Skip to main content

บทที่ 15 ประชาธิปไตยในความสัมพันธ์กับสังคมนิยม (Democracy as It Relates to Socialism)

  

แม้ว่าอุดมคติแบบเสรีนิยมและประชาธิปไตยจะค่อย ๆ สอดประสานกันไปตลอดสายธารประวัติศาสตร์ที่ตะกุกตะกัก ทว่าความขัดแย้งระหว่างเสรีนิยมกับประชาธิปไตยยังคงเข้มข้นเสมอมา และได้กลายเป็นความขัดแย้งที่แหลมคมขึ้นในหลายแง่มุมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 

ความขัดแย้งนี้ดำรงอยู่และเข้มข้นขึ้นด้วยข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัวระหว่างครึ่งหลังของศตวรรษที่แล้ว นั่นคือ บทบาทในเวทีการเมืองของขบวนการแรงงานที่ได้รับแรงดลใจจากทฤษฎีสังคมนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทฤษฎีสังคมนิยมเป็นคู่ขัดแย้งกับทฤษฎีเสรีนิยม แม้ขบวนการสังคมนิยมส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพรรคแรงงานในอังกฤษ พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในเยอรมัน และปีกฝ่ายปฏิรูปโดยทั่ว ๆ ไป จะไม่ได้ปฏิเสธวิธีการแบบประชาธิปไตยก็ตามที อย่างที่เราได้เห็น เสรีนิยมและประชาธิปไตยไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกันอย่างฝังรากลึก แม้การปลูกถ่ายอุดมคติแบบประชาธิปไตยบนรากฐานของความปรารถนาแบบเสรีนิยมจะเป็นเรื่องยากลำบากและเป็นที่ถกเถียงกันอยู่เสมอ และแม้กระบวนการที่เสรีนิยมและประชาธิปไตยเติบโตมาพร้อม ๆ กันนั้นจะทั้งเชื่องช้า ยากลำบาก และไม่ค่อยราบรื่นก็ตาม ในทางกลับกัน เห็นได้ชัดว่าสังคมนิยมนั้นยืนอยู่ตรงข้ามกับเสรีนิยมตั้งแต่จุดเริ่มต้น ไม่ใช่เพียงแค่ในรูปของพวกมาร์กซิสต์เท่านั้น แก่นแกนของความขัดแย้งนี้อยู่ที่ประเด็นเรื่องเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีสมมติฐานอยู่บนการยึดมั่นอย่างเด็ดเดี่ยวในทรัพย์สินส่วนบุคคล กล่าวคือ ทั้ง ๆ ที่สังคมนิยมถูกนิยามในความหมายที่แตกต่างกันมาตลอดศตวรรษที่ผ่านมา กระนั้นก็มีหลักเกณฑ์เพียงประการเดียวที่ทำให้สังคมนิยมแตกต่างจากทฤษฎีอื่น ๆ อย่างเด่นชัด แน่นอน และเสมอมา นั่นคือ การวิพากษ์วิจารณ์ทรัพย์สินส่วนบุคคลว่าเป็นต้นกำเนิดสำคัญของ "ความเหลื่อมล้ำของมนุษย์" (พูดด้วยคำที่รูโซใช้ใน Discourse) และมองว่า การกำจัดทรัพย์สินส่วนบุคคลทั้งหมดหรือบางส่วนคือเป้าหมายของสังคมในอนาคต นักเขียนแนวสังคมนิยมและขบวนการสังคมนิยมส่วนมากมักเห็นว่า เสรีนิยมนั้น (ไม่ว่าถูกหรือผิด แม้จะถูกต้องแน่นอนในเชิงประวัติศาสตร์) เป็นสิ่งเดียวกับการปกป้องเสรีภาพทางเศรษฐกิจและปกป้องทรัพย์สินของปัจเจกชนในฐานะเครื่องการันตีถึงเสรีภาพที่ว่านั้นเพียงอย่างเดียว โดยมองว่าเสรีภาพทางเศรษฐกิจเป็นรูปแบบของอิสรภาพที่จำเป็นต่อการรุ่งเรืองของอิสรภาพในรูปแบบอื่น ๆ ขบวนการสังคมนิยมได้รับมรดกตกทอดของทฤษฎีทางประวัติศาสตร์แบบกระฎุมพี อันเป็นมโนทัศน์ทางประวัติศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนฐานคิดทางชนชั้น ซึ่งมองว่าชนชั้นคือผู้กระทำหลักทางประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้นผ่านการเปลี่ยนผ่านจากการปกครองของชนชั้นหนึ่งไปสู่ชนชั้นอื่น ๆ ภายใต้มโมทัศน์เช่นนี้เอง เสรีนิยมที่ถูกเข้าใจว่าเป็นมุมมองที่เห็นว่าเสรีภาพทางเศรษฐกิจคือรากฐานของเสรีภาพอื่น ๆ ทั้งมวล และไม่มีใครจะเป็นอิสระอย่างแท้จริงได้หากปราศจากเสรีภาพดังกล่าว ถึงที่สุดจึงถูกนักสังคมนิยม (ไม่ใช่เพียงมาร์กซ์ ถึงแม้อิทธิพลจากมาร์กซ์จะครอบงำการจัดตั้งพรรคสังคมนิยมในยุโรปภาคพื้นทวีป โดยเฉพาะในเยอรมันและอิตาลี) มองว่า ไม่ใช่อะไรเลย นอกเสียจากอุดมการณ์ของชนชั้นกระฎุมพี หรือพูดอีกอย่างคือ เป็นอุดมการณ์ของศัตรูที่พรรคสังคมนิยมต้องต่อสู้ฟาดฟันจนกว่าจะกำจัดให้หมดสิ้น

