นพพร ชูเกียรติศิริชัย
อังกฤษ ปี ค.ศ. 1983 ยุคที่รองเท้า ‘บู้ท' สไตล์ Dr.Matins ทรงผม ‘สกรีนเฮด' เสื้อเชิ้ต ‘ลายสก๊อต' และกางเกงยีนส์ คือสัญลักษณ์แห่ง ‘อำนาจ' ที่เหนือกว่าชนชาติอื่นในหมู่เยาวชนชาวอังกฤษ
‘ชอน' เด็กชายวัย 12 ผู้ฝังใจอยู่กับการสูญเสียพ่อไปในสมรภูมิเกาะฟอร์คแลนด์ (สงครามแย่งชิงเกาะฟอร์แลนด์ระหว่างประเทศอังกฤษและ อาเจนติน่า) กำลังเริ่มต้นค้นหาชีวิตในวัยหนุ่มกับกลุ่มเยาวชนรุ่นพี่
เขาถูกสอนให้รู้จักกับความเป็นกลุ่มก้อน หรือความเป็นสถาบันผ่านเครื่องแต่งกายสไตล์ขาโจ๋เมืองผู้ดีในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 20 เขาถูกสอนให้รู้จักกับความเป็น ‘ชาย' ผ่าน ‘เกมส์' การทุบทำลายสิ่งของในบ้านร้าง ควบคู่ไปกับการที่ ‘รัฐ' พยายามปลูกฝัง ‘ความรักชาติ' ให้เหล่าเยาวชนชายเพื่อความสะดวกในการจัดส่งพวกเขาเข้าสังเวย ‘ความใคร่' ใน ‘สงคราม' ที่ ‘รัฐ' เป็นผู้ก่อ
ในฐานะเด็กหนุ่มซึ่งเติบโตมาในสังคมแห่ง ‘การแข่งขัน' และ ‘สงคราม'... ‘ความรุนแรง' และ ‘ความหยาบคาย' (ในสายตาผู้ใหญ่) จึงเป็นเพียงทางเลือกเดียวที่จะทำให้ ‘พวกเขา' ข้ามพ้นจากการถูกรังแก
และแล้วการปรากฏตัวของ ‘คอมโบ้' เยาวชนชายชาวอังกฤษผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรพิเศษจาก ‘กรมราชทัณฑ์' ในฐานะนักโทษ ก็ได้นำพา ‘ชอน' และเพื่อนๆ อีกจำนวนหนึ่งไปสู่ ‘ความรุนแรง' ในรูปแบบใหม่
จากคำถามเรื่องความแตกต่างทางเชื้อชาติที่ ‘คอมโบ้' หยิบยื่นให้ กลับกลายเป็นความเกลียดชัง ที่นำไปสู่อาชญากรรม พวกเขาเริ่มรวมตัวขับไล่ ‘ความเป็นอื่น' ในเกาะอังกฤษ ด้วยเหตุผลในเรื่องความแตกต่างทางเชื้อชาติ และสีผิว
จากการข่มขู่เด็กนักเรียนชาวปากีสถาน สู่การทุบทำลายข้าวของและปล้นสินค้าจากพ่อค้าชาวเอเซีย จบลงด้วยร่างของ ‘มิลกี้' เพื่อนชาวอังกฤษเชื้อสายแอฟริกาที่นอนแน่นิ่งจมกองเลือด ด้วยน้ำมือของ ‘คอมโบ้' ทำให้ ‘ชอน' เริ่มกลับมาทบทวนถึง ‘บางสิ่ง' ที่กำลังฝังรากลงในจิตใจของเขา
‘ชอน' ตัดสินใจกลับไปนำธงชาติอังกฤษที่เขาเคยภาคภูมิใจลงจากหน้าต่างห้องนอน และปล่อยให้มันล่องลอยไปกลับสายน้ำ
ในขณะที่ภาพข่าวทางโทรทัศน์ยังคงนำเสนอ ‘ชัยชนะ' ของทหารอังกฤษต่อ ทหารชาวอาร์เจนตินา ด้วยความภาคภูมิใจในจำนวน ‘ศพ' ของ ‘นักรบ' เยาวชน ‘ฝ่ายตรงข้าม'...
