Skip to main content
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 

ผมไม่ถือว่านี่เป็นการข่มขู่ด้วยการอ้างอำนาจศาล ผมกลับถือว่านี่เป็นการที่อธิบดีฯ กล้าออกมาอธิบายพร้อมแลกเปลี่ยนความเห็นกับประชาชน และย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ประชาชนที่เสียภาษีและมอบอำนาจอธิปไตยให้ท่านช่วยดูแลให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน จะแสดงความเห็นต่ออธิบดีฯ และสถาบันตุลาการอย่างตรงไปตรงมา ผมขอตั้งคำถามกับท่านและสถาบันตุลาการดังนี้ 

 

ท่านเคยเห็นประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อศาลมากเท่านี้มาก่อนหรือไม่ สถาบันตุลาการกำลังปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของคนกลุ่มหนึ่งอย่างเกินขอบเขตหรือไม่ สถาบันตุลาการจะมีส่วนรับผิดชอบต่อวิกฤติการณ์ทางการเมืองขณะนี้อย่างไร

 

1) ท่านเคยเห็นประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อศาลมากเท่านี้มาก่อนหรือไม่ 

 

ความเสื่อมศรัทธาที่ประชาชนมีต่อศาลนั้นมาจากการที่ผู้คนสงสัยในความ “สองมาตรฐาน” ของสถาบันตุลาการในกรณีของคดีการเมือง ดังเช่น กรณีของกลุ่ม กปปส. ที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิด แต่ก็ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างการอุทธรณ์ ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้ว เพื่อให้พวกเขาได้ต่อสู้คดีในขั้นต่อไปได้อย่างเต็มที่ และเป็นไปตามหลักการต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์จนกว่าคดีจะสิ้นสุด 

 

แต่กับกรณีของผู้ชุมนุมทางการเมืองกลุ่มเยาวชน พวกเขากลับถูกถือเสมือนว่ากระทำผิดไปแล้ว ถูกถือเสมือนว่าตัดสินความผิดไปแล้ว จากเหตุของการไม่ปล่อยตัวประชาชนที่ต้องคดีเหล่านี้ตามที่ท่านกล่าวว่า (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366)

 

“อาศัยหลักตามมาตรา 108/1 ที่ว่าหากให้ประกันแล้ว เกรงว่าจะไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น ซึ่งเหตุนี้มีความหมายว่า เป็นเรื่องที่กระทำมาแล้ว แล้วจะกลับไปกระทำอีก ส่วนผิดหรือไม่ผิดเอาไว้อีกที ในเมื่อฟ้องมาแล้วว่าทำอย่างนี้ เมื่อปล่อยไปก็ไปกระทำอีก อันนี้ก็เป็นเหตุอันตรายประการอื่นก็ได้หรือเป็นเหตุอันตรายประการอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคดีนี้”  

 

ข้อนี้จะถือว่าเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพหรือไม่ ถือว่าเป็นการตัดสินล่วงหน้าว่าจะไป “ก่อเหตุอื่น” ที่ก็ยังไม่รู้ว่าคืออะไรแล้วจะเป็นอันตรายได้อย่างไร หรือไม่ แล้วท่านเองก็ยังว่า “ส่วนผิดหรือไม่ผิดเอาไว้อีกที ในเมื่อฟ้องมาแล้วว่าทำอย่างนี้ เมื่อปล่อยไปก็ไปกระทำอีก อันนี้ก็เป็นเหตุอันตรายประการอื่น” ตามคำกล่าวของท่านอธิบดีฯ ตรงนี้เอง มีรายละเอียดที่น่าพิจารณา 2 เรื่องด้วยกัน 

 

