1. คำนำ
ภาพที่เห็นคือบริเวณชายหาดชลาทัศน์ อ.เมือง จังหวัดสงขลา (ถ่ายเมื่อพฤศจิกายน 2552) หาดนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญมากของชาวเมืองสงขลา อยู่ทางตอนใต้ของหาดสมิหลาที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักดีประมาณหนึ่งกิโลเมตร สิ่งที่เห็นในภาพที่มีถุงทรายสีขาว ยางรถยนต์เก่ายึดด้วยไม้หลักปักทราย รวมทั้งรูปต้นสนล้ม คงสะท้อนทั้งความรุนแรงของปัญหาและความพยายามแก้ปัญหาของผู้ที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี
\\/--break--\>
รศ.ดร. สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ (วิศวกรทางทะเล จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) ได้นำปัญหานี้มาเล่าในชั้นเรียนวิทยาลัยวันศุกร์หลายครั้งแล้ว ครั้งล่าสุด ( 4 ธันวาคม 52) ท่านบอกว่า ถ้ายังแก้ปัญหากันอยู่อย่างนี้ อีกประมาณ 5 ปี หาดสมิหลาที่ทุกคนรู้จักดีจะต้องหมดไป
ผมเองได้รับฟังเรื่องนี้มาแล้วหลายครั้ง แต่รู้สึกว่าไม่มีความมั่นใจที่จะเขียนเรื่องนี้ หรือแม้แต่จะนำมาเล่าให้ท่านทั้งหลายทราบ เพราะเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนมาก
ในฐานะอาจารย์คณิตศาสตร์ประยุกต์ ผมมีความรู้เรื่องนี้น้อยมาก แม้จะเคยลงเรียนวิชา "สมุทรศาสตร์เชิงกายภาพ" มาบ้างแล้วก็ตาม
เมื่อวันหยุดที่ผ่านมา หลังจากได้ลงไปดูพื้นที่กัดเซาะที่บ้านเกิดของผม (อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช) และได้คุยความหลังกับพี่ชาย กับชาวประมงและชาวบ้าน ทำให้ผมกล้าตัดสินใจเขียนเรื่องนี้ เพราะประสบการณ์จริงกับหลักวิชาการที่ อาจารย์สมบูรณ์เล่ามานั้นสอดคล้องกันอย่างมาก
โจทย์ที่ผมจะนำเสนอในที่นี้มี 3 ประเด็นคือ
1. ทรายที่อยู่ตามชายหาดมาจากไหน
2. ปัจจัยใดบ้างที่มีผลต่อการไหลของน้ำในอ่าวไทย
3. จริงหรือที่ว่าคลื่นในทะเลเป็นต้นเหตุของการกัดเซาะ
2. ทรายที่อยู่ตามชายหาดมาจากไหน
ก่อนอื่น เพื่อให้ง่ายต่อการอธิบายผมขอนำเสนอ 2 ภาพนี้
ภาพแรกมาจาก google Earth เป็นภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณปากน้ำ บ้านนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่เห็นเป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าพุ่งออกไปในทะเล คือ เขื่อนกันทรายไม่ให้เคลื่อนไปปิดปากคลองนาทับ ที่เห็นสีขาว ๆ ทางตอนล่างขวามือของภาพเป็นทราย ที่ไหลมาจากทิศใต้(ทางใต้ของรูป) แต่ทรายนี้ไม่สามารถไหลต่อไปทางตอนเหนือของภาพเพราะมีคันกั้นไว้ เมื่อกระแสน้ำที่เกิดจากคลื่นไหลมาชนกับเขื่อนกันทราย ทิศทางของกระแสน้ำก็ถูกเปลี่ยนไปและไหลเชี่ยวขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้ทรายชายหาดทางตอนเหนือของภาพ (และทางทิศเหนือของประเทศ) ถูกกระแสน้ำกัด
