Skip to main content

บทที่ 7 ประชาธิปไตยกับความเท่าเทียม (Democracy and Equality)

 

บ่อยครั้งที่เสรีนิยมสมัยใหม่และประชาธิปไตยโบราณจะถูกมองว่าขัดแย้งกัน พวกประชาธิปไตยในยุคเก่านั้นไม่ประสากับทั้งทฤษฎีสิทธิตามธรรมชาติ รวมถึงความคิดที่ว่ารัฐมีหน้าที่จำกัดกิจกรรมของตัวเองให้อยู่ในขอบเขตของความจำเป็นขั้นต่ำในการทำให้สังคมอยู่รอด ขณะที่เสรีนิยมสมัยใหม่นั้น ตั้งต้นด้วยการสงสัยอย่างสุดใจกับรูปแบบการปกครองของประชาชนทั้งมวล (ตลอดศตวรรษที่ 19 และต่อมา พวกเขาสนับสนุนและปกป้องการจำกัดสิทธิเลือกตั้ง) กระนั้นก็ตาม ประชาธิปไตยสมัยใหม่ไม่ได้เพียงทำงานร่วมกันได้กับเสรีนิยม ทว่าในหลายแง่มุม ก็อาจถือเป็นการขยายธรรมชาติของเสรีนิยมให้กว้างขวางขึ้นอีกด้วย 

 

กระนั้น สิ่งนี้เป็นจริงก็ต่อเมื่อเรามองคำว่า 'ประชาธิปไตย' ในเชิงกฎหมาย-สถาบัน มากกว่าในเชิงศีลธรรม และมองมันในเชิงกระบวนการมากกว่าสาระสำคัญ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าในทางประวัติศาสตร์ คำว่า 'ประชาธิปไตย' ได้รับการตีความ อย่างน้อยก็ในแง่ต้นกำเนิด ในสองความหมายหลัก ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งใดจะได้รับเน้นย้ำมากกว่ากัน ระหว่าง ชุดของกฎกติกา (กฎของเกม - the rules of the game) ที่ต้องปฏิบัติตาม หากอำนาจทางการเมืองได้รับการกระจายอย่างทั่วถึงในหมู่พลเมืองส่วนใหญ่ กับอุดมคติว่าด้วยความเท่าเทียม อันเป็นสิ่งดลใจของการปกครองแบบประชาธิปไตย ในแง่ของความแตกต่างนี้ เป็นธรรมเนียมที่จะจำแนกระหว่างรูปแบบกับสาระสำคัญของประชาธิปไตยออกจากกัน หรืออีกทางหนึ่งก็คือ แยกการปกครองโดยประชาชนออกจากการปกครองเพื่อประชาชนนั่นเอง ไม่จำเป็นต้องกล่าวว่า คำว่า 'ประชาธิปไตย' ในที่นี้ ถูกใช้ในสองความหมายที่ต่างกัน ซึ่งผูกติดอยู่กับประเด็นของการถกเถียงอันออกจะไร้ประโยชน์เกี่ยวกับคำถามที่ว่า สิ่งไหนเป็นประชาธิปไตยกว่ากันระหว่างระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยโดยรูปแบบ แต่ปราศจากความเท่าเทียมกันโดยทั่วไป กับระบอบการเมืองที่มีความเท่าเทียมอยู่ทั่วไป แต่ปกครองโดยเผด็จการ ทั้งสองความหมายมีความชอบธรรมทางประวัติศาสตร์ เหตุเพราะในประวัติศาสตร์อันยาวนานของทฤษฎีประชาธิปไตย คำถามเกี่ยวกับกระบวนการนั้นสอดประสานไปกับคำถามเชิงอุดมคติ (ทั้งสองผสมปนเปอยู่ในทฤษฎีของรูโซที่ความคิดเรื่องความเท่าเทียมอย่างถึงที่สุดของเขานั้นจะเป็นจริงได้ด้วยการก่อร่างสร้างเจตจำนงทั่วไปขึ้นมาเท่านั้น) อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงที่ว่าประวัติศาสตร์ยอมรับประชาธิปไตยทั้งสองความหมาย ก็ไม่ได้ให้ความกระจ่างว่า นัยความหมายใดกันแน่ที่ทั้งสองอาจจะมีร่วมกัน   

 

จากทั้งสองความหมายข้างต้น เป็นประชาธิปไตยในความหมายแรกที่เชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์กับการก่อรูปรัฐแบบเสรีนิยม แต่เมื่อประชาธิปไตยถูกเข้าใจในความหมายที่สอง ปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของมันกับเสรีนิยมจึงซับซ้อนยิ่งขึ้นอีก ไม่มีเหตุผลที่จะทึกทักเอาผลลัพธ์อย่างฉับพลันจากวิวาทะที่ยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้ จริง ๆ แล้ว เมื่อมองในมุมนี้ คำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเสรีนิยมกับประชาธิปไตยก็เปลี่ยนไปเป็นคำถามที่ยากกว่าเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเสรีภาพกับความเท่าเทียมกัน อันมีสมมติฐานว่า เราสามารถตอบคำถามที่ว่า "เสรีภาพแบบไหน" และ "เท่าเทียมอย่างไร" ได้อย่างกระจ่างชัด 

 

ในความหมายที่กว้างที่สุด ที่มองว่า ทั้งสองสิ่งได้มาจากการขยายข้อเรียกร้องสิทธิในเสรีภาพและความเท่าเทียมของแต่ละบุคคล (ข้อเรียกร้องของหลักการที่ถูกกดไว้อย่าง เศรษฐกิจเสรี (laissez-faire) และ เสมอภาคนิยม (equalitarianism)) ในพื้นที่ทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น เสรีภาพและความเท่าเทียมก็เป็นคุณค่าที่ขัดแย้งกันเองในแง่ที่ว่า ทั้งคู่ไม่อาจเป็นจริงได้ หากยังมีอีกสิ่งหนึ่งอยู่ สังคมเสรีนิยมที่มีเศรษฐกิจเสรี (liberal laissez-faire society) นั้นเหลื่อมล้ำกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ สังคมที่มนุษย์เท่าเทียมกันก็ไม่อาจเป็นสังคมที่เสรี แนวคิดอิสรเสรีนิยม (Libertarianism) และเสมอภาคนิยม มีรากฐานอยู่บนมโนทัศน์เกี่ยวกับมนุษย์และสังคมที่แตกต่างกันอย่างลึกซึ้ง นั่นคือ มโนทัศน์ที่เป็นปัจเจก ขัดแย้ง และหลากหลาย สำหรับฝ่ายเสรีนิยม กับมโนทัศน์ที่เป็นองค์รวม สอดคล้อง และเป็นหนึ่งเดียว สำหรับฝ่ายเสมอภาคนิยม เป้าหมายหลักของเสรีนิยม คือการขยายความเป็นส่วนตัวของปัจเจกชน ถึงแม้ผู้มั่งคั่งและมีความสามารถมากกว่าจะบรรลุถึงพัฒนาการนี้โดยต้องแลกกับความเป็นส่วนตัวของคนยากจนและผู้ที่มีความสามารถด้อยกว่า ส่วนเป้าหมายหลักของเสมอภาคนิยมอยู่ที่การยกระดับความเป็นชุมชนโดยรวม ถึงแม้จะนำมาซึ่งพื้นที่ของเสรีภาพส่วนบุคคลที่ลดน้อยลง  

 

