Skip to main content

 

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ

 

คงมีเหตุผลอะไรสักอย่าง สี่แยกสะพานควายอันเป็นที่ตั้งของสำนักงาน TCIJ จึงมีคนไร้บ้านที่จิตเจ็บป่วยมากเป็นพิเศษ

เมื่อต้องใช้ชีวิต-ทำงานในละแวกนี้ เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องพบ-ผ่านกันเป็นปกติวิสัย พวกเขาอาจก่อความรำคาญแก่ร้านค้าและผู้คนบ้าง แต่ไม่เคยทำร้ายใคร โดยมากแล้ว พวกเขามักมีความสุขอยู่ภายในโลกลี้ลับของตัวเองที่ไม่มีใครล่วงล้ำเข้าไปได้

ทว่า โลกอันลี้ลับนั้นช่างเย้ายวนความสอดรู้สอดเห็นของผม ผุดเป็นข้อกังขาใหญ่ 2 ข้อ-ไม่มีใครบ้าแต่กำเนิด แล้วอะไรที่ทำให้พวกเขาหลุดลอยไปสู่อาณาเขตที่ไม่มีใครตามเข้าไปได้ อีกข้อ-อะไรคือภาพประทับสุดท้ายก่อนที่จิตใจของพวกเขาจะหักแหลกลง

................

คำถามข้อแรก ผมไม่ได้ต้องการคำตอบในเชิงจิตวิทยาทำนองว่า เพราะจิตใจได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง บลา บลา บลา ผมอยากรู้ย้อนลึกไปอีกว่า ชีวิตกระทำซ้ำเติมอะไรกับพวกเขา มันถึงหนักหนาขนาดเฉือดเฉือนบางอย่างในใจจนขาดวิ่น และยัดเยียดบางสิ่งลงไปจนล้นเกิน

แน่นอน สำหรับคำถามข้อนี้ ผมคงไม่มีวันรู้ได้ นั่นน่ะสิ ผมจะถามใคร พวกเขาแต่ละคนเหมือนบุรุษ-สตรีนิรนามที่วันหนึ่งก็ปรากฏตัวขึ้น ไร้ที่มาและยังไม่มีใครรู้ที่ไป

มีข่าวคราวและสถิติเผยแพร่เป็นระยะๆ ว่า สังคมไทยมีผู้ป่วยทางจิตเพิ่มขึ้นทุกปี...หรือนี่คือราคาค่างวดปกติ (?) ที่การพัฒนาเรียกร้องให้ทุกสังคมที่ต้องการมันต้องจ่าย?

..............

ผู้เจ็บป่วยทางจิตมักมีพฤติกรรมเฉพาะตัวที่ปฏิบัติซ้ำๆ เป็นกิจวัตร (อย่างน้อยก็ย่านสะพานควาย) มี 7 คนที่ผมพบปะสม่ำเสมอ

ชายร่างผอม หัวโล้น เนื้อตัวมอมแมม ใส่แต่กางเกง เขามักเดินไปไหนพร้อมปากกาลูกลื่นแบบกด และเขาจะกดเข้า-กดออกอยู่เช่นนั้นประหนึ่งจังหวะดนตรีที่ทำให้เขามีความสุข เขายังชอบใช้ปากการะบายตามร่างกาย ชอบใช้กรรไกรตัดกระดาษเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วจุดไฟเผาทำลายมัน

ชายผมยาวที่ไม่เคยผ่านการสระล้าง จนมันติดตังเป็นก้อนเดียว เขามักเดินเท้าเปล่าไปมาตามฟุตปาธ หยุดมองท้องฟ้าเป็นระยะ ก่อนพร่ำบ่นบางถ้อยคำ ถ้อยคำที่ไม่มีใครได้ยินและเข้าใจ หรือบางครั้งก็นอนยิ้มอยู่ข้างทางเหมือนมีความสุขล้นเหลือเฟือฟาย

ชายวัยสี่สิบกลางค่อนไปทางปลาย เขาสวมรองเท้ากีฬา สะพายเป้ พร้อมตุ๊กตาตัวพอประมาณ ใส่เสื้อกันหนาวและคลุมฮู้ดตลอดเวลาไม่ว่าอากาศรอบตัวจะร้อนอบอ้าวเพียงใด เหมือนโลกภายนอกช่างหนาวเหน็บ

