Skip to main content

บทที่ 6 แนวคิดประชาธิปไตยสมัยโบราณและสมัยใหม่ (Ancient and Modern Ideas of Democracy)

 

ในฐานะทฤษฎีว่าด้วยรัฐ (และในฐานะกุญแจสำหรับการตีความทางประวัติศาสตร์) เสรีนิยมเป็นสิ่งทันสมัย ขณะที่ประชาธิปไตยในฐานะรูปแบบการปกครองเป็นสิ่งโบร่ำโบราณ ประชาธิปไตยอย่างที่ปรากฏในรูปลักษณ์วิทยา (typology) ของรูปแบบการปกครองที่เป็นที่นิยมกันนั้น มีที่มาจากความคิดทางการเมืองของกรีก ที่หมายถึงการปกครองโดยคนจำนวนมาก คนเกือบทั้งหมด หรือคนส่วนใหญ่ หรือโดยคนยากคนจน (แต่ในที่ที่คนจนมีอำนาจ ประชาธิปไตยระบุว่า อำนาจนั้นเป็นของมวลชน) โดยรวบรัด ประชาธิปไตย ตามรากศัพท์แล้ว ก็คือการปกครองโดยประชาชน ซึ่งตรงข้ามกับการปกครองโดยคนในคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความก้าวหน้านับศตวรรษ และร้อยพันข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างประชาธิปไตยของคนสมัยโบราณกับประชาธิปไตยของคนสมัยใหม่ นัยสำคัญเชิงพรรณนาโดยทั่วไปของคำคำนี้ก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไป ถึงแม้มิติเชิงคุณค่าจะเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาและความเชื่อ ตามแรงสนับสนุนของประชาชนที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับการปกครองแบบกษัตริย์หรือคณาธิปไตย ในทัศนะของผู้ที่เห็นประโยชน์จากการแยกแยะความต่างระหว่างประชาธิปไตยสองยุคนี้ สิ่งที่ถือว่าได้เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่สิทธิตามกฎหมายของประชาชนในการครองอำนาจทางการเมือง (“ประชาชน” ที่หมายถึง พลเมืองทั้งมวลผู้ที่ถือครองสิทธิในการตัดสินใจร่วมกันอย่างถึงที่สุด) ทว่าเป็นหนทางในการใช้ประชาธิปไตย ซึ่งอาจครอบคลุมผู้คนมากน้อยแตกต่างกันตามแต่ช่วงเวลา ในช่วงเดียวกันกับที่เราเห็นคำประกาศสิทธิของมนุษย์ เราก็พบกลุ่มผู้เขียน The Federalist ที่คัดง้างกับประชาธิปไตยทางตรง ที่รุ่งเรืองอยู่ในยุคโบราณและในรัฐนครยุคกลางเหนือประชาธิปไตยแบบตัวแทน อันเป็นการปกครองโดยประชาชนรูปแบบเดียวที่เป็นไปได้ในรัฐขนาดใหญ่ แฮมิลตันเสนอไว้ว่า:

 

"เป็นไปไม่ได้เลยที่จะอ่านประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐน้อย ๆ อย่างกรีซและอิตาลี โดยปราศจากความรู้สึกหวาดกลัวหรือรังเกียจ ทั้งในความยุ่งเหยิงที่ปลุกปั่นพวกเขาเสมอมา และในการสืบทอดมรดกอันเร่งด่วนของการปฏิวัติ จนทำให้พวกเขาติดอยู่ในภาวะที่สั่นคลอนระหว่างทรราชสุดขั้วกับอนาธิปไตยสุดโต่งไปชั่วนิรันดร์"[1]

 

