Skip to main content

บทที่ 5 ดอกผลของความขัดแย้ง (The Fruitfulness of Conflict)

 

เช่นเดียวกันที่แสดงให้เห็นว่า เสรีภาพของปัจเจก คือเป้าหมายเพียงประการเดียวของรัฐ ทั้งยังโต้แย้งว่า รัฐเป็นเพียงวิธีการ ไม่ใช่เป้าหมายในตัวเอง งานเขียนของฮุมโบลดท์ยังมีลักษณะความสนใจสำคัญที่ใกล้เคียงอย่างมากกับความคิดแบบเสรีนิยม ตรงที่ต่างชื่นชมใน “ความแตกต่างหลากหลาย” (variety) เมื่อเขาวิพากษ์วิจารณ์รัฐที่ผูกพันกับพระเจ้า (providential state) ที่แสดงให้เห็นความห่วงใยอย่างล้นเกินต่อ “ความกินดีอยู่ดี” ของประชาชน ฮุมโบลดท์ (ซึ่งมีชุดเหตุผลสนับสนุนที่มาก่อนหน้าเหตุผลที่พวกเสรีนิยมใหม่ใช้ประณามผลพวงแง่ลบของรัฐสวัสดิการเสียอีก) ได้อธิบายว่า ยามที่รัฐเข้าแทรกแซงเกินขอบเขตของการธำรงรักษาระเบียบทั้งภายในและภายนอกที่ถูกจัดสรรไว้ให้ มันก็มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพให้กับพฤติกรรมของคนในสังคมและระงับความแตกต่างเชิงคุณลักษณะและอารมณ์ความรู้สึกโดยธรรมชาติของผู้คนเอาไว้  ต่างจากปัจเจกชน รัฐบาลมองหาสภาวะความเป็นอยู่ที่ผาสุกและเงียบสงบ “แต่ทว่าสิ่งที่มนุษย์กระทำและจำต้องนึกไว้ในใจคืออะไรบางอย่างที่ต่างออกไป นั่นคือความหลากหลายและกระตือรือร้น”[1] ผู้ที่คิดในทางกลับกันจึงไม่แปลกที่จะถูกสงสัยโดยคนเหล่านี้ว่าเป็นพวก “หุ่นยนต์” เขาเสริมว่า “สิ่งที่เกิดขึ้น นับจากนี้ต่อไป” (น่าคิดว่าฮุมโบลดท์จะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อ “กรงเหล็ก” ของรัฐราชการสมัยใหม่) “ในเกือบทุกรัฐ ทศวรรษแล้วทศวรรษเล่า คือจำนวนของเจ้าหน้าที่รัฐและขอบเขตของการตีทะเบียนที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับเสรีภาพของผู้ใต้ปกครองที่ลดลงอย่างได้สัดส่วนกัน”[2] และเขาสรุปว่า “ด้วยแบบแผนที่เราคิดกันขึ้นมานั้นเอง มนุษย์จึงถูกละทิ้งเพื่อสิ่งของ และพลังสร้างสรรค์จึงถูกละทิ้งเพื่อผลลัพธ์”[3]

 

เพื่อที่จะปกป้องปัจเจกให้พ้นจากการแสวงชีวิตที่ผาสุกให้แก่พวกเขาโดยพลการ เราจึงต้องแตะประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทางวัตถุและประเด็นทางศีลธรรม ผู้คนในทุกวันนี้คุ้นเคยแต่เพียงข้อวิจารณ์ทางเศรษฐกิจที่มีต่อรัฐสวัสดิการ จนยากจะระลึกถึงข้อกล่าวหาทางศีลธรรมที่รุนแรงของพวกเสรีนิยมยุคแรก ทั้งยังยากจะจดจำได้ว่าข้อวิจารณ์ต่อระบอบพ่อขุนนั้น มีหลักการแรกเริ่มอยู่ที่การปกป้องอิสระในการปกครองตนเองของปัจเจกชน ในแง่นี้ จึงมีความเชื่อมโยงกันระหว่างฮุมโบลด์กับคานท์ และระหว่างนักคิดทั้งสองกับกงสต็อง ยิ่งกว่านั้น สมิธเองก็เป็นนักศีลธรรมก่อนจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ สำหรับเขา เสรีภาพจึงมีคุณค่าเชิงศีลธรรมในตัวเอง

 

