Skip to main content

บทที่ 6 แนวคิดประชาธิปไตยสมัยโบราณและสมัยใหม่ (Ancient and Modern Ideas of Democracy)

 

ในฐานะทฤษฎีว่าด้วยรัฐ (และในฐานะกุญแจสำหรับการตีความทางประวัติศาสตร์) เสรีนิยมเป็นสิ่งทันสมัย ขณะที่ประชาธิปไตยในฐานะรูปแบบการปกครองเป็นสิ่งโบร่ำโบราณ ประชาธิปไตยอย่างที่ปรากฏในรูปลักษณ์วิทยา (typology) ของรูปแบบการปกครองที่เป็นที่นิยมกันนั้น มีที่มาจากความคิดทางการเมืองของกรีก ที่หมายถึงการปกครองโดยคนจำนวนมาก คนเกือบทั้งหมด หรือคนส่วนใหญ่ หรือโดยคนยากคนจน (แต่ในที่ที่คนจนมีอำนาจ ประชาธิปไตยระบุว่า อำนาจนั้นเป็นของมวลชน) โดยรวบรัด ประชาธิปไตย ตามรากศัพท์แล้ว ก็คือการปกครองโดยประชาชน ซึ่งตรงข้ามกับการปกครองโดยคนในคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความก้าวหน้านับศตวรรษ และร้อยพันข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างประชาธิปไตยของคนสมัยโบราณกับประชาธิปไตยของคนสมัยใหม่ นัยสำคัญเชิงพรรณนาโดยทั่วไปของคำคำนี้ก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไป ถึงแม้มิติเชิงคุณค่าจะเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาและความเชื่อ ตามแรงสนับสนุนของประชาชนที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับการปกครองแบบกษัตริย์หรือคณาธิปไตย ในทัศนะของผู้ที่เห็นประโยชน์จากการแยกแยะความต่างระหว่างประชาธิปไตยสองยุคนี้ สิ่งที่ถือว่าได้เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่สิทธิตามกฎหมายของประชาชนในการครองอำนาจทางการเมือง (“ประชาชน” ที่หมายถึง พลเมืองทั้งมวลผู้ที่ถือครองสิทธิในการตัดสินใจร่วมกันอย่างถึงที่สุด) ทว่าเป็นหนทางในการใช้ประชาธิปไตย ซึ่งอาจครอบคลุมผู้คนมากน้อยแตกต่างกันตามแต่ช่วงเวลา ในช่วงเดียวกันกับที่เราเห็นคำประกาศสิทธิของมนุษย์ เราก็พบกลุ่มผู้เขียน The Federalist ที่คัดง้างกับประชาธิปไตยทางตรง ที่รุ่งเรืองอยู่ในยุคโบราณและในรัฐนครยุคกลางเหนือประชาธิปไตยแบบตัวแทน อันเป็นการปกครองโดยประชาชนรูปแบบเดียวที่เป็นไปได้ในรัฐขนาดใหญ่ แฮมิลตันเสนอไว้ว่า:

 

"เป็นไปไม่ได้เลยที่จะอ่านประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐน้อย ๆ อย่างกรีซและอิตาลี โดยปราศจากความรู้สึกหวาดกลัวหรือรังเกียจ ทั้งในความยุ่งเหยิงที่ปลุกปั่นพวกเขาเสมอมา และในการสืบทอดมรดกอันเร่งด่วนของการปฏิวัติ จนทำให้พวกเขาติดอยู่ในภาวะที่สั่นคลอนระหว่างทรราชสุดขั้วกับอนาธิปไตยสุดโต่งไปชั่วนิรันดร์"[1]

 