ชายอีกคนวัยไล่เลี่ยกับคนก่อน ผมมักเห็นเขากึ่งนั่ง กึ่งนอน บนสะพานลอยข้ามสี่แยกสะพานควาย เขาจะฉีกกระดาษอะไรก็ตามที่เขาเก็บได้ใกล้มือ ฉีกมันออกเป็นชิ้นเล็กๆ ฉีกไปเรื่อยๆ จนไม่มีกระดาษในมือเหลือให้ฉีกอีก

ชายอีกคนวัยไล่เลี่ยกับคนก่อน เขามีที่ประจำคือป้ายรถเมล์ฝั่งตรงข้ามกับสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ เขานั่งอยู่กับฝากล่องโฟมขนาดใหญ่ เขาหงายมันขึ้นและเอาฝาเบียร์ ฝาขวดน้ำอัดลมจำนวนมากวางเรียงลงไปอย่างพิถีพิถัน เหมือนกราฟแท่งหรือหมากกลอะไรสักอย่างที่คงไม่มีใครเข้าใจ เขามักยิ้มกริ่มกับผลงานและคอยเติม ดึงออก หรือสลับตำแหน่งฝาเหล่านั้น

หญิงคนหนึ่ง เสื้อยืดแขนสั้น-กางเกงขาสั้นที่ไม่ผ่านการซัก เธอหอบหิ้วถุงพลาสติกขนาดใหญ่ติดตัว และสวมเสื้อชั้นในเอาไว้ด้านนอกเสมอ

หญิงคนสุดท้าย ผมยาว รวบเป็นมวย เธอใส่ชุดเดรสยาวกรอมเท้าที่ไม่ได้ถอดเปลี่ยนมาหลายนาน เธอชอบนั่งยองๆ บนฟุตปาธ คีบบุหรี่ในมือ และมีใบหน้าที่ดูเหมือนเกลียดโลกใบนี้เหลือเกิน

..................

ทั้งหมดนั่นคือที่มาของคำถามข้อที่ 2 พี่ บก. เคยอธิบายให้ผมฟังว่า สิ่งที่คนเหล่านี้แสดงออกก็คือภาพสุดท้ายที่พวกเขาจดจำได้ ก่อนที่จะไม่จำอะไรอีกเลย บางคนบอกว่ามันคือเศษซากอันงดงามชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่พวกเขาเก็บกู้มันได้เพียงบางชิ้น พยายามประกอบสร้างมันขึ้นใหม่อย่างบิดเบี้ยว และเลือกเก็บมันเอาไว้ตลอดไป-เหมือนภาพบนหน้าจอโทรทัศน์ที่ถูกกดหยุดไว้-ใช้มันกดทับก้อนทุกข์ขนาดมหึมาไว้ข้างใต้ เพียงแต่พวกเขาไม่รู้วิธียกมันออกและไม่กล้ายกมันออก

มันยากกว่าคำถามข้อแรกเสียอีก มันเป็นความอยากรู้อยากเห็นที่พาผมไปเจอทางตัน ต่อให้ผมเป็นยอดนักข่าวเจาะมือหนึ่งในเอกภพก็ไม่มีวันเจาะลึกลงสู่จิตใจเพื่อค้นหาภาพสุดท้ายของพวกเขาได้ ยิ่งคนที่จิตใจหักแหลกเช่นนั้น ภายในคงเหมือนเขาวงกตที่ไร้ทางออก และผมอาจหลงวนอยู่ในนั้นไปตลอดกาล

...............

เอาเข้าจริงๆ แล้ว เราและพวกเขาต่างกันหรือเปล่า คงต่างกันที่ว่าพวกเขามีเพียงภาพสุดท้ายภาพเดียว แต่เรามีภาพมากมายหมุนเวียนกันเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในแต่ละห้วงขณะของชีวิตและมันคอยผลักรุนเราให้กระเสือกกระสนทำสิ่งเดิมๆ ซ้ำซากอยู่ทุกวันๆ ยิ่งในยุคสมัยที่มีธุรกิจและโรงงานประกอบภาพออกมาป้อนตลาดได้ไม่จบสิ้น เราจึงกลายเป็นนักสะสมภาพ

เราเชื่อว่าหากเราบีบคั้นชีวิตตนเองให้เป็นภาพเดียวกันกับภาพที่เราสะสม ชีวิตจะงดงาม โดยหลงลืมไปว่าเราอาจมีภาพมากเกินไป มากเกินกว่าจะทำให้เป็นจริงได้ทุกภาพ

หญิง-ชายผู้มีจิตเจ็บป่วยครอบครองภาพคนละภาพ แต่เราใช้ภาพเปล่าเปลืองเหลือเกิน เราใช้ภาพนับสิบ นับร้อย กดทับอะไรบางอย่างไว้ เมื่อชีวิตเดินมาถึงจุดหนึ่ง จึงพบว่าเรายืนอยู่ท่ามกลางเศษภาพกองระเกะระกะ และหลงลืมอีกครั้งว่าใต้เศษภาพมีอะไรอยู่

เราและพวกเขาต่างกันหรือเปล่า?

