Skip to main content
ฐาปนา
หากให้ลองย้อนคิดดูว่า ในหนึ่งวันที่ผ่านไปเราได้ทำอะไรไปบ้าง คงไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่จะระบุให้ครบถ้วน เพราะการกระทำเป็นรูปธรรม มีผลลัพธ์ชัดเจน มีร่องรอยที่ติตตามได้แต่หากให้ลองย้อนคิดดูว่า ในหนึ่งวันที่ผ่านไป เราได้ "พูด" อะไรไปบ้าง ต้องไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ เว้นเสียแต่ว่า วันนั้นเราจะพูดน้อยจนนับคำได้คำพูด คือความคิดที่แสดงออกเพื่อสื่อสาร ซึ่งเนื้อแท้ของสิ่งที่ต้องการสื่อสารนั้นก็คือ ความรู้สึก ความรู้สึกคือภาษาของวิญญาณ เป็นหัวใจเป็นแก่นแกนกลางของการสื่อสารทุกชนิด แต่เราก็มักจะหลงลืมหัวใจของการสื่อสารนี้ไป และไปให้ค่ากับคำพูดเสียมากกว่าฉะนั้น หากเปลี่ยนคำถามเสียใหม่ว่า ในหนึ่งวันที่ผ่านไป เราได้สื่อสารด้วยความรู้สึกใดบ้าง บางทีเราอาจระลึกได้ง่ายกว่า เพราะที่สุดแล้วความรู้สึกที่มนุษย์แสดงออกในแต่ละวันมีเพียงความรักและความกลัว เท่านั้นแต่คำถามที่สำคัญที่น่าสนใจที่สุดคือคำถามที่ว่า ในหนึ่งวันที่ผ่านไป เราได้ "คิด" อะไรไปบ้าง?หนึ่งวันอาจจะมากเกินไป เอาเพียงแค่หนึ่งชั่วโมงที่ผ่านไป เราก็ไม่สามารถระบุได้เสียแล้วว่าเราได้คิดอะไรไปบ้างความคิดเป็นสิ่งที่มีความซับซ้อนมาก เพียงหนึ่งวินาที อาจมีความคิดเกิดขึ้นพร้อมกันได้นับสิบเรื่อง ทั้งที่เรารู้ตัวและไม่รู้ตัว ทั้งที่เราสั่งการได้ และทั้งที่เราสั่งการไม่ได้ ขณะที่เรากำลังคิดสิ่งหนึ่ง อาจมีความคิดเบื้องหลังกำลังทำงานอยู่อีกร้อยความคิด และเบื้องหลังของความคิดร้อยความคิดอาจมีอีกพันความคิดกำลังขับเคลื่อนให้กระบวนการแห่งความคิดนี้ดำเนินต่อไปแต่ละวันที่ผ่านไป มีความคิดที่เกิดขึ้นทั้งที่เราตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทั้งที่เรารู้ตัวและไม่รู้ตัว อาจมากถึงหลายพันหรือหลายหมื่นเรื่องความคิดคือพลังงาน ความคิดขับเคลื่อนทุกคำพูด ทุกการกระทำของเรา แต่ด้วยความซับซ้อน และเกิดดับอย่างรวดเร็วของมัน จึงทำให้ความคิดกลายเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยากกว่าคำพูดและการกระทำ  เราเคยชินกับการปล่อยให้ความคิดทำงานแทบจะไม่ได้หยุดพัก ยกเว้นเวลานอน หรือหลายครั้งที่แม้แต่เวลานอน เรายังคงปล่อยให้ความคิดทำงานต่อไป  การจะให้ความคิดหยุดอยู่กับที่ จดจ่ออยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใด กลับกลายเป็นเรื่องยากโดยปกติแล้ว ความคิดของเรา หากไม่หยุดอยู่กับปัจจุบัน ก็จะกระโดดไปมาระหว่างอดีตและอนาคต ไม่คิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ก็คิดถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง"...หากแต่จิตของเรานั่นเองเป็นทาสของความเคยชิน มันคอยแต่จะวิ่งวนอยู่กับสิ่งที่ล่วงไปแล้ว หรือมิฉะนั้นก็วิ่งไปหาสิ่งที่ยังมาไม่ถึง โดยไม่ไม่ต้องการที่จะอยู่กับปัจจุบันเลย นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้จิตของเรา มีแต่ความปั่นป่วนเร่าร้อนอยู่เสมอ ทั้งนี้ก็เพราะมันไม่รู้จักวิธีการมีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน..."(ธรรมบรรยายหลักสูตร 10 วัน โดยท่านอาจารย์โกเอ็นก้า : มูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากรรมฐานในพระสังฆราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์)หากไม่สามารถหยุดคิดได้ ความคิดของเราก็จะยิ่งฟุ้งซ่าน สับสน จับต้นชนปลายไม่ถูก หนักๆ เข้าก็ส่งผลต่อพฤติกรรม ต่อคำพูด ต่อการกระทำ บางครั้งคนเราจึงจำเป็นต้องหยุดการใช้ความคิด แล้วหันไปทำกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้ความคิด หรือกิจกรรมที่ทำให้จิตเป็นสมาธิจดจ่อ ไม่ฟุ้งซ่านเสียบ้าง ฉะนั้น สิ่งที่เรียกว่าการพักผ่อน จุดประสงค์สำคัญก็คือการออกไปจากความคิดของตัวเรานั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายด้วยการเล่นกีฬา การทำงานบ้าน การทำกิจกรรมใช้แรง เช่น ขุดดิน ตัดหญ้า หรือ การมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งบันเทิงต่างๆ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ร้องเพลง ดูหนัง เล่นเกม หรือ แม้แต่การนั่งสมาธิแต่แท้ที่จริงแล้ว แม้จะไม่ทำกิจกรรมใดๆ เราก็สามารถที่จะออกจากความคิดของเราได้ด้วยตัวเราเอง เพียงแต่เรามีสติรู้ตัวในสิ่งที่เรากำลังทำ โดยไม่ย้อนกลับไปจ่อมจมอยู่กับความคิด เราก็สามารถที่จะออกจากความคิดได้ทุกเวลาที่เราต้องการตามธรรมชาติของมนุษย์ การหยุดคิดเป็นสิ่งที่กระทำได้ยากยิ่ง เพราะจิตเป็นธาตุที่ไม่อาจหยุดนิ่งได้นานๆ จะต้องวิ่งไปวิ่งมาอยู่ตลอดหากเราไปเพิ่มกำลังให้จิตด้วยการใส่ความคิดเข้าไป จิตก็จะยิ่งวิ่งเร็ว ซับซ้อน สับสน  แต่เมื่อใดที่เราถอยออกมาจากความคิด และมุ่งไปที่การกระทำกิจกรรมใดๆ  จิตก็จะวิ่งช้าลง ฉะนั้น เมื่อเราทำกิจกรรมใดซ้ำๆ จนกระทั่งไม่ต้องใช้ความคิด หรือใช้ความคิดน้อยมาก ก็เท่ากับเราได้ออกจากความคิด และปล่อยให้จิตได้พักผ่อนในแต่ละวันที่เราต้องใช้ความคิดมากมาย จิตต้องวิ่งวุ่นตลอดเวลา จึงควรจะมีเวลาสักช่วงหนึ่งของวันที่เราได้ออกจากความคิด โดยไม่ต้องเอาอารมณ์ ความรู้สึกใดๆ ไปขับเคลื่อน อาจแค่นั่งเฉยๆ ฟังเสียงที่เกิดขึ้นรอบตัว อาจเพียงแค่มองสิ่งต่างๆ ผ่านไป หรืออาจเฝ้าดูลมหายใจเข้าออกของตนเอง เพียงแต่ขอให้อยู่กับปัจจุบันเท่านั้นสังคมแห่งข่าวสารข้อมูล ชี้นิ้วบังคับให้คนต้องใช้ความคิด คิดเสียจนฟุ้งซ่าน เหน็ดเหนื่อย ไม่สามารถหยุดคิดได้ กระทั่งติดอยู่ในการจ่อมจมอยู่กับความคิดของตนเอง ออกจากความคิดกันบ้างเถิด จะได้มีมีที่ว่างให้ความสงบบังเกิดขึ้นในใจบ้าง
Music
ยามใกล้เที่ยงคืนของวันที่ 31 ธันวาคม หรือวันสิ้นปี ในหลาย ๆ พื้นที่ของโลกจะมีการร้องเพลงที่ชื่อ "โอลด์ แลงค์ ซายน์" (Auld Lang Syne) ซึ่งนับเป็น New year's Anthem ฉบับสากล เช่นเดียวกับที่ในไทยมีเพลงตามประเพณีอย่าง "สวัสดีปีใหม่" นั่นแลเพลง "สวัสดีปีใหม่" ของไทยที่ผมได้ยินมาตั้งแต่เด็กแล้ว ผ่านเลยมาไม่ว่ากี่ปี ๆ ก็ยังได้ยิน โดยตามประวัติศาสตร์เพลงนี้มีมาตั้งแต่ สมัยช่วงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของ จอมพล ป. (ไม่มีกุ้งเผา) เป็นช่วงที่เปลี่ยนวันปีใหม่ไทยจาก 1 เมษายน มาเป็น 1 มกราคม เพื่อความเป็นสากล (ข้ออ้างยอดฮิตของชนชั้นนำในยุคนั้น) และ "สวัสดีปีใหม่" ก็เป็นหนึ่งในเพลงเทศกาล ที่มาจากวงสุนทราภรณ์ วงดนตรีจากกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นกรมที่ร่วมกับกรมศิลปากร ผลิตเพลง Propaganda ให้กับรัฐบาลยุคสมัยผ่านเลยมาก็นานแล้ว เพลง ๆ นี้ก็ยังคงเปิดต่อมาพ้นผ่านยุคสมัยต่าง ๆ แม้จะเริ่มคลายความนิยมลงไป แต่มันก็ยังคงดำรงอยู่ในบ้านเรา เช่นเดียวกับระบอบศักดินาทหาร หมายเหตุไว้เสียเล็กน้อยว่า ถึงแม้ "เนื้อหา" ของเพลงสุนทราภรณ์บางเพลงจะไปในเชิงเชิดชูผู้นำ จารีตนิยม และ โฆษณาชวนเชื่อ แต่ด้าน "รูปแบบ" ก้นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี ทำให้ดนตรีไทยมีความเป็นสมัยใหม่ (Modernize) และ ผสานกับความเป็นตะวันตก (Westernize) ได้ เพราะดนตรีแนวสุนทราภรณ์ได้หยิบยืมรูปแบบของแจ๊สซ์สายบิ๊กแบนด์ (ซึ่งตะวันตกในยุคนั้น แจ๊สซ์กำลังบูมมาก) เข้ามาผสานกับเนื้อร้องแบบบทกวีและการร้องเฉพาะแบบ (ส่วนตัวผมไม่ชอบเสียงร้องแบบนี้เอาซะเลย ถึงจะมีคนบอกว่าเป็นการร้องที่ต้องใช้ความสามารถมากแค่ไหนก็ตาม)แต่นั่นแหละ เพราะการเปลี่ยนแปลงมันเป็นสิ่งที่เกิดจากชนชั้นนำ เปลี่ยนแปลงภายใต้โครงสร้างแบบ "บนลงล่าง" ทำให้อยู่ภายใต้การควบคุม เนื้อหามันจึงไม่เติบโตเท่าไหร่ หากเทียบกับยุคต่อ ๆ มาที่ดนตรีกลายเป็นวัฒนธรรมมวลชน (Popular Culture) อย่างแท้จริง และสำหรับคนที่เป็นโรค Western Allergy เกลียดกลัววัฒนธรรมตะวันตกขึ้นสมอง ผมก็มีข่าวดีมาบอกว่าดนตรีในทุก ๆ วันนี้ถ้าไม่นับดนตรีท้องถิ่น และ ดนตรีไทยเดิม แล้วละก็เพลงไทยทั้งหลายก็เป็นดนตรีที่รับอิทธิพลจากตะวันตกมาปรับใช้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นดนตรีป็อบในกระแส นอกกระแส ใต้ดิน เพื่อชีวิต แม้กระทั่งลูกทุ่งเอาล่ะ ขอกลับมาพูดถึงประวัติ โอลด์ แลงค์ ซายน์ ที่มีความซับซ้อนและน่าสนุกกว่าโรเบิร์ต เบิร์นส์โดยต้นกำเนิด เพลงนี้แต่งขึ้นโดย โรเบิร์ต เบิร์นส์ ตั้งแต่สมัยปลายศตวรรษที่ 17 ซึ่งโรเบิร์ต เบิร์นส์ คนนี้เป็นกวี นักคิด นักประพันธ์เพลงคนสำคัญของสก็อตแลนด์ เพลงนี้เองเข้าก็หยิบยืมทำนองจากเพลงพื้นบ้านของสก็อตแลนด์มาดัดแปลง และในทีแรกนั้นเพลงนี้ยังไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับเทศกาลปีใหม่เลยโอลด์ แลงค์ ซายน์ (Auld Lang Syne) เป็นภาษาสก็อตแลนด์ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า "Old long Ago" หรือเป็นไทยคือ "เมื่อเนิ่นนานมา" เนื้อเพลง ๆ นี้ สามารถตีความได้ต่าง ๆ นานา บ้างก็ว่ามันพูดถึงการให้ลืมสิ่งเก่าไปรับสิ่งใหม่ ๆ มา อีกฝ่ายที่ติดชาตินิยมหน่อยก็ว่าโรเบิร์ต เบิร์นส์ ผู้เป็นนักคิดคนสำคัญย่อมต้องแต่งเพลงนี้เพื่อพูดถึงอดีตอันเกรียงไกรของชาวสก็อตฯ ขณะที่ในปัจจุบัน คนที่ช่างสงสัยแบบ Skeptic ก็เริ่มเสนอว่า จริง ๆ แล้วมันอาจจะเป็นเนื้อหาส่วนตัวของอีตาเบิร์นส์เอง คือเพลงนี้เขาแต่งเพื่อระบายความรู้สึกหวนหาอดีต คิดถึงเพื่อนเก่า คนรักเก่า วันเวลาเก่า ๆ ของเขาก็เท่านั้นอย่างไรก็ดีเพลงนี้กลายเป็นเป็นเพลงเฉลิมฉลองวันปีใหม่ของชาวสก็อตฯ (Hogmanay) และกลายเป็นเพลงปีใหม่ของอีกหลาย ๆ พื้นที่ในโลกเมื่อ Guy Lombardo นักดนตรีชาวแคนาดา เล่นเพลงนี้ในรายการวิทยุของอเมริกาช่วงรอยต่อระหว่างปี 1938-1939 แม้จนบัดนี้เพลงฉบับของ Guy ยังคงใช้เปิดเป็นเพลงแรกของปี เพื่อเฉลิมฉลองงานปีใหม่ที่ไทม์สแควร์จริง ๆ แล้วอาจจะไม่ใช่เนื้อเพลง โอลด์ แลงค์ ซายน์ ที่แพร่หลาย แต่เป็นเมโลดี้สุดติดหู (และถึงขั้นหลอนหู) ของมันต่างหากในหลาย ๆ ประเทศเอาทำนองเพลงนี้ไปใช้ต่างโอกาสกัน ในไต้หวันใช้ทำนองเพลงนี้เปิดในวันจบการศึกษาและในงานศพ ที่ญี่ปุ่นก็เอาเพลงนี้มาแปลงเป็นเพลง Hotaru no Hikari (แสงหิ่งห้อย) ใช้ในงานพิธีจบการศึกษาเช่นกัน ส่วน รพินทรนารถ ฐากูร ปราชญ์วรรณกรรมชาวอินเดียเอาทำนองเพลงนี้มาแต่งเป็น "About the Old Days" ในไทยเองเพลงนี้ก็กลายมาเป็นเพลงแบบขวา ๆ อย่าง "สามัคคีชุมนุม" ที่ไม่แค่เอาทำนองเขามา แม้แต่พิธีการไขว้มือจับกันก็เอามาจากพิธีกรรมของชาวสก็อตฯ ด้วยเทศกาล Hogmanayและล่าสุด ในวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมานี้เอง ทำนองเพลง Auld Lang Syne ก็ถูกเปิดในพิธีสละตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของผู้นำเผด็จการปากีสถาน เปอร์เวช มูชาร์ราฟ เพื่อที่เขาจะได้สืบทอดอำนาจทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ต่อไป ไม่รู้วิญญาณของตาโรเบิร์ต เบิร์นส์ รู้เข้าจะ "เซ็งสาดดด" ขนาดไหน เมื่อเพลงที่แต่งโดยนักคิดเสรีนิยม (Liberalism) เช่นเขาถูกเอาไปใช้ในพิธีกรรมของทหารเผด็จการซะแล้วจริง ๆ แล้ว ผมเห็นว่าเนื้อเพลงนี้แต่งได้ไพเราะมาก พอเห็นถูกเอาไปแปลงเป็นเพลงขวา ๆ มั่งล่ะ เอาไปใช่ในพิธีของเผด็จการบ้างล่ะ มันช่างฟังดูน่าหดหู่เหลือหลาย แม้จะแค่ชอบเนื้อเพลงต้นฉบับมันก็ยังชวนให้รู้สึกผิดแต่ผมก็ได้ค้นพบว่าเพลง ๆ นี้มันไม่ได้มีแต่เอาไปใช้ในพิธีการ หรือเอาไปใช้อย่างขรึมขลังอย่างเดียว ในหมู่ศิลปินเพลงสมัยนิยมทั่ว ๆ ไปก็เอาเพลงนี้มาเล่นกันอย่างสนุกสนานบันเทิงใจ ซึ่งต้องขอบคุณพวกเขาที่ทำให้ผมฟังเพลงนี้ได้สนิทหูขึ้นมาหน่อยนอกจาก Guy Lombardo ผู้ทำให้เพลง Auld Lang Syne กระฉ่อนไปทั่วโลกแล้ว ในช่วงรอยต่อของปี 1969-1970 มือกีต้าร์โลกันต์ Jimi Hendrix ได้เล่นเพลง Auld Lang Syne ในแบบฉบับ Blues-Rock ที่ The Fillmore East ซึ่งในช่วงนั้นดนตรี Rock กำลังเฟื่องฟู และรอยต่อของทศวรรษทั้งสองนี้ก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญของวงการดนตรี Rock เลยก็ว่าได้นอกจากนี้ยังมีฉบับเสียงประสานของวงป็อบอย่าง Beach Boys มีฉบับ Rock กลิ่นพื้นบ้านอเมริกันของ Bruce Springsteen and the E Street Band รวมถึงฉบับกีต้าร์โซโล่แปลกหู ที่ Guns ‘n' Roses เล่นไว้ใน Live at Leeds เมื่อปี 2002 ซึ่งหลังจากนั้น Buckethead มือกีต้าร์จอมเพี้ยนก็ได้โซโล่ต่อเป็นทำนองเพลงธีมหลักของ Star Wars ไม่เพียงแค่การเล่นแบบ (พยายามจะ) Cover เพลงนี้เท่านั้น บางทีเนื้อหาของเพลงนี้ก็ถูกนำไปใช้ในบริบทอื่น เช่นนักร้องโฟล์ค/ป็อบ Dan Fogelberg ที่เพิ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งไปเมื่อวันที่ 17 ธันวา ปีนี้เอง ก็เคยแต่งเพลงที่ชื่อ Same Old Lang Syne ขึ้น เนื้อเพลงพูดถึงการได้พบเจอคนรักเก่าโดยบังเอิญในคืนคริสต์มาส แล้วเรื่องราวเก่า ๆ ก็หวนย้อนกลับมาDan Fogelbergสำหรับผมแล้ว สิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นเสน่ห์ที่มาจากยุคเฟื่องฟูของศิลปะและวัฒนธรรมมวลชน ทำให้มีการนำสิ่งที่อยู่บนหิ้งมาตีความใหม่ มีทั้งการเล่นล้อและการแสดงความเคารพต้นฉบับอย่างเสรีหลังจากวันที่ 31 ไป ปฏิทินเก่าจะหมดหน้าที่ปฏิทินใหม่มาแทน แต่ก็ยังเป็นเครื่องช่วยสมมุติเวลาเหมือนเดิม เพลง "สวัสดีปีใหม่" เพลงเดิมจะยังคงแว่วเสียงออกมาทางโทรทัศน์ให้ได้ยิน หลายที่ในโลกก็ร่วมบรรเลงท่วงทำนองเดิมของ Auld Lang Syne แต่ภายใต้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่เราเห็นว่ามัน "เหมือนเดิม" ผมเชื่อว่ามันมี "การเติบโต" ของอะไรบางอย่างแฝงอยู่ และสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้คนได้เรียนรู้และเติบโตนั้น มันคือศิลปะและวัฒนธรรมที่ไม่ได้ถูกแช่แข็ง ควบคุม หรือถูกกุมความหมายโดยคนเพียงบางกลุ่มมิเช่นนั้นแล้ว วันปีใหม่ที่ผู้คนเฝ้าฝันถึงการเปลี่ยนแปลงสิ่งเก่า ๆ ไปสู่สิ่งใหม่ ๆ ที่ดีกว่าก็จะเหลือเพียงแค่การเปลี่ยนแปลง...ตัวเลขศักราชบนปฏิทินใหม่เท่านั้น"Should auld acquaintance be forgot,and never brought to mind ?Should auld acquaintance be forgot,and auld lang syne ?""ขอสิ่งเก่า ๆ จงถูกลืมเลือนไปและไม่เก็บมาใส่ใจขอสิ่งเก่า ๆ จงถูกลืมเลือนไปและไหลไปสู่อดีตเนิ่นนาน"- Auld Lang Syne
แสงพูไช อินทะวีคำ
วันนี้ผมมีของฝากจากเมืองลาว มาให้พี่น้องได้อ่านกัน สิ่งที่ผมจะนำมาให้อ่านในประชาไทเป็นบทกลอนที่ผมแต่งขื้นเมื่อปี 2003 ระยะนั้นผมมองเห็นอะไรสักอย่างหนิ่งที่มันแฝงตัวอยู่กับสังคมลาว บางทีสิ่งที่พูดอาจไม่ใช่เป็นสิ่งที่เกีดขื้นในเมืองลาวเพียงอย่างเดียว......แต่มันอาจเป็นสิ่งที่เกีดขื้นในทั่วโลกก็เป็นได้ แต่ในที่นี้ผมขอใช้เป็นสำนวนภาษาลาว ด้านหนิ่งสมบูรณ์ด้วย  มูนมากเงินคำด้านหนิ่งต่ำเพียงดิน  คอบความจนไฮ้(ไร้)เปลียบเหมือนไฟลามไหม้  มะไลกันบ่ดับมอด   เป็นแล้วสองส้นเตาะต่อยดั้น  ครือพ้าบั่นขวานยามเมื่องกางต่อน้ำ  พัดขาดเป็นวังกางต่อฟังคำหวาน  พัดได้ยินเสียงป้อย(ด่า)กินอ้อยซงชิหวานใส้  ทางในพัดขมขื่นบืนลุกลุยดุ่งดั้น  ปีนขื้นพัดตู่ดลงใจประสงค์อยากม้าง ภูเกลื่อนพังทลายกายพัดผ่อมบ่มีแฮง  แย่งย่อโตนเต้นอยากเห็นนงนางน้อง  คนงามเขากล่าวก่อหากหากล่าวเว้า  เพราะเขีนชั้นชาตตระกุลบุณมีแต่บ่ได้พบพ้อ  มะนีค่าคำแสนอยากได้แหวนเพ็ตนิล  บ่มีเงินชื้คิดอยากเป็นคนโก้  กายโตพัดหม้องม่นดูตนเพื่นบ่แพ้แล้ว  แนวอยาใส้ก็บ่มีความดีก็อยากได้  ใจพัดไฝ่ตัญหาอยากได้ปลาพัดดืงแห  ใส่รูกระปูน้อยกอยหากมีเต็มบ้าน ตาหวานบ่เลี้ยวใส่ใจหนิ่งคิด ใจหนิ่งเลี้ยว บ่เหลียวล้ำบ่อนจริง   นั้นน่อ 
