Skip to main content

กลไกการควบคุมระบบพลังงานของโลก

เรื่องพลังงานเป็นเรื่องใหญ่และเชื่อมโยงกันหลายมิติหลายสาขาวิชา จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำความเข้าใจกันในช่วงเวลาอันสั้นและจากเอกสารจำนวนจำกัด ในที่นี้ผมจะเริ่มต้นนำเสนอด้วยภาพการ์ตูนและข้อมูลเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย หลังจากนั้นเราจะเข้าใจทันทีว่า (๑) ทำไมกลุ่มพ่อค้าพลังงานทั้งระดับประเทศและระดับโลกจึงมุ่งแต่ส่งเสริมการใช้พลังงานฟอสซิลที่ใช้หมดแล้วหมดเลย ซึ่งได้แก่ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตไฟฟ้า (๒) ทำไมพลังงานจากธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่มีวันหมดหรือหมดแล้วก็สามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ เช่น พลังงานจากพืช พลังงานลมและแสงอาทิตย์ จึงถูกกีดกันและกล่าวหาต่างๆนานา

และ (๓)  ทำไมสงครามอ่าวเปอร์เซีย จึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งกับอิรัก และอิหร่านที่กำลังจ่อคิวตามมาติดๆ

เรามาเริ่มกันที่การ์ตูนกันก่อนเลยครับ  ผมมีคำบรรยายอยู่ใต้รูป

picture
การ์ตูนแสดงการเชิดหุ่น  ผู้เชิดเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกด้านพลังงานชื่อ Enron  โดยที่ในมือถือนโยบายพลังงานอยู่ฉบับหนึ่งด้วย  หุ่นที่ถูกเชิดตัวแรก เป็นพ่อค้าน้ำมันที่มีตำแหน่งเป็นถึงรองประธานาธิบดีสหรัฐด้วย  โดยที่รองประธานาธิบดีได้เชิดหุ่นประธานาธิบดี บูซส์ อีกต่อหนึ่ง ทั้งสามถือนโยบายพลังงานฉบับเดียวกัน  โดยที่หุ่นท่านประธานาธิบดีกล่าวว่า “มันเป็นการบังเอิญเท่านั้นนะ”

ดูภาพนี้แล้วลองย้อนกลับมาดูนโยบายพลังงานของรัฐบาลไทยแต่ละชุดซิครับ ปรากฏว่า ไม่ว่ารัฐมนตรีคนไหนเข้ามารับตำแหน่ง ไม่เคยมีนโยบายที่หนีไปจากแหล่งพลังงานฟอสซิลเลย ต่างก็มุ่งแต่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงทั้งสิ้น จนคุณเจริญ วัดอักษร นักต่อสู้เพื่อมาตุภูมิและสิ่งแวดล้อมที่ถูกสังหารไปแล้ว ได้กล่าวสรุปไว้อย่างคมคายว่า  “ในหัวของคนพวกนี้มีแต่ถ่านหิน”

หลังจากได้ดูการ์ตูนที่สะท้อนปัญหารวมของระบบพลังงานทั้งโลกแล้ว ต่อไปนี้เป็นข้อมูลเสริมเพื่อขยายความภาพรวมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ข้อมูลที่ว่านี้คือข้อมูลการนำเข้าน้ำมันของประเทศต่างๆ ที่มากที่สุด ๑๐ ประเทศ ขอย้ำว่าเป็นข้อมูลการนำเข้า ไม่ใช่การบริโภคเพราะบางประเทศก็มีแหล่งน้ำมันของตนเองด้วย

picture
ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสูงสุด ปี  ๒๕๔๘   สังเกตว่า ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันสูงเป็นอันดับ ๑๐ ของโลก  ที่มา www.nationmaster.com

จากแผนผังก็เป็นไปตามที่ทุกท่านทราบกันแล้วคือ สหรัฐอเมริกานำเข้าสูงถึง ๓๔.๘% ของโลก  รองลงมาคือประเทศญี่ปุ่น (๑๗.๗%) และเยอรมนีเป็นอันดับสาม (๘.๗%)

