Skip to main content

บล็อกกาซีน ประชาไท

ประสาท มีแต้ม
๑ คำนำ: วิธีการศึกษา-วิธีการเคลื่อนไหว ภาพถ่ายข้างบนนี้มาจากภาพยนตร์สารคดีด้านสิ่งแวดล้อม เรื่อง “ความจริงที่ยอมรับได้ยาก (An Inconvenient Truth)” ที่เพิ่งได้รับรางวัลออสการ์ (Oscars award) ไปหลายรางวัลเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๐   ในภาพมีเรือหลายลำวาง(เคยจอด)อยู่บนทรายที่มีลักษณะน่าจะเคยเป็นคลองมาก่อน   นอกจากจะสร้างความฉงนใจให้กับผู้ชมว่ามันเป็นไปได้อย่างไรแล้ว    ยังมีประโยคเด็ดที่ได้รับการอ้างถึงอยู่บ่อย ๆ ของกวีชาวอเมริกัน [1] มีความหมายเป็นไทยว่า “เป็นการยากที่จะทำให้ใครสักคนหนึ่งเข้าใจบางสิ่งบางอย่าง ในเมื่อผลประโยชน์ของเขาขึ้นอยู่กับความไม่เข้าใจในสิ่งนั้นของเขาเอง”ในปี ๒๕๔๙  มูลค่าการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของประเทศไทยสูงถึง ๑.๔๘๘ ล้านล้านบาท [2] เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง ๑๗ %  คิดเป็นประมาณ ๑๙ % ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ (จีดีพี)นั่นคือ ทุกๆ ๑๐๐ บาทของรายได้ เราจ่ายเป็นค่าเชื้อเพลิงถึง ๑๙ บาท ซึ่งถือว่าเป็นหมวดค่าใช้จ่ายที่สูงมากเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในหมวดอื่น ๆ อีกหลายหมวด เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย การศึกษา ยารักษาโรค เป็นต้นและสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่นสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เป็นต้นปัญหาพลังงานไม่ได้อยู่ที่ค่าใช้จ่ายที่สูงมากเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อม (ซึ่งส่วนหนึ่งอยู่ในรูปถ่ายที่นำเสนอมาแล้ว) ที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกขณะ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความขัดแย้งทั้งในระดับชุมชนรอบๆ โรงไฟฟ้า จนถึงการก่อสงครามระหว่างประเทศและภูมิภาคอีกด้วยนี่ก็เป็นความจริงหนึ่งที่ประเทศผู้ก่อสงครามแกล้งทำเป็นไม่เข้าใจ เหมือนกับที่ท่านนักประพันธ์ดังกล่าวถึง เรื่องนโยบายสาธารณะ [3] ด้านพลังงานของประเทศไทย และอีกหลายประเทศทั่วโลก  ไม่เพียงแต่เป็น “ความจริงที่ยอมรับได้ยาก” เท่านั้น   แต่ยังมีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับผลประโยชน์จากนโยบายสาธารณะด้านพลังงานคอยกีดกัน ด้วยวิธีการต่างๆนานาไม่ให้สาธารณะชนได้รับทราบความจริงอีกต่างหากอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์  ได้วิจารณ์นโยบายพลังงานของรัฐบาลต่างๆ ว่า “. . . ทำให้พลังงานเป็นเรื่องเทคนิคที่คนทั่วไปถูกรอนความสามารถที่จะเข้าไปได้   แม้แต่นักการเมืองซึ่งอาสาเข้ามาบริหารประเทศ ก็เห็นเรื่องพลังงานเป็นเพียงประเด็นง่ายๆ เพียงขอให้มีพอสำหรับป้อนความต้องการของประชาชนก็เพียงพอแล้ว  ไม่ใช่เรื่องที่ตัวแทนของประชาชนจะเข้าไปตรวจสอบ และวางนโยบายทางเลือกที่มีประโยชน์ในระยะยาวแก่ส่วนรวม . . .” [4] ความตั้งใจและความมุ่งมั่นของผมในการศึกษาเรื่องนี้จึงมี ๒ อย่างครับ คือหนึ่ง การค้นหาความจริงเหล่านี้ ทั้งจากเอกสาร ตัวบุคคลและองค์กร ที่ผมได้มีโอกาสสัมพันธ์ด้วย ทั้งระดับประเทศและระดับโลก แล้วนำมาทำให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจของผู้อ่านทั่วไปที่มีระดับความสนใจแตกต่างกัน อย่าลืมนะครับว่า “ความไม่เข้าใจเรื่องนโยบายพลังงาน” ของเราเป็นที่มาของผลประโยชน์อันมหาศาลของนักการเมืองสอง ผมจะพยายามนำเสนอ “กระบวนการ” หรือขั้นตอนในการสร้างนโยบายสาธารณะของประเทศต่างๆ มาให้คนทำงานภาคประชาชนได้รับทราบแล้วร่วมกันเคลื่อนไหวผลักดันให้ขึ้นสู่ระดับนโยบาย เพราะผมมีความเชื่อว่า ไม่ว่านโยบายใดก็ตามย่อมมีขั้นตอน มีเหตุมีปัจจัยในการเกิดขึ้นเสมอ ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะ “เสก” ขึ้นมาเองได้   ดังนั้นถ้าผมสามารถสืบค้นหากระบวนการได้ ผมจะนำมาเล่าสู่กันฟังในที่นี้   ทั้งนี้เพื่อจะได้เป็นแนวทางให้กับกลุ่มประชาสังคม กลุ่มพลเมือง ตลอดจนองค์กรต่างๆ สิ่งที่ผมอยากจะเรียนในที่นี้ก็คือว่า ไม่ว่าเราในฐานะปัจเจกหรือในฐานะองค์กรใดก็ตาม ต่างก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายสาธารณะด้านพลังงานเสมอ และขนาดของผลกระทบมีมากกว่าที่เราเคยรับรู้มาแล้วการทำงานภาคประชาสังคมไม่อำนาจในการสั่งการ  งบประมาณก็มีไม่มากนัก  ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้หลักการทำงานมีประสิทธิภาพเพื่อให้สาธารณะเกิดความรู้ความเข้าใจในความจริงใหม่โดยเร็ว นักสังคมศาสตร์ท่านหนึ่งได้แนะนำไว้ในหนังสือที่ชื่อว่า “The Tipping Point” [5] ซึ่งขยายความว่า “สิ่งเล็กๆ สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ ๆ ได้อย่างไร”   ท่านแนะว่าการเผยแพร่ความรู้ให้มีประสิทธิภาพจะต้องประกอบด้วยคนสามฝ่าย คือ ส่วนที่หนึ่ง ต้องมีผู้รู้ในเรื่องนั้นๆ อย่างลึกซึ้ง เราเรียกคนพวกนี้ว่า “Maven” หรือเป็นนายธนาคารข้อมูล ส่วนที่สอง ต้องมีผู้ประสานงาน (connector) ทำหน้าที่เป็น “กาวทางสังคม” และส่วนที่สาม ต้องมีนักขาย (salesman) ที่มีทักษะในการโน้มน้าวให้คนเข้าใจ ให้คนเชื่อ   ความสัมพันธ์ของคนสามฝ่ายนี้แสดงได้ดังแผนผังข้างล่างนี้ ๒. ศึกษาไปเผยแพร่ไปการศึกษาชิ้นนี้อยู่ภายใต้โครงการที่ชื่อว่า “นโยบายสาธารณะการจัดการความรู้ด้านพลังงาน”   โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณะสุข ภาคใต้ ม.อ. โดยมีระยะเวลาศึกษาประมาณหนึ่งปีด้วยวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่ความรู้ ความคิด ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ประกอบกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร  ผมจึงใช้วิธี “ศึกษาไป เผยแพร่ไป” ทั้งในรูปบทความลงหนังสือพิมพ์ เว็บไซต์และในรูปแบบการบรรยายตามเวทีวิชาการต่างๆ การไฮปาร์ค “ยิกทักษิณ” ออกรายการวิทยุ  รวมถึงการใช้สอนนักศึกษาในวิชา “วิทยาเขตสีเขียว” ตามหลักสูตรของคณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สถาบันที่ผมสังกัดด้วย   เนื่องจากการเผยแพร่ในลักษณะดังกล่าวต้องมีเนื้อหาที่สามารถเข้าใจได้ในตอนเดียว   ดังนั้น เมื่อนำมารวมเป็นผลงานจึงมีบางเนื้อหาที่อาจจะซ้ำหรือคาบเกี่ยวกันอยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อความสบายใจของผู้อ่าน ผมจะพยายามตัดส่วนที่ไม่จำเป็นทิ้งออกไปเท่าที่จะทำได้  ๓. องค์ประกอบเนื้อหาเนื้อหาประกอบด้วย ๒ ส่วนหลัก คือ ส่วนที่เป็นนโยบายและกระบวนการผลักดันเคลื่อนไหวโดยมี “นโยบายสาธารณะ” เป็นเข็มมุ่ง และส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระเรื่องพลังงานโดยตรง   ในแต่ละบทมักจะมีเนื้อหาทั้งสองส่วนปนกันไป (ถ้าทำได้)ในส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระของพลังงานโดยตรง ผมจะเริ่มต้นจาก กลไกการควบคุมระบบพลังงานของโลก เชื่อมโยงให้เห็นการผลักดัน “นโยบายพลังงาน” ที่เริ่มต้นจากกลุ่มพ่อค้าน้ำมันระดับโลก ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสงครามกับน้ำมัน