Skip to main content

บทที่ 5 ดอกผลของความขัดแย้ง (The Fruitfulness of Conflict)

 

เช่นเดียวกันที่แสดงให้เห็นว่า เสรีภาพของปัจเจก คือเป้าหมายเพียงประการเดียวของรัฐ ทั้งยังโต้แย้งว่า รัฐเป็นเพียงวิธีการ ไม่ใช่เป้าหมายในตัวเอง งานเขียนของฮุมโบลดท์ยังมีลักษณะความสนใจสำคัญที่ใกล้เคียงอย่างมากกับความคิดแบบเสรีนิยม ตรงที่ต่างชื่นชมใน “ความแตกต่างหลากหลาย” (variety) เมื่อเขาวิพากษ์วิจารณ์รัฐที่ผูกพันกับพระเจ้า (providential state) ที่แสดงให้เห็นความห่วงใยอย่างล้นเกินต่อ “ความกินดีอยู่ดี” ของประชาชน ฮุมโบลดท์ (ซึ่งมีชุดเหตุผลสนับสนุนที่มาก่อนหน้าเหตุผลที่พวกเสรีนิยมใหม่ใช้ประณามผลพวงแง่ลบของรัฐสวัสดิการเสียอีก) ได้อธิบายว่า ยามที่รัฐเข้าแทรกแซงเกินขอบเขตของการธำรงรักษาระเบียบทั้งภายในและภายนอกที่ถูกจัดสรรไว้ให้ มันก็มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพให้กับพฤติกรรมของคนในสังคมและระงับความแตกต่างเชิงคุณลักษณะและอารมณ์ความรู้สึกโดยธรรมชาติของผู้คนเอาไว้  ต่างจากปัจเจกชน รัฐบาลมองหาสภาวะความเป็นอยู่ที่ผาสุกและเงียบสงบ “แต่ทว่าสิ่งที่มนุษย์กระทำและจำต้องนึกไว้ในใจคืออะไรบางอย่างที่ต่างออกไป นั่นคือความหลากหลายและกระตือรือร้น”[1] ผู้ที่คิดในทางกลับกันจึงไม่แปลกที่จะถูกสงสัยโดยคนเหล่านี้ว่าเป็นพวก “หุ่นยนต์” เขาเสริมว่า “สิ่งที่เกิดขึ้น นับจากนี้ต่อไป” (น่าคิดว่าฮุมโบลดท์จะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อ “กรงเหล็ก” ของรัฐราชการสมัยใหม่) “ในเกือบทุกรัฐ ทศวรรษแล้วทศวรรษเล่า คือจำนวนของเจ้าหน้าที่รัฐและขอบเขตของการตีทะเบียนที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับเสรีภาพของผู้ใต้ปกครองที่ลดลงอย่างได้สัดส่วนกัน”[2] และเขาสรุปว่า “ด้วยแบบแผนที่เราคิดกันขึ้นมานั้นเอง มนุษย์จึงถูกละทิ้งเพื่อสิ่งของ และพลังสร้างสรรค์จึงถูกละทิ้งเพื่อผลลัพธ์”[3]

 

เพื่อที่จะปกป้องปัจเจกให้พ้นจากการแสวงชีวิตที่ผาสุกให้แก่พวกเขาโดยพลการ เราจึงต้องแตะประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทางวัตถุและประเด็นทางศีลธรรม ผู้คนในทุกวันนี้คุ้นเคยแต่เพียงข้อวิจารณ์ทางเศรษฐกิจที่มีต่อรัฐสวัสดิการ จนยากจะระลึกถึงข้อกล่าวหาทางศีลธรรมที่รุนแรงของพวกเสรีนิยมยุคแรก ทั้งยังยากจะจดจำได้ว่าข้อวิจารณ์ต่อระบอบพ่อขุนนั้น มีหลักการแรกเริ่มอยู่ที่การปกป้องอิสระในการปกครองตนเองของปัจเจกชน ในแง่นี้ จึงมีความเชื่อมโยงกันระหว่างฮุมโบลด์กับคานท์ และระหว่างนักคิดทั้งสองกับกงสต็อง ยิ่งกว่านั้น สมิธเองก็เป็นนักศีลธรรมก่อนจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ สำหรับเขา เสรีภาพจึงมีคุณค่าเชิงศีลธรรมในตัวเอง

 

