Skip to main content

มิเชล ฟูโกต์, อิหร่าน, และพลังของจิตวิญญาณ: บทสัมภาษณ์ในปี 1979 ที่ไม่เคยเผลแพร่มาก่อน*

 

เอกสารที่น่าทึ่งชิ้นนี้ถูกค้นพบในหอสมุดแห่งชาติ กรุงปารีส เมื่อปีที่แล้ว เป็นบทสัมภาษณ์โดยหนังสือพิมพ์ Obs เมื่อปี 1979 ที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน ในบทสัมภาณ์นี้ มิเชล ฟูโกต์อธิบายความสนใจของเขาในเรื่องการปฏิวัติอิหร่าน และเรื่อง “จิตวิญญาณ” ในฐานะพลังทางการเมือง

            บทความหลายชิ้นที่มิเชลฟูโกต์เขียนเกี่ยวกับการปฏิวัติอิหร่านเมื่อปี ค.ศ. 1978 และ 1979 นั้น เป็นบทความที่ได้รับการถกเถียงโต้แย้งมากที่สุด สี่สิบปีที่ผ่านมานี้ เขาถูกกล่าวหาว่าเพิกเฉยต่อความชั่วร้ายของรัฐอิสลาม ความจริงก็คือว่า ฟูโกต์นั้นหลงไหลในมิติด้านศาสนาของการลุกฮือครั้งนั้น ในรายงานข่าวของ Nouvel Observateur ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 1978 ฟูโกต์นั้นถึงขั้นสรรเสริญยกย่อง “การเมืองแบบจิตวิญญาณ” ซึ่งภายหลังเขาก็จะขีดเขียนเรื่องเหล่านี้มากขึ้น

            เอกสารที่ l’Obs นำมาตีพิมพ์ในวันนี้ จะสร้างความกระจ่างในประเด็นนี้ เอกสารพิมพ์ดีดนี้มาจากบทสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1979 และถูกค้นพบเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว ในกล่องที่ 50 ของเอกสารจดหมายเหตุมิเชล ฟูโกต์ ที่หอสมุดแห่งชาติ ประเทศฝรั่งเศส หลังจากนั้นหนังสือพิมพ์ของเราก็ได้รับอนุญาตจากผู้ถือลิขสิทธิ์ของเมเชล ฟูโกต์ให้นำเอกสารนี้มาเผยแพร่ ณ ที่นี้

            ความน่าสนใจของเรื่องนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ในเชิงความรู้เท่านั้น แต่เมื่อเราอ่านบทสัมภาษณ์นี้ เราจะรู้สึกราวกับว่ามันเพิ่งถูกเขียนขึ้นเมื่อวาน ในเมื่อหัวใจของการถกเถียงในปัจจุบันนั้น ยังอยู่ในเรื่องของอิสลาม มิเชล ฟูโกต์ตอบคำถามอย่างมีพลังเช่นเคย และคำตอบของเขามีทั้งแง่มุมที่น่าวิจารณ์และแง่มุมที่น่าประทับใจ สิ่งที่น่าวิพากษ์ก็คือฟูโกต์นั้นประเมินความเสี่ยงของการยึดอำนาจของเหล่าอุลามะฮ์ (Mollahs) ต่ำเกินไป ฟูโกต์นั้นปล่อยให้ความชื่นชมและกระตือรือร้นครอบงำตัวเอง เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นบ่อยๆ กับเขาในประเด็นอื่นๆ ส่วนแง่มุมที่น่าประทับใจ ก็คือการนำเสนอในสิ่งที่เรียกว่าเป็นหัวใจที่ชี้นำงานทุกชิ้นของฟูโกต์: เมื่อเราเผชิญหน้ากับอำนาจอันทรงพลัง เราต้องเริ่มจากการฟังเสียงกลุ่มคนที่เห็นต่าง ที่กระทำการต่อต้านขัดขืน และทำการลุกฮือ

            เมื่อจิตวิญญาณถูกนำมาใช้ต่อต้านอำนาจ มันก็กลายเป็นพลังในการเห็นต่างและขัดขืน ดังที่เห็นได้ในกรณีของนิกายชีอะฮ์ในอิหร่าน ในการเลือกพระสันตปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ หรือในกรณีของความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับนิเวศวิทยา มีตัวอย่างมากมายของ “แรงผลักดันทางจิตวิญญาณ” อันเป็นวิธีการ “ปฏิเสธโลก” ซึ่งเราไม่ควรไปประณาม แต่ควรต้อนรับและ “ดูว่าเราจะใช้มันอย่างไรได้บ้าง” ดังนั้น สำหรับฟูโกต์แล้ว ประเด็นจิตวิญญาณควรจะมีที่ทางในการถกเถียงสาธารณะ จุดยืนเช่นนี้ เมื่อพิจารณาจากมุมมองปัจจุบัน คือผ่านไป 40 ปี เป็นจุดยืนที่มีความเสี่ยงจะถูกต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์

            เอกสารจดหมายเหตุของมิเชล ฟูโกต์นั้นมีเอกสารสำคัญอยู่มากมาย สัปดาห์นี้สำนักพิมพ์ Gallimard ตีพิมพ์ “คำสารภาพของกายเนื้อ” (Les Aveux de la Chair) อันเป็นเล่มที่สี่ในชุดหนังสือเรื่อง “ประวัติศาสตร์ของเพศสภาวะ” ซึ่งฟูโกต์เขียนเอาไว้จนกระทั่งไม่กี่วันก่อนเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1984 ในเล่มนี้ แม้ว่าจะมองผ่านมุมมองเรื่องเพศ แต่ก็เป็นการมองในกรอบของความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจกับวิถีปฏิบัติของศาสนา

อีริค ไอซ์ชีมาน (Eric Aeschimann)

 

Le Nouvel Observateur: มิเชล ฟูโกต์ คุณได้เขียนใน “le Nouvel Observateur” ในรายงานข่าวเรื่องอิหร่าน ว่าประเทศนี้กำลังแสวงหาสิ่งที่ชาวตะวันตกสูญเสียไปตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการและยุควิกฤติของคริสตศาสนา สิ่งนั้นคือสิ่งที่คุณเรียกว่า “การเมืองแบบจิตวิญญาณ” ดูเหมือนว่า การเสนอมโนทัศน์นี้ สร้างประหลาดใจให้กับคนจำนวนมาก ผมคิดว่าคุณควรจะขยายความเรื่องนี้เพิ่มสักหน่อย