ข้อพิจารณาที่เมดิสันเน้นย้ำก็คือ "มิตรสหายแห่งการปกครองโดยประชาชน ไม่เคยพบว่าตัวเองรู้สึกหวาดกลัวในคุณลักษณะและโชคชะตาของตัวเอง เมื่อเขาพิเคราะห์พิจารณาถึงแนวโน้มของข้อบกพร่องที่น่าอันตรายนี้"[2] ข้ออ้างที่ว่าประชาธิปไตยของนครรัฐนั้นมีข้อด้อย ตรงที่มันมีแนวโน้มจะนำไปสู่การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย (factionalism) จริง ๆ แล้วไม่ใช่อะไรเลย นอกจากข้อแก้ตัวหรือการตอกย้ำคำดูถูกดูแคลนประชาชนอันยืนยงและปรากฏขึ้นบ่อยครั้ง โดยพวกชนชั้นนำบางกลุ่ม ซึ่งหากเป็นครั้งที่พวกเขาเป็นตัวแทนอยู่ในสภา การแบ่งแยกระหว่างกลุ่มที่ัขัดแย้งกัน คงลงเอยด้วยการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา เหตุผลประการเดียวในการสนับสนุนประชาธิปไตยแบบตัวแทน จึงอยู่ตรงที่ขนาดของรัฐสมัยใหม่ล้วน ๆ ตัวอย่างแรก ๆ ก็คือ การรวมตัวเป็นสหพันธ์ของกลุ่มนิคมของอังกฤษ 13 แห่ง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของพวกเขาเป็นที่ถกเถียงของบรรดาผู้เขียน The Federalist รูโซ ผู้หลงใหลได้ปลื้มกับยุคโบราณก็ตระหนักในเรื่องนี้เช่นกัน อันที่จริง เขาเองได้ปกป้องประชาธิปไตยทางตรง ด้วยการกล่าวว่า "อำนาจอธิปไตย ... ไม่อาจเป็นตัวแทนกันได้" และด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ "ประชาชนชาวอังกฤษจะคิดว่าตัวเองเป็นอิสระ" ทว่า "มันเป็นเรื่องเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวงทีเดียว พวกเขามีเสรีเฉพาะในช่วงเวลาแห่งการเลือกตั้งสมาชิกสภา ทันทีที่พวกนั้นได้รับเลือก ความเป็นทาสก็จะขึ้นมาแทนที่ และไม่หลงเหลืออะไรเลย"[3] อย่างไรก็ดี เขาเชื่อมั่นด้วยว่า "ไม่เคยมีประชาธิปไตยที่แท้จริง และจะไม่มีวันมี" เพราะประชาธิปไตยมีสมมติฐานอยู่ที่ หนึ่ง รัฐขนาดเล็ก "ที่ประชาชนสามารถรวมตัวกันอย่างพรั่งพร้อม สอง รูปแบบวิธีการที่ง่ายดายมาก ๆ ถัดมา ความเท่าเทียมกันอย่างกว้างขวางในแง่ยศศักดิ์และโชคชะตา และสุดท้าย มีความหรูหราฟุ่มเฟือยอยู่น้อยหรือไม่มีเลย" ดังนั้น เขาจึงแนะนำว่า หาก "มีประชาชนของพระผู้เป็นเจ้า การปกครองของพวกเขาก็เป็นประชาธิปไตย การปกครองที่สมบูรณ์แบบจึงไม่ใช่สำหรับมนุษย์"[4]

 

ทั้งผู้เขียน The Federalist และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ต่างเชื่อมั่นว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยเพียงรูปแบบเดียวที่เหมาะสำหรับมนุษย์ คือประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ประชาชนไม่อาจตัดสินใจในสิ่งที่กระทบกับตน แต่เลือกตัวแทนของตนเพื่อไปตัดสินใจในนามของตัวเอง อย่างไรก็ดี พวกเขาไม่ได้เห็นว่า สถาบันทางการเมืองของประชาธิปไตยแบบตัวแทน ได้ลดทอนหลักการของประชาธิปไตยลงไปแต่อย่างใด ข้อพิสูจน์ประการหนึ่งอาจพบได้ในรัฐธรรมนูญของรัฐเวอร์จิเนีย (1776) อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของรัฐอเมริกาตอนเหนือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยืนยันในหลักการเดียวกันกับรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มา ว่า 'อำนาจทั้งมวลอยู่กับประชาชน ด้วยเหตุนี้ เจ้าหน้าที่บ้านเมือง (magistrate) จึงเป็นผู้ได้รับมอบหมายและเป็นผู้รับใช้ประชาชน และจำต้องรับผิดชอบต่อประชาชนในทุกช่วงเวลา' เช่นกัน ในมาตรา 3 ของคำประกาศการปฏิวัติ 1789 เขียนไว้ว่า 'หลักการของอำนาจอธิปไตยทุกประการดำรงอยู่เป็นพื้นฐานภายในชาติ ไม่มีใครคนใดคนหนึ่ง สามารถใช้สิทธิอำนาจที่ไม่ได้มีที่มาอย่างชัดเจนจากอำนาจอธิปไตย' นอกเหนือจากข้อเท็จจริงว่าการใช้อำนาจทางตรงโดยพลเมืองมิได้ขัดแย้งกับการใช้อำนาจทางตรงโดยผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้ง (อย่างที่ได้แสดงให้เห็นในการคงอยู่ของรัฐธรรมนูญอย่างเช่นในอิตาลี ที่บทบัญญัติเขียนขึ้นเพื่อการทำประชามติของประชาชน ถึงแม้จะทำได้เพียงวีโต้และทำให้กฎหมายเป็นโมฆะเท่านั้น) ประชาธิปไตยทางตรงและทางอ้อมสามารถสืบย้อนไปถึงหลักการบางอย่างเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของประชาชน แม้จะแตกต่างในแง่วิธีการและรูปแบบในการใช้อำนาจอธิปไตย

 

ประชาธิปไตยแบบตัวแทนได้รับการสนับสนุนจากความเชื่อมั่นที่ว่า ตัวแทนที่ได้รับการเลือกจากพลเมืองจะสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับผลประโยชน์ส่วนรวมได้ดีกว่าตัวพลเมืองที่มีวิสัยทัศน์คับแคบและมองเห็นแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง ด้วยเหตุผลนี้ ประชาธิปไตยแบบตัวแทนจึงอาจทำให้เป้าหมายที่อำนาจอธิปไตยของประชาชนคาดหวังไว้เป็นจริงได้มากกว่า สิ่งนี้หมายความเช่นเดิมว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดอย่างถึงที่สุด ที่เห็นว่าประชาธิปไตยแบบโบราณกับสมัยใหม่นั้นตรงข้ามกัน อย่างน้อยก็ในความหมายที่ว่าประชาธิปไตยโบราณนั้นสมบูรณ์กว่าในแง่ของเป้าหมาย เมดิสันยืนยันว่า อำนาจการปกครองแบบตัวแทนในมือของคนจำนวนน้อยที่ได้รับการทดสอบทางปัญญาความสามารถแล้วนั้น จะนำ "ผลประโยชน์ที่แท้จริง" ของประเทศมาสู่มือของผู้ที่ "อย่างน้อยที่สุดก็น่าจะสละประโยชน์ของตน เพื่อการครุ่นคิดพิจารณาชั่วคราวหรือเป็นบางส่วน"[5] สิ่งนี้ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตนของผู้แทนหลังได้รับการเลือกตั้งไปแล้ว ไม่ใช่ในฐานะผู้กระทำการอย่างลับ ๆ ให้กับผู้ที่เลือกเขาเป็นตัวแทนในรัฐสภา แต่ในฐานะผู้แทนของประเทศชาติทั้งมวล หากประชาธิปไตยจะเป็นเรื่องการเป็นตัวแทนจริง ๆ แล้วล่ะก็ ตัวแทนที่ได้รับเลือกก็ไม่อาจผูกมัดอยู่กับเจตจำนงของผู้ที่เลือกเขาขึ้นมาได้อีกต่อไป ไม่ใช่รูปแบบของการพึ่งพาอาศัยอย่างสังคมแห่งยศถาและชนชั้นในสมัยเก่า ที่ซึ่งกลุ่มคนหลากหลาย ทั้งองค์กรหรือหมู่คณะ ต่างเคยใช้ผู้แทนของตนเป็นหนทางในการถ่ายทอดผลประโยชน์เฉพาะของตนไปสู่องค์อธิปัตย์ ในที่นี้ อังกฤษได้นำหน้าไปก่อน อย่างที่เบิร์กเขียนไว้ว่า