สืบเนื่องจากการมองว่า ความหลากหลายของปัจเจกชนกับความเป็นปึกแผ่นภายใต้การสนับสนุนของรัฐนั้นขัดแย้งกัน เราจึงค้นพบคุณลักษณะเด่นที่เป็นแบบฉบับของความคิดแบบเสรีนิยม ว่าคือการยืนยันว่าความขัดแย้งนั้นจะผลิดอกออกผลอันเป็นประโยชน์ การมองสังคมเชิงอินทรีย์แบบดั้งเดิมนั้นให้ความสำคัญกับความกลมเกลียวเหนือสิ่งอื่นใด ฉะนั้น ความปรองดองที่แม้จะต้องบังคับกัน ก็เป็นสิ่งที่ดี ส่วนย่อย ๆ (the parts) ล้วนจำต้องอยู่ภายใต้การควบคุมสั่งการของส่วนทั้งหมด (the whole) ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นปัจจัยของความแตกแยกและกระจัดกระจายทางสังคม ขณะที่ในทุกกระแสความคิดที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับมุมมองแบบอินทรีย์ เราจะพบเห็นการเน้นย้ำความสำคัญของความคิดที่ว่า ความขัดแย้งระหว่างปัจเจกและกลุ่ม (หรือระหว่างชาติ ซึ่งยกย่องสงครามว่าเป็นการบำรุงรักษาคุณธรรมความสามารถของมนุษย์) เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ทั้งยังเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต่อความก้าวหน้าทางเทคนิคและทางศีลธรรมของมนุษยชาติ ความก้าวหน้าที่ว่านี้ถูกมองว่าจะเกิดขึ้นจริงได้ จากความขัดแย้งระหว่างความคิดเห็นและผลประโยชน์ที่ไม่ลงรอยกัน จากความขัดแย้งที่ส่งเสริมการแสวงหาความจริงภายในขอบเขตของการโต้แย้งถกเถียง ความขัดแย้งที่มีแนวโน้มจะรักษาไว้ซึ่งความรุ่งเรืองทางสังคมในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งที่ทำให้ผลลัพธ์ของการต่อสู้ในพื้นที่ทางการเมืองลงเอยด้วยการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมในการปกครองเท่านั้น ด้วยพื้นฐานของมโนทัศน์ทั่วไปเกี่ยวกับมนุษย์และประวัติศาสตร์ของมนุษย์เช่นนี้เอง จึงไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไรหากว่า เสรีภาพของปัจเจกชน ที่เข้าใจกันว่า คือการปลดแอกตนเองจากโซ่ตรวนที่รัดตรึงปัจเจกชนไว้นานนับศตวรรษด้วยขนบธรรมเนียม ประเพณี และอำนาจบังคับบัญชาทั้งทางศาสนาและทางโลก จะกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่เปิดโอกาสให้เรามองเห็นว่า การตระหนักใน "ความแตกต่างหลากหลาย" ของบุคลิกลักษณะของปัจเจกชน เป็นสิ่งที่ไปกันได้กับความขัดแย้ง ขณะเดียวกันก็มองว่าความขัดแย้งเองช่วยส่งเสริมความดีพร้อมของปัจเจกชนทั้งมวลอีกด้วย

 

ในบทความเรื่อง "The Idea of Universal History from a Cosmopolitan Point of View" (1784) คานท์ได้แสดงจุดยืนที่มีเหตุผลเท่าที่จะเป็นไปได้ว่า ความเป็นปรปักษ์ คือ “วิธีการที่ธรรมชาติใช้ในการส่งเสริมการพัฒนานิสัยใจคอ (disposition) ของเธอเอง”[4] “ความเป็นปรปักษ์” ของคานท์ หมายถึง แนวโน้มของมนุษย์ที่จะสนองตอบผลประโยชน์ส่วนตนด้วยการแข่งขันกับคนอื่น ๆ เป็นความโน้มเอียงที่จะกระตุ้นพละกำลังทั้งหมดของเขา อันนำเขากรุยทางสู่ชัยชนะเหนือนิสัยอันเกียจคร้าน และผลักดันให้เขาบรรลุความยิ่งใหญ่ในหมู่มิตรสหายของเขาเอง ด้วยการเปรียบเทียบสังคมที่ขัดแย้งกับสังคมที่กลมเกลียวกันผ่านมุมมองเชิงศีลธรรมและความสำคัญทางเศรษฐกิจ คานท์เสนอคำวินิจฉัยที่อาจเรียกได้ว่าเป็นหัวใจของความคิดแบบเสรีนิยมที่ว่า "เมื่อความไม่เป็นมิตร (unsociability) ขาดหายไปเสียแล้ว ความสามารถทั้งปวงของมนุษย์ภายใต้การดำรงอยู่อย่างสุขสำราญตามธรรมชาติ (Arcadian pastoral existence) ก็จะถูกจำกัดไว้ให้เติบโตได้ไม่เต็มที่ ไม่ต่างอะไรกับแกะเชื่อง ๆ ใต้การชี้นำของคนเลี้ยงแกะ ซึ่งเห็นว่าชีวิตของตนนั้นไม่มีคุณค่าใด ๆ" และเขาได้เสนอบทสรรเสริญภูมิปัญญาของการสร้างสรรค์บนพื้นฐานของคำวินิจฉัยที่รุนแรงนี้ว่า

