Skip to main content

                    

 

ตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา วงการวิชาการด้านเศรษฐกิจการเมืองกำลังตื่นตัวอย่างมาก หลังจากหนังสือเรื่อง Capital in the Twenty-First Century ของ โตมาส์ ปิเก็ตตี้ (Thomas Piketty) นักเศรษฐศาสตร์วัย 44 ปี ชาวฝรั่งเศส ได้รับการแปลและตีพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษ กระแสความนิยมทำให้หนังสือเล่มดังกล่าวติดอันดับหนังสือขายดีจากหลายสำนัก และมียอดสั่งจองและขายได้แล้วกว่าหนึ่งแสนห้าหมื่นเล่มทั่วโลก ทั้งในแบบรูปเล่มและ e-book  

 

หนังสือเล่มนี้เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างมาก ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 3 ประการ คือ (1) ปิเก็ตตี้ เป็นหนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาด้านความเหลื่อมล้ำและการกระจายความมั่งคั่งมาอย่างยาวนาน เขาเรียนจบปริญญาเอกจาก École des hautes études en sciences sociales (EHESS) ในฝรั่งเศส และ London School of Economics (LSE) จากอังกฤษด้วยวัยเพียง 22 ปี จากการทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับทฤษฎีการกระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

 

ก่อนหน้านี้ เขายังเคยศึกษาพลวัตรของความเหลื่อมล้ำในสหรัฐอเมริการ่วมกับเพื่อนของเขาคือ อิมมานูเอล ซาเอซ (Emmanuel Saez) และได้เสนอข้อเสนอที่สร้างข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางว่า สหรัฐฯ มีระบบการกระจายความมั่งคั่งร่ำรวยที่ไม่เป็นธรรม โดยความมั่งคั่งส่วนมากของประเทศตกอยู่ในมือของคนเพียง 1 เปอร์เซนต์ ขณะที่คนที่ 99 เปอร์เซนต์ต้องแบ่งสรรปันส่วนรายได้ที่น้อยนิดระหว่างกันเอง ข้อเสนอดังกล่าวกลายเป็นหัวใจของขบวนการเคลื่อนไหวประท้วงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่รู้จักกันต่อมาว่า "Occupy Wall Street"

 

(2) นอกจากความเชี่ยวชาญส่วนตัวที่ว่ามาแล้วแล้ว เขายังใช้เวลากว่า 15 ปี ในการทำวิจัยและรวบรวมข้อมูลจนได้ฐานข้อมูลทางเศรษฐกิจในรอบกว่า 3 ศตวรรษของกว่า 20 ประเทศ อันเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สำคัญยิ่งของหนังสือเล่มนี้ จนนำไปสู่ (3) ข้อเสนอที่ท้าทายยิ่งว่า ความเหลื่อมล้ำในระบอบทุนนิยมนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะหมดไปโดยธรรมชาติแบบที่นักเศรษฐศาสตร์คลาสสิก/นีโอ-คลาสสิก หรือนักคิดฝ่ายซ้ายบางคนเชื่อกัน กลับกัน เขาเสนอว่า อัตราการเติบโตของผลตอบแทนจากทุน (r - return on capital) เพิ่มขึ้นสูงและรวดเร็วกว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (g - growth) หรือ "r > g" แสดงให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแทบจะเป็นรากฐานถาวรของระบบทุนนิยมตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมา  

 

เขาเสนอไว้ในบทสุดท้ายของหนังสือว่า มีเพียงไม่กี่หนทางที่จะยับยั้งความเหลื่อมล้ำทางรายได้เอาไว้ หนึ่งในนั้น คือการจัดเก็บภาษีรายได้อัตราก้าวหน้า เพื่อต่อสู้กับการกระจุกตัวของความมั่งคั่งในมือของคนส่วนน้อย ทว่าข้อเสนอดังกล่าวนำมาซึ่งข้อวิพากษ์วิจารณ์จากนักเศรษฐศาสตร์หลายคนที่เห็นว่า ปิเก็ตตี้เป็นเพียงพวกเพ้อฝันถึงสังคมที่เท่าเทียม โดยเพิกเฉยต่อความเป็นจริงของระบบทุนนิยมที่การจัดเก็บภาษีรายได้อัตราก้าวหน้า มีแต่จะสร้างทำลายการเติบโตทางเศรษฐกิจ (g) อีกทั้งยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรในทางปฏิบัติ

 

กระนั้นก็ตาม หลายคนยอมรับตรงกันว่า ข้อบกพร่องต่าง ๆ ของปิเก็ตตี้ ไม่ได้ลดทอนความสำคัญของข้อเสนอของเขาและฐานข้อมูลที่เขาเก็บรวบรวมขึ้นมา อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำความเข้าระบบทุนนิยม และการวิเคราะห์ภาพรวมของความเหลื่อมล้ำทางใจเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วโลก 

 

เพื่อทำความเข้าใจข้อเสนอที่สำคัญของปิเก็ตตี้ให้มากขึ้น ผมได้แปล บทสัมภาษณ์โตมาส์ ปิเก็ตตี้ เรื่อง "Q&A: Thomas Piketty on the Wealth Divide" โดย เอดูอาร์โด พอร์เตอร์ (Eduardo Porter) จาก The New York Times มาไว้ด้านล่าง และ ได้ทำหมายเหตุอธิบายประเด็นเพิ่มเติมเล็ก ๆ น้อย ๆ ไว้ด้วย

 

หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่สนใจครับ

 

=======================

 

บทสัมภาษณ์ โตมาส์ ปิเก็ตตี้ ว่าด้วยการแบ่งสรรความมั่งคั่ง

โดย เอดูอาร์โด พอร์เตอร์  

(Accessed: http://economix.blogs.nytimes.com/2014/03/11/qa-thomas-piketty-on-the-wealth-divide/?_php=true&_type=blogs&_php=true&_type=blogs&_r=1&) 

 

                    

 

Q: หนังสือของคุณเป็นสิ่งที่ออกจะประหลาด ๆ สำหรับขนบของเศรษฐศาสตร์ร่วมสมัย เพราะมันไม่ได้สนใจการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือตัวบ่งชี้ต่าง ๆ แต่สนใจว่าการเติบโตนั้นได้ถูกแบ่งสันปันส่วนอย่างไรมากกว่า ในแง่นี้ มันทำให้เรานึกถึงความสนใจที่คล้ายคลึงกัน ในหนังสือที่ชื่อคล้ายคลึงกันที่เขียนขึ้นเมื่อ 150 ปีก่อนอย่าง Capital ของคาร์ล มาร์กซ์ หนังสือสองเล่มนี้คล้ายกันอย่างไรบ้าง

 

A: ผมพยายามทำให้การตั้งคำถามกับการกระจายความมั่งคั่งและการศึกษาเกี่ยวกับแนวโน้มระยะยาว กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์เศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่งหมายความว่า ผมพยายามเดินตามแนวทางที่ริเริ่มได้โดยนักเศรษฐศาสตร์ศตวรรษที่ 19 อย่างเดวิด ริคาร์โด หรือคาร์ล มาร์กซ์ แต่จุดต่างสำคัญก็คือ ผมมีข้อมูลทางประวัติศาสตร์มากกว่าพวกเขา ด้วยความช่วยเหลือจากทั้ง โทนี แอตคินสัน เอมมานูเอล ซาเอซ ฟาคุนโด อัลบาเรโด ฌีล-โปสเตล วีเนย์ ฌอง-โรล็อง โรซ็องธาล กาเบรียล ซุคมันน์ และนักวิชาการอีกหลายคน พวกเราจึงสามารถรวมรวบชุดข้อมูลที่มีความพิเศษ ซึ่งครอบคลุมเวลา 3 ศตวรรษ จาก 20 ประเทศ และถึงตอนนี้ มันก็เป็นฐานข้อมูลเกี่ยวกับวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของรายได้และความมั่งคั่งที่กว้างขวางที่สุดเท่าที่มีอยู่ หนังสือเล่มนี้เสนอผลสังเคราะห์ที่ผ่านการตีความจากชุดข้อมูลที่เก็บรวมไว้เหล่านี้