สิ่งที่จะทำให้เราต่างคงขึ้นอยู่กับว่า เรารู้วิธียกมันออกและกล้าจะยกมันออกบ้างหรือไม่

บล็อกของ กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
ขณะที่เขียนอยู่นี้ #ประเทศกูมี มียอดวิวเกือบ 7 ล้านแล้ว ผมนี่ฟังหลายรอบมาก พร้อมโยกเยกไปตามจังหวะและซึมซับเนื้อหาเข้าไปในหัวใจ
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
ตั้งแต่วัยรุ่นที่พอจะรับรู้ความเป็นไปของสังคมบ้าง ผมพบเจอ ‘วิธีคิด’ ในการใช้ชีวิตประมาณห้าหกชนิด ตั้งแต่สโลว์ไลฟ์ สโลว์ฟู้ด การกลับไปใช้ชีวิตเป็นชาวนา มินิมัลลิสม์ ฮุกกะ และล่าสุดที่ออกมาไล่เรี่ยกันคือลุกกะและอิคิไก แล้วยังมีการเผยแพร่ลัทธิความฝันแบบเข้มข้นของสื่อมวลชน สินค้า บริการ จนถึงโค้ช นัก
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล 
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล วันนี้มีเหตุให้ไปร่วมวงแลกเปลี่ยน ถกเถียง ประเด็นการไม่นับถือศาสนา มีหลายบทสนทนาที่น่าสนใจเลยคิดว่าน่าจะนำมาแบ่งปันและถกเถียงกันต่อ
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุลในหนังสือ 'SUM 40 เรื่องเล่าหลังความตาย' ของ David Eagleman มีอยู่ตอนหนึ่งกล่าวถึงสรวงสวรรค์ที่ดวงวิญญาณของบุคคลผู้มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ยังคงว่ายเวียนอยู่บนสรวงสวรรค์แห่งนั้น
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล รับงานเลี้ยงชีพชิ้นเล็กๆ มาชิ้นหนึ่ง เนื้องานคือการสัมภาษณ์เรื่องราวชีวิตบุคคล นำมาร้อยเรียงบอกกล่าวสู่คนอ่าน ปรากฏว่าบทสนทนาที่ดำเนินไป ชักพาให้เกิดความคิดคำนึงอันหลากหลาย ณ ส่วนใดส่วนหนึ่งของสมองและหัวใจ
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ‘วัยหนุ่ม ข้าต้องการมีเพื่อนมากมายวัยกลางคน ข้าต้องการมีเพื่อนที่ดีวัยชรา ข้าเพียงต้องการเป็นเพื่อนที่ดีของใครสักคน’
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล"ถึงผมจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณพูด แต่ผมจะปกป้องสิทธิในการพูดของคุณด้วยชีวิต" วอลแตร์“จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” อัลเบิร์ต ไอสไตน์
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJเป็นอีกครั้งที่วัดธรรมกายออกมาธุดงค์กลางนคร แล้วก็ถูกสวดยับไปตามระเบียบ ซึ่งคงห้ามปรามกันไม่ได้
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุลพนักงานบริการหญิงหรือ Sex Worker นางหนึ่งเดินจับจ่ายซื้อหากับชาวต่างประเทศ เธอพูดกับลูกค้าของเธอว่าI shop. You pay.
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJมนุษย์ล้วนตั้งจุดหมายปลายทางของตนเองและพยายามฟันฝ่าไปให้ถึง โดยส่วนใหญ่ล้มลุกคลุกคลาน บ้างล้มแรงเสียจนไร้แรงยืนอีกครั้ง เป็นสัดส่วนน้อยกว่ามากที่ถึงจุดหมายปลายทาง นี่คงเป็นเหตุผลทำให้ ‘ความฝัน’ เป็นสิ่งสูงค่าในสายตามนุษย์ยุคปัจจุบัน
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