มีความเท่าเทียมเพียงรูปแบบเดียวที่ไม่เพียงสอดคล้องกันกับเสรีนิยม ทว่ายังเป็นอิสรภาพในมุมที่พวกเขาเรียกร้อง นั่นคือ ความเท่าเทียมในสิทธิของการมีเสรีภาพ ความเท่าเทียมในเสรีภาพ หมายความว่า คนแต่ละคนควรใช้ประโยชน์จากเสรีภาพได้มากเท่ากับที่สอดคล้องไปกับเสรีภาพของคนอื่น และสามารถทำสิ่งใดก็ตามที่ไม่เหยียดหยามเสรีภาพอันเท่าเทียมกันกับผู้อื่นด้วย ความเท่าเทียมในรูปแบบนี้ดลใจให้กับหลักการพื้นฐานสองประการในช่วงแรกสุดของพัฒนาการของรัฐเสรีนิยม ซึ่งได้แสดงออกอยู่ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับ (1) ความเท่าเทียมกันตามกฎหมาย และ (2) ความเท่าเทียมกันในสิทธิ หลักการข้อแรกนั้นพบได้ในรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสฉบับปี 1791 1793 และ 1795 แล้วก็ใน ธรรมนูญการปกครองฉบับปี 1814 (มาตรา 1) รัฐธรรมนูญของเบลเยี่ยมฉบับ 1813 (มาตรา 6) และในรัฐธรรมนูญฉบับอัลเบอร์ไทน์ ปี 1848 (มาตรา 24) บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาครั้งที่ 14 ก็อยู่ในขอบข่ายเดียวกัน เมื่อมันรับรอง "การคุ้มครองโดยกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน" ไว้ให้แก่พลเมืองทุกคน ขณะที่หลักการข้อที่สองประกาศไว้อย่างจริงจังในมาตรา 1 ของคำประกาศว่าด้วยสิทธิของมนุษย์ ปี 1789 ที่ว่า "มนุษย์เกิดมาเสรี และยังคงเป็นเสรีและเท่าเทียมกันในเรื่องสิทธิ" หลักการทั้งสองได้รับการกล่าวถึงอยู่ตลอดช่วงประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญนิยมสมัยใหม่ และยังปรากฏอยู่ในวรรคที่ 1 ของมาตรา 3 ในรัฐธรรมนูญอิตาลีฉบับปัจจุบันที่ว่า "พลเมืองทุกคนย่อมอยู่ใต้สถานะทางสังคมที่เสมอกัน และย่อมเสมอภาคกันตามกฎหมาย"   

 

หลักความเท่าเทียมกันตามกฎหมายนั้น อาจเข้าใจแง่ความหมายแคบได้ว่า เป็นการปรับสร้างหลักการที่ใช้ทั่วไปในทุก ๆ ศาลและองค์กรตุลาการ ที่ว่า "ทุกสิ่งเท่าเทียมกันตามกฎหมาย" ขึ้นมาใหม่ หากเข้าใจในแง่นี้ ก็หมายความเพียงแค่ว่า ผู้พิพากษาจะใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของวิธีการและกระบวนการทางรัฐธรรมนูญของรัฐบนฐานคิดเรื่องสิทธิ ทั้งยังกล่าวได้อีกว่า มันเป็นลักษณะโดยเนื้อแท้ของรัฐเสรีนิยม ดังเช่นที่เราได้โต้เถียงไปแล้วว่า รัฐเสรีนิยมนั้นเป็นสิ่งเดียวกับรัฐบนฐานคิดเรื่องสิทธินั่นเอง ในความหมายกว้าง นี่คือหลักการของการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นสากลแก่พลเมืองทุกคน ซึ่งมีนัยว่า กฎหมายที่บังคับใช้แต่กับคนในลำดับชั้นหรือสถานภาพหนึ่ง ๆ ควรถูกยกเลิกหรือไม่ควรเขียนขึ้นใหม่ หลักการเช่นนี้เท่าเทียมกันในความหมายที่ว่า มันขจัดการเลือกปฏิบัติที่เคยมีอยู่ทิ้งไป ในคำปรารภของคำประกาศปี 1791 บอกแก่เราว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสต้องการจะกำจัด "สถาบันที่เป็นภัยต่อเสรีภาพและความเท่าเทียมกันในสิทธิอย่างถาวร" ซึ่งรวมไปถึงบรรดาสถาบันที่มีชื่อเรียกสื่อถึงระบอบฟิวดัลด้วย วลีสรุปในคำปรารภนี้เขียนว่า "จะต้องไม่มีกลุ่มใดในชาติ หรือปัจเจกชนคนใด ได้รับอภิสิทธิ์พิเศษหรือถูกกีดกันออกจากสิทธิส่วนรวม (common right) ของพลเมืองฝรั่งเศสทุกคน" ถึงตรงนี้ ด้วยตัวบทที่บัญญัติขึ้นในเชิงลบ (through the negative formulations of the text) เราก็ได้ภาพร่างที่เป็นไปได้ของหลักความเท่าเทียมกันในกฎหมายในความหมายเชิงบวก ซึ่งบอกเป็นนัยถึงการปฏิเสธสังคมลำดับชั้นหรือชนชั้น และยืนยันถึงมโนทัศน์ของสังคมที่โดยดั้งเดิมแล้วประกอบขึ้นด้วยปัจเจกชนเท่านั้น 