พันธกุมภา
บุคลิกภายนอกและนิสัยภายในของเขา ไม่ได้บ่งบอกเลยว่าเขาจะมีท่าทีสนใจในธรรมะและปฏิบัติเจริญสติอย่างสม่ำเสมอ หลายๆ คนที่รู้จักเขาต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่น่าเป็นไปได้ที่เขาจะมีความคิดที่อยากบวชเรื่องของเขาน่าสนใจตรงที่ว่า อยู่ดีๆ เขาก็บอกกับข้าพเจ้าและเพื่อนๆ ที่ทำงานด้วยกันว่าอยากจะบวช เพื่อนคนนี้ของข้าพเจ้า แต่เดิมเป็นคนชอบเที่ยวกลางคืน ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ แถมขี้หลีอีกต่างหาก จนวันหนึ่งตัวเองได้ไปปฏิบัติวิปัสสนา, เวลา 10 วันของการปฏิบัติ ทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงไป เริ่มไม่เที่ยว เริ่มไม่ดื่มเหล้า แต่ยังคงความขี้หลีสาวๆ และสูบบุหรี่อยู่ทุกๆ คนต่างรับรู้อยู่อย่างห่างๆ ว่าเขาตั้งใจปฏิบัติ และเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นๆ เช่น เริ่มซื้อหนังสือธรรมะมาอ่าน ชอบคุยเรื่องกฎแห่งกรรม คุยภาษาธรรม เรื่องสมาธิ เรื่องการเจริญสติ มิหนำซ้ำยังชอบเก็บตัวอยู่คนเดียว และช่วงหลังๆ กลายเป็นคนกินมังสวิรัติ ไม่ทานเนื้อสัตว์เลยข้าพเจ้าชื่นชมในความตั้งใจในธรรมปฏิบัติของเขาและเฝ้าภาวนาให้เขาได้พบกับหนทางแห่งการพ้นทุกข์อย่างแท้จริง ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าได้พบและได้สนทนากับเขาถึงผลของการปฏิบัติ “ผมก็นั่งสมาธิทำอานาปานสติแล้วก็ทำวิปัสสนาต่อ ตอนเช้าและก่อนนอนอย่างละเกือบชั่วโมง ส่วนตอนกลางวันก็ดูลมหายใจของตัวเองไปเรื่อยๆ เฝ้าดูจิตของตัวเองไปตลอด ให้รู้ตัว ทั่วพร้อมอยู่เสมอๆ” เขาเล่าให้ข้าพเจ้าฟังและแนะนำให้ข้าพเจ้าลองปฏิบัติแบบเขา เขาเรียนรู้แนวทางปฏิบัติของพระอาจารย์หลายท่าน และเรียนรู้เรื่องสมาธิและวิปัสสนาหลายอย่าง เช่น เรื่องฌานสมาบัติ เรื่องนิวรณ์ 5 เรื่องสติปัฏฐานสี่ เรื่องมโนมยิทธิ หรือแม้แต่อภิญญา 6 และการถอดจิต ซึ่งข้าพเจ้าสงสัยว่าทำไมเขาต้องศึกษาเยอะมากมายขนาดนี้ “ลองศึกษาดูหลายๆ แนว คือถ้าเราจะปฏิบัติก็น่าจะรู้จักหลักต่างๆ ด้วย คือมีปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวท คือการปฏิบัติจะรู้ได้ว่าเราทำอะไรไปถึงไหน น่าจะลองศึกษาจากผู้รู้แล้วนำมาประยุกต์ให้เข้ากับตัวเอง ให้เข้ากับจริตของเรา” เขาตอบข้อสงสัยนั้นหลังจากที่ได้คุยกัน ข้าพเจ้าลองทำอย่างที่เขาแนะนำ และได้นำมาประยุกต์ให้เข้ากับชีวิตตัวเองในการดำเนินประจำวัน ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นการนำมาปรับได้อย่างลงตัว เหมาะเจาะอย่างยิ่งต่อมาไม่นานจากที่ได้พบกันครานั้น ข้าพเจ้าทราบข่าวว่าเขาต้องการที่จะบวช ด้วยเหตุผลที่ว่าหลังจากไปชมภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง “พระพุทธเจ้า” แล้ว เขาก็ปลื้มและอยากเป็นสาวกสงฆ์ของพระพุทธเจ้า และอยากหาทางพ้นทุกข์ในร่มกาสาวพัตรอย่างจริงจังหลายคนที่ทราบข่าวของเขาต่างพูดคุยกันไปต่างๆ นานา บ้างเห็นด้วย อนุโมทนา บ้างไม่เห็นด้วยเพราะอยากให้เขาทำงานที่รับผิดชอบให้เสร็จเสียก่อนค่อยบวช หนักกว่านั้นคือทั้งพ่อและแม่ของเขาต่างไม่อยากให้ลูกชายของตนบวชเพราะเหตุผลอะไรก็ไม่อาจทราบได้“ถึงเราบวชกายไม่ได้ เราบวชที่ใจเราไหม” มีคนหนึ่งเสนอแนะเขา“อื้ม ครับ ผมไม่ลังเลใจที่จะบวชนะครับ แต่ผมกลัวว่าวันหนึ่งถ้าผมเป็นอะไรไปแล้วไม่ได้บวชคงจะเสียใจ ผมเปลี่ยนแปลงไปเพราะธรรมะของพระพุทธเจ้า ถ้าผมไมได้รู้ ไม่ได้ปฏิบัติ ผมคงเป็นคนโง่เขลาที่กิน เที่ยว เล่นไปวันๆ ผมคิดมาตลอดว่าการกินเที่ยวเล่นมันเป็นความสุขจริงๆ แต่ที่ไหนได้ มันเป็นแค่สุขทางโลกจอมปลอม ไม่ได้แก้ทุกข์ของเราได้จริงๆ” เขาตอบกลับเพื่อนผู้นั้น พร้อมกับพูดเสริมว่า “พ่อแม่ไม่ให้บวชก็ค่อยว่ากัน แต่ยังไงผมก็อยากบวช เหตุผลมันตอบไม่ได้ มันมาจากความรู้สึก”วันหนึ่งเขาโทรศัพท์มาถามเพื่อนทางธรรมเช่นข้าพเจ้าว่าควรทำยังไงดี เขาอยากบวชแต่มีงาน มีพ่อแม่เป็นอุปสรรค เขาบอกว่าเขาคิดเหมือนดั่งมีมารมาขวางหรือเทวดามาทดสอบจิตใจจริงๆ ว่าเขาอยากบวชจริงแท้ขนาดไหนกัน เป็นความคิดชั่ววูบหรือเป็นศรัทธาจริงๆ เขาถาม ข้าพเจ้าตอบ“เอายังไงดีครับ” “ลองปฏิบัติต่อไปอีกนิดไหม ดูจิตของตัวเองไปเรื่อยๆ”“แล้วถ้าผมจะบวชแล้วไม่สึกหรือหนีไปเลยไม่ต้องบอกใครจะดีไหม”“จะดีเหรอ ถ้าเราบวชแล้ว ทำให้คนอื่นทุกข์ หรือเบียดเบียนเขามันก็เป็นการสร้างทุกข์ให้คนอื่นนะ”“ลองไปอยู่วัดจะดีไหม”“ดี ไปเลย”“ถ้าไม่อยากบวชล่ะ”“ก็ไม่ต้องบวช บวชใจก็ดีนะ”“บวชใจ เป็นยังไง”“หมั่นให้ทาน รักษาศีล ปฏิบัติภาวนาสม่ำเสมอเป็นฆราวาสก็ทำได้ บวชใจ การบวชไม่ได้อยู่ว่าจะใส่ผ้าเหลือง โกนหัว เราเป็นแบบเรา เราก็เป็นพระได้ พระอยู่ที่ใจ บวชที่ใจ ให้ธรรมอยู่ที่ใจเรา”“แต่กิเลสเยอะ” “ยังไง”“กาม โกรธ เกลียด”“แล้ว....”“บวชเป็นพระอยู่วัดป่าจะได้ไม่ต้องมีผัสสะ ไม่มีทุกข์ กิเลส โทสะ มากระทบจิตให้เกิดปรุงแต่ง”“แสดงว่าบวชหนีปัญหา ทำไมไม่เผชิญกับมัน ต่อสู้มัน เอาชนะให้ได้”“กลัวทำไม่ได้”“ทำไม”“เราอายุยี่สิบสองปีเท่ากัน เรายังเป็นหนุ่ม เป็นวัยรุ่น โอกาสที่จะเกิดอะไรที่กิเลสพาไปมันมีเยอะ สภาพแวดล้อมมันไม่เอื้อต่อการปฏิบัติ มันไม่สัปปายะดีพอ”“ใช่” “ผมเลยอยากบวช”“อื้ม.........”“แล้วจะบวชดีไหมละตอนนี้”“ยังๆ........ รอจังหวะไปก่อน พ่อกับแม่สำคัญ การบวชต้องได้รับความเห็นชอบจากเขา”“พูดหยั่งกับตัวเองจะบวชแล้วพ่อกับแม่ไม่ให้บวชเลยเนอะ”“ใช่, อยากบวชเหมือนกันแต่พ่อกับแม่ไม่ให้บวช”“.........”“..........”“บุพการีไม่ให้บวช แต่อยากบวช ทำยังไงดีล่ะ” ใครคนหนึ่งพูดก่อนที่ความเงียบจะมาเยือน....... 
มาลำ
พ่อหลับอยู่อย่างนั้นทั้งคืน มีเพียงเสียงหายใจและเสียงพลิกตัวเท่านั้นบอกเราว่า พ่อยังหลับอยู่ พ่อไม่ได้พูดอะไรที่ฉันฟังไม่เข้าใจอีกแล้ว พ่อหลับเงียบแน่นิ่ง ถึงกระนั้นฉันก็นั่งเฝ้าพ่อแบบตาไม่กระพริบ พ่อหลับโดยที่มีฉันนั่งจ้องพ่ออยู่อย่างนั้น นอกเหนือจากการเช็ดตัวให้พ่อ ดูยาที่หยดลงในสายน้ำเกลือ วัดความดันเลือดแล้ว ฉันไม่ได้ทำอย่างอื่นอีก นอกจากจ้องมองพ่อ   บางเวลาที่ดึกมากๆ ฉันง่วงมาก เผลอหลับฟุบลงบนเตียงพ่อ ข้างๆ มือที่มีสายน้ำเกลือระโยงระยาง  ฉันหลับอยู่ในท่านั้นจนสะดุ้งตื่น ทันที่ที่รู้สึกตัว ฉันลนลานจ้องมองพ่อ ดูที่หน้าอกพ่อว่าขยับเคลื่อนไหวหายใจอยู่หรือเปล่า หัวใจของฉันเต้นแรงจนแทบออกมานอกอก เห็นว่าพ่อยังหลับอยู่เหมือนเดิม ฉันจึงค่อยๆนั่งลง ถอนใจ บอกตัวเองว่าอย่าหลับอีกเลยนะ แล้วฉันก็นั่งอยู่อย่างนั้นจนแดดมาเยือน ทั้งที่ง่วงแสนง่วงจนปวดหัวไปหมด แต่ตาของฉันยังจับอยู่ที่หน้าพ่อตลอดเวลาหลังเช็ดตัวให้พ่อในตอนเช้า เปลี่ยนผ้าปูและเสื้อผ้าชุดใหม่ พ่อดูหน้าตาสดชื่นแม้อยู่ในอาการหลับ แม่เป็นคนรูดม่านเก็บเมื่อมาถึงในเช้ามืด แม่ถามฉันว่าเป็นอย่างไรบ้างลูก ไม่ได้นอนเลยหรือ ตาลูกเขียวลึกเลยหล่ะ พ่อเป็นอย่างไรบ้าง ฉันตอบแม่ว่าพ่อหลับตลอดเวลา ความดันเลือดดีขึ้นมาก หมอคงหยุดยาเพิ่มความดันได้ ที่สำคัญพ่อไม่ได้เพ้อเหมือนที่ผ่านมา พ่อหลับเงียบแน่นิ่ง  วันนี้พ่อคงจะตื่นเสียที  ลูกเลยไม่กล้าหลับเลยใช่ไหมเมื่อคืน แม่ถามฉัน ลูกกลัวที่เห็นพ่อหลับอย่างนั้นหรือเปล่า ฉันยิ้มและเงียบ รู้สึกปวดหัวและกระบอกตาจนบอกไม่ถูกฉันเดินสะโหลสะเหลไปที่โรงอาหาร ร้านอาหารเจเจ้าเดียวในโรงอาหารของโรงพยาบาลเป็นร้านเดียวที่ฉันนั่งตลอดมานับตั้งแต่พ่อป่วย เจ้าของร้านเป็นมุสลิมที่ทำอาหารเจแบบปักษ์ใต้ขาย ฉันนั่งลงก้มหน้าก้มตากิน เจ้าของร้านเอากับข้าวมาวางให้ พร้อมเอ่ยถามว่าใครไม่สบายหรือ พี่เห็นน้องเฝ้าอยู่นานเป็นเดือนแล้ว ฉันยิ้มให้พลางบอกว่า พ่อถูกรถชน ที่จริงดีขึ้นและกลับบ้านแล้ว กลับมานอนใหม่  ดีขึ้นแล้วเหมือนกัน  จริงๆ แล้วฉันกลับไปแล้วหนึ่งรอบคราวนี้มาใหม่สงสัยหลายวันอีกเหมือนกัน  เธอบอกนับว่ายังเป็นโชคดีของพ่อยังมีลูกสาวอย่างฉันมาเฝ้า ขอให้พ่อหายเร็วๆ นะ ฉันยิ้มให้เธอพร้อมคำขอบคุณกลับจากโรงอาหาร ฉันเดินไปดูพ่อ พ่อยังหลับอยู่อย่างนั้น หมอยังเดินมาไม่ถึงเตียงพ่อ  ฉันจึงเลือกที่จะมานอนอยู่ตรงระเบียงตึกที่พ่อนอนอยู่ เพราะไม่อยากกลับไปนอนที่บ้านพักน้องชายอีกแล้ว ฉันรู้สึกว่ามันทำให้ฉันกับพ่อห่างไกลกัน หลังปูเสื่อลงไปบนระเบียง  เอาผ้าคลุมหัวไว้แล้วฉันก็หลับลงไปในทันทีที่ล้มตัวลงนอน ฉันตื่นขึ้นมาในตอนบ่ายมากแล้ว แดดบ่ายร้อนแรงส่องมากระทบบนเสื่อที่ฉันนอนอยู่ทำให้ฉันลุกมานั่งอย่างงงๆ หลังรู้ตัวว่านอนอยู่ไหน ฉันลุกเดินอย่างรวดเร็วไปยังเตียงของพ่อ  พ่อส่งยิ้มให้ฉันมาแต่ไกล หน้าตาพ่อสดชื่น สายน้ำเกลือและสายออกซิเจนหายไปแล้ว เหลือเพียงจุดฉีดยาเล็กๆที่ข้อมือ เข่าขวาของพ่อปิดผ้าก็อสใหม่  หมอว่าพ่อดีขึ้นมากแล้วลูก หมอมาทำแผลแล้วบอกพ่ออย่างนั้น วันนี้พ่อหายเพลีย หายเหนื่อยสบายขึ้นมากๆเลย  พ่อให้แม่เดินไปดูลูกเห็นหลับสนิทเลยไม่ได้กวนใจ พ่อรู้ว่าลูกไม่ได้หลับเลยในเวลากลางคืน พ่อเห็นลูกนั่งจ้องพ่ออยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ฉันยิ้มให้พ่อ  แสดงว่ามีบางเวลาที่พ่อตื่นมาดูฉัน อย่างน้อยพ่อก็ไม่ได้หลับตลอดเวลาอย่างที่ฉันคิด ลูกคงเพลียน่าดู  พ่อพูดต่อ พ่อกลัวลูกจะไม่สบายไป พ่อดีขึ้นมากแล้วคืนนี้กลับไปนอนกับน้องชายเถอะ พ่ออยู่คนเดียวได้แล้วแข็งแรงขึ้นมากแล้วลูก  ฉันยิ้มให้พ่อแล้วบอกว่า พรุ่งนี้ก็แล้วกันพ่อจ๋า วันนี้ขอนอนอยู่ใกล้ๆพ่ออีกคืน ไม่เป็นไรหรอก ลูกเคยชินแล้วกับการนั่งหลับ คงเหมือนพ่อ ลูกไม่เคยเห็นพ่อนอนเลยตลอดมา พ่อทำงานหนักตลอดเวลา ตอนนี้มีเวลานอนแล้วนะพ่อ เวลาที่เป็นของเราแล้ว ดีแล้วที่พ่อได้หลับยาวนานอย่างนี้ สามวันสามคืนของการนอนหลับของคนที่ไม่เคยได้หลับอย่างแท้จริง  พ่อคงสบายขึ้นมากแล้วแล้วฉันก็พยุงพ่อออกเดินในตอนเย็น  เราหัดเดินกันตรงริมระเบียงของตึกใกล้ที่ๆฉันปูเสื่อนอนตอนเช้า  แดดอ่อนตอนเย็นโรยลงบนทางเดิน ลมเย็นโชยมาพร้อมใบไม้ที่ปลิวผ่านหน้า พ่อหายใจแรงขณะยกที่ช่วยพยุงเดินไปทีละก้าว  พ่อดูเหนื่อยอ่อน หายใจหอบจนต้องหยุดเมื่อเดินได้เพียงสองสามก้าว ฉันจับแขนของพ่อไว้ กล้ามเนื้อของพ่อเริ่มเหี่ยวแห้งลง ฉันมองหน้าพ่อแล้วมองอีก ในใจของฉันนึกย้อนไปแสนไกลภาพพ่อหาบข้าวผ่านหน้าฉันไป แสกหาบเป็นหวายสูงกว่าหัวฉันอีกเมื่อจับแสกยืนขึ้น ทั้งที่ข้าวเต็มหาบ แต่พ่อแบกเหมือนมันไร้น้ำหนัก พ่อเดินผ่านหน้าฉันไปเหมือนมีวิชาตัวเบา แต่เสียงเอี๊ยดอ๊าดของหาบ ผ่านหูเมื่อพ่อมาอยู่ใกล้ทำให้ฉันรู้ว่ามันหนักเหลือเกิน เมื่อพ่อกองข้าวที่หาบมาฉันรู้ว่ามันเกือบสูงท่วมหัวฉัน  เลียงข้าวที่พ่อเรียงบนแสกบานเหมือนกลีบดอกไม้สี่กลีบ มันสวยจับใจ  พ่อหาบข้าวแสกแล้วแสกเล่า วันแล้ววันเล่าจนกองข้าวที่นาทั้งหมดมาอยู่ที่ลอมข้าวตรงหน้าฉันในโรงที่พ่อทำมันขึ้นเพื่อเก็บข้าวที่เรากินทั้งปี  ฉันเป็นคนโยนเลียงข้าวให้พ่อจากกองที่หาบมาเป็นลอมข้าวที่พ่อวางเรียง ลอมข้าวจะสูงใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆในขณะที่กองข้าวที่หาบมาจะเล็กลงไปเรื่อยเช่นกัน เมื่อลอมข้าวสูงขึ้นจนท่วมหัวฉัน ฉันต้องออกแรงจนสุดเพื่อโยนเลียงข้าวให้ถึงมือพ่อบนลอมข้าวนั้น  ในตอนนั้นฉันหอบหายใจจนตัวโยน ภาวนาให้เลียงข้าวหมดก่อนที่ฉันจะหมดแรง แล้วมันก็เสร็จลงจนได้เมื่อเรี่ยวแรงของเราไม่มีเหลือ แล้วฉันนอนลงมองลอมข้าวที่สูงลิบเหนือหัวของฉันสองสามช่วงตัว ในใจฉันนึกแปลกใจที่สุด พ่อทำมันเพียงลำพังได้อย่างไร พ่อก่อลอมข้าวที่สูงใหญ่ขึ้นด้วยสองมือ  ก่อนพลบค่ำของวันนี้  เมื่อเราต่างหยุดเดินฉันพยุงพ่อนอนบนเตียง แล้วจับมือพ่อไว้  วันนี้ของเราดีหนักหนาพ่อจ๋า เราได้เดินอยู่ด้วยกันและพ่อกำลังแข็งแรงขึ้นแล้ว เป็นสิ่งที่ฉันดีใจที่สุดแล้ว ไม่ว่าพรุ่งนี้ของเราจะหนักหนาอย่างไร เราจะมีกำลังใจนะพ่อ แล้วฉันกอดพ่อไว้ด้วยหัวใจที่เข็มแข็ง บอกตัวเองว่าแม้จะเหนื่อยหนักอย่างไรฉันจะไม่หวั่น เหมือนพ่อก่อกองข้าวไว้ให้พวกเราทุกคน กองไว้ในใจฉันเสมอมา
แสงพูไช อินทะวีคำ
ที่ ESCUDERO, ประเทศ Philippines“ไปทานข้าวกันเถอะ!”..............เธอเป็นคนค่อนข้างอ้วนท้วน  ยักไหล่เบาๆ...ปล่อยคำทักทายเหมือนกับเธอมีอำนาจสูงสุด ใช่จริงด้วยเพราะเวลานี้มันเลยเที่ยงไปแล้ว หลายคนท้องร้อง คอยให้ผู้รับผิดชอบงานสัมมนาบอกให้หยุดพักได้“วันนี้ไปรับประทานอาหารในสถานที่แปลกๆ กันนะ”....เธอร้องบอก ขณะที่ทุกคนเร่งเดินออกจากห้องประชุมมุ่งหน้าไปที่ร้านอาหาร......“เขาบอกว่าจะทานข้าวบนผิวน้ำ!”....หนุ่มฟิลิปปินส์คนหนึ่งเดินเข้ามาพูดกับผม“อ้าว! จะไปทานได้ไงล๋ะ?”“ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน”ผมมองหน้าเขา แล้วหนุ่มคนนั้นก็มองหน้าผม ในที่สุดเราทั้งสองก็หัวเราะ เพราะไม่รู้จะพูดอะไรอีก เมื่อมันแปลกถึงขั้นนั้น. ผมและเขาเดินขนานกันไป แล้วผมก็เลี้ยวช้าย เขารีบมาดึงแขนผมไว้“ไม่ใช่ที่ร้านอาหาร...ไปทางนี้”แกบอกพร้อมดึงมือผมไปเบาๆ.......ที่นั้น....ต้องเดินลงตามบันไดคอนกรีต พอถึงริมน้ำ ผมทอดสายตามองรอบๆ นี่คือลานหินที่กว้างมาก โดยเจ้าของร้านใช้ไม้มาทำเป็นเสาค้ำ ด้านบนมีแผ่นสี่เหลี่ยมรองพื้นเพื่อใช้วางจานอาหาร ผู้คนที่มาทานอาหารจะต้องเดินค่อยๆ เดินอย่างระมัดระวังไปตามลานหินที่มีน้ำไหลลื่น...ผมถอดรองเท้าออก ค่อยๆ เดินลงสู่ผิวน้ำบนลานหิน ค่อยๆ ทอดน่องไปข้างหน้า จิกนิ้วเท้าลงกับลานหินเพื่อกันลื่น เมื่อได้อาหารแล้วก็ค่อยๆ เดินไปหาที่นั่ง ทานอาหารไป สายตาก็มองไปรอบๆ  หลายคนหัวเราะเบาๆ....บางคนหัวเราะชอบใจเมื่อมองเห็นคนลื่นลงไปที่พื้นลานหินใต้ผิวน้ำผมทานข้าวไป นึกถึงภาพของหลายๆ คนที่ลื่น หลายคนล้มลง แขนกระแทกกับหินทำให้แขนหัก หลายคนล้มหัวกระทบกับหินจนหัวแตก มองดูสายน้ำที่มีหยดเลือดสีแดงเข้มปะปน เพื่อนบางคนต้องช่วยเพื่อนที่ได้รับบาดเจ็บ ขณะที่ช่วยอยู่นั้นตัวเองก็ล้มลง เข่ากระแทกกับหินจนเข่าแตกไปอีก...“นี่...คุณคิดอะไรถึงดูเศร้าสร้อยขนาดนั้น?”“ไม่มีอะไรหรอก......” ผมเงยหน้ามองเพื่อนแล้วตอบเหมือนร่างที่ไร้วิญญาณ“มองดูหน้าคุณ มันฟ้องให้เห็นว่า คุณกำลังมีปัญหา...”“โอ...งั้นหรือ?”...ผมเดินออกจากร้านอาหารบนผิวน้ำ โดยไม่รอใครเลย แม้กระทั้งเพื่อนชาวอินโดนีเซียที่สนิทที่สุด เดินไปก็คิดไปด้วย“เอ่อ....กูบ้าหรือเนี่ย.....ทำไมต้องคิดอย่างนั้นด้วย”“ไม่....กูไม่ได้บ้า....”  คิดตอบเอง“ถ้างั้น....ผมบ้าหรือเปล่า?.......”
