Skip to main content

การสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อวันที่ 23-24 มค. ยังความรื่นรมย์มสู่แวดวงวิชาการสังคมศาสตร์อีกครั้ง ถูกต้องแล้วครับ งานนี้เป็นงาน "เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7" หากแต่อุดมคับคั่งไปด้วยนักสังคมศาสตร์ (ฮ่าๆๆๆ) น่ายินดีที่ได้พบเจอเพื่อนฝูงทั้งเก่าทั้งใหม่มากหน้าหลายตา แต่ที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นคือการได้สนทนาทั้งอย่างเป็นทางการ ผ่านงานเขียนและการคิดอ่านกันอย่างจริงจัง บนเวทีวิชาการ กับเพื่อนๆ นักวิชาการรุ่นใหม่

งานนี้มีผู้นำเสนอบทความจำนวนมาก น่าจะมากกว่าหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ผมอาสาอ่านงานถึง 3 ชิ้น ชิ้นหนึ่งว่าด้วยสังคม-วัฒนธรรมความกลัวในกระบวนการของการใช้กฎหมาย กรณีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา โดยนพพล อาขามาส อีกงานว่าด้วยอิทธิพลของมาร์กซิสม์สายตะวันตก (Western Marxism) ในประเทศไทยทศวรรษ 2520-2530 โดยธิกานต์ ศรีนารา อีกชิ้นว่าด้วยขบวนการภาคประชาชนในประเทศไทยตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา โดยอุเชนทร์ เชียงเสน ทั้งสามชิ้นเป็นผลงานของนักวิชาการรุ่นใหม่ (อายุปลาย 20 ถึงต้น 30) ที่เพิ่งจบการศึกษาและเพิ่งได้งานทำ

งานทั้งสามชิ้นแสดงให้เห็นถึงการค้นคว้าวิจัยอย่างละเอียด การนำเสนอผลงานอย่างเป็นระบบ การเรียบเรียงด้วยภาษาที่มีระเบียบเรียบร้อย เมื่อเทียบกับการทำงานทางวิชาการของนักวิชาการในต่างประเทศในระดับเดียวกันเท่าที่เคยสัมผัสในเวทีการประชุมนานาชาติ ผมขอยืนยันว่า ผลงานวิชาการของนักวิชาการไทยไม่ได้ด้อยไปกว่านักวิชาการต่างประเทศ และยิ่งหากนักวิชาการต่างประเทศคนใดต้องการศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทยในประเด็นที่ใกล้เคียงกับนักวิชาการรุ่นใหม่เหล่านี้แล้ว หากไม่อ่านงานของพวกเขา ก็จะขาดความเข้าใจที่สำคัญไปเลยทีเดียว

ผมเลือกอ่านงานทั้ง 3 ชิ้นก็ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องการเข้าใจทั้งมุมมอง วิธีการทำงาน และเนื้อหาสาระของผลงานทั้ง 3 แต่นอกเหนือจากนั้น เมื่อได้อ่านงานเหล่านี้แล้วก็พบว่า งานของทั้งสามคนได้แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณของยุคสมัย หรืออาจจะเรียกในภาษาของเรย์มอนด์ วิลเลียมส์ (Raymond Williams) ได้ว่า "โครงสร้างอารมณ์" ของยุคสมัยได้เป็นอย่างดี 

ผมเติบโตขึ้นมาในยุคสมัยที่งานทั้ง 3 นี้ให้ความสนใจศึกษา ผมอ่านงานมาร์กซิสม์สายตะวันตก (ซึ่งบรรดานักวิชาการรุ่นปัจจุบันแทบไม่สนใจกันแล้ว และนั่นทำให้ผมดูล้าหลังไปแล้ว) ผมเคยคิดว่าจะไปทำงานเอ็นจีโอ (เพราะคิดว่าตัวเองคงไม่มีปัญญาได้สอนหนังสือ แต่ก็ได้มาสอนหนังสือเสียก่อน) แต่ภายหลังก็มาวิพากษ์เอ็นจีโอแทน ผมเคยร่วมรณรงค์ให้แก้ไข ปมอ. ม. 112 (และโชคดีที่ยังไม่ถูกข้อหาอะไรจากการรณรงค์ดังกล่าว) งานทั้ง 3 ชิ้นให้ภาพเชื่อมโยงช่วงชีวิตที่ผมได้เติบโตขึ้นมาและเข้าไปเกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี และก็น่าจะเป็นอย่างนั้นกับคนอื่น ๆ หลาย ๆ ด้วย

