาไทยมาตรฐาน วรรณกรรมมาตรฐาน ซีไรต์ผลิตซ้ำวัฒนธรรมเดี่ยว สนองการสร้างชาติด้วยภาษาเดี่ยว และเนื่องจากวัฒนธรรมภาษา อักษร และวรรณคดีเรายังยึดอยู่กับความเป็นชาติไทย ในขอบเขตของชาติไทย ถ้ายังยึดกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางกันอยู่อย่างนี้ จะเขียนจะอ่านกันให้ตายอย่างไรเราก็ยังไม่มีทางขยายขอบฟ้า ขยายเพดานของสุนทรียรสทางวรรณศิลป์ได้ ตราบใดที่นักเขียนจากท้องถิ่นยังต้องทำลายตนเอง ยังต้องลดทอนความเป็นตัวของตัวเอง แล้วตราบใดที่เกณฑ์การคัดเลือกผลงานยังเป็นอยู่อย่างนี้ เราก็จะยังคงผลิตซ้ำงานเขียนกันแบบนี้แหละ

 

(3) ซีไรต์จะนำวรรณกรรมไทยไปสู่โลก?

 

ถึงตรงนี้คนอาจจะว่าผมคลั่งท้องถิ่น จะว่าอย่างนั้นก็ได้ จะว่าส่วนหนึ่งเพราะผมไม่มีท้องถิ่นของตัวเองก็เลยคลั่งก็เป็นได้ แต่หากผมจะมานั่งปกป้องตนเองด้วยการเล่าว่าตนเองเติบโตมาใน "ท้องถิ่น" แบบไหน ก็ใช่ที่ 

 

เนื่องจากประเด็นที่สำคัญกว่านั้นคือ (หนึ่ง) ผมกำลังถามหาถึงคุณค่าทางวรรณศิลป์ที่กำลังจะสูญหายไปมากมายในการประกวดวรรณกรรมชิงรางวัล (สอง) ผมกำลังสงสัยว่าหากไม่มีสิ่งเหล่านั้นแล้วเราจะสร้างความเข้าใจข้ามวัฒนธรรม ข้ามชุมชนภาษาและวรรณคดีอย่างที่ซีไรต์เองอวดอ้างว่าจะทำได้อย่างไร (สาม) แล้วเรา คือคนจากอุษาคเนย์ จะฝากวรรณกรรมอะไรให้กับโลกไว้ได้บ้าง

 

ลองคิดดูว่าหากผู้ประกาศข่าวในทีวีประเทศไทยพูดภาษาเหนือ กลาง ใต้ ได้อย่างสะดวกปากไม่ต้องดัดเสียงกันแบบในทีวีเวียดนามได้ จะแสดงความรุ่มรวยได้แค่ไหน หากวรรณกรรมที่เข้ารอบซีไรต์จะเป็นกันตรึม ค่าวซอ เพลงบอก และเพลงฉ่อย จะครึกครื้นขนาดไหน ในทางกลับกัน หาก "ลุงบุญมีระลึกชาติ" ไม่ได้เว้าลาวแทบทั้งเรื่อง ถ้าการเอากับปลาไม่ได้เพียงเซอร์เรียลแต่ยังมีลักษณะของตำนานพื้นบ้านมากๆ ฯลฯ "ลุงบุญมีฯ" จะมีอะไรให้กับโลก

 

แต่หากเราจะยังรอให้คนเพียงไม่กี่คนมาคอยกำหนดคุณค่าทางวรรณศิลป์ ด้วยรางวัลที่ "เหนือกว่ารางวัลอื่นจากการผูกติดกับเจ้าและความเป็นอินเตอร์แบบปลอมๆ ของซีไรต์ไทย" (คำของอาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์) หากเรายังถามคำถามกันอยู่ว่า "เกณฑ์การตัดสินซีไรต์เป็นอย่างไรกันแน่" "จะเขียนงานอย่างไรให้ได้ซีไรต์" หรือ "ปีนี้จะอ่านอะไรดี ให้รอซีไรต์ประกาศก่อน" ก็ป่วยการที่เราจะไปพ้นจากสังคมอำนาจนิยมของวรรณกรรมได้ ป่วยการที่จะถามถึงว่า แวดวงวรรณกรรมไทยจะฝากอะไรไว้ให้กับชาวโลกได้บ้าง

 

ผมคิดว่าปัญหาเรื่องการนำวรรณกรรมไทยไปสู่โลกนั้นไม่ใช่เพียงปัญหาเรื่องภาษาหรือการแปลเท่านั้น เพราะต่อให้แปลเรื่องต่างๆ ที่ได้ซีไรต์มาทั้งหมด และแม้ว่าบางเล่มจะแปลแล้วและเป็นที่นิยม ก็ใช่ว่าจะหมายความว่าวรรณกรรมไทยจะได้ฝากอะไรไว้ให้กับโลกแล้ว หากแต่เป็น "ประเด็น" "เรื่องราวพิเศษแปลกใหม่" "แง่มุมทางวรรณศิลป์" "แง่มุมทางภาษา" (ที่แม้จะถ่ายทอดข้ามภาษาได้ยากเย็นก็ตาม) ต่างหากที่จะทำให้วรรณกรรมไทยส่งคุณค่าไปสู่โลก 

 