 

ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างเสรีนิยมกับสังคมนิยมเป็นหนึ่งในความขัดแย้งที่เด่นชัดที่สุด (ไม่ว่าจะใช้บรรทัดฐานของสังคมในอนาคตแบบสังคมนิยม หรือสถานะของอุดมการณ์ของชนชั้นที่ถูกกำหนดให้เข้ามาแทนที่ชนชั้นกระฎุมพีตลอดพัฒนาการทางประวัติศาสตร์) ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมนิยมกับประชาธิปไตยกลับส่งเสริมกันและกันเฉกเช่นความสัมพันธ์แต่เก่าก่อนระหว่างประชาธิปไตยกับเสรีนิยม ทั้งนี้ แม้สังคมนิยมจะไม่ลงรอยกับเสรีนิยม แต่สังคมนิยมกลับค่อย ๆ กลายเป็นความคิดที่สอดคล้องกับประชาธิปไตยขึ้นเรื่อย ๆ มีข้อโต้แย้งสองประการที่สนับสนุนมโนทัศน์เกี่ยวกับสถานะที่สอดคล้องและส่งเสริมกันที่ว่านี้ ประการแรกคือ เมื่อกระบวนการประชาธิปไตยพัฒนาขึ้น ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะนำไปสู่หรือสนับสนุนการรุ่งเรืองของสังคมแบบสังคมนิยมที่มีรากฐานอยู่บนการปฏิรูปสถาบันของทรัพย์สินส่วนบุคคลและการสร้างกรรมสิทธิ์ร่วม (Collectivization) ในวิถีการผลิตหลักของสังคม และประการที่สองคือ การมีส่วนร่วมในชีวิตทางการเมืองของประชาชนจะเข้มแข็งและขยายกว้างออกไปจนประชาธิปไตยเติบโตอย่างสมบูรณ์ได้จริง ก็ด้วยการรุ่งเรืองของระบอบสังคมนิยมเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ท่ามกลางคำสัญญาต่าง ๆ ของประชาธิปไตย การกระจายอำนาจอย่างเท่าเทียม (หรือเท่าเทียมกันมากขึ้น) ไม่เฉพาะทางการเมือง แต่รวมถึงทางเศรษฐกิจ เป็นบางสิ่งที่เสรีนิยมประชาธิปไตยไม่อาจหยิบยื่นให้ได้ ข้อโต้แย้งทั้งสองนี้คือรากฐานของข้อเสนอที่ว่า ประชาธิปไตยและสังคมนิยมเชื่อมโยงอย่างแน่นแฟ้น ขบวนการสังคมนิยมสายหลักมองว่า ความเชื่อมโยงนี้เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการสร้างสังคมแบบสังคมนิยมขึ้นมา ในขณะที่ขบวนการประชาธิปไตยมองว่า นี่คือเงื่อนไขสำหรับในการพัฒนาประชาธิปไตยโดยตัวมันเองเช่นกัน

