Charb นักเขียนการ์ตูนแนวเสียดสีชื่อดังของ Charlie Hebdo เพิ่งเขียนการ์ตูนแซวเหล่าผู้ก่อการร้ายในหนังสือพิมพ์ฉบับล่าสุด มีข้อความว่า "ยังไม่มีการก่อการร้ายในฝรั่งเศส (?) เดี๋ยว ๆ, เรายังมีเวลาถึงปลายเดือนมกราคมเพื่อที่จะ 'ให้พร' เหล่านั้น" (ประเพณีฝรั่งเศส คือการอวยพรปีใหม่สามารถยืดไปได้ถึงปลายเดือนมกราคม)
ใครจะไปคิดว่าจะเกิดขึ้นจริง ๆ
(ภาพจาก https://twitter.com/jbermyn/status/552800135949066242)
วันที่ 7 มกราคม 2015 เวลาราว 11.30 น. มีคนร้ายสามคน ปิดบังใบหน้ามิดชิด ใช้ปืนคาลาชนิคอฟ (Kalashnikovs) บุกสังหารนักข่าวของสำนักข่าว Charlie Hebdo ถึงที่ รายชื่อผู้เสียชีวิตที่ออกมาตอนนี้คือนักเขียนการ์ตูนแนวเสียดสีชื่อดังสี่ คน Cabu, Charb, Wolinski, Tignous มีนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังคือ Bernard Maris อีกหนึ่งคน สรุปแล้วมีคนเสียชีวิตทั้งหมดรวม 12 คน เป็นตำรวจสองคน ยังมีผู้บาดเจ็บสาหัสอีก 4 คน (ข้อมูลขณะที่ผู้เขียนเขียนอยู่นี้ คือเวลาราว 22.00 น. ของวันเกิดเหตุ)
ภายหลังมีคลิปวีดิโอที่ประชาชนถ่าย แสดงให้เห็นความโหดเหี้ยมของกลุ่มก่อการร้าย (มีวีดิโอหนึ่งที่ตำรวจล้มลงกับพื้น แล้วคนร้ายวิ่งเอาปืนเข้าไปยิงซ้ำที่หัว) นักข่าวที่อยู่ในเหตุการณ์ผู้หนึ่งบรรยายว่า จริง ๆ แล้วสำนักข่าว Charlie Hebdo อยู่ในตึกเดียวกันกับสำนักข่าวอื่นด้วย เมื่อคนร้ายบุกเข้ามา คนร้ายถามหาโต๊ะของ Charlie Hebdo ชัดเจน โดยไม่ได้ยิงมั่วซั่ว แสดงให้เห็นว่าคนร้ายมีการวางแผน และมีเป้าหมายที่เจาะจงชัดเจน
แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Charlie Hebdo ถูกคุกคาม
ในปี 2012 Charb ให้สัมภาษณ์กับ Le Monde หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศสว่า "ผมไม่มีลูก ไม่มีภรรยา ไม่มีรถ ไม่มีเงิน. มันอาจจะเว่อร์นะสิ่งที่ผมต้องการจะพูด แต่ผมยินดีที่จะตายทั้งยืน มากกว่าใช้ชีวิตแบบต้องคุกเข่า"
เขาหมายถึงว่า จุดยืนของเขาคือการยึดมั่นในการทำงาน "เชิงรุก" เขากล่าวว่า "อยู่ที่พวกเราที่จะผลักดันขอบเขต (ของการวิพากษ์วิจารณ์) ให้สูงขึ้น"
หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ชื่อ Charlie Hebdo นี้มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ล้อเลียนศาสนา "ทุกศาสนา" ไม่เฉพาะแต่อิสลาม นอกจากนี้ก็ยังล้อเลียนพวกนักการเมืองทั่วไปด้วย สำหรับ Charb นั้นเขาเข้ามาเป็นบรรณาธิการตั้งแต่ปี 2009 ต่อมาปี 2011 มีการออกฉบับพิเศษตอน "Charia Hebdo" (ใช้คำว่า Charia หรือกฎหมายอิสลาม แทนที่จะใช้ว่า Charlie) มีรูปล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัดหลายรูป ทำให้ที่ทำงานโดนขว้างระเบิดเพลิงจนไฟไหม้ ต้องไปหลบอยู่ในอีกสำนักข่าวหนึ่งอยู่หลายวัน
เขาโดนคุกคามขู่ฆ่าหลายรอบจากหลาย ๆ แหล่ง "ในนามของการปกป้องศาสนาอิสลาม" จนเขาต้องอยู่ภายใต้การคุ้มกันของตำรวจ แต่สุดท้ายก็เกิดเรื่องเศร้าในวันนี้
ในวันนี้เราพบว่ามีหลายบทความเขียนอุทิศให้ชาร์บ โดยมีหัวข้อทำนองว่า "ชาร์บ, นักวาดการ์ตูนที่ตายทั้งยืน" (ดู http://www.telerama.fr/livre/charb-dessinateur-mort-debout,121362.php) ผู้เขียนพบข้อความดังกล่าวบนรถไฟฟ้าสาย 11 ในกรุงปารีสด้วย
สำหรับเหตุการณ์ในวันนี้ สำนักข่าวหลายแห่งรายงานว่านี่เป็นการก่อการร้ายที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส ประธานาธิบดีลงพื้นที่และให้สัมภาษณ์ทันทีหลังเกิดเหตุว่านี่เป็นการ "ก่อการร้าย" และเป็นการกระทำที่ "ป่าเถื่อน" ผู้นำทางการเมืองที่สำคัญของฝรั่งเศสทั้งหมดออกมาประณามการก่อการร้าย ตัวแทนศาสนาอิสลามของฝรั่งเศสหลาย ๆ คนก็ออกมาให้สัมภาษณ์เช่นกัน ขณะนี้มีการยกระดับแผนการรับมือการก่อการร้ายเป็นระดับสูงสุดในเขต Île-de-France (ทั้ง ๆ ที่นายกฯ ประกาศยกระดับครั้งหนึ่งแล้วเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะมี 2-3 เหตุการณ์ที่ "เกือบจะ" เข้าข่ายการก่อการร้าย ใครมาเดินเล่นในปารีสจะเจอทหารเดินเป็นกลุ่ม ๆ ถือปืนครบเต็มไปหมดจนอาจจะทำให้นึกถึง Coupland บ้านเราได้)
Bruno Le Roux นักการเมืองฝ่ายสังคมนิยมให้สัมภาษณ์ว่า "โดยการบุกยิง Charlie Hebdo ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพในการคิดและการเขียน, และโดยการทำรายชีวิตบริสุทธิ์ด้วยการใช้ปฏิบัติการทางสงครามอย่างแท้จริง, เหล่าผู้ก่อการร้ายได้ก่ออาชญากรรมต่อสาธารณรัฐและคุณค่าประชาธิปไตยของมัน"
จริง ๆ การก่อการร้ายในฝรั่งเศส เป็นที่คาดการณ์ของหลายฝ่ายและมีการเตรียมรับมืออยู่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ฝรั่งเศสเป็นประเทศยุโรปประเทศแรก ๆ ที่หนุนการโจมตีทางอากาศใส่กลุ่ม ISIS ก็มีการลักพาตัวและตัดคอชาวฝรั่งเศส มีคำขู่อย่างต่อเนื่องจากกลุ่มก่อการร้าย แต่ก็เห็นได้ชัดว่าไม่ว่าอย่างไร ก็ไม่สามารถป้องกันการก่อการร้ายได้ 100%
ในขณะนี้มีการรณรงค์โดยใช้ข้อความว่า Je suis Charlie (I am Charlie) โดยเฉพาะในหมู่สื่อสารมวลชนและเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อแสดงออกว่าคุณค่าของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกำลังถูกคุกคาม และทุกคนก็สามารถตกเป็นเหยื่อ เป็นชาร์ลี ได้เช่นกัน
ในเย็นวันนี้มีการชุมนุมกันอย่างแทบไม่ได้นัดหมายในเมืองใหญ่ทุกเมืองในฝรั่งเศสและอีกหลาย ๆ เมืองทั่วโลก สำหรับในฝรั่งเศสมีคนชุมนุมรวมกันทั้งหมดประมาณ 100,000 คน เฉพาะในปารีสที่ Place de la République มีผู้ชุมนุมราว 35,000 คน (จากการประเมินของ Le Monde) มีการตะโกนร้องว่า "พวกเราคือชาร์ลี" "พวกเราจงรวมตัวกัน เพื่อประชาธิปไตย" "เพื่อเสรีภาพในการแสดงออก" "พวกเราไม่กลัว" น่าสังเกตว่ามีเยาวชนเข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากและมีกลุ่มการเมืองหลายกลุ่มเข้าร่วม เท่าที่ผู้เขียนสังเกตเห็นจะเป็นกลุ่มฝ่ายซ้ายซะมาก เช่น พรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส, กลุ่ม Marxist-Leninist Communist Party (Turkey), กลุ่มชาวเคิร์ด, สหภาพนักข่าว, พรรค Front de gauche เป็นต้น กิจกรรมในที่ชุมนุมมีการจุดเทียน มีกลุ่มเยาวชนนักศึกษาบางส่วนปีนขึ้นไปชูป้ายบนอนุเสาวรีย์ มีการปล่อยโคมลอยเล็กน้อยและร่วมกันยืนไว้อาลัยโดยไม่มีการปราศรัย สำหรับการชุมนุมอย่างเป็นทางการในปารีสจะจัดในวันรุ่งขึ้นโดยเทศบาลกรุงปารีสเป็นเจ้าภาพ และจะมีการเดินขบวนไปตามท้องถนนนำโดยแนวร่วมต่าง ๆ ของฝ่ายซ้ายในวันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม โดยมีการเชื้อเชิญพรรคสำคัญ ๆ ทั้งหมด (ยกเว้นพรรคขวาจัด Front National ไม่ได้รับเชิญ) คาดว่าจะมีพรรคการเมืองและสหภาพต่าง ๆ มาเข้าร่วมกันอย่างมากมายเพื่อแสดงออกซึ่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสาธารณรัฐ การเดินนี้จะเรียกว่า "การเดินขบวนเพื่อสาธารณรัฐ" (La marche républicaine)
ต่อมาในช่วงเย็นราว 20.00 น. ประธานาธิบดีแถลงข่าวอีกครั้ง สนับสนุนการรวมตัวกันของชาวฝรั่งเศสต่อต้านการก่อการร้ายโดยกล่าวว่า "อาวุธที่ดีที่สุดของพวกเรา คือการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน" เขาประกาศให้วันรุ่งขึ้นเป็นวันไว้อาลัยของชาติ ให้มีการสงบนิ่งตอนเที่ยงวัน และให้ลดธงครึ่งเสาเป็นเวลาสามวัน
เหตุการณ์ในวันนี้เป็นไม่กี่เหตุการณ์ที่ทำให้ทุกฝ่ายทุกขั้วการเมืองในฝรั่งเศสรวมตัวเป็นเสียงเดียวกันในประณามการก่อการร้าย เราคงต้องดูต่อไปว่าฝรั่งเศสจะมีนโยบายอย่างไรในอนาคต สำหรับภาครัฐนั้นประธานาธิบดีจะจัดการประชุมใหญ่ในวันรุ่งขึ้นเพื่อหารือนโยบายนี้โดยเฉพาะ ทั้งนี้ ขณะนี้เริ่มมีปฏิกิริยาจากบางกลุ่มออกมาตักเตือนสังคม เช่น กลุ่มซ้ายสุดขั้วอย่างพรรค NPA เริ่มออกมาเตือนให้สังคมระวังเรื่องความสุดโต่งและความเกลียดกลัวศาสนาอิสลาม (Islamophobia) แล้ว ในขณะที่กลุ่มขวาจัดก็ออกมาเสนอการรื้อฟื้นโทษประหารชีวิตอีกครั้ง ทั้งที่ถูกยกเลิกไปตั้งแต่ปีค.ศ. 1981 เป็นต้น