คุณมีนักร้องหรือนักดนตรีในดวงใจ ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ก็ยังคงร้องเพลงของเขาได้อยู่บ้างไหมคะ?
แทบจะเรียกได้ว่าเป็นความฝันอันเหลือเชื่อ เมื่อ X-Japan วง J-Rock ในตำนาน ซึ่งประกาศแยกวงไปตั้งแต่ปี 1997 ได้ตัดสินใจกลับมารวมวงกันใหม่ และเปิดคอนเสิร์ต X Japan to Resume its Attach in 2008 I.V. ต้อนรับการกลับมาของตัวเองอย่างยิ่งใหญ่ไปเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
งานนี้ เหล่าแฟนพันธุ์แท้ (ซึ่งเป็นเด็กวัยรุ่นในสมัยนั้น แต่มิวเตชั่นเป็นป้าแก่ ๆ ไปเรียบร้อยแล้วในสมัยนี้) ที่ลงทุนถึงกับจับเครื่องบินไปญี่ปุ่นเพื่อช่วยกันปลงสังขารลุง ๆ ที่แก่แล้ว แต่ก็ยังอุตสาหะเล่นดนตรี Rock จนเป็นลมเป็นแล้งคาเวทีกันก็หลายคน
แม้ว่าบนเวทีจะไม่มีตัวเป็น ๆ ของ hide มือกีตาร์คู่บุญของ X-Japan มาร่วมด้วย เพราะเขาได้เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ปี 1998 แต่เสียงกีตาร์ของ hide ก็ยังคงดังกระหึ่มก้องฮอลล์ในวันนั้น เพราะ X ไม่ได้หาสมาชิกคนอื่นมาแทนที่ hide แต่นำเสียงกีตาร์ที่เขาเคยเล่นเอาไว้ตั้งแต่ก่อนตายมาประกอบคอนเสิร์ต มีการฉายภาพโฮโลแกรมของ hide และใช้ตุ๊กตาของเขามาตั้งแทนตัวบนเวทีอีกด้วย
อ่าน Review และดูรูปถ่ายจากคอนเสิร์ตครั้งนี้แล้ว ทำให้ฉันต้องกลับไปค้นการ์ตูนเรื่องนี้กลับมาอ่านอีกครั้ง Ghost Rhapsody
Ghost Rhapsody เป็นผลงานรุ่นลายครามของอาจารย์ Kazumi Yamashita (ผู้เขียนป๋าอัจฉิริยะ ยานางิซาว่า และ Wonder Boy ที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในช่วงนี้) เข้าใจว่าไม่เคยมีลิขสิทธิ์ในประเทศไทย แต่เคยจัดทำออกมาเป็นการ์ตูนไพเรทโดยหลายสำนักพิมพ์
Ghost Rhapsody เป็นเรื่องราวระหว่างหนึ่งผีกับหนึ่งคน – Ronny Mansfield มือกีตาร์และนักร้องนำของวง Rock ชื่อดัง Ronny & Mad Faries กับโยริตะ อายะ เด็กสาววัยสิบสามซึ่งเป็นแฟนคลับเหนียวแน่นของวง – ในวันเกิดเหตุ อายะได้ไปสนามบินเพื่อนำตุ๊กตาหมีและจดหมายให้กำลังใจไปให้ Ronny ซึ่งกำลังจะต้องเดินทางไปแสดงคอนเสิร์ตที่อังกฤษ Ronny อ่านจดหมายแล้วฝากให้อายะเก็บของทั้งสองสิ่งนี้ไว้ก่อน เขาสัญญาว่าจะมารับมันคืนจากมือของเธอเองเมื่อเขากลับมา แต่วันนั้นมาไม่ถึงตลอดกาล เพราะเครื่องบินที่ Ronny โดยสารถูกวางระเบิด ผู้โดยสารทั้งหมดเสียชีวิตทันที
ความตายของศิลปินที่ชอบ ทำให้อายะช็อคมาก เธอร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวร ขังตัวเองอยู่ในห้อง และถึงกับเอ่ยวิงวอนต่ออะไรก็ได้ที่สามารถทำความปรารถนาของเธอให้เป็นจริง ขอแลกครึ่งหนึ่งของความสุขชั่วชีวิตเพื่อให้ Ronny กลับคืนมา แต่ในวินาทีนั้น ไม่มีใครเลยที่ตอบรับข้อเสนอของอายะ ไม่มีทางที่ศิลปินคนโปรดของเธอจะคืนมาจากความตายได้
เวลา และความเอาใจใส่จากคนรอบข้าง ทำให้ความเศร้าค่อย ๆ คลาย น้ำตาเริ่มเหือดหาย และอายะก็เริ่มยิ้มได้อีกครั้ง ในที่สุด ความสูญเสียครั้งนั้นก็กลายเป็นอดีต อายะกลับไปใช้ชีวิตตามปกติของเธอ เรียนหนังสือ เฮฮากับเพื่อน ๆ ชื่นชอบศิลปินคนใหม่ และในที่สุด เธอก็ค่อย ๆ ลืม Ronny ไปทีละน้อย
อายะไม่รู้เลยว่า แม้จะช้าไปหน่อย แต่ในที่สุด คำวิงวอนของเธอก็ได้รับการตอบรับ แลกกับความสุขครึ่งหนึ่งของชีวิตเธอ Ronny Mansfield กลับมาหาเธอจนได้ในที่สุด!
ไม่ว่าคุณจะเป็นวัยรุ่นที่ชื่นชอบศิลปินนักร้องจนไม่สามารถจินตนาการถึงโลกที่ไม่มีพวกเขา หรือเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจว่าทำไมเด็ก ๆ ถึงชอบศิลปินนักร้องจนแทบจะเรียกได้ว่าทุ่มให้ไปทั้งตัว การ์ตูนเรื่องนี้น่าจะตอบโจทย์ของคุณได้ทั้งสองประเด็น โยริตะ อายะ เป็นตัวละครที่อยู่ทั้งสองโลก เธอในวัยเด็กเป็นอดีตของผู้ใหญ่ที่ลืมเลือนวันเวลาที่ตัวเองเคยลุ่มหลงไปกับความเร้าใจของอะไรสักอย่าง จนรู้สึกว่าเลือดทั้งตัวเดือดพล่าน และอยากจะทุ่มเทพลังงานมหาศาลของวัยรุ่นลงไปที่สิ่งนั้น ส่วนเธอในวัยผู้ใหญ่ คืออนาคตที่เด็กวัยรุ่นในทุกวันนี้ต้องเผชิญหน้าในอีกไม่ช้า
กาลเวลาและความห่างเหิน ทำให้อายะคิดว่าเธอคงจะเลิกชอบ และลืม Ronny กับวง Mad Faries ไปหมดแล้ว แต่เมื่อ Ronny กลับมา อายะกลับพบว่าจริง ๆ แล้ว เธอไม่เคยลืมเขาเลย อาจไม่ใช่การตั้งใจระลึกถึง แต่เธอจำเขาได้จากส่วนลึกของความทรงจำ เธอยังคงร้องเพลงของเขาได้ทุกเพลง ความชอบไม่ได้น้อยลง เพียงแต่เมื่อเวลาผ่านไป เธอก็ได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ เข้าไปอยู่ในสังคมที่ถูกครอบคลุมด้วยกฎระเบียบและความเย็นชา จนลืมเลือนที่จะให้ความสำคัญกับความรู้สึกเหมือนสมัยที่เป็นวัยรุ่น
ลองมองย้อนกลับไปสมัยที่คุณยังเป็นวัยรุ่นดูสิคะ มีศิลปินคนไหนบ้างหรือเปล่าที่คุณเคยชื่นชม และยึดถือเป็นแบบอย่าง เป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต?
ฉันเคยเห็นผู้ใหญ่หลายคนแสดงความคิดเห็นที่รุนแรงต่อการชอบนักร้องนักดนตรีของเด็กวัยรุ่น โดยที่ลืมไปว่า ในสมัยที่ตัวเขาเองเป็นวัยรุ่น พวกเขาส่วนใหญ่ก็เคยเป็นเหมือนที่เด็กเหล่านั้นเป็นเหมือนกัน พวกเขาเคยแต่งตัวเลียนแบบเอลวิส เคยสูบบุหรี่เต๊ะมาดแบดบอยเหมือนเจมส์ ดีน เคยนุ่งกางเกงสั้นเต่อเหนือข้อเท้าและสวมถุงเท้าขาวเหมือนไมเคิล แจ็คสัน ฯลฯ เมื่อมองย้อนกลับไปอีกครั้ง เขาอาจจะรู้สึกตลก ๆ และสงสัยว่าทำไมตอนนั้นถึงทำไปได้ แต่ความรู้สึกส่วนใหญ่เมื่อพวกเขามองย้อนกลับไปก็มักไม่ใช่แง่ลบ มันเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำและประสบการณ์ที่หลอมพวกเขาให้เป็นอย่างที่เขาเป็นทุกวันนี้
ซึ่งฉันคิดว่ามันไม่ได้ต่างกันเลยกับเด็กวัยรุ่นสมัยนี้
ไม่ว่าวันนี้พวกเขาจะแสดงออกถึงความชอบมากมายจนทำให้ผู้ใหญ่หมั่นไส้แค่ไหนก็ตาม วันหนึ่งพวกเขาก็จะเติบโตขึ้น และเข้าไปสู่สังคมที่เต็มไปด้วยระเบียบกฎเกณฑ์ของผู้ใหญ่ได้เหมือนที่ผู้ใหญ่รุ่นก่อนหน้าเป็นมาก่อน ฉันคิดว่าแทนที่จะแสดงความคิดเห็นเชิงตำหนิ ผู้ใหญ่น่าจะแนะแนวทางที่ถูกต้องให้กับพวกเขามากกว่า รั้งพวกเขาไว้เมื่อความเยาว์วัยทำให้พวกเขาแสดงออกมากเกินไป รับฟังความรู้สึกของพวกเขา ตราบเท่าที่ความชอบเป็นความรู้สึกทางบวก และมันไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน พวกเขาก็ไม่ควรถูกมองด้วยสายตาที่เหยียดหยามเหมือนกับว่านั่นเป็นความผิด
แล้วอย่าลืมถามตัวเองว่า ทำไมวัยรุ่นส่วนหนึ่งจึงเลือกที่จะยึดเอานักร้องนักดนตรีเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจ แทนที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีตัวตนให้พวกเขาเห็นอยู่ทุกวัน มันไม่ใช่ปัจจัยที่มาจากตัวเด็กเพียงอย่างเดียวหรอก
ลองหยิบ CD แผ่นเก่าที่คุณไม่ได้เปิดฟังมานานแล้วตั้งแต่หมดสมัยวัยรุ่นมาเปิดดูสิคะ คุณอาจจะต้องแปลกใจที่ตัวเองยังร้องเพลงนั้นได้อยู่ ทั้ง ๆ ที่เวลามันผ่านไปนานมากแล้วก็ตาม
ปล. สำหรับแฟนเพลงของ X-Japan หรือ hide with Spread Beaver อย่าลืมคอนเสิร์ตครบรอบสิบปีของ hide – hide memorial summit – วันที่ 3 และ 4 เดือนพฤษภาคมนี้ ที่ Tokyo’s Ajinomoto Stadium นะคะ