Skip to main content

การพัฒนาบนคราบน้ำตาคนชายขอบ


ในอดีตอันยาวไกลของแม่น้ำสายนี้เคยไหลอย่างอิสระมาตลอด แต่แม่น้ำนานาชาติสายสำคัญแห่งนี้อาจมิได้ไหลอย่างอิสระต่อไปอีกแล้ว เพราะปัจจุบันแม่น้ำสายนี้ได้ถูกผลักดันให้เข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาต่างๆ แผนพัฒนาที่สำคัญ คือแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะกับประเทศไทย แม่น้ำสาละวินกลายเป็นแม่น้ำยุทธศาสตร์สำคัญสายหนึ่งที่น้ำในแม่น้ำจะถูกนำมาแปรเป็นกระแสไฟฟ้า


ภายใต้วาทะกรรมของนักพัฒนาที่ว่า

พื้นที่ชายขอบของประเทศมีคนอยู่น้อย และผู้ที่ได้รับผลกระทบย่อมมีส่วนน้อยเช่นกัน


บนวาทะกรรมเช่นนี้ กรอบแนวคิดการพัฒนาบนคราบน้ำตาของคนชายขอบจึงเกิดขึ้น นอกจากแม่น้ำสาละวิน จะมีโครงการก่อสร้างเขื่อนแล้ว แม่น้ำสาขาหลายสายก็ถูกหมายปองเช่นกัน


ทำไมนักลงทุนที่มาในคราบนักสร้างเขื่อนจึงลงความเห็นว่า แม่น้ำสาละวิน เป็นพื้นที่ที่คุ้มค่าต่อการลงทุน หากเราได้ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับแม่น้ำสาละวิน ในด้านต่างๆ แล้ว เราจะพบว่า ในทางภูมิประเทศ และข้อมูลทางอุทกศาสตร์แล้ว แม่น้ำสาละวิน เป็นแม่น้ำที่มีความสมบูรณ์ อีกทั้งยังมีพื้นที่รองรับน้ำกว้าง รวมทั้งสองฝั่งน้ำยังเป็นโตรกหินผา และแม่น้ำสาละวินก็มีความกว้างไม่มากนัก ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม แม่น้ำสาละวินจึงเอื้อต่อการก่อสร้างเขื่อน


หากลองนับไล่เลียงโครงการพัฒนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนลุ่มน้ำสาละวินจะพบว่า บนแม่น้ำสายนี้ไม่ได้มีเพียงโครงการสร้างเขื่อนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีโครงการผันน้ำสาละวินรวมอยู่ด้วย


โดยโครงการผันน้ำมีแนวคิดหลักอยู่ที่การผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวิน ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยโครงการนี้เกิดขึ้นในปี พ..๒๕๒๒ โดยผู้บริหารของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)


ซึ่งในรายละเอียดของโครงการมีทั้งการผันน้ำจากแม่น้ำโขงได้พัฒนามาเป็นโครงการผันน้ำกก-อิง-ยม-น่าน และกก-อิง-น่าน ส่วนโครงการผันน้ำบนลุ่มน้ำสาละวิน มีขอบเขตครอบคลุมพื้นที่น้ำสาขาของแม่น้ำสาละวินคือ น้ำปาย น้ำยวม น้ำเมย น้ำแม่ละเมา โดยเป้าหมายหลักของโครงการทั้งหมดคือ การนำน้ำจากลุ่มน้ำสาละวิน และแม่น้ำโขงลงไปเติมให้กับแม่น้ำเจ้าพระยา เหตุผลของการเกิดขึ้นของโครงการนี้ก็คือ น้ำในภาคกลางไม่พอใช้ในภาคส่วนต่างๆ ทั้งอุตสาหกรรม และการเกษตร แต่แนวคิดเช่นนี้ก็ไดละเลยที่จะมองคนท้องถิ่นผู้อยู่ในพื้นที่ของโครงการ เพราะโครงการเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้น คนท้องถิ่นบางส่วนต้องเป็นผู้เสียสละที่ดิน เพื่อให้ท่อส่งน้ำผ่าน และที่สำคัญผลประโยชน์ที่เกิดจากโครงการนี้ ไม่ได้กลับมาถึงคนท้องถิ่นผู้อยู่ในพื้นที่ของโครงการ


