Skip to main content
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ทำไมนะคนเราจึงมักมองเห็นแต่ความผิดพลาดของคนอื่นและชอบกล่าวคำประณามตัดสินลงโทษเขาราวกับว่าตัวเองไม่เคยทำความผิดบาปใด ๆครั้งหนึ่งเมื่อองค์พระคริสต์ทรงเสด็จประทับสอนฝูงชนอยู่ ณ มหาวิหารของกษัตริย์ซาโลมอนราชโอรสของกษัตริย์ดาวิด ผู้ที่มีความชอบเฉพาะพระเจ้าพวกธรรมาจารย์และพวกฟาริซายซึ่งต่อต้านคำสอนของพระองค์ด้วยความเชื่อที่ต่างกันว่า-พระเจ้าของเขาคือการแก้เเค้นตามคำสอนดั้งเดิมของโมเสสณ บัดนั้นพวกเขาทั้งหลายได้ฉุดคร่าหญิงหนึ่งที่ทำผิดฐานล่วงประเวณีมายืนประจานตัวต่อหน้าพระพักตร์ของพระองค์และฝูงชนเพื่อขอความเห็นชอบจากพระองค์ในการลงโทษหญิงนั้นและทดลองพระองค์เพื่อหาเหตุจับผิดฟ้องพระองค์แก่พวกปุโรหิตที่รวมหัวกันหมายกำจัดพระองค์โดยอ้างธรรมบัญญัติที่เป็นความเชื่อของพวกเขาและทูลกับพระองค์ว่า“พระอาจารย์เจ้าข้า ผู้หญิงคนนี้ถูกจับเมื่อกำลังล่วงประเวณีอยู่ ในธรรมบัญญัติของโมเสสสั่งให้เอาก้อนหินขว้างให้ตาย ส่วนท่านจะว่าอย่างไรในเรื่องนี้”พวกเขาถามอยู่ซ้ำ ๆ ซาก ๆ พระองค์จึงตรัสว่า“ผู้ใดในพวกท่านไม่เคยทำความผิด ให้ผู้นั้นเอาก้อนหินขว้างเธอก่อน”พอพระองค์ตรัสสิ้นกระแสเสียงพวกเขาทั้งหลายต่างพากันนิ่งเงียบค่อย ๆ ทยอยเดินออกไปจากมหาวิหารทีละคน-ทีละคนจนหมดสิ้นแน่นอนฉันอยากเล่าตำนานพระคริสต์เรื่องนี้ให้คนในยุคสมัยของเราที่ไม่เคยพบพระคริสต์ฟังและเตือนสติตัวของฉันเองที่มักมองเห็นแต่ความผิดของคนอื่นและชอบกล่าวคำประณามตัดสินลงโทษเขาโดยเฉพาะกับคนที่เราเห็นว่าเขาโง่และต่ำต้อยกว่าราวกับว่าตัวเองไม่เคยทำผิดบาปใด ๆซึ่งโดยแท้จริงแล้วคนเราทุกคนล้วนแต่เคยทำความผิดด้วยกันทุกคนและต่างกำลังทำความผิดอีกมากมายตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงเรื่องที่ใหญ่โตเพราะโลกนี้…มีสิ่งที่ยั่วยวนกิเลสตัณหามนุษย์ให้ทำความผิดบาปมากกว่าสิ่งที่ดีงามและถูกต้องและแท้จริงแล้วคนเราไม่มีใครกลัวการทำความผิดกันหรอกแต่คนเรากลัวการถูกจับผิดและถูกลงโทษต่างหากจึงมิใช่เรื่องแปลกถ้าคนๆ หนึ่งเกิดความอยากจะ ฆ่า คนสักคนหนึ่งด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งโดยเชื่อว่ากติกาทางสังคม ค่านิยม ความความเชื่อขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม กฎหมายศาสนา ศีลธรรม จริยธรรมและพระเจ้าไม่สามารถเอื้อมมือไปถึงเขาย่อมลงมือทำได้ง่าย ๆเหมือนบี้มดตายสักตัวหนึ่งดังเช่นในสงครามที่พวกทหารบางพวกของประเทศฝ่ายที่ชนะสงครามลงมือทำกับเชลยและประชาชนของประเทศผู้แพ้ด้วยการฆ่าลูกเล็กเด็กแดงอย่างไร้ความปราณีทารุณกรรมพวกผู้ชายด้วยวิธีการโหดร้ายต่าง ๆ นา ๆและผลัดกันข่มขืนหญิงสาวทุกคนอย่างป่าเถื่อนก่อนจะลงมือฆ่าตกตามกันไปอย่างเลือดเย็นคือจารึกอัปลักษณ์ของฆาตกรอำมหิตที่อยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันไม่มีอำนาจใด ๆ     ห้ามคนไม่ให้ทำความผิดได้หรอกตราบใดที่พวกเขายังสามารถยืนอยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมทั้งมวลเพราะถึงที่สุดแล้วแม้แต่พระคริสต์ซึ่งไม่ทรงเห็นชอบกับพวกธรรมาจารย์และพวกฟาริซายกับปุโรหิตที่มาดหมายจะฆ่าหญิงผู้มีชู้และถูกจับได้ซึ่งการฆ่าที่พวกเขากระเหี้ยนกระหืออยากจะลงมือย่อมเป็นความผิดยิ่งกว่าความผิดฐานมีชู้ของหญิงนั้นหลายเท่าแต่พวกเขากลับไม่สำนึกเพราะพวกเขาตั้งตนอยู่ในฐานะผู้จับผิดและถือกฎการลงโทษเอาไว้ในมือพระองค์ก็ยังทรงหักห้ามได้แค่“ผู้ใดในพวกท่านไม่เคยทำผิด ให้ผู้นั้นเอาหินขว้างเธอก่อน”และปรามหญิงผู้เคราะห์ร้ายที่พระองค์ทรงปกป้องเอาไว้ว่า“ต่อไปอย่าทำอีกนะ”เช่นเดียวกับพระวจนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่พระองค์ทรงตรัสกับคริสเตียนทั้งโลกว่า“จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง”ก็ด้วยพระประสงค์เดียวกันนั่นคือ-ปลุกมโนธรรมในตัวเขาให้ตื่นขึ้นใช่ไม่มีอำนาจใด ๆห้ามคนไม่ให้ทำความผิดได้หรอกนอกจากมโนธรรมในตัวเขาเท่านั้นที่จะต้องถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาตรึงกางเขนซาตานในตัวเขาไม่ให้ทำความผิดบาปเพราะถ้าคนขาดมโนธรรมอยู่ในตัวคอยควบคุมเมื่อสบช่องที่จะทำความผิดโดยปราศจากสิ่งภายนอกคอยควบคุมคนที่ชอบทำความผิด ย่อมจะลงมือทำเพราะไม่มีอะไรที่เขาต้องเกรงกลัวเหมือนอย่างที่เราเห็นตำหูตำตากันทุกวันนี้ตั้งแต่การฆ่า การลักขโมย การผิดประเวณีการโกหกมดเท็จ การอกตัญญู การเอารัดเอาเปรียบกดขี่ข่มเหง ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันจนเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์และสังคมทุกชาติทุกภาษาทุกยุคทุกสมัย       อา ! บางทีณ ขณะเวลานี้อาจจะเป็นตัวเราเองนั่นแหละที่กำลังลงมือทำด้วยใจกระหยิ่มเพราะเหลียวซ้ายมองขวาดูแล้วไม่เห็นมีใครในโลกนี้สักคน-คอยจับผิดนอกจากเหยื่ออาเมน ! หมายเหตุ : เรื่องนี้เป็นเรื่องสั้นที่เคยตีพิมพ์ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 กันยายน 2548 ในวาระที่ฤดูกาลเลือกตั้งใกล้เข้ามา พร้อมกับพรรคการเมืองต่าง ๆ เริ่มขุดคุ้ยความไม่ดีของกันและกันออกมาโจมตีกัน เพื่อยืนยันว่าพรรคของตัวเองดีที่สุด ผู้เขียนจึงนำเรื่องสั้นเรื่องนี้มาลงอีกครั้งหนึ่ง เพราะดูเข้ากับสถานการณ์ ของการตัดสินและทำลายกันและกันระหว่างนักการเมือง เผื่อใครสักคนหนึ่งจะสะดุดและได้คิดในการหาเสียงที่สร้างสรรค์ นอกเหนือจากวิธีการหาเสียงแบบน้ำเน่าที่เราเคยรับรู้มาจนเบื่อ.25 ตุลาคม 2550กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่
ชนกลุ่มน้อย
ระหว่างรอความหมายเพลงของเหล่อวา  ซึ่งผมเขียนไว้ว่าจะนำมาขึ้นจอ  แต่เพลงของเขาอยู่ระหว่างทางแปลความหมาย  สัปดาห์ต่อไปน่าจะถึงฝั่งน้ำปิง  นอนรอ  นั่งรอ ... บังเอิญนึกถึงเพลงศิลปินเพลงอีกชุดหนึ่ง  รูปปกเทปดอกกุหลาบแดงพ้อต่อฉื่อโพ  -- กุหลาบน้อย   เป็นชื่อบนปกเทปนานมาแล้วผมเคยเขียนถึง  ผ่านคนบอกเล่า  และคนแปลความหมายเนื้อเพลง  ว่ากันว่า  เป็นงานเพลงที่รวบรวมเอาเพลงอมตะสองฟากฝั่งสาละวิน  เลือกเอาคุ้นหูคนตะเข็บชายแดนมาไว้ในที่เดียวกัน  ผ่านเสียงร้องหวานเศร้าจับใจ  ในโทนเนื้อเสียงใกล้เคียง  นอร่าห์ โจนส์ (Norah  Jones)  นักร้องแนวแจ๊ส ลูกครึ่งอเมริกัน-อินเดีย นางถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกพลัดพราก  ห่วง  อาลัยในแผ่นดินอย่างจับใจชื่อนาง กะญอพอ  นางเกิดที่เมืองร่างกุ้ง  มุ่งหน้าสู่ดินแดนก่อซูเล คนบอกเล่า  เล่าว่านางเก็บตัว  ไม่ยุ่งเกี่ยวกับหน้าสื่อ  ผมจึงขอเขียนถึงแต่เพลงของนาง เพลงที่นางร้อง  มีเนื้อหาความหมายไม่ต่างไปจากชีวิตของนาง“คืนนี้  แสงจันทร์ส่องฟ้าณ ใต้ร่มไม้  ฉันคิดถึงบ้านต้นไม้  สรรพสิ่งหลับนิ่งอยู่ในกลางคืนแต่หัวใจฉันกลับบ้านแผ่นดินที่ฉันเกิด  ฉันรักมากบ้านฉัน  ดอกไม้ของฉัน  ฉันเคยพบเห็นแผ่นดินอื่น  แม้สงบสุขสวยงามเพียงใดฉันก็ยังรักหมู่บ้าน  และดอกไม้ของฉัน...” (เพลงชื่อ คิดถึงบ้าน)หนังไทยเรื่อง สาละวิน หรือมือปืน 2  สร้างกำกับโดยท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรี  ยุคล  ฉากใหญ่ฉากหนึ่ง  ฉากไล่ล่าคนกะเหรี่ยงมาถึงริมน้ำสุดแดนประเทศ  เฮลิคอปเตอร์บินวนสาดกระสุน  คนหนีตายเหมือนมดแตกรัง  ท่ามกลางความโกลาหล  แตกตื่น  ร้องไห้  เสียงปืน  ควันไฟ   เพลงหนึ่งเพลงนั้นก็ดังขึ้น   เรียกน้ำตาจากผู้ชม  เพลงนั้นชื่อ ดอกกุหลาบ  เพลงของ พ้อต่อฉื่อโพ นั่นเอง“ดอกกุหลาบที่ฉันส่งมอบให้เธอเป็นสิ่งบอกว่า  ฉันรักเธอความรักที่ฉันมีทั้งหัวใจ  มอบให้เธอเมื่อเราห่างไกลกัน  ส่งดอกไม้ที่สวยงามให้เธอดูดอกไม้ของฉันสิ  เห็นความหมายฉันรักเธอไหมดอกกุหลาบดอกนี้  จะบอกเธอคนที่ฉันรัก คือคนนี้คิดถึงเมื่อเราอยู่สองคนทุกวัน  ก็ยังโหยหาเธอเคยรับดอกไม้จากมือฉันให้ดูดอกไม้ต่างหน้าฉันดอกไม้ดอกนี้จะบอกเธอว่าฉันรักเธอมาก” นางยังใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังที่ใดที่หนึ่งบนฝั่งน้ำปิง  หากนางรู้  ฝากความคิดถึง ระลึกถึง  ถึงนางด้วย  เพลงของนางมีชีวิตและวิญญาณ  เต็มไปด้วยเสียงของความพลัดพรากจากบุคคล แผ่นดินอันเป็นที่รัก  เหมือนชีวิตของนาง  เหมือนชีวิตใครๆบนฝั่งฟากตะวันตกนั้น
แพ็ท โรเจ้อร์
พัทยาลาก่อน   ร้องโดย รุ่งฤดี แพ่งผ่องใสลมทะเล พัดมาหาดพัทยา ครวญคลั่งฟังเหมือนมนต์ภวังค์วอนหวีดหวัง ครางว่ายังรักเธอ รักเธอพร่ำเพ้อละเมอ รอท่ายังฝืนกลืน น้ำตาฝันจนกว่า ชีพวาย*ครวญครางไป ใยกันเกลียวคลื่นนั้นมัน ชวนวิ่งว่ายแล้วล่ม ร่างร้างตายหาย อาวรณ์ลาแล้วลา ขอลาโอ้พัทยา ลาก่อนชีวิตคือ ละครฉันมันอ่อนโลกเอย(เนื้อเพลงและฟังเพลงได้ที่ blue balloon, bloggang.com)สองวันสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปพัทยาเพราะต้องพาคนสนิทไปพักผ่อน ตามที่สัญญากันไว้ คนสนิทเป็นวัยรุ่นช่วงกลางเกือบปลาย เป็นคนยุคใหม่ที่เรียกว่าไม่มองอะไรเกินกว่าตัวกู อันนี้ไม่รวมกับกระบวนการพัฒนาทางจิตวิทยาที่เป็นในทุกรุ่น ทุกสังคม  นั่นคือการที่มั่นใจแบบผิดๆเพราะแรงมาก ยังดีที่คนสนิทนี้ยังไม่ใจแตก ไม่ปล่อยชีวิตจนเสียคนในกรอบสังคมทั่วไป อันนี้ถือว่าเป็นโชคของพ่อแม่และผู้เขียนเอง และที่สำคัญตัวของคนสนิทผู้นี้เองด้วยการไปพัทยาคราวนี้ เป็นแบบจู่โจมพอสมควร ไม่ได้เตรียมตัวมากมายนัก เช็คดูปรากฏว่ามีวันหยุด เลยไปได้ เพราะปกติแล้วผู้เขียนเองก็ทำงานสัปดาห์ละเจ็ดวัน ถึงไม่ได้เข้าที่ทำงาน ก็เอางานมาทำที่บ้าน วันเสาร์นั้นพอดีเคลียร์งานและฝากงานกับเพื่อนร่วมงานเสร็จ ก็ออกจาก กทม.