ที่น่าแปลกใจมากคือ ประเทศไทยเราเองมีการนำเข้าน้ำมันในปี ๒๕๔๘ สูงเป็นอันดับ ๑๐ ของโลก ประมาณ  ๑.๘%  ของโลก ในขณะที่มีรายได้ประชาชาติ [1] อยู่ในอันดับที่ ๓๒ ของโลก

ข้อมูลนี้เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า ประสิทธิภาพการใช้พลังงานหรือการแปลงพลังงานมาเป็นรายได้ของคนไทยเรานั้นน่าเป็นห่วงมาก เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่อาจถือเป็นวาระแห่งชาติก็ยังได้

มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ (Heinrich-Böll Foundation)   จากประเทศเยอรมนีได้สรุปแบบฟันธงไว้ว่า “ความยั่งยืนของระบบพลังงานโลกต้องขึ้นอยู่กับสองยุทธศาสตร์ คือหนึ่งการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ (energy efficiency) และ สอง การใช้พลังงานหมุนเวียน”

เมื่อได้กล่าวถึงประเทศผู้นำเข้าน้ำมันแล้ว  เรามาดูประเทศที่มีแหล่งน้ำมันสำรองกันบ้าง

picture
แสดงอันดับประเทศที่มีแหล่งน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลก
ที่มา Energy Information Administration, International Energy Outlook 2006

จากตาราง เราพบว่าประเทศที่มีแหล่งน้ำมันสำรองสูงสุด ๗ อันดับแรกของโลก คือ ซาอุดิอาระเบีย แคนาดา อิหร่าน อิรัก  คูเวต  สหรัฐอาหรับอิมิเรส  และ เวเนซูเอลา ตามลำดับ  ถ้าเราพิจารณาถึงความสัมพันธ์ของประเทศทั้ง ๗ นี้กับประเทศที่นำเข้าน้ำมันมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก คือสหรัฐอเมริกาแล้ว เราจะพบว่ามีเพียง ๒ ประเภทเท่านั้น คือประเภทที่เป็นมิตรกับสหรัฐอเมริกาอย่างแนบแน่นกับประเภทที่เป็นศัตรูที่สหรัฐอเมริกาเข้าไปแทรกแซง รุกรานและกำลังจะรุกรานทั้งสิ้น สอดคล้องกับคำประกาศของประธานาธิบดีบุสซ์หลังกรณี ๑๑ กันยายน ที่ว่า “ถ้าคุณไม่เป็นพวกเรา คุณก็คือศัตรูของเรา”

วารสารของศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง [2] ได้กล่าวเชิงสรุปว่า “สงครามเพื่อทำลายซัดดัมแห่งอิรัก แท้จริงก็มีต้นตอมาจากการที่อังกฤษ-อเมริกาไม่ต้องการให้มีใครเป็นก้างขวางคอ ในการที่พวกตนจะมีอิทธิพลเหนือผู้ผลิตและผู้ค้าน้ำมันในคูเวตและซาอุดิอารเบียนั่นเอง”

นักวิเคราะห์บางคน เช่น  William Clark [3] เชื่อตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ แล้วว่า สหรัฐอเมริกาที่มีเป้าหมายที่จะรุกรานประเทศอิหร่านด้วยเหตุผลที่ไม่ใช่เครื่องอาวุธนิวเคลียร์ แต่เป็นเพราะอิหร่านกำลังจะหันไปใช้เงินตระกูลยูโรในการค้าน้ำมันแทนการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐที่ลดค่าลงเรื่อยๆ

ดูท่าจะรุกรานประเทศโน้นประเทศนี้อย่างไม่รู้จักจบจักสิ้นตราบใดที่ประเทศสหรัฐอเมริกายังมีความต้องการน้ำมันสูงขนาดนี้   เป็นที่น่าสงสัยว่า ถ้าประเทศอิหร่าน อิรัก ไม่มีแหล่งน้ำมันแล้ว สหรัฐอเมริกาจะทำสงครามด้วยหรือไม่

