Skip to main content

กลไกการควบคุมระบบพลังงานของโลก

เรื่องพลังงานเป็นเรื่องใหญ่และเชื่อมโยงกันหลายมิติหลายสาขาวิชา จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำความเข้าใจกันในช่วงเวลาอันสั้นและจากเอกสารจำนวนจำกัด ในที่นี้ผมจะเริ่มต้นนำเสนอด้วยภาพการ์ตูนและข้อมูลเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย หลังจากนั้นเราจะเข้าใจทันทีว่า (๑) ทำไมกลุ่มพ่อค้าพลังงานทั้งระดับประเทศและระดับโลกจึงมุ่งแต่ส่งเสริมการใช้พลังงานฟอสซิลที่ใช้หมดแล้วหมดเลย ซึ่งได้แก่ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตไฟฟ้า (๒) ทำไมพลังงานจากธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่มีวันหมดหรือหมดแล้วก็สามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ เช่น พลังงานจากพืช พลังงานลมและแสงอาทิตย์ จึงถูกกีดกันและกล่าวหาต่างๆนานา

และ (๓)  ทำไมสงครามอ่าวเปอร์เซีย จึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งกับอิรัก และอิหร่านที่กำลังจ่อคิวตามมาติดๆ

เรามาเริ่มกันที่การ์ตูนกันก่อนเลยครับ  ผมมีคำบรรยายอยู่ใต้รูป

picture
การ์ตูนแสดงการเชิดหุ่น  ผู้เชิดเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกด้านพลังงานชื่อ Enron  โดยที่ในมือถือนโยบายพลังงานอยู่ฉบับหนึ่งด้วย  หุ่นที่ถูกเชิดตัวแรก เป็นพ่อค้าน้ำมันที่มีตำแหน่งเป็นถึงรองประธานาธิบดีสหรัฐด้วย  โดยที่รองประธานาธิบดีได้เชิดหุ่นประธานาธิบดี บูซส์ อีกต่อหนึ่ง ทั้งสามถือนโยบายพลังงานฉบับเดียวกัน  โดยที่หุ่นท่านประธานาธิบดีกล่าวว่า “มันเป็นการบังเอิญเท่านั้นนะ”

ดูภาพนี้แล้วลองย้อนกลับมาดูนโยบายพลังงานของรัฐบาลไทยแต่ละชุดซิครับ ปรากฏว่า ไม่ว่ารัฐมนตรีคนไหนเข้ามารับตำแหน่ง ไม่เคยมีนโยบายที่หนีไปจากแหล่งพลังงานฟอสซิลเลย ต่างก็มุ่งแต่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงทั้งสิ้น จนคุณเจริญ วัดอักษร นักต่อสู้เพื่อมาตุภูมิและสิ่งแวดล้อมที่ถูกสังหารไปแล้ว ได้กล่าวสรุปไว้อย่างคมคายว่า  “ในหัวของคนพวกนี้มีแต่ถ่านหิน”

หลังจากได้ดูการ์ตูนที่สะท้อนปัญหารวมของระบบพลังงานทั้งโลกแล้ว ต่อไปนี้เป็นข้อมูลเสริมเพื่อขยายความภาพรวมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ข้อมูลที่ว่านี้คือข้อมูลการนำเข้าน้ำมันของประเทศต่างๆ ที่มากที่สุด ๑๐ ประเทศ ขอย้ำว่าเป็นข้อมูลการนำเข้า ไม่ใช่การบริโภคเพราะบางประเทศก็มีแหล่งน้ำมันของตนเองด้วย

picture
ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสูงสุด ปี  ๒๕๔๘   สังเกตว่า ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันสูงเป็นอันดับ ๑๐ ของโลก  ที่มา www.nationmaster.com

จากแผนผังก็เป็นไปตามที่ทุกท่านทราบกันแล้วคือ สหรัฐอเมริกานำเข้าสูงถึง ๓๔.๘% ของโลก  รองลงมาคือประเทศญี่ปุ่น (๑๗.๗%) และเยอรมนีเป็นอันดับสาม (๘.๗%)

ที่น่าแปลกใจมากคือ ประเทศไทยเราเองมีการนำเข้าน้ำมันในปี ๒๕๔๘ สูงเป็นอันดับ ๑๐ ของโลก ประมาณ  ๑.๘%  ของโลก ในขณะที่มีรายได้ประชาชาติ [1] อยู่ในอันดับที่ ๓๒ ของโลก