รวมทั้งกลไกราคาที่เพิ่มสูงขึ้นจากการพยายามก่อสงครามของประเทศมหาอำนาจด้วยเหตุผลที่ว่า การศึกษาชิ้นนี้มีลักษณะ “ศึกษาไป เผยแพร่ไป” ผมจึงขออนุญาตทำความเข้าใจกับชนิดของพลังงานสักนิดก่อนน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่เกิดจากการย่อยสลายของซากพืช ซากสัตว์นับเป็นล้านล้านปี เราเรียกรวมๆ ว่า เป็นพลังงานฟอสซิล ลักษณะสำคัญของพลังงานฟอสซิล คือ ใช้แล้วหมดไป หมดแล้วหมดเลย เกิดใหม่ไม่ได้ ขณะเดียวกันราคาก็เพิ่มสูงขึ้นทุกวันและถูกกำหนดโดยกลุ่มพ่อค้าผูกขาด  พลังงานพวกนี้แหละที่ก่อมลพิษทั้งต่อชุมชนใกล้ๆและต่อระดับโลก ที่หนังสารคดี “An Inconvenient Truth” กำลังรณรงค์กันอยู่พลังงานอีกประเภทหนึ่ง  เรียกรวมๆ ว่า “พลังงานหมุนเวียน (renewable energy)” ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์  ลม  พืชน้ำมันบางชนิด ไม้ฟืนผลิตไฟฟ้า  ของเสียจากครัวเรือนโรงงาน และการเกษตร เป็นต้นพลังงานหมุนเวียนมีลักษณะตรงกันข้ามกับพลังงานฟอสซิล  ที่สำคัญ คือนอกจากไม่มีวันหมดและไม่ก่อมลพิษแล้ว  ยังผูกขาดได้ยาก  ตรงนี้แหละที่กลุ่มพ่อค้าพลังงานและนักการเมืองพยายามกีดกันไม่ให้ใช้  ไม่ให้ประชาชนรู้จักตลอดมาสำหรับประเด็นอื่นๆ จะครอบคลุมเนื้อหาครบถ้วนตามที่ได้เกริ่นนำมาแล้ว ทั้งเรื่องการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักพัฒนาเอกชนระดับโลก ระดับประเทศไทย ประเด็นอิทธิพลของนายธนาคารระดับโลก  การผลักดันเสนอกฎหมายที่ผมถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นหลักประกันให้ “นโยบายสาธารณะ” ที่เราร่วมกันผลักดันจนได้มาแล้ว (สมมุตินะครับสมมุติ) มีความมั่นคงขึ้นสำหรับภาพรวมของปัญหาพลังงานในประเทศไทยนอกจากจะมีเนื้อหาตามปกติทั่วไปแล้ว ก็ยังมีเรื่องการแปรรูป ปตท. และ กฟผ. รวมอยู่ด้วยในการศึกษาครั้งนี้  ผมได้รับความช่วยเหลือด้านเงินทุนจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณะสุข ภาคใต้  ม.อ. (สวรส.)  นอกจากนี้ยังได้รับข้อมูลจากกลุ่มประชาสังคมต่างๆ อีกจำนวนมาก ที่ได้ร่วมกันประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน จึงขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ขอบคุณมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ ที่ได้ให้การสนับสนุนในการไปร่วมประชุมและสนับสนุนการจัดพิมพ์เผยแพร่หนังสือ “พลังยกกำลังสาม” เมื่อต้นปี ๒๕๔๙ ----------[1] ชื่อ  Upton Sinclair (1878-1968)  ข้อมูลเพิ่มเติมที่ค้นได้บอกว่า นอกจากเป็นกวีแล้วยังเป็นนักการเมืองสังคมนิยม(socialist politician)ด้วย[2] สถานการณ์พลังงานในปี 2549 และแนวโน้มปี 2550  กระทรวงพลังงาน[3] นโยบายสาธารณะ (public policy) หมายถึง แนวทางกิจกรรม/การกระทำ/การเลือกตัดสินใจของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลได้ทำการตัดสินใจและกำหนดไว้ล่วงหน้า เพื่อชี้นำให้มีกิจกรรม/การกระทำต่างๆ เกิดขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย/วัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ โดยมรการวางแผน การจัดทำโครงการ วิธีการบริหารหรือกระบวนการดำเนินงาน ให้บรรลุวัตถุประสงค์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ด้วยวิธีปฏิบัติงานที่ถูกต้อง เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และความต้องการของประชาชน/ผู้ใช้บริการในแต่ละเรื่อง (ที่มา ค้นจากวิกีพีเดีย)[4] คำนำ ในหนังสือ “พลังยกกำลังสาม”: พลังใจ พลังพลเมือง สร้างนโยบายพลังงาน โดย ประสาท มีแต้ม, สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน 2549[5] http://en.wikipedia.org/wiki/The_Tipping_Point_(book) เขียนโดย Malcolm Gladwell
new media watch
http://culturegap.wordpress.com เรื่องเล็กของบางคน อาจเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับอีกหลายคน ด้วยเหตุผลที่มาจาก "ความแตกต่างทางวัฒนธรรม" เรื่องวุ่นๆ ของการมองต่างมุมจึงเกิดขึ้นเสมอบนโลกใบนี้ เมื่อเกิดการถกเถียงกันโดยใช้มุมมองและเหตุผลคนละชุด ช่องว่างระหว่างวัฒนธรรมยิ่งถูกถ่างกว้างออกไป แต่พื้นที่ของความเข้าใจกัน--กลับหดแคบลงอาจเพราะเหตุนี้ บล็อกเกอร์ช่างคิดแห่งเวิร์ดเพรสคนหนึ่ง จึงรวบรวมเรื่องราวนานาสารพันให้คนช่างสงสัยติดตามอ่านกันตามอัธยาศัย ไล่มาตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น ตำนาน 'เตาอั้งโล่' หรือ 'กำแพงคร่ำครวญ' ในดินแดนพันธสัญญา รวมถึงที่มาของสุภาษิตนานาชาติ เรตหนัง ระบบอุปถัมภ์ และโพลห่วยๆ ฯลฯ ตบท้ายด้วยการบอกเล่า 'วิธีคิด' ที่แฝงอยู่ในเรื่องราว สถานที่ สิ่งของ และความเชื่อต่างๆ ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละพื้นที่ ทั้งหมดนี้สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ http://culturegap.wordpress.com แล้วจะเข้าใจถึงความมุ่งมั่นที่จะถมความต่างในช่องว่างวัฒนธรรมเหล่านั้นให้เต็ม...เพราะคงจะดีไม่น้อย หากใครต่อใครพยายามทำความเข้าใจ ก่อนจะ 'ตัดสิน' ว่าอะไรผิด อะไรถูก อะไรคือความดีงาม และอะไรคือความเลวร้าย ด้วยเหตุผลที่สนับสนุนการกระทำของเรา อาจเป็นเหตุผลคนละชุดกับของคนอื่น
โอ ไม้จัตวา
กลับมาเดินเล่นในเรื่องคนต่อค่ะ กำลังสนุกกับการเล่าเรื่องคนรอบข้าง มีอีกคนหนึ่งที่อยู่กันมานาน ตั้งแต่เขายังเด็ก พ่อเขาทำงานในบาร์น้ำ เมื่อพ่อลากลับบ้านที่ท่าสองยาง และจะไม่กลับมาอีก จึงส่งสันติมาทำงานต่อ  เหมือนเป็นวัฒนธรรมของคนทำงานในร้าน ถ้าใครคนใดคนหนึ่งลาพัก หรือลากลับบ้าน พวกเขาจะหาคนมาทำงานแทนในหน้าที่ของเขา เพราะการลาของพวกเขานั้นต้องใช้เวลาเดินทางนาน ๆ อย่างสันตินั้น เป็นปกากญอ บ้านอยู่ในเขต อ.ท่าสองยาง จ.ตาก การเดินทางจากเชียงใหม่ไปท่าสองยางนั้น ต้องนั่งรถไปลงที่อ.แม่สะเรียง แล้วต่อมอเตอร์ไซด์ แล้วเดินอีกครึ่งวัน เมื่อกลับบ้านทีจึงต้องไปเป็นเดือน หรืออย่างน้อยก็ครึ่งเดือน มีครั้งหนึ่งแม่บ้านซึ่งอยู่บ้านเดียวกับสันติ ต้องรีบกลับมาในเชียงใหม่ เนื่องจากมีงานรออยู่  เธอมาถึงทันเวลาด้วยการขอเพื่อนบ้านขี่มอเตอร์ไซด์มาส่ง  เนื่องจากไม่ทันรถมาเชียงใหม่ เธออยู่บนหลังอานประมาณ 5 ชั่วโมง!