ถ้าชาวโลกหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนที่ใครก็ไม่สามารถผูกขาดได้ นอกจากจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการป้องกันความขัดแย้งระหว่างประเทศและในโลกได้อีกด้วย 

ภาพการ์ตูนในหน้าถัดไป ตั้งชื่อภาพว่า “ผู้เสพย์ติดสงคราม” ในภาพเป็นรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐอเมริกาคนหนึ่ง พร้อมด้วยมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสงคราอิรัก ภาพนี้สะท้อนความคิดที่ติดเป็นนิสัยของผู้นำสหรัฐได้เป็นอย่างดี

นักวิจารณ์คนหนึ่งบอกว่า ถ้านำงบประมาณที่ใช้ในการบุกอิรักซึ่งมีประมาณ ๐.๒๐๘ ล้านล้านดอลลาร์(นับถึงเดือนมิถุนายน ๒๕๔๘ เท่านั้น) มาทำกังหันลม จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ ๗-๑๑% ของที่ชาวอเมริกันใช้ทั้งประเทศ และเป็นการใช้ได้ตลอดไปจะไม่ดีกว่าหรือ 

ท่านที่สนใจค่าใช้จ่ายในสงคราม สามารถเข้าไปดูได้ จะพบว่าขณะสูงถึงกว่า ๔ แสนล้านดอลลาร์แล้ว [4]

picture

ปัจจุบันทั้งรองประธานาธิบดี ดิกค์  เชนนี และรัฐมนตรีต่างประเทศ ดร. คอนโดลีซซา ไรท์ ต่างก็เคยเป็นบุคคลสำคัญในบริษัทน้ำมันระดับใหญ่ที่สุดในโลก คือ Halliburton และ Chevron ตามลำดับ สำหรับภาพข้างล่างนี้เป็นเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ที่ทางบริษัทได้นำชื่อของเธอมาตั้งเป็นชื่อเรือเพื่อเป็นการให้เกียรติ

picture
เรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ ของบริษัท Chevron ที่นำชื่อ Condoleezza Rice รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะเธอเคยเป็นประธานคณะกรรมการบริหารของบริษัท 
ที่มา http://www.aztlan.net/oiltanker.htm

ศาสตราจารย์ โจเซฟ  สติ๊กลิทซ์  ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์  กล่าวว่า ต้นทุนราคาน้ำมันดิบจะสูงขึ้นประมาณ ๕ ถึง ๑๐ เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลโดยมีสาเหตุมาจากการก่อสงคราม  ดังนั้น ผลกระทบจากสงครามอิรักได้ส่งผลกระทบถึงเราทุกคนทั่วโลก

เชื่อได้แล้วนะครับว่า การเมืองโลกกับพลังงานโลกมีความสัมพันธ์กันแนบแน่นขนาดไหน เรื่องถ่านหินก็มีลักษณะเช่นเดียวกันกับน้ำมันเพียงแต่มีขนาดเล็กกว่า  ดังนั้นผมจะไม่ขอกล่าวถึงในทีนี้

ผมยังมีอีก ๓ ประเด็นที่จะกล่าวเพิ่มเติมในบทนี้ครับ คือ (๑) เรื่องราคาน้ำมันกับจำนวนการผลิตและ (๒) ข้อมูลเกี่ยวกับถ่านหิน และ (๓) แนวโน้มการใช้แหล่งพลังงานต่างๆ ในอนาคตอีก ๗๐ ปีข้างหน้าซึ่งจะช่วยให้เรามองภาพในอนาคตได้ชัดเจนขึ้น

ราคาน้ำมันกับจำนวนการผลิต

ในปี ๒๕๔๘ มีการผลิตน้ำมันทั่วโลกประมาณวันละ ๘๕ ล้านบาร์เรล [5]  มีการคาดการณ์ว่าในปี ๒๕๕๓ จะเพิ่มเป็น ๙๑.๖  ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่น่าจะเพิ่มสูงกว่านี้อีกเพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนและอินเดียที่มีประชากรรวมกันถึง ๔๐% ของโลก