 

"การแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคน ความคิดเห็นของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยเป็นความเห็นที่มีค่าและควรแก่การเคารพ เป็นความเห็นที่เหล่าผู้แทนอาจปีติยินดีที่ได้ยินได้ฟัง ... ทว่าการสั่งการแบบอำนาจนิยม และคำสั่งการที่ได้รับสั่งมา (mandates issued) ที่ผูกมัดสมาชิกสภาไว้อย่างมืดบอด และให้เชื่อฟัง ลงคะแนน และโต้แย้งให้โดยปริยาย ... สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นไม่เป็นที่รู้จักในกฎหมายของแผ่นดินนี้อย่างเด็ดขาด"[6]

 

สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส ที่ปฏิบัติตามความเห็นที่ได้รับการเสนอไว้อย่างมีวาทศิลป์โดยซิแยส (Sieyès 1748-1836) ได้เสนอบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 1791 (บรรพ 3 หมวด 1 ส่วน 3 มาตรา 7) เพื่อแยกส่วนที่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นทางการ ระหว่างผู้แทนกับผู้ถูกแทนออกจากกัน มาตรานี้ ซึ่งห้ามมิให้รับอำนาจสั่งการอย่างผูกมัด (binding mandate) ประกาศไว้อย่างหนักแน่นว่า “ผู้แทนจากเขต (departments) ต่าง ๆ ไม่ควรเป็นเพียงผู้แทนเฉพาะเขตใดเขตหนึ่งเท่านั้น และไม่สามารถรับมอบคำสั่งจากเขตใดเป็นการเฉพาะ ทว่าต้องเป็นผู้แทนของประเทศชาติ”[7] จากจุดนี้ การห้ามมิให้ผู้แทนรับอำนาจสั่งการอย่างผูกมัดจากผู้ที่เลือกพวกเขาขึ้นมา จึงกลายเป็นหลักการสำคัญของกลไกระบบการเมืองแบบรัฐสภา หลักการนี้ ที่จริงแล้ว คือสิ่งที่เคยแยกระบอบรัฐสภาออกจากระบอบการเมืองเก่าที่เลือกใช้หลักการของตัวแทนแบบหมู่คณะ อันตั้งอยู่บนฐานของอำนาจสั่งการอย่างผูกมัดที่บีบบังคับผู้แทนอย่างจงใจให้ส่งเสริมผลประโยชน์ของกลุ่มคณะที่พวกเขาเป็นตัวแทนอยู่ และหากพวกเขาแสดงการขัดขืนที่จะทำเช่นนั้น ก็จะถูกยึดสิทธิในการเป็นผู้แทนกลับคืนไป การขาดหายไปของรัฐแบบบรรษัท (corporative state) ทำให้ปัจเจกชนเป็นอิสระในความแตกต่างหลากหลายและอำนาจในการปกครองตนเอง และปัจเจกที่มิใช่เพียงสมาชิกของกลุ่มองค์กรใด ๆ เช่นนี้เอง ที่จะมีหน้าที่เลือกตั้งผู้แทนของชาติ ทำนองเดียวกัน ผู้ที่ได้รับเลือก ก็ได้รับเลือกโดยปัจเจกแต่ละคน ให้เป็นผู้แทนของชาติโดยรวม ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงจำเป็นต้องกำหนดทิศทางการกระทำของตน และตัดสินใจโดยเป็นอิสระจากคำสั่งการใด ๆ หากประชาธิปไตยสมัยใหม่ หมายถึงประชาธิปไตยแบบตัวแทน และหากสารัตถะของประชาธิปไตยแบบตัวแทน คือการเป็นตัวแทนของชาติ โดยไม่ถูกบังคับให้เป็นตัวแทนแต่เฉพาะปัจเจกคนใดคนหนึ่ง หรือเฉพาะผลประโยชน์เฉพาะของพวกเขา ประชาธิปไตยสมัยใหม่ก็วางอยู่บนสมมติฐานของ ชาติที่กระจัดกระจายเป็นส่วนเล็กส่วนน้อย (the atomization of the nation) และรวมตัวขึ้นใหม่อีกครั้งในระดับอื่น ๆ นั่นคือ ในระดับของรัฐสภาที่ทั้งสูงชั้นกว่าและจำกัดกว่าในเวลาเดียวกัน ถึงตรงนี้ กระบวนการของการกลายเป็นอณู ก็คือสิ่งเดียวกับสิ่งที่เป็นรากฐานของมโนทัศน์เกี่ยวกับรัฐแบบเสรีนิยม ซึ่งต้นกำเนิดของมันนั้น อย่างที่เราได้โต้แย้งไปแล้วนั้น หาพบได้จากการยืนยันในสิทธิตามธรรมชาติอันไม่อาจล่วงละเมิดได้ของปัจเจกชน  