มิเชล ฟูโกต์: ผมขอโยนเรื่องนี้ให้คนอื่นตอบดีกว่า ผมจะเล่าเกร็ดเล็กๆ ให้ฟัง เมื่อตอนผมไปอิหร่าน หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ฉบับหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ฉบับของคุณ ส่งนักข่าวคนหนึ่งมาเขียนรายงาน ในรายงานนั้นลงท้ายแบบเดียวกันกับทุกรายงานที่เกี่ยวข้องกับอิหร่าน ก็คือลงท้ายด้วยการเน้นย้ำว่าขบวนการศาสนานั้นได้ครอบงำการเคลื่อนไหวของชาวอิหร่านทั้งหมดแล้ว ผมอ่านรายงานนั้นก่อนที่นักข่าวคนนั้นจะส่งกลับไปที่ปารีส หลังจากรายงานนั้นตีพิมพ์ที่ปารีส บรรณาธิการได้เพิ่มคำคุณศัพท์ “คลั่งศาสนา” เข้าไป ดังนั้น มันจะดีกว่าไหม ที่คุณจะให้คนเหล่านี้ ที่พยายามตอกย้ำว่าการเคลื่อนไหวในอิหร่าน เป็นการเคลื่อนไหวเชิงศาสนาหรือเชิงจิตวิญญาณ มาตอบคำถามของคุณ? คนเหล่านี้ที่วิพากษ์วิจารณ์ด้วยท่าทางที่รุนแรงไม่ใช่หรือ ที่ควรจะอธิบายว่าด้วยเหตุผลอะไรพวกเขาจึงต่อต้านขบวนการนี้นัก?

Le Nouvel Observateur: เอาเป็นว่า เราก็สนใจวิเคราะห์ทั้งสองมุมมอง แต่คำถามก็คือ สำหรับตัวคุณเองแล้ว เมื่อคุณใช้คำว่า “การเมืองแบบจิตวิญญาณ” ดูเหมือนมันจะตีความได้หลายอย่าง อย่างน้อยสำหรับคำว่า “จิตวิญญาณ” คุณกำลังหมายถึงอะไร หรือมโนทัศน์ดังกล่าวนี้จะมีประโยชน์เพียงแค่ใช้บรรยายเหตุการณ์เท่านั้น?

มิเชล ฟูโกต์: ผมพยายามจะหาคำตอบ ว่าอะไรเคยเป็นพลัง และยังเป็นพลังอยู่ทุกวันนี้ ที่ทำให้ประชาชนมือเปล่า ไร้อาวุธ ลุกขึ้นมาต่อสู้กับระบอบอันชั่วร้าย โหดเหี้ยม และแข็งแกร่งอย่างมาก เนื่องจากระบอบนั้นมีกองทัพ มีตำรวจที่ใหญ่คับฟ้าหนุนหลังอยู่ ผมไม่รู้ว่าประชาชนมีอาวุธไหม แต่ถ้ามีก็แสดงว่าพวกเขาซ่อนมันไว้เป็นอย่างดี หรือไม่ก็มีไม่มาก เพราะพวกเขาไม่เห็นจะใช้มัน ในขณะที่ทุกวันมีประชาชนเสียชีวิตหลายสิบคน ดังนั้นอะไรเล่า ที่เป็นพลังให้พวกเขา เป็นแรงผลักดันอันรุนแรง ดื้อรั้นต่อเนื่อง และเสริมสร้างขึ้นมาใหม่ได้ทุกวัน เป็นพลังที่ทำให้คนลุกฮือและยอมรับการเสียสละ ซึ่งเป็นการเสียสละของปัจเจกเหล่านั้นเอง และยอมรับความตาย?

คำตอบไม่ได้อยู่ที่พลังของอุดมการณ์ทางการเมืองแบบมาร์กซิสต์ หรือพลังของอุดมการณ์ปฏิวัติ ในความหมายแบบตะวันตก เราต้องหาคำตอบจากที่อื่น

Le Nouvel Observateur: ข้อสมมุติฐานที่ได้รับการยอมรับกันในยุโรปเกี่ยวกับวิกฤติในอิหร่าน คือการเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ที่รวดเร็วเกินไป

มิเชล ฟูโกต์: แต่ถ้าเป็นเช่นนั้น ชาวอิหร่านก็สามารถพูดอย่างง่ายๆ ไม่ใช่หรือ ว่า ”พวกเราไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ ระบอบนี้บังคับการพัฒนาที่รวดเร็วเกินไป และบังคับโครงสร้างทางการเมืองที่พวกเรารับไม่ได้ พวกเราไม่ต้องการจ่ายราคาเหล่านี้” หากแต่ว่า พวกเขาไม่ได้พูดเช่นนั้นเลย

ผมขอพูดนิดหน่อยเกี่ยวกับการไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ (modernisation) สิ่งที่อิหร่านกำลังปฏิเสธ ซึ่งตรงกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตุรกีในช่วงสัปดาห์นี้ ไม่ใช่ความเป็นสมัยใหม่ แต่เป็นการปฏิเสธสิ่งโบราณคร่ำครึ ซึ่งเรียกว่า “เคมาลนิยม” (kemalnisme) ในที่นี้หมายถึงการประกอบสร้างสังคมอิสลามที่หยิบยืมรูปแบบบางส่วนจากตะวันตก ซึ่งถูกกำหนดมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920 โดยเคมาล อตาเติร์ก (Kemal Atatürk) ราชวงศ์ปาห์ลาวีในอิหร่านนั้นอ้างถึงรูปแบบนี้อย่างโจ้งแจ้งจนถึง ค.ศ 1938 – 1940 และอ้างถึงโดยอ้อมตลอดมา

ความจริงก็คือ สำหรับประชากรส่วนใหญ่ของอิหร่าน ตั้งแต่ปัญญาชนจนถึงกรรมกรในโรงงานของเมืองอาบาดาน (Abadan) ตั้งแต่พ่อค้าในตลาดกรุงเตหะรานจนถึงชาวนาในแคว้นตะวันออกของอิหร่านอันห่างไกลที่สุดจากศูนย์กลาง พวกเขาเหล่านี้สนับสนุนคนอย่างโคมัยนี และโดยทั่วไปแล้ว ก็สนับสนุนผู้นำทางศาสนาและศาสนาอิสลาม พวกเขาเรียกร้องรูปแบบการใช้ชีวิตอีกแบบ ที่ไม่ใช่รูปแบบโบราณอันต่างจากรูปแบบสมัยใหม่ แต่เป็นรูปแบบการใช้ชีวิตที่จำเพาะและผูกโยงกับศาสนา

ผมคิดว่ามันคือความจริง และเราปฏิเสธมันไม่ได้ ผมก็ไม่เห็นว่าจะมีใครที่กลับจากอิหร่านแล้วพูดในทางตรงกันข้าม

เพราะฉะนั้น ปัญหาก็คือ เราต้องตอบให้ได้ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงภาพลวงตาที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกตัวเองและพวกเขาเพียงไขว่คว้าแสวงหาคุณค่าทางศาสนา หรือในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาเพียงแค่ใช้ศัพท์แสงง่ายๆ ที่พวกเขามี เพื่ออธิบายสถานการณ์ที่เป็นอยู่

Le Nouvel Observateur: คุณคิดว่า สิ่งที่คุณได้สังเกตเห็นในอิหร่าน สามารถนำมาตั้งสุมมัติฐานอย่างกว้างๆ ไหม ว่าทุกวันนี้ ศาสนาในบางสถานการณ์ได้กลายเป็นพื้นที่สำหรับผู้ที่ต่อต้านและไม่เห็นด้วยกับรัฐ หรือตัวแทนของรัฐในอิหร่าน?

