วิชาปรัชญาเป็นวิชาบังคับในระดับมัธยมปลายในฝรั่งเศสมายาวนานตั้งแต่สมัยจักรวรรดิที่ 1 ในปี 1808 แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ในยุโรปขณะนี้ที่อาจจะไม่บังคับ หรือไม่มีเลย ถ้าบังคับก็จะมีบางประเทศ เช่น สเปน แต่ก็ไม่ใช่ปรัชญาโดยตรง แต่เป็นประวัติศาสตร์ปรัชญามากกว่า
ทำไมปรัชญาถึงสำคัญในฝรั่งเศส แถมเด็กก็ต้องเอาไปใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วย? ว่ากันว่าปรัชญาเป็นฐานสำคัญของการเป็น "พลเมืองที่รู้แจ้ง" มีจิตใจวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องนี้สามารถย้อนไปตั้งแต่สมัยปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 กล่าวคือ ปรัชญาเกี่ยวข้องโดยตรงกับอิสรภาพในการแสดงความคิดเห็น/การวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งตรงกับแนวคิดของมงเตสกิเออร์ และเป็นรากฐานสำคัญอย่างหนึ่งของความเป็นสาธารณรัฐ/ความเป็นฝรั่งเศสเลยทีเดียว โดยหลักการก็คือว่า "เรียนรู้เสรีภาพ โดยเริ่มต้นจากการคิดอย่างมีอิสระ" ด้วยเหตุนี้ ว่ากันว่านักปรัชญาฝรั่งเศสจึงมักมีที่ยืนในสังคมและสามารถเผยแพร่ความคิดได้อย่างกว้างขวาง เช่น ซาร์ต เอง ก็เป็นนักเขียนที่ได้รับการยอมรับ ในขณะที่ทางฝั่งเยอรมัน นักปรัชญามักจะเป็นนักปรัชญาจ๋าเขียนอะไรเข้าใจยาก คนอ่านอยู่ในวงแคบๆ
นอกจากการบังคับในระดับมัธยมปลายแล้ว ก็ยังมีการเรียนการสอนในระดับอื่น ๆ บางแห่งด้วย สำหรับเด็ก ๆ นั้น การสอนปรัชญาก็ต้องพยายามปรับให้เด็กเข้าใจได้และมีส่วนร่วม
ดังนั้น วิชาปรัชญาไม่ใช่เรื่องของเนื้อหาอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของวิธีวิทยาในการสอนด้วย ในสารคดีเรื่อง "วิชาปรัชญาในโรงเรียน" มีการสอนเด็กระดับอนุบาล ให้เรียนรู้วิชาปรัชญา โดยการจับกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยครูถามคำถามง่าย ๆ เช่น "มนุษย์ทุกคนเหมือนกันหรือไม่" หรือ "อะไรคือความสุข"
หน้าที่ของครูคือกระตุ้นให้เด็กคิดด้วยตัวเอง เพื่อตัวเอง เกี่ยวกับคำถามใหญ่ ๆ เกี่ยวกับชีวิต ครูต้องคิดว่า เด็กทุกคนมีสิ่งสำคัญจะพูด มีเสียงของตัวเอง ผู้สอนอย่าแทรกแซงแม้ว่าอยากจะกระตุ้นการถกเถียงให้สนุกขึ้น หรืออยากจะทำให้มันเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้นก็ตาม ครูต้องเฝ้าคอยให้ความคิดของเด็กตกผลึก ค่อย ๆ โผล่ขึ้นมา และให้เด็กเรียนรู้ที่จะอธิบายมัน ไม่บอกว่าควรคิดยังไงและไม่มีความคิดไหนดีกว่าใคร
เพราะฉะนั้น บางทีห้องก็เงียบ แต่ความเงียบนั้นมีความหมาย เพราะที่สำคัญคือการคิด ความเงียบคือช่วงเวลาที่เด็กได้คิด เป็นช่วงเวลาที่เด็กรู้สึกถึงความสำคัญของการคิดของตัวเอง "ความจริง" นั้นไม่ได้มาจากครู แต่มาจากการคิดร่วมกันของเด็กต่างหาก
คำถามที่เด็กถาม ล้วนเป็นคำถามที่มาจากเด็กเอง ส่วนใหญ่เป็นคำถามง่าย ๆ เกี่ยวกับสิ่งรอบตัว สิ่งพื้นฐานในชีวิตประจำวัน บางครั้งก็เป็นคำถามที่ผู้ใหญ่มองข้ามและยากจะตอบ เช่น ทำไมพ่อต้องรักแม่ ทำไมต้องไปโรงเรียนบ่อย ๆ ทำไมเราต้องเศร้า ทำไมเราถึงกลัว ทำไมเราชอบทำสิ่งต้องห้าม ทำไมพระเจ้าถึงมีอยู่ ทำไมถึงมีมนุษย์ ทำไมมีประเทศ ทำไมมีโลก ฯลฯ
แล้วเรารู้ได้อย่างไรว่าการเรียนแบบนี้นั้นดี? ในกรณีนี้ เราเห็นพัฒนาการอย่างช้า ๆ เด็กค่อย ๆ พูดมากขึ้น และมีการถกเถียงกันมากขึ้น การวิจัยของอาจารย์ท่านหนึ่ง ได้ชี้ให้เห็นว่า เด็กระดับอนุบาลค่อย ๆ ยกระดับการคิดของตัวเอง จากการใช้สรรพนาม "ฉัน" ค่อย ๆ พูดเชื่อมโยงตัวเองกับระดับอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น "เธอ" "เรา" และ "พวกเรา" เราพูดได้ยากว่าเด็กเรียนรู้อะไรและได้ประโยชน์มากแค่ไหน เพราะการเรียนการสอนแบบนี้ เราอาจจะต้องประเมินอีกแบบ เนื่องจากไม่มีคำตอบที่ถูกผิดเสียทีเดียว
สุดท้าย จะเห็นได้ว่าประเทศเรามีปัญหามากในเรื่องพื้นฐานเหล่านี้ คือเรื่องการคิด การให้เหตุผล การวิพากษ์วิจารณ์ การถกเถียง ไม่แน่ใจว่าบ้านเรามีเรื่องพวกนี้อยู่ในหลักสูตรการเรียนระดับไหน วิชาอะไร (ที่คณะอักษรศาสตร์จุฬาฯ มีวิชาบังคับชื่อ "การใช้เหตุผล" ซึ่งเป็นที่ร่ำลือกันว่ายากแสนยาก อาจจะเป็นเพราะเราไม่คุ้นชิน) แต่ขาดสิ่งเหล่านี้แล้ว เราคนไทยก็จะเป็นพลเมืองที่ไม่ "ตาสว่าง" ซักที เป็นพลเมืองที่รับข้อมูลที่พ่อแม่ ครู อาจารย์ และรัฐ ป้อนให้เราอยู่เรื่อยไป
ปล. ขอแนะนำสารคดีเรื่อง "เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น" (Just a beginning) เกี่ยวกับการเรียนการสอนปรัชญาสำหรับเด็กอนุบาลในฝรั่งเศส www.youtube.com/watch?v=AZ-GJz-4WDk
รายละเอียดเพิ่มเติม
http://www.capcanal.tv/video.php?rubrique=1&emission=1&key=bxbqmw4Qk4
http://www.slate.fr/story/23119/pourquoi-la-france-tient-tant-la-philo
(ภาพ Le penseur ของ Auguste Rodin ที่ Musée Rodin, Paris http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/1/1a/Rodin-2014-06.jpg/640px-Rodin-2014-06.jpg)