Skip to main content

การสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อวันที่ 23-24 มค. ยังความรื่นรมย์มสู่แวดวงวิชาการสังคมศาสตร์อีกครั้ง ถูกต้องแล้วครับ งานนี้เป็นงาน "เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7" หากแต่อุดมคับคั่งไปด้วยนักสังคมศาสตร์ (ฮ่าๆๆๆ) น่ายินดีที่ได้พบเจอเพื่อนฝูงทั้งเก่าทั้งใหม่มากหน้าหลายตา แต่ที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นคือการได้สนทนาทั้งอย่างเป็นทางการ ผ่านงานเขียนและการคิดอ่านกันอย่างจริงจัง บนเวทีวิชาการ กับเพื่อนๆ นักวิชาการรุ่นใหม่

งานนี้มีผู้นำเสนอบทความจำนวนมาก น่าจะมากกว่าหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ผมอาสาอ่านงานถึง 3 ชิ้น ชิ้นหนึ่งว่าด้วยสังคม-วัฒนธรรมความกลัวในกระบวนการของการใช้กฎหมาย กรณีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา โดยนพพล อาขามาส อีกงานว่าด้วยอิทธิพลของมาร์กซิสม์สายตะวันตก (Western Marxism) ในประเทศไทยทศวรรษ 2520-2530 โดยธิกานต์ ศรีนารา อีกชิ้นว่าด้วยขบวนการภาคประชาชนในประเทศไทยตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา โดยอุเชนทร์ เชียงเสน ทั้งสามชิ้นเป็นผลงานของนักวิชาการรุ่นใหม่ (อายุปลาย 20 ถึงต้น 30) ที่เพิ่งจบการศึกษาและเพิ่งได้งานทำ

งานทั้งสามชิ้นแสดงให้เห็นถึงการค้นคว้าวิจัยอย่างละเอียด การนำเสนอผลงานอย่างเป็นระบบ การเรียบเรียงด้วยภาษาที่มีระเบียบเรียบร้อย เมื่อเทียบกับการทำงานทางวิชาการของนักวิชาการในต่างประเทศในระดับเดียวกันเท่าที่เคยสัมผัสในเวทีการประชุมนานาชาติ ผมขอยืนยันว่า ผลงานวิชาการของนักวิชาการไทยไม่ได้ด้อยไปกว่านักวิชาการต่างประเทศ และยิ่งหากนักวิชาการต่างประเทศคนใดต้องการศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทยในประเด็นที่ใกล้เคียงกับนักวิชาการรุ่นใหม่เหล่านี้แล้ว หากไม่อ่านงานของพวกเขา ก็จะขาดความเข้าใจที่สำคัญไปเลยทีเดียว

ผมเลือกอ่านงานทั้ง 3 ชิ้นก็ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องการเข้าใจทั้งมุมมอง วิธีการทำงาน และเนื้อหาสาระของผลงานทั้ง 3 แต่นอกเหนือจากนั้น เมื่อได้อ่านงานเหล่านี้แล้วก็พบว่า งานของทั้งสามคนได้แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณของยุคสมัย หรืออาจจะเรียกในภาษาของเรย์มอนด์ วิลเลียมส์ (Raymond Williams) ได้ว่า "โครงสร้างอารมณ์" ของยุคสมัยได้เป็นอย่างดี 

ผมเติบโตขึ้นมาในยุคสมัยที่งานทั้ง 3 นี้ให้ความสนใจศึกษา ผมอ่านงานมาร์กซิสม์สายตะวันตก (ซึ่งบรรดานักวิชาการรุ่นปัจจุบันแทบไม่สนใจกันแล้ว และนั่นทำให้ผมดูล้าหลังไปแล้ว) ผมเคยคิดว่าจะไปทำงานเอ็นจีโอ (เพราะคิดว่าตัวเองคงไม่มีปัญญาได้สอนหนังสือ แต่ก็ได้มาสอนหนังสือเสียก่อน) แต่ภายหลังก็มาวิพากษ์เอ็นจีโอแทน ผมเคยร่วมรณรงค์ให้แก้ไข ปมอ. ม. 112 (และโชคดีที่ยังไม่ถูกข้อหาอะไรจากการรณรงค์ดังกล่าว) งานทั้ง 3 ชิ้นให้ภาพเชื่อมโยงช่วงชีวิตที่ผมได้เติบโตขึ้นมาและเข้าไปเกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี และก็น่าจะเป็นอย่างนั้นกับคนอื่น ๆ หลาย ๆ ด้วย

แน่นอนว่างานทุกชิ้นย่อมมีแง่มุมที่ผู้อ่านจะเห็นต่างออกไป หรือเห็นเพิ่มเติมเข้าไป และก็ย่อมมีประเด็นที่ชวนให้คิดต่อเติมไปได้อีกมากมาย แต่มีประเด็นสำคัญ ๆ บางประเด็นที่ผมสนใจเป็นพิเศษและอยากนำเสนอในที่นี้ เช่น ในเรื่อง ม. 112 ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าการดำเนินคดี ม. 112 ไม่ได้ขึ้นกับตัวบทกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา หากแต่ขึ้นกับบริบทแวดล้อมทางการเมือง และโครงสร้างเหลื่อมล้ำทางสังคม ความยุติธรรมจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น หากแต่ขึ้นกับสภาพแวดล้อมทางการเมืองและสังคมอย่างยิ่งด้วย

งานเรื่องขบวนการภาคประชาชนถอดรื้อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของการเมืองภาคประชาชน ทำให้ไม่ต้องสงสัยกันอีกต่อไปว่า ทำไมเอ็นจีโอบางกลุ่มจึงเลี้ยวซ้าย ทำไมภาคประชาชนบางกลุ่มจึงเลี้ยวขวาไปได้ ข้อเสนอสำคัญอีกข้อคือ การที่ประชาธิปไตยทางตรงเติบโตขึ้นมาและมีที่มีทางในการเมืองไทยได้ ก็ด้วยการเติบโตของประชาธิปไตยแบบตัวแทน ประชาธิปไตยทางตรงจึงไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยตัวแทน และจำเป็นต้องเดินควบคู่กันไป

ส่วนงานเรื่องมาร์กซิสม์สายตะวันตก ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวโน้มทางความคิดของปัญญาชน "ฝ่ายซ้าย" ในประเทศไทย แต่กระนั้นก็ชวนให้คิดว่า เมื่อแนวคิดมาร์กซิสม์มาอยู่ในสมองน้อยๆ ของนักคิดฝ่ายซ้ายไทยแล้ว ก็กลับถูกกลืนให้กลายเป็นไทยได้ด้วยแนวคิดพุทธศาสนา (แบบไทยๆ อีกนั่นแหละ) แนวคิดชุมชนนิยม (แบบไทยๆ) การเน้นแนวคิดการครอบงำมากกว่าแนวคิดการต่อต้าน และการเน้นภาคปฏิบัติการมากกว่าการถกเถียงทางทฤษฎี (ซึ่งนี่แตกต่างจากมาร์กซิสม์สายตะวันตกในโลกวิชาการสากลมาก)

นอกเหนือจากความรื่นรมย์ทางปัญญา เฉพาะแค่อาหารใต้ ชานม และโรตี ที่เสิร์ฟในงานอย่างไม่ขวยเขินกับรสชาติท้องถิ่นของตน ก็ทำให้งานวิชาการนี้โดดเด่นกว่างานวิชาการในถิ่นอื่น ๆ ที่เคยไปมามากแล้ว แถมเพื่อนฝูงเจ้าบ้าน "นักวิชาการใต้" ยังให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ได้ดื่มกินสังสรรค์กันอย่างเต็มที่ ต่อเนื่อง ไม่เหนื่อยหน่าย ช่างเป็นการจัดวางโลกของการลิ้มรสและมิตรภาพ ให้สอดคล้องเหมาะเจาะกับโลกทางปัญญาอย่างยอดเยี่ยม