เรื่องแรกที่ท่านว่า “ผิดหรือไม่ผิดเอาไว้อีกที” นั้น อันที่จริงศาลเคยสั่งไม่ปล่อยตัวด้วยเหตุผลที่ว่า “มีเหตุอันควรเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จำเลยทั้งสี่อาจไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก” ก่อนที่หลังจากนั้นจะให้เหตุผลสั้นๆ ในการขอปล่อยตัวแล้วศาลสั่งไม่ปล่อยตัวครั้งต่อๆ ไปอีกหลายครั้งว่า “ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” (ดู https://www.bbc.com/thai/thailand-56220928) ประชาชนตั้งข้อสงสัยมากกว่า นี่จะนับว่าเป็นการที่ศาล “ตัดสิน” ไปก่อนการพิจารณาคดีแล้วหรือไม่ว่าผู้ต้องหากระทำผิด และนี่ทำให้ประชาชนสงสัยว่า ศาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 29 โดยเคร่งครัดหรือไม่ (อ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา ได้ตั้งคำถามนี้ไว้โดยละเอียดแล้ว https://www.facebook.com/ThaiAcademicNetworkforCivilRights/photos/a.487222531441124/1933516940145002/)

 

อีกเรื่องได้แก่คำถามที่ว่า อะไรคือ “อันตรายประการอื่น” ถ้อยคำเช่นนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ตีขลุมเกินไปแล้วละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาหรือไม่ ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องหาเหล่านี้มากกว่าอีกกลุ่มหรือไม่ ท่านมั่นใจผู้ต้องหาคดี กปปส. มากกว่าผู้ต้องหาคดีกลุ่มเยาวชนกลุ่มนี้ได้อย่างไร ใช้บรรทัดฐานทางกฎหมายอะไรมาพิจารณาแตกต่างกัน แล้วหากดุลพินิจบกพร่อง ท่านจะรับผิดชอบกันอย่างไร

 

2) สถาบันตุลาการกำลังปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของคนกลุ่มหนึ่งอย่างเกินขอบเขตหรือไม่

 

ข้อนี้แสดงให้เห็นจากการใช้ถ้อยดังในการปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองล่าสุดนั้น เป็นได้โดยมีเงื่อนไขว่า “ห้ามมิให้ทั้งสองทำกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” 

 

ประชาชนสงสัยว่ากิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์คืออะไร มีความเชื่อมโยงกับคดีอย่างไร คดีมาตรา 112” ไม่มีข้อความหรือถ้อยคำที่ระบุว่าห้ามทำกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วการที่ศาลตั้งเงื่อนไขลักษณะนี้ ถือว่าเป็นการกระทำที่เกินเลยขอบเขตอำนาจศาลหรือเปล่า เป็นการเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่เสียเองหรือเปล่า มีอะไรบ้างที่ถือว่าเป็นกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หากเจ้าหน้าที่รัฐตีขลุมหรือตีความกว้างขวางว่า แม้กระทั่งการเก็บเงินไว้ในกระเป๋าเงินและนั่งทับกระเป๋าเงินก็ถือว่าเป็นความเสื่อมเสียแล้วได้หรือไม่ 

 

ยิ่งกว่านั้น อะไรคือสถาบันพระมหากษัตริย์แน่นอนว่าหลายคนอาจจะเห็นว่าคำนี้เป็นคำที่ชัดเจนอยู่ในตัวอยู่แล้ว หากแต่เราก็ได้เคยเห็นมาแล้วว่า แม้แต่บูรพกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ไม่ได้อยู่ในการคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ยังเคยถูกตีความให้ได้รับการคุ้มครองโดยมาตรา 112 จนเป็นเหตุให้มีการนำไปฟ้องร้องและศาลก็รับฟ้องได้ แล้วคำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ในงื่อนไขการปล่อยตัวนี้ จะหมายถึงกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนบูรพกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ล่วงลับไปแล้วอีกด้วยหรือไม่ หรือหากมีจะตีความรวมกระทั่ง อาคาร ที่ดิน รูปภาพ ฯลฯ องคาพยพใดๆ ที่ก่อให้เกิดและอำนวยให้ดำเนินไปซึ่งอำนาจและบารมีของกษัตริย์ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ จะเป็นอย่างไร แล้วนี่จะถือว่าเงื่อนไขนี้ให้ความเป็นธรรมกับผู้ต้องหาหรือไม่ 

