Skip to main content

ยามปีใหม่ ยากที่จะหาของขวัญที่ไม่กลายเป็นขยะในชั่วข้ามคืนได้ เพื่อนชาวอเมริกันที่ผมรู้จักหลายคน ซึ่งดูท่าจะทั้งเป็นนักช้อปและเป็นคนช่างมีเหตุผล ก็เลยใช้วิธีให้เด็กๆ เขียนลิสต์รายการสิ่งของที่อยากได้ยามสิ้นปี เพื่อเป็นหลักประกันว่าของที่ซื้อมาให้จะถูกใจผู้รับสักชิ้นหนึ่ง 

แต่ของขวัญที่คนรับถูกใจ บางครั้งเป็นของขวัญที่คนให้ตั้งใจให้ หรือเลือกนำสิ่งที่ตนรักมาให้ เดี๋ยวนี้จึงมีวิธีจับฉลากของขวัญด้วยการให้แต่ละคนนำของที่รักมา แล้วบอกว่าของสิ่งนั้นมีค่าอย่างไร ในงานปาร์ตีปีใหม่ที่ผมได้ไปร่วมเมื่อวันก่อน เพื่อนกลุ่มหนึ่งก็นำเอาวิธีการนี้มาใช้เล่นจับฉลากกัน

การจับฉลากแบบนี้จะสนุกยิ่งขึ้นหากมีการยอมให้ผู้ที่ไม่พอใจของขวัญตนเอง ขอแลกของขวัญกับคนอื่น โดยที่คนถูกขอไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่การขอแลกก็ต้องมีที่สิ้นสุด เช่นในแต่ละรอบของการขอแลก อาจกำหนดให้สามารถเปลี่ยนมือได้เพียง 4 มือ แล้วก็ค่อยจับฉลากของขวัญชิ้นต่อไป วันก่อนเพื่อนบางคนก็เลยได้ของถูกใจกลับบ้าน ส่วนบางคนแม้ไม่ได้ของถูกใจ ก็มีส่วนทำให้การแลกเปลี่ยนในวันนั้นมีคุณค่าขึ้นมา

วิธีการเช่นนี้คล้ายคลึงกันกับวิธีที่ชาวเกาะทรอเบียนส์ในหมู่เกาะแปซิฟิคใต้ (เหนือประเทศออสเตรเลีย) เคยใช้ มาลินอฟสกี (Bronislaw Malinowski) ปรมจารย์ทางมานุษยวิทยาคนหนึ่งพบว่า ชาวเกาะสร้างวงแหวนของการแลกเปลี่ยน ที่เรียกกันว่า "กูลา" (kula) แลกของมีค่าคือสร้อยคอและกำไลแขน การแลกเปลี่ยนมีกฎเกณฑ์สำคัญได้แก่ สร้อยคอต้องแลกต่อๆ กันไปในทิศทางตามเข็มนาฬิกา ส่วนกำไลแขนต้องแลกต่อไปกันไปในทิศทางตรงกันข้าม

แม้ว่าสร้อยคอและกำไลแขนบางชิ้นจะมีชื่อเสียง มีค่า ผู้คนอยากเห็นอยากจับต้องอยากครอบครอง หากแต่ว่า แต่ละคนจะสามารถครอบครองสร้อยคอและกำไลแขนได้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง แบบสมบัติผลัดกันชม แล้วก็ต้องแลกต่อๆ กันไป เครือข่ายของการแลกเปลี่ยนนี้ใหญ่โตมาก กินอาณาบริเวณข้ามทะเลไปหลายเกาะ ข้ามกลุ่มคนที่พูดภาษาที่แตกต่างกันหลายสังคม

ในบรรดาการศึกษาเรื่องของขวัญ ดูจะไม่มีใครเกินมาร์เซล โมส (Marcel Mauss ในหนังสือชื่อ The Gift) เขาเสนอว่า ของขวัญมีวิญญาณของผู้ให้ฝังอยู่ ผู้รับจึงไม่ได้รับมาเพียงวัตถุ แต่รับความผูกพันทางใจของผู้ให้มาด้วย ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ของขวัญสร้างภาระผูกพันที่จะต้องตอบแทน หากไม่ใช่ด้วยสิ่งของ ก็ด้วยความภักดี การให้จึงนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนตอบแทนกลับคืนไม่ว่าจะรูปใดรูปหนึ่งเสมอ การแลกเปลี่ยนจึงสร้างพันธะทางสังคม