พันธกุมภา
ดูจิต...ดูจิตคืออะไร? ข้าพเจ้ามักสงสัยตลอดเวลา เมื่อมีผู้ใหญ่ได้บอกสอนเรื่องการ “ดูจิต” บางคนถามว่าวันนี้ดูจิตเป็นยังไงบ้าง ดูจิตไปถึงไหนแล้ว แต่ละคำถามเกิดจากการติดตามผลของการปฏิบัติที่พี่ๆ แต่ละท่านต่างเฝ้าสอบถามด้วยความเป็นห่วงวันหนึ่ง ข้าพเจ้าได้พบกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ข้าพเจ้าเคารพนับถือ ท่านได้ถามข้าพเจ้าว่าชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง หลังจากที่ไม่ได้พบเจอกันมาเสียนาน ข้าพเจ้าได้เล่าเรื่องการปฏิบัติของข้าพเจ้าให้ผู้ใหญ่ท่านได้รับฟัง และเราก็ได้คุยถึงครูบาอาจารย์ที่สอนการวิปัสสนากรรมฐานแต่ละหนแห่งผู้ใหญ่ท่านนี้ได้แนะนำ และชวนเชิญให้ข้าพเจ้าได้ลองปฏิบัติตามแนวทางของ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ซึ่งท่านบอกว่าวิถีของหลวงพ่อเป็นการเจริญวิปัสสนาที่เน้นการขยับเคลื่อนร่างกาย พิจารณาทางกาย หรือที่เรียกว่า “กายานุปัสสนา” หรือการพิจารณากายในกาย พิจารณาการเดิน นั่ง ยืน การเคลื่อนไหวต่างๆ ซึ่งน่าจะเหมาะกับฆราวาสที่ไม่ได้มีเวลานั่งปฏิบัติอย่างจริงๆ จังๆ ข้าพเจ้า ไม่เคยได้ยินชื่อของ หลวงพ่อเทียน มาก่อน จึงได้ลองหาข้อมูลในเว็บไซต์ และได้เข้ามาอ่านเรื่องการดูจิต ที่หลวงพ่อเทียนท่านได้เขียนไว้ มีความว่าดังนี้......รูปกายนี้ มันเคลื่อนมันไหวอยู่เรื่อยๆ ไม่เคยหยุดนิ่ง ตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่ มันจะเคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ให้รู้ ผมเลยเอามาทำเป็นจังหวะ ทำจังหวะ : ยกมือเข้า เอามือออก ยกมือไป เอามือมา ฯลฯ เพื่อเป็นการเรียกร้องให้มีสติมั่นคงอยู่กับรูปกาย อย่างนี้ ตลอดไปถึงจิตใจคิดนึก สองอันนี้เป็นเชือกผูกสติเอาไว้ เมื่อความคิดเข้ามา เราเห็น-รู้ กำมือ เหยียดมือ ยกไป ยกมา นี้ก็รู้ แต่ไม่ต้องเอาสติมาจ้องตัวนี้ อย่าเอาสติมาคุมตัวนี้ ให้เอาสติไปคุมตัวความคิด คำว่า “ไปคุม” คือ ให้คอยดูมัน ดูไกลๆ ดูสบายๆ อย่าไปดูใกล้ๆ มันจะเป็นการเพ่ง ไม่เป็นมัชฌิมา จึงว่า - ทำใจไว้เป็นกลางๆ พอมันคิดปุ๊บ - ทิ้งไปเลย เพียงดูความคิดนี่แหละ เพียงความเคลื่อนไหวนี่แหละ มันเป็นเอง ความเป็นเองมันมีอยู่แล้ว พร้อมแล้วที่จะปรากฏในคนทุกคนได้ พุทธะ จึงแปลว่า ผู้รู้ รู้ธรรม เห็นธรรม เข้าใจธรรม รู้ธรรม ก็คือรู้ตัวเรา กำลังทำ กำลังพูด กำลังคิด เข้าใจธรรม เมื่อรู้อันนี้แล้วก็เลยรู้บาป รู้บุญ บาปก็คือโง่นั่นเอง คือไม่รู้ คืออยู่ในถ้ำ มืดอยู่นั่นแหละ ถ้าเราออกจากถ้ำได้ เรามาอยู่ปากถ้ำ อยู่ข้างนอกถ้ำ เราก็สามารถมองเห็นอะไรได้ทุกอย่าง พุทธศาสนาจริงๆ นั้นคือ ตัวสติ-ตัวสมาธิ-ตัวปัญญาที่ฝึกฝนทำดีแล้วนั่นแหละ ตัวพุทธศาสนามีในตัวคนทุกคน แล้วแต่บุคคลนั้นจะประพฤติปฏิบัติให้มันปรากฏขึ้นหรือเปล่า เป็นเรื่องของบุคคลนั้น การรู้เฉยๆ นี้ยังไม่เห็นความคิด รู้เรื่องรูปนามนี่ยังไม่เห็นความคิด มันคิดจากไหนไม่รู้ มันคิดแล้วมันก็เข้าไปในความคิด รู้ไปเรื่อยๆ รู้แต่ดี ชั่วไม่รู้ อันนี้เป็นปัญหาที่ทุกคนควรจำเอาไว้ ความรู้สึกตัวเป็นรากเหง้าของบุญ ความไม่รู้เป็นรากเหง้าของบาป การรู้สึกตัวนั้น เป็นไม้ขีดไฟ เทียนไขนั้นก็คือ มันคิดเรารู้ เราพยายามจุดสองอย่างนี้ จุดแล้วก็สว่างขึ้นมา ก็เดินหนีออกจากถ้ำ ไม่เข้าไปอยู่ในถ้ำ ถึงจะต้องเข้าไปอยู่ในถ้ำ ก็ต้องไม่ให้มันมืดต่อไป ต้องรู้สึกตัวทันที นี่แหละคือการปฏิบัติธรรม การรู้สึกตัวนี้ ให้รู้สึกลงไป เมื่อมันไหวขึ้นมาให้รู้สึกตามความเป็นจริงที่มันเคลื่อนไหวนั้น เมื่อมันหยุดก็ให้รู้สึกทันทีว่ามันหยุด อันนี้เรียกว่า สงบ สงบแบบรู้สึก การรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของร่างกาย คือ การเจริญสติ สมาธิ คือ การตั้งใจ ที่เราต้องการความสงบ หรือพุทธะ เราไม่ต้องไปทำอะไรให้มาก เพียงให้ดูต้นตอของชีวิต เมื่อมันคิดมาอย่าเข้าไปในความคิด ให้ตัดความคิดออกให้ทัน ความสงบที่แท้จริงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ เราหยุดการแสวงหา ต่อเมื่อเราไม่ต้องวิ่งหาบุคคลอื่นนั้นเรียกว่า ความสงบ ความสงบมีอยู่แล้วโดยไม่ต้องทำขึ้น เป็นความสงบจาก โทสะ โมหะ โลภะ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นแก่เรา สติจะมาทันที เนื่องจาก สติ สมาธิ ปัญญา อยู่ที่นั่นแล้ว โทสะ โมหะ โลภะ จึงไม่มี ถ้าบุคคลใดไม่ได้เจริญสติ ไม่ได้ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น บุคคลนั้นจะไม่มีมัน ทั้งๆ ที่มันมีอยู่ที่นั่นแล้ว การแสวงหาพระพุทธเจ้าก็ตาม แสวงหาพระอรหันต์ก็ตาม แสวงหามรรคผลนิพพานก็ตาม อย่าไปแสวงหาที่ๆ มันไม่มี แสวงหาตัวเรานี่ ให้เราทำความรู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอ นี่แหละ จะรู้จะเห็น ให้ลืมตาทำ เคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ให้รู้ มันเป็นการไหลไปตามธรรมชาติของมัน ตาก็ไม่ต้องบังคับให้มันหลับ ให้มันกะพริบขึ้นลงได้ตามธรรมชาติ เหลือบซ้ายแลขวาก็ได้ มันจึงเป็นการปฏิบัติธรรมกับธรรมชาติ และมันก็รู้กับธรรมชาติจริงๆ หนทางไปสู่ความสิ้นสุดของทุกข์นี้ เป็นหนทางที่ง่าย เหตุที่ยาก เพราะเราไม่รู้มันอย่างแท้จริง เราจึงมีแต่ความลังเล และสงสัย  การที่เราเคลื่อนไหว แปลว่าปลุกตัวเราให้ตื่น เมื่อมันคิดให้มันรู้ ความรู้มันจะไปดับโทสะ โมหะ โลภะ จะดับความยึดมั่นถือมั่น แล้วจิตใจเราก็เป็นปกติ เมื่อเป็นปกติแล้วสิ่งใดมาถูกเรา เราจะรู้สึกทั้งหมด เมื่อรู้สึกแล้วเหมือนสิ่งหนึ่งสิ่งใดขาดออกจากกัน-คนไม่มี นี่แหละที่ว่าพระพุทธเจ้าฆ่าคนให้ตาย มีแต่ชีวิตของพระล้วนๆ ชีวิตของพระไม่มีเกิด ไม่มีตาย วิธีการยกมือขึ้น คว่ำมือลง เป็นวิธีเจริญสติ เป็นวิธีเจริญปัญญา เมื่อได้สัดได้ส่วนสมบูรณ์แล้ว มันจะเป็นเองไม่ยกเว้นใครๆ อยู่ที่ไหนก็ทำได้ เด็กๆ ก็ทำได้ ผู้ใหญ่ก็ทำได้ นุ่งผ้าสีอะไรก็ทำได้ ถือศาสนาลัทธิอะไรก็ทำได้ เรียกว่า ของจริง วิปัสสนา คือ การเห็นแจ้งรู้จริง เห็นอะไร? ก็เห็นตัวเองนี่เอง กำลังนั่งอยู่ พูดอยู่ในขณะนี้ เห็นจิตใจมันนึกคิดอยู่เดี๋ยวนี้ อันนี้แหละเป็น "วิปัสสนา" จริงๆ คำว่า "วิปัสสนา" นั้นเป็นเพียงชื่อเท่านั้นเอง แต่ตัวจริงของวิปัสสนานั้น ตามตัวหนังสือแปลว่า รู้แจ้ง-รู้จริง รู้แล้วต่างเก่าล่วงภาวะเดิม ว่าอย่างนั้น ถ้าหากรู้แจ้ง-รู้จริง เราจะไปเสียเวลาดูฤกษ์งามยามดีกันทำไม จะไปไหว้ผีไหว้เทวดากันทำไม ถ้าหากรู้แจ้งรู้จริงแล้วก็ไม่ต้องกลัวใครทั้งหมด การที่เราเห็นความคิดนี่เอง เป็นต้นทางพระนิพพานแล้ว เมื่อมันคิดวูบขึ้นมา เราก็เห็นปั๊บ อันกระแสความคิดนี้มันไว ไวกว่าแสง ไวกว่าเสียง ไวกว่าไฟฟ้า ไวกว่าอะไรทั้งหมด เมื่อได้เห็นสมุฏฐานความเร็ว ความไวของความคิดแล้ว เรียกว่า อรรถบัญญัติ การเห็นการรู้ความคิด เป็นสองสิ่งที่แตกต่างกัน การรู้คือการเข้าไปในการคิดและความคิดก็คงดำเนินต่อไป เมื่อเราเห็นความคิด เราสามารถหลุดออกมาจากความคิดนั้นได้ เมื่อเราเห็นความคิดในทุกขณะ ไม่ว่ามันจะคิดเรื่องใดก็ตาม เราเอาชนะมันได้ทุกครั้งไป แล้วเราจะมาถึงจุดหนึ่ง ที่บางสิ่งในภายในจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน การทำความรู้สึกตัวนั้น จึงมีอานิสงส์มาก ถ้าหากไม่รู้สึกตัวในขณะไหนเวลาใดแล้ว เรียกว่าคนหลงตน ลืมตัว หลงกายลืมใจ คล้ายๆ คือเราไม่มีชีวิตนี่เอง ให้ดูใจ เมื่อคิดขึ้นมา เห็น รู้เข้ามา ทำความเคลื่อนไหว มันจะวาง วางใจ มันจะมาอยู่กับความรู้สึก เมื่อมาอยู่กับความรู้สึกแล้วปัญญามันจะเกิด คนจะล่วงทุกข์ไปได้เพราะปัญญา ตัวนึกคิดนี่แหละคือสมุทัย มรรคคือการเอาสติมาดูความคิด นี่คือข้อปฏิบัติ ให้เห็นความคิด อย่าไปห้ามความคิด และอย่าไปยึดไปถือ ให้ปล่อยมันไป นี่คือการเห็นความคิด คิดแล้วให้ตัดปุ๊บเลย เหมือนการวิดน้ำออกไปจากก้นบ่อ ทำอย่างนี้นานๆ เข้า สติจะเต็มและสมบูรณ์ คิดปุ๊บเห็นปั๊บ อันนี้แหละคือระดับความคิด ที่เรียกว่า ปัญญา ซึ่งเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด แท้จริงแล้วนั้น กิเลสมิได้มีอยู่จริง แล้วเราจะไปชนะมันได้อย่างไร สิ่งที่เราต้องทำเพียงอย่างเดียวคือ เราเพียงแต่ดูจิตใจโดยชัดเจน เผชิญหน้ากับความคิดโดยแจ่มชัด เมื่อเราเห็นใจอย่างชัดเจน โมหะก็จะไม่มีอยู่ หลักพุทธศาสนาจริงๆ สอนให้ละกิเลส คือความอยากนี้เอง แต่ตัวที่มันอยาก เรากลับไม่เห็น ไม่รู้ เราต้องดูจิตดูใจ ให้เข้าใจทันทีว่า เออ…กิเลสเกิดขึ้นแล้ว ต้องเห็นที่ตรงนี้ คำสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆ นั้น สอนให้เราประพฤติปฏิบัติ เพื่อทำลายความหลงผิด ความหลงผิดเกิดขึ้นนั้น ท่านว่าเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะเรามีความโกรธ ทุกข์เพราะเรามีความโลภ ทุกข์เพราะเรามีความหลง ถ้าเราไม่มีความโกรธ ความโลภ ความหลงแล้ว เราก็ไม่ต้องมีทุกข์ ทำการทำงานอะไรก็ต้องไม่มีทุกข์..........คำสอนเรื่องการดูจิต ของหลวงพ่อเทียน เป็นวิธีการหนึ่งที่จะนำไปสู่การหลุดพ้น ซึ่งหากมองตามหลัก “มหาสติปัฏฐานสี่” แล้ว หากจะเปรียบเทียบการเจริญสติโดยการสร้างจังหวะของหลวงพ่อเทียนกับมหาสติปัฏฐานสูตรแล้ว วิธีสร้างจังหวะของหลวงพ่อนั้นจัดอยู่ใน “กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน” ในลักษณะของ อิริยาปถบรรพ คือมีสติในอิริยาบทใหญ่ ในการยืน เดิน นั่ง นอน และสัมปชัญญบรรพ คือมีสติในอิริยาบทย่อย เช่น คู้ขา เหยียดแขน กลืนน้ำลาย กระพริบตา รวมไปถึงกลวิธีของการเคลื่อนไหวมือสร้างจังหวะ (หรือจงกรมด้วยมือนั่นเอง) นอกจากนี้ ยังตกเข้าในลักษณะของ “เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน” ในแง่ที่ว่า เมื่อเกิดความรู้สึกตัวขึ้นในการเคลื่อนไหว นั่นคือรู้ในความรู้สึกที่เป็นกลางๆไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นอุเบกขา แต่เป็นการรู้ซึ่งความปกติตามธรรมชาติที่แท้ของจิต เป็นความรู้สึกด้วยสภาพจิตที่แท้จริงจิตที่เป็นกลางซึ่งเป็นต้นตอของชีวิตจิตใจ เมื่อสร้างความรู้สึกตัวให้มีมากขึ้น สติจะทำหน้าที่ของมันเอง คือคอยจับการเคลื่อนไหวของจิตหรือคือความคิดนั่นเอง เข้าลักษณะของ “จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน” ให้รู้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงทางจิต เข้าสู่ “ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน” มีคนเล่าให้ฟังว่าหลวงพ่อเทียน ท่านเน้นให้เห็นความคิด ซึ่งก็คือจิตและการเคลื่อนไหวของจิตนั่นเอง สุขทุกข์ล้วนเกิดจากจิต แต่จิตนั้นปราศจากรูปร่างหน้าตาฉะนี้แล้ว หนทางอันนำไปสู่การหลุดพ้นอย่างแท้จริงนั้น ย่อมสามารถเกิดขึ้นได้ หากเราได้ปฏิบัติอย่างจริงจัง ซึ่งข้าพเจ้ามองว่าหนทางของหลวงพ่อเทียน นั้นเป็นหนทางหนึ่งที่อาจจะเหมาะสมแก่จริตของแต่ละคนที่แตกต่างกัน บางคนถนัดแบบของท่านโกเอ็นก้า บางคนถนัดแบบหลวงพ่อชา สุภัทโท บางคนถนัดแบบอุบาสิการัญจวน อินทรกำแหง และครูบาอาจารย์วิปัสสนากรรมฐานอีกหลายๆ ท่านแต่หนทางที่จะไปถึงนั้นย่อมไม่ได้ห่างไกลจากการนิพพานหรือการหลุดพ้นอย่างแท้จริงเลยแม้แต่น้อย นั้นหมายความว่า หากเรายึดหลักหลักปฏิบัติได้ในแก่นแล้ว เราย่อมสามารถนำแนวทางของครูบาอาจารย์หลายๆ ท่านมาประยุกต์ให้เหมาะกับแนวทาง จริต และบริบทชีวิตของตนได้อย่างไรก็ตาม สำหรับการปฏิบัติตามแนวทางของหลวงพ่อเทียนนั้น ผู้ใหญ่ท่านที่ได้คุยกับข้าพเจ้า ได้ชวนให้ไปร่วมปฏิบัติด้วยในช่วงเดือนเมษายน ปี 2551 ซึ่งหากผู้ใดสนใจ อาจติดต่อสอบถามข้าพเจ้าได้ในจดหมายอีเมล์ และอาจมีการนัดหมายกันอีกครา เมื่อเวลาใกล้จะมาถึง ทั้งนี้หากใครต้องการอ่านข้อมูลเกี่ยวกับหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ สามารถเข้าไปดูได้ที่ www.se-ed.net/theeranun นะครับธรรมสวัสดี....