 

ความเท่าเทียมกันในสิทธิแสดงให้เห็นพัฒนาการที่มากขึ้นของความเท่าเทียม ซึ่งไปไกลเกินกว่าความคิดเรื่องความเท่าเทียมในกฎหมาย ในแง่ที่หมายถึงการละเว้นจากการเลือกปฏิบัติในสังคมลำดับชั้นแบบเก่าทั้งหมด ทั้งยังเกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ของพลเมืองทุกคน จากความเท่าเทียมในสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ความเท่าเทียมในกฎหมายสามารถตีความได้ว่า เป็นรูปแบบของความเท่าเทียมกันทางกฎหมายอันเจาะจงและถูกกำหนดไว้โดยประวัติศาสตร์ (เช่น ประกอบไปด้วย สิทธิของคนทุกคน โดยไม่คำนึงถึงชาติกำเนิด ในการเข้าถึงระบบกฎหมายส่วนรวม หรือเข้าถึงสายอาชีพหลักทางพลเรือนหรือทางการทหาร) ความเท่าเทียมกันในสิทธิ ก็ประกอบด้วย ความเท่าเทียมกันในสิทธิขั้นพื้นฐานที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญหนึ่ง ๆ และบอกเป็นนัยว่า สิทธิทั้งหมดเหล่านั้น และเฉพาะแต่สิทธิเหล่านั้นเท่านั้น ที่จะถือว่าเป็น สิทธิพื้นฐาน ซึ่งพลเมืองทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติบนฐานของชนชั้นทางสังคม เพศ ศาสนา เชื้อชาติ ฯลฯ คลังของสิทธิขั้นพื้นฐานนั้นแตกต่างกันจากยุคหนึ่งสู่อีกยุคหนึ่ง จากสังคมหนึ่งสู่อีกสังคมหนึ่ง และไม่อาจไล่เรียงรายนามของสิทธิที่ถาวรได้ เราบอกได้เพียงว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญหนึ่ง ๆ สิทธิเหล่านั้นที่ถูกเรียกว่า สิทธิขั้นพื้นฐาน อันเป็นของพลเมืองทุกคนโดยปราศจากการแบ่งแยก พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นสิทธิในแง่ที่พลเมืองทุกคนเท่าเทียมกัน 

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บทที่ 17 ประชาธิปไตยกับภาวะปกครองไม่ได้ (Democracy and Ungovernability)
Apolitical
บทที่ 16 เสรีนิยมรูปแบบใหม่ (New Liberalism)
Apolitical
บทที่ 15 ประชาธิปไตยในความสัมพันธ์กับสังคมนิยม (Democracy as It Relates to Socialism)
Apolitical
บทที่ 14 เสรีนิยมกับประชาธิปไตยในอิตาลี (Liberalism and Democracy in Italy)