มิเชล ฟูโกต์: [ขีดฆ่า: เป็นคำถามที่ดี เพราะคำถามนี้นำไปสู่การอธิบายเรื่องความแตกต่างระหว่างจิตวิญญาณกับศาสนา ซึ่งผมยังไม่ได้มีเวลาอธิบาย กล่าวคือ เวลาผมพูดว่าจิตวิญญาณ ผมไม่ได้กำลังพูดถึงศาสนา และเราต้องแยกแยะมันออกจากกันให้ชัดเจน ผมมักจะทึ่งเวลาคนเอาเรื่องจิตวิญญาณ จิตวิญญาณนิยม และศาสนามาผสมปนเปเป็นเรื่องเดียวกัน มันเป็นไปไม่ได้! จิตวิญญาณเป็นสิ่งที่คุณสามารถ] [วงกลม: พบได้ในศาสนา แต่ก็พบได้นอกศาสนาด้วย คุณสามารถพบได้ในพุทธศาสนา ซึ่งเป็นอเทวนิยม พบได้ในเอกเทวนิยม แต่ก็พบได้ในอารยธรรมกรีกด้วย ดังนั้นแล้ว จิตวิญญาณจึงไม่ได้เกี่ยวโยงกับศาสนาเสมอไป แต่ศาสนาส่วนใหญ่นั้นประกอบไปด้วยมิติทางจิตวิญญาณ]

อะไรคือจิตวิญญาณ? ผมเชื่อว่ามันคือวิถีปฏิบัติที่ทำให้มนุษย์ก้าวข้าม เปลี่ยนแปลง แตกหัก และปฏิเสธสภาวะปัจเจกของตัวเอง ปฏิเสธสถานะผู้อยู่ใต้บงการ (sujet) ของตนเอง มันไม่ใช่หมายถึงการเป็นผู้ถูกกระทำของอำนาจทางการเมือง อย่างที่เราเชื่อกันถึงทุกวันนี้ เพียงอย่างเดียว หากแต่หมายถึงการต้องขึ้นต่อความรู้ ประสบการณ์ และความเชื่อด้วย สำหรับผม ดูเหมือนว่าความเป็นไปได้ที่จะลุกฮือขึ้นมาจากตำแหน่งผู้อยู่ใต้บงการ ที่ถูกกำหนดโดยอำนาจทางการเมือง อำนาจศาสนา กฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดต่างๆ ความเชื่อ ความเคยชิน โครงสร้างทางสังคม ฯลฯ นั้นคือเรื่องของจิตวิญญาณ กล่าวคือ เราได้กลายเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเราเองอีกต่อไป เป็นที่รู้กันว่า ศาสนาทั้งหลายนั้นมีโครงสร้างที่เปิดรับรูปแบบและปฏิบัติการทางจิตวิญญาณที่หลากหลาย แต่ขณะเดียวกันมันก็มีข้อจำกัด ศาสนานั้นกำหนดชัดว่าเราจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเราให้กลายเป็นอะไร เพื่อไปสู่จุดไหน เพื่อมีสถานะแบบไหน ฯลฯ ความจริงก็คือ ศาสนานั้นกำหนดขอบเขตกฎเกณฑ์ของจิตวิญญาณ

Le Nouvel Observateur: ถ้าอย่างนั้น คุณก็กำลังบอกว่า ชีอะฮ์ที่อิหร่านนั้น นอกจากจะเป็นพื้นที่สำหรับการต่อต้านรัฐแล้ว ก็มีข้อจำกัดในตัวมันเองด้วยเช่นกัน

มิเชล ฟูโกต์: ทุกการเปลี่ยนแปลงในโลกนี้ ไม่ว่าจะทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรม ไม่สามารถจะมีที่ยืนในประวัติศาสตร์ได้ หากไม่มีการเคลื่อนไหวทางจิตวิญญาณ เมื่อพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นช่วงปลายยุคกลางในยุโรป ก็จะเห็นว่าตั้งแต่ยุคกลางไปจนถึงปลายคริสตศตวรรษที่ 16 ยุโรปนั้นสั่นสะเทือนไปด้วยขบวนการที่มีความสำคัญหรือสำคัญกว่า ช่วงเวลาที่เรามักเรียกกันว่าช่วงปฏิวัติ คือปลายคริสตศตวรรษที่ 18 ถึง 19 เสียอีก

ทุกอย่างในช่วงนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางความเชื่อ วิถีชีวิต ความสัมพันธ์ทางสังคม รูปแบบของการเชื่อฟังในทางการเมือง ชนชั้นทางสังคม วิถีปฏิบัติทางด้านเศรษฐกิจ ทุกอย่างนั้นมีการปรับเปลี่ยนทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์ก็ได้ชี้ให้เห็นแล้ว ว่าความเคลื่อนไหวทั้งหลายในคริสตศตวรรษที่ 15 ถึง 16 นั้น ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้ศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่ภายใต้ขบวนการทางจิตวิญญาณ ที่ได้ทำลายโครงสร้างอันมีชนชั้นต่ำสูงของศาสนาต่างหาก มันคือการเผชิญหน้ากันระหว่างศาสนากับศาสนา!