สุดท้าย จะเขียนอะไรก็เขียนกันเถอะครับ จะอ่านอะไรก็อ่านกันเถอะครับ แต่หากใครอยากมีบ้านมีรถเร็วๆ ก็เพียรเขียนให้ได้เข้ารอบซีไรต์หรือโชคดีอาจได้รางวัลซีไรต์กันไป แต่หากจะทำงานสร้างสรรค์กันจริงๆ อยากอ่านงานสร้างสรรค์กันจริงๆ ก็อย่าหวังอะไรกับซีไรต์นักเลยครับ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รถกระบะพัฒนาจากการเป็นปัจจัยการผลิตจนกลายเป็นปัจจัยทางวัตถุเชิงวัฒนธรรมในระยะ 20 ปีมานี้เอง การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมรถกระบะไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลนั่นแหละที่มีส่วนสำคัญทำให้เกิดพัฒนาการนี้ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปโตรอนโตได้สัก 5 วัน แต่เวลาส่วนใหญ่ก็อยู่ในห้องประชุม กับนั่งเตรียมเสนองาน จะมีบ้างก็สองวันสุดท้าย ที่จะมีชีวิตเป็นของตนเอง ได้เดินไปเดินมา เที่ยวขึ้นรถเมล์ รถราง กิน ดื่ม ละเลียดรายละเอียดของเมืองบางมุมได้บ้าง ก็ได้ความประทับใจบางอย่างที่อยากบันทึกเก็บไว้ ผิดถูกอย่างไรชาวโตรอนโตคงไม่ถือสานัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อีกสถานที่หนึ่งที่ตั้งใจไปเยือนคือโรงเบียร์ใจกลางเมืองชื่อ Steam Whistle ทำให้ได้เห็นทั้งวิธีคิดของเมือง วิธีการทำเบียร์ ความเอาจริงเอาจังของคนรุ่นใหม่ในแคนาดา รวมทั้งเข้าใจอะไรๆ เกี่ยวกับเบียร์มากขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แรกทีเดียวก่อนไปชม ก็ไม่คิดว่าจะได้อะไรมาก คิดว่าคงแค่ไปดูความเป็นมาของบาทาเป็นหลัก แล้วก็คงมีรองเท้าดีไซน์แปลกๆ ให้ดูบ้าง กับคงจะได้เห็นรองเท้าจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเอามาเปรียบเทียบกันด้วยความฉงนฉงายในสายตาฝรั่งบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาประชุมวิชาการ AAS ประจำปี 2017 ที่โตรอนโต แคนาดา เมื่อเสนองานไปแล้วเมื่อวาน (18 มีค. 60) เมื่อเช้าก็เลยหาโอกาสไปทำความรู้จักกับเมืองและผู้คนบ้าง เริ่มต้นจากการไปแกลลอรีแห่งออนทาริโอ แกลลอรีสำคัญของรัฐนี้ ตามคำแนะนำของใครต่อใคร ไปถึงแล้วก็ไม่ผิดหวังเพราะแกลลอรีนี้น่าสนใจในหลายๆ ลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในการจัดแสดงงาน การเล่าเรื่องราว และการแสดงความเป็นแคนาดา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้มิวเซียมสยามมีนิทรรศการชั่วคราวชุดใหม่จัดแสดงอยู่ ชื่อนิทรรศการ "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน !" ผมเพิ่งไปดูมาเมื่อสองวันก่อนนี้ ดูแล้วคิดอะไรได้หลายอย่าง ก็ขอเอามาปันกันตรงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทันทีที่ คสช. ขอบคุณ ธีรยุทธ บุญมี ธีรยุทธก็ได้วางมาตรฐานใหม่ให้แก่การทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนและแอบอิงไปกับเผด็จการทหาร แนวทางสำคัญ ๆ ได้แก่งานวิชาการที่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (27 มค. 60) ไปสอน นศ. ธรรมศาสตร์ปี 1 ที่ลำปาง วิชามนุษย์กับสังคม ผมมีหน้าที่แนะนำว่าสังคมศาสตร์คืออะไร แล้วพบอะไรน่าสนใจบางอย่าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวันที่ 18 พย. ผมไปดูละครเรื่อง "รื้อ" มา ละครสนุกเหลือเชื่อ เวลาชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอดีผู้จัดซึ่งเป็นผู้แสดงหลักคนหนึ่งด้วย คืออาจารย์ภาสกร อินทุมาร ภาควิชาการละคร ศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ ชวนไปเสวนาแลกเปลี่ยนหลังการแสดง ก็เลยต้องนั่งดูอย่างเอาจริงเอาจัง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักมานุษยวิทยามีแนวโน้มที่จะ "โรแมนติก" นั่นคือ "อิน" ไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา ความเห็นอกเห็นใจอาจเกินเลยจนกลายเป็นความหลงใหลฟูมฟายเออออไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความเคลื่อนไหวในสังคมไทยขณะนี้มีหลายเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงขีดจำกัดคุณค่าความดีของสังคมไทยปัจจุบัน นั่นคือข้อเท็จจริงที่ว่า ความดีแบบไทยๆ ไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป ไม่จำเป็นต้องดีอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นความดีที่ผูกติดกับสังคมนิยมชนชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอก ผมไปเกาหลีเที่ยวนี้เพื่อไปประชุมวิชาการครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studies)