ข้อมูลนี้เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า ประสิทธิภาพการใช้พลังงานหรือการแปลงพลังงานมาเป็นรายได้ของคนไทยเรานั้นน่าเป็นห่วงมาก เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่อาจถือเป็นวาระแห่งชาติก็ยังได้

มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ (Heinrich-Böll Foundation)   จากประเทศเยอรมนีได้สรุปแบบฟันธงไว้ว่า “ความยั่งยืนของระบบพลังงานโลกต้องขึ้นอยู่กับสองยุทธศาสตร์ คือหนึ่งการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ (energy efficiency) และ สอง การใช้พลังงานหมุนเวียน”

เมื่อได้กล่าวถึงประเทศผู้นำเข้าน้ำมันแล้ว  เรามาดูประเทศที่มีแหล่งน้ำมันสำรองกันบ้าง

picture
แสดงอันดับประเทศที่มีแหล่งน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลก
ที่มา Energy Information Administration, International Energy Outlook 2006

จากตาราง เราพบว่าประเทศที่มีแหล่งน้ำมันสำรองสูงสุด ๗ อันดับแรกของโลก คือ ซาอุดิอาระเบีย แคนาดา อิหร่าน อิรัก  คูเวต  สหรัฐอาหรับอิมิเรส  และ เวเนซูเอลา ตามลำดับ  ถ้าเราพิจารณาถึงความสัมพันธ์ของประเทศทั้ง ๗ นี้กับประเทศที่นำเข้าน้ำมันมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก คือสหรัฐอเมริกาแล้ว เราจะพบว่ามีเพียง ๒ ประเภทเท่านั้น คือประเภทที่เป็นมิตรกับสหรัฐอเมริกาอย่างแนบแน่นกับประเภทที่เป็นศัตรูที่สหรัฐอเมริกาเข้าไปแทรกแซง รุกรานและกำลังจะรุกรานทั้งสิ้น สอดคล้องกับคำประกาศของประธานาธิบดีบุสซ์หลังกรณี ๑๑ กันยายน ที่ว่า “ถ้าคุณไม่เป็นพวกเรา คุณก็คือศัตรูของเรา”

วารสารของศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง [2] ได้กล่าวเชิงสรุปว่า “สงครามเพื่อทำลายซัดดัมแห่งอิรัก แท้จริงก็มีต้นตอมาจากการที่อังกฤษ-อเมริกาไม่ต้องการให้มีใครเป็นก้างขวางคอ ในการที่พวกตนจะมีอิทธิพลเหนือผู้ผลิตและผู้ค้าน้ำมันในคูเวตและซาอุดิอารเบียนั่นเอง”

นักวิเคราะห์บางคน เช่น  William Clark [3] เชื่อตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ แล้วว่า สหรัฐอเมริกาที่มีเป้าหมายที่จะรุกรานประเทศอิหร่านด้วยเหตุผลที่ไม่ใช่เครื่องอาวุธนิวเคลียร์ แต่เป็นเพราะอิหร่านกำลังจะหันไปใช้เงินตระกูลยูโรในการค้าน้ำมันแทนการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐที่ลดค่าลงเรื่อยๆ

ดูท่าจะรุกรานประเทศโน้นประเทศนี้อย่างไม่รู้จักจบจักสิ้นตราบใดที่ประเทศสหรัฐอเมริกายังมีความต้องการน้ำมันสูงขนาดนี้   เป็นที่น่าสงสัยว่า ถ้าประเทศอิหร่าน อิรัก ไม่มีแหล่งน้ำมันแล้ว สหรัฐอเมริกาจะทำสงครามด้วยหรือไม่

ถ้าชาวโลกหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนที่ใครก็ไม่สามารถผูกขาดได้ นอกจากจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการป้องกันความขัดแย้งระหว่างประเทศและในโลกได้อีกด้วย 

ภาพการ์ตูนในหน้าถัดไป ตั้งชื่อภาพว่า “ผู้เสพย์ติดสงคราม” ในภาพเป็นรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐอเมริกาคนหนึ่ง พร้อมด้วยมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสงคราอิรัก ภาพนี้สะท้อนความคิดที่ติดเป็นนิสัยของผู้นำสหรัฐได้เป็นอย่างดี