ข้อพิจารณาที่เมดิสันเน้นย้ำก็คือ "มิตรสหายแห่งการปกครองโดยประชาชน ไม่เคยพบว่าตัวเองรู้สึกหวาดกลัวในคุณลักษณะและโชคชะตาของตัวเอง เมื่อเขาพิเคราะห์พิจารณาถึงแนวโน้มของข้อบกพร่องที่น่าอันตรายนี้"[2] ข้ออ้างที่ว่าประชาธิปไตยของนครรัฐนั้นมีข้อด้อย ตรงที่มันมีแนวโน้มจะนำไปสู่การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย (factionalism) จริง ๆ แล้วไม่ใช่อะไรเลย นอกจากข้อแก้ตัวหรือการตอกย้ำคำดูถูกดูแคลนประชาชนอันยืนยงและปรากฏขึ้นบ่อยครั้ง โดยพวกชนชั้นนำบางกลุ่ม ซึ่งหากเป็นครั้งที่พวกเขาเป็นตัวแทนอยู่ในสภา การแบ่งแยกระหว่างกลุ่มที่ัขัดแย้งกัน คงลงเอยด้วยการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา เหตุผลประการเดียวในการสนับสนุนประชาธิปไตยแบบตัวแทน จึงอยู่ตรงที่ขนาดของรัฐสมัยใหม่ล้วน ๆ ตัวอย่างแรก ๆ ก็คือ การรวมตัวเป็นสหพันธ์ของกลุ่มนิคมของอังกฤษ 13 แห่ง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของพวกเขาเป็นที่ถกเถียงของบรรดาผู้เขียน The Federalist รูโซ ผู้หลงใหลได้ปลื้มกับยุคโบราณก็ตระหนักในเรื่องนี้เช่นกัน อันที่จริง เขาเองได้ปกป้องประชาธิปไตยทางตรง ด้วยการกล่าวว่า "อำนาจอธิปไตย ... ไม่อาจเป็นตัวแทนกันได้" และด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ "ประชาชนชาวอังกฤษจะคิดว่าตัวเองเป็นอิสระ" ทว่า "มันเป็นเรื่องเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวงทีเดียว พวกเขามีเสรีเฉพาะในช่วงเวลาแห่งการเลือกตั้งสมาชิกสภา ทันทีที่พวกนั้นได้รับเลือก ความเป็นทาสก็จะขึ้นมาแทนที่ และไม่หลงเหลืออะไรเลย"[3] อย่างไรก็ดี เขาเชื่อมั่นด้วยว่า "ไม่เคยมีประชาธิปไตยที่แท้จริง และจะไม่มีวันมี" เพราะประชาธิปไตยมีสมมติฐานอยู่ที่ หนึ่ง รัฐขนาดเล็ก "ที่ประชาชนสามารถรวมตัวกันอย่างพรั่งพร้อม สอง รูปแบบวิธีการที่ง่ายดายมาก ๆ ถัดมา ความเท่าเทียมกันอย่างกว้างขวางในแง่ยศศักดิ์และโชคชะตา และสุดท้าย มีความหรูหราฟุ่มเฟือยอยู่น้อยหรือไม่มีเลย" ดังนั้น เขาจึงแนะนำว่า หาก "มีประชาชนของพระผู้เป็นเจ้า การปกครองของพวกเขาก็เป็นประชาธิปไตย การปกครองที่สมบูรณ์แบบจึงไม่ใช่สำหรับมนุษย์"[4]

 

ทั้งผู้เขียน The Federalist และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ต่างเชื่อมั่นว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยเพียงรูปแบบเดียวที่เหมาะสำหรับมนุษย์ คือประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ประชาชนไม่อาจตัดสินใจในสิ่งที่กระทบกับตน แต่เลือกตัวแทนของตนเพื่อไปตัดสินใจในนามของตัวเอง อย่างไรก็ดี พวกเขาไม่ได้เห็นว่า สถาบันทางการเมืองของประชาธิปไตยแบบตัวแทน ได้ลดทอนหลักการของประชาธิปไตยลงไปแต่อย่างใด ข้อพิสูจน์ประการหนึ่งอาจพบได้ในรัฐธรรมนูญของรัฐเวอร์จิเนีย (1776) อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของรัฐอเมริกาตอนเหนือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยืนยันในหลักการเดียวกันกับรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มา ว่า 'อำนาจทั้งมวลอยู่กับประชาชน ด้วยเหตุนี้ เจ้าหน้าที่บ้านเมือง (magistrate) จึงเป็นผู้ได้รับมอบหมายและเป็นผู้รับใช้ประชาชน และจำต้องรับผิดชอบต่อประชาชนในทุกช่วงเวลา' เช่นกัน ในมาตรา 3 ของคำประกาศการปฏิวัติ 1789 เขียนไว้ว่า 'หลักการของอำนาจอธิปไตยทุกประการดำรงอยู่เป็นพื้นฐานภายในชาติ ไม่มีใครคนใดคนหนึ่ง สามารถใช้สิทธิอำนาจที่ไม่ได้มีที่มาอย่างชัดเจนจากอำนาจอธิปไตย' นอกเหนือจากข้อเท็จจริงว่าการใช้อำนาจทางตรงโดยพลเมืองมิได้ขัดแย้งกับการใช้อำนาจทางตรงโดยผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้ง (อย่างที่ได้แสดงให้เห็นในการคงอยู่ของรัฐธรรมนูญอย่างเช่นในอิตาลี ที่บทบัญญัติเขียนขึ้นเพื่อการทำประชามติของประชาชน ถึงแม้จะทำได้เพียงวีโต้และทำให้กฎหมายเป็นโมฆะเท่านั้น) ประชาธิปไตยทางตรงและทางอ้อมสามารถสืบย้อนไปถึงหลักการบางอย่างเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของประชาชน แม้จะแตกต่างในแง่วิธีการและรูปแบบในการใช้อำนาจอธิปไตย

 

ประชาธิปไตยแบบตัวแทนได้รับการสนับสนุนจากความเชื่อมั่นที่ว่า ตัวแทนที่ได้รับการเลือกจากพลเมืองจะสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับผลประโยชน์ส่วนรวมได้ดีกว่าตัวพลเมืองที่มีวิสัยทัศน์คับแคบและมองเห็นแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง ด้วยเหตุผลนี้ ประชาธิปไตยแบบตัวแทนจึงอาจทำให้เป้าหมายที่อำนาจอธิปไตยของประชาชนคาดหวังไว้เป็นจริงได้มากกว่า สิ่งนี้หมายความเช่นเดิมว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดอย่างถึงที่สุด ที่เห็นว่าประชาธิปไตยแบบโบราณกับสมัยใหม่นั้นตรงข้ามกัน อย่างน้อยก็ในความหมายที่ว่าประชาธิปไตยโบราณนั้นสมบูรณ์กว่าในแง่ของเป้าหมาย เมดิสันยืนยันว่า อำนาจการปกครองแบบตัวแทนในมือของคนจำนวนน้อยที่ได้รับการทดสอบทางปัญญาความสามารถแล้วนั้น จะนำ "ผลประโยชน์ที่แท้จริง" ของประเทศมาสู่มือของผู้ที่ "อย่างน้อยที่สุดก็น่าจะสละประโยชน์ของตน เพื่อการครุ่นคิดพิจารณาชั่วคราวหรือเป็นบางส่วน"[5] สิ่งนี้ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตนของผู้แทนหลังได้รับการเลือกตั้งไปแล้ว ไม่ใช่ในฐานะผู้กระทำการอย่างลับ ๆ ให้กับผู้ที่เลือกเขาเป็นตัวแทนในรัฐสภา แต่ในฐานะผู้แทนของประเทศชาติทั้งมวล หากประชาธิปไตยจะเป็นเรื่องการเป็นตัวแทนจริง ๆ แล้วล่ะก็ ตัวแทนที่ได้รับเลือกก็ไม่อาจผูกมัดอยู่กับเจตจำนงของผู้ที่เลือกเขาขึ้นมาได้อีกต่อไป ไม่ใช่รูปแบบของการพึ่งพาอาศัยอย่างสังคมแห่งยศถาและชนชั้นในสมัยเก่า ที่ซึ่งกลุ่มคนหลากหลาย ทั้งองค์กรหรือหมู่คณะ ต่างเคยใช้ผู้แทนของตนเป็นหนทางในการถ่ายทอดผลประโยชน์เฉพาะของตนไปสู่องค์อธิปัตย์ ในที่นี้ อังกฤษได้นำหน้าไปก่อน อย่างที่เบิร์กเขียนไว้ว่า

 

"การแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคน ความคิดเห็นของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยเป็นความเห็นที่มีค่าและควรแก่การเคารพ เป็นความเห็นที่เหล่าผู้แทนอาจปีติยินดีที่ได้ยินได้ฟัง ... ทว่าการสั่งการแบบอำนาจนิยม และคำสั่งการที่ได้รับสั่งมา (mandates issued) ที่ผูกมัดสมาชิกสภาไว้อย่างมืดบอด และให้เชื่อฟัง ลงคะแนน และโต้แย้งให้โดยปริยาย ... สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นไม่เป็นที่รู้จักในกฎหมายของแผ่นดินนี้อย่างเด็ดขาด"[6]

 

สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส ที่ปฏิบัติตามความเห็นที่ได้รับการเสนอไว้อย่างมีวาทศิลป์โดยซิแยส (Sieyès 1748-1836) ได้เสนอบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 1791 (บรรพ 3 หมวด 1 ส่วน 3 มาตรา 7) เพื่อแยกส่วนที่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นทางการ ระหว่างผู้แทนกับผู้ถูกแทนออกจากกัน มาตรานี้ ซึ่งห้ามมิให้รับอำนาจสั่งการอย่างผูกมัด (binding mandate) ประกาศไว้อย่างหนักแน่นว่า “ผู้แทนจากเขต (departments) ต่าง ๆ ไม่ควรเป็นเพียงผู้แทนเฉพาะเขตใดเขตหนึ่งเท่านั้น และไม่สามารถรับมอบคำสั่งจากเขตใดเป็นการเฉพาะ ทว่าต้องเป็นผู้แทนของประเทศชาติ”[7] จากจุดนี้ การห้ามมิให้ผู้แทนรับอำนาจสั่งการอย่างผูกมัดจากผู้ที่เลือกพวกเขาขึ้นมา จึงกลายเป็นหลักการสำคัญของกลไกระบบการเมืองแบบรัฐสภา หลักการนี้ ที่จริงแล้ว คือสิ่งที่เคยแยกระบอบรัฐสภาออกจากระบอบการเมืองเก่าที่เลือกใช้หลักการของตัวแทนแบบหมู่คณะ อันตั้งอยู่บนฐานของอำนาจสั่งการอย่างผูกมัดที่บีบบังคับผู้แทนอย่างจงใจให้ส่งเสริมผลประโยชน์ของกลุ่มคณะที่พวกเขาเป็นตัวแทนอยู่ และหากพวกเขาแสดงการขัดขืนที่จะทำเช่นนั้น ก็จะถูกยึดสิทธิในการเป็นผู้แทนกลับคืนไป การขาดหายไปของรัฐแบบบรรษัท (corporative state) ทำให้ปัจเจกชนเป็นอิสระในความแตกต่างหลากหลายและอำนาจในการปกครองตนเอง และปัจเจกที่มิใช่เพียงสมาชิกของกลุ่มองค์กรใด ๆ เช่นนี้เอง ที่จะมีหน้าที่เลือกตั้งผู้แทนของชาติ ทำนองเดียวกัน ผู้ที่ได้รับเลือก ก็ได้รับเลือกโดยปัจเจกแต่ละคน ให้เป็นผู้แทนของชาติโดยรวม ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงจำเป็นต้องกำหนดทิศทางการกระทำของตน และตัดสินใจโดยเป็นอิสระจากคำสั่งการใด ๆ หากประชาธิปไตยสมัยใหม่ หมายถึงประชาธิปไตยแบบตัวแทน และหากสารัตถะของประชาธิปไตยแบบตัวแทน คือการเป็นตัวแทนของชาติ โดยไม่ถูกบังคับให้เป็นตัวแทนแต่เฉพาะปัจเจกคนใดคนหนึ่ง หรือเฉพาะผลประโยชน์เฉพาะของพวกเขา ประชาธิปไตยสมัยใหม่ก็วางอยู่บนสมมติฐานของ ชาติที่กระจัดกระจายเป็นส่วนเล็กส่วนน้อย (the atomization of the nation) และรวมตัวขึ้นใหม่อีกครั้งในระดับอื่น ๆ นั่นคือ ในระดับของรัฐสภาที่ทั้งสูงชั้นกว่าและจำกัดกว่าในเวลาเดียวกัน ถึงตรงนี้ กระบวนการของการกลายเป็นอณู ก็คือสิ่งเดียวกับสิ่งที่เป็นรากฐานของมโนทัศน์เกี่ยวกับรัฐแบบเสรีนิยม ซึ่งต้นกำเนิดของมันนั้น อย่างที่เราได้โต้แย้งไปแล้วนั้น หาพบได้จากการยืนยันในสิทธิตามธรรมชาติอันไม่อาจล่วงละเมิดได้ของปัจเจกชน  

 

 

[1] A. Hamilton, J. Madison, J. Jay, The Federalist Papers (1788), Mentor, London 1961, p. 71.

 

[2] Ibid., p. 77.

 

[3] J.J. Rousseau, The Social Contract, p. 240.

 

[4] Ibid., pp. 217-18.

 

[5] Hamilton, Madison & Jay, The Federalist Papers, p. 82.

 

[6] E. Burke, “Speech at the Conclusion of the Poll on his being Declared Duly Elected” (1774), The Works, John C. Nimmo, London 1899, vol. 2, p. 96.

 

[7] สำหรับข้อวิจารณ์ในเรื่องนี้ โปรดดู P. Violante, Lo spazio della rappresentanza. I Francia 1788-1789, Palermo 1981.

 

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บทที่ 17 ประชาธิปไตยกับภาวะปกครองไม่ได้ (Democracy and Ungovernability)
Apolitical
บทที่ 16 เสรีนิยมรูปแบบใหม่ (New Liberalism)
Apolitical
บทที่ 15 ประชาธิปไตยในความสัมพันธ์กับสังคมนิยม (Democracy as It Relates to Socialism)
Apolitical
บทที่ 14 เสรีนิยมกับประชาธิปไตยในอิตาลี (Liberalism and Democracy in Italy)
Apolitical
บทที่ 13 ประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy)
Apolitical
บทที่ 12 เสรีนิยมและอรรถประโยชน์นิยม (Liberalism and Utilitarianism)
Apolitical
บทที่ 11 ทรราชเสียงข้างมาก (the Tyranny of the Majority)