นอกจากในลุ่มน้ำสาละวิน จะมีโครงการผันน้ำแล้ว ในลุ่มน้ำสาละวิน ตอนล่างยังมีโครงการเขื่อนจำนวนมากที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน ทั้งในน้ำสาขา และบนแม่น้ำสาละวิน จากข้อมูลที่บางส่วนได้รับการเปิดเผยจากเจ้าของโครงการพบว่า เขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน ตอนล่างมีทั้งหมด ๔ เขื่อนคือ เขื่อนท่าซาง เขื่อนเว่ยจี เขื่อนดา-กวิน เขื่อนฮัตจี และมีอีก ๑ เขื่อนในแม่น้ำตะนาวศรี ส่วนแม่น้ำสาละวินตอนบนที่ประเทศจีนมีโครงการสร้างเขื่อนทั้งหมดอีก ๑๓


เมื่อเขื่อนทั้งหมดบนแม่น้ำสาละวิน ตอนล่างตามแผนที่วางไว้ก่อสร้างแล้วเสร็จ เขื่อนทั้งหมดจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าประมาณ ๑๕,๐๐๐-๒๐,๐๐๐ เมกะวัตต์ หรือ คิดเป็น ๑๐ เท่าของปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศพม่า ที่สำคัญกระแสไฟฟ้าส่วนใหญ่จะถูกส่งเข้ามาในประเทศไทย


โดยโครงการหลักของการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน ตอนล่างนั้น สามารถแบ่งออกเป็นสามส่วนคือ โครงการเขื่อนในรัฐฉาน โครงการเขื่อนบนพรมแดนไทย-พม่าในรัฐกะเหรี่ยง


โครงการเขื่อนในรัฐฉานคือ การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน ในเขตรัฐฉาน โครงการนี้มีมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ ๑๙๗๐ และในปลายปี ๒๕๔๑ ก็มีความคืบหน้าในดำเนินการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินในเขตรัฐฉานมากขึ้น


เขื่อนในเขตรัฐฉานสามารถแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มย่อยคือ โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้า ๒ แห่งที่ Baluchaung และโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำปอน ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาสายหลักของแม่น้ำสาละวิน ในเขตรัฐฉาน ส่วนโครงการเขื่อนที่สำคัญในเขตรัฐฉานคือ โครงการเขื่อนท่าซาง ซึ่งเป็นเขื่อนที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของรัฐฉานใกล้กับท่าเรือท่าซาง อ่างเก็บน้ำของเขื่อนมีระดับกักเก็บน้ำสูงสุดประมาณ ๓๒๐-๓๗๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลางมีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งขนาดระหว่าง ๑,๕๐๐-,๐๐๐ เมกกะวัตต์ เขื่อนแห่งนี้ถือว่าเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดบนลุ่มน้ำสาละวิน สันเขื่อนมีด้วยความสูง ๒๒๘ เมตร ในช่วงปี ๒๕๓๙-๒๕๔๑


นอกจากจะมีเขื่อนท่าซางแล้ว ใต้เขื่อนท่าซางลงมายังมีเขื่อนลูก เพื่อควบคุมน้ำที่ถูกปล่อยออกมาจากเทอร์ไบน์ ๑๖ ชั่วโมงต่อวัน และ๖ วันต่อสัปดาห์ ในช่วงที่มีการศึกษาโครงการนั้น กองทัพพม่าได้บังคับอพยพประชาชนในพื้นที่การก่อสร้างเขื่อนถึง ๓ แสนคนให้ออกนอกพื้นที่