สันติต่อสายงานของพ่อ คือเข้าทำงานในบาร์น้ำ ดูแลทุกอย่างในบาร์ เมื่อมีเวลาว่าง สันติจะก้มหน้าก้มตาดูหนังสือที่ซื้อมา เมื่อแอบไปด้อม ๆ มอง ๆ ก็เห็นหนังสือสงคราม  ปืน เป็นต้น ถามดูสันติก็บอกว่าชอบ ชอบมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว ไม่รู้ทำไม ถามว่าเคยจับปืนไหน ดูหนังสือเยอะ ๆ แบบนี้ ชอบแบบนี้ เคยจับของจริงไหม สันติส่ายหน้า บอกว่าไม่เคย สิ่งที่พบเห็นเป็นประจำภายในร้านคือ มักจะมีซากสิ่งของที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์วางอยู่ตามที่ต่าง ๆ เช่น กล้องถ่ายรูป วิทยุ โทรทัศน์เครื่องเล็ก ๆ เครื่องเล่นเทป  ที่บอกว่าเป็นซากก็เพราะมันใช้ไม่ได้  สิ่งของพวกนี้ล้วนเป็นของสันติ เขาชอบอะไรที่เป็นเทคโนโลยี และเมื่อได้เงินเดือน ก็จะเก็บหอมรอมริบ นำไปซื้อของพวกนี้มาเชยชม มาเล่น เล่นแล้วสันติก็อยากรู้ว่ามันทำได้ยังไง กล่องเล็ก ๆ นี้มีภาพออกมาได้อย่างไร  มีเสียงออกมาได้อย่างไร  แล้วเขาก็เริ่มต้นแกะ รื้อ แต่ประกอบเข้าไปไม่ได้ สุดท้ายก็เจ๊งฉันเห็นภาพสันติซื้อของใหม่มาเล่นแล้วรื้อแกะจนชินตา แต่ก็ไม่มีใครห้าม เพราะดูสันติมีความสุขกับการค้นหาโลกของเทคโนโลยี ของเล่นของสันติก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยพักนี้ฉันเห็นสันตินั่งจ้องแคตตาล็อคโทรศัพท์มือถือตาเป็นมัน ดูเจ้ากระดาษใบเดิมมาเป็นเดือนอย่างไม่รู้เบื่อ จนฉันเข้าไปถามว่าจะเปลี่ยนโทรศัพท์ใหม่เหรอ เขาส่ายหน้าบอกว่าดูเฉย ๆ ฉันเลยอวดเครื่องใหม่ของฉันให้เขาดู เขาคว้าหมับ และบอกรุ่นได้ทันที แสดงว่าดูจนจำหน้าตาได้หมดทุกรุ่น  เพื่อนร่วมบาร์น้ำของสันติเคยเล่าแบบเบื่อ ๆ ว่า สันติพกคู่มือโทรศัพท์ติดกระเป๋า เอาไว้อ่านเวลาว่าง อ่านแล้วก็บอกเพื่อนที่นั่งข้าง ๆ ว่าโทรศัพท์ของเขาทำอะไรได้บ้าง เล่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหมือนเขาอ่านคู่มือจนเยิน สันติชอบอ่านหนังสือ มีหนังสืออะไรลงมากองไว้ สันติเก็บไปอ่านทุกอย่าง การอ่านทำให้เขารู้เมื่อครั้งที่มีคนนำลูกระเบิดน้อยหน่ามาวางไว้ที่หน้าร้าน เนื่องจากเจ้าของร้านเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อขับไล่นายกรัฐมนตรีคนบ้านเดียวกันนั้น คนแรกที่พบระเบิดก็คือสันติคนนี้แหละ สันตินอนที่ร้าน เมื่อตื่นเช้าเขาลุกขึ้นมาเปิดประตู หน้าต่าง  ตามกิจวัตรที่ทำทุกวัน สิ่งแรกที่เห็นเมื่อมองผ่านหน้าต่างออกไปที่ทางเดินก็คือระเบิดลูกนั้น สันติรู้ได้ทันที ปิดหน้าต่างล็อคตามปกติ แล้วเดินเข้าไปปลุกเพื่อนที่นอนด้วยกัน เดินลัดเลาะออกไปทางแม่น้ำแล้วอ้อมออกไปโทรศัพท์บอกจี  แม่บ้านซึ่งอยู่บ้านเดียวกับเจ้าของร้านฉันถามสันติว่ารู้เลยเหรอว่าเป็นระเบิดจริง สันติพยักหน้ามั่นใจ  แล้วสันติกลัวไหม เขาพยักหน้าอีกครั้ง บอกว่ากลัวสิ ฉันถามต่อว่าทำไมต้องเดินออกไปทางน้ำปิง เขาบอกว่าต้องอยู่ไกล ๆ ระเบิดไว้ เพราะไม่รู้ว่าเป็นระเบิดแบบใช้รีโมทหรือเปล่า  สันติออกจากร้านไปทำงานโรงงานที่กรุงเทพอยู่หลายเดือน เจ้าของร้านก็ยินดี เธอบอกว่าคนหนุ่มน่ะ คงอยากไปดูโลก อยากรู้ว่าโลกข้างนอกเป็นยังไง กรุงเทพเป็นเมืองฟ้าเมืองสวรรค์ของพวกเขา ต้องให้ไป ให้รู้  จำได้ว่าวันที่สันติเก็บของออกเดินทางนั้น เขาซื้อข้าวของเตรียมไว้กลับไปบ้านก่อนเข้ากรุงเทพ ของที่เขาซื้อไปนั้นคือ เครื่องปั่นไฟ โทรทัศน์เครื่องใหญ่  โทรศัพท์มือถือแบบถ่ายวีดีโอได้ซึ่งเขาซื้อมาถ่ายชีวิตในเมืองของเขากลับไปให้พ่อแม่ดู  สิบปีที่ทำงาน สันติเก็บเงินซื้อสิ่งเหล่านี้กลับบ้าน แล้วเข้ากรุงวันที่เดินทาง เจ้าของร้านเธอใจหาย โทรศัพท์ไปหาสันติซึ่งเหมือนลูกชายคนหนึ่งของเธอ บอกสันติว่าถ้าจะกลับมาก็ให้มาได้ทุกเวลา อดไม่ได้ เธอถามว่าถึงไหนแล้ว และสันติคิดถึงบ้านนี้ คิดถึงพี่ไหมเขาตอบสั้น ๆ  “คิดถึงสิ”
นาโก๊ะลี
ในช่วงชีวิตคนๆ หนึ่ง ว่ากันโดยส่วนใหญ่ตามประสบการณ์ที่เห็นอยู่  คงมีช่วงเวลาหนึ่งที่ชีวิตก้าวลงสู่ช่วงตกต่ำ  ในแง่นี้อาจจะหนักกว่าคำว่า “ขาลง”  ว่าก็คือชีวิตเริ่มล้มเหลว ทุกข์แสนสาหัส  ดูเหมือนช่วงเวลานั้นไม่ว่าจะพยายามเพียงใด  ทุ่มเทเพียงใด  มันก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น ยังคงแย่ลงๆ เรื่อยๆ  บางครั้งมันก็หนักหนาเกินกว่าจะทนไหว  ซึ่งแน่นอนว่าคนส่วนหนึ่งทนไม่ได้กับสภาวะนั้น  กรณีฆ่าตัวตายจึงเกิดขึ้น  เพราะเมื่อคนยิ่งแย่ลง  ต่ำลง  มันก็ได้เข้าสู่จุดศูนย์ของความเปราะบางมากที่สุด  บริเวณจุดศูนย์ของความเปราะบางนี้เองที่มันก็มีความข้น – จางต่างไปของแต่ละคนตามแต่วิถีของชีวิต  บ้างก็เข้าสู่ภาวะนั้นยาวนาน  บ้างก็สั้นต่างกันไป  ความสำคัญของจุดศูนย์นั้น  ว่าที่สุดแล้วมันก็เป็นทางผ่านอันหนึ่งที่ชีวิตจำเป็นต้องก้าวผ่าน  หากเราใช้ทางที่ดิ่งลงนั้นหรือใช้จุดศูนย์นั้นเป็นกระบวนการเรียนรู้  แน่นอนว่าเราก็จะเห็น  อันหมายถึงการเฝ้ามองภาวะนั้นตามที่มันเป็น  และดูเหมือนว่าไม่มีอะไรมากไปกว่าการทำความเข้าใจเท่านั้นที่จะทำให้เราก้าวผ่านมันไปได้อย่างมั่นคง  หรือแม้จะโงนเงนไปบ้าง  แต่ที่สุดเราก็จะผ่านมันได้อยู่ดี  ปัญหาก็คือว่า  เราจะก้าวและดำรงอยู่ในภาวะนั้นด้วยความเข้าใจได้อย่างไร  หากมองลึกลงไปอย่างแท้จริงในใจมนุษย์  ภาวะที่เป็นหลักการว่ามองมันอย่างเข้าใจจึงจะพบหนทาง  อย่างนี้เข้าใจได้ไม่ยากนัก  รับรู้ได้ไม่ยากนัก  แต่จะทำอย่างไรให้เข้าใจลึกลงไปในแง่การปฏิบัติ  นี่จึงเป็นเรื่องยากลึกลงไปกว่านั้นลองว่ากันดู…  ทางกายภาพคงต้องเปลี่ยนบางอย่างในชีวิต  เช่น  ถ้าการทำ ยิ่งทำยิ่งล้มเหลว  ก็อาจเปลี่ยนเป็นทำให้น้อยลง  แต่หันมาลงลึกกับสิ่งที่ทำให้มากขึ้น  ทำให้ช้าลง  และเรียนรู้เฝ้ามองกระบวนการนั้นโดยตลอดและละเอียด  หรือถ้าหนักหนาสาหัสนักก็อาจถึงขั้นหยุดทำทั้งหมด  แล้วรอ  เฝ้าดูกระบวนการที่ทำมาทั้งหมดว่ามันจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด  ในแง่นี้แน่นอนอยู่ว่า  ทั้งหมดมันมีกระบวนการเคลื่อนไหวของมัน  วิธีนี้ในขั้นแรกอาจต้องยอมรับผลกระทบที่เกิดขึ้น  ดังเช่น  คนป่วยที่ดื้อยา  เมื่อหยุดให้ยาก็อาจมีสภาพลงแดง  อันเป็นผลกระทบจากการหยุดยานั้นเอง  ซึ่งต้องใช้ความอดทนพอสมควร  อีกวิธี… คือการเปลี่ยนทั้งขบวน  คือการเคลื่อนย้ายกระบวนการทั้งหมดของชีวิต  เปลี่ยนทุกสิ่งที่ทำ  ปล่อยให้ชีวิตก้าวลงสู่จุดศูนย์แล้วเริ่มต้นวิถีใหม่ทั้งหมด  อันนี้อาจยากกว่าแต่ก็เป็นไปได้  ในแง่นี้ก็คือการพาตัวเองมาจากสนามพลังอันนั้น  แล้วหันกลับไปมองมันอีกครั้ง  การเรียนรู้ก็จะผุดโผล่ขึ้นมา  ขณะเดียวกันก็อาจจะต้องเผื่อใจยอมรับว่า  ที่สุดแล้วมันจะไม่ได้เปลี่ยนในทันทีทันใด  ความอดทนเป็นปัจจัยสำคัญ  ในวาระนี้กัลยาณมิตรจึงสำคัญและมีส่วนไม่น้อยในการเปลี่ยนแปลง  วิธีหนึ่ง…  ที่นำพาชีวิตสู่การเรียนรู้แบบใหม่ที่ง่ายที่สุดในภาวะก้าวลงสู่จุดศูนย์นี้  คือการเริ่มต้นวันใหม่ด้วยกิจกรรมแบบใหม่  อาจเริ่มจากการปรับเวลาตื่นนอนให้เช้าขึ้น  แล้วออกไปเดิน  หรือออกกำลังกาย  หรือเดินแล้วค่อยออกกำลังกาย  เดินอย่างปราศจากจุดมุ่งหมาย  เดินช้าๆ  ไม่ต้องมีกระบวนวิธีอะไร  เพียงแค่เดิน  แค่เดินจริงๆ  วิธีนี้มีผู้คนใช้ได้ผลมาพอสมควรแล้ว  และถ้าว่าตามประวัติศาสตร์  ปราชญ์โบราณหลายคนล้วนเป็นนักเดินกันทั้งนั้น…เพียงแค่เดินนี่อาจเป็นวิธี…อาจตอบสนองต่อหลักการ (หรือเปล่า มั้ง) หรืออย่างไร…เชิญร่วมวงสนทนาหาทางร่วมกันเถิด
มาลำ