 

3) สถาบันตุลาการจะมีส่วนรับผิดชอบต่อวิกฤติการณ์ทางการเมืองขณะนี้อย่างไร

 

ในฐานะที่ว่าศาลและสถาบันตุลาการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและประวัติศาสตร์ที่ใหญ่โตกว้างไกลกว่าสถาบันตุลาการเอง ท่านเองและสถาบันตุลาการตระหนักหรือไม่ว่า สถาบันตุลาการต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อวิกฤติการณ์ทางการเมืองที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ด้วย 

 

ผมเข้าใจว่าท่านทราบดีว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนิสิต นักศึกษา ประชาชน ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 นั้น เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่แสดงถึงวิกฤติของสังคมไทยอีกช่วงหนึ่ง หากท่านไม่เห็นว่าสังคมไทยกำลังเกิดวิกฤติอย่างไร ท่านก็ไม่สมควรมีอำนาจมากมายอย่างที่ท่านมีอยู่อีกต่อไปแล้ว เพราะท่านไม่เข้าใจบริบทแวดล้อมความเป็นไปของสังคมมากพอที่จะดูแลปกป้องความยุติธรรมให้สังคมได้อีกต่อไป และท่านรวมทั้งผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรมทั้งหลายก็ควรจะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมให้มากขึ้นว่าบ้านเมืองเราขณะนี้มีปัญหาอะไรกันแน่

 

เอาล่ะ สมมติว่าท่านเข้าใจ ท่ามกลางวิกฤติเหล่านี้ ผมขอตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมากับท่านว่า วิกฤตินี้เป็นเรื่องของความขัดแย้งของประชาชนกับรัฐบาล หรือองคาพยพส่วนอื่นๆ ของสังคมรวมทั้งกระบวนการยุติธรรมเองมีส่วนในความขัดแย้งนี้ด้วย ท่านเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมเอง (เช่น การใช้ ปมอ. มาตรา 112 การใช้ ปมอ. มาตรา 116 และกฎหมายอื่นๆ ในทางการเมือง) มีปัญหาหรือไม่ ท่านคิดว่าท่านเองมีส่วนที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้หรือไม่ หรือท่านและสถาบันตุลาการจะเป็นเพียงแค่ฟันเฟืองหนึ่งของอำนาจรัฐ ที่อาจจะถูกรัฐบาลหรืออำนาจอื่นใดฉวยใช้เพียงเพราะท่านละเลยปัญหาที่ใหญ่กว่าคดีความที่อยู่ต่อหน้าตัวท่านเอง 

 

ท่านจะเพียงใช้อำนาจในขอบเขตของท่านโดยอ้างว่า ปัญหาอื่นๆ นั้นช่างใหญ่โตเกินกว่าที่ท่านจะทำอะไรได้ แค่เพียงท่านทำตามอำนาจหน้าที่ของท่านก็แล้วก็ปัดความรับผิดชอบไปให้ส่วนอื่นๆ ของสังคมรับผิดชอบเอาเอง  เมื่อท่านตัดสินคดีความเสร็จ พวกท่านก็กลับบ้านนอนดูความพังทลายของสังคมโดยไม่ต้องแยแสกับความบิดเบี้ยวของสังคมที่กำลังดำเนินไปอยู่ขณะนี้หรืออย่างไร

 

สรุปแล้ว ท่านคิดว่าศาลและกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดเองมีส่วนทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไหม แล้วพวกท่านคิดจะแก้ไขความเสื่อมนี้อย่างไร สถาบันตุลาการเองมีส่วนเป็นการเปิดช่องให้มีการละเมิด คุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินขอบเขตของกฎหมายและรัฐธรรมนูญหรือไม่ แล้วท่านตระหนักหรือไม่ว่าสถาบันตุลาการเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาวิกฤติการณ์ของประเทศในขณะนี้ ท่านเองจะมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหานี้ หรือจะดึงดันถือทิฐิว่าศาลย่อมถูกต้องเสมอ 

