ลาน Place de la République ขึ้นชื่อเรื่องการเป็นที่จัดชุมนุมต่าง ๆ เพราะเป็นลานใหญ่ อยู่กลางกรุงปารีส ตรงกลางของลานมีอนุสาวรีย์ la République หรือ Marianne ถือคบเพลิง เป็นสัญลักษณ์ของระบอบสาธารณรัฐ อนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1883 เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จของการสถาปนาระบอบสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 เป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะเหนือคุณค่าอนุรักษ์นิยมและเป็นการแสดงถึงความก้าวหน้าของระบอบใหม่ ตอนกลางของอนุสาวรีย์เป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ซึ่งเป็นคุณค่าหลักของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ส่วนตอนล่างเป็นการแกะสลักประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐตั้งแต่สมัยปฏิวัติฝรั่งเศสจนถึงสาธารณรัฐที่ 3
จึงไม่น่าแปลก ที่ช่วงต้นค.ศ. 2015 นี้ หลังจากมีการสังหารกองบรรณาธิการ Charlie Hebdo ชาวฝรั่งเศสนับล้านเลือกที่จะใช้ที่นี่เป็นสถานที่ชุมนุมเพื่อยืนยันและตอกย้ำคุณค่าของสาธารณรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก ในวันนั้น ผู้คนได้ปีนป่ายขึ้นไปบนอนุสาวรีย์ ติดโปสเตอร์และเขียนข้อความต่าง ๆ นานา เพื่อแสดงการสนับสนุนหนังสือพิมพ์ Charlie Hebdo อันเป็นตัวแทนของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ชาวฝรั่งเศสพร้อมใจกันกล่าวว่า Je suis Charlie ไม่ใช่เพื่อ Charlie Hebdo อย่างเดียว แต่เพื่อหลักการที่ว่า ไม่มีใครสมควรตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงเพียงเพราะแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์
ทุกวันนี้ เทศบาลกรุงปารีสยังเลือกที่จะไม่ทำความสะอาดขัดถูอนุสาวรีย์ ภาพวาด ข้อเขียน และโปสเตอร์หลายชิ้นตั้งแต่เดือนมกราคมยังคงมีให้เห็นอยู่ทุกวันนี้
เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีการรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้ ชาวไทยและชาวฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งตัดสินใจมารวมตัวกันบริเวณลานอนุสาวรีย์ เพื่อแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งละเมิดหลักการอธิปไตยอันเป็นของประชาชน
ท่ามกลางข้อความต่าง ๆ เกี่ยวกับ Charlie Hebdo และเสรีภาพในการแสดงออกในฝรั่งเศส ทางกลุ่มได้มีการจัดนิทรรศการขนาดย่อย โดยการติดรูปถ่ายของเหยื่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยระบุอาชีพและจำนวนปีที่จะต้องถูกกักขังในเรือนจำ รวมทั้งมีการเขียนป้ายนำมาถือ มีข้อความเช่น “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นละเมิดสิทธิมนุษยชน” “ปล่อยนักโทษการเมืองผู้เป็นเหยื่อของการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” “ไม่เอารัฐธรรมนูญอำมาตยาธิปไตย” นอกจากนี้ มีการกล่าวปราศรัย และมีการแจกแถลงการณ์ พร้อมกับพูดคุยให้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ประเทศไทยให้กับผู้คนที่ผ่านไปมา
เนื่องจากการชุมนุมนี้ หนังสือพิมพ์ L’Humanité ได้ลงประชาสัมพันธ์ให้ตั้งแต่หลายวันก่อน ทำให้มีผู้คนที่สนใจสถานการณ์การเมืองไทย เข้ามาร่วมด้วยจำนวนหนึ่ง ชายวัยกลางคนผู้หนึ่งเล่าให้ฟังว่า เขาบังเอิญไปเที่ยวเมืองไทยในช่วงที่เกิดรัฐประหารพอดี เขาบอกว่าเขาเห็นทหารเต็มไปหมดและรู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่ง เขาทิ้งท้ายด้วยการวิจารณ์ว่ารัฐบาลที่ทหารจัดตั้งขึ้นมาไม่ว่าที่ใดในโลกนั้น ไม่มีทางที่จะเป็นรัฐบาลที่ดีได้ นอกจากนี้ มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งเข้ามาร่วมด้วยเพราะพวกเขากำลังศึกษาเกี่ยวกับวิกฤติการเมืองไทย มีอีกหลายคนเข้ามาให้กำลังใจ โดยกล่าวว่าขอให้อย่ายอมแพ้ และให้เชื่อว่าเรากำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง
การชุมนุมนี้ ได้รับการอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นอย่างดี ในขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันในอีกซีกโลกหนึ่ง มีการรวมตัวของนักศึกษาและประชาชนเช่นกัน แต่กลับถูก “เชิญไปพูดคุย” ด้วยวิธีการที่รุนแรง เหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า เรื่องเสรีภาพในการแสดงออกของประเทศไทยนั้นอยู่ในภาวะย่ำแย่และต้องเร่งแก้ไขมากเพียงใด