เขื่อนเว่ยจี หรือเขื่อนสาละวิน ชายแดนตอนบน พื้นของโครงการตั้งอยู่บริเวณวังน้ำวนขนาดใหญ่ของเมืองพะปูน รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามกับอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งขนาด ๔,๐๐-,๖๐๐ เมกกะวัตต์ ความสูงของเขื่อน ๒๒๐ เมตร ถึงแม้ว่าเขื่อนเว่ยจี จะอยู่ที่รัฐกะเหรี่ยง แต่น้ำในอ่างเก็บน้ำก็จะท่วมถึงรัฐคะเรนนี และที่สำคัญก็จะมีหมู่บ้านหลายหมู่บ้านที่อยู่ทางฝั่งประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนนี้ด้วย


เขื่อนดา-กวิน หรือสาละวินชายแดนตอนล่างมีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งขนาด ๕๐๐-๙๐๐ เมกกะวัตต์ ตั้งอยู่ใกล้บ้านท่าตาฝั่ง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติสาละวิน อ่างเก็บน้ำของเขื่อนแห่งนี้จะยาวไปจนจรดฐานของเขื่อนบน คือเขื่อนเว่ยจี


เขื่อนฮัตจี อยู่ในรัฐกะเหรี่ยง พื้นที่โครงการอยู่ตรงข้ามกับจังหวัดตาก เขื่อนตั้งอยู่ท้ายน้ำจากชายแดนไทย-พม่าห่างจากบ้านสบเมย ตามลำน้ำลงไปในประเทศพม่าประมาณ ๔๐-๕๐ กิโลเมตร เขื่อนฮัตจี เป็นโครงการที่มีการผลักดันมากที่สุดในขณะนี้ โดย กฟผ. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOA)กับกรมไฟฟ้าพลังน้ำพม่า ในการร่วมทุน และล่าสุดได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับบริษัท Sinohydro รัฐวิสาหกิจของจีน เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๙ รายงานข่าวระบุว่า กฟผ. จะกู้เงินดอกเบี้ยต่ำจากประเทศจีนเพื่อลงทุนสร้างเขื่อนแห่งนี้ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว ๓,๘๐๐ ล้านบาท


เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้ว ระดับเก็บกักน้ำของเขื่อนอยู่ที่ประมาณ ๔๘ เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเป็นข้อมูลที่คาดการณ์เท่านั้น ยังไม่มีข้อมูลที่แน่นอน ทั้งนี้ กฟผ. ระบุว่า เขื่อนกักเก็บน้ำอยู่ที่ระดับ ๔๘ มรทก. น้ำจึงจะไม่ท่วมในประเทศไทย พื้นที่อ่างเก็บน้ำจะท่วมเฉพาะในเขตพม่า


ปัจจุบันโครงการเขื่อนแห่งอยู่ในระหว่างการทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่าเขื่อนแห่งนี้จะกำลังในการผลิตไฟฟ้าอยู่ในระดับ ๖๐๐-,๒๐๐ เมกกะวัตต์


เมื่อย้อนกลับไปที่กระบวนการตัดสินใจดูเหมือนว่า กระบวนการตัดสินใจทั้งหมดดำเนินไปอย่างเร่งรีบและรวบรัด ในขณะที่สถานะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีฐานะเป็นบริษัทมหาชน เมื่อลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับกรมไฟฟ้าพลังน้ำของพม่า ในการสร้างเขื่อนฮัตจี แต่ต่อมาศาลปกครองได้มีคำพิพากษาให้ยกเลิกแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นบริษัทมหาชน จนถึงบัดนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า บันทึกข้อตกลงดังกล่าวยังมีผลผูกพันหรือไม่อย่างไร แต่ กฟผ. ยังคงเดินหน้าโครงการโดยลงนามในบันทึกความเข้าใจกับบริษัทไซโนไฮโดร 