สืบเนื่องจากการมองว่า ความหลากหลายของปัจเจกชนกับความเป็นปึกแผ่นภายใต้การสนับสนุนของรัฐนั้นขัดแย้งกัน เราจึงค้นพบคุณลักษณะเด่นที่เป็นแบบฉบับของความคิดแบบเสรีนิยม ว่าคือการยืนยันว่าความขัดแย้งนั้นจะผลิดอกออกผลอันเป็นประโยชน์ การมองสังคมเชิงอินทรีย์แบบดั้งเดิมนั้นให้ความสำคัญกับความกลมเกลียวเหนือสิ่งอื่นใด ฉะนั้น ความปรองดองที่แม้จะต้องบังคับกัน ก็เป็นสิ่งที่ดี ส่วนย่อย ๆ (the parts) ล้วนจำต้องอยู่ภายใต้การควบคุมสั่งการของส่วนทั้งหมด (the whole) ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นปัจจัยของความแตกแยกและกระจัดกระจายทางสังคม ขณะที่ในทุกกระแสความคิดที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับมุมมองแบบอินทรีย์ เราจะพบเห็นการเน้นย้ำความสำคัญของความคิดที่ว่า ความขัดแย้งระหว่างปัจเจกและกลุ่ม (หรือระหว่างชาติ ซึ่งยกย่องสงครามว่าเป็นการบำรุงรักษาคุณธรรมความสามารถของมนุษย์) เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ทั้งยังเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต่อความก้าวหน้าทางเทคนิคและทางศีลธรรมของมนุษยชาติ ความก้าวหน้าที่ว่านี้ถูกมองว่าจะเกิดขึ้นจริงได้ จากความขัดแย้งระหว่างความคิดเห็นและผลประโยชน์ที่ไม่ลงรอยกัน จากความขัดแย้งที่ส่งเสริมการแสวงหาความจริงภายในขอบเขตของการโต้แย้งถกเถียง ความขัดแย้งที่มีแนวโน้มจะรักษาไว้ซึ่งความรุ่งเรืองทางสังคมในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งที่ทำให้ผลลัพธ์ของการต่อสู้ในพื้นที่ทางการเมืองลงเอยด้วยการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมในการปกครองเท่านั้น ด้วยพื้นฐานของมโนทัศน์ทั่วไปเกี่ยวกับมนุษย์และประวัติศาสตร์ของมนุษย์เช่นนี้เอง จึงไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไรหากว่า เสรีภาพของปัจเจกชน ที่เข้าใจกันว่า คือการปลดแอกตนเองจากโซ่ตรวนที่รัดตรึงปัจเจกชนไว้นานนับศตวรรษด้วยขนบธรรมเนียม ประเพณี และอำนาจบังคับบัญชาทั้งทางศาสนาและทางโลก จะกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่เปิดโอกาสให้เรามองเห็นว่า การตระหนักใน "ความแตกต่างหลากหลาย" ของบุคลิกลักษณะของปัจเจกชน เป็นสิ่งที่ไปกันได้กับความขัดแย้ง ขณะเดียวกันก็มองว่าความขัดแย้งเองช่วยส่งเสริมความดีพร้อมของปัจเจกชนทั้งมวลอีกด้วย

 

ในบทความเรื่อง "The Idea of Universal History from a Cosmopolitan Point of View" (1784) คานท์ได้แสดงจุดยืนที่มีเหตุผลเท่าที่จะเป็นไปได้ว่า ความเป็นปรปักษ์ คือ “วิธีการที่ธรรมชาติใช้ในการส่งเสริมการพัฒนานิสัยใจคอ (disposition) ของเธอเอง”[4] “ความเป็นปรปักษ์” ของคานท์ หมายถึง แนวโน้มของมนุษย์ที่จะสนองตอบผลประโยชน์ส่วนตนด้วยการแข่งขันกับคนอื่น ๆ เป็นความโน้มเอียงที่จะกระตุ้นพละกำลังทั้งหมดของเขา อันนำเขากรุยทางสู่ชัยชนะเหนือนิสัยอันเกียจคร้าน และผลักดันให้เขาบรรลุความยิ่งใหญ่ในหมู่มิตรสหายของเขาเอง ด้วยการเปรียบเทียบสังคมที่ขัดแย้งกับสังคมที่กลมเกลียวกันผ่านมุมมองเชิงศีลธรรมและความสำคัญทางเศรษฐกิจ คานท์เสนอคำวินิจฉัยที่อาจเรียกได้ว่าเป็นหัวใจของความคิดแบบเสรีนิยมที่ว่า "เมื่อความไม่เป็นมิตร (unsociability) ขาดหายไปเสียแล้ว ความสามารถทั้งปวงของมนุษย์ภายใต้การดำรงอยู่อย่างสุขสำราญตามธรรมชาติ (Arcadian pastoral existence) ก็จะถูกจำกัดไว้ให้เติบโตได้ไม่เต็มที่ ไม่ต่างอะไรกับแกะเชื่อง ๆ ใต้การชี้นำของคนเลี้ยงแกะ ซึ่งเห็นว่าชีวิตของตนนั้นไม่มีคุณค่าใด ๆ" และเขาได้เสนอบทสรรเสริญภูมิปัญญาของการสร้างสรรค์บนพื้นฐานของคำวินิจฉัยที่รุนแรงนี้ว่า

 

จงขอบคุณธรรมชาติ แด่ความดื้อรั้นที่มอบให้ แด่จิตวิญญาณแห่งการตะเกียกตะกายอันแสนชิงชังและโอหัง แด่ความโลภโมโทสันต์ในโภคทรัพย์ และอำนาจ! อย่างไม่สุดสิ้น เพราะหากปราศจากนางเสียแล้ว นิสัยอันดีเลิศตามธรรมชาติของมนุษย์ทั้งมวล ล้วนคงถูกเร้นซ่อนอยู่ภายในและสิ้นไร้พัฒนาการ[5]