แน่นอนว่างานทุกชิ้นย่อมมีแง่มุมที่ผู้อ่านจะเห็นต่างออกไป หรือเห็นเพิ่มเติมเข้าไป และก็ย่อมมีประเด็นที่ชวนให้คิดต่อเติมไปได้อีกมากมาย แต่มีประเด็นสำคัญ ๆ บางประเด็นที่ผมสนใจเป็นพิเศษและอยากนำเสนอในที่นี้ เช่น ในเรื่อง ม. 112 ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าการดำเนินคดี ม. 112 ไม่ได้ขึ้นกับตัวบทกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา หากแต่ขึ้นกับบริบทแวดล้อมทางการเมือง และโครงสร้างเหลื่อมล้ำทางสังคม ความยุติธรรมจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น หากแต่ขึ้นกับสภาพแวดล้อมทางการเมืองและสังคมอย่างยิ่งด้วย

งานเรื่องขบวนการภาคประชาชนถอดรื้อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของการเมืองภาคประชาชน ทำให้ไม่ต้องสงสัยกันอีกต่อไปว่า ทำไมเอ็นจีโอบางกลุ่มจึงเลี้ยวซ้าย ทำไมภาคประชาชนบางกลุ่มจึงเลี้ยวขวาไปได้ ข้อเสนอสำคัญอีกข้อคือ การที่ประชาธิปไตยทางตรงเติบโตขึ้นมาและมีที่มีทางในการเมืองไทยได้ ก็ด้วยการเติบโตของประชาธิปไตยแบบตัวแทน ประชาธิปไตยทางตรงจึงไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยตัวแทน และจำเป็นต้องเดินควบคู่กันไป

ส่วนงานเรื่องมาร์กซิสม์สายตะวันตก ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวโน้มทางความคิดของปัญญาชน "ฝ่ายซ้าย" ในประเทศไทย แต่กระนั้นก็ชวนให้คิดว่า เมื่อแนวคิดมาร์กซิสม์มาอยู่ในสมองน้อยๆ ของนักคิดฝ่ายซ้ายไทยแล้ว ก็กลับถูกกลืนให้กลายเป็นไทยได้ด้วยแนวคิดพุทธศาสนา (แบบไทยๆ อีกนั่นแหละ) แนวคิดชุมชนนิยม (แบบไทยๆ) การเน้นแนวคิดการครอบงำมากกว่าแนวคิดการต่อต้าน และการเน้นภาคปฏิบัติการมากกว่าการถกเถียงทางทฤษฎี (ซึ่งนี่แตกต่างจากมาร์กซิสม์สายตะวันตกในโลกวิชาการสากลมาก)

นอกเหนือจากความรื่นรมย์ทางปัญญา เฉพาะแค่อาหารใต้ ชานม และโรตี ที่เสิร์ฟในงานอย่างไม่ขวยเขินกับรสชาติท้องถิ่นของตน ก็ทำให้งานวิชาการนี้โดดเด่นกว่างานวิชาการในถิ่นอื่น ๆ ที่เคยไปมามากแล้ว แถมเพื่อนฝูงเจ้าบ้าน "นักวิชาการใต้" ยังให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ได้ดื่มกินสังสรรค์กันอย่างเต็มที่ ต่อเนื่อง ไม่เหนื่อยหน่าย ช่างเป็นการจัดวางโลกของการลิ้มรสและมิตรภาพ ให้สอดคล้องเหมาะเจาะกับโลกทางปัญญาอย่างยอดเยี่ยม

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ... 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้