นักวิจารณ์คนหนึ่งบอกว่า ถ้านำงบประมาณที่ใช้ในการบุกอิรักซึ่งมีประมาณ ๐.๒๐๘ ล้านล้านดอลลาร์(นับถึงเดือนมิถุนายน ๒๕๔๘ เท่านั้น) มาทำกังหันลม จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ ๗-๑๑% ของที่ชาวอเมริกันใช้ทั้งประเทศ และเป็นการใช้ได้ตลอดไปจะไม่ดีกว่าหรือ 

ท่านที่สนใจค่าใช้จ่ายในสงคราม สามารถเข้าไปดูได้ จะพบว่าขณะสูงถึงกว่า ๔ แสนล้านดอลลาร์แล้ว [4]

picture

ปัจจุบันทั้งรองประธานาธิบดี ดิกค์  เชนนี และรัฐมนตรีต่างประเทศ ดร. คอนโดลีซซา ไรท์ ต่างก็เคยเป็นบุคคลสำคัญในบริษัทน้ำมันระดับใหญ่ที่สุดในโลก คือ Halliburton และ Chevron ตามลำดับ สำหรับภาพข้างล่างนี้เป็นเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ที่ทางบริษัทได้นำชื่อของเธอมาตั้งเป็นชื่อเรือเพื่อเป็นการให้เกียรติ

picture
เรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ ของบริษัท Chevron ที่นำชื่อ Condoleezza Rice รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะเธอเคยเป็นประธานคณะกรรมการบริหารของบริษัท 
ที่มา http://www.aztlan.net/oiltanker.htm

ศาสตราจารย์ โจเซฟ  สติ๊กลิทซ์  ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์  กล่าวว่า ต้นทุนราคาน้ำมันดิบจะสูงขึ้นประมาณ ๕ ถึง ๑๐ เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลโดยมีสาเหตุมาจากการก่อสงคราม  ดังนั้น ผลกระทบจากสงครามอิรักได้ส่งผลกระทบถึงเราทุกคนทั่วโลก

เชื่อได้แล้วนะครับว่า การเมืองโลกกับพลังงานโลกมีความสัมพันธ์กันแนบแน่นขนาดไหน เรื่องถ่านหินก็มีลักษณะเช่นเดียวกันกับน้ำมันเพียงแต่มีขนาดเล็กกว่า  ดังนั้นผมจะไม่ขอกล่าวถึงในทีนี้

ผมยังมีอีก ๓ ประเด็นที่จะกล่าวเพิ่มเติมในบทนี้ครับ คือ (๑) เรื่องราคาน้ำมันกับจำนวนการผลิตและ (๒) ข้อมูลเกี่ยวกับถ่านหิน และ (๓) แนวโน้มการใช้แหล่งพลังงานต่างๆ ในอนาคตอีก ๗๐ ปีข้างหน้าซึ่งจะช่วยให้เรามองภาพในอนาคตได้ชัดเจนขึ้น

ราคาน้ำมันกับจำนวนการผลิต

ในปี ๒๕๔๘ มีการผลิตน้ำมันทั่วโลกประมาณวันละ ๘๕ ล้านบาร์เรล [5]  มีการคาดการณ์ว่าในปี ๒๕๕๓ จะเพิ่มเป็น ๙๑.๖  ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่น่าจะเพิ่มสูงกว่านี้อีกเพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนและอินเดียที่มีประชากรรวมกันถึง ๔๐% ของโลก

สำหรับปริมาณการผลิตและราคาในช่วง ๑๕ ปี (ค.ศ. ๑๙๙๐-๒๐๐๕) สามารถดูได้จากกราฟในหน้าถัดไป  แต่เป็นข้อมูลของตลาดในกลุ่มโอเปค [6]  เท่านั้น

อนึ่ง กลุ่มโอเปคมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ ๓๗ - ๓๙% ของโลก ดังนั้น หากต้องการทราบจำนวนการผลิตทั่วทั้งโลกก็สามารถคิดสัดส่วนเอาได้

picture

จากกราฟ  ถ้าพิจารณาอย่างผิวเผิน เราจะรู้สึกว่าความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณการผลิตกับราคา(ต่อบาร์เรล) เป็นไปตามกลไกการตลาด คือถ้าราคาสูงก็มีการผลิตเพิ่ม แต่ในความเป็นจริงแล้วมีเหตุการณ์สำคัญต่างๆของโลกทั้งที่มนุษย์สร้างขึ้นเองและมาจากภัยธรรมชาติ