 

เราไม่ได้เสนอว่าความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตยกับสังคมนิยมนั้นสงบสุขมาโดยตลอด แต่จริง ๆ แล้ว มันสะท้อนให้เห็นว่า เสรีนิยมกับประชาธิปไตยนั้นค่อนข้างขัดแย้งกันในแง่มุมต่าง ๆ อย่างเปิดเผยอยู่บ่อยครั้ง หากประชาธิปไตยกับสังคมนิยมหนุนเสริมกันอย่างชัดเจนในความสัมพันธ์ที่มีลักษณะเป็นวงกลม คำถามคือ ถ้าเช่นนั้น เราควรจุดประกายความเปลี่ยนแปลง ณ จุดใดภายในวงกลมนี้ การเริ่มต้นจากขยายขอบเขตของประชาธิปไตยออกไปสะท้อนถึงการยอมรับในกระบวนการพัฒนาที่ค่อยเป็นค่อยไปและไม่แน่นอน หรือว่าการเริ่มต้นในทิศทางตรงกันข้าม คือจากการเปลี่ยนผ่านสังคมแบบสังคมนิยมโดยอาศัยจุดแตกหักของการปฏิวัติในเชิงคุณภาพที่อาจยับยั้งวิธีการแบบประชาธิปไตยเอาไว้ชั่วคราว จะเกิดขึ้นได้ มีความชอบธรรม และเป็นสิ่งที่น่าปรารถนากันแน่ ในแง่นี้ ตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่แล้วเป็นต้นมา ความขัดแย้งระหว่างเสรีนิยมกับประชาธิปไตยจึงถูกกลบทับด้วยความขัดแย้งคู่ใหม่ระหว่างฝ่ายที่ปกป้องเสรีนิยมประชาธิปไตยซึ่งมักจะสร้างสาเหตุร่วมในการต่อต้านสังคมนิยม (ที่พวกเขาเห็นว่าเป็นการปฏิเสธทั้งเสรีนิยมและประชาธิปไตย) ขึ้นมา กับฝ่ายสังคมนิยมทั้งพวกที่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นประชาธิปไตย การแบ่งแยกข้างต้นไม่ได้มีที่มาจากทัศนคติต่อเสรีนิยมซึ่งพวกเขาคัดค้านพอ ๆ กัน แต่มีที่มาจากการพิจารณาถึงความเที่ยงตรงและมีประสิทธิภาพของประชาธิปไตยอย่างน้อยที่สุดในช่วงเริ่มแรกหลังการช่วงชิงอำนาจสิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม ความสงสัยที่มีต่อวิธีการแบบประชาธิปไตยระหว่างช่วงที่เรียกกันว่ายุคเปลี่ยนผ่านนี้ ไม่เคยปฏิเสธความปรารถนาขั้นมูลฐานอันเป็นประชาธิปไตยของพรรคสังคมนิยมเลย พวกเขาเชื่อมั่นว่าประชาธิปไตยจะเป็นประโยชน์ที่สุดต่อสังคมแบบสังคมนิยม และในระยะยาว สังคมแบบสังคมนิยมเองจะพิสูจน์ว่า มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าสังคมแบบเสรีนิยมที่ดำรงอยู่และได้รับการฟูมฟักขึ้นมาท่ามกลางการถือกำเนิดและเติบโตของทุนนิยม

 