 

Q: แทบจะตลอดศตวรรษที่แล้ว นักเศรษฐศาสตร์บอกเราว่า เราไม่จำเป็นต้องกังวลกับความเหลื่อมล้ำของรายได้ เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดจะกระจายความมั่งคั่งร่ำรวยอย่างเป็นธรรม และยกระดับทุกชีวิตขึ้นมาได้ในที่สุด เรื่องนี้ไม่จริงเหรอครับ คุณกำลังโต้แย้งว่าความเหลื่อมล้ำของรายได้จะเติบโตไปไม่สิ้นสุดงั้นหรือ มันจะเป็นเช่นนั้นได้ยังไงกัน

 

A: ประวัติศาสตร์บอกเราว่า มีแรงผลักดันอันทรงพลังที่มุ่งไปทั้งสองทาง ส่วนทางใดจะชนะก็ขึ้นอยู่กับสถาบันและนโยบายที่เราจะเลือกมาปรับใช้ร่วมกัน ในทางประวัติศาสตร์แล้ว แรงผลักดันสำคัญในการสร้างความเท่าเทียมกัน ทั้งระหว่างและภายในประเทศ ก็คือกระจายความรู้และทักษะความสามารถ ทว่ากระบวนการที่เที่ยงธรรมนี้ไม่สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น หากปราศจากสถาบันการศึกษาที่ครอบคลุมคนทุกคนและการลงทุนด้านทักษะความสามารถอย่างต่อเนื่อง นี่เองคือความท้าทายสำหรับทุกประเทศในศตวรรษนี้

 

ในระยะยาว แรงผลักดันที่ทรงพลังที่สุดที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น มาจากแนวโน้มอัตราผลตอบแทนจากทุน (r - return on capital)* ที่เพิ่มขึ้นล้ำหน้าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (g - output growth)** กล่าวคือ เมื่อ r ล้ำหน้า g อย่างที่เคยเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 และดูคล้ายจะเกิดขึ้นอีกในศตวรรษที่ 21 ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งตั้งต้นก็มีแนวโน้มจะขยายตัวและค่อย ๆ มุ่งสู่ระดับที่อันตรายอย่างยิ่ง ลำดับชั้นของคนเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่ถือครองความมั่งคั่งสูงสุดมีแนวโน้มจะได้รับส่วนแบ่งจากความมั่งคั่งของชาติจำนวนมหาศาล แลกมาด้วยความสูญเสียของชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง นี่คือสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และอาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

 

Q: ตลอดศตวรรษที่ 20 ความเหลื่อมล้ำในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมนั้นลดลง สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ยังไง และมันไม่ได้ขัดแย้งกับความเข้าใจที่ว่าความเหลื่อมล้ำจะเพิ่มขึ้นไม่สิ้นสุดหรือ

 

A: ความเหลื่อมล้ำที่ลดลงล้วนเป็นผลจากภาวะที่ทุนประสบปัญหาอย่างหนักระหว่างช่วง 1914-1945 (การทำลายล้าง เงินเฟ้อ วิกฤตต่าง ๆ) ทั้งยังเป็นผลของสถาบันทางการเงินและสถาบันทางสังคมใหม่ ๆ ที่สร้างขึ้นหลังสงครามโลกและวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ความเหลื่อมล้ำก่อนสงครามโลกนั้นไม่เคยมีแนวโน้มตามธรรมชาติที่จะลดลงเลยแม้แต่น้อย ระหว่างศตวรรษที่ 20 อัตราผลตอบแทนจากทุน (r) ลดลงฮวบฮาบเพราะวิกฤตของทุนและการจัดเก็บภาษี ขณะที่อัตราการเจริญเติบโต (g) ก็สูงขึ้นเป็นพิเศษในช่วงเวลาของการฟื้นฟูนี้เอง นี่คือคำอธิบายว่าทำไมความเหลื่อมล้ำในช่วง 1950-80 จึงอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก

 