ในส่วนการพัฒนาแม่น้ำสาละวินตอนบน นั้นมีรายงานล่าสุดว่า มีบริษัท ๔ แห่งในจีนได้แก่ บริษัท China Huadian Corp. บริษัท Yunnan Development Investment Co. บริษัท Yunnan Electricity Group's Hydropower Consrtuction Co. และบริษัท Yunnan Nu River Electricity Group ได้ร่วมกันลงนามตั้งบริษัทใหม่ชื่อ Yunnan Huadian Nu River Hydropower Development Co. เพื่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำนู-แม่น้ำสาละวินตอนบน ในเขตประเทศจีน โดยมีนาย Qin Huadian-rong รองเลขาคณะกรรมการจังหวัดยูนานเข้าร่วมในพิธีลงนาม บริษัทที่ตั้งขึ้นมาใหม่นี้จะรับผิดชอบด้านการเงิน และการก่อสร้างเขื่อน เพื่อผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำสาละวินตอนบน ๑๑ แห่ง โดยสถานีผลิตไฟฟ้าแห่งแรกที่จะสร้างมีชื่อว่า Liuku มีกำลังผลิต ๑๘๐ เมกกะวัตต์


บริษัทร่วมที่ตั้งขึ้นมาใหม่นี้ จะเร่งให้เกิดการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำสาละวินตอนบน และเตรียมโครงการสร้างเขื่อน Luiku รวมถึงการออกแบบโครงการเขื่อนอื่นๆ ในชุดเดียวกันคือ Maji, Bijing, Abiluo และ Lushui อย่างน้อย ๒ แห่งในช่วงแผนพัฒนาแห่งชาติแผน ๑๑ในระยะ ๕ ปี ขณะนี้สถาบันสำรวจและออกแบบพลังงานน้ำคุนหมิง (Kunming Hydropower Surveying and Design Institute) ได้จัดทำรายงานการศึกษาเพิ่มเติมของการศึกษาเบื้องต้น สำหรับโครงการเขื่อน Luiku เสร็จแล้ว


และขั้นตอนต่อไปก็อยู่ในระหว่างทำการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับกำลังผลิตติดตั้ง คาดว่าโครงการเขื่อนทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายใน ๒๐ ปี โดยคาดว่าโครงการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าดังกล่าวประหยัดต้นทุน และให้ผลตอบแทนสูง    


สงครามที่เกิดขึ้นอย่างยืดเยื้อในพม่า ส่งผลให้ชนชาติพันธุ์หลายล้านคนต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ และอีกจำนวนมากที่หลบหนีเข้ามาฝั่งไทย โดยมีมากกว่า ๑๔๐,๐๐๐ คน ที่พักอาศัยตามแหล่งพักพิงชั่วคราวตามแนวพรมแดนไทยพม่า ผู้ลี้ภัยจำนวนมากมาจากพื้นที่ที่มีการวางแผนสร้างเขื่อน นับตั้งแต่ต้นปี ๒๕๔๙ เป็นต้นมา กองทัพพม่าดำเนินการกวาดล้างอย่างรุนแรงในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นเขตที่จะมีการสร้างเขื่อน ๓ จาก ๕ เขื่อน มีรายงานว่าทหารพม่าละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ ทั้งเผาทำลายหมู่บ้าน บังคับอพยพ และสังหาร ส่งผลให้เกิดผู้พลัดถิ่นภายในประเทศแล้วอย่างน้อย ๑๖,๐๐๐ คน และชาวกะเหรี่ยงจำนวนมากอพยพเข้าสู่ไทยในฐานะผู้หนีภัยความตาย