ฉันตื่นนอนตอนเที่ยงวัน อากาศเมืองชายทะเลร้อนอบอ้าวจนเหงื่อไหลท่วมตัว ลุกนั่งอย่างงงๆ อยู่นาน กว่าจะรู้ตัวว่านอนอยู่ที่บ้านพักน้องชาย  หลังอาบน้ำและกินข้าว ฉันนั่งรอให้น้องชายมารับไปหาพ่อระหว่างทางนั่งรถไปโรงพยาบาลผ่านสวนยางเป็นแถวยาวสีเขียวเข้มต้นยางเรียงรายผ่านหน้าฉัน  เป็นแถวตรงตลอดเป็นแนวทั้งสองข้างทาง  แม้ว่าฉันจะห่างบ้าน ห่างพ่อไปนานแสนนาน  แต่ป่าสีเขียวที่ยืนตรงเหมือนแถวของทหารที่ฉันเคยคุ้น ฉันได้กลิ่นยางโชยมาตามลมที่พัดผ่าน  ภาพพ่อกับแม่ช่วยกันถางไร่ที่ดิบทึบด้วยต้นไม้ กว่าจะล้มต้นไม้ลงแต่ละต้นจนหมดไร่ แล้วขุดหลุมขนาดสองฟุตกว้างยาวและลึกเท่ากัน  เพื่อลงต้นกล้าของยางพารา พวกเราตัวเล็กๆก็คลานกันไปในไร่จนมอมแมม  แล้วก็ค่อยๆโตขึ้นพร้อมต้นยางที่พ่อแม่ปลูก แล้วพ่อแม่ก็ซื้อที่ทำสวนยางต่อไปอีก ฉันจำได้แม่นมั่นว่าการเอาดินถมลงไปในหลุมที่ขุดไว้เพื่อลงกล้ายางนั้น มันเหนื่อยอย่างแสนสาหัส  เมื่อเรามองหลุมยางที่เรียงรายในแต่ละแถว แต่ละคนเฝ้ามองหาหลุมสุดท้ายแห่งวันอยู่ร่ำไป  หลังจากยางเริ่มโตเท่ากับไหล่ของพวกเรา  แม่ก็ให้ไปช่วยดายหญ้าในแถวยาง กว่าจะหมดไปได้แต่ละแถวในแต่ละวัน  มือที่จับจอบก็พองแตกแล้วมีน้ำไหลออกมาจนต้องคอยซื้อปลาสเตอร์มาปิดทับไว้ ไม่อย่างนั้นมันจะเจ็บจนหยิบจับอะไรไม่ได้  เมื่อยางโตพอที่จะกรีดเอาน้ำยางได้แล้ว ชุดเก็บน้ำยางอันแสนเท่ห์ของพวกเราแต่ละคนก็ถูกแขวนไว้รอตรงราวข้างหลังบ้าน เป็นเสื้อผ้าเก่าที่รอการทิ้งขว้าง เวลาที่เดินเก็บน้ำยางสีขาวที่พ่อกรีดใส่ถ้วยไว้   จะเป็นวันเสาร์อาทิตย์ที่หยุดเรียน ชุดอันเขลอะไปด้วยขี้ยางและกลิ่นเหม็นของเหงื่อไคลที่ซักอย่างไรก็ไม่ออก ก็ถูกดึงลงจากราวจนหมด และกลับมาอยู่บนราวอย่างสงบเสงี่ยมอีกครั้งในตอนเย็นย่ำหลังจากพวกเราเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่หลังอาบน้ำขัดถูขี้ยางจนหมดจากแขนขาไปแล้ว   เรี่ยวแรงที่เคยมีในตอนเช้าก็หมดหายวับไปกับแถวยางที่ตรงเป็นแนวนั่น พลบค่ำพวกเราทุกคนนอนหลับสนิทและรู้ว่า รุ่งเช้าของพวกเรา ฟ้าจะสว่างตรงสวนยางนั้นอีกหนึ่งวัน  เมื่อพวกเราเริ่มโตและแยกย้ายกันออกจากบ้าน  พวกเราทุกคนก็ไม่ได้วนเวียนกลับไปเก็บน้ำยางให้พ่อและแม่อีก  นานเท่านานคนสองคนที่ยังเดินวนเวียนอยู่ในสวนยางอย่างเงียบเหงาทุกคืนวัน เมื่อฉันเหม่อมองผ่านน้ำตา  เห็นคนผ่านสายตาตามแนวสวนยางที่รถวิ่งผ่าน ฉันเผลอคิดว่าเป็นพ่อและแม่อยู่ร่ำไปถึงเตียงพ่อ วันนี้พยาบาลเอาลูกบอลลูนห้าลูกมาให้ฝึกหายใจเพื่อไม่ให้ถุงลมในปอดแฟบจากใส่ท่อไว้   หมอมาเปิดแผลที่เข่าขวา แผลลึก  เนื้อรอบๆแผลยังบวมอยู่  หมอบอกว่าต้องฉีดยา ทำแผลไปเรื่อยๆก่อนเพราะเป็นแผลสกปรก อดทนหน่อยนะลุง หมอบอกพ่อตอนปิดแผล พ่อพยักหน้ารับอย่างยอมจำนน   แล้วพยาบาลก็มาถอดสายน้ำเกลือออกเหลือเพียงจุกเล็กๆไว้สำหรับฉีดยาพ่อถูกส่งไปเอกซเรย์อีกครั้ง  หมอบอกว่าถ้าผลเอกซเรย์ที่ปอดออกมาดี  พ่อจะได้ถอดท่อแล้วระหว่างที่เปลเข็นพ่อกลับ ฉันมองภาพพ่อที่นอนบนเปลอย่างสะเทือนใจและหวาดกลัวลึกๆว่าพ่อจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว  พ่อจะมีโอกาสได้กรีดยาง ทำนาที่พ่อรักอีกหรือเปล่าพ่อจ๋า หรือถึงเวลาที่คนสองคนจะหยุดเดินวนเวียนในสวนยางและท้องทุ่งที่เงียบเหงาแล้วใช่ไหม แล้วพ่อจะทำใจยอมรับมันได้หรือเปล่า แล้วหมอก็มาถอดท่อออกจากอกพ่อหลังจากดูฟิล์มแล้ว หมอบอกว่าปอดพ่อดีขึ้นมาก ตอนที่หมอดึงท่อออกหลังตัดไหมที่ยึดสายยางไว้ ฉันเห็นน้ำตาพ่อไหลเป็นทางยาวเหมือนแนวของสายยางนั่น ฉันจับมือพ่อไว้มั่น   รับรู้ความเจ็บของพ่อผ่านแรงบีบมือที่ส่งผ่านมา มือกร้านหนาที่เลี้ยงพวกเรามาอย่างลำบากยากเย็น  แม้ในวันเก่าก่อนฉันไม่เคยได้นึกถึงความเหนื่อยหนักของพ่อเลย  จนมาถึงวันนี้วันที่ฉันหวาดกลัวที่สุด ฉันได้แต่พร่ำสวดมนต์ในใจ  ประคองมือพ่อไว้ด้วยมือที่สั่นเทาของฉัน ขอให้เราเข้มแข็งผ่านวันร้ายให้ได้ด้วยกันหลังหมอเอาพลาสเตอร์หนาปิดแผลหลังถอดท่อออกแล้ว พ่อดูสดชื่นขึ้น หายใจได้โล่งขึ้น ฉันบอกให้พ่อหายใจลึกๆและดื่มน้ำมากๆเพื่อละลายเสมหะที่ยังมีอยู่  เย็นวันนี้ พ่อลุกมานั่งข้างเตียงได้แล้ว คนไข้ข้างเตียงหลายคนเริ่มมองมาและยิ้มให้ รู้ว่าคืนนี้ ฉันจะเป็นลูกคนเดียวของคนไข้เตียงนี้ที่ได้นั่งอยู่กับพ่อตลอดทั้งคืนจนกว่าพ่อจะดีขึ้น เขาคงได้ยินเสียงสวดมนต์ในม่านของเตียงนี้ หลังได้ยินพยาบาลถามฉันว่าจะเฝ้าทุกคืนเลยหรือพี่ ไหวไหม  ฉันยิ้มรับและพยักหน้า  ฉันเอาของเยี่ยมที่ญาติๆเอามาฝากยื่นไปให้คนไข้หลายคนข้างเตียง  ให้กำลังใจให้เขาผ่านคืนวันร้ายของชีวิตให้ได้     แม้ฉันจะยังไม่รู้ว่าพ่อจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่การได้ทำเพื่อคนอื่นก็ทำให้ฉันรู้สึกดีและมีความหวังขอให้คืนนี้ของคนทุกข์อย่างพวกเราทุกคนผ่านไป ให้พ่อหายและคลายทุกข์และความเจ็บปวดลงหลังหลับตา แม้ฟ้าจะมืดมิดและหัวใจของเราจะเต้นอย่างอ่อนล้า แต่พรุ่งนี้ฉันรู้ว่าพ่อจะลืมตามาแล้วยิ้มให้ฉันเหมือนเดิมในตอนเช้า
เจนจิรา สุ
5 กันยายน 2550 ยามเช้า,ตื่นขึ้นด้วยเสียงเลื่อยไม้, เสียงค้อนตอกตะปู,เสียงสังกะสีกระทบพื้นดังโครมคราม ไก่หลายตัวที่เคยขันปลุกทุกเช้า ถูกเชือดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่มาช่วยลงแขกรื้อบ้านตั้งแต่เมื่อวานและเช้านี้ บ้านหลายหลังพังพาบเป็นกองไม้ รอวันขนย้ายไปที่แห่งใหม่ เด็กๆ วิ่งตึงตังในห้องกลางเพราะต้องมานอนรวมแออัดกันที่บ้านย่า ก็คือบ้านสามีของฉัน แม่บ้านและเด็กสาววุ่นวายอยู่ในครัว เหตุการณ์ชุลมนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ชาวบ้านมาขอคำปรึกษาเรื่องบ้าน ฉันจึงตัดสินใจกดหมายเลขโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับปลัดหนุ่มที่ดูแลพื้นที่“ปลัดฯหรือคะ คือฉันมีเรื่องรบกวนจะเรียนถาม ชาวบ้านอยากทราบว่าบ้านเก่าที่อยู่นี้เขาจะรื้อย้ายไปที่ใหม่ด้วยได้ไหม”“ผมคิดว่าอันไหนที่ชาวบ้านคิดว่ามันจำเป็นและสำคัญต้องเอาไปด้วย ก็ขนย้ายกันไป เราจะมีรถและอส.ไว้ให้บริการ แต่น่าจะเอาเฉพาะส่วนที่จำเป็นไปก่อนจะดีกว่านะครับ ถ้าย้ายบ้านไปทั้งหลังเกรงว่ารถจะขนหลายรอบ หรืออาจใช้เวลาหลายวัน”“แต่ชาวบ้านเขาคิดว่าบ้านก็เป็นสมบัติที่เขาลงทุนสร้างมา ไม่ใช่เรื่องง่ายๆนะคะกว่าจะเปลี่ยนจากเพิงกระท่อมมาเป็นบ้านที่มั่นคงแข็งแรง เขาก็อยากจะรื้อย้ายไปด้วย ถ้าหากว่าทางการอนุญาต เพราะบ้านที่ทางจังหวัดสร้างไว้ บอกตามตรงมันเล็กมาก ไม่พออาศัยสำหรับครอบครัวที่มีลูกมากถึง 4-5 คน หรอกคะ ฉันอยากให้ข้อคิดเห็นปลัดฯ อีกอย่างก็คือ ฉันคิดว่าถ้าปลัดฯอนุญาตให้เขารื้อบ้านเก่าไปได้ ชาวบ้านก็จะได้ไม่ต้องไปลักลอบตัดไม้ทำลายป่าเพื่อต่อเติมบ้าน เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรป่าไม้และยังผิดกฎหมายอีกด้วย สู้ให้เขาเอาไม้เก่าๆ ไปต่อเติมจะดีกว่านะคะ”“ผมเข้าใจครับ เรื่องนี้ก็มีเหตุผลอยู่แต่ เกรงว่าจะไม่สามารถย้ายกันไปหมดได้ภายในวันเดียว เอาอย่างนี้แล้วกันนะครับ ถ้าชาวบ้านอยากจะย้ายไม้บ้านไปจริงผมก็จะอนุญาตให้หนึ่งวัน ในวันที่ย้ายคือ วันที่ 10 กันยายน แต่อันนี้ผมบอกได้เพียงคำพูดเท่านั้นนะครับ ไม่สามารถออกเป็นหนังสือลายลักษณ์อักษรได้ เพราะคุณก็รู้เรื่องไม้มันเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐหลายส่วน หากให้ทำหนังสือขออนุมัติ ก็ต้องใช้เวลานานคงไม่ทันกาล”แม้จะไม่เป็นทางการแต่ฉันก็ยังเชื่อใจปลัดฯ ถ่ายเทคำสั่งที่ได้ยินมาว่าสามารถขนย้ายไม้บ้านเก่าไปหมู่บ้านใหม่ได้ และบ้านทุกหลังที่ตัดสินใจย้ายก็พังพาบลงในพริบตา ความจริงที่หมู่บ้านห้วยปูแกง ทางจังหวัดมีงบประมาณสร้างบ้านไว้รอผู้ที่ย้ายมาใหม่ หลังละ 5,000 บาท แต่งบประมาณเพียงเท่านี้ จึงสร้างได้เพียงบ้านเพิงไม้ไผ่หลังคามุงใบตองตึง มีห้องนอน,ห้องนั่งเล่นและห้องน้ำอย่างละหนึ่งห้องมองไปไม่ต่างจากเถียงนาบ้านคนเมืองสักเท่าไร