Q: ทำไมคุณถึงเชื่อมั่นนักว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ช้ากว่าผลตอบแทนจากเงินลงทุน

 

A: ตลอดปี 1700-2012 ผลิตผลทางเศรษฐกิจทั่วโลกเติบโตอยู่ในระดับร้อยละ 1.6 ต่อปี ร้อยละ 0.8 เป็นผลจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และอีก 0.8 มาจากผลิตผลต่อหัวประชากรที่มากขึ้น ตัวเลขนี้อาจจะน้อย แต่โดยข้อเท็จจริง มันเพียงพอที่จะเพิ่มจำนวนประชากรโลกได้ถึง 10 เท่า จาก 600 ล้าน เป็น 7,000 ล้านคน ตามการคาดการณ์จำนวนประชากรของสหประชาชาติ ตัวเลขเท่านี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นอีกในทศวรรษหรือศตวรรษที่จะถึงนี้ จริง ๆ แล้ว จำนวนประชากรในยุโรปและเอเชียเริ่มจะคงตัวและลดน้อยลงแล้วด้วยซ้ำ ขณะที่สมมติว่าเราสร้างพลังงานสะอาดขึ้นมาได้ การเติบโตของผลิตผลอาจยังเดินหน้าต่อไปได้เรื่อย ๆ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่มีทางเติบโตได้เกินกว่าร้อยละ 1 หรือ 1.5 มีเฉพาะบางช่วงเวลาเท่านั้นที่อัตราการเติบโตของผลิตผลจะแตะระดับที่สูงเอามาก ๆ เช่น ร้อยละ 4 หรือ 5 หรือมากกว่านั้น

 

ตรงกันข้าม อัตราผลตอบแทนจากทุนอยู่ที่ระดับร้อยละ 4 หรือ 5 มาตลอดหลายศตวรรษ และอาจสูงกว่านั้นสำหรบสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงหรือกับหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง แตกต่างจากสิ่งที่คาร์ล มาร์กซ์ และคนอื่น ๆ เชื่อกัน ไม่มีเหตุผลตามธรรมชาติใด ๆ ที่อัตราผลตอบแทนจากทุนจะลดลงในระยะยาว รายชื่อการจัดอันดับมหาเศรษฐีของฟอร์บส์แสดงให้เห็นว่า มหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ถึง 7 ต่อปี ระหว่างช่วง 1987 – 2013 เพิ่มขึ้นเร็วกว่าความมั่งคั่งและรายได้ต่อหัวของประชากรทั่วโลกกว่า 3 เท่า การกระจุกตัวของทุนอาจจะคงตัวในระดับหนึ่ง ๆ แต่นั่นอาจเป็นระดับที่สูงมาก ๆ แล้วก็ได้

 

Q: การกระจุกตัวของความมั่งคั่งและรายได้ในสหรัฐฯ ดูจะแตกต่างจากประเทศในยุโรปและประเทศร่ำรวยอื่น ๆ ทำไมถึงเป็นแบบนั้น

 

A:  จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา และอาจจะถึงบางช่วงในปัจจุบัน อัตราการเติบโตของจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น คือแรงผลักดันหลักที่ช่วยลดความสำคัญโดยเปรียบเทียบของการสืบทอดความร่ำรวยในสหรัฐเมื่อเทียบกับในยุโรป ตรงกันข้าม ในช่วงที่ผ่านมา เราอาจสังเกตเห็นค่าตอบแทนของบรรดาผู้บริหารระดับสูงในสหรัฐฯ ที่เพิ่มมากขึ้น นี่คือความเหลื่อมล้ำในรูปแบบใหม่ ซึ่งผมพยายามจะอธิบายในแง่ของประวัติศาสตร์ของบรรทัดฐานทางสังคมและการคลังที่มีลักษณะเฉพาะของสหรัฐอเมริกาตลอดศตวรรษที่ผ่านมา

 

Q: นักเศรษฐศาสตร์บางคนแย้งว่า อย่างน้อยความเหลื่อมล้ำเช่นในสหรัฐอเมริกาก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะจะเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการกล้าที่จะเสี่ยงและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ อันทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้ คุณคิดยังไงกับข้อโต้แย้งนี้