มุ่งสู่พัทยา  แต่รถก็ติดไปตลอดทางบนมอเตอร์เวย์ นึกเสียดายเงินค่าธรรมเนียมใช้ทาง  จำได้ว่าเมื่อสิบปีก่อนที่ใช้ รถก็ไม่ได้น้อยกว่าตอนนี้เท่าไร แต่การก่อสร้างระหว่างทางมีน้อยกว่าตอนนี้มาก ไม่แน่ใจว่า ใจคอจะสร้างเสริมไปอีกเจ็ดชั่วโคตรรึเปล่า คิดในใจว่าตอนที่คิดสร้างนี่ ไม่ได้คิดเผื่ออนาคตเลยหรือไรเมื่อถึงพัทยาก็ได้เข้าพักที่โรงแรม เช็คอินด้วยความเรียบร้อยแต่เป็นเวลาบ่ายแก่ๆแล้ว มีผู้คนเข้ามาพักมากมายและบางคนก็เช็คอินในเวลาใกล้ๆกัน  น่าดีใจแทนโรงแรมที่มีคนมาเข้าพักมาก มากกว่าสมัยที่ผู้เขียนเป็นเด็กๆ สมัยนั้น คนไทยไม่นิยมท่องเที่ยวขนาดนี้ คนชั้นกลางไม่คิดถึงการท่องเที่ยวมากขนาดนี้ การพักในโรงแรมถือเป็นของเกินความจำเป็นในสมัยก่อน ทางออกตอนนั้นคือการพักบ้านเพื่อนฝูงญาติมิตร  ปัจจุบันคนชั้นกลางหรือต่ำกว่ามีโอกาสท่องเที่ยวและพักโรงแรมมากขึ้น  คนไทยเที่ยวมากขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเที่ยวเป็น เพราะการเที่ยวเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการมีมารยาทสากลสมัยก่อนจำได้ว่ามีเรื่องเล่าตลกๆว่า คนไทยไม่ว่ากรุงหรือชนบทเข้าพักและใช้ห้องน้ำในโรงแรมชั้นดีหน่อยยังต้องกักน้ำในอ่างน้ำ บางคนต้องเอาขันน้ำใบพอดีๆ ติดตัวไปด้วย ส่วนผ้าขนหนูเช็ดตัวก็ขนเอาไปเช่นกัน เครื่องใช้ส่วนตัวก็ขนกันไป เดี๋ยวนี้โรงแรมมีให้เกือบหมด นี่ก็ยังมีตลกเล็กน้อยที่เพื่อนของคนสนิทยังคงขนผ้าเช็ดตัวไปด้วย เห็นแล้วขำเอ็นดูน่าจะเป็นเพราะมีความเชื่อว่าผ้าในโรงแรมสกปรกเพราะใช้มากันหลายคน แต่เค้าคงลืมไปว่า โรงแรมขนาดสามดาวขึ้นเดี๋ยวนี้ต้องใช้เครื่องซักและอบอย่างดี และมีการฆ่าเชื้อ เอาเป็นว่าเป็นไปแล้วการเดินทางบ่อยๆและใช้ชีวิตต่างแดนเป็นระยะนานๆ แบบผู้เขียนมีผลดีตรงนี้คือสามารถเข้าใจการเดินทางได้ดี และไม่เก้อเขินในการใช้ชีวิตแบบสากลแบบนั้น อันนี้เป็นเรื่องของการมีโอกาสโดยแท้ สมัยผู้เขียนจบตรีใหม่ๆ มีคนบ้าเรื่องการใช้ชีวิตแบบนี้ ถึงขนาดเปิดเป็นโรงเรียนสอนมารยาทสากล ว่าไปก็ดีที่เป็นการเปิดหูเปิดตาตนเอง แต่ที่แย่คือเป็นการสอนแบบเปลือกๆว่าชีวิตฝรั่งเป็นแบบนี้  ทั้งที่จริงๆ ไม่ใช่ฝรั่งทุกคนเป็นแบบนี้ และการที่ผู้เขียนไปอยู่ต่างประเทศกว่าครึ่งของชีวิต ก็เป็นการบอกว่าคนที่ผ่านชีวิตแบบฝรั่งก็ไม่ได้เข้าถึงชีวิตแบบ “ไฮ คัลเจ้อร์” ของฝรั่ง เพราะคนที่รวยๆ ของฝรั่งก็ไม่ไปเรียนมหาวิทยาลัยที่นักเรียนไทยไปเรียน ถึงเค้าจะเรียน เค้าก็ไม่สุงสิงกับนักเรียนกะเหรี่ยงอย่างเรา เพราะว่าเค้ามีวงสังคมของเค้าหลายครั้งที่ผู้เขียนนั่งปลงว่าพวกอดีตนักเรียนนอกหลายคนชอบทำตัวว่าเอาวัฒนธรรมฝรั่งเข้ามาแล้สบอกว่าตนเองเป็นคนชั้นสูง โดยลืมมองว่าวัฒนธรรมฝรั่งที่ตนเองเอามาเป็นแค่วัฒนธรรมปกติของฝรั่งตรงนั้นเท่านั้น เพียงแต่ว่าคุณภาพชีวิตของคนธรรมดาในประเทศที่พัฒนาแล้วมันสูงกว่าคนธรรมดาในประเทศด้อยพัฒนาอย่างชัดเจนเท่านั้น แม้ว่าในปัจจุบันสังคมไทยนี้จะดีกว่าแต่ก่อนในด้านเปลือกๆ แต่ในด้านแนวคิดหลักๆทางสังคม ก็ยังห่างไกลสังคมตรงนั้นอีกหลายช่วงตัวเมื่อพูดถึงเรื่อง “ความแตกต่าง” ผู้เขียนพบว่าพัทยานี่เป็นเมืองแห่งเซ็กซ์และบันเทิงอย่างเต็มรูปแบบจริงๆ ว่าไปแล้วพัทยาเหมือนบางส่วนของกทม.ที่จำลองไปติดชายทะเล ความเป็นตะวันตกมากกว่ากทม.ในหลายเรื่อง เช่นความเปิดเผยเรื่องอาชีพพิเศษ แต่ก็มีความเป็นชนบทในเวลาเดียวกัน เพราะคนไทยตรงนั้นจะมี “การสลับรหัส” ในการติดต่อกับคนต่างชาติและกับคนไทยด้วยกันอย่างชัดเจน  ความเป็นบ้านนอกคือการที่ยังคิดอะไรแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แต่ความเป็นตะวันตกคือการที่มีกินมีใช้อย่างสะดวกสบาย แต่งตัวแบบคนตะวันตก อย่างไรก็ตามเท่าที่ดูสถานที่ที่จะบ่มเพาะวิธีคิดแบบเป็นระบบให้สังคมฉลาดขึ้นในพื้นที่พัทยาไม่มีเลย เช่น สถาบันการศึกษาชั้นสูงที่เน้นสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์  (ที่มีก็ออกมาข้างนอกพอสมควร) คนสนิทของผู้เขียนและเพื่อนตื่นตาตื่นใจกับชีวิตแสงสีที่พัทยา