นอกจาก กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ ในฝั่งพม่าจะไดรับความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนและสงครามแล้ว พวกเขาก็ไม่เคยได้รับรู้รับทราบเกี่ยวกับข้อมูลของโครงการที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่เลย ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ได้แตกต่างจากฝั่งไทยเท่าใดนัก เพราะสำหรับฝั่งไทย ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงอย่างน้อย ๕๐ ชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งจะเป็นประชาชนกลุ่มแรกที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการก่อสร้างเขื่อน แต่ชาวบ้านเหล่านี้ยังไม่ได้รับข้อมูลโครงการแต่อย่างใด


แม้ในปัจจุบัน จะมีรายงานข่าว หรือแม้กระทั่งบทความเกี่ยวกับสาละวินอยู่จำนวนมาก ซึ่งในรายงานหลายๆ ชิ้นนั้นต่างมีจุดมุ่งหมายเพื่อบอกกล่าวกับสังคมทั่วไปว่า ตามริมฝั่งน้ำสาละวิน มีชาวบ้านอาศัยอยู่จำนวนมาก และเมื่อมีเขื่อน ชาวบ้านเหล่านี้จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด


โดยเฉพาะในรัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง รัฐคะเรนนี ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยในทั้ง ๓ รัฐที่กล่าวมามีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศอาศัยหลบซ่อนอยู่ตามริมแม่น้ำสาละวิน จำนวนไม่น้อย ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว พวกเขาเหล่านี้น่าจะไดรับทราบข้อมูลของโครงการทั้งหมด หรือแม้แต่การปรึกษาหารือว่าโครงการเหล่านี้จะส่งผลอะไรต่อชีวิตของชาวบ้านบ้าง ถ้าถามว่าคุ้มไหมที่รัฐบาลไทยจะเอาชื่อเสียงของประเทศไปเสี่ยงต่อการถูกรุมประณามจากนานาชาติในข้อหาร่วมมือกับรัฐบาลเผด็จทหารพม่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยในนามของการพัฒนา


พวกเราในสังคมส่วนใหญ่ถูกทำให้เชื่อตลอดมาว่า เขื่อนคือคำตอบสุดท้ายของทุกคำถามในการจัดการน้ำ และการกำเนิดพลังงานไฟฟ้า หรือแม้แต่เวลาน้ำท่วมหน่วยงานรัฐก็ทำให้ประชาชนคิดเพียงแค่ว่าเราต้องสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำในการป้องกันน้ำท่วม ซึ่งไม่รู้ว่าการกักเก็บน้ำจากเขื่อนจะทำได้ดีแค่ไหน เพราะเมื่อน้ำมามากเขื่อน ก็จำเป็นต้องปล่อยน้ำออกมาอยู่ดี


อย่างเช่น ในกรณีของเขื่อนอุบลรัตน์ที่จังหวัดขอนแก่นก็เคยแตก เพราะปริมาณน้ำที่มากเกินความจุของเขื่อน แน่นอนว่าแม้ในปัจจุบันเทคโนโลยีในการก่อสร้างเขื่อนจะพัฒนาไปไกลมาก แต่ก็ไม่มีใครรู้ข้อมูลที่เท็จจริงว่า เขื่อนหนึ่งเขื่อนมีอายุการใช้งานมากน้อยเพียงใด และหากพิจารณากันอย่างถี่ถ้วนแล้ว อภิมหาโครงการเขื่อนอย่างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน ก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากมาย และการใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อผลิตไฟฟ้านั้น คำตอบสุดท้ายอาจมิใช่การสร้างเขื่อน


ปัจจุบันทางเลือกของการนำพลังงานต่างๆ มาใช้มิได้ถูกหยิบยกมาพิจารณา เพื่อเปรียบเทียบกับการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ และระบบพลังงานรวมศูนย์ ทั้งที่การผลิตพลังงานทางเลือกแบบไม่รวมศูนย์ ซึ่งมีทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ หรือน้ำตกขนาดเล็ก ทางเลือกเหล่านี้มีต้นทุนถูกกว่า ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า คุ้มทุนกว่าในระยะยาว และที่สำคัญที่สุดคือสามารถจัดการได้โดยชุมชน