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
การดีเบตระหว่างนักเรียนกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการที่หน้ากระทรวงฯ เมื่อวาน (5 กย. 63) ชี้ให้เห็นชัดว่า หากยังจะให้คนที่มีระบบคิดวิบัติแบบนี้ดูแลกระทรวงศึกษาธิการอยู่ ก็จะยิ่งทำให้การศึกษาไทยดิ่งลงเหวลึกไปยิ่งขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ประเด็น "สถาบันกษัตริย์" ในประเทศไทยปัจจุบันไม่ใช่เรื่องศีลธรรมและไม่ใช่แค่เรื่องความรู้สึก แต่เป็นเรื่องของสถาบันทางการเมืองและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมการเมืองไทย ถ้าไม่เข้าใจตรงกันแบบนี้ก่อนก็จะไม่สามารถนั่งนิ่งๆ ฟัง/อ่านข้อเสนอของนักศึกษา/ประชาชนที่เสนอในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวานนี้ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปีนี้ผมอายุ 52 ผมคิดอยู่ตลอดว่า ถ้าพ่อแม่เสียไป ผมจะดัดแปลงบ้านที่อยู่มายังไง จะรื้ออะไร ย้ายอะไร ผมไม่มีลูก ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การยุบพรรคอนาคตใหม่อย่างที่สาธารณชนและแม้แต่นักกฎหมายเองก็เห็นว่าไม่สมเหตุสมผลทั้งในทางกฎหมายและในทางการเมือง และความเหลวแหลกของกลไก เกม และสถาบันการเมืองในขณะนี้ คือเงื่อนไขเฉพาะหน้าที่ทำให้เยาวชนจำนวนมาก ซึ่งเป็นคนหน้าใหม่ของการเมืองไทย ในหลายพื้นที่กระจายไปทั่วประเทศ ลุกขึ้นมาแสดงออกทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนนับตั้งแต่มีความขัดแย้งรอบใหม่ในกลางทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วินาทีที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ความสำคัญไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองหนึ่งถูกยุบไปหรอก แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้มีอำนาจกำลังสร้างความแตกร้าวครั้งใหม่ที่พวกเขาอาจจะพบปฏิกิริยาโต้ตอบที่ไม่เหลือเศษซากอะไรให้กอบกู้โลกเก่าของพวกเขากลับมาได้อีกต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อสังเกตจากการแถลงของ ผบทบ. ล่าสุด แสดงการปัดความรับผิดชอบของผู้นำกองทัพไทยอย่างเห็นได้ชัดดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์ #กราดยิงโคราช เราเห็นอะไรเกี่ยวกับทหารไทยบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียสละกับการรักษาหลักการมักถูกนำมาใช้อ้างหรือมากกว่านั้นคืออาจมีส่วนใช้ในการตัดสินใจ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พวกคุณไม่ได้เพียงกำลังทำลายพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง หรือกลุ่มการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่พวกคุณกำลังทำลายความหวังที่คนจำนวนมากมีต่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรุ่นใหม่ที่เริ่มสนใจประเทศชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาวเบี๋ยนเป็นศิลปินอาวุโสชาวไต/ไท ในเวียดนาม ผมรู้จักกับท่านมาร่วม 15 ปีแล้ว ตั้งแต่เมื่อพบกันครั้งแรกๆ ก็ถูกชะตากับท่าน ผมจึงเพียรไปหาท่านหลายต่อหลายครั้ง ที่ว่าเพียรไปหาไม่ใช่แค่เพราะไปพบท่านบ่อย แต่เพราะการไปพบท่านเป็นเรื่องยากลำบากมาก เมืองที่ท่านอยู่ชื่อเมืองล้อ หรือเรียกแบบสยามๆ ก็เรียกว่าเมืองลอก็ได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เป็นวันระลึก "เหตุการณ์ 28 กุมภาพันธ์" 1947 หรือเรียกกันว่า "228 Incident" เหตุสังหารหมู่ประชาชนทั่วประเทศไต้หวัน โดยรัฐบาลที่เจียงไคเชกบังคับบัญชาในฐานะผู้นำก๊กมินตั๋งในจีนแผ่นดินใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีเพื่อนขอให้ผมช่วยแนะนำร้านอาหารในฮานอยให้ แต่เห็นว่าเขาจะไปช่วงสั้นๆ ก็เลยแนะนำไปไม่กี่แห่ง ส่วนร้านเฝอ ขอแยกแนะนำต่างหาก เพราะร้านอร่อยๆ มีมากมาย เอาเฉพาะที่ผมคุ้นๆ แค่ 2-3 วันน่ะก็เสียเวลาตระเวนกินจนไม่ต้องไปกินอย่างอื่นแล้ว