ในประเด็นเรื่องราคากับการผลิต ผมยังมีอีก ๒ กราฟเพื่อขยายความในรายละเอียด ท่านผู้อ่านที่รู้สึกว่าเข้าใจดีแล้ว ก็สามารถข้ามไปดูกราฟสุดท้ายที่เป็นเรื่องอนาคตได้เลยครับ

(กราฟต่อไปเป็นการแสดงราคาน้ำมันดิบในช่วง พ.ศ. ๒๕๔๐ ถึง ๒๕๔๙  เราพบว่าก่อนปี ค.ศ. ๑๙๗๓ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ราคาน้ำมันดิบอยู่ประมาณ ๑๕ ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ได้เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันในปี ๒๕๑๖ เนื่องจากสงครามระหว่างอิสราเอลกับอาหรับและการรวมตัวกันขึ้นราคาน้ำมัน (ตามที่กลุ่ม The Club of Rome คาดหมาย-ในบทที่ ๓)

picture

จากนั้นก็มีเหตุการณ์ต่างๆ เช่น การปฏิวัตพระเจ้าซาร์แห่งอิหร่าน (๑๙๗๙)  สงครามระหว่างอิรัก กับอิหร่าน (ที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุนอิรัก ปี ๑๙๘๐)  รวมทั้งสงครามรุกรานอิรักในปี ๒๕๔๖ การประท้วงของกรรมกรบ่อน้ำมันในเวเนซูเอลา (PDVSA Strike)

 

picture
ราคาน้ำมันดิบในช่วง พ.ศ. ๒๕๔๔ ถึง ๒๕๔๘  พร้อมการขึ้นลงของราคาตามเหตุการณ์สำคัญ


ข้อมูลเกี่ยวกับถ่านหิน

เนื่องจากในประเทศไทยเรายังมีกลุ่มที่สนใจถ่านหิน ถึงขั้นที่รับเป็นเจ้าภาพประชุมวิชาการเรื่องถ่านหินโลก(Coaltrans Thailand)   ที่จังหวัดลำปาง  เมื่อปี ๒๕๔๘ ประเทศที่ให้การสนับสนุนการเงินเพื่อจัดประชุมครั้งนั้นคือประเทศออสเตรเลีย  ในที่นี้ผมเพียงแต่เอาข้อมูลมานำเสนอว่า ประเทศที่มีแหล่งถ่านหินในอันดับต้นๆ ของโลกนั้น ได้แก่ประเทศใดบ้าง

picture
ลำดับประเทศที่มีแหล่งถ่านหินสำรองอันดับแรกๆของโลก  พบว่า ๓ อันดับแรกของโลกคือ ประเทศโรมาเนีย (๓๐.๑%)  ออสเตรเลีย(๒๑.๙%)   จีน (๑๗.๗%)  ที่มา  www.nationmaster.com

สำหรับ ๒ ภาพข้างล่างนี้เป็นเหตุการณ์การแสดงออกของ “คนไม่เอาถ่านหิน” ที่ จ.ลำปาง ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการหนึ่งของการร่วมกันสร้างเชิงนโยบายสาธารณะของเรา

pic

picture
ภาพเหตุการณ์ วันประชุมวิชาการถ่านหินโลก (มกราคม ๒๕๔๘) ที่จังหวัดลำปาง  ซ้ายมือเป็นภาพผู้เสียชีวิตจากโรคหืดหอบ (พร้อมขวดยาที่ใช้แล้ว) ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ  ขวามือเป็นการตั้งแถวรับมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจจากการมาประท้วงของเครือข่าย “คนไม่เอาถ่านหิน” 
ภาพจาก http://www.thaingo.org

แนวโน้มการใช้แหล่งพลังงานต่างๆ ในอนาคตอีก ๗๐ ปีข้างหน้า

เรื่องสุดท้ายสำหรับบทนี้  เป็นการแสดงให้เห็นการใช้พลังงานจากแหล่งต่างๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๙๓ ถึง ๒๖๑๘  กราฟนี้ผมได้มาจากเว็บต์ของประธานาธิบดีอินเดีย