กรุงเทพ ปี ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) ยุคสมัยที่ทั้งครูบาอาจารย์และเยาวชนไทยถูกปลูกฝังให้เชื่อมั่นในเทคโนโลยี ยิ่งกว่าพ่อแม่บังเกิดเกล้า
อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยหลายสถาบัน ตัดสินใจให้ลูกศิษย์ส่งงาน และดูงานผ่าน ‘อีเมล' (ทั้งๆ ที่ต้องเจอหน้าอาจารย์อยู่ทุกวันในชั้นเรียน) ด้วยความเชื่อมั่นว่า ทุกๆ บ้านในประเทศไทยจะต้องมี ‘คอมพิวเตอร์'
แต่สำหรับนางสาว ‘วัลลี' (นามสมมติ) คำสั่งของอาจารย์กลับสร้างความกังวลใจให้กับเธออย่างยิ่งยวด เพราะเมื่อนับระยะทางจากบ้านของเธอ (อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี) เพื่อเข้าสู่ตัวอำเภอ มันก็หลายกิโลอยู่
ขณะที่เท้าของเธอยังคงถีบจักรยานมุ่งหน้าสู่ร้านอินเตอร์เน็ต มันสมองของเธอก็แอบรำพึงรำพันใฝ่ฝันอยากจะได้คอมพิวเตอร์สักเครื่อง แต่สำหรับอาชีพเกษตรกรอย่างพ่อและแม่ของเธอ การได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ก็นับว่าเป็นบุญโข
"อาจารย์แม่งคิดว่าเด็กทั้งประเทศมันรวยกันทุกคนหรือไงวะ" วัลลีแอบสบถด่าท่านอาจารย์ผู้เสพเทคโนโลยีแทนอากาศด้วยความเคารพ
ท่ามกลางสภาวการณ์ทางการเมืองที่สับสนอลหม่าน เด็กนักเรียนมัธยมปลายวัย 18 ปี ตัดสินใจใช้มีดปลายแหลมปลิดชีพ ‘คนขับแท็กซี่' ด้วยข้ออ้างที่ว่า ‘เลียนแบบเกมส์คอมพิวเตอร์'
สื่อมวลชนผู้รักงานข่าวเป็นชีวิตจิตใจ เฝ้าประโคมข่าวการจัดระเบียบร้านเกมส์อินเตอร์เน็ต และเปิดเผยรายชื่อ 10 สุดยอดเกมส์อันตราย อย่างต่อเนื่อง โดยไม่คิดที่จะมองหาแรงจูงใจอื่นๆ ที่ยากไปกว่าการลงประกาศโฆษณาคุณสมบัติของเกมส์ และการนำไมค์ไปจ่อปากผู้หลักผู้ใหญ่ที่รักเยาวชนอย่างจับขั้วหัวใจให้ช่วยกันถ่มน้ำลายเพื่อสร้างภาพ
ขณะที่เจ้าของธุรกิจรถจักรยานยนต์กำลังหมกหมุ่นอยู่กับการคิดแคมเปญใหม่ๆ เอาใจวัยโจ๋ บริษัทคอมพิวเตอร์ทุ่มเทงบโฆษณาคอมพิวเตอร์รุ่นล่าสุดที่มีสีสันโดนใจวัยรุ่น เจ้าหน้าที่นอกแถวบางส่วนกำลังจัดหา ‘ตัวยา' ใหม่ๆ ไว้เมามอมเยาวชน
นักการตลาด และนักออกแบบระดับโลก กำลังคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อดูด ‘เงิน' จากกลุ่มGeneration Z[1] (ผู้ที่เกิดใน ค.ศ.1995-2009 ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่เติบโตมากับโทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์) หลังจากที่พวกเขาประสบความสำเร็จกับการรณรงค์ให้เด็กๆ ทั่วโลกหันมาสนใจ ‘แฮรี่พอตเตอร์' เครื่องเล่มเกมส์ ‘เพลย์สเตชั่น' ‘โทรศัพท์มือถือ' ‘iPod' และอีกสารพัดสินค้าในยุคที่โลกถูกทำให้เล็กลงเท่าปลายนิ้ว
ทางออกของผู้ใหญ่ในสังคมไทย คือ "อย่าให้เด็กรับรู้อะไรที่ผู้ใหญ่ไม่ชอบ" แต่สำหรับเยาวชนไทย ข้อมูลมากมายที่ถูกยัดลงในหัวสมอง มันทำให้พวกเขาสับสนว่า แท้จริงแล้ว ‘บางสิ่ง' ที่มีผลต่อจิตใจและพฤติกรรมของพวกเขาในวันนี้คือ ‘อะไร' แล้วเขาจะจัดการกับเจ้า ‘อะไร' ได้ ‘อย่างไร' คำอธิบายอย่างง่ายที่สุด มันจึงลงเอ่ยที่ ‘การเลียนแบบ' ‘ใคร' และ ‘อะไร' สักอย่าง
น่าเสียดายที่พวกเขามิอาจค้นพบ ‘บางสิ่ง'ในจิตใจ ได้เหมือน ‘ชอน' ในภาพยนตร์ This is England
[1] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน บทความ Genaration Z Toward the world of the child-king.นิตยสาร iDesign ฉบับที่ 54 เดือนมกราคม 2007