สำหรับปริมาณการผลิตและราคาในช่วง ๑๕ ปี (ค.ศ. ๑๙๙๐-๒๐๐๕) สามารถดูได้จากกราฟในหน้าถัดไป  แต่เป็นข้อมูลของตลาดในกลุ่มโอเปค [6]  เท่านั้น

อนึ่ง กลุ่มโอเปคมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ ๓๗ - ๓๙% ของโลก ดังนั้น หากต้องการทราบจำนวนการผลิตทั่วทั้งโลกก็สามารถคิดสัดส่วนเอาได้

picture

จากกราฟ  ถ้าพิจารณาอย่างผิวเผิน เราจะรู้สึกว่าความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณการผลิตกับราคา(ต่อบาร์เรล) เป็นไปตามกลไกการตลาด คือถ้าราคาสูงก็มีการผลิตเพิ่ม แต่ในความเป็นจริงแล้วมีเหตุการณ์สำคัญต่างๆของโลกทั้งที่มนุษย์สร้างขึ้นเองและมาจากภัยธรรมชาติ

ในประเด็นเรื่องราคากับการผลิต ผมยังมีอีก ๒ กราฟเพื่อขยายความในรายละเอียด ท่านผู้อ่านที่รู้สึกว่าเข้าใจดีแล้ว ก็สามารถข้ามไปดูกราฟสุดท้ายที่เป็นเรื่องอนาคตได้เลยครับ

(กราฟต่อไปเป็นการแสดงราคาน้ำมันดิบในช่วง พ.ศ. ๒๕๔๐ ถึง ๒๕๔๙  เราพบว่าก่อนปี ค.ศ. ๑๙๗๓ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ราคาน้ำมันดิบอยู่ประมาณ ๑๕ ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ได้เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันในปี ๒๕๑๖ เนื่องจากสงครามระหว่างอิสราเอลกับอาหรับและการรวมตัวกันขึ้นราคาน้ำมัน (ตามที่กลุ่ม The Club of Rome คาดหมาย-ในบทที่ ๓)

picture

จากนั้นก็มีเหตุการณ์ต่างๆ เช่น การปฏิวัตพระเจ้าซาร์แห่งอิหร่าน (๑๙๗๙)  สงครามระหว่างอิรัก กับอิหร่าน (ที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุนอิรัก ปี ๑๙๘๐)  รวมทั้งสงครามรุกรานอิรักในปี ๒๕๔๖ การประท้วงของกรรมกรบ่อน้ำมันในเวเนซูเอลา (PDVSA Strike)

 

picture
ราคาน้ำมันดิบในช่วง พ.ศ. ๒๕๔๔ ถึง ๒๕๔๘  พร้อมการขึ้นลงของราคาตามเหตุการณ์สำคัญ


ข้อมูลเกี่ยวกับถ่านหิน

เนื่องจากในประเทศไทยเรายังมีกลุ่มที่สนใจถ่านหิน ถึงขั้นที่รับเป็นเจ้าภาพประชุมวิชาการเรื่องถ่านหินโลก(Coaltrans Thailand)   ที่จังหวัดลำปาง  เมื่อปี ๒๕๔๘ ประเทศที่ให้การสนับสนุนการเงินเพื่อจัดประชุมครั้งนั้นคือประเทศออสเตรเลีย  ในที่นี้ผมเพียงแต่เอาข้อมูลมานำเสนอว่า ประเทศที่มีแหล่งถ่านหินในอันดับต้นๆ ของโลกนั้น ได้แก่ประเทศใดบ้าง

picture
ลำดับประเทศที่มีแหล่งถ่านหินสำรองอันดับแรกๆของโลก  พบว่า ๓ อันดับแรกของโลกคือ ประเทศโรมาเนีย (๓๐.๑%)  ออสเตรเลีย(๒๑.๙%)   จีน (๑๗.๗%)  ที่มา  www.nationmaster.com