 

A: มันถูกต้องในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติแล้ว คุณจะเห็นความเหลื่อมล้ำอยู่ในทุก ๆ ที่ เว้นแต่ในสถิติเกี่ยวกับผลิตภาพทางเศรษฐกิจต่าง ๆ อัตราการเจริญเติบโตของผลิตภาพในสหรัฐฯ ไม่เคยอยู่ในระดับที่ดีเลย นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ความเหลื่อมล้ำนั้นเป็นที่ต้องการแค่ในระดับหนึ่ง แต่พอเลยระดับนั้นไป มันก็ไร้ประโยชน์เสียแล้ว บทเรียนสำคัญข้อหนึ่งจากศตวรรษที่ 20 ก็คือ คุณสามารถมีอัตราการเติบโตที่สูงได้ โดยไม่ต้องมีความเหลื่อมล้ำแบบศตวรรษที่ 19

 

Q: บางที ความเหลื่อมล้ำในสหรัฐฯ อาจจะอันตรายน้อยกว่าในยุโรปหรือเปล่า เพราะว่ามหาเศรษฐีทั้งหลายก็ไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทอง แต่พวกเขาหาเงินมาได้จากการผลิตสินค้า บริการ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมาเอง

 

A: ครับ นั่นคือสิ่งที่คนชนะมักชอบอ้างกัน แต่สำหรับคนแพ้ มันเป็นเรื่องที่เลวร้ายที่สุดของที่สุด เพราะพวกเขาได้รับส่วนแบ่งจากรายได้และความมั่งคั่งน้อยลงเรื่อย ๆ ซ้ำร้ายก็ยังถูกมองว่าไม่สมควรจะได้รับสิ่งเหล่านั้นอีกต่างหาก

 

Q: ความเสี่ยงจากการปล่อยให้เกิดการกระจุกตัวของความมั่งคั่งและรายได้มากขึ้นเรื่อย ๆ คืออะไร แล้วมันมีจุดที่ความเหลื่อมล้ำถึงขีดสุดหรือเปล่า ประวัติศาสตร์เคยให้บทเรียนอะไรเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้บ้างไหม

 

A: ความเหลื่อมล้ำในสหรัฐฯ ในตอนนี้ ใกล้เคียงกับระดับการกระจุกตัวของรายได้ในยุโรประหว่างทศวรรษ 1900-1910 ประวัติศาสตร์สอนเราว่า ความเหลื่อมล้ำระดับนี้ไม่เพียงแต่จะไม่เป็นประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ยังทำให้กระบวนการทางการเมืองตกไปอยู่ในมือของชนชั้นนำผู้มั่งคั่งและมีรายได้สูงไม่กี่คนอีกด้วย และสิ่งนี้เป็นอันตรายโดยตรงต่อสถาบันและคุณค่าแบบประชาธิปไตย

 

Q: คุณบอกว่า สงคราม ภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง และการเติบโตทางเศรษฐกิจในชวงศตวรรษที่ 20 มีผลให้การกระจุกตัวของความมั่งคั่งหยุดลง นอกจากที่ว่ามาแล้ว มีทางเลือกอื่นอีกไหม และเราควรจะตอบโต้กับการสะสมทุนในมือคนหยิบมือเดียวในตอนนี้อย่างไรดี

 

A: ทางออกที่ดีที่สุด ก็คือการจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าบนฐานของความมั่งคั่งของแต่ละบุคคล เพราะว่ามันจะช่วยส่งเสริมการเคลื่อนย้ายความมั่งคั่งร่ำรวย รวมทั้งยังช่วยให้การกระจุกตัวของความมั่งคั่งอยู่ภายใต้การควบคุมและตรวจสอบของสาธารณะ แน่นอนว่า สถาบันและนโยบายอื่น ๆ ก็สามารถมีบทบาทสำคัญได้เช่นกัน เป็นต้นว่า อัตราเงินเฟ้อสามารถช่วยลดมูลค่าของหนี้สาธารณะลงได้ หรือการปฏิรูปกฎหมายสิทธิบัตรก็สามารถจำกัดการกระจุกตัวของความมั่งคั่งได้ด้วย