 

จงขอบคุณธรรมชาติ แด่ความดื้อรั้นที่มอบให้ แด่จิตวิญญาณแห่งการตะเกียกตะกายอันแสนชิงชังและโอหัง แด่ความโลภโมโทสันต์ในโภคทรัพย์ และอำนาจ! อย่างไม่สุดสิ้น เพราะหากปราศจากนางเสียแล้ว นิสัยอันดีเลิศตามธรรมชาติของมนุษย์ทั้งมวล ล้วนคงถูกเร้นซ่อนอยู่ภายในและสิ้นไร้พัฒนาการ[5]

 

ในฐานะทฤษฎีเกี่ยวกับรัฐที่มีอำนาจหน้าที่จำกัด เสรีนิยมมองรัฐที่ให้ความสำคัญกับสิทธิว่าอยู่ตรงข้ามกับรัฐสมบูรณาญาสิทธิ และมองรัฐที่มีบทบาทจำกัดอยู่ตรงข้ามกับรัฐที่มีบทบาทไม่จำกัด ทฤษฎีว่าด้วยความเจริญก้าวหน้าที่เชื่อมโยงไว้ด้วยความเป็นปรปักษ์ ได้นำเสนอศัตรูคู่ขัดแย้งคู่ใหม่ ระหว่างรัฐเสรีในยุโรปกับรัฐเผด็จการในโลกตะวันออก คำว่า 'เผด็จการ' เป็นคำที่สืบย้อนไปได้ถึงยุคโบราณ ควบคู่ไปกับความหมายเชิงพรรณนา คำคำนี้มักมีนัยที่ชวนโต้เถียงอยู่เสมอ อย่างที่ความคิดแบบเสรีนิยมอธิบายไว้ 'เผด็จการ' ติดสอยห้อยตามมาด้วยข้อกล่าวหาเชิงลบที่ว่า นับตั้งแต่รัฐเผด็จการได้กดให้ทุกคนกลายเป็นข้าทาสบริวาร (ด้วยเหตุนี้ อย่างที่แมคเคียเวลลี (Machiavelli) กล่าวไว้ ราชวงศ์เติร์กทั้งหมดจึง “ปกครองโดยเจ้าเพียงคนเดียว ส่วนคนอื่น ๆ เป็นข้ารับใช้”[6] หรืออย่างที่เฮเกล (Hegel 1770-1831) พูดไว้ว่า สำหรับระบอบเผด็จการในโลกตะวันออก “มีคนคนเดียวเท่านั้นที่เป็นอิสระ”[7]) พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะหยุดนิ่งและเฉื่อยชา กฎแห่งความก้าวหน้าที่ไร้ขีดจำกัด จึงใช้ได้เฉพาะกับชาวยุโรปที่มีอารยธรรม แต่ใช้กับพวกเขาไม่ได้ จากมุมมองเช่นนี้ นอกจากจะทำหน้าที่เป็นหมวดหมู่ทางการเมืองทั่ว ๆ ไปแล้ว รัฐเสรีนิยมจึงยังกลายเป็นบรรทัดฐานของการตีความทางประวัติศาสตร์ไปด้วย. 

 

 

[1] Ibid., p. 24.

 

[2] Ibid., p. 34.

 

[3] Ibib., p. 35.

 

[4] I. Kant, Idee zu einer allgemeinen Geschichte in weltbürgerlicher Absicht (1784).

 

[5] Ibid.

 

[6] N. Machiavelli, The Prince, trans. W.K. Marriott, Dent, London 1958, p. 22.

 

[7] G.W.F. Hegel, The Philosophy of History, trans. J. Sibree, Dover, London 1956

 

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บทที่ 17 ประชาธิปไตยกับภาวะปกครองไม่ได้ (Democracy and Ungovernability)
Apolitical
บทที่ 16 เสรีนิยมรูปแบบใหม่ (New Liberalism)
Apolitical
บทที่ 15 ประชาธิปไตยในความสัมพันธ์กับสังคมนิยม (Democracy as It Relates to Socialism)
Apolitical
บทที่ 14 เสรีนิยมกับประชาธิปไตยในอิตาลี (Liberalism and Democracy in Italy)
Apolitical
บทที่ 13 ประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy)
Apolitical
บทที่ 12 เสรีนิยมและอรรถประโยชน์นิยม (Liberalism and Utilitarianism)
Apolitical
บทที่ 11 ทรราชเสียงข้างมาก (the Tyranny of the Majority)