พวกเขาทั้งหมดสนุกกับชีวิตแบบตรงนั้น ทำให้ผู้เขียนมองย้อนกลับไปการไปเที่ยวพัทยาครั้งแรกในชีวิตเมื่อปี 2523 ไปกับที่บ้าน ตอนนั้นพัทยาไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นเท่าเดี๋ยวนี้ ซากของการเป็นที่ตากอากาศของทหารสหรัฐฯยังมีให้เห็น เส้นทางค่อนข้างสะดวกในสมัยนั้น รถไม่ติด มีโรงแรมไม่กี่แห่ง และไม่มีแสงสีมากแบบเดี๋ยวนี้ จากนั้นผู้เขียนก็ไปอีกกับเพื่อนๆ และจากนั้นก้ขับรถไปเองเมื่อแม่ให้รถมาใช้ส่วนตัว เวลาเครียดๆ ก็ไปพัทยา ไปหาโรงแรมพอใช้ได้ ไปพักคนเดียว  จนกระทั่งเวลากลับมาธุระเมืองไทยก็ไปแต่พัทยา แต่ทุกครั้งที่ไปไม่ได้รู้สึกเหมือนครั้งนี้ เพราะงานนี้เหมือนเป็นผู้ปกครองพาลูกๆ ไปเที่ยว มุมมองต่างออกไป วัยตนเองก็เปลี่ยน พัทยาก็เปลี่ยน  คนที่ไปด้วยก็เปลี่ยน เหมือนหนังฝรั่งที่พยายามให้เห็นภาพของชีวิตในแต่ละจุดของชีวิต หรืออย่างหนังไทยง่ายๆ เช่น “แฟนฉัน” ก็เช่นกันการเดินทาง การเรียนรู้ในชีวิต เป็นสิ่งที่บอกกับผู้เขียนว่าการที่เราจะส่งต่อแนวความคิดให้คนรุ่นต่อๆไปให้ทราบถึงความเป็นไปในอดีตไม่ใช่เรื่องง่ายๆ กว่าที่ผู้ใหญ่วันนี้จะเป็นตัวตนก็ย่อมผ่านเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นในอดีต หลายครั้งเราพยายามนึกว่าคนรุ่นใหม่ต้องคิดอย่างเรา อันนี้เป็นการเห็นแก่ตัวของคนรุ่นก่อนมากเกินไป อย่างไรก็ตามคนรุ่นใหม่ควรที่จะมองคนรุ่นก่อนอย่างเข้าใจด้วยเช่นกัน หลายครั้งที่ผู้เขียนได้แต่ถอนหายใจกับความใจร้อนและไม่เข้าท่าของคนรุ่นเด็กกว่า และความเห็นแก่ตัวบ้าอำนาจของคนรุ่นแก่กว่าผู้เขียน ที่มักมองข้ามมิติของกาลเวลาที่ทำให้ความไม่เข้าใจกันเกิดขึ้นอย่างที่ไม่ควรจะเกิดเรื่องความต่างแบบนี้เป็นเรื่องที่สังคมไทยไม่เคยแม้แต่จะคิดแก้ แต่มักใช้การเงียบ การปล่อยให้ผ่านไปตามกาลเวลาเป็นตัวแก้ปัญหา อันนี้แปลกใจนักว่าทำไมคนที่ว่าเก่งๆฉลาดๆ ไม่รู้จักนำมาใช้กัน จนสังคมนี้ขาดมิติไปเสียทุกเรื่อง เพราะการไม่ยอมพยายามจัดการความแตกต่างนั่นเองเพลง “พัทยาลาก่อน” เป็นเพลงเก่าๆที่คนในยุคผู้เขียนยังพอจำได้ ซึ่งก็ให้ภาพในสองมิติคืออันแรกให้เห็นว่าในอดีตสังคมไทยเป็นอย่างไร และอีกมิติหนึ่งคือ เพลงเก่าๆ ก็จะหายสาบสูญไปตามกาลเวลา เอามาให้ฟังเพราะๆ ก็แล้วกัน
ฐาปนา
ผมสมัครเข้าร่วมโครงการหนึ่งปี “ชุมชนทดลอง # 2” ของมูลนิธิที่นา [1] ด้วยความไม่รู้ กล่าวคือ ไม่รู้เรื่องวิปัสสนา ไม่รู้เรื่องศิลปะ และไม่รู้เรื่องเกษตรกรรมธรรมชาติ  ความไม่รู้นี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะถ้ารู้แล้วคงไม่ต้องมาเมื่อได้คุยกับทีมงานหลายท่านก่อนเริ่มโครงการ ก็ได้รับความห่วงใยเกรงว่า ผู้เข้าร่วมโครงการจะคาดหวังมากเกินไป เนื่องจาก the land ไม่ใช่ utopia ซึ่งผมก็เข้าใจ ขณะเดียวกันผมเองก็ห่วงใยเกรงว่า ทีมงานจะคาดหวังกับผู้เข้าร่วมโครงการมากเกินไปเช่นเดียวกันเพราะในความต่างของปัจเจกที่มาอยู่ร่วมกันภายใต้เงื่อนไขหลวมๆ นี้ หากผู้เข้าร่วมไม่มีความชัดเจนในจุดประสงค์ของตนเอง ก็อาจล้มเลิกความตั้งใจเสียง่ายๆสำหรับผม ซึ่งมีความรู้สึกเบื้องแรกคือ การเข้าร่วมโครงการคลับคล้ายกับการมาเข้าค่ายเป็นเวลาหนึ่งปี อาจชัดเจนในจุดประสงค์มากกว่าผู้เข้าร่วมบางท่าน แต่นั่นก็ด้วยวัยวุฒิที่มากกว่า ทั้งไม่ได้หมายความว่า ในเบื้องปลาย ผมและคุณจะได้รับประสบการณ์อย่างเดียวกัน เพราะแม้ว่าเราจะมาอยู่ร่วมกันเนื่องจากความสนใจที่คล้ายกัน ทว่า เราแต่ละคนย่อมสร้างประสบการณ์จากแนวคิดที่เรามีเกี่ยวกับตัวเอง และแนวคิดที่เรามีเกี่ยวกับตัวเองย่อมจะแตกต่างกันเราทุกคนมีเรื่องที่สนใจ และเรื่องที่เราสนใจนั้น คือแนวคิดที่เรามีเกี่ยวกับตัวเอง เราจะมีแนวคิดเกี่ยวกับตัวเองไปตลอดจนกว่าเราจะลงมือปฏิบัติ เมื่อได้ปฏิบัติเราจึงได้รับประสบการณ์ ประสบการณ์ [2]  นั้นคือความรู้สึกว่าเราได้ “เป็น” ดังที่เราได้คาดการณ์ไว้ ยิ่งทำมากตัวเราก็ยิ่งชัดมากขึ้น ยิ่งสร้างสรรค์ศักยภาพก็ยิ่งปรากฎ ผมสนใจเรื่องการทำอาหาร แต่หากผมไม่ได้มาลองทำอาหารที่ the land ผมก็คงไม่มีโอกาสรู้ว่าผมทำอาหารเป็นด้วย  ผมสนใจเรื่องศิลปะ แต่ยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติ เช่นเดียวกัน หากเปลี่ยนจาก “ผม” เป็น “คุณ” แนวคิดเกี่ยวกับตนเองของคุณ ก็คือสิ่งที่รอการพิสูจน์ และสิ่งที่ได้พิสูจน์แล้วจะเปลี่ยนเป็นประสบการณ์เกี่ยวกับตนเองคุณอาจรู้ว่าตนเองเป็นคนรักธรรมชาติ รักศิลปะ แต่หากคุณไม่ทำอะไรที่แสดงถึงความรักต่อธรรมชาติ ต่อศิลปะ คุณย่อมมีเพียงแนวคิดเกี่ยวกับตนเองคำถามสำคัญก็คือ อะไรคือตัวตนสูงสุดของคุณที่คุณต้องการจะเป็น ... ? หน้าที่ของเราคือแสดงมันออกมา มันอยู่ข้างในตัวเรานี่เองดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า concept เกี่ยวกับตัวเรา เป็นชุดปฏิบัติการที่รอการปฏิบัติ และ the land คือ workshop หลายมิติที่พร้อมจะรองรับปฏิบัติการของเราแต่ละคน  และ - - ย่อมมีการเปรียบเทียบเป็นธรรมดาเพราะ the land ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานอย่างที่บางคนคิดว่าควรจะมี หรือควรจะเป็น บางคนคิดว่า the land น่าจะเป็นชุมชนต้นแบบเกษตรกรรมธรรมชาติ เศรษฐกิจพอเพียง หรืออย่างน้อยก็มีแหล่งอาหารตามธรรมชาติที่สมบูรณ์กว่านี้ แต่ผมกลับเห็นต่างออกไปthe land มีเสน่ห์เพราะมันเป็นพื้นที่ทดลอง ผู้เข้าร่วมโครงการมีสิทธิ์จะทดลองใช้ชีวิต ทดลองงานความคิด หรือ ทดลองปฏิบัติการบางอย่าง ซึ่งคุณไม่อาจไปทดลองในพื้นที่อื่นได้ concept ของที่นี่จึงไม่ควรจะเป็นอย่างอื่นเราอาจทดลองทำการเกษตร แต่ที่นี่ไม่ควรกลายเป็นแหล่งศึกษาดูงานด้านการเกษตรเราอาจทดลองสร้างงานศิลปะ แต่ที่นี่ไม่ควรกลายเป็น galleryเราอาจทดลองนั่งวิปัสสนา แต่ที่นี่ไม่ควรกลายเป็นสถานปฏิบัติธรรมผมรู้สึกกับ the land อย่างนั้น จึงมาที่นี่ด้วยความสมัครใจและสบายใจ ผมเห็นป๊อบทดลองทำราวตากผ้าจากไม้ไผ่ เห็นน้อยเนื้อทดลองจับปลาด้วยบุ้งกี๋ เห็นเน้ตทดลองทำกล้วยตาก เห็นไม้ทดลองปลูกผัก เห็นพี่ทอมทดลองเพื่อการทดลอง และเห็นว่ามีหลายคนพร้อมจะทดลองทานอาหารที่ผมทำ แต่ละคนล้วนสนุกกับการทดลอง  แต่ละคนล้วนได้ประสบการณ์จากการทดลองความต่างของปัจเจกที่มาอยู่รวมกันจึงคล้ายพรรณไม้หลากสีในระบบนิเวศน์เขตร้อน ขณะที่ความคิดรวมหมู่ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่การทดลองและการสร้างสรรค์ เป็นพลังงานเข้มข้นที่รอการเปลี่ยนให้เป็นรูปธรรมทั้งที่เห็นด้วยตา และเห็นด้วยใจใครจะรู้ - - การทดลองบางอย่างอาจจะสร้างสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะสิ่งที่ยิ่งใหญ่ล้วนเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆผมจึงตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้เห็นการทดลองใหม่ๆ ที่ the land ชุมชนทดลอง    experimental communityโอกาสทดลอง    chance to tryชีวิตจริง        real life----------[1] มูลนิธิที่นา > www.thelandfoundation.org [2] แนวคิดเรื่อง ประสบการณ์ จาก “สนทนากับพระเจ้า (Conversation with God)”, Neal Donald Walsch ; รวิวาร โฉมเฉลา แปล
ภู เชียงดาว
ความเรียบง่ายมีแรงดึงดูดที่ลี้ลับเพราะมันจะฉุดเราไปยังทิศทางตรงกันข้ามกับทิศทางที่คนส่วนใหญ่ในโลกไปกันไปจากการทำตัวให้เด่น ไปจากการสะสมไปจากการทะนงหลงตนและจากการเป็นเป้าสายตาของสาธารณะไปสู่ชีวิตสงบ อ่อนน้อมถ่อมตน กระจ่างใสยิ่งกว่าสิ่งใดๆที่วัฒนธรรมบริโภคอย่างฉาบฉวยรู้จักกัน.                                                                                             มาร์ค เอ.เบิร์ชจากหนังสือ “ความเงียบ” จอห์น เลน เขียน, สดใส ขันติวรพงศ์ แปล    กลับคืนสวนบนเนินเขา,อีกครั้งในเวลาย่ำเย็น ตะวันลับดอยไปนานแล้วชีวิตไม่สนใจกาลเวลา,นกป่ายังคงเริงร่าบนกิ่งไม้ขนกล้าไม้ลงจากท้ายกระบะรถก้มหยิบจอบที่ซ่อนซุกอยู่ใต้ถุนบ้านหอบกระถางดอกไม้วางในตำแหน่งที่เหมาะสมขุดหลุมปลูกมะลิ แก้ว ชวนชม โมก หอมหมื่นลี้ ตรงหน้าบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จแยกหน่อแยกกอไผ่เลี้ยงลงริมขอบรั้วด้านทิศเหนือเอาไว้กันลมแรงทำงานไป หยุดพักไป ปาดเหงื่อกับท่อนแขนเสื้อเปียกชื้นเย็นหยุดจ้องมองไปเบื้องหน้า...ภูเขายังคงเขียวคราม ลมค่ำยังพัดไหวเบื้องล่างต่ำลงไป ทุ่งนายังงามงดสดสียอดตองของกล้าข้าว เสียงมอเตอร์ไซค์คันเก่าของพ่อไต่เนินเขาดังแว่วมาแต่ไกลใช่แล้ว, พ่อมาเอาอาหารอ่อยให้หมูที่เลี้ยงไว้ในคอกเล้าในสวนดูสิ, ใบหน้า ดวงตา รอยยิ้มของพ่อวัยเจ็ดสิบกว่ายังคงเจิดจ้าฉายแววความหวังและมีเมตตาอยู่อย่างนั้นอยู่กับความสุข ชีวิตเรียบง่าย ไม่มีพิธีรีตองนั่งอยู่บนขอนไม้ หั่นหยวกกล้วยอยู่ใต้ถุนบ้านมีหมานอนหมอบอยู่ข้างกายพ่อเพียงครู่เดียว ก็หยิบหยวกกล้วยผสมแกลบรำคนคนกับน้ำก่อนหิ้วถังไปเทใส่รางอาหารในคอกหมูกินอย่างมูมมามแม่ไก่ของเพื่อนบ้านวนเวียนอยู่ใกล้ๆและเจ้าหมาก้มกินเศษอาหารที่กระเด็นอยู่รายรอบเล้ามองกี่ครั้ง กี่ครั้ง,ทุกชีวิตล้วนเป็นบทกวีที่เคลื่อนไหวเต้นย่างไปมานั่น,ดอกสักขาวโปรยร่วงพราวยามสายลมโชยพัดมาก่อนฝนมาเยือน.