ไม่ว่าจะเป็นขบวนการถือสันโดษ (mouvements ascetiques) ในแคว้นแฟลนเดอส์ในคริสตศตวรรษที่ 15 หรือจะเป็นรูปแบบชุมชนศาสนาทั้งหลายที่เกิดขึ้นในเยอรมันในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับขบวนการของลูเธอร์ อย่างเช่น ขบวนการอนาแบปทิสต์ (Anabaptistes) เป็นต้น หรือจะเป็นอังกฤษในศตวรรษที่ 17 ที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของกลุ่มศาสนาอันนำมาสู่การกำจัดกลไกลของสถาบันกษัตริย์อังกฤษและนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าเป็นการปฏิวัติครั้งแรกในประวัติศาสตร์ยุโรป ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นเป็นอย่างดี ว่าจิตวิญญาณนั้นสามารถถือได้ว่าเป็นรากฐานของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและวัฒนธรรมครั้งใหญ่ๆ ทั้งหมด และแสดงให้เห็นว่าศาสนานั้นมีบทบาทชี้ขาดในขบวนการเหล่านี้ อันเป็นขบวนการทางจิตวิญญาณ ไม่ใช่ขบวนการทางศาสนา

Le Nouvel Observateur: คุณก็รู้ใช่ไหม เวลาเราสอนกันในมหาวิทยาลัย เรามักจะจัดกลุ่มศาสนาทั้งหลายซึ่งเป็นพลังที่ทำให้ปัจเจกลุกฮือขึ้นมาต่อต้านผู้กดขี่ ให้มีลักษณะเหมือนโฟม คือเป็นโครงสร้างส่วนบนลอยๆ ไม่เคยพิจารณามันในฐานะที่เป็นปรากฎการณ์ที่มีความเฉพาะและลดทอนมิได้  ผมจำได้ว่าสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ผมศึกษาเรื่องสงครามครูเสดแล้วต้องเขียนรายงานเรื่องนี้ ถ้าผมอธิบายว่าพวกครูเสดเหล่านั้นเดินทางจากเมืองเนอแวร์ไปเยรูซาเล็มเพื่อปลดปล่อยหลุมศพของพระเยซู ผมจะได้คะแนนที่แย่ แต่ถ้าผมอธิบายว่าเขานั้นเป็นพี่ชายคนโตในครอบครัว และสมัยนั้นมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรในตะวันตกจนพวกเขาแทบไม่มีอะไรจะกิน พูดอีกอย่างก็คือผมต้องอธิบายว่าเขาเดินทางไปเพื่อขยายตลาดและหาตลาดใหม่สำหรับผลผลิตที่ล้นเกินในตะวันตก พวกอาจารย์ถึงจะยอมรับคำอธิบายนี้

มิเชล ฟูโกต์: ปัญหาก็คือ แบบนี้เราควรจะให้คะแนนแย่ๆ กับพวกอาจารย์ไหม! ผมเชื่อว่านักประวัติศาสตร์มีนิสัยที่แย่อย่างนึง คือจะยอมรับสาเหตุทางประวัติศาสตร์ (causualité) ได้ก็ต่อเมื่อมีปัจจัยบางอย่างที่แน่นอนและจำเพาะ โดยพร้อมที่จะปฏิเสธทุกคำอธิบาย ที่ไม่เข้ากรอบวิเคราะห์ความสัมพันธ์แบบมีลำดับชั้น ซึ่งหยิบยืมมาจากเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบคลาสสิคหรือจากมาร์กซิสต์ แต่ความสำคัญของประเด็นนี้ ไม่ได้อยู่ที่ตรงนั้น มันไม่ได้อยู่ที่การบอกว่าปัจจัยนั้นปัจจัยนี้มันไม่มีอยู่ในเรื่องที่เรากำลังวิเคราะห์ แต่มันอยู่ที่ว่าเราจะพิจารณารูปแบบที่ปัจเจกตอบสนองต่อความโดดเดี่ยว ความยากจน หรือการหลุดพ้นออกจากเครือข่ายทางสังคม ได้อย่างไร

นี่แหละคือปัญหา เพราะกรอบการวิเคราะห์แบบเดิม ก็ได้แต่คำตอบแบบเดิม ธรรมชาติของการวิเคราะห์แบบนี้ทำให้เรามองไม่เห็นความจำเพาะของสถานการณ์ การขบคิดเรื่องความยากจน การเป็นพี่ชายคนโตในครอบครัว โครงสร้างของระบอบศักดินา ฯลฯ เพื่อจะบอกว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้ปัจเจกบางคนกลายเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์หรือไร้ประโยชน์ในสังคมยุคกลาง ไม่มีวันที่จะอธิบายได้ว่า เพราะเหตุใดคนเหล่านี้จึงไปร่วมสงครามครูเสดโดยคิดแต่เพียงว่า ต้องการจะไปปลดปล่อยหลุมศพของพระเยซู ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่เฉพาะสำหรับพวกเขา แต่สำหรับคริสตจักรทั้งหมด

สิ่งที่ผมต้องการจะบอกก็คือ แน่นอนว่าประชาชนชาวอิหร่านนั้นประสบกับความลำบากทางเศรษฐกิจ การกดขี่ของระบอบตำรวจ การปล้นสะดมทรัพยากรธรรมชาติต่อหน้าต่อตาพวกเขาทั้งโดยกลุ่มคนที่อยู่ในอำนาจและโดยพวกอเมริกัน แต่สิ่งที่เราสนใจก็คือ อะไรคือรูปแบบที่ชาวอิหร่านใช้ตอบสนองต่อสิ่งเหล่านี้ เป็นที่แน่ชัดว่าศาสนาอิสลามในขณะนี้เป็นสิ่งเดียวที่เข้ามาหนุนเสริมความต้องการเชิงจิตวิญญาณของพวกเขา นั่นหมายถึงความต้องการที่จะเป็นอย่างอื่นที่ตัวเองไม่ได้เป็น คือเป็นรูปแบบที่เป็นรูปธรรม แน่ชัด และจัดระบบเป็นขบวนการทางการเมืองได้

Le Nouvel Observateur: คุณคิดว่าสิ่งที่คุณสังเกตเห็นในอิหร่านสามารถเอามาอธิบายปรากฎการณ์อื่นๆ ในสังคมร่วมสมัยได้ไหม

มิเชล ฟูโกต์: ผมเชื่อว่าได้ ลึกๆ แล้ว อาจจะมีการปฏิวัติที่ไร้จิตวิญญาณ แต่ก็คงจะเป็นข้อยกเว้น

Le Nouvel Observateur: ยกตัวอย่างหน่อยได้ไหม

มิเชล ฟูโกต์: อาจจะการปฏิวัติฝรั่งเศส หากพิจารณาพัฒนาการของขบวนการและการอธิบายสร้างความชอบธรรมต่างๆ ผมคิดว่านั่นอาจจะเป็นครั้งเดียวที่การลุกฮือของคนที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นอะไรที่ตัวเองไม่ได้เป็นและต้องการจะยุติสภาวะใต้บงการ (sujet) ในทุกความหมายของคำนี้ ไม่ได้หยิบยิบอะไรเลยจากมโนทัศน์เรื่องจิตวิญญาณแบบดั้งเดิม