ทางราชการจึงได้ทำเป็นเขื่อนหินกันคลื่นเป็นช่วง ๆ ขนานกับชายฝั่ง ดังรูป คำอธิบายนี้จะง่ายขึ้นหากดูภาพที่สอง (ซึ่งเป็นภาพถ่ายจากพื้นที่ชายฝั่งบ้านนาทับไปทางทิศเหนือถึงบ้านเกาะแต้วเป็นระยะทาง 5 กิโลเมตร)
ดร.สมบูรณ์ ได้ข้อสรุปว่า สาเหตุของการกัดเซาะเพราะทรายจากตอนล่าง (ทิศใต้)ไม่สามารถไหลไปทดแทนทางตอนเหนือได้และจากการเปลี่ยนทิศทางของกระแสน้ำเนื่องจากเขื่อนหินเหล่านั้น การเคลื่อนที่ของทรายบริเวณนี้สาเหตุหลักเกิดจากกระแสน้ำชายฝั่ง (long-shore current) ไม่ได้เกิดจากคลื่นที่เรามองเห็นเป็นลูก ๆ ซึ่งจะกล่าวถึงอีกครั้งในสองหัวข้อที่เหลือ
ผมเปรียบเทียบว่า "อ้อ เหมือนบัญชีธนาคารเลย ถ้ามีแต่การถอน (คือการกัดเซาะ) แต่ไม่มีการฝาก(คือการเพิ่มทราย) บัญชีก็ไม่สมดุล และจะเป็นตัวแดงในที่สุด"
ดร. สมบูรณ์ว่า "ถูกต้องเลย" พร้อมกับตั้งคำถามต่อไปว่า
"แล้วทรายมาจากไหน"
"มาจากแม่น้ำ มาจากภูเขา" ดร.สมบูรณ์เฉลยเสร็จสรรพ
ผมกลับบ้านไปทวนความหลังกับพี่ชาย ได้ความว่า ที่บ้านผมซึ่งตั้งอยู่ตอนปลายสุดของส่วนที่เรียกว่า "บาง" (ส่วนที่แยกย่อยออกมาจากคลอง ซึ่งคลองแยกออกมาจากแม่น้ำอีกทีหนึ่ง) เราทั้งสองจำความได้ว่าเคยเล่นทรายในบริเวณนั้นเป็นประจำ ทั้ง ๆ ที่รอบ ๆ กองทรายนั้นมีแต่ดินเหนียวกับดินโคลน หรายเหล่านี้ต้องมาจากแม่น้ำแน่นอน
ถ้าข้อสรุปนี้เป็นจริง การที่ประเทศเรามีเขื่อนและฝายมากมายในบริเวณป่าเขา ก็น่าจะเป็นไปได้ที่ทำให้ทรายในทะเลขาดสมดุล
เมื่อหลายปีก่อน ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ ได้เคยบอกว่า "ประเทศจีนทำเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศของเขา ทำให้ตะกอนทรายไม่ไหลลงทะเลแถว ๆ ปากแม่น้ำ"
ผมต้องขอออกตัวซ้ำอีกครั้งนะครับว่า นี่เป็นการอนุมานเอาจากประสบการณ์และวิชาการบางส่วน ไม่ใช่เป็นข้อสรุปโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แต่มันอาจจะเป็นจริงก็ได้ ท่านผู้อ่านโปรดพิจารณาเอาเอง