เพียงแต่เถียงนาจะอยู่โล่งๆ กลางนาเพียงหลังเดียว แต่บ้านเพิงที่สร้างไว้รองรับชาวบ้านจากสองหมู่บ้าน กลับยืนเรียงแถวกันอย่างเป็นระเบียบกว่า 30 หลัง ยามบ่าย,ฝนโปรยสายอ้อยอิ่ง เมฆครึ้มอากาศทึมเทาเด็กๆต่างไปโรงเรียนกันหมดแล้ว เหลือเพียงเด็กเล็กและทารกที่ยังต้องการการเอาใจใส่ใกล้ชิดจากพ่อและแม่ คนหนุ่มบางคนหยิบคันเบ็ดเดินล่องไปตามลำธาร บ้างหันหน้าเข้าป่าแบกจอบไปขุดตุ่นแบกปืนไปยิงนกล่าสัตว์ในป่าที่คุ้นเคย หมู่บ้านเงียบกริบนานๆ มีเสียงงัดแงะตะปูออกจากแผ่นไม้ แม่เฒ่ากระยันนั่งถอนใจปั่นด้ายซึมเซาข้างๆ กองไม้นักท่องเที่ยวบางตากว่าเดือนที่แล้วมาก คนไทยอาจจะพอรู้ข่าวคราวการโยกย้ายจึงไม่ค่อยแน่ใจว่ายังเปิดให้เข้ามาเที่ยวหรือไม่ แต่กรุ๊ปทัววร์ฝรั่งที่มีไกรด์นำทางก็ยังเดินทางเข้ามาเที่ยวอยู่ประปราย แม่ (ของสามี) ถามขึ้นกับฉันเบาๆ ว่ายายเป็ง (นายทุน) จะให้เงินเดือนย้อนหลังกับคนที่ย้ายหรือเปล่า เพราะสองเดือนก่อนอ้างว่าไม่มีนักท่องเที่ยวก็เลยติดค้างชาวบ้านไว้ แต่ทุกๆปีก็จ่ายคืนให้ ฉันตอบว่าไม่รู้หรอก อันนี้ชาวบ้านก็ต้องรวมตัวกันพูดกับยายเองเงิน 1,500 บาท ที่นายทุนให้เป็นค่าตอบแทนแก่หญิงสาวกระยันที่สวมห่วงทองเหลืองไว้ที่คอ นับตั้งแต่ย่างเท้าเข้ามาในประเทศไทย แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกจะตกต่ำ การเงินผันผวนเช่นไร แต่ก็ยังไม่มีการขึ้นเงินเดือนให้พวกเธอสักครั้ง ถึงกระนั้นเงินจำนวนน้อยนิดนี้ ก็ยังสามารถจุนเจือครอบครัวในหุบเขาได้อย่างปกติสุขเรื่อยมา เพราะพวกเธอไม่รู้จักการเรียกร้องต่อรอง หากเป็นโรงงานใหญ่ในเมือง คงถูกประท้วงขึ้นค่าแรงไปนานแล้วหากสวัสดิการที่ได้ไม่พอกับค่าเหนื่อย ยามเย็น,เด็กๆ กลับมาจากโรงเรียนคืนชีวิตชีวาให้กับหมู่บ้านอีกครั้ง บ้างจับกลุ่มกันเขียนตารางบนดินเล่นตาเขย่ง บ้างขึงหนังยางเล่นโดดเชือก ส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวเช่นทุกวัน ลูกของฉันก็พลอยยิ้มร่าหัวเราะเสียงดังที่มีพี่ๆมาหยอกล้อเล่นหลังจากอยู่เหงาๆกับแม่และย่าลำพังทั้งวันโรงเรียนและเพื่อนๆ คือสิ่งที่เด็กๆ ทั้งโลกควรจะได้รับ เมื่อถึงเวลาที่ย้ายจริงๆ เด็กที่นี่จะต้องย้ายจากโรงเรียนในระบบประถมศึกษา ไปเรียนต่อในศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน และสูญเสียเพื่อนบางคน พบเจอกับเพื่อนใหม่ อยู่บ้านใหม่บ้าน แปลกทั้งสถานที่และผู้คน แต่ดูเหมือนจะไม่มีเด็กคนไหนกังวลถึงสิ่งที่กำลังจะมาถึงพวกเขา ต่างจากผู้ใหญ่ที่จะสารพัดกังวลไว้ล่วงหน้า ด้วยคำถามที่ชาวบ้านฝากฉันไว้ถามต่อหน่วยงานภาครัฐมากมาย“เขาจะให้ถนนไหม ,เขาจะให้โซล่าเซลล์หรือเปล่า แล้วเงินเดือนล่ะ ฯลฯ” ฉันถอนใจกับตัวเองเบาๆ เก็บคำถามเหล่านี้ไว้ก่อนจะดีกว่ารอวันถึงตาจนจริงๆ วันนั้นวิกฤติอาจเป็นโอกาส สามารถเปลี่ยนชาวบ้านที่แตกแยกให้สามัคคีกันได้ เปลี่ยนชุมชนอ่อนแอให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง เปลี่ยนจากผู้ยอมจำนน ให้เป็นผู้มีอำนาจต่อรอง การเดินทางยังอีกยาวไกล และคำตอบยังรอคอยอยู่ข้างหน้า.
กิตติพันธ์ กันจินะ
ข้อมูลจากการพูดคุยกับคนทำงานด้านเยาวชน พบว่าวัยรุ่นชายที่อยู่ในกลุ่มมีความคึกคะนองสูง ดังนั้นในการเรียนรู้เรื่องสุขภาพ หรือการดูแลเอาใจใส่เรื่องสุขภาพ จึงเป็นเรื่องที่ถูกละเลย หรือมองข้ามความสำคัญไป หลายคนยังขาดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับสุขภาพ มีความประมาท ยกตัวอย่างเช่น การสวมถุงยางอนามัย สลับกับไม่ใส่ แกล้งดึงหัวจุกถุงยางอนามัยออกเพื่อแกล้งให้เพื่อนหญิงท้อง พฤติกรรมเหล่านี้เป็นการละเลยเรื่องการติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ไป ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือเรื่องที่วัยรุ่น มีเรื่องชกต่อยกันทำให้เกิดการบาดเจ็บและถึงขั้นถูกดำเนินคดีและบางรายถูกตัดสินให้อยู่ในเรือนจำ เป็นต้นนอกจากในกลุ่มจะมีเด็กชายและ ยังมีเด็กผู้หญิงบางคนที่รวมกลุ่ม ซึ่งได้สะท้อน ในความเป็นห่วงของผู้ใหญ่ ความตื่นกลัว หวาดระแวงการรวมกลุ่มของเด็ก เยาวชน ชายและหญิงในลักษณะเชิงชู้สาวมากเกินไป โดยข้อเท็จจริง เด็กผู้หญิงเพียงตามเพื่อนไปเข้ากลุ่มและเพื่อนชายปฏิบัติต่อผู้หญิงในลักษณะให้เกียรติ การกล่าวอ้างทางสื่อว่ามีการแลกเปลี่ยนผู้หญิงระหว่างกลุ่ม หลังการแข่งรถ ไม่เป็นจริง หรือหากมีจริงก็เป็นเพียงส่วนน้อยมาก “ถ้าผู้หญิงไปอยู่ในสถานที่ตรงนั้น แสดงว่าผู้หญิงคนนั้นพร้อมที่จะเกิดอะไรขึ้นกับเขา และตัดสินใจเลือกที่จะทำแบบนั้น แต่อย่าเหมารวมผู้หญิงทั้งหมดที่อยู่ในกลุ่มแก๊ง” น้องผู้หญิงคนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มเคยบอกไว้อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการใช้บริการศูนย์กิจกรรมที่ทำงานกับกลุ่มวัยรุ่นที่เที่ยวกลางคืนในเมืองเชียงใหม่ พบว่า สมาชิกที่เข้ามาใช้บริการบ้านมีการตั้งกติกาในการอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะเรื่องเพศสัมพันธ์ อาทิ ไม่มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงหากเขาไม่ยินยอม ไม่มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงหลายคน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ใช้ได้ผล เพราะหากสมาชิกไม่ปฏิบัติตาม ก็จะถูกเพื่อนคนอื่นๆ ไม่ยอมรับเป็นสมาชิกกลุ่ม นอกจากนั้นที่บ้านนี้ ยังมีบริการในการให้คำปรึกษา และบริการถุงยางอนามัยฟรี โดยระหว่างที่มีการเปิดบ้านทำกิจกรรม พบว่ามีเยาวชนที่เข้ามาขอคำปรึกษามาก โดยจะสอบถามเรื่อง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การทำแท้ง การใช้ถุงยางอนามัย ขณะที่อัตราการให้บริการถุงยางอนามัยของวัยรุ่นถือว่ามีอัตราในการใช้ที่สูงมาก บางคนมารับถุงยางอนามัยวันละ 3-4 ชิ้น ซึ่งการใช้ถุงยางอนามัยถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยของวัยรุ่นอย่างมากในปัจจุบันนี้คำมั่น สัญญาใจช่วงเวลาที่พวกเรา 10 กว่าชีวิตคุยกันนั้นอาจเป็นเวลาที่แสนสั้นแต่ข้อมูลที่ได้ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ที่จะคิดต่อยอดเอาข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ไปสื่อสารต่อกับสังคมวงกว้าง“พี่ว่า ถ้ามีตายนะ แกเอาไอ้ข้อมูลเหล่านี้ไปแจกงานศพพี่ด้วยนะ” พี่บัวแยกตัวมาพูดกับผมสองต่อสอง“อ้าวอย่าพูดงั้นดิพี่ เดี๋ยวตายไปจริง จะทำไงล่ะ” ผมต่อว่ากลับ“พี่ว่าข้อมูลดีๆ พวกนี้ถ้าเอากองไว้เฉยๆ ไม่มีประโยชน์แน่ๆ ก็เอาเป็นว่าแกจะเอาไปทำอะไรก็ได้ แต่ถ้าวันหนึ่งพี่เป็นอะไรไป แกก็เอาข้อมูลพวกนี้ถ่ายเอกสารแจกผู้ใหญ่หรือคนที่มาในงานก็ได้นะ พี่ขอๆ” พี่บัวขอร้องผมอีกครั้งแล้วบอกเหตุผลต่อว่า “ข้อมูลที่พวกแกคุยบางเรื่องพี่ไม่ค่อยเข้าใจหรอก แต่คิดว่ามันเป็นภาษาวิชาการดี ผู้ใหญ่ ที่ไม่ได้เป็นพวกเราคงจะเข้าใจมัน พวกพี่พูดภาษามันเข้าใจยาก แบบที่แกทำมันอาจทำให้คนเข้าใจง่ายขึ้น”“ผมจะพยายามนะพี่” ผมรับปากอ้อมๆ “พี่รู้แกทำได้” “อ้าว แล้วถ้าผมตายก่อนพี่ล่ะ” “แกไม่ตายเร็วขนาดนั้นหรอก ฮ่าๆ จะมาแข่งกันตายทำไมว่ะ” “งั้นเราก็ทำอะไรให้หมดตอนที่ยังมีชีวิตอยู่แล้วกันนะพี่” โปรดตามติดอ่านตอนต่อไป....