Le Nouvel Observateur: เพราะเหตุนี้ ทุกวันนี้เราจึงยังถือกันว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นการแตกหัก

มิเชล ฟูโกต์: มันเป็นการจัดระบบสังคมใหม่ โดยที่ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถออกกฎหมายที่สมบูรณ์แบบและตรวจสอบได้ มันเป็นการปฏิวัติเพียงอันเดียว ที่มีการคิดถึงรูปแบบของระบอบตัวแทนในรัฐสภาที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นการปฏิวัติเดียวที่ผลิตนักปรัชญาที่มีเหตุมีผลและเหมาะสม ที่เป็นแรงผลักให้คนหลุดออกจากสภาวะใต้บงการที่เขาเป็นอยู่ โดยมาอยู่ใต้ระบอบเหตุผลที่เป็นสากลแทน

Le Nouvel Observateur: ซึ่งตรงกันข้ามกับการปฏิวัติอังกฤษและอเมริกา

มิเชล ฟูโกต์: วิกฤติในสมัยคริสตศตวรรษที่ 16 เป็นวิกฤติทางจิตวิญญาณ ลองนึกถึงรัสเซียในสมัยคริสตศตวรรษที่ 19 สิ! ไม่คิดหรือว่า ลึกๆ แล้วสิ่งที่เตรียมพร้อมสังคมรัสเซียสู่การปฏิวัติในปี ค.ศ. 1917 คือขบวนการทางจิตวิญญาณ และความกระตือรือร้นของมวลชน ซึ่งต่อมาพวกบอลเชวิคก็เอามาใช้ประโยชน์นั้น ลึกๆ แล้วก็มีลักษณะที่เป็นจิตวิญญาณ ในความหมายที่ผมกำลังพูดถึง ก็คือไม่ได้ต้องการให้สถานการณ์หรือปัจจัยอะไรมีการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น แต่คือการรับรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายนี้ ต้องเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงตนเองเสียก่อน ทั้งสองอย่างนี้เป็นเรื่องเดียวกัน และการ “กลายเป็นอื่น” นี่แหละ คือหัวใจหลักของแรงผลักดันในการปฏิวัติ

ผมขอเพิ่มเติมอะไรนิดหน่อย มันมีประโยคหนึ่งของราโบ-แซง-เอเตียน (Rabaut-Saint-Etienne) ที่โด่งดังมากและก็สรุปสิ่งที่ผมอยากจะพูดได้ดี เขาพูดว่า “ต้องเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงโลก เปลี่ยนแปลงความคิด เปลี่ยนแปลงคำศัพท์ ต้องเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง…ต้องทำลายทุกอย่างและสร้างใหม่ทุกอย่าง” ส่วนแรกของประโยคนี้ มันคือเรื่องจิตวิญญาณ การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างนั้น จะต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อนโดยการกลายเป็นอื่น แม้ลึกๆ แล้วจะไม่รู้หรอกว่าความเป็นอื่นนั้นคืออะไร แต่ประเด็นสำคัญมันคือความต้องการอันยิ่งยวดที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นอื่น

และเมื่อราโบ-แซง-เอเตียนกล่าวว่า “ต้องทำลายทุกอย่างและสร้างใหม่ทุกอย่าง” เขากำลังพูดถึงจิตสำนึกเชิงปรัชญาซึ่งแตกหักกับสถาบันทางสังคม และสร้างมันขึ้นมาใหม่ภายใต้ระบอบเหตุและผล ส่วนแรกของประโยค คือส่วนของจิตวิญญาณ ส่วนที่สอง คือส่วนของการปฏิวัติทางปรัชญา ซึ่งถูกนำมาปรับใช้กับส่วนแรก การปฏิวัติฝรั่งเศส คือการปฏิวัติครั้งแรกและครั้งเดียว ที่ยอมรับจิตวิญญาณด้านนี้

Le Nouvel Observateur: สำหรับสถานการณ์ในอิหร่าน ความต้องการเปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็นอื่น ให้ไม่อยู่ใต้บงการอีกต่อไปนั้น เกิดจากการรื้อฟื้นวิถีปฏิบัติและการโหยหาศาสนาในส่วนที่ฝังรากลึกมากที่สุดและที่ดึงเอามาใช้ได้มากที่สุด ดังนั้น เราจะอธิบายการกลับไปสู่วิถีปฏิบัติแบบดั้งเดิมเหล่านี้อย่างไร? มันเป็นไปได้อย่างไร ที่อายะตุลลอฮ์ โคมัยนี สามารถสั่งให้มีการทำลายโรงภาพยนตร์ ปฏิเสธการทำให้สังคมเป็นตะวันตก เพื่อจะกลับไปสู่ระบอบเทวาธิปไตยแบบดั้งเดิม?

มิเชล ฟูโกต์: ขบวนการจิตวิญญาณเหล่านี้ เขาก็หยิบใช้เครื่องมือที่เขามีในมือ ปัญหามันไม่ใช่การพยายามหาว่า เครื่องมือเหล่านั้นมันเป็นเรื่องของศาสนาหรือไม่ แต่คือการพยายามหาคำตอบว่า คุณค่าของเครื่องมือนั้นคืออะไร โดยสัมพันธ์กับความต้องการของประชาชน

Le Nouvel Observateur: เราจะบอกได้ไหม ว่ารายงานข่าวทั้งหลายที่เกี่ยวกับอิหร่าน รวมถึงของคุณเองด้วยนั้น กำลังพูดถึงการต่อต้านทางจิตวิญญาณ แบบเดียวกับที่คุณกำลังพูดนี้ และคุณจะอธิบายปรากฎการณ์ที่มีคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์คุณด้วยความคลางแคลงใจว่าอย่างไร

มิเชล ฟูโกต์: ที่ผ่านมา ผมก็คิดอย่างสุดโต่งว่ามันคือความโง่ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องความโง่หรอก ผมจะยกตัวอย่างเรื่องส่วนตัวนิดหน่อย ผมรู้สึกแปลกใจ ที่คนมักจะแปลกใจ ว่าผมได้รับแรงบันดาลใจจากบลองโช (Blanchot) และบาตาย (Bataille) พวกเขานั้นคือผู้นำทางความคิดของผมโดยแท้ ผมบอกได้เลยว่าสิ่งที่เรียกว่าเป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดของผมสมัยเป็นวัยรุ่นนั้น คือการได้อ่านบทความเรื่องซาร์ท (Satre) ที่เขียนโดยบาตาย ผมคิดว่าความไม่เข้าใจของซาร์ทที่มีต่อบาตายนั้น เป็นอะไรที่สำหรับผม เป็นจุดแตกหักที่รักษาไม่ได้ และสุดท้ายก็เป็นจุดชี้วัดอะไรบางอย่างที่สำคัญในยุคสมัยนั้น