new media watch
  ถ้ามาพูดถึงเรื่อง ‘บริโภคนิยม' ตอนนี้ อาจจะตกยุคไปสักหน่อย เพราะใครๆ เขาก็พูดถึงแต่เรื่อง ‘พอเพียง' กันทั้งนั้น แต่พอไปเจอบล็อกของคน ‘นิยมบริโภค' อย่าง iloveeating.wordpress ก็อดไม่ได้ที่จะเอามาเล่าสู่กันฟัง บล็อกนี้ไม่ได้ส่งเสริมให้คนฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมอยากได้อยากมีอยากใช้จ่าย แต่เป็นการหาความสุขง่ายๆ ด้วยการ ‘บริโภค' อาหารอร่อยๆ ที่มีการแจกสูตรให้ไปทำเองบ้าง บางทีก็แนะนำอาหารแช่แข็งหรืออาหารสำเร็จรูปที่มีขายตามร้านทั่วไป (แม้ว่าบางอย่างอาจจะยังไม่มีขายในประเทศไทย-ด้วยเหตุว่าเจ้าของบล็อกเป็นคนไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ) แต่การให้คะแนนเรื่องรสชาติ หน้าตา และความคุ้มค่าระหว่างราคากับปริมาณอาหารสำเร็จรูป ก็น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนชอบกินทั้งหลายล่าสุด เจ้าของบล็อกเพิ่งฉลองตัวเลขผู้เข้าชมบล็อกถึงหลักหมื่น ด้วยการแจกจ่ายวิธีทำ ‘หอยแมลงภู่อบ' ราดหน้าด้วยมายองเนส ซึ่งถ้าดูรูปประกอบไปด้วยขณะอ่าน อาจทำให้หลายคนน้ำลายไหลย้อยยยย...นอกจากนี้ สูตรเด็ดที่มีคนเข้าไปดูอีกจำนวนไม่น้อย ได้แก่ วิธีทำ ‘ผักโขม' ใ้ห้อร่อย, น้ำเต้าหู้ (ทำเองก็ได้ ง่ายจัง), กับแกล้มขี้เหล้า...วันฝนพรำ และส้มตำ (คนไกลบ้าน)อ่านวิธีทำ พร้อมดูภาพประกอบ หูก็ฟังเพลงเพราะๆ ไปด้วย บริโภคกันแบบนี้ คงไม่มีใครแอบจิกกัดหรอกนะว่า ‘ไม่รู้จักพอเพียงเอาซะเลย' 
พันธกุมภา
- 1 - ข้าพเจ้าได้อ่าน บทเขียนของ “กลางชล” ในนิตยสาร “ธรรมะใกล้ตัว” ฉบับที่ 29 ประจำวันที่ 15 พฤศจิกายน 2550 http://www.dungtrin.com/mag  ซึ่งเป็นบทบรรณาธิการของนิตยสารดังกล่าว ที่ได้พาตัวข้าพเจ้าให้นำใจเข้าศึกษาและเรียนรู้ธรรมะจากนิตยสารธรรมเล่มนี้ในบทบรรณาธิการ “กลางชล” เล่าว่า ได้เสียงของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ดังขึ้นจากแผ่นซีดีว่า “การศึกษาธรรมะ คือการลงทุนให้กับชีวิตตัวเองนะ หลวงพ่อจะบอกให้ หลวงพ่อเองตอนอยู่กับโลก ก็ไม่ได้เป็นรองใครหรอก อยู่ในโลกก็มีความสุข แต่แล้วก็พบว่า ความสุขของโลกนี่นะ ไม่ได้เรื่องเลย ไม่ได้เรื่องเลย...”อย่างตอนเด็ก ๆ เราก็คิดว่า ถ้าเราเอนท์ติดคณะนั้นคณะนี้ เราจะมีความสุข...ถ้าเรียนจบแล้ว เราจะมีความสุข... ถ้าได้เรียนต่อปริญญาโทด้วย เราจะมีความสุข...แล้วเราก็พบว่ามันก็อย่างนั้น ๆ จบมาแล้วก็ไม่เห็นจะสุขได้นานสักเท่าไหร่ ต่อไปอีก ถ้าได้งานดี ๆ เราจะมีความสุข... ถ้าได้เงินเดือนเยอะ ๆ เราจะมีความสุข...ถ้าตำแหน่งใหญ่ ๆ อีก เราจะมีความสุข... ถ้ามีแฟนสักคน เราจะมีความสุข...ถ้ามีครอบครัวดี ๆ เราจะมีความสุข... ถ้าลูกเราประสบความสำเร็จ เราจะมีความสุข...กระทั่งพอแก่ไป เจ็บป่วยทรมาน นอนทำอะไรไม่ได้แล้วอยู่บนเตียงในโรงพยาบาลยังว่า ถ้าตายไปเสียได้ คงจะมีความสุข... หลวงพ่อท่านเคยฉายภาพให้ฟังอย่างนั้นการที่เราทะยานวิ่งไล่คว้าความสุขด้วยแรงผลักดันของกิเลสอยู่ตลอดชีวิต ก็ไม่ต่างอะไรกับลาที่เอาแต่จดจ้องเดินไปข้างหน้า เพื่อไล่คว้าแครอทที่ปลายไม้ โดยที่ไม่รู้เลยว่า มันจะไม่มีวันเอื้อมคว้าแครอทนั้นมาเข้าปากได้เต็มคำอย่างแท้จริงเมื่อไม่มีใครมองเห็นความสุขที่เหนือกว่า กระทั่งว่าสามารถตัดวงจรความทุกข์ทั้งหมดได้ ก็ไม่มีใครคิดแสวงหาวิธีการลงทุนเพื่อเป้าหมายสูงสุดเช่นนั้นนอกจากนี้ “กลางชล” ยังถามผู้อ่านอีกว่า มีใครเคยอ่านหนังสือชื่อดังเรื่อง “พ่อรวยสอนลูก” (Rich Dad Poor Dad) หรือไม่ ซึ่งมีอยู่ตอนหนึ่ง ที่ผู้เขียนเปรียบเทียบชีวิตมนุษย์เงินเดือนเหมือน “สนามแข่งหนู” (Rat Race) เขาเปรียบวลี “สนามแข่งหนู” เสมือนกับวังวนของการเป็นลูกจ้างที่ต่างคนก็เหมือนสาละวนวิ่งไปอย่างไร้จุดหมาย ด้วยอาการตะเกียกตะกายของ “หนู” คือวิ่ง ๆ ๆ ทำงานตัวเป็นเกลียว เพียงเพื่อได้รับเงินเดือนตอบแทนพอกินพออยู่ไปวัน ๆผู้เขียนบอกว่า แม้จะมีคนเห็นช่องทาง ชี้ทางออกไปสู่อิสรภาพจากสนามแข่งหนูแห่งนี้ให้ แต่ก็น้อยคนเหลือเกินที่จะเชื่อว่าอิสรภาพทางการเงินเช่นนั้นมีอยู่จริง และน้อยคนเหลือเกินที่แม้รู้ว่ามีอยู่จริง แล้วจะลุกขึ้นมาจนดีดตัวออกมาจากสนามแข่งนี้ได้หนังสือชื่อดังเล่มนี้ แนะนำคนอ่านให้หนีให้พ้นจาก “สนามแข่งหนู” หรือหลุดออกจากการมีชีวิตอยู่ด้วยเงินเดือนประจำ จากการเป็นลูกจ้าง ด้วยกลยุทธ์ “ให้เงินทำงาน” แทนที่เราจะเหนื่อยทำงานเพื่อหาเงินไปชั่วชีวิต“กลางชล” ท้าทายว่า “อันที่จริง ชีวิตมนุษย์เรา ก็ไม่ต่างอะไรกับสนามแข่งหนูอย่างที่ว่าไว้นั้นนักหรอกนะคะ ถ้าถอยขึ้นมามองอีกชั้น แม้จะออกมาจากสนามแข่งหนูได้แล้ว มั่นคงทางการเงินแล้ว เราก็ยังติดอยู่กับสนามแข่งมหึมาของสังสารวัฏ ที่หนีสุขทุกข์ หนีการเวียนเกิดเวียนตายไม่พ้น แทบจะไม่มีใครเคยมองเห็นว่า เราก็เหมือนหนูที่ติดกับดักอยู่ในสนามนั่นแหละดิ้นรน ตะเกียกตะกายวิ่งไล่หาความสุขกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แล้วก็พอใจอยู่กับการได้เสพความสุขหยาบ ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ ไปชาติหนึ่ง ชาติหนึ่ง”แม้จะมีบรมครูผู้ประเสริฐชี้ทางออกไปสู่อิสรภาพจากวงจรแห่งการเวียนเกิดเวียนตายนี้ให้ แต่ก็น้อยคนเหลือเกินที่จะเชื่อว่าการพ้นทุกข์ทางใจโดยสิ้นเชิงได้เช่นนั้นมีอยู่จริงและน้อยคนเหลือเกินที่แม้รู้ว่ามีอยู่จริง แล้วจะเพียรพยายามจนดีดตัวพ้นจากสังสารวัฏนี้ได้- 2 -เมื่อทราบว่า ชีวิตเรากว่าจะได้พบกับความสุขที่แท้จริง และพ้นออกไปจากสังสารวัฎนี้ได้ ก็ถือว่าไม่ยากเสียทีเดียวสำหรับตัวเองที่จะเข้าถึงธรรมก่อนที่จะลิ้นลมหายใจ แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเรายังขาดไปอยู่คือ “การลงทุนศึกษาธรรมะ” ทั้งจากการทำความเข้าใจและการลงมือปฏิบัติให้ประจักษ์ด้วยตัวเอง“กลางชล” บอกว่า ถ้าใครเคยได้ยินโฆษณาของกองทุน เขาจะต้องมีประโยคที่อ่านเร็ว ๆ ปิดท้ายนะคะว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน” - ธรรมะก็เหมือนกันคือ ถ้าจะเริ่มต้น ก็ควรต้องศึกษาให้เข้าใจหลักการและวิธีก่อน เพราะความเสี่ยงก็มีอยู่ตรงที่ ถ้าจับหลักผิด