สิ่งของในนามของขวัญจึงไม่ได้เป็นเพียงวัตถุ แต่ยังมีคุณค่าทางจิตใจและคุณค่าทางสังคมแฝงอยู่ หากจะไม่รังเกียจวัตถุกันแบบนักจิตนิยมใจแคบหัวทื่อ วัตถุจึงนับเป็นสื่อสำคัญของการสร้างสายใยทางสังคม

โมสทำให้ของขวัญกลายเป็นมโนทัศน์ทางทฤษฎีที่ยิ่งกว่าเพียงตัวของขวัญเป็นชิ้นๆ แต่เขาได้ขยายความเข้าใจเรื่องของขวัญไปสู่การแสกเปลี่ยนแบบอื่นๆ ทั้งงานปาร์ตี งานเลี้ยงฉลอง คำอวยพร ตลอดจนการบนบานศาลกล่าว การบริจาค การทำทาน กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ไม่ได้วางอยู่บนความสมเหตุสมผลในทางวัตถุแบบแกนๆ 

หากแต่คนแลกเปลี่ยนในงานเฉลิมฉลองกันบนความสมเหตุสมผลทางสังคม และความสัมพันธ์ที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น ได้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ที่นอกจากจะวางอยู่บนความสัมพันธ์เชิงระบบนิเวศน์แล้ว ยังมีความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณ

ลัทธิพิธีทางศาสนาแบบโบราณ ที่ดูเหมือนไร้เหตุผลในสายตาของนักการศาสนาแบบศาสนาใหญ่ๆ ของโลกทั้งหลาย หรือดูเหมือนสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมและนักเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์ (สายคร่ำครึ) ล้วนวางอยู่บนหลักการทางสังคมและจิตวิญญาณที่มีเหตุมีผลของตัวเองไปอีกแบบหนึ่ง

ในขณะเดียวกัน เราจึงเห็นได้ว่าคนปัจจุบันก็ไม่ได้ต่างไปจากคนโบราณ เนื่องจากเรายังแลกเปลี่ยนของขวัญกันอยู่ เรายังเฉลิมฉลองกันอยู่ เรายังอวยพรและขอพรกันอยู่ แม้ว่าความเข้าใจแบบเดิมจะถูกแทรกแซงจากความสมเหตุสมผลอย่างใหม่ๆ หรือถูกลดทอนคุณค่าลงไปบ้างก็ตาม

ฉะนั้น จงมาร่วมกันเฉลิมฉลอง ร่วมกันแลกเปลี่ยนสิ่งของ ร่วมกันสืบทอดความเป็นมนุษย์ ด้วยการ "ฆ่าเวลา" กับการดื่มฉลองข้ามปี (ยังอาจจะดีเสียกว่าสวดมนต์ข้ามปีอย่างไม่ใยดีกับการสังหารหมู่ประชาชน) ด้วยการแลกเปลี่ยนคำอวยพร (แม้จะต้องทนฟังคำอวยพรจากคนที่คอยระแวงว่าเราจ้องจะล้มล้างเขากันบ้าง) ด้วยการปาร์ตีหลายๆ วงกับเพื่อนหลากกลุ่ม (เพราะสังคมสมัยใหม่แหลกละเอียดด้วยอาณาบริเวณทางสังคมที่แต่ละคนสร้างขึ้นมาอย่างกระจัดกระจาย

อย่างไรเสีย (มีคำเตือนอย่างปอดๆ แบบคน "สมัยใหม่" ที่นิยมในเหตุผลอย่างแคบว่า) หากคุณไม่ได้เชื่อถือในปรัชญาของการสูญเสียอย่างที่สุดจนสามารถยอมรับความสูญเสียต่อสุขภาพและชีวิตโดยไม่มีเงื่อนไขได้ ก็ขอให้ฉลองและแลกเปลี่ยนของกำนัลกันแต่พอประมาณ อย่าได้เตลิดเพลิดเพลินกันจนก่อความสูญเสียแก่ตนเองและสังคมมากนักเลย

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อีกสถานที่หนึ่งที่ตั้งใจไปเยือนคือโรงเบียร์ใจกลางเมืองชื่อ Steam Whistle ทำให้ได้เห็นทั้งวิธีคิดของเมือง วิธีการทำเบียร์ ความเอาจริงเอาจังของคนรุ่นใหม่ในแคนาดา รวมทั้งเข้าใจอะไรๆ เกี่ยวกับเบียร์มากขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แรกทีเดียวก่อนไปชม ก็ไม่คิดว่าจะได้อะไรมาก คิดว่าคงแค่ไปดูความเป็นมาของบาทาเป็นหลัก แล้วก็คงมีรองเท้าดีไซน์แปลกๆ ให้ดูบ้าง กับคงจะได้เห็นรองเท้าจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเอามาเปรียบเทียบกันด้วยความฉงนฉงายในสายตาฝรั่งบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาประชุมวิชาการ AAS ประจำปี 2017 ที่โตรอนโต แคนาดา เมื่อเสนองานไปแล้วเมื่อวาน (18 มีค. 60) เมื่อเช้าก็เลยหาโอกาสไปทำความรู้จักกับเมืองและผู้คนบ้าง เริ่มต้นจากการไปแกลลอรีแห่งออนทาริโอ แกลลอรีสำคัญของรัฐนี้ ตามคำแนะนำของใครต่อใคร ไปถึงแล้วก็ไม่ผิดหวังเพราะแกลลอรีนี้น่าสนใจในหลายๆ ลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในการจัดแสดงงาน การเล่าเรื่องราว และการแสดงความเป็นแคนาดา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้มิวเซียมสยามมีนิทรรศการชั่วคราวชุดใหม่จัดแสดงอยู่ ชื่อนิทรรศการ "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน !" ผมเพิ่งไปดูมาเมื่อสองวันก่อนนี้ ดูแล้วคิดอะไรได้หลายอย่าง ก็ขอเอามาปันกันตรงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทันทีที่ คสช. ขอบคุณ ธีรยุทธ บุญมี ธีรยุทธก็ได้วางมาตรฐานใหม่ให้แก่การทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนและแอบอิงไปกับเผด็จการทหาร แนวทางสำคัญ ๆ ได้แก่งานวิชาการที่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (27 มค. 60) ไปสอน นศ. ธรรมศาสตร์ปี 1 ที่ลำปาง วิชามนุษย์กับสังคม ผมมีหน้าที่แนะนำว่าสังคมศาสตร์คืออะไร แล้วพบอะไรน่าสนใจบางอย่าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวันที่ 18 พย. ผมไปดูละครเรื่อง "รื้อ" มา ละครสนุกเหลือเชื่อ เวลาชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอดีผู้จัดซึ่งเป็นผู้แสดงหลักคนหนึ่งด้วย คืออาจารย์ภาสกร อินทุมาร ภาควิชาการละคร ศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ ชวนไปเสวนาแลกเปลี่ยนหลังการแสดง ก็เลยต้องนั่งดูอย่างเอาจริงเอาจัง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักมานุษยวิทยามีแนวโน้มที่จะ "โรแมนติก" นั่นคือ "อิน" ไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา ความเห็นอกเห็นใจอาจเกินเลยจนกลายเป็นความหลงใหลฟูมฟายเออออไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความเคลื่อนไหวในสังคมไทยขณะนี้มีหลายเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงขีดจำกัดคุณค่าความดีของสังคมไทยปัจจุบัน นั่นคือข้อเท็จจริงที่ว่า ความดีแบบไทยๆ ไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป ไม่จำเป็นต้องดีอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นความดีที่ผูกติดกับสังคมนิยมชนชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอก ผมไปเกาหลีเที่ยวนี้เพื่อไปประชุมวิชาการครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studies) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน