Skip to main content

ไม่มีสถานที่ไหน ผูกมัดใจผมไว้แน่นเท่าที่แห่งนี้ เป็นแววตาของพ่อที่มองลูกด้วยความเอ็นดู ดินแดนที่เราเหล่าเด็กๆไม่ได้ไปบ่อย หนึ่งปีผ่านไปเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น เวลาอื่นราวกับมันเป็นสถานที่ต้องห้าม และน่าเกรงกลัว


ความจริงในโลกของเด็กชาย ต้องเดินไปเรียนหนังสือตามทางรถไฟ ไปกลับวันละ 10 กิโลเมตร เพียงมองข้ามผ่านทุ่งนาไปทางทิศตะวันตก ห่างราวครึ่งกิโลเมตร ก็เห็นแนวป่าทึบเป็นกำแพงหนา ล้อมไม้ใหญ่ต้นสูงเสียดฟ้าต้นหนึ่ง มีธงเหลืองปลิวอยู่เหนือยอดไม้ มองไม่เห็นโรงธรรม กุฎิ หรือต้นลั่นทมเก่าแก่ล้อมโรงธรรม


เดินผ่านทุกครั้ง ในใจผมผุดพรายถึงฉากนั้น เปลือกลำต้นกิ่งก้านลั่นทมที่ดูเหมือนแขนขาคนแก่ บิดงอเป็นโหนกนูนตุ่มตายื่นขึ้นมาจากดิน จะต่างออกไปก็ตรงที่มันเป็นลำแขนเหี่ยวแข็งเป็นหินที่ให้ช่อดอกขาว กลิ่นหอมโชยทั่วอาณาบริเวณโรงธรรม มากกว่านั้นก็คือ คูน้ำที่ไหลเป็นกำแพงเกือบล้อมรอบอาณาบริเวณ อย่างกับคูเมืองยังไงยังงั้น


ในโรงธรรมมีตาหลวงกับยายทอง ผู้ใหญ่เล่าให้เด็กฝังใจจำ ว่าเป็นพระผุดขึ้นมาจากดิน พร้อมยายทอง คนทุกรุ่นในหมู่บ้านบอกว่า ตั้งแต่เกิดก็เห็นมีอยู่แล้ว


หนึ่งปีคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านมีโอกาสเข้าไปเพียงหนึ่งครั้ง เพราะวัดทุ่งขุนหลวงอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านออกไปราว 5 กิโลเมตร เป็นวัดที่ดูเหมือนเกาะตั้งอยู่บนทุ่งราบ เป็นไข่แดงที่ห้อมล้อมไว้ด้วยทุ่งนากว้าง ต้องเดินเท้าไปเท่านั้น เดินข้ามทุ่งนา ข้ามคลองที่ไหลไปลงทะเลสาปสงขลา แล้วข้ามป่าเสม็ด ข้ามทุ่งนาอีกครั้ง ทางเดินก็เป็นทางเปลี่ยว ไม่ค่อยมีคนเดิน


ต้องเป็นวันสำคัญเท่านั้น ทุกคนถึงจะไปรวมกัน


25_06_1


ตาหลวงเป็นพระปูนปั้นองค์ใหญ่มาก สายตาเด็กมองใบหน้าตาหลวงราวกับยืนมองยอดไม้ สูงเหลือเกิน ใครย่างเข้าไปถึงโรงธรรมต้องก้มต่ำ หรือไม่ก็หมอบคลานเข้าไปให้ใกล้ที่สุด เพื่อจะไหว้ขอพรให้ปกป้องดูแล และดลบันดาล


ทุกคนในหมู่บ้านเป็นลูกหลานตาหลวงยายทอง ความทุกข์ใดๆของลูกหลาน ถูกปัดเป่าออกไปอย่างน่าอัศจรรย์


คนรุ่นพ่อบอกว่า ตอนพ่อเล็กๆ มีช้างหลงทางเข้ามาใช้งวงรัดคอยายทอง คอหักหล่นดิน ยายทองที่เด็กชายเห็นจึงอยู่ในสภาพแยกหัวออกจากคอ ปิดทองห่มผ้าวางไว้ใกล้ๆ


ตาหลวงกับยายทองที่หัวออกจากตัว เป็นภาพติดตัวทุกคนในหมู่บ้าน


หนึ่งปี หนึ่งครั้งที่เด็กๆในหมู่บ้านต่างตื่นเต้น ก็คือได้ไปร่วมวันว่าง(สงกรานต์)ที่วัดทุ่งขุนหลวง คนจากทุกทิศทุกทางต่างมุ่งหน้ามา คนล้นโรงธรรม ออกเต็มอยู่บนศาลาไม้เก่าๆมุงหลังด้วยกระเบื้องเก่าๆ บ้างก็นั่งอยู่ใต้ร่มไม้