หรือไปยึดถือศรัทธาในแนวทางที่ไม่ถูกตรงเราก็มีสิทธิ์ดำเนินชีวิต หรือปฏิบัติไปด้วยความผิดเพี้ยน แล้วนับวันก็จะยิ่งออกอ่าว ลากเราห่างไปจากเป้าหมาย จนสุดท้าย อาจต้องขาดทุนอีกยาวกว่าจะเจอทางที่แท้จริงแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าคำสอนอันไหนเป็นทางตรง เป็นทางที่แท้จริง? ขอให้เราศึกษาและยึดคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลักให้แม่นไว้ดีที่สุด ธรรมะรุ่นหลัง ๆ นั้น มีการตีความ แปลความหมาย และแต่งตำรากันออกมามากมาย ถ้าไม่แน่ใจ ขอให้เปิดพระไตรปิฏกเทียบเคียงดูว่า เป็นวจนะของพระพุทธเจ้าจริง หรือดูเบื้องต้นว่า คำสอนนั้น เป็นไปเพื่อการลดละกิเลส เป็นไปเพื่อความเล็กลงของตัวตน ให้การปฏิบัตินั้นอยู่ในขอบเขตของกายใจ เป็นไปเพื่อละวางความเห็นผิดว่าตัวตนนั้นเป็นเราทีนี้เราจะลงทุนยังไงได้บ้างกับธรรมะ, ประเด็นนี้ “กลางชล” บอกว่า 3 อย่างที่ควรจะลงมือทำอย่างจริงจัง คือ  การทำทาน การรักษาศีล และการภาวนาโดยมีเงื่อนไขพิเศษคือ ลงทุนไปแล้ว ห้ามหวังผลตอบแทน เพราะผลที่รอให้เราเก็บเกี่ยวนั้น มันจะมาเองตามเหตุปัจจัยที่ได้ทำ สั่งให้เกิด ก็ไม่ได้ ห้ามไม่ให้เกิด ก็ไม่ได้ แถมยิ่งโลภอยากได้มาก ผลตอบแทนยิ่งน้อยลงหากรู้ตัวว่าเป็นคนไม่ค่อยทำทาน หรือยังไม่ได้ทำทานจนเป็นนิสัย ก็ลองหมั่นหัดให้ออกมาจากใจ วันละเล็ก วันละน้อย โดยทำความเข้าใจไว้แต่ต้นก่อนว่า การทำทาน เป็นการสละความตระหนี่ถี่เหนียวออกจากใจไม่ใช่ทำเพื่อชื่อเสียงหน้าตา ไม่ใช่เพื่อล้างซวย หรือกระทั่งเพื่อโลภเอาบุญแล้วเราก็ไม่จำเป็นต้องรวยก่อนถึงจะให้ได้ และไม่จำเพาะว่าจะต้องเป็นเงินเท่านั้น แต่เล็งแล้วว่าสิ่งที่เราอยากให้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้รับ ไม่ว่าจะเป็นของเล็กของน้อย  การบริจาคโลหิต อวัยวะ แรงกาย แรงใจ ความรู้ ธรรมทาน หรือกระทั่ง การให้อภัย ให้จนเหมือนจิตแผ่เมตตาออกไปก่อน อยากให้ก่อน เจอใครอยากได้อะไรค่อยว่ากันอีกทีอย่างนี้ ก็จะทำให้จิตอยู่ในสภาพที่สงบลงและเปิดกว้างเป็นธรรมชาติเบื้องต้นถัดมา รักษาศีล ให้ศีลเป็นเรื่องปกติของชีวิต ศีล 5 ศีลจะเป็นเสมือนกรอบล้อมรั้ว ไม่ให้เราล่วงเกินผู้อื่น ทั้งด้วยกาย และด้วยวาจา แล้วเมื่อเราเป็นผู้ไม่ก่อเหตุแห่งเวรภัย ประตูสู่อบายก็ย่อมปิดแคบลง เท่ากับศีลจะช่วยรักษาเราให้อยู่ในเส้นทางที่จะไม่ไหลลื่นลงต่ำได้ทางหนึ่ง และศีลก็จะเป็นเครื่องหนุนให้จิตเรามีความสงบตั้งมั่น เอื้อต่อการภาวนาต่อไปสุดท้าย แบ่งเวลาให้กับ การภาวนา ซึ่งไม่ได้แปลว่าการสวดมนต์อ้อนวอน แต่ “ภาวนา” แปลว่า การทำให้เจริญ คือการฝึกหรือพัฒนาให้เจริญขึ้น ซึ่งมีหลัก ๆ 2 อย่าง อย่างแรก ภาวนา แบบสมถะ อันนี้มุ่งเอาความสงบเป็นหลักเป็นการจับลิงที่ซุกซน อยู่ไม่สุข ไปโน่นมานี่ตลอดเวลา (คือใจของเราเอง) ให้สงบนิ่ง ด้วยการทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว เช่น นั่งสมาธิดูลมหายใจไปก็ได้ พุทโธไปก็ได้ ที่ฟุ้งซ่านก็จะสงบ ที่เร่าร้อนก็จะสบาย ที่เป็นอกุศลก็จะเปลี่ยนเป็นกุศลแต่ถ้าเจออะไรกระทบหน่อยเดียว เดี๋ยวก็วิ่งหนีไปหลบอยู่ในถ้ำของความสงบทุกที แบบนี้ก็เห็นทีจะชนะกิเลสไม่ได้เสียทีหรอกค่ะ เราต้องออกไปเผชิญกับมันตัวต่อตัวนั่นก็คือ การภาวนาอย่างที่สอง ที่สำคัญและควรเจริญให้มาก คือ แบบวิปัสสนา  ซึ่งการเป็นภาวนาที่มุ่งเจริญปัญญาเพื่อให้เห็น “ความจริง” ของกายและใจ วิธีการก็คือ หมั่นเจริญสติ รู้สึกตัวให้บ่อย ๆ แต่คราวนี้ไม่ต้องไปบังคับลิงให้นิ่งแล้ว เพราะเป้าหมายคือ เราต้องการเห็น ความจริงของกายของใจ อย่างที่มันเป็นจริง ๆเริ่มต้นก็คอยทำความรู้จักกับสภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในกาย ภายในใจ ของเรานี้กายขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ก็รู้... มีความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉย ๆ เกิดขึ้น ก็รู้... มีราคะ โทสะ โมหะผุดขึ้น ก็รู้... มีสภาวธรรมใด ๆ เกิดขึ้น ก็รู้...คือพอมันเกิดแล้วก็รู้ให้ทันไว ๆ อย่างเป็นกลาง อย่างเป็นคนวงนอกนั่งดูละครเรื่องกายใจอย่าโดดเข้าไปเล่นด้วย อย่าไปสั่งคัท อย่าไปสั่งแอ็คชั่น แต่ดูมันเปลี่ยนแปลงของมันเองดูไปอย่างไม่คาดหวัง จนกระทั่งวันหนึ่งเราจะเห็นเองว่า กายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรามันเป็นเพียงของชั่วคราว เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เมื่อเข้าใจความเป็นจริงของกายของใจว่าไม่ใช่ตัวเราแล้ว จะหมดความดิ้นรนและจิตที่หมดความดิ้นรน หมดความปรุงแต่งนั้นเอง จะเป็นอิสระพ้นจากทุกข์ทั้งปวงหลวงพ่อปราโมทย์ท่านบอกว่า “ถ้าเราภาวนาเป็น เราจะรู้เลยว่า ถ้าหากเราไม่มีโอกาสได้ภาวนา เราจะเสียโอกาสอย่างร้ายแรงที่สุดในชีวิตแต่ถ้าเราภาวนาไม่เป็นทั้งชาติ เราจะไม่รู้สึกอย่างนี้หรอก..เราก็จะรู้สึกว่าเราโอกาสดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น มันเป็นการลงทุนให้ชีวิตตัวเองนะ ค่อย ๆ เรียนธรรมะไป ถ้าเข้าใจสิ่งที่หลวงพ่อบอก จิตใจเกิดสติขึ้นมาเกิดสมาธิ เกิดปัญญาขึ้นมา อีกหน่อยจะรู้เลยว่า ศาสนาพุทธนั้น มีประโยชน์มหาศาล”- 3 -ข้าพเจ้าได้ลองนั่งคิด ทบทวนดู แล้วพบว่าการที่คนๆ หนึ่งเกิดมานั้น เมื่อเราไม่ได้เกิดมาเป็นเดรัจฉาน-เปรต-ภูต-ผี-ปีศาจ นั้น ย่อมหมายว่า หากเราเป็นมนุษย์แล้ว เราสามารถพาดวงจิตที่อยู่ใน “กายเนื้อ” นี้ เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงธรรมและปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้นได้ ซึ่งหากเราเกิดมาเป็นคน และตายไปนั้น แม้ว่า “กายเนื้อ” เราจะตายไป แต่ “จิต” ของเรายังคง “เป็นอยู่” ยังไม่ได้ตายไปจริงๆ เพราะเรายังคงจะต้องเวียนว่ายไปมาในสังสารวัฎต่อไป ไม่ว่าจะไปนรกภูมิ เปรตภูมิ เดรัจฉานภูมิ มนุษย์ เทวดา หรือพรหมซึ่งหากเราไม่อยากไปในทางทั้ง 6 ที่กล่าวมา ก็มีทางเดียวที่จะทำให้จิตดับลงไป ไม่มีเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฎ นั่นคือ นิพพาน นั่นเองหากใครที่เกิดมาเป็นคนแล้ว ยังไม่ได้ลงทุนเข้าถึงธรรม เข้าถึงสัจธรรมอันสูงแล้วไซร้ คงน่าเสียดายที่ได้เกิดมาในเนื้อนาบุญแห่งนี้จริงๆ ...