 

 

[1] A. Hamilton, J. Madison, J. Jay, The Federalist Papers (1788), Mentor, London 1961, p. 71.

 

[2] Ibid., p. 77.

 

[3] J.J. Rousseau, The Social Contract, p. 240.

 

[4] Ibid., pp. 217-18.

 

[5] Hamilton, Madison & Jay, The Federalist Papers, p. 82.

 

[6] E. Burke, “Speech at the Conclusion of the Poll on his being Declared Duly Elected” (1774), The Works, John C. Nimmo, London 1899, vol. 2, p. 96.

 

[7] สำหรับข้อวิจารณ์ในเรื่องนี้ โปรดดู P. Violante, Lo spazio della rappresentanza. I Francia 1788-1789, Palermo 1981.

 

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
คุยกับฟรานส์ เดอ วาลผู้เขียนหนังสือเรื่อง "Are We Smart Enough to Know How Smart Animals Are?"*โดย คลอเดีย คาฟซินสกา (Claudia Kawczynska)จากนิตยสารบาร์ค (The Bark)
Apolitical
Capitalism in the Web of Life: บทสัมภาษณ์ เจสัน ดับเบิลยู. มัวร์[1]
Apolitical
ใครที่ติดตามข้อถกเถียงเกี่ยวกับ GMO ในตอนนี้ คงจะเห็นคล้ายๆ กันว่า นอกจากจุดสนใจที่ค่อนข้างแตกต่างกันของหลายฝ่าย (เศรษฐกิจ การเมือง สุขภาพ สิ่งแวดล้อม) ประเด็นที่สร้างความสับสนให้กับการถกเถียงไม่แพ้กันคือการเลือกใช้คำและความห
Apolitical
Capitalism in the Web of Life: บทสัมภาษณ์ เจสัน ดับเบิลยู. มัวร์[1] สัมภาษณ์โดย คามิล อะห์ซัน
Apolitical
เอปที่ไหน ใครเป็นเอป (Who A
Apolitical
สลาวอย ชิเชค – คำชี้แจงฉบับย่อว่าด้วยป
Apolitical
Soak the Rich การแลกเปลี่ยนว่าด้วยทุน หนี้ และอนาคต (ตอนที่ 3) โดย เดวิด เกรเบอร์ (David Graeber - G) และ โตมาส์ ปิเก็ตตี้ (Thomas Piketty - P)
Apolitical
Soak the Rich การแลกเปลี่ยนว่าด้วยทุน หนี้ และอนาคต (ตอนที่ 2) โดย เดวิด เกรเบอร์ (David Graeber - G) และ โตมาส์ ปิเก็ตตี้ (Thomas Piketty - P)