 

ด้วยความเชื่อมั่นต่อความยุติธรรมและหลักมนุษยธรรม

 

ยุกติ มุกดาวิจิตร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อีกสถานที่หนึ่งที่ตั้งใจไปเยือนคือโรงเบียร์ใจกลางเมืองชื่อ Steam Whistle ทำให้ได้เห็นทั้งวิธีคิดของเมือง วิธีการทำเบียร์ ความเอาจริงเอาจังของคนรุ่นใหม่ในแคนาดา รวมทั้งเข้าใจอะไรๆ เกี่ยวกับเบียร์มากขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แรกทีเดียวก่อนไปชม ก็ไม่คิดว่าจะได้อะไรมาก คิดว่าคงแค่ไปดูความเป็นมาของบาทาเป็นหลัก แล้วก็คงมีรองเท้าดีไซน์แปลกๆ ให้ดูบ้าง กับคงจะได้เห็นรองเท้าจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเอามาเปรียบเทียบกันด้วยความฉงนฉงายในสายตาฝรั่งบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาประชุมวิชาการ AAS ประจำปี 2017 ที่โตรอนโต แคนาดา เมื่อเสนองานไปแล้วเมื่อวาน (18 มีค. 60) เมื่อเช้าก็เลยหาโอกาสไปทำความรู้จักกับเมืองและผู้คนบ้าง เริ่มต้นจากการไปแกลลอรีแห่งออนทาริโอ แกลลอรีสำคัญของรัฐนี้ ตามคำแนะนำของใครต่อใคร ไปถึงแล้วก็ไม่ผิดหวังเพราะแกลลอรีนี้น่าสนใจในหลายๆ ลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในการจัดแสดงงาน การเล่าเรื่องราว และการแสดงความเป็นแคนาดา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้มิวเซียมสยามมีนิทรรศการชั่วคราวชุดใหม่จัดแสดงอยู่ ชื่อนิทรรศการ "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน !" ผมเพิ่งไปดูมาเมื่อสองวันก่อนนี้ ดูแล้วคิดอะไรได้หลายอย่าง ก็ขอเอามาปันกันตรงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทันทีที่ คสช. ขอบคุณ ธีรยุทธ บุญมี ธีรยุทธก็ได้วางมาตรฐานใหม่ให้แก่การทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนและแอบอิงไปกับเผด็จการทหาร แนวทางสำคัญ ๆ ได้แก่งานวิชาการที่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (27 มค. 60) ไปสอน นศ. ธรรมศาสตร์ปี 1 ที่ลำปาง วิชามนุษย์กับสังคม ผมมีหน้าที่แนะนำว่าสังคมศาสตร์คืออะไร แล้วพบอะไรน่าสนใจบางอย่าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวันที่ 18 พย. ผมไปดูละครเรื่อง "รื้อ" มา ละครสนุกเหลือเชื่อ เวลาชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอดีผู้จัดซึ่งเป็นผู้แสดงหลักคนหนึ่งด้วย คืออาจารย์ภาสกร อินทุมาร ภาควิชาการละคร ศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ ชวนไปเสวนาแลกเปลี่ยนหลังการแสดง ก็เลยต้องนั่งดูอย่างเอาจริงเอาจัง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักมานุษยวิทยามีแนวโน้มที่จะ "โรแมนติก" นั่นคือ "อิน" ไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา ความเห็นอกเห็นใจอาจเกินเลยจนกลายเป็นความหลงใหลฟูมฟายเออออไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความเคลื่อนไหวในสังคมไทยขณะนี้มีหลายเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงขีดจำกัดคุณค่าความดีของสังคมไทยปัจจุบัน นั่นคือข้อเท็จจริงที่ว่า ความดีแบบไทยๆ ไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป ไม่จำเป็นต้องดีอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นความดีที่ผูกติดกับสังคมนิยมชนชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอก ผมไปเกาหลีเที่ยวนี้เพื่อไปประชุมวิชาการครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studies) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน