Skip to main content
ชนกลุ่มน้อย
“ถ้าจะตาย  ใจสงบแล้วที่ได้เห็นแม่น้ำใหญ่”   ลุงเวยซา วัย 69 ปี  พูดกับพวกเรา แล้วทรุดตัวนั่งลงริมฝั่งแม่น้ำใหญ่สาละวิน  พึมพำเสียงเปรยสั่นเครือเหมือนลืมตัว “โข่โละโกร โข่โละโกร..”  ผมนึกว่าลุงจะตื่นตาตื่นใจไปตามประสา  แต่พอเห็นหลังมือป้ายตา  นิ่งเหม่อมองไกล  ผมถึงเข้าใจว่า นั่น ไม่ใช่เรื่องธรรมดาๆเสียแล้ว  นาทีต่อนาทีนับจากนั้น  ผมเห็นลุงเวยซายิ่งตัวเล็กลงเหลือเท่ากำปั้น  กลืนกลายเป็นเนื้อเดียวกับก้อนหินใหญ่ริมฝั่ง  เป็นหุ่นปั้นหินเปลือยกายท่อนบน  นุ่งเตี่ยวสะดอเก่าๆสะพายย่าม  เท้าเปลือย  และแทบมองไม่เห็นหนวดเคราขาวหรอมแหร็ม  กับเส้นผมแห้งแข็งเหมือนฟางข้าวเรามาถึงริมฝั่งแม่น้ำตอนเที่ยงคืนกว่าๆ  ผมเหลือบเห็นผิวน้ำเลื่อมมันวาวสะท้อนแสงจันทร์เสี้ยว  อย่างผิวหนังสัตว์เกล็ดงูยักษ์เคลื่อนผ่านหน้าไป   ห้าคนอัดแน่นอยู่บนรถจิ๊ปสีเทารุ่นสงครามโลก  พะเลอโดะเป็นคนขับ  ผมนั่งเคียงคู่  ลุงเวยซานั่งข้างหลัง   ส่วนอีกสองคน ซอมีญอกับกะฌอดูราวหลอมแบนราบเป็นเนื้อเดียวกับพื้นรถผมมาถึงฝั่งโข่โละโกรเป็นครั้งแรก  เหมือนลุงเวยซา  ซอมีญอกับกะฌอเขาคุ้นเคยเป็นอย่างดี  พะเลอโดะเป็นผู้นำทาง  เขาเข้าออกโข่โละโกรอย่างกับบ้านหลังที่สอง  เขาบอกว่า  เขามากี่ครั้งก็ไม่เคยรู้สึกเบื่อ  โข่โละโกรมีเรื่องใหม่ๆ ผ่านเข้ามาทุกวัน  ไม่ต่างกับการมาถึงของพวกเรา   แสงไฟรถฉายไปยังบ้านไม้แต่ละหลังที่ปิดประตู  ปิดไฟเปล่าเปลี่ยวอยู่ในความมืด  ราวกับโบกี้รถไฟไม้เก่าทิ้งร้าง  ไม่มีหัว ไม่รู้ท้าย  ปล่อยเลยตามเลยไว้ริมแม่น้ำ  อย่างกับรอวันคืนอัศจรรย์ผ่านมาชุบชีวิตให้มันตื่นขึ้นเคลื่อนไหวได้อีกครั้ง  แล้ววิ่งเลียบแม่น้ำไปเยี่ยงจักรกลโบราณที่ไม่คาดหวังว่าจะมีสิ่งมีชีวิตตื่นขึ้นมาขอโดยสารหรือไม่   เสียงรถยามวิกาลไม่ได้ทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในโบกี้ไม้แตกตื่น  พะเลอโดะบอกว่า เว้นแต่พวกทหารที่คอยดมกลิ่นกลางคืน  นอกนั้นไม่มีใครอยากรู้หรอกว่าเป็นใครมาทำอะไร  ผู้คนแถบนี้คุ้นเคยกับคนเข้าคนออก  เท็จจริงใดๆ ดูไร้ประโยชน์   บรรยากาศชีวิตแถบนี้ปกคลุมด้วยความเท็จมากกว่าความจริง  ความสงสัยใดๆไม่ได้นำพาไปสู่ความเคร่งครัดในสิ่งคาดหวังใหม่ๆ ผมรับรู้เรื่องราวโข่โละโกรอันจำกัด   ส่วนหนึ่งมาจากพะเลอโดะ  เล่าเพียงว่าชุมชนคนพลัดถิ่นเกิดขึ้นมากลางสนามรบ  เพราะผลพวงจากสงครามเชื้อชาติบนแผ่นดินพม่า  หนีการสู้รบข้ามน้ำโข่โละโกรมาตั้งบ้านอยู่สุดขอบพรมแดน  ให้พอมีพื้นที่ดำรงชีพกันไปได้  แต่ดูเหมือนชีวิตไม่ง่ายเถรตรงอย่างแนวเขตปันแดน  อิทธิพลของนักรบกะเหรี่ยงยังแผ่ขยายมาถึงคนหนีมาสุดแนวเขตจนได้    ใครไม่มีลูกชายส่งไปออกรบ  ก็ต้องส่งส่วยไปอุดหนุน     พันธะทางสายเลือด  พรมแดนไม่อาจปิดกั้นกันไหลทะลักไปหากัน  วันดีคืนดีของลุงเวยซา  ก็มีคนแปลกหน้าพร้อมอาวุธเข้ามาถึงบ้าน  ขอพริกขอข้าวสาร  มีอยู่เท่าไหร่ก็ต้องเอาให้เขาไป   ลุงเวยซาบอกว่า พวกนี้เป็นผีโข่โละโกร แฝงตัวมากับกลางคืน  เคลื่อนไหวมาตามป่าเขาอย่างเงียบกริบ  ไม่มีใครรู้ว่าพวกนี้มาจากที่ใด  จะไปไหน  แต่ลุงเวยซารู้ผ่านพ่อแม่บอกต่อกันมา  ว่าดินแดนนั้นเหมือนถูกสาปอยู่หลังแม่น้ำโข่โละโกร  ที่นั่น เต็มไปด้วยนักรบที่พร้อมจะห้ำหั่นใส่กันได้ทุกเมื่อ    วัยวันลุงเวยซาผ่านไป 69 ปี  ไม่เคยสักครั้งที่คิดจะเดินไปยังดินแดนนั้น  หรือไปให้ถึงฝั่งน้ำโข่โละโกรสักครั้ง   ลุงเชื่อฝังใจว่าที่นั่นเต็มไปด้วยพวกผีโข่โละโกร  ไม่เชื่อฟังเหตุผลใดๆ   ถ้าถูกจับไปเป็นลูกหาบแบกกระสุนปืนเมื่อไหร่  อย่าหวังว่าจะได้กลับออกมาง่ายๆ  “พระเจ้าให้เป็นอย่างนั้น” ลุงเวยซาบอก  พะเลอโดะกลับหัวเราะ  แล้วพูดออกไปว่า  พระเจ้าอยู่ในเรานี่แหละ.. พะตี
ภู เชียงดาว
  เมื่อนั่งอยู่ในความเงียบ ในสวนบนเนินเขายามเช้าตรู่ เพ่งดูหมอกขาวคลี่คลุมดงดอยอยู่เบื้องหน้า ทุ่งนาเบื้องล่างลิบๆ นั้นเริ่มแปรเปลี่ยนสี จากทุ่งข้าวสีเขียวสดกลายเป็นสีเหลืองทองรอการเก็บเกี่ยว ใช่, ใครต่อใครเมื่อเห็นภาพเหล่านี้ คงรู้สึกชื่นชมภาพอันสดชื่นรื่นรมย์กันแบบนี้ทุกคนทว่าจริงๆ แล้ว พอค้นให้ลึกลงไป ก็จะพบว่า ในความงามนั้นมีความทุกข์ซุกซ่อนอยู่ให้รับรู้สึก เมื่อนึกถึงภาพเก่าๆ ของหมู่บ้าน ผ่านไปไม่กี่สิบปี  จะมองเห็นได้เลยว่าหมู่บ้านเกิดของผมมีความแปลกเปลี่ยนไปอย่างเร็วและแรง อย่างไม่น่าเชื่อ“ตอนนี้ อะหยังๆ มันก่อเปลี่ยนไปหมดแล้ว...” เสียงใครคนหนึ่งบ่นเหมือนรำพึงจริงสิ, อะไรๆ ก็ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว บทเพลงชาวนาชาวสวนที่เคยขับร้อง จึงไม่เพราะเหมือนแต่ก่อน...    เมื่อความแปลกเปลี่ยนกำลังไหลเลื่อนเคลื่อนคลุมหมู่บ้าน ปกคลุมหัวใจของผู้คนทุกลมหายใจเข้าออกคิดแล้ว  น่าใจหายเมื่อมองเห็นภาพชาวบ้าน ญาติพี่น้องของผมแบกกระเป๋าเดินทยอยออกจากหมู่บ้านไปทำงานต่างแดนกันอย่างต่อเนื่อง “ตอนนี้ ถ้านับจำนวนทั้งคนหนุ่ม คนเฒ่าคนแก่ที่ออกไปยะก๋านข้างนอก คงเกือบสองร้อยคนแล้วมั่ง...” เสียงพี่สาวบอกเล่าให้ฟังเป็นการเดินออกไปทำงานรับจ้างต่างบ้านต่างเมือง ในขณะที่รัฐบาลโหมโฆษณาผ่านเสียงตามสาย ผ่านโทรทัศน์ เน้นย้ำอยู่อย่างนั้น...พอเพียง พอเพียง ซึ่งมันช่างสวนกระแสและรู้สึกขมขื่นเสียจริงๆทำไม...ทำไม ผู้คนถึงต้องออกจากหมู่บ้าน...หลายคนคงแอบตั้งคำถามกันแบบนี้ แต่กระนั้น คงมีอีกหลายคนที่รู้สึกเฉยชา และปล่อยให้มันเป็นไป ปล่อยให้ชะตากรรมเป็นฝ่ายตัดสินใครหลายคนบ่นว่า ต้องโทษ ธกส.ต้องโทษนักการเมือง รัฐบาลเก่าที่สร้างหนี้ให้ชาวบ้าน ในขณะที่หลายคนก็บอกว่า ต้องโทษตัวเราเอง ที่ไปเอาเงินมาใช้ แต่ไม่มีปัญญาใช้คืน แน่นอน พวกเขาถึงละทิ้งผืนแผ่นดินเกิด ปล่อยให้นาข้าวไร้คนเกี่ยว สวนเปลี่ยว ไร่รกร้าง แบกกระเป๋าเข้าเมือง เพียงเพื่อมุ่งหาเงิน เร่งหามาใช้หนี้ เพื่อปลดทุกข์และความเครียดที่รุมเร้าทำให้นึกไปถึงถ้อยคำของหลานชาย ที่บอกเล่าความรู้สึก ในวันที่ต้องไปเที่ยวหาคนงานที่เป็นชนเผ่าจากหมู่บ้านใกล้เคียงมารับจ้าง รับเหมาเกี่ยวข้าวภายในทุ่งนาของตน “...ท้องทุ่งในวันนี้ช่างเงียบเหงา ถึงแม้จะมีผู้คนมาช่วยผมเกี่ยวข้าว แต่เป็นคนที่ไม่รู้จักเลยซักคน เสียงต่างๆที่คุ้นเคย ก็เงียบขาดหายไป เพราะอะไร ?...” ฟ้าครึ้ม พายุพัดพาเมฆฝนหล่นโปรยลงมาในสวนบนเนินเขาอีกครั้ง...ผมหยิบหนังสือ “จากห้วงลึก” ของ “พจนา จันทรสันติ” ออกมาอ่านอยู่เงียบๆ ลำพัง...“...ความเปลี่ยนแปลงจากวิถีชีวิตแบบบุพกาล มาสู่วิถีชีวิตแบบโลกสมัยใหม่ อาจกินเวลาเพียงลัดนิ้วมือเดียว เมื่อเทียบกับการสั่งสมอารยธรรมทางจิตวิญญาณ ซึ่งต้องกินเวลานานนับพันๆ ปี จากการหยั่งเห็นของคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า สืบทอดจากครูคนแล้วคนเล่า สั่งสมขึ้นเป็นประสบการณ์ภายในอันล้ำลึกซึ่งความรอบรู้และบทบาทหน้าที่ของมนุษย์ได้รับการตอบรับยืนยันจากสรรพสิ่งในจักรวาล กว่าที่มนุษย์จะเงี่ยโสตสดับฟัง จนได้ยินกระแสเสียงของพระผู้สร้าง หรือต้นกำเนิดของตน กว่าที่มนุษย์จะขัดเกลาตนเองให้ละเอียด จนถึงขั้นที่สามารถรับคลื่นสัญญาณความหมายต่างๆ ของธรรมชาติ ช่างแตกต่างกันไกลจากเสียงของวิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งง่าย ทว่าผิวเผินกว่ามากนัก และมนุษย์อาจใช้เวลาไม่มากเลย ที่จะได้ยินกระแสเสียงของเงินและเทคโนโลยี ซึ่งได้กลายมาเป็นพระเจ้า กลายเป็นศาสนาในยุคใหม่ของตนด้วยและเสียงของพระเจ้าองค์ใหม่นี้ ย่อมดังกึกก้องกว่า ชัดเจนกว่า และง่ายที่จะได้ยินด้วย ทว่าผู้คนที่เดินติดตามไป ก็คงจะได้ค้นพบด้วยตนเองในไม่ช้าว่า ตนได้มีความสุขแท้จริงละหรือ จะค้นพบว่าอะไรคือสวรรค์และคือนรก และพบว่าอะไรจริงอะไรเท็จ และตรงปลายทางสายนั้นคือมรรคผลอันไพบูลย์เต็มเปี่ยม หรือว่าคือหายนะของทั้งหมด...”“จากห้วงลึก” “พจนา จันทรสันติ” เขียน ผมนิ่งอ่านแล้วครุ่นคิดไปต่างๆ นานา...จริงสิ, ไม่ว่าในเมืองหรือชนบท ผู้คนต่างล้วนเอาชีวิตไปวางอยู่กับเงิน เอาเงินเป็นตัวตั้ง ในขณะที่สังคมนับวันยิ่งซับซ้อน ยุ่งเหยิง หมักหมมและเลวร้ายขึ้นทุกวัน และก็อดนึกถึงผู้คนพี่น้องของผมที่ละทิ้งบ้านเกิดไปไม่ได้ว่า ป่านนี้พวกเขาออกไปเผชิญชีวิตในเมืองใหญ่ ในต่างจังหวัด ในเกาะแก่งทะเล ทางภาคใต้ในขณะนี้ ไม่รู้ว่าพวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่กันอย่างไรบ้าง และจะเอาตัวรอดกลับคืนมาสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเองได้หรือไม่...ความรู้สึกของผมในยามนี้ เหมือนกับที่ “ถนอม ไชยวงษ์แก้ว”เขียนบันทึกไว้ในคอลัมน์ใน www.prachatai.com ตอนหนึ่งที่บอกว่า...Life is shortThe world is roughIf you want to live saveYou have to be tough ชีวิตนี้สั้นโลกนี้เลวร้ายหากคุณต้องการจะอยู่อย่างปลอดภัยคุณต้องแข็งแกร่งพอ. หมายเหตุ : ภาพประกอบโดย “ดอกเสี้ยวขาว” http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=jintanakarn82&month=10-2007&date=09&group=11&gblog=3
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
ผมหยิบยืมคำว่า “ไปทำไม” ขึ้นมาเป็นชื่อเรื่องของข้อเขียนนี้จากชื่อสำนักพิมพ์ของรุ่นพี่ท่านหนึ่ง ซึ่งพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับภาพถ่ายการเดินทางและโปสการ์ดราคาประหยัดเพียงสามใบสิบบาท และเขาเรียกขานสำนักพิมพ์ตัวเองในเชิงสัพยอกว่า ‘สำนักพิมพ์ไปทำไม’...แม้จะฟังดูคล้ายกับว่าเจตนาจะกวนๆ แต่ก็เข้าท่าดีเหมือนกันคำว่า “ไปทำไม” แม้จะดูคล้ายกับการตั้งคำถามโดยตรง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนการปุชฉาโดยมีโทนของน้ำเสียงฟังเหมือนกับการบ่นพึมพำกับตัวเองหรือการพ่นความไม่ได้ดังใจหรือความไม่เข้าใจของคนที่บังเอิญไปประสบพบเห็นพฤติกรรมของ “การไป” (ที่ไหนสักที่ ของคนสักคนหรือสักกลุ่มหนึ่ง)ไม่ใช่ความบังเอิญที่ทำให้ไปประสบพบเห็นการเดินทางของคนไทยกลุ่มหนึ่งเพื่อท้าทายความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์ ( 8,848 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง – เป็นระดับความสูงจากเว็บไซต์ Wikipedia.org บางแหล่งอ้างว่ายอดเขาแห่งนี้สูง 8,850 เมตรฯ) ซึ่งเป็นยอดเขาสูงที่สุดในโลก งานนี้สถานีโทรทัศน์ TITV ได้นำชาวไทยกลุ่มหนึ่ง (ถ้าจำไม่ผิดจากการรายงานข่าวหรือสกู๊ปพิเศษที่เคยได้รับฟังมีทั้งหมด 9 คน) เดินทางไปเก็บตัว ฝึกฝนการป่ายปีนและการใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยในการปีนเขา ฝึกฝนการปีนเขาเอเวอเรสต์กับชายชาวเชอร์ปาซึ่งเป็นทั้งไกด์ ครูฝึกและคนนำทางท้องถิ่นกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นชาวเนปาล ชาวเชอร์ปาที่มีชื่อเสียงในระดับโลกถึงความชำนาญและความเชี่ยวชาญการปีนเขาสูง (โดยเฉพาะยอดเอเวอเรสต์ที่อยู่ในประเทศเนปาล) มาเนิ่นนานแล้ว นับตั้งแต่สมัยที่เอ็ดมันด์ ฮิลลารี พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้ในวันที่ 29 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 1953 การเดินทางขึ้นสู่จุดสูงสุดของโลกของชาวชาวนิวซีแลนด์คนนี้ จะเป็นไปไม่ได้เลยหากปราศจากความช่วยเหลือของเพื่อนร่วมทางชาวเชอร์ปาที่ชื่อว่า เทนซิง นอร์เกย์หลังจากวันแห่งความสำเร็จของคนทั้งคู่ กว่า 50 ปีต่อมาได้มีผู้คนจาก 63 ประเทศ 1200 คนได้สรรหาเส้นทางขึ้นสู่ปลายยอดเขาที่สูงที่สุดแห่งนี้ (ซึ่งมีเส้นทางขึ้นสู่ Summit หรือปลายยอดทั้งหมด 15 เส้นทาง) จนสำเร็จและได้รับการจดจารเอาไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นผู้พิชิตยอดเขาแห่งนี้ “ปฏิบัติการเกียรติยศ สู่ยอดเอเวอเรสต์” ของคนไทยโดย TITV และผู้ให้การสนับสนุน (ซึ่งส่วนมากเป็นห้างร้านบริษัทใหญ่ๆ) เชื่อแน่ว่าคงไม่มีเหตุผลใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการที่จะนำภาพและชื่อของคนไทยเข้าไปต่อแถวในขบวนการของผู้ขึ้นไปย่ำยอดเขาเอเวอเรสต์ ภาพของการนำธงไตรรงค์ของไทยไปปักบนความสูงกว่าแปดพันเมตรบนยอดเขาน่าจะนำมาซึ่งน้ำตาแห่งความปลื้มปิติของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้ที่ให้ความสนใจในปฏิบัติการครั้งนี้มุมมอง 360 องศาบนยอดเอเวอเรสต์ข่าวคราวของความพยายามทุกวิถีทาง (โดยมีสปอนเซอร์สนับสนุนและมีชาวเชอร์ปา ซึ่งเป็นญาติของเทนซิง นอร์เกย์ ชาวเชอร์ปาคนแรกในประวัติศาสตร์ผู้พิชิตเอเวอเรสต์) ในการที่จะขึ้นสู่ยอดซัมมิทได้ถูกนำเสนอผ่านช่วงรายการทั้งช่วงข่าวและรายการบันเทิงปกิณกะอื่นๆ ของสถานี TITV อยู่ทุกวี่วัน ด้วยเหตุนี้มันจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของความสนใจของคนไทยโดยเฉพาะคนไทยที่สนใจเรื่องราวของการเดินทาง การเอาชนะเรคคอร์ทหรือปูมบันทึกต่างๆ ที่มีคนจากหลากหลายเชื้อชาติได้เข้าไปฝากชื่อเอาไว้ ไม่รวมถึงคนไทยในภาพรวมที่ถูกเอาเข้าไปเกี่ยวโยงกับปฏิบัติการครั้งนี้โดยการใช้ถ้อยคำในทำนองว่าเป็นปฏิบัติการเพื่อเกียรติยศของคนไทยความเป็น ความตาย ความทุกข์ ความสุขของคนไทยหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในปฏิบัติการครั้งนี้จึงถูกนำเสนอประหนึ่งเป็นปฏิบัติการแห่งความเสียสละหรือปฏิบัติการอันศักดิ์สิทธิ์ หรือเป็นการทำเพื่อชาติ มีการนำเสนอเรื่องราวและภาพประหนึ่งผู้ที่ได้เข้าไปเป็นคนไทยหนึ่งในเก้าเปรียบเหมือนวีรบุรุษหรือวีรสตรี โดยหลงลืมหรือมองข้ามไม่ลงลึกซอกหลืบทางความคิดในแง่ที่เป็นปัจเจกของบุคคลเหล่านี้แต่ละคนว่าไปทำไม ทำไปเพื่ออะไร ยอมเสี่ยงต่ออาการแพ้ความสูง หิมะกัดจนพิการหรืออุบัติเหตุร้ายแรงจากหิมะถล่มหรือสภาพอากาศแปรปรวนไปเพื่ออะไร...แผนที่เส้นทางขึ้นสู่ซัมมิท หากเราลองทำใจให้กว้างและเข้าใจปรากฏการณ์แห่งการเดินทางครั้งนี้ว่ามิใช่การเอาอย่างฝรั่ง หรือความคลั่งไคล้ในการทำลายสถิติหรือความพยายามในการยัดเยียดชื่อคนไทยเข้าไปต่อแถวในหางว่าวของรายชื่อผู้ที่ทำสำเร็จมาก่อนหน้านั้นในเรคคอร์ท เราย่อมเข้าใจได้ว่าคนไทยไม่ว่าใครก็ตาม หรือจะด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตามมีสิทธิ์ที่จะทำอะไรพรรค์นี้ได้เหมือนๆ กับชาวโลกจากประเทศชาติอื่นๆชาวเชอร์ปาการเดินเท้าและป่ายปีนน้ำแข็งอันหนาวเย็น เสี่ยงภัยในสภาพอากาศปกติของยอดเขาสูงๆ อย่างเอเวอเรสต์นั้นอุดมไปด้วยความเสี่ยงสารพัด และหากใครก็ตามที่มุ่งหวังว่าจะไปขึ้นสู่ยอดเอเวอเรสต์ย่อมพานพบกับสายตาและน้ำเสียงอันไม่เข้าใจว่า “จะไปกันทำไม” เพราะในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของผู้ล้มเหลวพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากปฏิบัติการเยี่ยงนี้ไปแล้วเกือบสองร้อยชีวิตดังเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่นักเดินเขาสู่เอเวอเรสต์ต้องสังเวยชีวิตไปกับพายุที่ซัดเข้ามาอย่างฉับพลันในวันที่ 10 พฤษภาคมปี 1996 ซึ่งนักเขียนสารคดีชาวอเมริกันที่เป็นส่วนหนึ่งในโศกนาฏกรรมครั้งนั้นได้เขียนบันทึกออกมาในหนังสือชื่อ Into Thin Airนักปีนเขาสู่ยอดเอเวอเรสต์ผมไม่ได้จ้องมองปฏิบัติการครั้งนี้ในแบบฉงนสนใจ ลุ้นระทึกหรือด้วยความทึ่ง หรือแม้แต่รู้สึกว่าตัวเองจะอิจฉาตาร้อนที่คนไทยได้เข้าไปร่วมในขบวนการย่ำยอดเขาเอเวอเรสต์ ผมเพียงแต่นึกถึงมุมที่หลากหลายของเรื่องราวและพบว่าคำตอบของเรื่องราวที่แท้จริงน่าจะมีมากกว่าการที่ (คนไทย) ใครคนใดคนหนึ่งจะยอมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายและการเอาชนะตัวเองเพื่อแลกกับความสูงสุดที่รอคอยมานานหลายล้านปีบนยอดเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งเนปาลยอดนี้มิเช่นนั้นแล้วปฏิบัติการ ‘เกียรติยศ’ เยี่ยงนี้ก็อาจจะพบกับคำเย้ยหยันง่ายๆ ว่า “ไปทำไม” ก็เท่านั้นภาพประกอบทั้งหมดจากเว็บไซต์ที่มีข้อมูลดีๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับยอดเขาเอเวอเรสต์  www.nationalgeographic.com/everest/
แสงดาว ศรัทธามั่น
สหาย " รั กไ ห ม ว ง ศ์ ล้า น นา " คับ อ้ายฯ ส่งใบโอนมาให้ที่อ้ายรักไหม กรุณามอบภาพวาดเดือนตุลาฯ มาให้อ้าย เป็นภาพที่อ้ายชอบมากๆ , คับ ..... หากบังเอิญ เกิดฟลุ๊คเมื่อใด จักโอนมาให้ครบในทันทีเลย แต่ตอนนี้ขอเดือนละห้าห้อยก่อน (เพราะอ้ายเป็นมหาโจรห้าห้อย - - - HA ฮา ฮ่า) อ้ายฯ ส่งบทกวีที่เขียนถึงแม่อุ๊ย "พูนศุข พนมยงค์" ไปให้ อ้าย "สุชาติ สวัสดิศรี" แล้ว คงจะลงตีพิมพ์ใน เนชั่น คอลัมน์ "สิงห์สนามหลวง" ไม่ช้านี้....  อ้ายชอบแม่อุ๊ย "พูนศุข พนมยงค์" ที่เขียนพินัยกรรม ก่อนตายว่า ... ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น" ช่างคมเฉียบขาดนัก ... ท่านปรีดี พนมยงค์ และท่านผู้หญิงพูนศุขฯ ถูกข่มเหงรังแกจากพวกกลุ่มศักดินา และพวกข้าราชการมานานนัก ทั้งๆ ที่ท่านมีคุณูปการต่อสังคมไทย (สมมุติ)มายาวนาน ... ตาย ก็ มิได้ ตาย ที่บ้านเกิดเมืองนอน !!! เช่นเดียวกับ "ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์" , "ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ฯลฯ พูนศุข ณ ป้อมเพชร์ กับปรีดี พนมยงค์ ภาพจากคอลัมน์เรือนพักนักเดินทาง ประชาไท อะไรกันนักหนา ประชาชนต้องช่วยกันเช็ดล้างให้หมดสิ้นที้งพวกเผด็จการนักธุรกิจเลือกตั้งรัฐสภา (ทุกยุค ไม่ว่าสมัยน้าชาติ, น้าชวน, น้าทักษิณฯ ฯลฯ ) และเผด็จการทหาร คมช. ฯลฯ ตอนนี้ใน www.prachatai.com อ้ายเขียนบทกวีให้ เผด็จการ คมช. ลงจากเวที หมดเวลาของเธอแล้ว !!! อ้ายรักไหมฯ click ไปที่ คอลัมน์ blogazine ได้เลย พวกเรา กวี นักเขียน ฯลฯ ล้านนา และทั่วประเทศ ช่วยกันขีดเขียนอยู่ มีลีลาจังหวะดีๆ อ้ายจักไปแอ่วหา และพักผ่อนบ้านหลังที่สองของอ้าย ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ที่ "รักไหม" กรุณาให้อ้ายฯได้พำนัก ฯลฯ *** อยากให้ "รักไหมฯ" อ่านหนังสือพ็อคเกตบุ๊คของ อ้าย "แคน สาริกา" ที่เขียนเรื่อง "คนตุลาตายแล้ว" จังเลย มีขายตามแผงทั่วไป มันไป จูบปาก สวมโอบกอด กันได้ยังงายยยยย ระหว่าง น้าสุธรรม แสงประทุม, น้าจาตุรนต์ ฉายแสง , น้าอดิศร เพียงเกษ , น้าอ้วน (ภูมิธรรม), น้าหมอมิ้งค์ , น้าอดีตสหาย "สงวน พงษ์มณี " ฯลฯ เพื่อนเราถูกฆ่าตายอย่างทารุณโหดร้าย แล้วพวกเธอ ปายยยยยย จูบปาก เค้า ทำมายยยยยย !!!! ... " น้าหมัก, น้าทมยันตี , น้าอุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุทธยา (ตายไปซะแหล่ว) ฯลฯ ที่พากันปลุกระดมให้เข่นฆ่า นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน กลางท้องสนามหลวง - สนามราษฏร์ และในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ... "รักไหม" , คับ .... " น้าแดง .... มนัศ เศียรสิงห์" หนึ่งในแนวร่วมศิลปินประชาชนแห่งประเทศไทย และพรรคพวกก็เสียสละชีวิตเพื่อป้องกันพี่น้องประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ฯลฯ เอาไว้ !!! ... มันไปจูบปากฆาตรกรแห่งเดือนตุลาฯ .... 6 ตุลาฯ ได้ยังงายยยยย? อย่าอ้างเรื่อง "แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง" ฟังแล้วมันอยากอ๊วก คนอดีตเดือนตุลาฯ พวกนี้ คือพวกลื่นไหลไปตามกระแสอภิมหาบริโภคทุนนิยมโลกาวินาศสุดโต่งที่ทำลายรากเหง้าวิถีชีวิตของชุมชน ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นที่เหมืองถ่านหินแม่เมาะ , คริสตี้ เมืองกาญจนื, เขื่อนปากมูน , โรงไฟฟ้าจะนะ - สงขลา และจักมาทำลาย แม่น้ำสาละวิน , แก่งเสือเต้น , บ่อนอก - หินกรูด , ป่าชุมชนของพี่น้องชนเผ่า และ ชาวบ้าน ฯลฯ พวกเธอผู้อวิชชามิตรัสรู้เลยหรือว่า พวกเธอได้ทำลายรากเหง้า วิถีชีวิตของพวกเธอ และ ลูกหลาน เหลน โหลน หลีด ลี้ ฯลฯ ของพวกเธอด้วย แ ต่ ท ว่า ... ก็ยังมีคนเดือนตุลาฯ ที่น่าคารวะ พวกเขายืนหยัดมั่น ยืนเรียงเคียงข้างประชาชนผู้ทุกข์ยาก เสมอมา ... พวกเขาไม่ " เปลี่ยนสี แปรธาตุ " !!! "รักไหมฯ" คับ .... ขณะนั่งเขียนสาส์นนี้ ณ ใต้ร่มไม้แห่งบ้านในเมือง เสียงนกเขาขันคู - คู กล่อมไพเราะพริ้งเพราะนัก .... ธรรมชาติงดงามมีคุณค่าต่อมนุษย์เสมอ แต่มนุษย์อวิชชากลับไปทำร้าย ทำลาย แม่พระธรรมชาติซึ่งเป็นแม่แรกของมนุษย์ (ก่อนที่พระคุณพ่อ พระคุณแม่ จักให้กำเนิดเรา).... ก่อนโน้น บ้านในเมืองของอ้ายตอนที่แม่ยังมีชีวิตอยู่ แม่จะยกมือไหว้พระธาตุดอยสุเทพทุกครั้งยามราตรีกาล พระธาตุดอยสุเทพงดงามราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์ เป็นแสงสีทองงามตา... แต่ทว่า ณ บัดนี้ เรามองไม่เห็นพระธาตุดอยสุเทพทั้งกลางวันและกลางคืนแล้ว ด้วยว่ามีตึกสูงมาบดบัง !!! โอ้สุดแสนจะเสียดาย !!! ... เอาล่ะ เรามาคุยต่อเรื่องคนเดือนตุลา (ฟังไม่จืด) แม้นยังมีอดีตคนเดือนตุลาฯ อดีตสหายฯ ที่ลื่นไหลฯ ทว่า เรายังมีคนเดือนตุลาฯ ที่ยังยืนหยัดคงมั่นอยู่ ไม่ว่าจะเป็น... "สหาย มด ... วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์, สหายสุวิทย์ วัดหนู (กลับคืนสู่ดินแล้ว), สหายตี้ กรรมาชน (กลับคืนสู่ดินแล้ว), สหายสิงห์คำ ....ประเสริฐ จันดำ (กลับคืนสู่ดินแล้ว), สหายนิด กรรรมาชน (เพื่อนร่วมชีวิตของสหายตี้ กรรรมาชน), สหายร้อย,.. วัฒน์ วรรลยางกูล, สหาย อ.