กวีประชาไท
ฟ้าสางแล้ว...ธรรมชาติได้ก่อกำเนิดขึ้นมีทั้งความดีและความชั่วก้าวเท้าค้นหาความหมายแห่งชีวิตดิ้นรนฝ่าฟันสู่ฝันผู้เฒ่าเคยกล่าวไว้ว่า- -“ของมีค่าย่อมเกิดในที่ลำบาก”งดงามยิ่งนักแดนดินสวนทูนอินคือรังของนกนางแอ่นขาวสองตัวDrop Out วางปล่อยในชีวิตแม้นไม่เห็นยุ้งข้าว แต่หากก้าวเท้ามาเยือนได้กินอิ่ม นอนอุ่นร่มเย็นยิ่งกว่าน้ำที่ไหลลงจากโตรกผา(ห้วยบวกเขียด)หอมหวนยิ่งนัก- -หอมดอกสุมาลีหอมทั่วแดนดินสวนทูนอินคือสวรรค์บนดิน ของตะหล่า ’รงค์ วงษ์สวรรค์เขียนบทกวีแห่งสวรรค์ต้นไม้ใบหญ้าและผีเสื้อคือตัวอักษรดอกสุมาลี คืออักษรและบทกวีแห่งหัวใจ.แด่...๖๐ ปีแสนงาม มาดามวารินชำราบคุณสุมาลี  วงษ์สวรรค์                                      ชิ สุวิชาน  หมายเหตุ : ตะหล่า(ภาษาปวาเก่อญอ) หมายถึง ครู, คุรุ สล่า,ช่าง,ปราชญ์ผู้รู้
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
เมื่อ พ.ศ.2520 ดิฉันได้ดูหนังเรื่อง "แผลเก่า" ที่สร้างและกำกับโดย เชิด ทรงศรี ดิฉันชื่นชมมาก จนดูซ้ำถึง 3 ครั้ง ทุกครั้งก็ซาบซึ้ง สะเทือนใจ จนน้ำตาไหลพราก หลายฉาก หลายตอนต่อมาดิฉันได้มีโอกาสรู้จักกับพี่เชิด พี่จันทนา น้องไม้ไผ่ น้องผึ้ง และน้องแสงแดด โดยการแนะนำของกัลยาณมิตร ผู้มีคุณูปการต่อชีวิต คือ โย่ง สุจิตรา สุดเดียวไกร ทำให้ครอบครัวของเราทั้งสองผูกพันกันเหมือนญาติพี่เชิดกับคุณธนูชัย ดีเทศน์ เป็นเหมือนพี่น้องที่สื่อสารกันด้วยใจ พี่เชิดกับครอบครัวไปเยี่ยมเยือนมูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา ที่บนดอยแม่สลอง และเมื่อดิฉันมากรุงเทพ ฯ ก็มาพักที่บ้านพี่เชิดเป็นประจำหนังที่พี่เชิดสร้าง ดิฉันจะคอยติดตามดู ตั้งแต่พลอยทะเล ทวิภพ อำแดงเหมือนกับนายริด เรือนมยุรา และข้างหลังภาพ ทุกเรื่องมีความงามของวัฒนธรรมไทย ธรรมชาติ และหลักธรรมะ ดูครั้งใดก็ติดตาตรึงใจไปแสนนานเสียดายที่พี่เชิดจากไปในวัยที่ควรทำประโยชน์ต่อโลกได้อีกมาก แฟนหนังของพี่เชิดจึงรู้สึกอาลัยอาวรณ์ พยายามจัดกิจกรรมรำลึกถึง โดยจัดนิทรรศการชีวิตและผลงานของพี่เชิดที่บ้านเกิด คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 9 กันยายน 2549 ถึง 24 กันยายน 2550 รวมทั้งทอดกฐินส่งผลบุญไปให้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน 2550 พี่จันทนา ทรงศรี ได้กรุณาชวนดิฉันไปงานเปิดตัวสัปดาห์ภาพยนตร์เชิด ทรงศรี ที่โรงหนังแกรนด์ อีจีวี สยามดิสคัฟเวอรี่ ชั้น 6 ซึ่งฉายภาพยนตร์เรื่องแผลเก่า เป็นประเดิม เวลา 19.00 น. ดิฉันมาถึงก็พอดีได้เวลาฉายหนัง ไม่ทันได้ร่วมพิธีการเปิดตัวสัปดาห์หนังของพี่เชิด ทรงศรี ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม กับไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น ร่วมจัดโดยหอภาพยนตร์แห่งชาติ สถานทูตฝรั่งเศส สมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ชมรมวิจารณ์บันเทิงและสมาคมผู้กำกับสามสิบปีที่ผ่านไป เมื่อได้ดูหนัง “แผลเก่า” อีกครั้งหนึ่ง คำขวัญคู่กับหนังที่พี่เชิดอยากสร้างที่สุด คือ “เราจักสำแดงความเป็นไทยต่อโลก” ยิ่งประจักษ์ชัดในใจของดิฉันฉากแรกที่ยิ่งใหญ่ คือ ฉากเพลงเหย่อย ในพิธีไหว้แม่โพสพที่บ้านกำนันเรือง พ่อของเรียม ทำให้เห็นวัฒนธรรมของชนบทไทย ที่มีความกตัญญูต่อแม่โพสพที่ให้ชีวิตทุกเมื่อเชื่อวันฉากที่ขวัญกับเรียมขี่ควายพาไปเลี้ยงในท้องทุ่ง ผ่านทุ่งนาและลำคลองที่อุดมสมบูรณ์ ฉากเรียมใช้สุ่มจับปลา ฉากรักกลางธรรมชาติ แสดงให้เห็นชีวิตที่สงบสุข เรียบง่าย ผูกพัน กับธรรมชาติของเกษตรกรในชนบทที่ทุ่งบางกะปิเมื่อเรียมถูกพ่อตี แล้วจับเรียมผูกโซ่ขังไว้ในยุ้งข้าว โดยแม่พยายามปกป้องลูกสาวที่รักดังดวงใจ แต่แม่กำลังน้อย สู้พ่อไม่ได้ เป็นฉากที่แสดงถึงการกดขี่ผู้หญิงอย่างไม่มีทางสู้ แม่จึงตรอมใจที่ลูกสาวถูกนำไปขายให้คุณนายที่กรุงเทพ ฯ เพื่อไถ่ถอนที่นาเรียมเริ่มปรับตัวกับวิถีชีวิตคนกรุง ตามที่คุณนายซึ่งรักเรียมเหมือนลูกฝึกฝนให้ โดยหลานชายของคุณนายที่กลับจากต่างประเทศมาหลงรักแต่เมื่อรู้ข่าวว่าแม่ป่วย เรียมก็กลับมาสู่ทุ่งบางกะปิอีกครั้ง ภาพที่เรียมซุกหน้าแนบฝ่าเท้าของแม่ ด้วยความรัก ความห่วงใย ทำให้ดิฉันน้ำตาพรั่งพรู ในยุคสมัยนี้มีลูกกี่คนที่กราบเท้าแม่และถวิลหาที่จะปรนนิบัติแม่พ่อด้วยความกตัญญูศรินทิพย์ ศิริวรรณ กับ นันทนา เงากระจ่าง เล่นบทแม่ลูก ได้ซึ้งใจจริง ๆก่อนสิ้นลม แม่สอนลูกว่า ขอให้ลูกเลือกชีวิตด้วยตนเอง เลือกความรักแท้ อย่ายอมให้ใครบังคับใจ เพราะจะทุกข์ตลอดชีวิต เหมือนที่แม่ประสบอยู่ ส.อาสนจินดา แสดงเป็นพ่อของขวัญ ผู้รักลูกโทนคนเดียวที่กำพร้าแม่ตั้งแต่เล็ก โดยยอมทำทุกอย่างเพื่อลูก สายตาที่ทอดมองลูกด้วยความรัก ความห่วงใย ตรึงใจผู้ดูทุกคนสรพงศ์ ชาตรี แสดงเป็นขวัญอย่างได้อารมณ์ สมเป็นพระเอกตุ๊กตาทองเจ้าบทบาทจริง ๆ ในงานวันนี้สรพงศ์มากับภรรยาคู่ใจ (คุณดวงเดือน จิไธสงค์) ด้วยวัยห้าสิบปีกว่า ๆ สรพงศ์ยังดูสุขภาพดี ไม่มีริ้วรอยของกาลเวลาที่ผ่านไปเลยเมื่อหนังจบลง เสียงปรบมือดังก้อง แสงไฟส่องสว่างทั่วโรง มองเห็นสีหน้าฉ่ำน้ำตาของผู้ดูทั้งหลาย คงทั้งประทับใจหนังแผลเก่า และระลึกถึงความดีของพี่เชิด ทรงศรี ที่ได้ประกาศศักดาของหนังไทย คว้ารางวัลชนะเลิศจากงานประกวดภาพยนตร์ ณ เมืองน็องต์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2524 และเป็นหนังที่ทำรายได้สูงสุด เมื่อเทียบกับหนังทุกเรื่องที่เคยฉายในประเทศไทย ณ พ.ศ.นั้นหลังจากความสำเร็จของหนัง แผลเก่า ผลงานทุกเรื่องของพี่เชิด ทรงศรี มักได้รับเชิญไปฉายในงานมหกรรมภาพยนตร์นานาชาติ ทั้งในเอเชีย และประเทศตะวันตกจึงถือได้ว่า เชิด ทรงศรี เป็นผู้กำกับชาวไทยที่สามารถนำธงไทยไปปักบนแผนที่ภาพยนตร์โลก ช่วงท้ายของสัปดาห์หนัง เชิด ทรงศรี วันที่ 28,29,30 กันยายน ยังมีฉายภาพยนตร์ดังนี้ ศุกร์ 28 กันยายน 19.00 น. พลอยทะเล เสาร์ 29 กันยายน 14.00 น. อำแดงเหมือนกับนายริด และอาทิตย์ 30 กันยายน 14.00 น. เพื่อนแพงเชิญชื่นชมกับเรื่องย่อและโปสเตอร์หนังทั้งสามเรื่อง ได้ค่ะ ดิฉันขอเสนอให้กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ จัดให้นักเรียน นักศึกษา ได้มาดูหนังอมตะของพี่เชิด ทรงศรี ในช่วงต่อไป เพื่อปลุกให้เด็กไทยภูมิใจในรากเหง้าของตน ดังปณิธานที่พี่เชิด ทรงศรี ได้ตั้งไว้ขอให้จิตวิญญาณของพี่เชิด ทรงศรี ผู้สร้างงานด้วยปัญญาและหัวใจ จงอยู่คู่กับวงการภาพยนตร์ไทยนิรันดร์กาล.