จากการพิจารณางานเขียนจำนวนมากในทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เราสามารถสรุปข้อโต้แย้ง 3 ประการที่สนับสนุนมุมมองที่ว่า สังคมนิยมประชาธิปไตยเป็นที่พึงปรารถนามากกว่าเสรีนิยมประชาธิปไตย (1) เสรีนิยมประชาธิปไตย หรือพูดให้ชัดคือ ทุนนิยมประชาธิปไตยและ (เมื่อเชื่อมโยงกับตัวแสดงทางประวัติศาสตร์ที่ให้กำเนิดมันขึ้นมา) ประชาธิปไตยของกระฎุมพี ดำรงอยู่ในฐานะประชาธิปไตยแบบตัวแทน โดยผู้แทนที่ได้รับเลือกจะเป็นอิสระโดยอำนาจที่ได้รับมอบหมาย ในขณะที่สังคมนิยม หรือถ้าพูดภาษาแบบชนชั้นคือประชาธิปไตยของกรรมาชีพ จะเป็นประชาธิปไตยทางตรง คือเป็นทั้งประชาธิปไตยของคนทั้งมวลโดยปราศจากตัวแทน หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นประชาธิปไตยที่วางรากฐานอยู่บนตัวแทนที่ได้รับการมอบอำนาจที่ถูกเพิกถอนได้ ไม่ใช่ผู้แทนทั่ว ๆ ไปเท่านั้น (2) ประชาธิปไตยของกระฎุมพีเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในอำนาจทางการเมือง ทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น ผ่านการขยายสิทธิเลือกตั้งจนถึงระดับที่ผู้ชายและผู้หญิงทุกคนสามารถเลือกตั้งได้ แต่สังคมนิยมประชาธิปไตยจะเปิดโอกาสให้พวกเขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับกิจการทางเศรษฐกิจที่ถูกควบไว้เบ็ดเสร็จในสังคมทุนนิยม ในแง่นี้ สังคมนิยมประชาธิปไตยจึงแสดงให้เห็นทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนที่แข็งขันกว่า และการขยายการมีส่วนร่วมของประชาชนในเชิงปริมาณ ผ่านการเปิดพื้นที่ใหม่ ๆ ให้กับการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงประชาอันเป็นรากฐานสำคัญของประชาธิปไตย และ (3) เหนือสิ่งอื่นใด แม้เสรีนิยมประชาธิปไตยหยิบยื่นสิทธิการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ประชาชน ทว่าสิ่งนี้หาได้เกิดขึ้นไปพร้อมกับการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจให้เท่าเทียมมากขึ้นแต่อย่างใด ผลคือ สิทธิในการเลือกตั้งไม่ได้นำไปสู่สิ่งใดนอกเสียจากภาพลวงตา ในทางกลับกัน สังคมนิยมประชาธิปไตยให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมในฐานะเป้าหมายหลักของการเปลี่ยนแปลงระบอบเศรษฐกิจและปฏิรูปอำนาจในการมีส่วนร่วมตามกฎเกณฑ์ให้กลายเป็นอำนาจที่แท้จริงและสลักสำคัญต่อประชาชน ในเวลาเดียวกัน ก็เติมเต็มอุดมคติของประชาธิปไตยที่เชื่อในความเท่าเทียมกันอย่างถึงที่สุดระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองได้ด้วย

 

ข้อเท็จจริงที่ว่าอุดมคติแบบประชาธิปไตยนั้นถูกขบวนการเสรีนิยมและฝ่ายตรงข้ามอย่างขบวนการสังคมนิยมนำไปฉวยใช้ จนนำไปสู่ระบอบการปกครองที่เป็นทั้งเสรีนิยม-ประชาธิปไตย และสังคมนิยม-ประชาธิปไตย (ถึงแม้จะยังไม่มีรัฐบาลที่เป็นสังคมนิยม-ประชาธิปไตยจริง ๆ และเรายังไม่เคยได้เห็นระบอบการปกครองใดที่เป็นทั้งสังคมนิยมและประชาธิปไตยไปพร้อมกันจริง ๆ เลยก็ตาม) อาจพอจะทำให้เราสรุปได้ว่า ในช่วงสองศตวรรษหลัง ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ระบอบการปกครองต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการเมืองต่างใช้ร่วมกัน อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรทึกทักเอาเองว่า มโนทัศน์เกี่ยวกับประชาธิปไตยยังคงดำรงอยู่โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลยตลอดการเดินทางจากเสรีนิยมสู่สังคมนิยมประชาธิปไตย ในคู่ของเสรีนิยมกับประชาธิปไตย ประชาธิปไตยมีความหมายถึงสิทธิการเลือกตั้งอย่างเป็นสากลอันเป็นหนทางที่ปัจเจกชนแต่ละคนสามารถแสดงเจตจำนงของตนได้อย่างอิสระ ขณะที่ในคู่ของสังคมนิยมกับประชาธิปไตย ประชาธิปไตยกลับมีความหมายถึงอุดมคติเรื่องความเท่าเทียมกัน อันสามารถสำเร็จเป็นจริงได้ด้วยการปฏิรูปทรัพย์สินอย่างที่สังคมนิยมนำเสนอเท่านั้น ในกรณีแรก ประชาธิปไตยจึงเป็นผลลัพธ์ ขณะที่ในกรณีหลัง ประชาธิปไตยเป็นข้อสมมติฐาน ในฐานะผลลัพธ์ เสรีภาพทางการเมืองที่ได้มานั่นเองที่ทำให้เสรีภาพเฉพาะด้านต่าง ๆ สมบูรณ์ได้จริง ขณะที่ในฐานะสมมติฐาน เสรีภาพต่าง ๆ ยังคงไม่สมบูรณ์ และจะสมบูรณ์ได้เฉพาะภายใต้เงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสังคมนิยมหวังจะสร้างขึ้นผ่านการเปลี่ยนแปลงสังคมทุนนิยม

 

ลักษณะอันคลุมเครือของมโนทัศน์เกี่ยวกับประชาธิปไตยนั้นปรากฏอย่างแจ่มชัดในสิ่งที่เรียกกันว่า "สังคมนิยมประชาธิปไตย" ซึ่งเป็นผู้ออกแบบ "รัฐสวัสดิการ"[1] ขึ้นมา สังคมนิยมประชาธิปไตยอ้างว่าตนมีจุดเด่นที่เหนือกว่าเสรีประชาธิปไตยตรงที่คำประกาศสิทธิแบบสังคมนิยมประชาธิปไตยนั้นประกอบด้วยหลักการของสิทธิทางสังคมและสิทธิในเสรีภาพ ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็อ้างว่าตนเองเป็นขั้นตอนเริ่มแรกสู่สังคมที่เป็นทั้งสังคมนิยมและประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ความคลุมเครือที่ว่าสะท้อนให้เห็นผ่านคำวิพากษ์วิจารณ์สองด้าน ทั้งจากฝ่ายขวาซึ่งเป็นพวกเสรีนิยมหัวแข็งที่อ้างว่าสังคมนิยมประชาธิปไตยนั้นลดทอนเสรีภาพของปัจเจกชนลง และจากฝ่ายซ้ายซึ่งเป็นพวกสังคมนิยมหุนหันพลันแล่นที่ประณามว่าสังคมนิยมประชาธิปไตยเป็นการประนีประนอมระหว่างสิ่งใหม่และสิ่งเก่า ซึ่งจะคอยขัดขวางหรือทำให้สังคมนิยมทำงานไม่ได้ ทั้งยังห่างไกลจากการทำให้สังคมแบบสังคมนิยมเกิดขึ้นจริง

 

 

[1] บ็อบบิโอใช้คำว่า stato dei servizi (แปลตรงตัวคือ “รัฐบริการ” - service state) และอธิบายว่า เขาชอบคำนี้ในภาษาอิตาลีมากกว่าคำว่า stato benessere (“รัฐสวัสดิการ” – welfare state) และ stato assistenziale (“รัฐสงเคราะห์” – assistance state) ซึ่งเขาเห็นว่าผิดพลาดตรงที่กล่าวถึงความกรุณาของรัฐอย่างเกินจริงและน้อยกว่าความเป็นจริง ตามลำดับ [หมายเหตุผู้แปลภาษาอังกฤษ]

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บทที่ 17 ประชาธิปไตยกับภาวะปกครองไม่ได้ (Democracy and Ungovernability)
Apolitical
บทที่ 16 เสรีนิยมรูปแบบใหม่ (New Liberalism)
Apolitical
บทที่ 15 ประชาธิปไตยในความสัมพันธ์กับสังคมนิยม (Democracy as It Relates to Socialism)
Apolitical
บทที่ 14 เสรีนิยมกับประชาธิปไตยในอิตาลี (Liberalism and Democracy in Italy)