สำหรับ ๒ ภาพข้างล่างนี้เป็นเหตุการณ์การแสดงออกของ “คนไม่เอาถ่านหิน” ที่ จ.ลำปาง ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการหนึ่งของการร่วมกันสร้างเชิงนโยบายสาธารณะของเรา

pic

picture
ภาพเหตุการณ์ วันประชุมวิชาการถ่านหินโลก (มกราคม ๒๕๔๘) ที่จังหวัดลำปาง  ซ้ายมือเป็นภาพผู้เสียชีวิตจากโรคหืดหอบ (พร้อมขวดยาที่ใช้แล้ว) ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ  ขวามือเป็นการตั้งแถวรับมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจจากการมาประท้วงของเครือข่าย “คนไม่เอาถ่านหิน” 
ภาพจาก http://www.thaingo.org

แนวโน้มการใช้แหล่งพลังงานต่างๆ ในอนาคตอีก ๗๐ ปีข้างหน้า

เรื่องสุดท้ายสำหรับบทนี้  เป็นการแสดงให้เห็นการใช้พลังงานจากแหล่งต่างๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๙๓ ถึง ๒๖๑๘  กราฟนี้ผมได้มาจากเว็บต์ของประธานาธิบดีอินเดีย

จากกราฟข้างล่างนี้ พบว่าในปัจจุบัน (ปี ๒๐๐๗) พลังงานจากแสงอาทิตย์(ไม่ระบุว่าเป็นชนิดใด) กำลังมีอัตราการใช้ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าแหล่งพลังงานชนิดอื่น(เพราะมีความชันมากกว่าชนิดอื่นๆ) ในขณะที่อัตราการใช้ของพลังงานจาก ถ่านหิน น้ำมัน กำลังลดลง นี่แสดงว่านโยบายการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยกำลังสวนกระแส

picture
โครงสร้างแหล่งพลังงานของโลกในช่วงปี ค.ศ. ๑๘๕๐ ถึง  ๒๐๗๕

ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า พลังงานจากไม้และชีวมวลต่างๆ ซึ่งเคยเป็นแหล่งพลังงานที่มีการใช้กันมากที่สุดในอดีตนับร้อยปี ได้มาถึงจุดต่ำสุดในช่วงปีนี้ แต่กำลังจะได้รับความนิยมใหม่อีกครั้งหนึ่งในอนาคต

นี่เป็นแนวโน้มในอนาคตที่ช่วยเสริมสร้างกำลังใจอย่างดีให้กับกลุ่มประชาสังคม ที่ทำงานรณรงค์และผลักดันเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น

 

----------

[1] ข้อมูลปี ๒๕๔๗  จาก  http://www.nationmaster.com/graph/eco_gdp-economy-gdp-nominal   (หมายเหตุ ไม่มีข้อมูลปีเดียวกัน แต่ถึงจะเป็นคนละปีก็พออนุโลมเทียบกันได้)

[2] ฉบับที่ ๑๖ น้ำมัน , กรกฎาคม ๒๕๔๔ หน้า ๑๕

[3] The Real Reasons Why Iran is the Next Target: The Emerging Euro-denominated International Oil Marker, โดย William Clark www.globalresearch.ca   เมื่อ   27 October 2004

[4] http://nationalpriorities.org/index.php?option=com_wrapper&Itemid=182

[5] ในขณะที่ประเทศไทยใช้น้ำมันในปี ๒๕๔๘ เฉลี่ยวันละ  ๗๔ ล้านลิตร (๑ บาร์เรล เท่ากับ ๑๕๙ ลิตรโดยประมาณ) 

[6] ที่มา http://www.wtrg.com/oil_graphs/PAPRPOP90.gif   กลุ่มโอเปก ประกอบด้วยสมาชิก ๑๑ ประเทศคือ Algeria, Indonesia, Iran, Iraq, Kuwait, Libya, Nigeria, Qatar, Saudi Arabia, the United Arab Emirates, and Venezuela. 