 

ในฐานะทฤษฎีเกี่ยวกับรัฐที่มีอำนาจหน้าที่จำกัด เสรีนิยมมองรัฐที่ให้ความสำคัญกับสิทธิว่าอยู่ตรงข้ามกับรัฐสมบูรณาญาสิทธิ และมองรัฐที่มีบทบาทจำกัดอยู่ตรงข้ามกับรัฐที่มีบทบาทไม่จำกัด ทฤษฎีว่าด้วยความเจริญก้าวหน้าที่เชื่อมโยงไว้ด้วยความเป็นปรปักษ์ ได้นำเสนอศัตรูคู่ขัดแย้งคู่ใหม่ ระหว่างรัฐเสรีในยุโรปกับรัฐเผด็จการในโลกตะวันออก คำว่า 'เผด็จการ' เป็นคำที่สืบย้อนไปได้ถึงยุคโบราณ ควบคู่ไปกับความหมายเชิงพรรณนา คำคำนี้มักมีนัยที่ชวนโต้เถียงอยู่เสมอ อย่างที่ความคิดแบบเสรีนิยมอธิบายไว้ 'เผด็จการ' ติดสอยห้อยตามมาด้วยข้อกล่าวหาเชิงลบที่ว่า นับตั้งแต่รัฐเผด็จการได้กดให้ทุกคนกลายเป็นข้าทาสบริวาร (ด้วยเหตุนี้ อย่างที่แมคเคียเวลลี (Machiavelli) กล่าวไว้ ราชวงศ์เติร์กทั้งหมดจึง “ปกครองโดยเจ้าเพียงคนเดียว ส่วนคนอื่น ๆ เป็นข้ารับใช้”[6] หรืออย่างที่เฮเกล (Hegel 1770-1831) พูดไว้ว่า สำหรับระบอบเผด็จการในโลกตะวันออก “มีคนคนเดียวเท่านั้นที่เป็นอิสระ”[7]) พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะหยุดนิ่งและเฉื่อยชา กฎแห่งความก้าวหน้าที่ไร้ขีดจำกัด จึงใช้ได้เฉพาะกับชาวยุโรปที่มีอารยธรรม แต่ใช้กับพวกเขาไม่ได้ จากมุมมองเช่นนี้ นอกจากจะทำหน้าที่เป็นหมวดหมู่ทางการเมืองทั่ว ๆ ไปแล้ว รัฐเสรีนิยมจึงยังกลายเป็นบรรทัดฐานของการตีความทางประวัติศาสตร์ไปด้วย. 

 

 

[1] Ibid., p. 24.

 

[2] Ibid., p. 34.

 

[3] Ibib., p. 35.

 

[4] I. Kant, Idee zu einer allgemeinen Geschichte in weltbürgerlicher Absicht (1784).

 

[5] Ibid.

 

[6] N. Machiavelli, The Prince, trans. W.K. Marriott, Dent, London 1958, p. 22.

 

[7] G.W.F. Hegel, The Philosophy of History, trans. J. Sibree, Dover, London 1956

 

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
คุยกับฟรานส์ เดอ วาลผู้เขียนหนังสือเรื่อง "Are We Smart Enough to Know How Smart Animals Are?"*โดย คลอเดีย คาฟซินสกา (Claudia Kawczynska)จากนิตยสารบาร์ค (The Bark)
Apolitical
Capitalism in the Web of Life: บทสัมภาษณ์ เจสัน ดับเบิลยู. มัวร์[1]
Apolitical
ใครที่ติดตามข้อถกเถียงเกี่ยวกับ GMO ในตอนนี้ คงจะเห็นคล้ายๆ กันว่า นอกจากจุดสนใจที่ค่อนข้างแตกต่างกันของหลายฝ่าย (เศรษฐกิจ การเมือง สุขภาพ สิ่งแวดล้อม) ประเด็นที่สร้างความสับสนให้กับการถกเถียงไม่แพ้กันคือการเลือกใช้คำและความห
Apolitical
Capitalism in the Web of Life: บทสัมภาษณ์ เจสัน ดับเบิลยู. มัวร์[1] สัมภาษณ์โดย คามิล อะห์ซัน
Apolitical
เอปที่ไหน ใครเป็นเอป (Who A
Apolitical
สลาวอย ชิเชค – คำชี้แจงฉบับย่อว่าด้วยป
Apolitical
Soak the Rich การแลกเปลี่ยนว่าด้วยทุน หนี้ และอนาคต (ตอนที่ 3) โดย เดวิด เกรเบอร์ (David Graeber - G) และ โตมาส์ ปิเก็ตตี้ (Thomas Piketty - P)
Apolitical
Soak the Rich การแลกเปลี่ยนว่าด้วยทุน หนี้ และอนาคต (ตอนที่ 2) โดย เดวิด เกรเบอร์ (David Graeber - G) และ โตมาส์ ปิเก็ตตี้ (Thomas Piketty - P)