ถ้าจะให้สรุปในตอนนี้ ก็น่าจะได้ว่า สาเหตุของการกัดเซาะชายหาด มาจากการเสียสมดุลทางธรรมชาติระหว่างภูเขากับทะเลที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์นั่นเอง (หมายเหตุ การขาดทรายจากภูเขาทำให้หาดหดสั้นลงช้าๆปีละครึ่งเมตร ขณะที่การสร้างเขื่อนกันทรายและกันคลื่นที่ปากแม่น้ำและชายฝั่งต่างๆจะทำให้หาดทรายถูกกัดเซาะปีละ 10 -20 เมตร)
3. ปัจจัยใดบ้างที่มีผลต่อการไหลของน้ำในอ่าวไทย
ถ้าจะดูว่ากระแสน้ำในอ่าวไทยมีความสลับซับซ้อนขนาดไหน ก็โปรดดูรูปข้างล่างนี้ก่อน
ที่เห็นสีทึบๆ ในภาพเป็นแผ่นดิน สีขาว ๆ เป็นทะเล ลูกศรแสดงทิศทางของกระแสน้ำ (ระดับผิวน้ำ) ภาพเล็ก ๆ เป็นทิศทางลมในเดือนเมษายน ค.ศ. 1961 เป็นข้อมูลที่ได้จากการตรวจวัดในรายงาน Naga Report (ค้นได้จาก google)
เราจะเห็นว่า ทิศทางของกระแสลมกับกระแสน้ำคล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน กระแสน้ำมีความซับซ้อนมากกว่า กระแสน้ำชายฝั่งที่มีผลต่อหาดเกิดจากคลื่น ที่เคลื่อนทำมุมเข้าหาฝั่ง ซึ่งจะมีอิทธิพลในระยะไม่เกิน 0.5 ก.ม. เท่านั้น
ถ้าจะถามว่าปัจจัยใดบ้างที่ทำให้เกิดกระแสน้ำในทะเล ผมขอตอบสั้น ๆ (โปรดอ่านอย่างช้า ๆ นะครับ) ว่าเกิดจาก 4 ปัจจัยหลักดังนี้
1. ขึ้นกับรูปทรงทางเรขาคณิต ความลึก ความกว้าง ตลอดจนความเว้า ๆ แหว่ง ๆ ล้วนมีผล การก่อสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำก็มีผล(รุนแรงเสียด้วย)
2. น้ำขึ้น-น้ำลง อันเป็นผลมาจากดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ เมื่อคิดถึงระบบมหาสมุทร อ่าวไทยก็เหมือนกับแม่น้ำทั่วไป คือมีน้ำขึ้นน้ำลง ในอ่าวไทยแต่ละวันจะมีน้ำขึ้น 2 ครั้ง ลง 2 ครั้ง ชาวประมงทราบเรื่องนี้ดี บางครั้งอวนที่วางไว้ถูกกระแสน้ำดึงไปแรงมาก
ชาวบ้านที่เคยไปวางท่อทำนากุ้งบอกว่า "ผมเกือบตายเพราะน้ำเชี่ยวแทงหลุดออกไปจากเสาหลัก ถ้าไม่มีใครมาช่วยผมตายแล้ว"
ชาวประมงบอกผมว่า พื้นทะเลเป็นดินโคลนสูงประมาณครึ่งฟุต ใต้ลงไปอีกเป็นดินเหนียว นี่เป็นการยืนยันว่า "ทรายมาจากภูเขา"
3. ความเร็วลม ประเทศเราอยู่ในเขตมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ กับตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากนี้ในช่วงเดือนเมษายนจะมีลมสำเภาพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