สิ่งที่สำคัญสำหรับปรัชญา การเมือง และสำหรับมนุษย์ทุกคน สำหรับบาตายคือสิ่งที่เรียกว่าการทดลอง (expérience) อันหมายถึงอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่การยืนยันความต่อเนื่องของสภาวะใต้บงการ มันคือการแตกหักและความเสี่ยงที่ผู้อยู่ใต้บงการยอมรับ เพื่อจะแปลงกลาย ปรับเปลี่ยน ทำลายความความสัมพันธ์ของเขาต่อสิ่งต่างๆ ต่อคนอื่นๆ ต่อความจริง ต่อความตาย ฯลฯ สิ่งนี้แหละที่เรียกว่าการทดลอง มันคือการเสี่ยงที่จะไม่เป็นตัวเองอีกต่อไป สิ่งที่ผมทำก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการอธิบายสิ่งที่เรียกว่าการทดลองนี้

อะไรคือประวัติศาสตร์ของความบ้า หากไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของการทดลอง ที่โลกตะวันตกเสี่ยงที่จะสร้างสถานะใหม่ สถานะนั้นก็คือสถานะของเหตุผลในฐานะขององค์ประธานที่เผชิญหน้ากับความบ้า ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ถูกควบคุมได้ในฐานะวัตถุสำหรับการเรียนรู้ เพราะฉะนั้น ผมก็ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่านี้เลย อะไรเล่าคือวิทยาศาสตร์ตะวันตก หากไม่ใช่การทดลองที่สร้างแบบอันบริสุทธิ์และเต็มไปด้วยตรรกะขึ้นมา ที่เป็นวาทกรรมอันสามารถอธิบายได้ทุกอย่าง และทุกสิ่งในโลกก็สามารถมาอยู่ภายใต้การทดลองได้ สุดท้าย “ความจริง” นั้นเป็นเพียงแค่ตอนหนึ่งของประวัติศาสตร์จิตวิญญาณ

Le Nouvel Observateur: มีอยู่ยุคสมัยหนึ่งที่ปัญญาชนฝรั่งเศสเห็นใจขบวนการร้องคริสตศาสนาแบบดั้งเดิมในโซเวียต แต่พวกฝ่ายซ้ายก็ตั้งคำถามกับมิติด้านศาสนาของขบวนการนั้น พอมาสมัยนี้บรรยากาศมันเปลี่ยนไป สิ่งที่เกิดขึ้นในอิหร่านกลับกลายเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม การกลับไปสู่ศาสนาของโคมัยนีกลายเป็นสิ่งที่ดีงาม ความจริงแล้วเราแสวงหาแต่มิติด้านจิตวิญญาณที่ปลุกเร้าให้ผู้ค้นลุกฮือขึ้นมาต่อต้านรัฐโดยบอกว่ามันคือสิ่งดีงาม แต่หลงลืมไปว่าลึกๆ แล้วมันคือศาสนาหรือเปล่า?

มิเชล ฟูโกต์: อย่ามาถามผมเลยว่าคนร่วมสมัยผมคิดยังไง แค่พยายามตอบว่าตัวผมเองคิดยังไงก็ยากแล้ว จะให้ตอบว่าทำไมคนอื่นคิดไม่เหมือนผม ยิ่งยุ่งเข้าไปใหญ่! แต่ที่แน่ๆ มันมีปรากฎการณ์ที่ผิวเผินอะไรบางอย่าง ที่เมื่อเวลามีเหตุการณ์อะไรที่เกียวข้องกับประเทศมุสลิม พวกเขาจะพากันสนับสนุน แต่หากขบวนการจิตวิญญาณแบบนี้ เกิดกับกลุ่มชาวยิว พวกเขาก็จะพากันไม่ไว้ใจ ความจริงเรายังมีการถกเถียงกันน้อยในเรื่องนี้ อย่างเช่นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศพุทธศาสนา เป็นต้น

 ผมคิดว่าการใช้จิตวิญญาณมาเป็นแนวทางในการลุกฮือของผู้ถูกกดขี่นั้นเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์โลกร่วมสมัยอยู่เหมือนกัน มันสะท้อนความล้มเหลวของการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ เป็นความล้มเหลวของการสถาปนารัฐที่มีเหตุมีผลและรับประกันความสุขของปัจเจกชน นี่คือเหตุผลที่คนแสวงหาจิตวิญญาณ และถ้าขบวนการต้องหยิบใช้อะไรสักอย่าง พวกเขาก็หยิบใช้ศาสนา

Le Nouvel Observateur: มันไม่ใช่ความเสี่ยงอันใหญ่หลวงหรอกหรือ ที่ปล่อยให้คนหยิบใช้อะไรก็ได้มาต่อสู้กับรัฐ? แน่นอนว่าสิ่งที่เห็นคือมีเผด็จการ อย่างกษัตริย์ ที่มีตำรวจเป็นเครื่องมือ มีการทรมานผู้คน เรือนจำทั้งหลายก็เต็มไปด้วยนักโทษ แต่การเคลื่อนไหวต่อต้านสิ่งเหล่านี้โดยพึ่งพาชีอะฮ์ มันจะไม่มีความเสี่ยงเลยหรือที่สุดท้ายแล้วจะนำไปสู่เผด็จการที่กดขี่กว่าเดิม?

มิเชล ฟูโกต์: ลองกลับมาดูสิ่งที่ผมเขียนในประเด็นนี้ ผมจำได้ดีว่าผมเน้นย้ำว่า ในบรรดาสิ่งที่ชาวอิหร่านแสดงออก มันก็มีหลายสิ่งที่น่ากังวลและดูจะอันตราย แต่ในขณะเดียวกัน เราก็เห็นความเชื่อมโยงกันอยู่ ระหว่างอันตรายของรูปแบบการปกครองที่ได้รับแรงบันดาลใจจากตะวันตก กับรูปแบบการปกครองแบบศาสนา ยกตัวอย่างเช่น หากเราตั้งคำถามว่า “รัฐบาลอิสลามของคุณ จะจัดการประเด็นเรื่องชนกลุ่มน้อยทางศาสนาอย่างไร” คำตอบที่ได้ก็จะเป็นคำตอบที่คลาสสิคและอันตราย คือคำตอบแบบศตวรรษที่ 18 เขาจะตอบว่า “อ้อ ก็เสียงส่วนใหญ่ยังไงล่ะ ที่จะเป็นคนร่างกฎหมายและนิยามสถานะของชนกลุ่มน้อย” เราก็รู้กันดีว่าผลลัพธ์ที่ออกมา มันเป็นอย่างไร คนเหล่านี้เวลาพูดถึงกลุ่มที่นับถือศาสนาอื่น เขาก็จะพูดในเชิงว่าคนเหล่านั้นนับถือสิ่งที่ผิด เชื่อถือไม่ได้ และพวกเขาไม่จำเป็นต้องอดกลั้นต่อคนเหล่านั้น