หากแผงโซล่าร์เซลล์ ๑ ชุดสำหรับ ๑ หมู่บ้าน มีราคา ๑ ล้านบาท งบประมาณของเขื่อนบนลำน้ำสาละวิน ที่อยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่า ก็จะสามารถนำมาซื้อโซล่าร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าให้กับหมู่บ้านต่างๆ ได้ถึง ๒ แสนหมู่บ้าน โดยไม่ต้องมีใครถูกอพยพหนีน้ำท่วม และไม่มีใครได้รับความเดือนร้อน


ทางเลือกเหล่านี้ ก็น่าจะนำมาพิจารณามิใช่หรือ ?


ปฏิเสธไม่ได้ว่า เงินทุนจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินตอนล่างเกินครึ่งหนึ่ง และการขายไฟฟ้าส่วนหนึ่งของรัฐบาลทหารพม่าจะถูกนำไปใช้ในการทำสงคราม เพื่อกดขี่ชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลทหารพม่าก็ใช้กำลังทหารโจมตีชนกลุ่มน้อยอย่างต่อเนื่อง การให้ความสนับสนุนทั้งทางการเมือง และการเงินต่อการสร้างเขื่อนในเขตที่มีการสู้รบ จึงเปรียบได้กับการสนับสนุนให้รัฐบาลเผด็จการพม่ากดขี่ชนกลุ่มน้อยนั่นเอง



บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
วารสารวรรณศิลป์บนแผ่นดินลาว ลมหนาวและความร้อนแล้งโชยผ่านยอดขุนเขาด้านทิศตะวันตกแห่งเมืองหลวงของราชอาณาจักรล้านนามาแผ่วๆ แล้วฤดูกาลแห่งความเหน็บหนาวก็เดินทางมาอีกครั้งพร้อมกับลมสายลมนั้น
สุมาตร ภูลายยาว
สี่พันดอน: บ้านของคนและปลา เมื่อเอ่ยถึงสี่พันดอนเชื่อว่าหลายคนที่เคยไปเยือนคงจินตนาการถึงได้ แต่สำหรับคนที่ไม่เคยไปเยือนคงงุนงงไม่น้อยว่าหมายถึงอะไร คำว่า ‘สี่พันดอน’ เป็นชื่อเรียกเกาะ ดอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงในเขตเมืองโขง แขวงจำปาสัก ภาคใต้ของประเทศลาว ดินแดนแห่งนี้ได้ถูกเรียกขานว่า สี่พันดอน เพราะเต็มไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ที่มีจำนวนมากมายเรียงรายอยู่ในแม่น้ำโขงที่มีความกว้างกว่า ๑๔ กิโลเมตร เกาะต่างๆ เริ่มขึ้นที่เมืองโขงและยาวลงไปจนถึงชายแดนลาว-กัมพูชาที่บ้านเวินคามกับเมืองสตรึงเตร็ง ในจำนวนเกาะที่มีอยู่มากมาย เกาะใหญ่ที่สุดชื่อ ‘ดอนโขง’ คำว่า ‘ดอน’…
สุมาตร ภูลายยาว
เจ้าม้าศึกสีเทา ๒,๒๐๐ ซีซี ทะยานไปตามทางลูกรังสีแดงเบื้องหลังฝุ่นคลุ้งตลบ หากมีรถวิ่งตามมาคงบอกได้คำเดียวว่า ‘ขอโทษ’ ก่อนจะถึงทางแยกเสียงโทรศัพท์ของผู้ไปถึงก่อนก็บอกให้ตรงมาตามทางอย่าได้เลี้ยวซ้ายเป็นอันขาด เพราะนั่นหมายถึงการหลงทางจะเกิดขึ้น
สุมาตร ภูลายยาว
การเดินทางเที่ยวนี้มีผู้หญิงนำ เช้านี้เป็นอีกวันที่ตื่นเช้ากว่าวันอื่น แต่หากว่าเมื่อเทียบกับชาวบ้านทั่วไปแล้ว ถือว่ายังสาย โดยเฉพาะกับพ่อค้าแม่ค้าการตื่นนอนตอน ๖ โมงเช้านั้นถือว่าสายมากแล้ว เช้านี้กว่าจะเปิดเปลือกตาตื่นช่างหนักหนาสาหัส ราวกับว่าเปือกตาทั้งสองข้างถูกปิดทับไว้ด้วยเทปกาวชั้นดี หลังล้างหน้าแปรงฟันเสร็จ สมองยังคงงุนงง อาจเป็นเพราะช่วงนี้พักผ่อนไม่ค่อยพอ รวมทั้งมีเรื่องหลายเรื่องให้ได้คิด แต่เพราะงานที่ทำจึงต้องบังคับตัวเองให้ลุกจากที่นอน
สุมาตร ภูลายยาว
จะแกคนเลี้ยงวัวผู้ไม่เคยขุ่นมัวในหัวใจ ผมจำได้ว่าพบชายคนนี้ครั้งแรกเมื่อเข้าไปบ้านสองพี่น้อง เขาดูแปลกกว่าคนอื่นในหมู่บ้าน เพราะเขาเป็นผู้ชายคนเดียวในหมู่บ้านที่ไว้ผมยาว เค้าโครงใบหน้าของเขาราวกับถอดแบบออกมาจากหัวหน้าชนเผ่าของอินเดียนแดง
สุมาตร ภูลายยาว
การงานของชีวิตที่ตกค้าง ฝนเทลงมาอีกวันแล้ว...เสียงสังกะสีดังราวกับมีก้อนหินนับล้านร่วงลงมาใส่ เย็นวันนี้มีเรื่องราวให้ขบคิดมากมาย กลับมาจากการประชุมที่เคร่งเครียด อันนับว่าเป็นการงานส่วนหนึ่งของชีวิต เล่นเอาเหนื่อยสายตัวแทบขาด แล้วยังมีงานอะไรที่ยังไม่ได้ทำอีกไหมนี่
สุมาตร ภูลายยาว
บันทึกในค่ำคืนที่เปลี่ยนผ่านกับนิทรรศการที่ไม่ได้จัด สายฝนของเดือนกันยายนโปรยสายลงมาทั้งวัน เราออกเดินทางจากเชียงของมาแต่ตอนเช้าด้วยรถคันเล็ก บนกระบะทางตอนท้ายบรรทุกเอกสารต่างๆ รวมทั้งนิทรรศการมาเต็ม รถต้องจดหลายครั้ง เพื่อห่มผ้ายางกันฝนให้ของบนกระบะรถ เราผ่านมากว่าครึ่งทาง ฝนยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดตก ซ้ำร้ายยังตกลงมาหนักกว่าเดิม รถวิ่งทำความเร็วได้ไม่มากนัก ทั้งที่ความเป็นจริงแม้ฝนจะไม่ตก มันก็ไม่เคยวิ่งได้เร็วกว่าที่วิ่งอยู่เท่าใดนัก
สุมาตร ภูลายยาว
เมฆสีดำเหนือฟ้าด้านตะวันออกส่งสายฝนลงมาตั้งแต่เช้าจนล่วงบ่าย แม่น้ำเป็นสีชานมเย็น เศษขยะ ขอนไม้ ท่อนไม้ และต้นไม้ลอยมากับสายน้ำ และไหลไปตามแรงเฉื่อยของกระแสน้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
เช้านี้เหมือนกับทุกเช้าในช่วงนี้พ่อท่อน ยาแก้วเดินทอดน่องในสวนบนดอนทรายริมฝั่งแม่น้ำโขงเพื่อดูแปลงมะเขือราว ๔ ไร่ ในใจพ่อท่อนเองไม่อยากเก็บมะเขือในตอนนี้แม้ว่าจะถึงช่วงเวลาในการเก็บแล้ว สาเหตุที่ทำให้พ่อท่อนไม่อยากเก็บมะเขือในตอนนี้ เพราะราคามะเขือต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ปีนี้มะเขือหนึ่งหมื่น (๑๒ กิโลกรัม) ขายส่งจากสวนได้เงิน ๑๒ บาท
สุมาตร ภูลายยาว