แสงดาว ศรัทธามั่น
ภาพจาก แฟ้มข่าวประชาไท(๑) Excellent Life Rhythm(เป็นจังหวะชีวิตที่แสนวิเศษนัก)ปลายฤดูฝน – ต้นฤดูหนาวแสง สี เสียง แห่งแม่พระธรรมชาติ อันเป็นรากเหง้า แห่งวิถีชีวิตเพื่อนมนุษยชาติ ช่างงดงาม หลากสีสันนัก!--- ดวงตะวัน ดวงดาว เดือนเสี้ยว –- กลางฤดูปลายฝน ต้นหนาว-- ฯลฯ --- ฯลฯ --- ฯลฯ---เริงระบำ รำร่ายฟ้อนเป็น Rhythm… เป็นจังหวะดนตรีแห่งสีสัน ช่างงดงามนักExcellent Life Rhythmเป็นจังหวะชีวิตที่แสนวิเศษนัก!“ Life is Very Beautiful”ชีวิตช่างงดงามนัก หากโครงสร้างสังคม สามานย์ เปลี่ยนแปลง(๒) หมดเวลาของคุณแล้ว!Hello!พณฯหัวเจ้าท่าน คมช.หมดเวลาของคุณแล้ว!อย่าสืบต่ออำนาจต่อไปอีกเลย!อย่าเผด็จการฟัสซิสม์ ต่อประชาชนอย่าออกกฎหมายสามานย์ ห่วย ๆ โดยไม่ผ่านมติอนุมัติ ของประชาชน!… มากด- ขู่ ข่มเหงประชาชน!Hello!พณ. หัวเจ้าท่าน คมช.ในนามแนวรบด้านวัฒนธรรม ที่ล้ำลึกทรงพลัง เปี่ยมความหมาย!--- กวี--- ศิลปิน--- นักคิด-นักเขียนฯลฯ --- ฯลฯ --- ฯลฯเริงระบำ รำร่ายฟ้อนด้วยปลายคมปากกา ดินสอ สี แสง เสียง บทละคร----กำปั้น!คมช. !เผด็จการฟิสซิสม์ ท๊อบบูททมินฬ์หรือเผด็จการทุกรูปแบบ… ทุกสายพันธุ์หมดเวลาของคุณแล้ว!ประชาชนจักมีจังหวะบทเพลงชีวิตกำหนดวิถีของตัวเอง!คมช.อัญเชิญคุณลงจากเวทีซะดีๆพลังมหาประชาชนสำแดงบอกพวกเธอว่า…“สุดแสนที่จะทนทานได้”จงลงจากเวทีมิเช่นนั้นมหาประชาชนจัก(ขอโทษ) ถีบคุณกระเด็นตกลงจากเวที!มีทางเลือกให้คุณแล้วจงลงจากเวที!โลกร้อนแล้วนะโว๊ยประชาชนจงเจริญ! •๑๙ กันยายน ๒๕๕๐ ล้านนาอิสระ, เจียงใหม่
เงาศิลป์
การขึ้นภูกระดึงอย่างไร้ความพร้อม กลับทำให้ฉันได้สิ่งดีๆมากมายคุณนิมิตร เจ้าหน้าที่ป่าไม้ตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว ได้เขียนจดหมายน้อยอย่างไม่เป็นทางการ ให้ฉันถือไปยื่นให้กับเจ้าหน้าที่บนภู ที่เป็นเพื่อนกัน ในจดหมายเขียนว่า “ช่วยดูแลคนที่ถือจดหมายฉบับนี้ด้วย ตามสมควร” ที่อาคารลงทะเบียนบนภู ฉันยื่นจดหมายให้กับเจ้าหน้าที่ คะเนจากหน้าตา เขาคนนั้นคงมีอายุพอๆกับฉัน เมื่ออ่านจบเขามองหน้าฉันอย่างเฉยเมย บอกว่าบ้านพักเต็มหมดแล้ว เหลือแต่เต๊นท์  ฉันบอกว่าฉันตั้งใจจะพักเต๊นท์อยู่แล้ว“มากันกี่คน” น้ำเสียงห้วนๆ  ไม่รู้ทำไม“คุณเห็นกี่คนล่ะคะ คุณเห็นแค่ไหนก็แค่นั้นล่ะค่ะ” ฉันตอบกึ่งยียวน แต่ในใจอยากให้เขาเห็นเป็นหลายคนเสียนัก บางทีอาจมีใครบางคนตามฉันมาก็ได้เพราะมีเรื่องลี้ลับเกิดขึ้น ในคืนที่ฉันมาถึงเชิงภูฉันมาถึงสำนักงานที่เชิงภูกระดึง ราวๆ สี่ทุ่ม คุณนิมิตรผู้ใจดีชวนให้ไปนอนที่บ้านของเขา บอกว่ามีลูกและภรรยาอยู่ด้วยไม่ต้องกังวล ฉันขอบคุณ บอกว่าขอที่พักง่ายๆ ตื่นเช้าฉันจะได้ขึ้นภูทันทีที่บ้านพักรับรองหลังใหญ่ ยังมีห้องว่างแต่แขกที่เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ยึดครองห้องไปสองห้อง เหลือหนึ่งห้องสำหรับฉัน ประเมินสถานการณ์ฉันคงไม่ได้หลับแน่ เพราะพวกเขากำลังตั้งวงเฮฮากันสุดเหวี่ยง จึงได้มาพักที่เรือนพักของยาม อยู่ใกล้สำนักงาน แต่อยู่ไกลกลุ่มบ้านพักทั้งหลายพอสมควร ชวนวังเวงใจ แม้มีไฟฟ้าสลัวๆกระจายทั่วพื้นที่ เรือนพักยาม มีพื้นที่ขนาด 1 X 2 เมตร แค่เปิดประตูแล้วล้มตัวลงนอน  แต่เจ้ากรรมแม้กลอนประตูก็ยังไม่มี ด้วยความง่วงและอ่อนเพลีย  ที่นอนบางๆกลิ่นสาบๆ ก็พอทนได้(อยู่แล้ว) เอากระเป๋าเสื้อผ้าวางกั้นประตู ถ้าใครเปิดเข้ามาอย่างน้อยกระป๋าก็ต้องส่งเสียงก่อนราวตี 4 กว่าๆ ฉันเห็นผู้ชายแต่งกายด้วยเครื่องแบบป่าไม้ สีเขียวอ่อน หน้าตาดี ท่าทางขี้เล่น อายุราวๆ 28 ปี พยายามเปิดประตู เหมือนจะหยอกล้อฉัน พอฉันตื่นเขาก็เดินหนีไป โดยจูงเด็กผู้หญิงคนหนึ่งไปด้วย  เธอนุ่งชุดกระโปรงติดกัน ผมยาวมัดห้อยย้อยเป็นหางม้า ดูน่ารัก ฉันตกใจว่าทำไมเขามาแกล้งฉัน ดึกดื่นอย่างนี้ทำไมไม่รู้จักนอนกันอีก ด้วยความโมโหเล็กน้อย จึงเปิดประตู ตั้งใจว่าจะตะโกนถามว่า มาล้อเล่นกันทำไมฉันทะลึ่งพรวดลุกขึ้นนั่ง..รู้ตัวอีกที อ้าว....ฝันนี่นา  ขยับประตูดู ทุกอย่างยังปกติ แต่ภาพเมื่อกี้นี้เหมือนจริงมาก จนกระทั่งฉันไม่เชื่อว่าตัวเองฝัน แต่ก็ล้มตัวลงนอนพลางสวดมนต์แผ่เมตตา คิดในใจว่าสงสัยจะเจอดี (ฉันจะสวดมนต์ก่อนนอนและนังสมาธิเป็นประจำ ในทุกสถานที่โดยไม่มีข้อยกเว้น แต่จะสวดมนต์สั้นหรือยาว ขึ้นอยู่กับความสะดวก เช้าตรู่ คุณนิมิตร เอาเครื่องบันทึกเสียงที่เขารับไปซ่อมให้ (เพราะสายพานขาด) มาให้ เพราะฉันจำเป็นต้องใช้ทำงานข้างบน (นี่เป็นอีกคนที่จำไม่ลืมในน้ำใจ)ฉันถามเขาว่า เคยมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และเด็กผู้หญิงน่าตาน่ารักวัยประมาณ 7 ขวบ เสียชีวิตที่นี่บ้างหรือเปล่า คนถูกถามมองหน้าฉันแบบตกตะลึง“เจอดีเข้าแล้วเหรอ” คราวนี้ฉันตะลึงบ้าง เมื่อเขาบอกว่า“มีครับ เขายิงตัวตาย ยิงลูกสาว ยิงเมียก่อน แล้วยิงตัวเอง แต่ว่าเมียรอด”.......โอ้...