เปลื้อง คงแก้ว (เทือก บรรทัด) (คืนสู่ดินแล้ว), สหายพันดา ธรรมดา แห่งตรัง, สหายสถาพร ศรีสัจจัง (พนม นันทพฤกษ์), สหายไท (อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล), สหายใบไม้ จิระนันท์ พิตรปรีชา, สหายศิลา โคมฉาย, สหายแคนสาริกา, สหาย อ. วรศักดิ์ มหัทธโนบล, สหาย อ.กนกศักดิ์ แก้วเทพ, สหาย อ. ธีรยุทธ บุญมี, สหายอ. ธเนศวร์ เจริญเมือง ,สหาย อ. สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, สหาย อ.เทพศิริ สุขโสภา , สหายสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย, สหายวีระศักด์ ขุขันธินธ์, สหาย อ. ธีรยุทธ บุญมี , พี่เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ฯลฯ และอีกหลายๆ ท่านที่มิได่เอ่ยนาม ฯลฯ ใช่ ใช่ เรายังมีคนเดือนตุลาฯ ที่มีจิตวิญญาณสำนึกงดงามที่เราสามารถยกมือไหว้คารวะอยู่อย่างเต็มใจ !!! ... เ อา เ ถิ ด สำหรับ อดีตคนเดือนตุลาฯ ที่ดูเหมือน "เปลี่ยนสี แปรธาตุ" (ขอโทษ) ปล่อยแม่งงงง์ มัน จู บ ปา ก โ อ บ ก อ ด กั น ปา ยยยย ก ร ร ม คือ การกระทำ .... จักต้องเห็นผลกรรมสักวันหนึ่ง โ ล ก ร้ อ น แ ล้ ง เ ล ว ร้า ย มา ทุ ก ที แ ล้ ว ... พะ ยะ คั บ !!! อิสลามมาลากุม , อาเมน , ตถาตา .... สาธุ !!! บุญฮักษา , รักษาสุขภาพ , คับ ด้วยจิตคาราวะ + พลังใจ อดีตสหายรัตน์ (แสงดาวฯ) หมายเหตุ : สหายเอ๋ย ... อ้ายฯมีเรื่องขำขันจักเล่าสู่กันฟัง ....อ้ายเคยอ่ายหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันอาทิตย์ section คติชน มีคนสัมภาษณ์สหายอาวุโสแห่งอิสานคนหนึ่งที่พาคนเดือนตุลาฯ หนีตายจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มหหหหหาโหด ปี 2519 สหายอาวุโส พาคนเดือนตุลาฯ (ที่เป็นรัฐมนตรีสมัยน้าทักญิโนมิค) หนีตายข้ามแม่น้ำของ ... แม่น้ำโขงไปแดนลาว สหายอาวุโสให้สัมภาษณ์ว่า "รู้งี้ถีบมันตกลงแม่น้ำ โขงซะดีกว่า".... อดีตรัฐมนตรีหมอแคนคนนั้นซึ่งเป็นอดีตคนเดือนตุลาฯ ไปจูบปาก ซบอก โอบกอดพวกเผด็จการรัฐสภาระบบทักษิณฯ ที่ทำลายรากเหง้าวิถีชีวิตของพี่น้องชาวบ้าน - ชุมชน ฯลฯ
ภู เชียงดาว
ผมเริ่มค้นพบว่าตัวเองนั้นไม่เหมาะกับเมือง หลังจากที่ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่มานานหลายปี ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงคิดเช่นนี้- -อาจเป็นเพราะระยะหลังรู้สึกว่าชีวิตตัวเองแปลกและป่วย บางครั้งคล้ายยินเสียงจากข้างในกำลังบอกอะไรบางอย่าง ราวกับจะบอกว่า... ‘ที่สุดแล้ว,ชีวิตต้องกลับคืนสู่เส้นทางที่จากมา’ แหละนั่น ทำให้ผมเริ่มวางแผนกลับไปใช้ชีวิตในสวนบนเนินเขาเหนือหมู่บ้านเกิดอีกครั้ง หลังจากที่ปล่อยให้สวนรกร้างว่างเปล่ามานานเต็มทีจริงสิ, ผมปล่อยให้ต้นไม้ในสวนรกเรื้อและโตขึ้นตามลำพัง ไร้การดูแลเอาใจใส่ ไม่มีเวลารดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย คงเหมือนกับชีวิตตัวเองกระมัง ที่ต้องมาอยู่กับเมือง มัวแต่ไขว่คว้าบางสิ่ง แต่ละทิ้งอะไรหลายอย่าง ผูกพันกับเทคโนโลยี กับการงานที่เร็วและเร่ง จนทำให้รู้สึกว่าชีวิตนั้นช่างรกรุงรังเสียเหลือเกิน เหนื่อยและล้า กระทั่งชีวิตชำรุด ผุกร่อน ต้องเข้าโรงซ่อมหลายต่อหลายครั้งพักหลังมานี้ ผมจึงรู้สึกโหยหาและผูกพันกับสวนบนเนินเขามากขึ้น หลังจากเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมาได้เริ่มลงหลักปักฐานปลูกบ้านไม้หลังเล็กๆ ในสวน ผมเทียวขึ้นเทียวล่องอยู่อย่างนั้น อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง, เฝ้าดูสล่ากับเพื่อนบ้านช่วยกันขุดหลุม ลงเสา ขึ้นโครง มุงหลังคา ทำห้องน้ำ ห้องครัว หน้าต่าง ประตู ปูพื้นฝา ระเบียง ฯลฯครั้นเข้าหน้าฝน กลับบ้านสวนครั้งใด ผมมักหิ้วกล้าไม้ใส่รถขนขึ้นไปปลูกแทบทุกครั้ง อย่างน้อยก็สองสามอย่าง เผลอไม่นาน สวนผมกลายเป็นสวนผสมผสานไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อเดินสำรวจ ลูบคลำต้นไม้ใบไม้ในสวนทีละต้นๆ จึงรู้ว่ามีต้นไม้ที่ผมลงมือปลูกเอาไว้มีทั้งหมดมากกว่ายี่สิบชนิด รวมกว่าสี่ร้อยต้น ในเนื้อที่ราวห้าไร่ ล่าสุด, ผมมีโอกาสเดินทางไปหมู่บ้านก็อตป่าบง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลนักจากบ้านเกิด เป็นชุมชนชนเผ่าลาหู่ที่ผมรู้สึกผูกพันมานาน ตั้งแต่เมื่อครั้งยังทำงานเป็นครูดอยอยู่แถบถิ่นนี้ พอลงจากรถ ผมก็สัมผัสได้ถึงธรรมชาติ ความรัก ความเรียบง่าย และไมตรีจิตของพี่น้องชนเผ่าเมื่อทุกคนต่างเดินเข้ามาจับมือ ยกมือไหว้ทักทาย พร้อมเชื้อเชิญขึ้นบ้าน ล้อมวงพูดคุย จิบน้ำชา ถกถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ของกันและกันหลังจากนั้น 'ป๊ะป่า' ชาวบ้านที่ผมคุ้นเคย ชวนเข้าไปดูแปลงเพาะกล้ากาแฟในหุบเขา ขณะที่เราเคลื่อนไหวไปเบื้องหน้า...ผมชอบภาพผ่านสองข้างทาง อากาศสะอาด แดดส่องผ่านหุบห้วย ขุนเขาสลับทับซ้อน ไร่ข้าว ถั่วลิสง ถั่วแป๋ ขึ้นแซมเต็มผืนดินที่ว่าง งามฝักข้าวโพดเหลืองแก่คาต้นรอการเก็บเกี่ยว แหล่ะนั่น ต้นกาแฟแทรกตัวอยู่ใต้ร่มเงามะม่วงสูงใหญ่ผมชอบความสดเขียวมันวับของใบกาแฟ พร้อมลูกดกสีเขียวแดงเต็มกิ่งก้าน ป๊ะป่า กับภรรยามีความสุขเริงร่ากับกล้ากาแฟที่เพาะไว้“รู้มั้ย กลายเป็นว่า ปลูกกาแฟนั้นดูแลง่ายกว่าปลูกข้าวโพดเสียอีก ปลูกทิ้งไว้ใต้ต้นลำไย มะม่วง สองปีก็เก็บหน่วยขายได้ ถึงเวลามีพ่อค้ามารับซื้อถึงหมู่บ้านเมล็ดกาแฟสด ลูกสีแดง ตอนนี้ ราคาตกประมาณ 12-15 บาทต่อกิโล...” ป๊ะป่า บอกเล่าให้ฟังในขณะที่ ‘สุรเดช’ สมาชิก อบต.ปิงโค้ง ลูกหลานของป๊ะป่า บอกว่า เขาเอากล้าที่ป๊ะป่าไปปลูกใต้สวนมะม่วงเพียงห้าสิบต้น ปล่อยทิ้งไว้สองปีจนสูงท่วมหัว ล่าสุดเขาเก็บเมล็ดกาแฟขายได้เงินสี่ห้าพันบาท“ตอนนี้ ทางนายกฯพิพัฒน์พงศ์ เดชา นายก อบต.ปิงโค้ง ได้ส่งเสริมให้ป๊ะป่าเพาะกล้าแจกจ่ายให้กับชาวบ้านได้ปลูกกันตามไร่ตามสวน ซึ่งต่อไปอาจเป็นอีกอาชีพหนึ่งของชาวบ้านแถวนี้ และกำลังคิดกันว่าทำอย่างไรถึงจะส่งเสริมถึงขึ้นคิดจะสร้างแบรนด์เนมให้กับตำบลปิงโค้ง..และแพ็คใส่ถุงเป็นกาแฟบดขายได้ในอนาคต”‘สุรเดช’ พาชื่นชมสวนกาแฟใต้ร่มเงามะม่วงเราช่วยกันขนกล้ากาแฟในแปลงเพาะ ใส่ในกระบะหลังของรถขับเคลื่อนสี่ล้อคันเล็กจนเต็มล้น“เอาไปลองปลูกในสวน แล้วรอเก็บหน่วยอีกสองปีข้างหน้าเน้อ...” นานแล้ว ที่ผมไม่ได้ยินน้ำเสียงของการให้ด้วยความเต็มใจ “ชีวิตผมไม่ต้องรวย แค่พออยู่ได้ มีเหลือก็แบ่งปัน แค่นี้ก็มีความสุขแล้วล่ะ...” ป๊ะป่า เอ่ยออกมาด้วยสีหน้ายิ้มแย้มอารมณ์ดี“อ่อบูอื่อย่าๆ...” ผมกล่าวขอบคุณป๊ะป่า ด้วยภาษาลาหู่ เป็นกล่าวคำขอบคุณด้วยความรู้สึกศรัทธาและชื่นชมในวิถีชนเผ่า จริงสิ, ชีวิตแค่พออยู่พอกิน อยู่กับดิน น้ำ ฟ้า ป่าไม้ อากาศ ขุนเขา ฯลฯ เพียงเท่านี้ชีวิตก็รุ่มรวยแล้ว มาถึงตอนนี้ทำให้ผมนึกไปถึงภาพไร่กาแฟ ของ 'ไอแซค ไดนีเสน' ในหนังสือ 'Out of Africa' ที่ 'สุริยฉัตร ชัยมงคล' แปลเอาไว้อย่างงามและมีชีวิตชีวา“...เราไม่มีวันรวยขึ้นมาได้จากการทำไร่.