Skip to main content

ปีศาจตนหนึ่งกำลังหลอกหลอนโลกสมัยใหม่ ปีศาจคริปตนาธิปไตย เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ใกล้จะทำให้คนแต่ละคน กลุ่มแต่ละกลุ่ม สื่อสารปฏิสัมพันธ์กันได้แบบไม่ต้องเปิดเผยตัวตนโดยสมบูรณ์ คนสองคนอาจแลกเปลี่ยนข้อความ ทำธุรกิจ และเจรจาสัญญาอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ต้องรู้จักชื่อเสียงเรียงนามหรือตัวตนทางกฎหมายของกันและกัน ปฏิสัมพันธ์บนเครือข่ายจะไม่สามารถตามรอยได้ด้วยการเปลี่ยนเส้นทางของข้อความแบบเข้ารหัสและกล่องข้อมูลที่ออกแบบให้ป้องกันการปลอมแปลงโดยอาศัยโปรโตคอลการเข้ารหัสที่ป้องกันการปลอมแปลงได้แทบทุกรูปแบบ ชื่อเสียงจะกลายเป็นหัวใจสำคัญในการเจรจาต่างๆ สำคัญเสียยิ่งกว่าอันดับความน่าเชื่อถือที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน พัฒนาการเหล่านี้จะปรับเปลี่ยนธรรมชาติของการกำกับดูแลของรัฐบาล ความสามารถในการจัดเก็บภาษีและควบคุมปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการเก็บรักษาข้อมูลที่เป็นความลับ ตลอดจนเปลี่ยนผันธรรมชาติของความไว้เนื้อเชื่อใจและชื่อเสียงไปโดยสิ้นเชิง

เทคโนโลยีที่ใช้ในการปฏิวัติซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นทั้งการปฏิวัติทางสังคมและเศรษฐกิจ มีอยู่ในทางทฤษฎีมานานนับทศวรรษ รากฐานของวิธีการเหล่านั้นประกอบด้วยการเข้ารหัสกุญแจสาธารณะ ระบบการพิสูจน์ข้อมูลโดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลชุดนั้น และซอฟต์แวร์โปรโตคอลต่างๆ สำหรับการสื่อสารปฏิสัมพันธ์ พิสูจน์ตัวตน และยืนยันความถูกต้อง จนถึงทุกวันนี้ความสนใจต่อเทคโนโลยีเหล่านี้ยังคงจำกัดในแวดวงการประชุมทางวิชาการในยุโรปและสหรัฐอเมริกา การประชุมซึ่งถูกจับตาอย่างใกล้ชิดโดยสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ เครือข่ายคอมพิวเตอร์และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเริ่มมีความเร็วมากพอจะทำให้อุดมคติเหล่านี้เป็นจริงได้ และในอีกสิบปีข้างหน้าจะมีความเร็วมากขึ้นจนทำให้แนวคิดเหล่านี้เกิดขึ้นจริงในทางเศรษฐกิจและไม่อาจยับยั้งได้อีกต่อไป เครือข่ายความเร็วสูง โครงข่ายบริการสื่อสารร่วมระบบดิจิทัล (ISDN) กล่องข้อมูลที่ป้องกันการปลอมแปลง สมาร์ทการ์ด ดาวเทียม ทรานสมิตเตอร์ระบบเคยูแบนด์ (Ku-band) คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ประมวลผลได้หลายล้านคำสั่งต่อวินาที (multi-MIPS) และชิบเข้ารหัสซึ่งกำลังพัฒนากันอยู่ในเวลานี้ จะเป็นเทคโนโลยีส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการปฏิวัติ

แน่นอนว่ารัฐย่อมพยายามชะลอหรือยับยั้งไม่ให้เทคโนโลยีเหล่านี้ถูกใช้งานกันในวงกว้างโดยอ้างเรื่องความมั่นคงของชาติ การใช้เทคโนโลยีโดยบรรดาผู้ค้ายาเสพติดและผู้หนีภาษี และความหวาดกลัวว่าสังคมจะล่มสลาย ความกังวลเหล่านี้จะเป็นจริงแน่ คริปตนาธิปไตยจะทำให้ความลับของชาติค้าขายกันได้โดยเสรีและทำให้สินค้าผิดกฎหมายและข้าวของที่ถูกขโมยมาสามารถซื้อขายกันได้ด้วย มิหนำซ้ำตลาดคอมพิวเตอร์แบบนิรนามจะยิ่งทำให้ตลาดอันน่าขยะแขยงของการลอบสังหารและขู่กรรโชกเกิดขึ้นจริง องค์กรอาชญากรรมต่างชาติจะเป็นผู้ใช้งานคริปโตเน็ต (CryptoNet) ด้วยความกระตือรือร้น แต่ไม่ว่าอย่างไรทั้งหมดนี้ก็ไม่อาจยับยั้งการแพร่กระจายของคริปตนาธิปไตยได้

เทคโนโลยีการพิมพ์ปรับเปลี่ยนและลดทอนอำนาจของระบบกิลด์และโครงสร้างอำนาจทางสังคมในยุคกลางฉันใด เทคโนโลยีการเข้ารหัสลับก็จะปรับเปลี่ยนธรรมชาติของการแทรกแซงเศรษฐกิจขององค์กรเอกชนและรัฐบาลไปอย่างถึงรากฉันนั้น เมื่อผนวกเข้ากับตลาดข้อมูลข่าวสารที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ คริปตนาธิปไตยจะสร้างตลาดสภาพคล่องสูงให้กับสินค้าทุกชนิดตราบที่สามารถแปลงให้เป็นคำและทำให้เป็นภาพ สิ่งประดิษฐ์ที่ดูไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรอย่างลวดหนามทำให้การล้อมรั้วท้องทุ่งอันกว้างใหญ่เกิดขึ้นได้ฉันใด การค้นพบทางคณิตศาสตร์อันแสนลึกลับซึ่งดูไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรนักนี้ก็จะเป็นดั่งคีมตัดลวดที่จะรื้อถอนรั้วลวดหนามที่โอบล้อมทรัพย์สินทางปัญญาเอาไว้ฉันนั้น

จงลุกขึ้นเถิด พวกเราไม่มีอะไรจะเสียนอกเสียจากรั้วลวดหนามของเราเอง!.

ทิโมธี ซี. เมย์, 1988
tcmay@netcom.com

แปลจาก: https://groups.csail.mit.edu/mac/classes/6.805/articles/crypto/cypherpunks/may-crypto-manifesto.html

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
คุยกับฟรานส์ เดอ วาลผู้เขียนหนังสือเรื่อง "Are We Smart Enough to Know How Smart Animals Are?"*โดย คลอเดีย คาฟซินสกา (Claudia Kawczynska)จากนิตยสารบาร์ค (The Bark)
Apolitical
Capitalism in the Web of Life: บทสัมภาษณ์ เจสัน ดับเบิลยู. มัวร์[1]
Apolitical
ใครที่ติดตามข้อถกเถียงเกี่ยวกับ GMO ในตอนนี้ คงจะเห็นคล้ายๆ กันว่า นอกจากจุดสนใจที่ค่อนข้างแตกต่างกันของหลายฝ่าย (เศรษฐกิจ การเมือง สุขภาพ สิ่งแวดล้อม) ประเด็นที่สร้างความสับสนให้กับการถกเถียงไม่แพ้กันคือการเลือกใช้คำและความห
Apolitical
Capitalism in the Web of Life: บทสัมภาษณ์ เจสัน ดับเบิลยู. มัวร์[1] สัมภาษณ์โดย คามิล อะห์ซัน
Apolitical
เอปที่ไหน ใครเป็นเอป (Who A
Apolitical
สลาวอย ชิเชค – คำชี้แจงฉบับย่อว่าด้วยป
Apolitical
Soak the Rich การแลกเปลี่ยนว่าด้วยทุน หนี้ และอนาคต (ตอนที่ 3) โดย เดวิด เกรเบอร์ (David Graeber - G) และ โตมาส์ ปิเก็ตตี้ (Thomas Piketty - P)