ดังนั้น คุณจะเห็นว่าลึกๆ แล้ว ความคิดแบบตะวันตก อันมีเหตุมีผล แบบประชาธิปไตยจาโคบีน (Jacobine) นั้นเข้าไปเสริมสร้างความอันตรายของพวกศาสนาแบบมูลฐานนิยม (intégrisme) อันตรายเช่นนี้ เป็นภัยต่อการเคลื่อนไหวในอิหร่าน เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวในที่อื่นๆ

ในเรื่องนี้ ชาวอิหร่านตระหนักดี แม้จะมีบางคนที่ผมต้องไปถกเถียงด้วยเป็นเวลานาน ความท้าทายคือพวกเขาจะสามารถหยิบใช้ศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นประเพณี เป็นรูปแบบของจิตสำนึกแห่งชาติ เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ และเป็นหลักการในการลุกฮือ โดยหลีกเลี่ยงภัยดังกล่าวได้หรือไม่

ดังนั้นแล้ว ผมคิดว่าการไปวิจารณ์พวกเขาในทำนองว่า “ก็พวกคุณปิดกั้นตัวเองให้อยู่ในกรอบของอิสลามที่มีความเสี่ยงจะนำไปสู่การคลั่งศาสนาเองนี่ แถมยังเป็นศาสนาเอกเทวนิยมที่ไม่ต้อนรับความหลากหลาย ฯลฯ” จะมีประโยชน์อะไร พวกเขาไม่ได้คลั่ง แต่มีความเสี่ยงจริงที่จะคลั่งหากขบวนการนี้ตั้งใจจะสร้างรัฐศาสนาหรือให้มีศาสนาแห่งชาติ

แม้ว่าในที่นี้ผมจะพูดถึงกรณีอิหร่าน แต่ว่าในโลกทุกวันนี้ ก็มีความท้าทายคือ ภายใต้ความตกต่ำของอุดมการณ์ปฏิวัติ เราจะทำอะไรได้บ้างกับแรงผลักดันทางจิตวิญญาณ ที่โผล่ขึ้นมาให้เห็น บ้างก็ในรูปแบบของอิสลาม บ้างก็ในรูปแบบของคริสตศาสนา

Le Nouvel Observateur: อย่างกรณีการเลือกตั้งสันตปาปาชาวโปแลนด์?

มิเชล ฟูโกต์: ก็เป็นไปได้ หรือไม่ก็ในขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ฯลฯ คุณจะเห็นว่ามีรูปแบบมากมายที่ดูจะไร้เหตุผล บางทีก็น่ากังวล บางทีก็น่าประทับใจ บางทีก็ช่างไร้เดียงสา บางทีก็แหลมคม แต่ก็เป็นรูปแบบที่มีพลังที่เกิดขึ้นทั่วทุกที่ในโลกปัจจุบัน

Le Nouvel Observateur: แล้วพวกลัทธินิกายทั้งหลายล่ะ?

มิเชล ฟูโกต์: ก็แล้วยังไง? แทนที่เราจะประณามผลงานที่ยิ่งใหญ่ในเชิงจิตวิญญาณเหล่านี้ เราเอามันมาดูว่าเราใช้มันได้อย่างไรบ้างไม่ดีกว่าหรือ นี่คือความหมายของมโนทัศน์เรื่องการจดจ่อทางจิตวิญญาณ (préoccupation de spiritualité) ซึ่งบาตายได้เสนอเรื่องนี้ไว้ 20 ปีมาแล้ว และผมก็ยังรู้สึกว่ายังสามารถนำมาใช้ได้ในปัจจุบัน และนี่คือสิ่งที่ผมต่อสู้อยู่

Le Nouvel Observateur: แล้วเราเอามาใช้ทำอะไรได้บ้าง? เราจะหยิบยืมมาใช้อย่างไร? เราต้องใช้เครื่องมืออะไรในการหยิบจับสิ่งเหล่านี้ ในการคิด หรือการเปิดรับมัน?

มิเชล ฟูโกต์: มันต้องใช้เวลากว่าสองศตวรรษ เพื่อให้มีจิตวิญญาณแบบคริสเตียนที่ต่อต้านศาสนจักร ซึ่งสุดท้ายแล้วก็นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงอันมหาศาลของโลกตะวันตก เพราะฉะนั้นปัจจุบันนี้ ผมไม่คิดว่าเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงภายใน 10-15 ปีหรอก ช่วงเวลาของนิกาย “พี่น้องผู้ใช้ชีวิตร่วมกัน” (Frères de la vie commune) ช่วงเวลาของอนาแบปทิสต์ ช่วงเวลาของกลุ่มตาโบริท (Taborites) กำลังจะเริ่มขึ้นใหม่อีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่ใช่ในรูปของศาสนา แม้จะพบรูปแบบศาสนาประปรายบ้างก็ตาม สิ่งเหล่านี้คือการทดลองอันเข้มข้นซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งศตวรรษ

Le Nouvel Observateur: เราก็ต้องรอ?

มิเชล ฟูโกต์: ไม่ใช่รอ แต่เราต้องทำ ต้องปฏิบัติ! การลุกฮือนั้นต้องเกิดจากการปฏิบัติ ผมหมายถึงการปฏิเสธสถานะของการเป็นผู้อยู่ใต้บงการที่เรานั้นเป็นอยู่ การปฏิเสธอัตลักษณ์ การปฏิเสธลักษณะที่คงทนถาวร การปฏิเสธสิ่งที่เราเป็น สิ่งเหล่านี้คือเงื่อนไขขั้นแรกในการปฏิเสธโลก

 

*แปลโดย ดิน บัวแดง จากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส "Michel Foucault, l'Iran et le pouvoir du spirituel: l'entretien inédit de 1979" ของ Eric Aeschimann