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
เช้า,เย็น,ค่ำ หน้าสถานทูตพม่า ,สองวันนั้น วิญญาณแห่งเสรีภาพร่ำไห้ออกมาเป็นเสียงfree free free ,free Burma..ด้วยความหวังว่า เสียงแห่งเสรีภาพจะดังก้องไปทั่วโลก ผ่านเวทย์มนต์ของเทคโนโลยีการสื่อสารผิวถนนระอุด้วยไอแดด เหงื่อไคลของเด็กชายไหลลงมาตามผิวหน้า ในตาลุกวาวทุกครั้งที่มีการตะโกนปลุกเร้าว่า “free free free ,free burma” …ชูกำปั้นขึ้นฟ้าให้สุดแขนแล้วตะโกนออกมาดังๆ... free free free, free Burma … free free free, free Burma … free free free, free Burma … free free free, free Burma … free free free, free Burma … free free free, free Burma … free free free, free Burma …ผ้าสีแดงโพกศีรษะ ตราสัญลักษณ์นกยูงสีทอง ขับเน้นผิวสีขาวอ่อนของเด็กชายดูโดดเด่น ปากร้องตะโกน free free free ,free Burma ... ในมือของเขามีรูปของนางอองซานซูจี ด้วยดวงใจของแรงศรัทธา...นักลงทุนด้านพลังงานคนหนึ่งร้องว่า “โว้ย จะเรียกร้องทำซากอะไร กำลังจะทำเอ็มโอยูกันแล้วเชียว”เจ้าของบริษัททัวร์ รำพึงรำพันปิ่มใจจะขาดว่า “พัง พังยับเยิน ดูซิลูกทัวร์คืนแพ็กเกจทั้งกระบิ บ้าฉิบ”อีกคนเป็นเจ้าของธุรกิจเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร กล่าวออกมาลอยๆ “เชี่ยด”ขุนคลังหวั่นวิตกกับหายนะของการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าที่จะทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียปั่นป่วนกับการขึ้นๆ ลงๆ ของอัตราการแลกเปลี่ยนเงินและดอกผลด้านการลงทุนพ่อค้าที่แม่สายบอก “ต้องรีบกักตุนสินค้า ขึ้นราคาทหารพม่ามัน”ผู้ใหญ่ในบ้านเรา ยิ้มอย่างคนอารมณ์เย็นเต็มไปด้วยขันติธรรมประจำใจ ก่อนให้สัมภาษณ์นักข่าว “เอ่อ กระพ้มเชื่อว่า สถานการณ์จะไม่บานปลายขรับเพราะรัฐบาลของเขาจัดการทุกอย่างได้เรียบร้อยเสมอมา” ก่อนจะทิ้งท้ายว่า รัฐบาลทหารพม่าลุ้นให้ประเทศของเรามีการจัดการเลือกตั้งไวไวคนขับรถบนถนนสาทร หมุนกระจกลงมาตะโกนว่า “เมื่อไรจะหุบปาก รถติดไม่เห็นหรือไง”free free free, free burma ...
วิจักขณ์ พานิช
ผมกลับเมืองไทยมาได้หนึ่งเดือนแล้วครับ หนนี้ถือเป็นการกลับอย่างถาวร คือ ตั้งใจจะกลับมาทำประโยชน์ที่เมืองไทย หยั่งรากและเติบโตบนผืนดินผืนนี้จริงๆ ตั้งแต่กลับมาวันแรกจนถึงวันนี้ ก็ได้ผ่านอุปสรรคทั้งภายนอกและภายในไปนับไม่ถ้วน เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เปราะบางและหมิ่นเหม่ที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตเลยก็ว่าได้ในช่วงเวลาที่การเดินทางด้านในโอนเอนแทบจะเอาตัวไม่รอดในหลายต่อหลายครั้ง  การเดินทางด้านนอกก็ยังคงดำเนินกันต่อไปตามครรลอง ผมได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยพบปะกับผู้คนในแวดวงการศึกษามากมาย ทั้งกับคนที่เคยได้อ่านงานเขียนของผม หรือกับกัลยาณมิตรที่รู้จักมักจี่กันเป็นการส่วนตัว ผมก็ยังเป็นผม เป็นคนธรรมดาๆที่มีช่วงขึ้นลงของชีวิต มีเลือดมีเนื้อ หยิกก็เจ็บ เหน็บก็เคือง ที่ผมไม่เห็นว่าจะเป็นเรื่องแปลกตรงไหน แต่มีเสียงนึงที่ผมชักจะได้ยินบ่อยเกินเหตุจนอดไม่ได้ที่จะต้องเอามาบ่นดังๆในบทความชิ้นนี้ ก็คือ “ภาวนามาตั้งเยอะ แล้วทำไมยังทุกข์”สำหรับผู้อ่านที่สนใจเรื่องการภาวนาเพื่ออยากจะมีชีวิตอย่างก้อนหินนิ่งๆแข็งๆ ไม่ขยับเขยื้อนหรือรู้ร้อนรู้หนาวกับชีวิตและสิ่งรอบตัว ผมก็ขอเชื้อเชิญให้เมินเฉยกับมารศาสนาอย่างผมไปเสีย เพราะไม่รู้จะเสียเวลาอ่านงานบ่นชิ้นนี้ไปทำไมให้จบ เพราะทิฏฐิที่อาจจะดูเป็นมัจฉา เอ๊ย มิจฉา ของผมในเรื่องนี้ก็คือ ผมฝึกฝนตัวเองมาก็เพื่อที่จะใช้ชีวิตอย่างตื่นรู้  ไม่ใช่ภาวนาเพื่อให้ครึ่งหลับครึ่งตื่น หรือ ภาวนาเป็นยาชา...คนสมัยนี้หนีมาเข้าวัด หันหน้าเข้าหาศาสนา หลงใหลการภาวนา เพราะความกลัวทุกข์ หรือ ความกลัวเจ็บ กันมากเกินไปหรือเปล่า...ก่อนที่จะวิ่งวุ่นหาทางหลุด ทางพ้น เราได้อยู่กับความทุกข์ มองทุกข์ สัมผัสทุกข์ จนรู้จักมันกันดีพอแล้วหรือยัง...เราได้เรียนรู้ที่จะเข้าใจชีวิตของเรามากพอแล้วล่ะหรือในมุมมองแบบโลกๆ ของผม ชีวิตมันไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าขยะแขยงอะไรขนาดนั้น ไหนๆก็เกิดมาแล้ว เราก็น่าจะลองดูกันสักตั้ง จะเอาแต่แหยๆกัน ชาตินี้ก็คงไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันกันพอดี แต่ก็นั่นล่ะครับ ที่ผมพูดก็ไม่ได้หมายความว่า การดำเนินชีวิตเป็นเรื่องง่าย ยิ่งเราเลือกที่จะฝึกใจให้เปล่าเปลือยด้วยแล้ว ชีวิตที่ไม่ง่ายก็ยิ่งกลายเป็นสิ่งที่เปราะบางมากขึ้นไปอีก แต่ผมว่าก็ไอ้เพราะความเปราะบางนี่แหละ ชีวิตถึงจะเป็นชีวิต ในความเปราะบางเราจะสัมผัสได้ถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่เพื่อตนเองและผู้อื่น แบบจั๊กจี้หัวใจ ยอมให้ความทุกข์เข้ามาสะกิดได้อย่างไม่มีอะไรขวางกั้นฟังดูดีนะครับ แต่มีสิ่งนึงที่คงต้องบอกให้ทราบกันล่วงหน้า นั่นก็คือ หากเราเลือกที่จะฝึกฝนอยู่กับชีวิตที่เปราะบาง และหัวใจที่เปล่าเปลือยนั้น เราจะต้อง “กล้าที่จะเจ็บ” ให้ได้เสียก่อน  นอกจากจะไม่กลัวเจ็บแล้ว เรากลับอยากสัมผัสว่าความเจ็บที่แท้มันเป็นเช่นไร ...การภาวนาจึงไม่ได้ทำหน้าที่เป็นยาระงับปวด แต่เป็นหนทางการฝึกฝนเพื่อที่เราจะสามารถตื่นอยู่กับความเจ็บ มองและเรียนรู้กับมันได้อย่างไม่กลัวเจ็บ ลองดูใหม่นะครับ ....เราลองมาสร้างความสัมพันธ์ เรียนรู้กับความทุกข์ แบบไม่กลัวเจ็บกันข้อแรก ความทุกข์ จะถูกสัมผัสได้ก็ด้วยการดำเนินชีวิตอย่างเปล่าเปลือย ด้วยหัวใจที่เปราะบาง เปิดรับให้โลกเข้ามาสะกิดใจเราอย่างไม่เขินอายข้อสอง ต้นตอแห่งทุกข์ ขมวดเป็นปมขึ้นจากเกราะคุ้มกันทางความคิด และแรงต้าน อันเกิดมาจากความขยาดกลัวในการไม่กล้าเข้าไปเผชิญความเจ็บนั้นอย่างตรงไปตรงมา ข้อสาม ความดับทุกข์ เข้าถึงได้ด้วยการดำเนินชีวิตตามอย่างนักรบผู้กล้า ผู้ที่เชื่อในความเป็นจริงแห่งจักรวาล ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับผู้คนอย่างหาญกล้า เป็นชีวิตธรรมดาๆที่เต็มเปี่ยมไปด้วยการเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดแห่งชีวิต ตรงไปตรงมาอย่างไม่ตัดสิน ข้อสี่ หนทางแห่งการดับทุกข์ ก็คือ กล้าที่จะเจ็บ ก้าวเดินบนเส้นทางแห่งการสร้างความสัมพันธ์และทำความเข้าใจความทุกข์ในทุกแง่มุม เรียนรู้ที่จะสัมผัสโลกที่กว้างใหญ่จากหัวใจที่แตกสลาย ร่วมกับผู้คนรอบข้างการภาวนาบนพื้นฐานแห่งความจริงสี่ประการข้างต้นนี้เป็นสิ่งที่มีพลังมากครับ ดูเหมือนการนั่งนิ่งๆไม่ทำอะไร จะไม่ได้มีเป้าหมายของการเป็นก้อนหินไม่รู้สึกรู้สากับสิ่งรอบตัวอีกต่อไป หัวใจที่บอบบางของเราดูจะเต้นเป็นจังหวะ เลือดสูบฉีดหล่อเลี้ยงพลังแห่งการตื่นรู้ในกาย ลมหายใจเข้าออกซึมซับเข้าไปปลุกสัญชาตญาณทุกอณูรูขุมขน พื้นที่ว่างภายในขยายกว้าง คลี่คลายปมกรรมภายใน สู่ศักยภาพและความมั่นใจที่เต็มเปี่ยมแห่งการรู้จักตนเองบ่นมาได้ที่ ท้ายที่สุดนี้ผมก็ต้องขอบคุณเพื่อนๆ พี่ๆ และป้าๆ หลายๆท่าน กับความปรารถนาดีที่มีต่อผม อยากให้ผมคลายจากความเจ็บปวดรวดร้าว ใจหายอักเสบ ก้าวข้ามอุปสรรคนานาประการ สู่ชีวิตนิพพานอันสงบ เยือกเย็น ไร้คลื่นลม ....แต่เอวังด้วยประการฉะนี้ ที่อาจเป็นเพราะด้วยความอหังการ ความดื้อด้าน อวิชชา หรือมิจฉาทิฏฐิที่แน่นหนาในตัวผม ที่ยังไงเสียก็จะขอยืนหยัดอยู่บนเส้นทางแห่งการฝึกตน บนความเชื่อมั่นในหัวใจที่เปลือยเปล่า ที่จะค่อยๆเลื่อน เคลื่อนไหลไปบนคมมีด สัมผัสความเจ็บปวดแห่งชีวิตร่วมกับเพื่อนมนุษย์ไปเรื่อยๆ อย่างไม่ตัดสิน อย่าเพิ่งปล่อยวางเร็วนัก ขอเจ็บอีกสักพักละกันนะครับ...