แต่การปลูกกาแฟนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่รั้งตัวคุณเอาไว้และไม่ยอมปล่อย, มีอะไรบางอย่างต้องเกี่ยวกับมันเสมอ”ผมล่ำลาชาวบ้าน ก่อนขับรถขนกล้ากาแฟกลับไปสวนบนเนินเขาเหนือหมู่บ้านเกิดผมทันที จากบ่ายจนเย็นย่ำ ที่ผมทำงานในสวนโดยมิยอมหยุดพัก เม็ดเหงื่อผุดพรายเต็มใบหน้า ไหลซึมเสื้อผ้าจนเปียกชื้นเย็น ก้มๆ เงยๆ อยู่อย่างนั้น จับจอบขุดหลุมไปตามหว่างร่มเงาของมะม่วง ลำไย ฉีกถุงเพาะกล้ากาแฟ ค่อยๆ หย่อนลงในหลุม พลิกดินกลบ จากหลุมนี้ ไปหลุมนั้น...นานนับนาน ขณะที่ผมปลูกกาแฟไปรอบบ้านปีกไม้ที่ยังสร้างไม่เสร็จ ผมครุ่นนึกไปถึงการเติบใหญ่ของกาแฟในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และนึกไปถึง 'ไอแซค ไดนีเสน' อีกครั้ง, ที่เธอบอกเล่าให้เห็นสีสันความจริงที่คล้ายกับว่ากำลังเคลื่อนไหวไปมาอยู่เบื้องหน้าอย่างไรอย่างนั้น...“...การปลูกกาแฟนั้นเป็นงานยาวนาน, มันไม่เป็นผลอย่างที่วาดไว้เสียทั้งหมด, เมื่อคุณยังอายุน้อย, เปี่ยมด้วยความหวัง, ภายใต้สายฝนที่ถะถั่งลงมา, คุณประคองหีบต้นกล้ากาแฟที่เขียววะวับออกจากเรือนเพาะชำ, และพร้อมพรักด้วยบรรดาชาวไร่มืออาชีพกลางทุ่ง, เฝ้าดูต้นกล้าที่ลงสู่หลุมเรียงรายเป็นแถวอย่างมีระเบียบบนพื้นดินเปียกฉ่ำซึ่งมันจะงอกงามขึ้น กินเวลาสี่หรือห้าปี กว่ามันจะเติบโตได้ที่ และในช่วงนั้นก็อาจจะเกิดแล้งฝน หรือโรคพืช, และเจ้าวัชพืชพื้นเมืองก็จะพากันงอกพรึ่บขึ้นมาเต็มไร่”กระนั้น, ผมก็ลงมือปลูกกาแฟไปแล้วกว่าสองร้อยต้นในสวนบนเนินเขา และอดจินตนาการไปถึงภาพความงามของดอกกาแฟสีขาวกำลังเบ่งบาน พร้อมโชยกลิ่นหอม เหมือนกับที่เธอบอกว่า “ดอกกาแฟนั้นมีกลิ่นหอมระคนขื่นนิดๆ” และผมอยากจะต่อถ้อยคำของเธออีกว่า...ชีวิตชาวไร่ชาวสวนก็คงเหมือนกับดอกกาแฟนั่นแหละ…ที่มีทั้งกลิ่นหอมระคนขื่นนิดๆซึ่งผมรู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ ครับ. หมายเหตุ : งานชิ้นนี้ ตีพิมพ์ครั้งแรก ในคอลัมน์ “คนคือการเดินทาง” เสาร์สวัสดี นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันเสาร์ที่ 29 กันยายน 2550 และผู้เขียนนำมาเพิ่มเติมและเรียบเรียงใหม่
ชนกลุ่มน้อย
เพลงรบต่อเนื่องกันมาถึงบันไดขั้นสุดท้าย  ยังมีบันไดอีกหลายขั้นทอดไป  และยังมีบันไดขั้นใหม่ๆทอดข้ามไปมา  ข้ามพรมแดนแปลกหน้าหากันและกัน  ไม่ว่าเพลงจะเกิดขึ้นในถ้ำ  เกิดในศูนย์ลี้ภัย  เกิดตามป่า  เกิดในเมือง  เพลงยังมีชีวิตเดินทางไปตามหาคนฟังต่อไปยามเพลงเดินไปตามไร่ข้าว  ห้างไร่  ออกตามหาคนฟัง  ผมไม่นึกว่าภาพนั้นจะกลายเป็นเรื่องราวอื่นไปได้มากกว่านั้น  คนเกี่ยวข้าวหยุดพัก  ตีวงล้อมเข้ามา  นั่งฟังเพลงคนหนุ่มที่ใช้เวลากับการเล่นเพลง  แต่งเพลง  ร้องฟังกันเองในแค้มป์ผู้ลี้ภัย  เหมือนโลกไม่เคยเห็น  โลกไม่เคยรับรู้ออกเดินไปร้องเพลงกันในถ้ำ เสียงปืนที่คำรามอยู่อีกฟากยอดเขา  เด็กหนุ่มกำลังแต่งเพลง  เขาเขียนเพลงที่สั่นใจคนหนุ่มให้ออกไปรบ ...คงเป็นฉากฝันไป  ฉากฝันไปจริงๆ  หลายครั้งที่ผมไปอยู่ร่วมวงเพลงในไร่ข้าว  รวงข้าวคงไม่อยากรักนวลสงวนตัว  โยกรวงไปตามเพลง  รวงข้าวฟังเพลง  แต่เนื้อหาเพลงนั้น  เล่าถึงเด็กๆที่นอนฟังเสียงปืนทั้งคืน  ชีวิตที่อยู่ด้วยความหวาดหวั่น  เสียงเพลงจริงจังเหลือเกิน  มันเป็นเสียงของการมองโลกอย่างมีความหวัง  มองโลกในแง่ดีผ่านชีวิตอันโหดร้าย ปลุกปลอบ  ให้รู้สึกถึงกำลังใจเพลงริมตะเข็บชายแดน  ยังทำหน้าที่นั้น  ผมเชื่ออย่างนั้น  คนสร้างเพลงปรารถนาจะให้ก๊อปปี้ไปฟังกันเยอะๆโดยปราศจากราคาที่ทางที่อยู่ที่ยืนของเพลงบนความยากลำบาก  ต่อสู้ ดิ้นรน  พลัดพราก  สูญเสีย  ขมขื่น  ถึงกระนั้น  เพลงยังกังวานขึ้นมาด้วยความหวังเสมอ ผมเขียนถึงเพลงรบบนแผ่นดินตะวันตก  คารวะบทเพลงเหล่านั้น  คนสร้างเพลงเหล่านั้น  บทเพลงที่ไม่มีทางจะพลิกผันกลายเป็นอื่นไปมากกว่าเพลงร้องปลอบตัวเอง  เผ่าพันธุ์ตัวเอง  เป็นฝุ่นลมในคืนดำมืด  เป็นเสียงร้องที่ไม่ปรารถนาน้ำตาจากใครอื่นแต่ใครจะรู้ว่าสักวันหนึ่ง  รั้วกั้นขวางความเกลียดชังกันระหว่างเผ่าพันธุ์จะพังลง  แล้วเพลงที่เกิดจากพลังต่อสู้ดิ้นรน  จะกังวานไปทั่วแผ่นดินนั้น   แผ่นดินประเทศพม่า    มีโอกาสเหมาะเมื่อไหร่  หรือมีอื่นใดเติมเข้ามา  ผมคงได้กลับไปเขียนถึงอีกครั้ง             *** ปล. เพลงของเหล่อวา  มีอันต้องยกรอไว้ก่อน  มาถึงมือเมื่อไหร่  คงได้นำมาเขียนเพิ่มเติม
แพ็ท โรเจ้อร์
ผู้เขียนได้รับเชิญจากหน่วยงานหนึ่งให้เป็นกรรมการตัดสินการประกวดสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษเมื่อไม่นานมานี้  รู้สึกหัวเสียกับคุณภาพของผู้เข้าประกวดเป็นอย่างมาก เพราะว่าไม่มีคุณภาพในระดับที่เรียกว่าใช้ได้เลย ปัญหานอกเหนือจากความสามารถทางภาษาอังกฤษทั่วไปแล้ว  เรื่องของเนื้อความซึ่งไม่ว่าในภาษาใดก็ตามต้องมีโครงสร้าง การผูกเรื่อง และคุณค่าทางวาทวิทยาในตัวเอง น่าเสียดายที่เมืองไทยไม่มีการสอนการวิเคราะห์วาทะอย่างเป็นแก่นสาร หากมีก็แค่การมองแบบการใช้ภาษาไทยธรรมดา หรือการใช้ภาษาอังกฤษธรรมดา ไม่มีการส่งเสริมอย่างแท้จริงในสิ่งที่เรียกว่า speech criticism/rhetorical criticism 1 การวิเคราะห์และวิพากษ์วาทะอาจเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความเก็บกดทางอารมณ์หรือการเลี่ยงความขัดแย้ง เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องใดๆก็ตามในสังคมไทย ถือเป็นเรื่องที่อาจทำให้หมางใจกันได้ ทั้งที่การวิพากษ์วิจารณ์นั้น อาจทำให้เกิดการริเริ่มบางอย่างที่ดีๆได้ แต่ส่วนมากแล้วในสังคมไทย วัฒนธรรมการวิพากษ์ไม่มีเนื่องจากต้องการเลี่ยงความขัดแย้ง ทำให้การวิพากษ์เป็นเรื่องต้องห้าม เป็นเรื่องการทำลายมิตรและสร้างศัตรูไปโดยปริยาย เพราะคนที่โดนวิจารณ์ไม่สามารถรับคำวิจารณ์ได้ และคนวิจารณ์ก็ไม่มีทักษะในการวิจารณ์ หรือเรียกว่าวิจารณ์ไม่เป็นเรื่องของการวิจารณ์ในสายตาฝรั่งนั้น ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป วิถีการวิจารณ์ต้องอยู่บนพื้นฐานของการหวังดีของทุกฝ่าย โดยปรารถนาที่จะให้เกิดความเข้าใจในเรื่องนั้นๆให้ดีขึ้นกระจ่างขึ้น แต่ไม่ใช่ใช้อารมณ์หรือความเป็นตัวตนมากเกินไป ดังนั้นผู้รู้หลายคนจึงพยายามช่วยสร้างกรอบในการวิจารณ์ขึ้น เพื่อให้เกิดความกระจ่าง ความแม่นยำ ความชัดเจน และความเป็นมาตรฐานในระดับหนึ่งของการวิจารณ์  ทั้งนี้ ไม่ได้หมายถึงว่าจะกำจัดความเป็นอัตตวิสัยนออกไปหมด เพราะว่าการวิพากษ์ไม่ได้ปฏิเสธความเป็นตัวตนของผู้วิจารณ์เสียทีเดียว การที่คนแต่ละคนต่างเกิดมาแตกต่างกัน มีระบบการกล่อมเกลาเลี้ยงดูต่างกัน ความแตกต่างนี้แหละที่ทำให้เกิดความแปลกใหม่ในเรื่องติชม ดังนั้น มุมมองที่แตกต่างและมีการนำเสนอผ่านศิลปะการวิจารณ์นี่แหละที่ทำให้มนุษย์ได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าทางวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์  แต่ไม่ใช่ไสยศาสตร์เพราะเรียนมาทางด้านวาทวิทยา เน้นกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement Rhetoric) มาตั้งแต่ตอนเด็กๆ อายุ 21 ทำให้มองอะไรเปลี่ยนไปจากที่เคยเป็น ตอนแรกก็เรียนไม่รู้เรื่องเลย