จากกราฟข้างล่างนี้ พบว่าในปัจจุบัน (ปี ๒๐๐๗) พลังงานจากแสงอาทิตย์(ไม่ระบุว่าเป็นชนิดใด) กำลังมีอัตราการใช้ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าแหล่งพลังงานชนิดอื่น(เพราะมีความชันมากกว่าชนิดอื่นๆ) ในขณะที่อัตราการใช้ของพลังงานจาก ถ่านหิน น้ำมัน กำลังลดลง นี่แสดงว่านโยบายการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยกำลังสวนกระแส

picture
โครงสร้างแหล่งพลังงานของโลกในช่วงปี ค.ศ. ๑๘๕๐ ถึง  ๒๐๗๕

ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า พลังงานจากไม้และชีวมวลต่างๆ ซึ่งเคยเป็นแหล่งพลังงานที่มีการใช้กันมากที่สุดในอดีตนับร้อยปี ได้มาถึงจุดต่ำสุดในช่วงปีนี้ แต่กำลังจะได้รับความนิยมใหม่อีกครั้งหนึ่งในอนาคต

นี่เป็นแนวโน้มในอนาคตที่ช่วยเสริมสร้างกำลังใจอย่างดีให้กับกลุ่มประชาสังคม ที่ทำงานรณรงค์และผลักดันเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น

 

----------

[1] ข้อมูลปี ๒๕๔๗  จาก  http://www.nationmaster.com/graph/eco_gdp-economy-gdp-nominal   (หมายเหตุ ไม่มีข้อมูลปีเดียวกัน แต่ถึงจะเป็นคนละปีก็พออนุโลมเทียบกันได้)

[2] ฉบับที่ ๑๖ น้ำมัน , กรกฎาคม ๒๕๔๔ หน้า ๑๕

[3] The Real Reasons Why Iran is the Next Target: The Emerging Euro-denominated International Oil Marker, โดย William Clark www.globalresearch.ca   เมื่อ   27 October 2004

[4] http://nationalpriorities.org/index.php?option=com_wrapper&Itemid=182

[5] ในขณะที่ประเทศไทยใช้น้ำมันในปี ๒๕๔๘ เฉลี่ยวันละ  ๗๔ ล้านลิตร (๑ บาร์เรล เท่ากับ ๑๕๙ ลิตรโดยประมาณ) 

[6] ที่มา http://www.wtrg.com/oil_graphs/PAPRPOP90.gif   กลุ่มโอเปก ประกอบด้วยสมาชิก ๑๑ ประเทศคือ Algeria, Indonesia, Iran, Iraq, Kuwait, Libya, Nigeria, Qatar, Saudi Arabia, the United Arab Emirates, and Venezuela. 