 

Q: คนที่ถือครองความมั่งคั่งทั้งหลายคงไม่ชอบทางออกนี้แน่ ๆ ยิ่งกว่านั้น พวกเขาก็มีอำนาจทางการเมืองมากพอจะยับยั้งมันได้ พูดอย่างนี้แล้ว คุณคิดว่าระบบประชาธิปไตยจะสามารถจัดการและบรรเทาปัญหานี้ได้ไหม

 

A: ประสบการณ์ของยุโรปในต้นศตวรรษที่ 20 ไม่ได้ให้ผลในแง่ดีเท่าไหร่นัก ระบบของประชาธิปไตยไม่ได้ตอบโต้กับความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างสันติ ความเหลื่อมล้ำยุติลงด้วยสงครามและความขัดแย้งทางสังคมที่รุนแรงเท่านั้น แต่เราก็มีความหวังว่า ครั้งหน้าเราจะรับมือกับมันได้ดีขึ้น ในบั้นปลาย การหาทางออกอย่างสันติก็เป็นผลประโยชน์ของเราทุกคนนั่นเอง ไม่เช่นนั้นแล้ว การต่อต้านโลกาภิวัตน์โดยประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะเป็นสิ่งอันตรายอย่างยิ่ง

 

หมายเหตุ

 

*แนวโน้มอัตราผลตอบแทนจากทุน (r - return on capital) ในความหมายของปิเก็ตตี้ หมายถึง ผลตอบแทนทุกชนิดที่นายทุนหรือผู้ถือครองทุนในทุกรูปแบบได้รับ (กำไร ดอกเบี้ย ค่าเช่า เงินปันผล ฯลฯ) ไม่ใช่เพียงกำไรที่ได้จากการลงทุน ทั้งในความหมายทางเศรษฐศาสตร์และความหมายทางการเงินเท่านั้น 

 

** โดยพื้นฐานแล้ว สมการ r > g หรือผลตอบแทนจากทุนมากกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ แสดงให้เห็นว่า สัดส่วนรายได้ของคนที่ทำงานกินเงินเดือนทั่ว ๆ ไปนั้นเติบโตน้อยกว่ารายได้ของผู้ที่มี ทุน (capital) อยู่ในมือ และส่งทอดกันไปจากรุ่นสู่รุ่น ปิเก็ตตี้ เห็นว่า อัตราการเติบโตที่ไม่สอดคล้องกันนี้ คือปัญหาหลักของความเหลื่อมล้ำของทุนนิยมที่ไม่มีวันจบลงเองโดยธรรมชาติ

 

*** ข้อเสนอของปิเก็ตตี้ โดยเฉพาะเรื่องการเก็บภาษีรายได้อัตราก้าวหน้า ถูกวิจารณ์โดยนักเศรษฐศาสตร์หลายคน ตัวอย่างเช่น  Tim Wornstall (ดู http://www.forbes.com/sites/timworstall/2014/04/24/a-problem-with-thomas-pikettys-wealth-tax-solution-to-r-g/) หรือ Tyler Cowen (http://www.foreignaffairs.com/articles/141218/tyler-cowen/capital-punishment)

 

**** งานเขียนหลายชิ้นของปิเก็ตตี้ สามารถดาวน์โหลดได้ใน http://piketty.pse.ens.fr/en/cv-en

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บทที่ 17 ประชาธิปไตยกับภาวะปกครองไม่ได้ (Democracy and Ungovernability)
Apolitical
บทที่ 16 เสรีนิยมรูปแบบใหม่ (New Liberalism)
Apolitical
บทที่ 15 ประชาธิปไตยในความสัมพันธ์กับสังคมนิยม (Democracy as It Relates to Socialism)
Apolitical
บทที่ 14 เสรีนิยมกับประชาธิปไตยในอิตาลี (Liberalism and Democracy in Italy)