เปิดฉากมาก็เรียนวิธีพูดในที่สาธารณะก่อนสองวิชา แล้วก็มาเรียน ทฤษฎีวาทวิทยา ที่เน้นตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ จนถึงปัจจุบัน และ มองไปถึงการวิเคราะห์วาทะแบบมุมมองสังคมยุคหลังสมัยใหม่ ที่ต้องมองแบบสวนกระแสหรือรื้อสร้าง  จนกลับไปสอนที่สหรัฐฯอีก ทำให้มองโลกแตกต่างออกไปไปเรื่อยๆ สิ่งที่สังคมอเมริกันสอนได้มากอย่างหนึ่ง คือสอนให้มีการคิดที่อิสระและยอมรับคำวิจารณ์ที่ไม่มีอคติจนเกินไปได้วันนั้นผู้เขียนยอมรับว่าดีใจที่มีเด็กไทยสามารถแสดงออกได้ทางภาษาอังกฤษอย่างไม่เก้อเขิน แต่สิ่งที่ไม่สบายใจคือ กระบวนการในการสร้างเนื้อหาที่ไม่แข็งแรงเท่าที่ควรจะเป็น น่าเสียดายที่ผู้ชมหลายคนมองแค่ว่าเด็กอายุเท่านี้ได้เท่านี้ และสามารถพูดภาษาอังกฤษได้จบประโยค และมีหลายประโยคมารวมๆกัน อันนี้ก็ต้องมองว่าน่าจะมีการพัฒนาต่อไป ซึ่งถ้าเรามองว่าแค่นี้น่าพอใจแล้ว ก็คงไม่น่าจะคาดหวังได้มากนักว่าในเวลาต่อไปเยาวชนของเราจะสู้อะไรกับกระแสโลกาภิวัฒน์ได้ เพราะคิดไม่เป็น คิดไม่ได้ เพราะฝรั่งในวัยเดียวกันนี่เค้าไปไหนๆกันหมดแล้ว อันนี้ห้ามพูดว่าเพราะเป็นภาษาอังกฤษเลยแสดงออกไม่ได้ คงไม่ใช่ผู้เขียนมีอาการปากคันที่จะเสนอความเห็นต่อผู้เข้าประกวดในวันนั้น แต่เพราะมีธุระจึงต้องออกจากงานไปก่อนหลังจากที่รวบรวมคะแนนให้ผู้ดำเนินรายการเสร็จ อีกทั้งก็ไม่ได้รับการบอกเล่าว่าจะต้องให้ความเห็นต่อผู้เข้าประกวดแต่อย่างไร  เสียดายเหมือนกันที่จะชี้แนะบางอย่าง แต่ก็กลัวว่าจะเป็นการสร้างศัตรูโดยใช่เหตุเช่นกัน วัฒนธรรมการวิพากษ์ วิเคราะห์ และวิจารณ์ จึงเป็นเหมือนของใหม่ในสังคมไทยไปเรื่อยๆ  เป็นสิ่งยากที่จะเลิกการปฏิบัติเช่นนี้ เพราะหากใครแหกคอกขึ้นมา ผู้นั้นก็จะอยู่ในสังคมนี้อย่างลำบาก คงเป็นปัญหาในสังคมอย่างหนึ่งที่เราๆท่านๆต้องจัดการกันต่อไป อย่างไม่มีวันสิ้นสุด1สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ - http://www-relg-studies.scu.edu/facstaff/murphy/courses/exegesis/rhetorical.htm - http://www.rhetoricalens.info/index.cfm?fuseaction=feature.display&feature_id=3 - http://slatin2.cwrl.utexas.edu/~roberts-miller/rhetanalysis.htm - http://www.writingcentre.ubc.ca/workshop/tools/rhet1.htm - http://en.wikipedia.org/wiki/Rhetoric - http://www.rhetorica.net/textbook/index.htm
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
เพชรบุรีวางตัวอยู่อย่างน่าสนใจจากกรุงเทพฯ…ที่ว่าน่าสนใจนั่นคือ ระยะทางที่ไม่ใกล้ แต่ก็ไม่ไกลจนเกินไป แค่ชั่วเวลานั่งรถเพลินๆ ไม่เกินสองชั่วโมงก็น่าจะเข้าเขตเมืองเพชร โดยมีภาพของทุ่งนายามข้าวออกรวงสีเขียวละมุนตาและต้นตาลยืนต้นเรียงรายอยู่ปลายนา หรืออาจจะเห็นปลายจั่วแหลมๆ ของบ้านหลังคาทรงไทยหลายหลังโผล่พ้นทุ่งนาหรือรั้วบ้าน เป็นฉากทั้งหลายที่บ่งบอกว่า บัดนี้เข้าสู่ดินแดนแห่งน้ำตาลเมืองเพชรแล้วหลายวันก่อนเป็นอีกครั้งของความตั้งใจที่จะไปเยือนเพชรบุรีโดยที่ไม่ต้องมีจุดหมายปลายทางที่แน่นอน มีเพียงความตั้งใจบางอย่างเกี่ยวกับบางสิ่งที่อยากไปเห็นอยากไปสัมผัสหนึ่งในปลายทางของสิ่งที่ตั้งใจในการเดินทางครั้งนี้ก็คือ การแวะเข้าไปดูหมู่บ้านไทยทรงดำหรือว่าลาวโซ่งที่อำเภอเขาย้อย อำเภอที่เป็นทางผ่านก่อนเข้าสู่ตัวเมืองเพชรที่ได้แต่เคยผ่านไปมาครั้งแล้วครั้งเล่าแต่กลับไม่เคยแวะจริงๆ จังๆ เลยสักทีอำเภอเขาย้อย ชื่อนี้เป็นชื่อเดียวกับภูเขาและถ้ำ ภาพของเขาสูงและถิ่นถ้ำจึงเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นที่บอกกับผู้สัญจรว่านี่คือเขตเมืองเพชร และหากใครที่ได้เคยผ่านไปมาคงเคยสังเกตว่าข้าวแกงเมืองเพชรที่ว่ามีชื่อไม่แพ้ขนมหวาน ก็มีให้ลิ้มลองเรียงรายอยู่สองข้างทางยามที่เรากำลังจะมุ่งหน้าเข้าสู่ตัวจังหวัด แต่การไปครั้งนี้ไม่ได้แวะร้านข้าวแกงหรือถ้ำเขาย้อยที่เนืองแน่นไปด้วยหมู่วานร (ลิงแสม) ที่ลงมาป้วนเปี้ยนรอรับนักท่องเที่ยวอยู่แถวปากถ้ำ แต่เราแวะเข้าไปลึกกว่านั้น ในเข้าไปในเขตหมู่บ้าน ผ่านทุ่งนาข้าวเขียวๆ เข้าไปตามทางสายเล็กๆ เพื่อเยี่ยมชมศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ ตามคำบอกเล่าที่เคยได้ยินได้ฟังมาและตามข้อมูลที่พอจะหาได้ก่อนจะมาเพชรบุรีดินแดนไทยทรงดำของตำบลเขาย้อยในปัจจุบันแทบจะไม่มีสิ่งใดที่ผิดแผกออกไปจากบ้านเรือนและชุมชนของคนไทยเชื้อสายอื่นๆ ในปัจจุบัน นอกจากอาคารภายในศูนย์วัฒนธรรมที่มีรูปร่างคล้ายกระท่อม ที่มีเสายกพื้นสูง ขนาดและรูปทรงของหลังคาที่แตกต่างออกไปจากเรือนไทยในชนบท แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างอย่างเป็นเอกลักษณ์คือรูปร่างของจั่วที่คล้ายกับกาแลของเรือนทางภาคเหนือ แต่เป็นกาแลที่ไม้ไขว้กัน ส่วนปลายของแต่ละด้วยม้วนวนเข้าหากัน ซึ่งเพียงแค่รูปแบบของสถาปัตยกรรมนี้ที่ได้เห็นก็ทำให้เรามั่นใจในความมีเอกลักษณ์ของชาวลาวโซ่ง ตามเอกสารที่มีไว้ให้หยิบอ่าน บ่งบอกประวัติของชาวไทยทรงดำ (ลาวโซ่ง) ไว้ว่า “ไทยทรงดำหรือลาวโซ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เมืองแถน แต่เดิมเป็นเมืองใหญ่ของแคว้นสิบสองจุไท ปัจจุบันคือเมืองเดียนเบียนฟู อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเวียดนาม ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในแผ่นดินไทยนานกว่า 200  ปี อพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยเข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี รัชกาลที่ รัชกาลที่ ตั้งถิ่นฐานอยู่ทั่วไปในเขตภาคกลาง เช่น สุพรรณบุรี นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ที่อำเภอเขาย้อยมีประชากรมากกว่าร้อยละ 80 เป็นชาวไทยทรงดำ”ประวัติที่หยิบยกมามิได้มุ่งเน้นสิ่งอื่นหรือความเป็นอื่นในเชื้อสายความเป็นไทยทรงดำที่มีจุดกำเนิดมาจากดินแดนหนึ่งในละแวกประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเวลานานปีที่ผู้คนกลุ่มนี้ฝังตัวอยู่ในสังคมไทยและกลายเป็นคนไทยอีกชุมชนหนึ่งในที่สุด สิ่งที่หลงเหลือตกค้างทางวัฒนธรรมและศิลปะของลาวโซ่งที่ได้พบเห็นในหมู่บ้าน ณ วันนี้ก็คือรูปแบบงานทางสถาปัตยกรรม (ของตัวเรือน) และผ้าทอลายอันมีเอกลักษณ์เฉพาะและโดดเด่นไม่แพ้กัน เมื่อได้ทัศนาผ้าทอซึ่งเคยเป็นชุดแต่งกายประจำชนชาติลาวโซ่งทั้งแบบหญิงชาย (ชุดฮี สำหรับทั้งชายและหญิง ชุดฮ้างนมสำหรับผู้หญิง เสื้อสำหรับชายที่เรียกว่าเสื้อไท และเสื้อก้อมสำหรับผู้หญิง) อันเป็นลวดลายอันโดดเด่นด้วยสีแดง เหลือง เขียวหรือสีสดอื่นๆ บนผืนผ้าสีดำหรือสีน้ำเงินเข้มของตัวผ้าเป็นสีพื้น ไม่ว่าจะเป็นตัวเสื้อหรือกางเกง (คำว่าไทยทรงดำเองมีที่มามาจากคำว่าไทย “ซ่วง” ดำหรือกางเกงสีดำ) ผมสัมผัสได้ถึงพลังอันยิ่งใหญ่อันเปล่งประกายออกมาจากลวดลายและสีสันของผ้าทอ โดยเฉพาะชุดเสื้อผ้าโบราณอายุนับร้อยๆ ปีและเครื่องใช้จำพวกที่นอนหมอนมุ้งที่มีแสดงเอาไว้บนตัวเรือนในศูนย์วัฒนธรรมฯ แห่งนี้ ด้วยลวดลายแบบเรขาคณิตง่ายๆ ของรูปสามเหลี่ยมหรือการเดินด้ายหรือวางผ้าเป็นเส้นตรงหรือสร้างจุดตัดกันไปมา กระทั่งการสร้างสรรค์ลายภายใต้ชื่อลายง่ายๆ เช่น ลายตานกแก้ว หรือการปักลายแสนสวยลงบน ‘ผ้าเปียว’ ก็เป็นงานผ้าทอที่มีทั้งความเรียบง่ายแต่น่าทึ่งในพลังสร้างสรรค์ของคนไทยกลุ่มนี้แม้จะได้เห็นในช่วงเวลาแสนสั้นแต่ก็ผมก็เชื่อแน่ว่าคงไม่มีชาวลาวโซ่งคนไหนที่มีชีวิตอยู่ที่อำเภอเขาย้อยหรือที่อื่นๆ ในประเทศไทย ได้นำชุดเสื้อผ้า ผ้าปักและผ้าทอแสนสวยแบบที่ได้เห็นในศูนย์วัฒนธรรมฯ เอามาใช้เป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในชีวิตประจำวันของพวกเขา ทั้งๆ ที่แบบเสื้อผ้าก็ไม่ได้ต่างไปจากชุดสวยหรูที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์รุ่นใหม่หรือรูปแบบเสื้อผ้ายุคใหม่เท่าใดนัก การสืบต่อสืบสานและนำเสนอเรื่องราวของชีวิตไทยทรงดำให้หลงเหลือ ปรากฏ และมีพลังพอที่จะถ่ายทอดถึงความสร้างสรรค์ที่โดดเด่นให้กับผู้ที่ผ่านไปเยี่ยมชมได้ประจักษ์ ประทับใจ จนอยากที่จะเรียนรู้ให้ลึกซึ้งและเข้าถึงเรื่องราวความเป็นมาที่ก่อให้เกิดลวดลายและสีสันอันเป็นเอกลักษณ์ได้ ยังคงเป็นเสมือนภาระที่หนักอึ้งสำหรับลูกหลานไทยทรงดำที่ครอบครองมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นนี้ต่อไป และผมหวังว่า “ความธรรมดาและเรียบง่าย” ในเรื่องราวของผ้าทอลายชาวลาวโซ่งคงยั่งยืนอยู่ต่อไปและมีการมองเห็นคุณค่าหรือมีการศึกษากันอย่างลึกซึ้งขึ้นต่อไป
แสงดาว ศรัทธามั่น
ดูกร... ภราดา ...  ภราดร ...  โปรดอย่าได้  ฉงนฉงายค ว า ม ห ม า ย ชี วี  เพลานี้ณ  ที่ซึ่ง  มนุษยชาติ  โ อ บ ก อ ด ป ฐ พีณ ที่ซึ่ง เวลานี้  เ ธ อ มี รั ก ป ร ะ จั ก ษ์ ใ จรั ก มิ ต้อง ฝัน ... รั ก  นั้นคือ รั ก จ ริ ง !“ ค ว า ม รั ก นั้ น ยิ่ ง ใ ห ญ่ ”เริงรำร้อง  เที่ยวท่องไปสู่จุดหมายปลายทางแห่ง   เ พ ล ง รั ก นิ รั น ด ร์ณ ที่นี่ ... ที่นั่น ... ที่โน่น! นั้นมี  รัก!เราผ่อนพักชีวา  รั ก รั ง ส ร ร ค์เ มื่ อ  วิ ญ ญ า ณ  แห่ง  รั ก  โ อ บ ก อ ด กันโ ล ก = น ร ก – ส ว ร ร ค์  เป็นฉันใด  มิ รู้ แ ล้ ว!วสันตฤดู ,  1 สิงหาคม 2550“สุดสะแนน” ,ล้านนาอิสรา , เชียงใหม่รจนา  ในวันเกิดของ “ม้า” ... นักดนตรีบรรเลงที่ “สุดสะแนน”** จากบทเพลง “รักติดปีก” ของ “จ๊อบ – บรรจบ พลอิน”พี่น้องชนเผ่า ปว่าเกอญอ(กะเหรี่ยง) ร่วมแจมบรรเลงดนตรี ณ ราตรีแห่งท้องสนามหลวง สนามราษฎร์สหายมด .. วนิดา ตันติวิทยาพิทักษณ์  คนเดือนตุลาฯผู้คงมั่น กับ “บารมี ชัยรัตน์” ซึ่งทั้งสองเป็นที่ปรึกษาของสมัชชาคนจน  ร่วมกับพี่น้องยืนบนเวที ณ ท้องสนามหลวงยามราตรี  จุดเทียนแห่งชัยให้กำลังใจพี่น้องสมัชชาคนจนพ่อแก่ – แม่แก่  และลูก หลาน แห่งสมัชชาคนจน  เดินขบวน ณ ท้องสนามหลวง – สนามราษฎร์  มาทวงหนี้จากรัฐทุกรัฐที่รุกรานรากเหง้าวิถีชีวิตของพี่น้อง –ของโลกสังคม!ประกายโชนฉานแห่งโลก เอกภพ จักรวาล
เงาศิลป์
วันเวลาที่ผ่านไป ฉันค่อยๆ คลายความกังวล แม้ว่าความรู้สึกเจ็บปวดจะมาอยู่เป็นเพื่อนเกือบตลอดเวลา แต่วิชาเกลือจิ้มเกลือ เจ็บแก้เจ็บ ยังใช้ได้เสมอ (โปรดใช้วิจารณญาณในการนำไปทดลอง)และแล้วเหมือนกรรมบันดาล (อีกแล้ว) วันหนึ่ง ฉันได้เรียนรู้ว่า คนเราได้ใช้ศักยภาพของตัวเองเพียงแค่ 60 – 70 % เท่านั้น ส่วนที่เหลือยังไม่เคยรู้จักมัน และปล่อยให้มายาคติบางอย่างครอบงำ โดยเฉพาะคำว่า “อย่าทำ” .... “ไม่ควรทำ”.....หรือ “ไม่เหมาะสมที่จะทำ” และอะไรอีกหลายความคิดที่ปิดกั้นโอกาสของตัวเองกลางเดือนตุลาคมของปีหนึ่ง ฉันเร่ร่อนลงเรือไปที่หาดไร่เล ตอนนั้นแทบว่าไม่มีคนไทยรู้จักหาดไร่เล นอกจากฮิปปี้และนักปีนผา (ที่ส่วนใหญ่เป็นนักปีนผาอาชีพ)ฉันเป็นนักท่องเที่ยวไทยคนเดียว และเป็นผู้หญิงท่ามกลางชาวต่างชาติที่ยังหลงเหลืออยู่ไม่มากมนัก เพราะเดือนตุลาคมยังไม่หมดมรสุม บังกะโลราคาพอประมาณมีให้เลือกเหลือเฟือ ฉันเปลี่ยนที่พักทุกคืน ย้ายไปตามมุมต่างๆ ตามความพอใจ แค่ย้ายที่นอนอ่านหนังสือเพราะฝนตกเกือบตลอดเวลาเจ็ดวันที่ฉันอยู่ที่นั่น  สามวันแรก..ฉันเตร็ดเตร่พูดคุยกับนักเดินทาง และนักปีนผา โดยเฉพาะคุณเต็ก เพื่อหาข้อมูลมาเขียนสารคดี แต่เมื่อฉันเจอกับรำพึง นักปีนผาสาว เป้าหมายการทำงานของฉันก็เปลี่ยนไปทันที“พี่ พี่มาคนเดียวเหรอ รู้ไหมผู้ชายแถวนี้ เขาหาว่าพี่อกหัก จึงมาเที่ยวทะเลคนเดียว” รำพึงบอกให้รู้เมื่อเราสนิทกันแล้ว ฉันได้แต่ยิ้ม ผู้ชายที่เธอว่า คือกลุ่มนักปีนผาที่ฉันไม่ได้พูดคุยด้วย นอกจากจักรเพียงคนเดียว เพราะฉันรู้จักเขาตั้งแต่เขาขายงานศิลปะที่ฟุตบาทถนนข้าวสาร นั่นเป็นอีกยุคหนึ่งที่ฉันสัญจรไปรู้จักกับพวกเขา และกลายเป็นมิตรภาพที่ยาวไกล จนมาพบกันอีกหนที่ไร่เล แต่เราก็ทิ้งระยะห่างต่อกัน ฉันยังอยู่โดดเดี่ยวตามชายทะเล ถ่ายรูปปู ถ่ายรูปฝนไปตามประสาคนเดินทาง“พี่ไปปีนผากับหนูเถอะ” รำพึงชวน เมื่อเห็นฉันยืนแหงนมองฝรั่งตัวโตๆ กำลังตะกายไปบนหน้าผาราวกับเป็นแมงมุม เธอเป็นครูสอนปีนผาที่เป็นผู้หญิงคนเดียวในไร่เลภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ตฉันไม่ลังเลสักนิด แต่บอกกับเธอว่าขาพี่ไม่ดีนะ มันเป็นขาที่หักไปแล้ว เธอบอกว่าการปีนผาไม่ได้ใช้กำลังขาเพียงอย่างเดียว ลองดูไหม..ฉันลิงโลดใจอยู่แล้ว คำชวนที่ตบท้ายว่า “หนูไม่คิดเงินพี่หรอก อยากให้พี่ลองดู เผื่อจะชอบ”รายละเอียดการปีนผา คงไม่ต้องอธิบาย เพราะยากที่จะบอกว่าต้องทำอย่างไรบ้าง แต่ในที่สุดฉันก็สามารถปีนขึ้นไปนั่งอยู่บนจุดที่คนเริ่มต้นปีนทั้งหลายขึ้นไปได้ มันเป็นครึ่งทางของยอดเขาที่เป็นหน้าผาชัน 90 องศา ฉันนั่งอยู่บนแง่หินมองทิวทัศน์ไปไกลๆ อย่างสุขแสนสุข สุขใจจนบรรยายไม่ถูก....ใช่ค่ะ สารแห่งความสุขมันหลั่งออกมาจริงๆ ไม่ใช่เพราะใจคิดไปเอง หลังจากที่โหนต่องแต่งดูน่าหวาดเสียว และฉันพยายามจะยืดแขน ยืดมือไปเหนี่ยวแง่หินเล็กๆ เพื่อจะดึงตัวเองขึ้นไปที่สูงกว่า ส่วนเท้าที่ยันร่องหินเอาไว้กำลังเขย่งถีบส่งร่างให้สูงขึ้น เวลาขณะนั้น ในใจฉันมีแต่ความตั้งใจที่จะไปต่อให้ได้ ด้วยเสียงเชียร์ของรำพึงที่คอยตะโกนบอกว่า“พี่ต้องทำได้ อีกนิดเดียว เอ้า อึ๊บ ๆ ไปเลย ไปเลย”  ที่เธอบอกว่าไปเลยหมายความว่า ฉันต้องกล้าดีดร่างไปหาปุ่มหินอีกอันที่สูงกว่าให้ได้ ที่จริงหากไม่มีบัดดี้คอยดึงเชือกส่งร่างให้ขยับขึ้นไป ฉันคงทำไม่สำเร็จ อาจตกหน้าผาลงมาตาย แต่เพราะรู้ว่าถึงมือเท้าจะพลาด อย่างร้ายแรงฉันก็แค่ร่วงลงมาขั้นต่ำตามเดิม เพราะเชือกที่แขวนติดตัวฉันก็จะดึงให้ห้อยต่องแต่งกับหน้าผาสูงเท่านั้น (เทคนิคการปีนที่สูงแบบนี้ ฉันเคยเรียนในวิชาแคมป์ปิ้ง จึงไม่ได้หวั่นวิตก)การปีนผาสำหรับคนปกติ อาจเป็นดูธรรมดา แต่สำหรับฉัน ภาวะที่ต้องไปต่อในที่สูงให้ได้อย่างสุดกำลังนั้นเอง ทำให้ฉันตระหนักว่า..ถ้าเราทิ้งความหวาดกลัวลง สิ่งที่มุ่งมั่น..ยังมีหนทางเป็นไปได้เสมอ เพราะพลังจากภายในเรามีสำรองอยู่จริงๆที่มากกกว่าความสุขในการปีนผา คือการได้รู้จักศักยภาพของตนเอง รวมทั้งขาข้างหักยังมีโอกาสได้ทำหน้าที่ของมันต่อไป
แพร จารุ