บล็อกของ ประสาท มีแต้ม

ประสาท มีแต้ม
    “คดีโลกร้อน” เป็นชื่อที่ใช้เรียกคดีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นโจทก์ฟ้องผู้บุกรุกป่า ผู้บุกรุกต้องชดใช้ค่าเสียหาย  ที่ผ่านมามีเกษตรกรถูกฟ้องดำเนินคดีไปแล้วหลายสิบรายทั่วประเทศ ในช่วงปี 2549-52 ในจังหวัดตรังและพัทลุงมีราษฎรถูกดำเนินคดีไปแล้ว 13 ราย ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว 7 ราย และอยู่ระหว่างดำเนินคดี 6 ราย กรมอุทยานฯ ได้เรียกค่าเสียหาย 20.306 ล้านบาท แต่ศาลพิพากษาให้จ่าย 14.76 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี
ประสาท มีแต้ม
    ขณะนี้รัฐบาลกำลังคิดค้นโครงการประชานิยมหลายอย่าง คาดว่าจะประกาศรายละเอียดภายในต้นปี 2554   ทั้งนี้เพื่อรองรับการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี ทำไปทำมานโยบายประชานิยมที่เริ่มต้นอย่างประปรายตั้งแต่รัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช (2518) และเริ่มเข้มข้นมากขึ้นในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จะเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้เสียแล้ว บทความนี้จะกล่าวถึงนโยบายประชานิยมในเรื่องค่าไฟฟ้าสำหรับผู้อยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้ารายย่อยไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน โครงการนี้เกิดในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช (2551) และใช้ต่อกันมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบันและในอนาคตด้วย ผมได้มีโอกาสคุยกับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยในชนบท…
ประสาท มีแต้ม
    คำนำ เป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่า ขณะนี้สังคมไทยเรากำลังมีความขัดแย้งรุนแรงครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ จนรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นมาหลายชุด หนึ่งในนั้นคือ คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) โดยมีคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการชุดนี้ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นขึ้น โดยขึ้นคำขวัญซึ่งสะท้อนแนวคิดรวบยอดของการปฏิรูปประเทศไทยว่า “ลดอำนาจรัฐ ขจัดความเหลื่อมล้ำ” ผมเองได้ติดตามชมการถ่ายทอดโทรทัศน์จากรายการนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ ได้ทราบถึงเจตนารมณ์ในการรับฟังความคิดเห็น ได้ชมวีดิทัศน์ที่บอกถึง “ความเหลื่อมล้ำ” …
ประสาท มีแต้ม
  “...ถ้าอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงขึ้น 1 องศาเซียลเซียส ความถี่ที่จะเกิดพายุชนิดรุนแรงจะเพิ่มขึ้นอีก 31% ... ในปี พ.ศ. 2643 อุณหภูมิดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 2 องศา”   “ผลการวิจัยพบว่า ค่าความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจจะมากกว่าผลผลิตทางเศรษฐกิจของคนทั้งโลก ทั้งนี้ภายในก่อนปี พ.ศ. 2608”  
ประสาท มีแต้ม
ขณะนี้ทางรัฐบาลโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (หรือ กฟผ.) กำลังเสนอให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ขนาด 700 เมกกะวัตต์  ชาวหัวไทรที่ไม่คุ้นเคยกับเรื่องนี้อาจเกิดความสงสัยหลายอย่าง เป็นต้นว่า 1.โรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกกะวัตต์นั้น มันใหญ่เท่าใด ไฟฟ้าที่ผลิตมาได้จะใช้ได้สักกี่ครอบครัวหรือกี่จังหวัด