เมื่อลมพัด น้ำก็จะไหล ตำราสมุทรศาสตร์ที่ผมพอจำได้บ้าง บอกว่า (1) ความเร็วของกระแสน้ำ(ที่ผิว) จะประมาณ 3% ของความเร็วลม ถ้าความเร็วลมเท่ากับ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วของกระแสน้ำก็ประมาณ 0.2 เมตรต่อวินาที (2) บริเวณใดที่เป็นน้ำตื้นน้ำจะไหลตามลม และเพื่อให้เป็นไปตามทฤษฎีความต่อเนื่องของน้ำ ส่วนน้ำในที่ลึกกว่าจะไหลทวนลม (ซับซ้อนครับ และดูรูปในแผนที่อีกครั้งว่าซับซ้อนแค่ไหน) ในบริเวณแคบ ๆ น้ำจะไหลเร็วกว่าที่กว้าง ๆ
4. เกิดจากแรงเหวี่ยงของโลก เหนือเส้นศูนย์สูตรก็ไปทางหนึ่ง ใต้เส้นศูนย์สูตรก็อีกทางหนึ่ง
4. จริงหรือที่ว่าคลื่นในทะเลเป็นต้นเหตุของการกัดเซาะ
คลื่นที่เราเห็นในทะเลเกิดจากลม วันไหนลมแรงคลื่นก็แรง การเคลื่อนตัวของคลื่นไปตามทิศทางลมและรูปทรงเรขาคณิตของทะเล ในอ่าวไทยโดยมากคลื่นเกือบจะตั้งฉากกับชายฝั่ง
ในฤดูร้อน เราจะเห็นทรายไปกองเป็น "หาดนอกชายฝั่ง" โผล่พ้นน้ำห่างจากชายฝั่งประมาณ 100 เมตร สมัยเด็ก ๆ ผมก็เคยไปเล่น ไปหาหอย กว่าจะไปถึงก็ต้องผ่านน้ำลึกท่วมหัวไปก่อน ชาวประมงบอกว่าทุกวันนี้ก็ยังมี แต่ผมลืมถามไปว่า ขนาดใหญ่หรือเล็กกว่าเดิม
คำถามก็คือว่า ทรายบนหาดนอกชายฝั่งนี้มาจากไหน? ผมคิดว่าน่าจะมาจากแม่น้ำ
ในฤดูมรสุมซึ่งเป็นช่วงที่คลื่นใหญ่ลมแรง เราพบว่า (1) "หาดนอกชายฝั่ง" หายไป (2) ชายหาดส่วนมากกลับมีทรายมากกว่าเดิม (3) ที่ถูกกัดเซาะคือบริเวณที่เป็นต้นไม้ขึ้น (เลยขึ้นมาบนแผ่นดิน)
ดังนั้น ในช่วงมรสุมนอกจากคลื่นจะไม่กัดเซาะแล้ว ยังช่วยนำทรายจากหาดนอกขึ้นมากองบนชายหาดอีกด้วย
ทรายที่ถูกกัดดังที่เราเห็นในรูปที่สอง มาจากสาเหตุของกระแสน้ำเนื่องจากคลื่นชายฝั่งซึ่งลมเป็นตัวกำเนิด บางจังหวะกระแสน้ำที่เกิดจากลมกับกระแสน้ำที่เกิดจากน้ำขึ้นน้ำลงมาเสริมกัน กระแสน้ำยิ่งเชียวมากขึ้น
5. สรุป
ในตอนท้ายของการเสวนา อาจารย์สมบูรณ์สรุปว่า ถ้าสังคมต้องการจะเก็บรักษาชายหาดไว้ให้ลูกหลานได้ชม ได้พักผ่อน ได้เข็นเรือประมง ก็อย่าทำให้ทรายเสียสมดุล อย่าไปสร้างสิ่งกีดขวางทางเดินของทราย
แต่ถ้าสังคมไม่ต้องการชายหาดทรายแล้ว แต่ต้องการเฉพาะฝั่งที่เป็นแผ่นดิน ต้องการถนน ทางวิศวกรรมสามารถออกแบบได้
สุดท้ายอาจารย์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ปัญหาชายหาดตกอยู่ในมือของนักการเมืองที่ขาดความรู้ทางวิชาการ หรือนักวิชาการจงใจที่จะแก้ปัญหาหนึ่งเพื่อให้เกิดปัญหาใหม่ แล้วจะได้มี "งานเข้า" ตลอดไป
ในขณะที่พลเมืองที่มีความรู้ความเข้าใจก็ไม่มีเครื่องมือในการสื่อสารใด ๆ ให้สาธารณะได้ทราบ นี่ก็เป็นการเสียสมดุลทางสังคมอีกอย่างหนึ่ง
ประโยคสุดท้ายนี้เป็นข้อสรุปของผมเองครับ