ต่างมุ่งหน้ามาเพื่อจะอาบน้ำตาหลวงยาทอง ทุกอย่างจะจบลงด้วยการขนน้ำจากบ่อทราย ขนไปอาบตาหลวงยายทอง ด้วยราดน้ำลงไปบนส่วนของตาหลวงยายทอง รดราดจากเหนือหัวลงมา และคอยรับน้ำจากปลายคาง ปลายหูตาหลวง น้ำที่ได้ไปนั้นเต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ สามารถรักษาโรคได้ เด็กไม่สบายก็นำมาตบหัว เหมือนนำมนต์หล่อเลี้ยงจิตใจคนในหมู่บ้าน


ระหว่างทางขนน้ำมาอาบตาหลวงยายทอง ก็สนุกกับการสาดน้ำใส่กันจนเปียกกันไปตามกัน ลองนึกถึงภาพคนจำนวนมาก เดินไปยังบ่อทรายบ่อเดียว คนตักก็ตักไป ผลัดเปลี่ยนกันตักน้ำ ใช้ขันน้ำรับทีละขัน เดินเป็นคลื่นคนเข้าไปในโรงธรรม


ล้อมตาหลวงยายทองอย่างกับมด กลิ่นน้ำที่ราดท่วมนองโรงธรรมมีกลิ่นของเสื้อผ้านักบวช ผมมักยืนสูดเอากลิ่นอากาศนานๆ


วันนี้ หนทางไปวัดทุ่งขุนหลวงทอดขนานทางรถไฟ ไม่ต้องเดินเป็นชั่วโมงอีกแล้ว กลับบ้าน ผมแวะไปกราบไหว้รำลึกถึงห้วงเวลาวัยเยาว์ ที่ยังวิ่งเล่นอยู่เงียบๆภายใน คุณค่าความหมายที่อยู่เหนือกาลเวลา


ทุ่งขุนหลวง ผมจึงนำมาเป็นนามสกุลของนามปากกา เขียนหนังสือ ด้วยอยากจะบอกถึงสถานที่ซึ่งกลายเป็นเงาตามตัว เงาวัดเก่าแก่ เงาตาหลวงยายทองที่ฝังเงียบอยู่ในใจเสมอมา