รถตู้วิ่งไปบนถนนลาดยางมะตอยที่บางช่วงเป็นหลุมเป็นบ่อ ถนนสายนี้เป็นเส้นทางจากจังหวัดกระแจะไปอำเภอสามบอ เพราะถนนไม่ค่อยดีนัก ระยะทาง ๓๕ กิโลเมตรต้องใช้เวลาเกือบ ๑ ชั่วโมงจึงถึงจุดหมาย เมื่อรถตู้ทั้ง ๓ คันจอดสงบนิ่งลงตรงประตูหน้าวัด ผู้โดยสารในรถตู้ก็พากันทยอยลงจากรถ เบื้องล่างของถนนเป็นแม่น้ำสายใหญ่ คนท้องถิ่นเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘โตนเลของ-แม่น้ำของ-โขง’ แม้ยังไม่สายมากนัก แต่แสงแดดก็ส่องประกายร้อนแรงเหนือสายน้ำ ฟ้ากว้างเปล่าแปนเป็นสีฟ้าไกลสุดสายตาหยั่งถึง บนสายน้ำเรือหลายลำจอดลอยลำอยู่ ใกล้กับเรือตรงโคนต้นจามจุรีมีเด็ก ๓-๔ คนนั่งอยู่ ถัดจากโคนต้นจามจุรีไปมีเรือลำหนึ่งลอยลำอยู่…
สุมาตร ภูลายยาว
จากพื้นที่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน ผู้คนสองฝั่งได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำที่มีความยาว ๔,๙๐๔ กิโลเมตรสายนี้ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ล้าน ลักษณะการใช้ประโยชน์ก็แตกต่างกันออกไปตามแต่สภาพของพื้นที่ ในช่วงที่ไหลผ่านประเทศไทยตั้งแต่จังหวัดเชียงรายจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี ก็มีผู้คนไม่จำนวนไม่น้อยได้ใช้ประโยชน์ในด้านแตกต่างกันออกไป ผู้ใหญ่ใช้หาปลา และใช้พื้นที่ตามหาดทรายที่โผล่พ้นน้ำ และริมฝั่งทำการเกษตร เด็กๆ ใช้เป็นห้องเรียนสำหรับฝึกหาปลา และว่ายน้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
  ผาชันเป็นหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ริมแม่น้ำโขงอยู่ในเขตอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี หมู่บ้านแห่งนี้มีเรื่องราวน่าสนใจหลายอย่าง เริ่มแรกเดิมทีก่อนเดินทางไปถึง ผมจินตนาการถึงหมู่บ้านแห่งนี้ในรูปแบบต่างๆ และพอเดินทางไปถึงบ้านผาชันเป็นครั้งแรก ซึ่งอยู่ในหน้าฝน ผมก็พบว่า ในฤดูฝนหมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นเกาะขนาดย่อมๆ ชาวบ้านบอกว่า "ในฤดูฝน น้ำจากห้วยจะไหลจนท่วมสะพาน และถนนที่เข้าสู่หมู่บ้าน การเดินทางเข้าหมู่บ้านต้องใช้เรือข้ามลำห้วยแล้วไปต่อรถ" ร่องรอยของคำพูดปรากฏให้เห็นเมื่อผมเดินทางเข้าสู่หมู่บ้าน รถข้ามสะพานที่น้ำในลำห้วยเริ่มปริ่มอยู่ใต้สะพาน…