ไม่รักไม่บอก  เออ...เหมือนมีใครมาพูดอยู่ข้างหู บอกว่า ฉันรักเธอนะจึงบอก แต่ว่าเรื่องที่ฉันจะบอกนั้น เธออาจไม่ชอบ เธออาจจะโกรธฉัน  แต่ที่ฉันต้องบอกเพราะว่า ฉันรักเธอและปรารถนาดีต่อเธอจริง ๆ “ฉันไม่บอกไม่ได้แล้ว”ถึงตอนนี้คุณอาจจะรู้สึกรำคาญใจ พูดพร่ำอยู่ทำไม อยากบอกอะไรก็บอกมาเถอะ ใช่...ไม่รักไม่บอกค่ะ เป็นชื่อหนังสือเล่มเล็ก ๆ บาง ๆ มีการ์ตูนน่ารักๆ เปิดไปหน้าแรก ผู้เขียนบอกว่า ที่ทำหนังสือเล่มนี้ เพราะว่า ความสัมพันธ์ของมนุษย์เป็นเรื่องน่ารัก มีเรื่องดีงามที่เขาค้นพบอยู่มากมาย เขาเล่าถึงเรื่อง เด็กชายคนหนึ่ง ตามแม่ไปซื้อของที่ร้านเกษมสโตร์ เขากินไอศกรีมรอแม่ แล้วแม่ไม่ได้จ่ายเงินค่าไอศกรีม เขากังวลใจที่ไม่ได้จ่ายเงินเสียที เพราะแม่ไม่ยอมไปที่นั่นอ้างว่าจอดรถยาก แม่บอกรอไปก่อน ในที่สุดวันหนึ่งเขาก็ได้ไปจ่ายเงินค่าค่าไอศกรีม เขามีความสุขมาก ๆ เจ้าของร้านบอกว่าเขาเป็นเด็กดี จึงให้ขนมเขามามากมาย 7 ปีต่อมา เด็กชายอายุ 15 ปี  เขาได้รับสิ่งดีงามทดแทน เขาบอกว่า เขาไปกินอาหารที่ร้านแซนวิชบาร์ ตรงแจงหัวลินกับพ่อ ที่ร้านคืนเงินให้หนึ่งร้อยบาทเพราะครั้งก่อนเก็บเงินเกินไปเรื่องเล่าที่งดงามในสองหน้าแรก ทำให้ฉันมีความสุขไปด้วยในยามเช้าที่ได้นั่งอ่าน ใช่...จริง ๆ ด้วยความสัมพันธ์ของคนเป็นเรื่อน่ารัก มีเรื่องน่ารักมากกมาย ตอนนี้...คุณนึกออกไหมมีเรื่องน่ารักอะไรเกี่ยวกับคุณบ้างในหนึ่งวัน  ผู้เขียนซึ่งไม่ประสงค์จะออกนาม คือทิ้งนามไว้ที่หน้าปก หลังปก หรือที่อื่นใด ดูหรือทำเรื่อง ๆ ดี ๆ เช่นนี้แต่ไม่เปิดเผยตัวเอง เขาสรุปว่า... “ชีวิตมีให้พวกเรา เริ่มต้นใหม่ทุกวันชีวิตมีให้เราเลือกหลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าพวกเราพร้อมที่จะเลือกไหม”เปิดผ่านไป มีภาพการ์ตูน เด็กหญิงหัวโต...มาบอกว่า ขออภัยร้านใหญ่ ๆ ดัง ๆ ด้วยนะคะ งานนี้เราลงแต่ร้านเล็ก ๆ ค่ะอ้าว...เป็นแผนที่ร้านอาหารค่ะ พี่น้องโอโห...น่าไปกินทั้งนั้น เป็นร้านอาหาร ร้านเล็กร้านน้อย เริ่มตั้งแต่บริเวณสะพานนวรัฐ สะพานนครพิงค์ น่าไปกินทั้งนั้น กาดหลวง ราชวงศ์ ช้างม่อย แม่เหี๊ยะ สันป่าข่อย สันกำแพงก็มี ว้าย! มีทุกแห่งเลย ร้านเล็กๆ อร่อยและไม่แพงด้วย ร้านที่ไม่มีในไกด์บุค และไม่มีในหนังสือฟรีก็อปปี้ด้วย ดีละ...คราวนี้ มีเพื่อนมาเชียงใหม่จะมอบไกด์บุค นอกกระแสเล่มนี้ให้เลือกเลยว่า จะไปกินที่ไหน อร่อยและไม่แพงอย่างนี้ชอบ...คนทำหนังสือเล่มนี้ต้องมีความสุขแน่ ๆ มาเที่ยวเชียงใหม่หากินหาอยู่แบบไม่แพงก็ได้นะคุณจบการกินแล้ว เขาจะบอกเรื่องอะไรอีกล่ะ หนังสือเล่มนี้เขียนว่า รวมแผนที่ร้านอาหารแซกซอกนอกกระแส ไม่มีเส้น ไม่เล่นพวก เอาล่ะค่ะ...แค่นี้ก่อนนะคะ แล้วจะมาเล่าใหม่ ของไปกินก่อนค่ะ(อยากได้หนังสือไม่รักไม่บอก ติดต่อภาคีคนฮักเชียงใหม่ค่ะ 16 ถ. เทพสถิต ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200  หรือ 08 4041 5096)
ภู เชียงดาว
สิ่งดี ๆ ในชีวิต พ่อค้าแวะมาหาคนสวนที่เขากำลังพักผ่อนอยู่ตรงหน้ากระท่อม “สวัสดีครับคนสวน” พ่อค้าทักทาย “ผมมีข้อเสนอดีๆ มาให้ คุณคงสนใจเป็นแน่” และเมื่อเห็นทีท่าเฉยเมยของคนสวน พ่อค้าก็เริ่มพูดธุระที่เขาคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย ซึ่งคนสวนจะต้องขยายพื้นที่ปลูกกุหลาบเพิ่มขึ้นและพ่อค้าจะเป็นคนเอาไปขายในเมือง “คนสวน ด้วยความชำนาญของคุณ กุหลาบของเราจะสวยงามที่สุดในเมือง” พ่อค้าสรุปด้วยท่าทีกระหยิ่มยิ้มย่อง “ขอบคุณแต่เราไม่สนใจ” คนสวนตอบพร้อมยิ้มอย่างเคย “แต่คุณจะได้เงินเยอะ...” พ่อค้าว่า ท่าทางแปลกใจ “ผมไม่สนใจเงินทองหรอก” “ใครๆ ก็อยากได้เงินกันทั้งนั้น...” “แต่ไม่ใช่ผม” “คุณพูดเช่นนั้นได้ยังไง เงินเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต...” “ไม่รู้สิ! ผมกินอิ่มนอนหลับทุกวัน ผมมีเสื้อผ้าใส่ มีกระท่อมไว้พักพิง ยามค่ำคืนอันหนาวเย็น”  คนสวนตอบอย่างสงบ พ่อค้าไม่อยากจะเชื่อว่าคนสวนปฏิเสธข้อเสนอของเขา “และอีกอย่าง...” เขาไม่ยอมแพ้ “คุณจะได้ทำงานที่คุณชอบนะ คนสวน” “ผมทำงานที่ผมชอบอยู่แล้ว” คนสวนลุกหนีไป ทิ้งให้พ่อค้าอ้าปากค้าง เขาหุบปาก ลุกขึ้นแล้วออกไปจากสวน พลางบ่นพึมพำว่า “ฉันไม่เข้าใจคนดื้อรั้นพวกนี้เลย ยอมอยู่อย่างยากจน แต่ไม่สนใจสิ่งดีๆ ในชีวิต” คนสวนใช้เวลาช่วงบ่ายนั้น สดับเสียงเพลงของนกและเฝ้ามองความงามของอาทิตย์อัสดงที่ธรรมชาติดลบันดาล. จากหนังสือ “สวนแห่งชีวิต”Grain เขียน, ภารณี วนะภูติ แปล สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง   ผมอ่านงานชิ้นนี้แล้ว ทำให้ครุ่นนึกไปถึงชาวบ้านในหลายๆ พื้นที่ ที่ผมเคยเดินทางไปเยือน ไปนั่งพูดคุย เฝ้าถาม เรียนรู้ ถึงวิถีความเป็นอยู่ของชีวิตของคนทำนา ทำสวน ทำไร่ กลางทุ่งนาป่าเขานึกไปถึงความเรียบง่ายของพ่อเฒ่าชาวปวาเก่อญอบ้านแม่คองซ้าย ซึ่งตั้งอยู่ฉากหลังของดอยหลวงเชียงดาว จำได้วันนั้น “พะตีศรี” พาพวกเราลัดเลาะทุ่งนา ลำห้วย ไปตึดแค เอาเศษไม้ใบหญ้า ดินเหนียวโปะกั้นทางน้ำอีกสายให้แห้ง ก่อนลุยโคลน ก้มงมจับปลา ปู กุ้ง ส่วนหมู่แม่หญิงปวาเก่อญอช่วยกันก้มเก็บเด็ดยอดผักกูด ผักไม้ไซร้เครือริมห้วย อีกกลุ่มหนึ่งช่วยกันก่อไฟ หลามปลาด้วยกระบอกไม้ไผ่ ใส่ยอดผักกูด เติมพริก ใส่เกลือ เพียงเท่านั้น ก็ได้อาหารมื้อเที่ยงที่แสนเอร็ดอร่อยนึกไปถึงใบหน้าของ “พ่อปรีชา ศิริ” ปราชญ์ปกาเกอะญอ ผู้นำธรรมชาติแห่งบ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ที่เอ่ยออกมาด้วยน้ำเสียงเปี่ยมสุข อารมณ์ดี“ทุกวันนี้ เฮาถือว่าหมู่บ้านของเฮานั้นร่ำรวยแล้ว แต่ไม่ใช่ร่ำรวยเงินทอง แต่ร่ำรวยธรรมชาติ เฮามีทุกอย่าง มีดิน น้ำ ป่า มีอากาศให้หายใจ มีอาหาร ยาสมุนไพร เฮาอยู่ได้ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง ที่ไม่ต้องดิ้นรนเหมือนคนข้างนอก...” ใช่, ในหลายๆ พื้นที่ หลายหุบเขา หลายดงดอย ที่พี่น้องชนเผ่าอาศัยอยู่กัน ต่างมีวิถีที่คล้ายคลึงกัน ในทุ่งนา ทุ่งไร่ พวกเขาไม่ได้เพียงแค่ปลูกข้าวอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังใช้พื้นที่นาปลูกพืชผัก เก็บกินได้ตลอดปี ไม่ว่า แตงกวา หัวเผือก หัวมัน ผักกาด งา ฟักทอง ถั่วฝักยาว พริก มะเขือ ฯลฯ จนพูดได้เต็มปากเลยว่า ชาวบ้านไม่ต้องพึ่งพาตลาดข้างนอก เพราะเอาทุ่งนาเอาไร่หมุนเวียนเป็นตลาดสด คนที่นี่จึงไม่เคยอดตายและทำให้นึกไปถึงคำพูดของ “ป๊ะป่า” ชาวบ้านลาหู่บ้านก็อตป่าบง ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว ที่บอกย้ำกับผมในวันที่พาผมเข้าไปดูแปลงเพาะกล้ากาแฟ กลางไร่ข้าวโพด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา“ผมว่าอยู่แบบพออยู่กิน ไม่ต้องรวยก็ดีเหมือนกัน รวยแล้วเป็นทุกข์ เห็นทักษิณมั้ย รวยแต่ไม่ได้อยู่บ้าน...”จริงสิ, บางที... “สิ่งดี ๆ ในชีวิต” คงไม่ใช่วัดกันที่ความร่ำรวยหรือคนรวย แต่สิ่งดี ๆ ในชีวิต อาจเป็นเพียงการใช้ชีวิตอยู่กับความเรียบง่ายธรรมดา อยู่กับธรรมชาติ เรียนรู้และรักษา เฝ้าดูทะนุถนอม ด้วยความรักและความเข้าใจ.