สวรรค์ ฉันคราง“เขาน้อยใจ ทะเลาะกับเมียระแวงว่าเมียมีผู้ชายคนอื่นน่ะครับ”คุณนิมิตรบอกว่า มีนักท่องเที่ยวที่โชคดีได้เจอพ่อลูกเดินเล่นอยู่แถวนี้เหมือนกันฉันเดินขึ้นภูกระดึงอย่างช้าๆ สวดมนต์แผ่เมตตาแก่วิญญาณพ่อลูกและวิญญาณทั้งหลายตามรายทาง ที่ฉันรู้มาว่า นานมาแล้วมีดินถล่มตรงผาสุดท้ายก่อนขึ้นสันแปภูกระดึง นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์ สังเวยชีวิตมาแล้วนี่คือเหตุที่ฉันตอบคุณเจ้าหน้าที่ไปอย่างยียวนเล็กๆ ในใจอยากให้เป็นอย่างนั้นจริงๆ ฉันจะได้อุ่นใจในการเผชิญโชคบนภูกระดึงการมีใครบางคนอารักษ์ขา โดยที่คนอื่นมองไม่เห็น ไม่เลวนะ...เอาล่ะเข้าเรื่อง...สรุปว่าการทำงานหนนี้ ฉันเก็บภาพ เก็บข้อมูลบนภูกระดึงอย่างสบายๆ เพราะเมื่อเริ่มกางเต๊นท์  แว่วเสียงเจ้าหน้าที่ตะโกนถามกันว่า“ไหนล่ะผู้หญิงที่ขึ้นมาคนเดียว”ฉันเงยหน้าจากการปักสมอดิน ตะโกนตอบไปว่า“อยู่นี่ค่ะ” จากนั้น ทุกค่ำคืน เจ้าหน้าที่หนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ทั้งหลาย จะมานั่งผิงไฟ ดื่มกาแฟ พูดคุยที่เต๊นท์ฉัน สลับกับการเดินสำรวจดูแลความสงบแก่นักท่องเที่ยวจำนวนหลายพัน (อาจถึงหมื่น) พวกเขาสุภาพ แม้บางคนจะถามตรงๆว่า “ไม่กล้วหรือ ที่มาคนเดียว” ฉันบอกว่าคนเดียวที่ไหน คนเป็นพันๆ นั่งๆนอนๆ อยู่บนนี้ ยั้วเยี้ยไปหมด เขาหัวเราะ“ไม่เหงาหรือ” นั่น...บางคำถาม ที่ต้องคิดก่อนตอบ และฉันก็ตอบว่า“มาทำงาน ไม่มีเวลาเหงา ไม่มีเวลากลัว” คนถามคงพอใจในคำตอบ ฉันจึงได้รับการดูแลดุจญาติมิตรตลอดเวลา 5 วันที่อยู่บนนั้นยามเดินป่า ไปดูต้นน้ำพอง นักท่องเที่ยวทั่วไปต้องจ่ายค่าทัวร์คนละประมาณ 200 บาท (ถ้าจำไม่ผิด) ต้องห่อข้าวไปกินเอง และเผื่อเจ้าหน้าที่ที่นำด้วย ส่วนฉัน..เจ้าหน้าที่บอกว่า ไม่ต้องครับผมเตรียมไว้ให้แล้วทุกอย่างฉันมีหน้าที่ถ่ายรูปเก็บข้อมูล แม้แต่ขาตั้งกล้องก็มีคนแบกให้  ทุกอย่างล้วนสะดวกดายเพราะฉันมาดี จึงได้เจอกับคนดีๆแม้แต่เรื่องเสื้อผ้า หรือผ้าห่ม ที่ต้องไปเช่าจากร้านอาหารของคุณป้ามะลิ เธอยังให้ยืมผ้าซิ่นส่วนตัวอีกสองผืน เมื่อรู้ว่าฉันมีเสื้อผ้าสำรองเพียงชุดเดียวต้องขอบคุณขาข้างหัก..ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ฉันอยากปีนภูกระดึง จนเจอสิ่งดีๆ ผู้คนดีๆ และบางอย่างที่บอกไม่ได้ว่าดีหรือไม่ดีแต่สิ่งแรกที่ฉันทำเมื่อกลับลงมาข้างล่าง  คือ...สังฆทาน
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ผมมีความเชื่อว่าคนที่เป็นนักปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาบ้านเรา ถ้าหากไม่หลงไปปฏิบัติผิดที่ผิดทาง ท่านคงจะรู้กันดีทุกคนนะครับ ว่าเป้าหมายสูงสุดในการปฏิบัติธรรม คือการปฏิบัติเพื่อลดละและปล่อยวาง  ความยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นตัวของเรา – เป็นของของเรา ซึ่งทางพุทธบ้านเราถือว่าเป็นต้นตอรากเหง้าของความทุกข์ทางใจทั้งหลายทั้งปวงส่วนจะเป็นทุกข์มากหรือน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับใจของเรา ที่เข้าไปยึดเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นตัวกำหนด พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าเข้าไปยึดถือมากก็ย่อมเป็นทุกข์มาก ถ้าเข้าไปยึดถือน้อยก็เป็นทุกข์น้อยนั่นเองครับนี่เป็นเรื่องที่เป็นนามธรรมที่เข้าใจได้ยาก หรือถ้าสามารถเข้าใจได้แล้ว...ก็ยังมีเรื่องที่ยากยิ่งขึ้นไปอีก นั่นคือการปฏิบัติให้ได้จริงและเป็นจริง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ฝืนใจปุถุชนคนธรรมดาอย่างเรา ที่ล้วนแล้วแต่เกิดมาเพื่อเรียนรู้การยึดมั่นถือมั่น มากกว่าการลดละและปล่อยวาง...จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เรื่องนี้ ซึ่งถือกันว่าเป็นแก่นของพุทธศาสนาที่พระเดชพระคุณท่านพุทธทาสภิกขุ เคยพูดเอาไว้ครั้งแล้วครั้งเล่าว่า เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้คน จะกลายเป็นเรื่องที่ยากยิ่งที่คนจะเข้าใจและปฏิบัติได้ พวกเราส่วนมากที่สักแต่ได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธ จึงกลายเป็นคนที่อยู่ใกล้...แต่กลับไกลจนสุดหล้าฟ้าเขียวจากของดีที่อยู่ใกล้ตัว เพราะมันฝืนความเคยชิน ฝืนใจคนกิเลสหนาอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ  เหลือเกินครับพระคุณเจ้า...จึงไม่ใช่เรื่องที่แปลกอีกเหมือนกันที่คนที่หันหลังให้กับทางโลกย์เข้าไปหาทางธรรม ถึงขั้นเข้าวัดวาหรือสำนักปฏิบัติธรรม เพื่อปฏิบัติธรรมอย่างเอาจริงเอาจัง จึงมักจะเป็นคนที่ได้ประสบกับความทุกข์ทางใจอันใหญ่หลวงมาแล้วอย่างหนักหนาสาหัส และมองเห็นความทุกข์นั้นด้วยตัวเองจริง ๆ เท่านั้น ที่มักจะพากันเข้าไปด้วยความสมัครใจ และเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และเมื่อเดินมุ่งหน้าเข้าไปแล้ว ก็ยากยิ่งที่จะถอยหลังกลับมาดังเช่นกรณี ท่านศาสตราจารย์ อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง นักปฏิบัติธรรม อาวุโส ผู้มีชื่อเสียงขจรขจายในวงการพุทธ ศาสนา ได้ให้สัมภาษณ์ คุณขวัญใจ เอมใจ เอาไว้ในหนังสือสารคดีประจำเดือนมีนาคม 2543 เกี่ยวกับเส้นทางการปฏิบัติธรรมของท่านเอาไว้ตอนหนึ่ง ซึ่งตรงกับประเด็นที่ผมได้เกริ่นกล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจ และควรค่าแก่การศึกษา ดังต่อไปนี้สารคดี : เหตุผลหลักที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ท่านตัดสินใจบวชคืออะไรคะ ดิฉันได้ยินมาว่า มีความ    คิดสองทาง มองว่าคนที่มาบวชนั้น หนึ่ง เพราะมีความทุกข์ สอง เป็นคนที่กำลังแสวงหา บางคนมองไกลไปถึงว่า พระพุทธเจ้าก็เป็นผู้แสวงหาอีกท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติอ.รัญจวน : เห็นทุกข์ค่ะ แต่ก่อนนี้ไม่รู้ ทั้ง ๆ ที่อาการของความทุกข์ก็คืออาการซัดส่ายของใจ วุ่นวายไม่เป็นปกติ แต่ไม่รู้ว่าอยู่กับความทุกข์ เพราะไม่เคยศึกษา พอมาตอนหลังก็มีเหตุที่ทำให้เริ่มเห็นความทุกข์ชัดขึ้น คือเรื่องหลานชาย ดิฉันมีหลานชายที่ดิฉันเลี้ยงเอาไว้ตั้งแต่เล็ก ๆ  เขาเป็นเด็กเก่ง เด็กฉลาด เรียนหนังสือดี อยู่มหาวิทยาลัยก็เรียกว่าเป็นดารา แต่เขาเป็นคนคิดมาก ดิฉันไม่รู้ว่าเขาคิดมากขนาดไหน ภายนอกของเขาเป็นคนที่รื่นเริงบันเทิงใจมาก อยู่ที่ไหนมีแต่จะทำให้ที่ตรงนั้นมีเสียหัวเราะ เพื่อนฝูงจะไปไหนก็มาขอให้เขาไปด้วย เพราะเขาเป็นคนนำ ทำให้เพื่อนฝูงสนุกสนาน มีปัญหาอะไรก็แก้ไขปัญหาให้เพื่อน แต่ผลที่สุด เขาก็แก้ปัญหาให้ตัวเองไม่ได้ ต้องเข้าไปอยู่โรงพยาบาลจนทุกวันนี้  เขาไม่ก้าวร้าว แต่จะพูดจะคิดอะไรเลื่อนลอย อยู่กับความหลัง อยู่กับอนาคต แต่ไม่อยู่กับปัจจุบัน ตอนนั้นดิฉันเริ่มรู้แล้วว่า อ้อ...ความทุกข์มันเป็นเช่นนี้เองแล้วก็นั่งคิด เอ...นี่เราเลี้ยงเขาผิดหรือเปล่า ทั้งที่เราก็ประชาธิปไตยพอสมควร มีอะไรก็พูดอภิปรายกัน ไม่ได้เก็บกักอะไรเขาเลย ก็ถามตัวเอง โทษตัวเอง รู้สึกเศร้าใจ ยิ่งเมื่อเห็นดอกเตอร์หนุ่ม ๆ ก็นึกในใจ หลานเราก็เป็นได้ แล้วเขาก็เป็นได้อีกตั้งหลายอย่าง เป็นนักดนตรี นักพูด นักเขียน แต่กลับมาเป็นอย่างนี้ นี่ละจิตที่ทุกข์จริง ๆ ก็ตอนนั้นสารคดี : เรื่องหลานชายถือเป็นเหตุปัจจัยหลักที่ทำให้เห็นทุกข์ กระทั่งตัดสินใจบวชอ.รัญจวน : ใช่ค่ะ เริ่มเห็นความทุกข์ชัดเจนขึ้น ทั้ง ๆ ที่เราอยู่กับความทุกข์มาตลอดชีวิตอย่างที่เล่ามาแล้ว นี่ที่สำคัญมากนะคะ คนทุกคนในโลกนี้คลุกคลีกับความทุกข์มาตลอด แต่ทุกข์เล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันกลับมองไม่เห็น มันมีอยู่ตลอดทั้งวัน  ตลอดระยะทางของชีวิต เกือบจะทุกขณะทุกชั่วโมง ก็ที่เดี๋ยวเราดีใจ เดี๋ยวเสียใจ เดี๋ยวชอบใจ เดี๋ยวไม่ชอบใจอีกแล้ว นั่นละ แต่เพราะไม่เคยเรียนรู้ ก็เลยไม่รู้ว่า เรามีชีวิตอยู่กับความทุกข์ จนกระทั่งวันหนึ่ง สิ่งที่เรารักมาก ยึดถือมาก...ว่ามันเป็นของเราเกิดวิปริตขึ้นมา มันถึงตีตูมเข้ามาที่ใจ ทำไมถึงเห็นว่าเป็นทุกข์มาก ทุกข์ใหญ่  เพราะเราไม่เคยได้ฝึกอบรมใจ เพื่อจะต้อนรับทุกเล็ก ๆ  ที่ผ่านใจเข้ามาตลอดชีวิตของเรา เราไม่เคยรู้ เราไม่เคยจัดการ ที่หลังมันก็จะสะสมความทุกข์ ความไม่พอใจมาเรื่อยทีละน้อย ๆ แล้วพอมีอะไรใหญ่มาก ๆ ลงมาตูมเดียว จึงไม่มีความต้านทานที่จะรับแต่สำหรับตัวเอง พอจะรับได้บ้าง ไม่ถึงเป็นบ้าเป็นหลังไปกับความทุกข์ ไม่ได้ล้มสลบสิ้นสติลงไป ที่เน้นเรื่องนี้ก็อยากจะบอกทุกคนว่า เราควรจะต้องศึกษาเรื่องความทุกข์ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนอริยสัจสี่ และเมื่อเกิดอะไรขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นทุกข์ใหญ่ เช่นไฟไหม้บ้าน เกิดอุบัติเหตุตายทั้งหมู่ ลูกสาวหลานสาวถูกข่มขืน ยำยี มันก็จะไม่ทำให้เราเป็นทุกข์ชอกช้ำจนถึงเสียสติสารคดี : อาการของท่านเองตอนที่เจอทุกข์ใหญ่มากในตอนนั้น เป็นอย่างไรบ้างอ.รัญจวน : ข้างนอกนี่ไม่เป็นอะไร แต่ข้างในรู้สึกเหนื่อย...เหนื่อยมากเหลือเกิน เพราะพอหลานชายออกจากโรงพยาบาล แล้วก็ต้องเอาเขามานอนเตียงข้าง ๆ ติดกัน แล้วก็ต้องคอยพูดคอยปลอบใจ ให้กำลังใจ แนะนำต่าง ๆ  ไหนจะงานสอนที่รามคำแหง แล้วตอนนั้นเป็นประธานสภาอาจารย์รามคำแหง ซึ่งเริ่มมีเป็นครั้งแรกด้วย พอมาถึงบ้านก็ต้องมาทำงานพยาบาลด้วย แล้วพยาบาลโรคทางใจนี่หนักกว่าโรคทางกายนัก เพราะฉะนั้น นอกจากทุกข์เพราะสงสารว่าเขาเป็นอย่างนี้แล้ว ยังทุกข์เพราะเหนื่อยอีก มันเหนื่อยสายตัวแทบขาดทีเดียว เหนื่อยทุกอย่างทั้งกายและใจ เลยรู้ว่า อ๋อ...ลักษณะของความทุกข์ที่เกิดขึ้นมันเป็นเช่นนี้เองถ้ามองจากตอนนี้ ถามว่า ที่ตอนนั้นตัวเองทุกข์เพราะอะไร ก็ตอบว่า ทุกข์เพราะอุปทาน ยึดมั่นถือมั่น  ถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นเราก็ไม่ทุกข์  มีเด็กหนุ่ม ๆ สาว ๆ ที่มีอาการอย่างหลานชายของเราอีกนับพันนับหมื่น ทำไมเราไม่ไปทุกข์กับเขา ก็เพราะเขาไม่ใช่หลานเรา นี่ธรรมะบอก เพราะเราไปยึดมั่น เพราะฉะนั้นจึงทุกข์มาก นี่ถ้าไม่ใช่หลานของเรา มีอะไรจะช่วยได้ก็คงช่วยกันไปเท่าที่กำลังจะช่วยได้  แต่ไม่ต้องเสียใจเศร้าหมองจนไม่คิดถึงเหตุผลอย่างใช้สติปัญญาครับ ผมหวังว่า บทสัมภาษณ์ บทนี้ของอาจารย์รัญจวน ที่สูญเสียหลานชายที่ท่านรัก และเป็นเหตุทำให้ท่านหันหน้าเข้ามาปฏิบัติธรรมตราบจนเท่าทุกวันนี้ คงจะทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจคำว่า ยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเป็นต้นตอความทุกข์ทางใจของคนเราได้ง่ายขึ้น และได้รับประโยชน์จากความเข้าใจนี้กันทุกคนนะครับ.17 ตุลาคม 2550กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่ภาพประกอบจาก http://dungtrin.com ขอบคุณครับ