มูน
ฝรั่งมักเลี้ยงหมา ไม่ใช่ในฐานะสัตว์เฝ้าบ้าน แต่เป็นสมาชิกในครอบครัว ฝรั่งคนหนึ่งบอกว่า ชีวิตสมบูรณ์ของผู้ชาย ต้องประกอบด้วย การงาน บ้าน ภรรยา ลูกๆ และหมาอย่างน้อยหนึ่งตัวการเลี้ยงหมา(อย่างถูกวิธี) ช่วยกล่อมเกลาจิตใจเด็กๆ ให้ละเอียดอ่อนและรู้จักความรับผิดชอบ เพราะหมาพูดไม่ได้ ต้องอาศัยการใส่ใจสังเกตว่าเมื่อไหร่ที่มันหิว หนาว ร้อน หรือป่วยไข้ไม่สบาย การใส่ใจในทุกข์สุขของอีกชีวิตหนึ่ง สอนให้เด็กๆ อ่อนโยนและลดความเห็นแก่ตัว นักจิตวิทยาบอกว่า เด็กมักสบายใจที่ได้บอกเล่าความลับหรือปรับทุกข์กับเพื่อนสี่ขา ในหลายๆ เรื่องที่เขาไม่อาจสื่อสารกับผู้ใหญ ทั้งเด็กๆ ยังได้หัดเผชิญกับความสูญเสีย เพราะหมานั้นอายุสั้นกว่าคนหลายเท่าวงการแพทย์พบว่า หมาแมวสามารถเยียวยาอาการเจ็บป่วยของเด็กๆ และช่วยฟื้นฟูผู้ชราที่เป็นโรคซึมเศร้าให้ดีขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ตลอดเวลาที่อยู่กับเจ้าสี่ขากว่าเจ็ดสิบตัว ฉันรู้สึกว่าชีวิตเรียนรู้เท่าไรก็ไม่หมด ไม่น่าเชื่อว่าการคลุกคลีกับสัตว์ที่พูดไม่ได้ และ(บางครั้ง)เดาใจไม่ออก จะทำให้ฉันสามารถอยู่กับคนได้อย่างปล่อยวางมากขึ้น ไม่มีเงื่อนไข และไม่คาดหวังนึกถึงเรื่อง “พบกันวันคิดถึง” หรือ See you anytime I want ของคิคุตะ มาริโกะ หนังสือภาพเล่มเล็กๆ ที่ได้รับรางวัลชมเชยจากงานมหกรรมหนังสือเด็กโบโลนญา ปี 1999 และจำหน่ายมาแล้วกว่า 1,000,000 เล่มในประเทศญี่ปุ่นเป็นเรื่องราวความผูกพันของเพื่อนรักคู่หนึ่ง ชิโระกับมิกิ เหตุเกิดขึ้นอย่างกระทันหันชิโระต้องก้าวข้ามความโศกเศร้าพอหลับตาลงแล้วคิดถึงเรื่องราวของมิกิจังผมจะได้พบมิกิจังเสมอแม้อยู่ไกล เราก็อยู่ใกล้กันภายใต้เปลือกตา เราไม่เคยเปลี่ยนแปลงเรายังคงเหมือนวันเวลานั้นผมพบกับมิกิจังทุกเวลาที่คิดถึง........เป็นหนังสือที่หยิบเอาเรื่องความตายมาอธิบายได้อย่างสวยงาม ทั้งยังบอกวิธีรับมือกับความเศร้าได้อย่างอ่อนโยน ภาพลายเส้นง่ายๆ ของหมาน้อยในหนังสือ เรียกรอยยิ้มได้ทุกครั้งที่อ่าน แม้บางครั้งจะดึงให้เรานึกถึงเรื่องที่อยากร้องไห้หมาแมวบ้านสี่ขาล้วนมีความเป็นมาที่น่าเศร้า หลายตัวผ่านการถูกทำร้าย อดอยากขาดแคลนทั้งอาหารและความรัก จึงเจ็บป่วยอ่อนแอทั้งกายและใจ ถึงจะพลิกฟื้นคืนความแจ่มใสได้ แต่หลายตัวก็อายุไม่ยืนยาวนัก การนั่งมองเพื่อนสี่ขาหมดลมหายใจในมือของฉันตัวแล้วตัวเล่า ไม่ได้ทำให้เกิดความเคยชิน การจากพรากแต่ละครั้งยังสะเทือนใจไม่ต่างกัน ยุ่งยิ่งเป็นหมาเล็กๆ อีกตัวหนึ่งที่ฉันรับเลี้ยงไว้ ครั้งแรกที่พบกันนั้น เป็นระหว่างทางที่ฉันกลับจากการจัดรายการวิทยุที่ FM 103 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลูกหมาตัวหนึ่งนอนหมดเรี่ยวแรงอยู่บนพื้น แทบทุกตารางนิ้วของผิวหนังเต็มไปด้วยเห็บ หมัด และเหา ทั้งเกาะติดแน่นและไต่ยั่วเยี้ยเต็มตัวจนไม่อาจนับจำนวนได้ฉันขนลุกเมื่อมองเห็บที่กระจุกอยู่เหมือนเมล็ดข้าวโพดในฝัก ลูกหมาตัวนี้กำลังจะตาย ดวงตากลมโตแต่เซื่องซึมของมันบอก พี่น้องตัวอื่นๆ ของมันถูกขายไปแล้ว เหลือแต่ยุ่งยิ่งที่ตัวเล็ก อ่อนแอ และไม่สวย แม่ของมันกำลังถูกบำรุงเพื่อท้องลูกครอกใหม่ ยุ่งยิ่งเป็นหมาที่ไม่มีใครอยากได้ แม้แต่เจ้าของของมัน “ขอได้ไหม” ฉันถามเจ้าของ และเมื่อเขาบอกอย่างไม่สนใจว่า “ก็เอาไปสิ” ฉันจึงหยิบเจ้าตัวกระจ้อยร่อยเบาหวิวใส่ถุงและรีบพาไปหาหมอ สัตวแพทย์อุทานด้วยความตกใจเมื่อเห็นปริมาณเห็บหมัดบนตัวเจ้าหมาน้อยยุ่งยิ่งโตขึ้นเป็นหมาแคระแกร็นเพราะสุขภาพไม่ดี หมอบอกว่าหมาตัวนี้อายุไม่ยืน แต่ฉันพยายามยืดชีวิตมันไว้ให้นานที่สุด ให้มันมีโอกาสได้สัมผัสกับความสุขที่ขาดไปในวัยเยาว์ แต่ยุ่งยิ่งเป็นโรคโลหิตจางและมีภูมิคุ้มกันต่ำ มันจึงป่วยบ่อยๆ ด้วยสารพัดโรค  เกือบห้าปีที่วนเวียนกินยา ฉีดยา และให้น้ำเกลือ ยุ่งยิ่งอยู่กับฉันอย่างน่ารักน่าสงสาร มันสงบเสงี่ยมเจียมตัว พอใจเพียงแค่ได้มานอนซุกเงียบๆ อยู่บนตัก และมีความสุขอย่างเห็นได้ชัดเมื่อฉันอุ้มไปเดินเล่น ยุ่งยิ่งสามารถนั่งนิ่งๆ ได้นานครึ่งค่อนวัน มีเพียงดวงตากลมโตที่กลอกตามความเคลื่อนไหวของฉันตลอดเวลา อย่างที่ฉันไม่เคยเห็นจากหมาตัวไหนๆ แม้ในชั่วโมงเจ็บปวดทุรนทุราย ตาคู่นั้นก็ไม่เคยเปลี่ยนเป้าหมายไปที่อื่นวันที่เขียนเรื่องนี้ ฉันเพิ่งขุดหลุมฝังยุ่งยิ่ง แดดจัดจ้าทำให้ผิวดินร้อนระอุ ทั้งแน่นและแข็ง เหวี่ยงจอบแต่ละทีสะเทือนไปทั้งไหล่ แต่ฉันก็พยายามขุดให้ลึกที่สุด เพื่อให้ถึงเนื้อดินเย็นๆ ข้างล่างฉันบรรจงจัดท่านอนให้ยุ่งยิ่ง เกลี่ยดินกลบตัวมันจนแน่น แล้วก็นั่งเป็นเพื่อนมันอยู่อีกนาน คิดว่าข้างใต้นั้นคงเย็นสบาย เจ้าหมาน้อยจะไม่ทุรนทุรายอีกต่อไป ความตายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครเลี่ยงได้ ทุกชีวิต จะคนหรือหมา สุดท้ายก็ต้องกลับคืนสู่ผืนดินนึกถึงเมื่อไม่กี่ปีก่อน ที่เคยนั่งอยู่บนพื้นดินใต้ต้นสะเดาเก่าแก่ที่วัดป่าแห่งหนึ่งในภาคอิสาน ลึกลงไปใต้โคนต้นสะเดา ฝังกระดูกของพ่อฉันไว้ ตอนนั้นฉันก็คุยกับพ่อว่า ข้างใต้นั้นคงเย็นสบายนะ พ่อน่าจะหลับสบาย ใช่ไหมพ่อไม่มีใครจากไปอย่างแท้จริงตราบเท่าที่เรายังรักและคิดถึงเขาเสมอเราพบกับคนที่เรารักทุกเวลาที่คิดถึง

แท็กล่าสุด

แท็กยอดนิยม