แสงพูไช อินทะวีคำ
หยุดการพูดถึงวรรณคดีปฏิวัติไว้สักระยะหนึ่งก่อน แล้วค่อยพูดกันต่อไป...หันมาพูดเรื่องวัฒนธรรมให้อิ่มใจสักนิดหนึ่ง.........เพื่อนฝั่งเชียงของบอกผมว่า อยากอ่านงานเขียนเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมลาว ผมก็นึกจะเขียนตามนั้น แต่พอเอาเข้าจริงๆ มันไม่ใช่อย่างที่นึกเอาไว้ เพราะวัฒนธรรมชุมชนในบางแห่งเลือนหายไปอย่างมาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คงเป็นพิธีกรรมขอน้ำฟ้าน้ำฝนของชุมชนในชนบท   เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ผมก็คิดไปว่า เราจะพูดเรื่องนี้ให้ใครฟัง?  จะพูดให้ตัวเราเองฟังก็อายตัวเอง เพราะเหตุการณ์มันไม่ใช่เป็นไปอย่างเดิมแล้วผมขอพูดถึงการเปลี่ยนแปลงบางอย่างทางพิธีกรรมดีกว่า พูดในสิ่งที่มันไม่จีรังยั่งยืนให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นกัน  ถามว่าพิธีกรรมการขอน้ำฟ้าน้ำฝนนั้นบางชุมชนในลาวเขาทำกันอย่างไร? พิธีกรรมนี้ชุมชนทำขึ้นเนื่องด้วยเหตุว่า ปีใดฟ้าแล้งไม่มีฝนตกลงมาให้ชุ่มฉ่ำเพื่อสนองให้แก่การผลิตผล เช่น การทำนาทำไร่ การเพาะปลูกต่างๆ ในเวลานั้นชุมชนจะรวมตัวกันแล้วถือ ชาม หม้อ ถ้วย และเครื่องไม้เครื่องมือ เดินเที่ยวไปตามบ้านต่างๆ เพื่อขอน้ำ โดยมีคำกลอน หรือกวีที่คนโบรานเคยใช้กันมานาน  เช่น “โอลมเอ๋ยโอลาง     ขอกินส้มผักพานางแด่     อ้อแอ้แม่เจ้าเฮือนเฮือนนี้มีควายเถิก     เฮือนนี้มีควายสื่อ ซื่อเฮือนนี้ซื่อดี        สามปีกูยังเต้า        รุ่งเช้ากูยังมา มาขอต้นผักพานางแด่”ชาวบ้านจะใช้กวีนี้ท่องขิ้นบ้านโน้นบ้านนี้ไปเรื่อยๆ เมื่อไปถึงบ้านใด คนบ้านนั้นก็จะมารวมตัวด้วยแล้วแห่กันไปตามหมู่บ้านต่างๆ เผื่อเป็นการขอ ในความเชื่อของชาวบ้านเชื่อกันว่า พิธีกรรมนี้จะทำให้คำขอของชาวบ้านในเรื่องทุกข์ร้อนไม่มีน้ำสนองแก่การผลิตผลขิ้นไปถึงเทวดาฟ้าแถนให้ช่วยบันดาลประทานน้ำฟ้าน้ำฝนให้ ในบทกวีบรรจุถ้อยคำที่บ่งบอกให้เทวดาทราบว่า ทว่าชาวบ้านมาขอกันอย่างนี้แล้ว หากไม่มีฝนโปรยลงมาแม้แต่เม็ดเดียว ชาวบ้านก็จะเที่ยวขอกันอย่างนี้ตลอดไป จนเกิดผลจริงๆขึ้นมา ชาวบ้านจึงหยุดพิธีกรรมการขอในพิธีกรรมการขอน้ำฟ้าน้ำฝนของเผ่าไตแดง แขวงหัวพัน ไม่ได้หมายความว่า ด้วยความจน หรือเดือดร้อนจึงทำ แต่พิธีกรรมนี้มีมาช้านานนับเป็นหลายร้อยปี นับตั้งแต่เผ่าชนนี้ได้กำเนิดขึ้นบนผืนแผ่นดินที่ราบสูงแห่งนี้ มาหลายชั่วอายุคนแล้ว การขอในความคิดของเผ่าไตแดง เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความจริงใจ บริสุทธิ์ใจของพี่น้องในเผ่า เพราะว่าเผ่าไตแดงไม่ได้คิดว่าการขอนั้นเป็นเรื่องที่เสียหายอะไร แต่กลับถือว่าเป็นการทานน้ำใจให้กันมากกว่าการดูถูกเหยียดหยามพิธีกรรมแบบนี้ส่วนมากแล้วเป็นพิธีกรรมของเผ่าไตแหลง (ไตแดง) ในลาวทางภาคเหนือ เช่น แขวงหัวพันแล้วล่องลงไปเมืองเวียงไช ซึ่งเป็นแดนฐานที่มั่นของการปฏิวัติตอนสงครามเมื่อครั้ง 30 ปีก่อน พิธีกรรมสิ้นลงผลก็ปรากฎให้เห็นว่า สายฝนก็โปรยปรายลงมา ทำให้ชาวบ้านมีความเชื่อกันสืบมาแต่ในทุกวันนี้พิธีกรรมนั้นได้หายไปนานแล้ว จนไม่มีใครจำได้ว่า มันหายไปนานเท่าไร กี่ปีกี่เดือนที่พิธีกรรมนี้ไม่คงตัวสืบอยู่คู่ลูกๆ หลานๆ ของชุมชน ถามว่า ทำไมไม่สืบสานพิธีกรรมอย่างนี้ล่ะ? คนเฒ่าคนแก่ก็ตอบว่า เราจะทำไปทำไมในเมื่อทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เหตุผลของชุมชนก็คือ การพัฒนาเข้ามามีบทบาทมากในหมู่ชุมชนคนชนบท ทำให้อะไรหลายๆ อย่างต้องถูกลืมเลือนไป หรือสูญเสียไป  ทางพิธีกรรมก็คือวัฒนธรรมของชุมชน เพราะบางครั้งการทำพิธีกรรมถูกมองว่าเป็นเรื่องงมงายเกินไป พื้นที่ที่มีท้องทุ่งนากลับไม่มีชลประทาน พื้นที่ที่มีท้องทุ่งนากลับมีชลประทานประเพณีและวัฒนธรรมบางอย่างในบางชุมชนของลาวจึงไม่มีให้เห็นเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว แม้ว่าพิธีกรรมนั้นจะทำให้ชาวบ้านมีความพยายามที่จะรักษาและหวงแหนไว้  ปีนี้น้ำฟ้าน้ำฝนมาช้าไป แม้ว่าจะถึงเดือนสิงหาคมแล้วก็ตามที บางครอบครัวไม่ได้ปักดำต้นกล้าแม้ต้นเดียวลงในท้องนา ยิ่งทุกวันนี้โครงการปลูกไม้เข้าไปลงในชุมชนมากขึ้นทุกวัน ป่าไม้ถูกนายทุนรุกราน ต้นไม้ใบหญ้าทางธรรมชาติเหลือน้อยลง ฉะนั้นพิธีกรรมนี้จึงอาจจะไม่ได้มีความหมายมากนักสำหรับชาวบ้านอีกต่อไป
พันธกุมภา
ข้าพเจ้าเพิ่งเริ่มเข้าใจว่าชีวิตที่เกิดขึ้นมานี้มีแต่ “ทุกข์” ทั้งๆ ที่หลายเรื่องราว เราสามารถที่จะพบกับความสุขได้โดยไม่ยาก แต่นั้นอาจไม่ใช่ความสุขที่นำไปสู่การพ้นทุกข์อย่างแท้จริงชีวิตอย่างช่วงวัยของข้าพเจ้านั้น มีหลากหลายเรื่องราวที่เข้ามากระทบ ทำให้จิตใจสับสนวุ่นวายและบางคราก็ไม่สามารถที่จะหาทางออกไปสู่เส้นทางแห่งความสงบสุขได้อย่างแท้จริง ความว้าวุ่นใจที่เกิดขึ้น ได้เป็นจุดเริ่มต้นทำให้ข้าพเจ้าเริ่มตระหนักแล้วว่า ควรจะนำพาชีวิตของตนเองให้พบกับความสุข-สงบ-เบิกบาน อย่างเอาจริงเอาจังเสียแต่โดยพลัน แม้ว่าที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้พาตัวเองเข้าไปสู่เส้นทางของความบันเทิงเริงใจ เที่ยวผับ เธค ยามราตรีเพื่อหาความสุข หรือแม้แต่เลือกที่จะคบกับใครสักคนเพื่อให้เขาคนนั้นได้เข้ามาช่วยเหลือเกื้อกูลให้ข้าพเจ้า ได้หลุดออกจากความว้าวุ่นใจต่างๆ ที่ดำรงอยู่การใช้ชีวิตเที่ยว เฮฮา สนุกสนานไปวันๆ นั้น เป็นเพียงการสร้างความสุขที่ใจในชั่วขณะเท่านั้นเอง หากใช่เป็นการพบกับความสุขที่แท้ ผู้เป็นนิรันดร์ได้ เมื่อช่วงหนึ่ง หญิงสาวผู้เป็นดั่งพี่-เพื่อน-แฟน ได้ชวนให้ข้าพเจ้าเข้าร่วมปฏิบัติธรรม โดยการเจริญวิปัสสนา เป็นเวลานานกว่า 10 วัน ในสถานปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่ง  โดย 10 วัน ณ ที่แห่งนั้น ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะพูดคุยกับใคร ไม่สามารถที่จะใช้โทรศัพท์ หรือแม้แต่การจดบันทึกได้เลยแม้แต่น้อย สิ่งที่ครูวิปัสสนาได้ฝึกอบรมคือการเฝ้าดูลมหายใจของตนเอง หรือ “อานาปานสติ” และการตามดูอารมณ์ทางใจและกายที่ปรากฏขึ้นโดยใช้ความปล่อยวางเป็นฐานในการปฏิบัติ ซึ่งวิธีการนี้เรียกว่า “วิปัสสนา” โดยเป็นการปฏิบัติตามแนวมรรคมีองค์ 8 ตลอดระยะเวลา 10 วันนี้ ข้าพเจ้า ได้เฝ้าดูจิตของตน ได้รู้และเห็นกิเลสที่มีอยู่ภายในตน และยังได้ฝึก “อุเบิกขา” หรือการปล่อยวาง ทำใจให้เป็นกลาง เมื่อรู้สึกเกิดเวทนาต่างๆ ในร่างกายหรือจิตกระสับกระส่ายไปมากระตามเมื่อพูดถึงจิตแล้ว ก็เหมือนดั่งกบ ที่ชอบกระโดดไปมา จิตของข้าพเจ้าไม่ได้นิ่งอยู่กับที่ หากแต่กระโดดไปมาเหมือนกบ แต่เมื่อได้ลับจิตให้คม ฝึกสมาธิให้แน่วแน่แล้ว กบน้อยๆ ตัวนั้น ก็พลันหยุดกระโดดแต่สามารถอยู่ในท่าที่แน่นิ่งได้เป็นเวลานานจิตที่นิ่งเป็นอารมณ์หนึ่งของจิตที่เกิดขึ้น เมื่อจิตนิ่งแล้ว หาใช่เราจะรู้สึกชอบ หรือหากจิตกระสับกระส่ายไม่มีสมาธิ หาใช่เราจะรู้สึกไม่ชอบ หากแต่สิ่งที่เราสามารถทำได้คือ “การเฝ้าดู” อย่างอุเบกขา ไม่ตัดสิน ปล่อยวาง ทำใจเป็นกลาง เพื่อไม่สร้างโลภะ โทสะ และโมหะให้เกิดขึ้นอีกในช่วงระยะเวลา 10 วันที่ข้าพเจ้าไปเจริญอานาปานสติ-วิปัสสนา-เมตตาภาวนา แล้วนั้น ข้าพเจ้าพบว่าหนทางที่จะทำให้พ้นทุกข์หรือพบกับสุขที่แท้จริงคือการเดินตามแนวทางนี้ นี่เอง ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านได้โปรดแก่ศิษย์ทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา มาตั้งหลายร้อยหลายพันปี(ข้าพเจ้ามีความสุขใจยิ่งนักที่ได้พบกับธรรมะในห้วงที่เป็นมนุษย์ และสามารถเริ่มปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงสัจธรรมอันสูงสุดได้ในภพนี้ หรือหากไม่ถึงก็เป็นทุนสำรองไว้ในภพหน้า)ดังนี้แล้ว การทำใจให้เป็นไปตามธรรมนั้น ย่อมสามารถทำได้ ไม่ว่า “คน”นั้นๆ จะอยู่ในเพศ ในเชื้อชาติ ศาสนา วรรณะ หรือวัยใดก็ตาม “ทุกๆ คน” สามารถเข้าถึงธรรมอันเป็นเครื่องยึดเหนียวแห่งจิตใจตามแต่จริตที่เหมาะสมและสอดรับกับธาตุของตนเองได้ทั้งนี้แล้ว แม้ว่าข้าพเจ้าไม่ได้อยู่ในเพศบรรพชิต หรือไม่ได้อยู่ในวัยที่อายุมากทางโลกและสังคม แต่ข้าพเจ้าได้ตั้งมั่นแก่ใจตนว่าด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าที่ผ่านมา ทำให้ข้าพเจ้ามองเห็นหนทางที่จะก้าวไปสู่การพ้นทุกข์อย่างแท้จริง และ ข้าพเจ้าระลึกได้กับใจตนเองว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมาที่ข้าพเจ้าได้พบกับธรรมะนั้นถือเป็น “ธรรมะจัดสรร” แก่ข้าพเจ้าผู้มืดบอกทางปัญญา ผู้ที่ยังมีความกลัว ความโกรธและความหลงอยู่ในตน“ธรรมตามใจ” แห่งนี้ จึงเป็นดังพื้นที่การได้สนทนาและแลกเปลี่ยนกับท่านทั้งหลายในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับธรรมะ การปฏิบัติเจริญสติในแนวทางต่างๆ การเจริญวิปัสสนา การเมตตาภาวนา หรือแม้แต่เรื่องกฎแห่งกรรม หลักธรรม คำสอน ของครูบาอาจารย์ต่างๆ ที่ได้เข้าถึงสัจธรรม เพื่อการเรียนรู้ของท่านและข้าพเจ้าร่วมกันข้าพเจ้าใคร่ขอบอกแก่ท่านทั้งหลายก่อนว่า ประสบการณ์ทางธรรมของข้าพเจ้านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับการเจริญเติบโตของต้นไม้นั้น ข้าพเจ้าคงเปรียบดั่งเช่น ต้นไม้กล้าเล็กๆ ที่เริ่มเติบโตทีละนิดๆ เป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะโตหรือจะไม่โต ก็อยู่ในทางเดินของชีวิตนี้  หากภาษาที่ข้าพเจ้าใช้ หรือ คำที่นำมาเขียนไม่ถูกต้อง ได้ขอให้ท่านทั้งหลายที่เข้าใจดี ได้ช่วยอธิบายและบอกเล่าประสบการณ์ ความรู้ให้ด้วยเพื่อที่ข้าพเจ้าจะได้เข้าใจสิ่งต่างๆ มากขึ้นเพื่อการทำใจให้ตามธรรมของข้าพเจ้าเพื่อธรรมที่นำใจ สู่การพ้นทุกข์และพบกับสิ่งนั้นอันประเสริฐสุด....
ปรเมศวร์ กาแก้ว
เหมือนฟ้าดำเก็บดาววิบวาวดวงและเหมือนแดดโชติช่วงกลับหุบหายเมื่อผีเสื้อปีกงามพบความตายและเหมือนฝันเกลื่อนรายเส้นทางจรใต้ใจรู้สึกโลกหมุนกลับขาวพลิกดำขลับใจโหยอ่อนดูสิน้ำตาฉันหลั่งบทกลอนผ่าวแต่ไม่ร้อนอย่างเคยเป็นยินไหม “จเรวัฒน์  เจริญรูป”ใจดั่งจะจูบแม้ทุกข์เข็ญโลกทั้งโลกรู้ความเยียบเย็นใครเล่ารู้ความเป็นของกวีเถิดพรุ่งนี้พบกันบนฟ้ากว้างพบในความอ้างว้างโค้งรุ้งสีฉันจะจำเธอไว้-ใจกวีพบในงามความดี-ฤดีดาล“จเรวัฒน์” จากแล้วเหมือนยังอยู่เหมือนยังนั่งเคียงคู่ ครูเขียนอ่านเรารู้เธอจะเป็นเช่นตำนานผู้สร้างความต้านทานทระนงอาลัยยิ่งกับการจากไปของกวีหนุ่มผู้มุ่งมั่นในงานกวีนิพนธ์ป ร เ ม ศ ว ร์   ก า แ ก้ ว๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๐