บทความต้นฉบับเผยแพร่ครั้งแรกในเว็ปไซต์ BibliObs วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 (เข้าถึงได้จาก https://bibliobs.nouvelobs.com/idees/20180207.OBS1864/michel-foucault-l-iran-et-le-pouvoir-du-spirituel-l-entretien-inedit-de-1979.html) และตีพิมพ์ฉบับย่อในนิตยสาร L'obs ฉบับวันที่ 8-14 กุมภาพันธ์ 2561

บล็อกของ ดิน บัวแดง

ดิน บัวแดง
มิเชล ฟูโกต์, อิหร่าน, และพลังของจิตวิญญาณ: บทสัมภาษณ์ในปี 1979 ที่ไม่เคยเผลแพร่มาก่อน* เอกสารที่น่าทึ่งชิ้นนี้ถูกค้นพบในหอสมุดแห่งชาติ กรุงปารีส เมื่อปีที่แล้ว เป็นบทสัมภาษณ์โดยหนังสือพิมพ์ Obs เมื่อปี 1979 ที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน ในบทสัมภาณ์นี้ มิเชล ฟูโกต์อธิบายความสนใจของเขาในเรื่องการปฏิวัติอิหร่าน และเรื่อง “จิตวิญญาณ” ในฐานะพลังทางการเมือง
ดิน บัวแดง
ผมได้ยินชื่ออาจารย์ยิ้มครั้งแรก เมื่ออาจารย์ถูก “ศอฉ.” คุมตัว หลังการสลายการชุมนุมเดือนพฤษภาคม 2553 ขณะนั้นผมเป็นนิสิตปีที่ 2 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ไม่ได้สนใจการเมืองเป็นพิเศษ แต่เริ่มรู้สึกว่าการเมืองเข้ามาใกล้ตัวมากขึ้นทุกที ตั้งแต่เสียงยิงกันและการชุมนุมปิดถนนใกล้มหาวิทยาลัย จนกระทั่งการคุมตัวอ
ดิน บัวแดง
ลาน Place de la République ขึ้นชื่อเรื่องการเป็นที่จัดชุมนุมต่าง ๆ เพราะเป็นลานใหญ่ อยู่กลางกรุงปารีส ตรงกลางของลานมีอนุสาวรีย์ la République หรือ Marianne ถือคบเพลิง เป็นสัญลักษณ์ของระบอบสาธารณรัฐ อนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นเมื่อปีค.ศ.
ดิน บัวแดง
ผู้เขียนโชคดีมาก ๆ ที่ไปเล่นเกมส์ตอบคำถามออนไลน์ แล้วดันเป็นผู้โชคดี ได้รับบัตรดูหนังที่โรงหนัง Louxor ฟรีตลอดปี ไปกี่ครั้ง ดูกี่เรื่องก็ได้ พาเพื่อนไปได้ฟรีอีกคนนึงอีกต่างหาก แต่แล้วก็ไม่เคยได้ยินชื่อโรงหนังนี้มาก่อนเลย วันนี้เลยไปลองดูหนังมาซักเรื่อง พอกลับบ้านก็ลองมาค้นประวัติโรงหนังดู พบว่าน่
ดิน บัวแดง
ปารีสช่วงเดือนมีนาคม เป็นช่วงที่เลื่องลือเรื่องอากาศแปรปรวน เอาแน่เอานอนไม่ได้ หลายวันก่อนแดดออกทั้งวัน อุณหภูมิขึ้นสูงถึง 19 องศา ถือว่าเป็นอุณหภูมิที่พบได้ปลายเดือนเมษายน ปรากฎว่ามาวันนี้อากาศกลับเย็น เมฆครึ้ม ลมพัดแรง
ดิน บัวแดง
หลังจากเกิดเหตุการณ์สังหารโหด Charlie Hebdo ก็มีปฏิกิริยาตอบโต้จากสถานศึกษาต่าง ๆ ในฝรั่งเศสแทบจะทันที ในแง่หนึ่ง ระบบการศึกษาของฝรั่งเศสก็กลายเป็น "แพะรับบาป" เพราะฆาตกรที่ก่อเหตุนั้น เป็นชาวฝรั่งเศสและเป็นผลผลิตของความล้มเหลวในการปลูกฝัง "คุณค่าของสาธารณรัฐ" ผ่านระบบการศึกษาในฝรั่งเศสเอง หนึ่งใ
ดิน บัวแดง
ฉากหลังเห็นควันบุหรี่จากทหารนายหนึ่ง ในขณะที่ทหารอีกนายหนึ่งคาบบุหรี่อยู่ ภาพจาก ECPAD
ดิน บัวแดง
Charb นักเขียนการ์ตูนแนวเสียดสีชื่อดังของ Charlie Hebdo เพิ่งเขียนการ์ตูนแซวเหล่าผู้ก่อการร้ายในหนังสือพิมพ์ฉบับล่าสุด มีข้อความว่า "ยังไม่มีการก่อการร้ายในฝรั่งเศส (?) เดี๋ยว ๆ, เรายังมีเวลาถึงปลายเดือนมกราคมเพื่อที่จะ 'ให้พร' เหล่านั้น" (ประเพณีฝรั่งเศส คือการอวยพรปีใหม่สามารถยืดไปได้ถึงปลายเดื
ดิน บัวแดง
ทหารสยามมาถึงฝรั่งเศสปลายเดือนกรกฎาคมปี 1918 และบางหน่วยออกไปแนวหน้าช่วงกลาง ๆ กันยายน แต่เล็ก ๆ เรื่องหนึ่งที่ดูไม่ลงตัว คือเรื่องของอาหาร*
ดิน บัวแดง
วิชาปรัชญาเป็นวิชาบังคับในระดับมัธยมปลายในฝรั่งเศสมายาวนานตั้งแต่สมัยจักรวรรดิที่ 1 ในปี 1808 แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ในยุโรปขณะนี้ที่อาจจะไม่บังคับ หรือไม่มีเลย ถ้าบังคับก็จะมีบางประเทศ เช่น สเปน แต่ก็ไม่ใช่ปรัชญาโดยตรง แต่เป็นประวัติศาสตร์ปรัชญามากกว่า
ดิน บัวแดง
วันที่ 7 พฤษภาคม 2014 Google ฝรั่งเศสนำเสนอภาพหญิงยุโรปคนหนึ่ง แต่งกายแบบชนชั้นกลางสมัยศตวรรษที่ 18 กำลังอภิปรายอยู่บนแท่นปราศรัย
ดิน บัวแดง
"Violer le droit, supprimer l’Assemblée, abolir la constitution, étrangler la république, terrasser la nation, salir le drapeau, déshonorer l’armée, prostituer le clergé et la magistrature, réussir, triompher, gouverner, administrer, exiler, bannir, dé­porter, ruiner, assassiner, régner, avec des