บล็อกของ ประสาท มีแต้ม

ประสาท มีแต้ม
เคยมีคนไปถาม อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ว่า “ท่านคิดว่าสิ่งประดิษฐ์ใดของมนุษย์ที่มีอำนาจในการทำลายล้างมากที่สุด” ผู้ถามคงจะคาดหวังว่าไอน์สไตน์น่าจะตอบว่า “ระเบิดนิวเคลียร์” เพราะเขามีส่วนเกี่ยวข้องในการประดิษฐ์คิดค้นอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย แต่ไอน์สไตน์กลับตอบว่า “สูตรดอกเบี้ยทบต้น”
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ เมื่อกลางเดือนธันวาคม ปี 2552 ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุม “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ในงานนี้ได้มีโอกาสฟังปาฐกถาจากประธานศูนย์ศึกษาประเทศภูฎาน คือท่าน Dasho Karma Ura
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ “รักเจ้าจึงปลูก” เป็นชื่อโครงการที่ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กำลังครุ่นคิดเพื่อใช้ในการพัฒนาคุณภาพนักศึกษา ผมเองได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้มา 2 ตอนแล้ว
ประสาท มีแต้ม
  1. คำนำ       ภาพที่เห็นคือบริเวณชายหาดชลาทัศน์ อ.เมือง จังหวัดสงขลา (ถ่ายเมื่อพฤศจิกายน 2552) หาดนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญมากของชาวเมืองสงขลา อยู่ทางตอนใต้ของหาดสมิหลาที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักดีประมาณหนึ่งกิโลเมตร สิ่งที่เห็นในภาพที่มีถุงทรายสีขาว ยางรถยนต์เก่ายึดด้วยไม้หลักปักทราย รวมทั้งรูปต้นสนล้ม คงสะท้อนทั้งความรุนแรงของปัญหาและความพยายามแก้ปัญหาของผู้ที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี
ประสาท มีแต้ม
1. ความเดิม ในตอนที่ 1 ผมได้นำข้อมูลที่มาจากงานวิจัยของกระทรวงศึกษาธิการที่พบว่า นักเรียนทุกระดับชั้นของประเทศไทย ทั้งระดับ ป.6 , ม.3 และมัธยมปลายมีคะแนนเฉลี่ยไม่ถึงครึ่งทุกวิชา โดยวิชาที่สอบได้คะแนนน้อยที่สุดคือวิชาคณิตศาสตร์ ได้เพียงร้อยละ 29.6 เท่านั้น ในตอนที่ 2 นี้ ผมจะกล่าวถึงปัญหาที่ได้ตั้งไว้ในชื่อบทความ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณภาพการศึกษาเราตกต่ำ นอกจากนี้ ผมได้นำเสนอความคิดเห็นและความพยายามของผู้บริหารระดับสูงสุดของมหาวิทยาลัยด้วย
ประสาท มีแต้ม
๑. คำนำ ผมขอเรียนกับท่านผู้อ่าน “ประชาไท” ตามตรงว่า ผมใช้เวลานานมากในการคิดว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี เขียนทิ้งเขียนขว้างไปหลายชิ้น ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเพราะว่าผมสับสนในตัวเอง ไม่ทราบว่าจะนำเสนออะไรดีให้เข้ากับสถานการณ์บ้านเมือง
ประสาท มีแต้ม
๑. ปัญหาในภาพเล็ก ที่ภาควิชาที่ผมทำงานอยู่คือ ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กำลังคิดทำโครงการที่จะพัฒนานักศึกษานอกเหนือจากรายวิชาและกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่ทำกันอยู่ตามปกติแล้ว โครงการยังไม่เป็นรูปเป็นร่างดีนัก แต่ชื่อโครงการก็ค่อนข้างจะเห็นตรงกันคือ “โครงการรักเจ้าจึงปลูก” ที่มาจากเนื้อเพลง “อิ่มอุ่น” ของ ศุ บุญเลี้ยง
ประสาท มีแต้ม
ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีวิชาบังคับให้นักศึกษาต้องเรียนอยู่วิชาหนึ่งจำนวน 3 หน่วยกิต ชื่อว่า “วิชาวิทยาเขตสีเขียว (greening the campus)” วัตถุประสงค์หลักของวิชานี้ก็คือ ให้นักศึกษาลุกขึ้นมาศึกษาปัญหาส่วนรวมหรือปัญหาสาธารณะที่อยู่ในวิทยาเขตของตนเอง แต่โดยมากมักจะเน้นไปที่ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาการจราจร ปัญหาขวดน้ำพลาสติกที่มีมากอย่างไม่น่าเชื่อ ปัญหาการประหยัดพลังงาน และกระดาษ เป็นต้น
ประสาท มีแต้ม
ทั้ง ๆ ที่ประเทศเรากำลังประสบกับวิกฤติหลายด้าน ทั้งความขัดแย้งทางการเมือง วิกฤติเศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เป็นต้น แต่สื่อกระแสหลักก็ให้ความสำคัญกับข่าวความขัดแย้งในการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมทั้งความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลโดยไม่มีอะไรใหม่สร้างสรรค์ให้กับสังคม
ประสาท มีแต้ม
ในขณะที่กระแสสังคมส่งสัญญาณไม่พอใจกับราคาน้ำมันที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบตามคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ลดการนำเงินเข้ากองทุนน้ำมันและกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในส่วนของ ดีเซล ลิตรละ 2 บาท
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำขณะนี้หลายท่านคงจะรู้สึกกังวลร่วมกันว่า ราคาน้ำมันกำลังมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นจนอาจถึงหรือสูงกว่าเมื่อกลางปี 2551 (ดูกราฟประกอบ-ต่ำสุดเดือนธันวาคม 2551 ที่ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จนมาถึงเกือบ 80 ในเดือนสิงหาคมปีนี้)   ซึ่งจะนำความเดือดร้อนมาสู่เรามากน้อยแค่ไหนก็คงพอจะนึกกันออก
ประสาท มีแต้ม
ผมได้รับเชิญจากคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อ"ชี้แจงแสดงความคิดเห็น" เรื่อง ค่าการกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อ 1 กรกฎาคม 52 คนนอกที่นอกจากผมแล้วก็มีอีก 6 -7 ท่าน ได้แก่ผู้แทนกระทรวงพลังงาน ผู้แทนบริษัทบางจาก, บริษัท ปตท. นายกสมาคมผู้ค้าน้ำมันแห่งประเทศไทย, คุณรสนา โตสิตระกูล และนักวิชาการปิโตรเลียม เป็นต้น