ประสาท มีแต้ม
    คำว่า “ไฟต์บังคับ” เป็นภาษาในวงการมวย  หมายความว่าเมื่อนักมวยคนหนึ่ง(มักจะเป็นแชมป์) ถูกกำหนดโดยองค์กรที่เกี่ยวข้องว่า ครั้งต่อไปนักมวยคนนี้จะต้องชกกับใคร จะเลี่ยงไปเลือกชกกับคนอื่นที่ตนคิดว่าได้เปรียบกว่าไม่ได้
ประสาท มีแต้ม
  ๑.  คำนำ บทความนี้ประกอบด้วย 6 หัวข้อย่อย ท่านสามารถอ่านหัวข้อที่ 6 ก่อนก็ได้เลย เพราะเป็นนิทานที่สะท้อนปัญหาระบบการศึกษาได้ดี เรื่อง “โรงเรียนสัตว์”   ถ้าท่านรู้สึกสนุกและเห็นคุณค่าของนิทานดังกล่าว (ซึ่งทั้งแสบ ทั้งคัน) จึงค่อยกลับมาอ่านหัวข้อที่ 2  จนจบ หากท่านไม่เกิดความรู้สึกดังกล่าว  ก็โปรดโยนทิ้งไปได้เลย ๒. ปัญหาของการศึกษากระแสหลักคืออะไร
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ ชื่อบทความนี้อาจจะทำให้บางท่านรู้สึกว่าเป็นการทอนพลังของการปฏิรูป ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ แต่ผมขอเรียนว่า ไม่ใช่การทอนพลังครับ แต่เป็นการทำให้การปฏิรูปมีประเด็นที่เป็นรูปธรรม สัมผัสได้ชัดเจน สามารถปฏิบัติได้ง่าย รวดเร็ว  เมื่อเทียบกับการปฏิรูปมหาวิทยาลัย ปฏิรูปการศึกษาที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล ผมได้ตรวจสอบประเด็นของการปฏิรูปของคณะกรรมการชุดที่คุณหมอประเวศ วะสี เป็นประธานแล้วพบว่า ไม่มีประเด็นเรื่องนโยบายพลังงานเลย บทความนี้จะนำเสนอให้เห็นว่า (1) ทำไมจะต้องปฏิรูปนโยบายพลังงานในทันที  (2) จะปฏิรูปไปสู่อะไร และ (3) ทำอย่างไร เริ่มต้นที่ไหนก่อน  …
ประสาท มีแต้ม
“ในการเดินทาง เรามักใช้ยานพาหนะช่วย   แต่ในการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical) เราใช้อะไรเป็นเครื่องมือหรือเป็นพาหนะ”
ประสาท มีแต้ม
“คุณรู้ไหม คนเราสามารถคิดได้เร็วกว่าที่อาจารย์พูดถึงสี่เท่าตัว ดังนั้น เราสามารถฟังและจดโน้ตดี ๆ ได้”   1.    คำนำ ในแต่ละปีผมพบว่า นักศึกษาชั้นปีที่หนึ่ง (ซึ่งยังสด ๆ และมองชีวิตในมหาวิทยาลัยแบบสดใสอยู่) จำนวนมากใช้วิธีจดเลคเชอร์ของแต่ละวิชาลงในสมุดเล่มเดียวกัน  เมื่อสอบถามได้ความว่า ค่อยไปลอกและทั้งปรับปรุงแก้ไขลงในสมุดของแต่ละวิชาในภายหลัง  
ประสาท มีแต้ม
1.    คำนำ เราคงยอมรับร่วมกันแล้วว่า ขณะนี้สังคมไทยกำลังมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงทั้งในระดับความคิด ความเชื่อทางการเมือง และวัฒนธรรมซึ่งนักสังคมศาสตร์จัดว่าเป็นโครงสร้างส่วนบน และความขัดแย้งทางเศรษฐกิจที่รวมศูนย์ การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและการทำลายสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของสังคม  ความขัดแย้งเชิงโครงสร้างทั้งสองระดับนี้กำลังวิกฤติสุด ๆ จนอาจพลิกผันนำสังคมไทยไปสู่หายนะได้ในอนาคตอันใกล้นี้
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ ภาพที่ท่านเห็นอยู่นี้เป็นปกหน้าและหลังของเอกสารขนาดกระดาษ A4 ที่หนาเพียง 16 หน้า แม้ว่าหลายท่านอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับศัพท์แสงที่ปรากฏ แต่ผมเชื่อว่าแววตาและท่าทางของเจ้าหนูน้อยในภาพคงทำให้ท่านรู้สึกได้ว่าเธอทึ่งและมีความหวัง บรรณาธิการกรุณาอย่าทำให้ภาพเล็กลงเพื่อประหยัดเนื้อที่ เพราะจะทำให้เราเห็นแววตาของเธอไม่สดใสเท่าที่ควร เอกสารนี้จัดทำโดย “สภาเพื่ออนาคตโลก” หรือ World Future Council (WFC) ค้นหาได้จาก www.worldfuturecouncil.org