บล็อกของ ชนกลุ่มน้อย

ชนกลุ่มน้อย
ห้องครัวซ้อมดนตรี ถึงเพลงบันนังสตา บ้านเช่าบ้านไม้เป็นบ้านชาวนาในหมู่บ้านแม่เหียะ ชานเมืองเชียงใหม่   ห้องครัวคือห้องทำงาน  ห้องนอนบางเวลา  ห้องซ้อมดนตรี   ห้องนั่งเล่นและห้องรับแขก 
ชนกลุ่มน้อย
ประชาชน  สัตว์เลี้ยงของแวมไพร์
ชนกลุ่มน้อย
สองทุ่ม   อังคารที่ 16 มีนาคม  2553   นักดนตรีในเชียงใหม่  และคนในแวดวงหนังสือ ศิลปะ  นัดรวมตัวกันที่ร้านสุดสะแนน  ร่วมรำลึกถึงการจากไปของ ”จ่าเพียร”(พ.ต.อ สมเพียร เอกสมญา) วีรบุรุษแห่งเทือกเขาบูโด  ด้วยสายสัมพันธ์กับไวล์ดซี๊ด (ชุมพล  เอกสมญา) ลูกชายจ่าเพียรที่ผ่านมาเล่นดนตรีในเชียงใหม่อยู่เสมอๆ   เยียวยาจิตใจเมล็ดเถื่อนจากบันนังสตา  ร่วมรำลึก ...   
ชนกลุ่มน้อย
ขอต่อยาวสาวความยืดถึงน้ามาดบางมุมดูหน้าดุ เวลาเดินเหมือนนุ่นลอยอีกหน่อย อย่างที่บอกไว้ บุรุษไร้นาม(และหนาม)ตามใจคนนี้ อย่าให้นั่งหน้าทับหน้าหนังกลองแล้วกัน ความจืดของหน้าจะถูกขับออกมาอย่างเผ็ดร้อน ไม่เรียบเฉยปล่อยวางอีกแล้ว บางด้านดูดุเทียบได้ใบหน้าเสือจ้องขบ กลับเกลี่ยเสียใหม่ เป็นเสียงทะลวงไส้พุงเร้าใจผิดหน้าผิดหูผิดตาไปทันที
ชนกลุ่มน้อย
  “เลสาปหน้าร้อนเปื่อยหมดแล้ว” ประโยคนี้ถ้าเขียนใหม่ตามภาษาบรรพบุรุษของใต้สวรรค์ ต้องบอกว่า เลสาปหน้าร้อนเปื่อยแผล็ดๆ เหตุที่เปื่อยเห็นด้วยตา ถ้าพูดผ่านปากของบ่าวทอง ต้องเริ่มต้นว่า“ที่จริง”เช่นเคย “ที่จริงมันไม่เปื่อยหร็อก ที่มันเปื่อยเพราะเลกลายเป็นโคลน เปื่อยแผล็ดๆไปทั้งเล” …
ชนกลุ่มน้อย
  สวรรค์ปักษ์ใต้มีสะตอกับลูกเนียงรวมอยู่ด้วย หรอยที่สุดต้องเหนาะ(จิ้ม)กับน้ำชุบ(น้ำพริก-ต้องกะปิเท่านั้น) หรือกินกับแกงคั่ว คั่วกะทิหรือแกงคั่วเผ็ดไม่กะทิ เผ็ดร้อนไม่แพ้ขาดเหลือกันนัก ไม่มีใครบอกว่าพริกพัทลุงหรือพริกนครศรีธรรมราช เผ็ดแรงร้อนกว่ากัน...
ชนกลุ่มน้อย
นักดนตรีกลุ่มนี้ขับเคลื่อนด้วยความรัญจวนจากฤดูความว่างของชีวิต ออกไปเล่นดนตรีบรรเลงชีวิตร่วมกัน หรือจะพูดอีกที การมาถึงของพวกเขาใต้สวรรค์ ไม่ต่างจากฝูงปลาดุกหนีน้ำแถกเหงือกมาหากันในช่วงหน้าแล้ง หนวดยั้วคลุกนัวกันมาบนโคลนเปียกๆ เหนียวเหนอะไปยังถิ่นที่คาดว่าจะมีน้ำ สีผิวฝูงปลาดุกเลื่อมมันน่าเกรงขาม
ชนกลุ่มน้อย
คำ  สุวิชานนท์ รัตนภิมล และคำของอา' รงค์ ทำนอง  สุวิชานนท์  รัตนภิมล
ชนกลุ่มน้อย
ลมบาดหิน ของอา… “ผู้ชายคนนั้นกับผู้หญิงของเขาตัดสินใจแรมคืนในกระโจม(เต็นท์) เขาพบว่าการเสียบก้านปลั๊กตัวผู้ลงในรูปลั๊กตัวเมียเพื่อต้มน้ำกับกาไฟฟ้านั้นเป็นความสะดวกสบายของคนในทาวน์เฮาส์ที่กรุงเทพฯ และอย่างน่าอิจฉา แต่การมองหาก้อนหินนำมาวางเป็นก้อนเส้า กิ่งไม้ง่ามปักกับดินแล้วพาดราวแขวนหม้อและริ้วชิ้นวัวฝานหมักเกลือ ก่อกองไฟและต้มกาแฟ นี้เป็นบางแบบของชีวิตซึ่งผู้ชายควรเรียนรู้...”
ชนกลุ่มน้อย
พอออกมาจากห้องฝึกเรียนไวโอลินกลางเมืองเชียงใหม่  ผมบอกเจ้า 9 ขวบว่าไปเยี่ยมคุณลุงหน่อยนะ   เจ้าเก้าขวบถามทันทีที่ไหน  ผมตอบกลับวัดเจดีย์หลวง  ไปทำอะไรเหรอ เขาสงสัย  อยากไปเยี่ยม พ่อไม่ได้เข้าไปนานแล้ว
ชนกลุ่มน้อย
  ในห้องทำงาน โต๊ะเขียนหนังสือ เก้าอี้ไม้ไม่เหมือนวันก่อน หนังสือเล่มใหม่หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนเล่มมาวาง ชั้นหนังสือเรียงตามกัน โน้ตสั้นๆ เขียนถึงเวลานัดหมาย เวลาส่งงาน หมายเลขโทรศัพท์ ม้านั่งไม้ไว้นอนเอกเขนก โคมไฟ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ดีด โต๊ะกลม กีตาร์ กล้องถ่ายรูป รูปภาพบนผนัง ...
ชนกลุ่มน้อย
  ในชีวิต ณ ปัจจุบัน ผมไม่นึกไม่ฝันว่าจะมาข้องเกี่ยวกับเครื่องดนตรีชื่อ ไวโอลิน และยิ่งไม่เคยนึกว่าวันหนึ่ง จะมีไวโอลินมานอนอยู่ในห้อง ตั้งวางอยู่ข้างตัว รวมถึงได้ยินมันส่งเสียงทุกวันตอนย่ำค่ำ