ผมได้ยินชื่ออาจารย์ยิ้มครั้งแรก เมื่ออาจารย์ถูก “ศอฉ.” คุมตัว หลังการสลายการชุมนุมเดือนพฤษภาคม 2553 ขณะนั้นผมเป็นนิสิตปีที่ 2 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ไม่ได้สนใจการเมืองเป็นพิเศษ แต่เริ่มรู้สึกว่าการเมืองเข้ามาใกล้ตัวมากขึ้นทุกที ตั้งแต่เสียงยิงกันและการชุมนุมปิดถนนใกล้มหาวิทยาลัย จนกระทั่งการคุมตัวอาจารย์ในคณะและรุ่นพี่บางคนก็ถูกเรียกตัว
ในตอนแรก ผมเรียนเอกภาษาอังกฤษ แต่เหตุการณ์พฤษภา 53 ได้กระตุ้นให้ผมหันมาสนใจการเมืองมากขึ้น เมื่อกลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน (CCP) ซึ่งเป็นกลุ่มนิสิตก้าวหน้าที่เคลื่อนไหวอยู่ในจุฬาฯ ณ ขณะนั้น จัดกลุ่มศึกษาเรื่อง “สังคมวิทยาของคนเสื้อแดง” เพื่อตอบคำถามพื้นฐานว่าคนเสื้อแดงคือใคร ผมก็เข้าไปร่วมฟัง และหลังจากนั้นก็ได้ตกลงเป็นสมาชิกของกลุ่มโดยทันที หลังจากได้เริ่มอ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และการเมือง รวมทั้งได้ทำกิจกรรม พบปะกับนักเคลื่อนไหวมากขึ้น ผมจึงตัดสินใจ “เปลี่ยนเอก” จากเอกภาษาอังกฤษ เป็นเอกประวัติศาสตร์ เพราะเชื่อว่าประวัติศาสตร์สามารถช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับความขัดแย้งในปัจจุบันได้ดีกว่าการเรียนวรรณคดีและภาษาศาสตร์แน่
เรียนกับอาจารย์ยิ้ม
โดยไม่ได้ตั้งใจ ผมได้เรียนกับอาจารย์ยิ้มครบทุกวิชา คือวิชาประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ประวัติศาสตร์รัสเซีย ประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย ประวัติท้องถิ่น และปรัชญาประวัติศาสตร์ ความรู้สึกเมื่อเรียนกับอาจารย์ยิ้ม คืออาจารย์ยิ้มเป็นนักประวัติศาสตร์ที่ Classic จริงๆ แบบที่เวลาคนจินตนาการถึงนักประวัติศาสตร์ จะต้องนึกถึงภาพแบบนี้ คือแม่นเรื่องวัน เดือน ปี และแม่นเรื่องชื่อคน ประวัติศาสตร์แบบอาจารย์ยิ้ม จะมีชื่อคนมากมาย และวันที่เต็มไปหมด ความแม่นของอาจารย์ยิ้มนี้ เป็นคุณสมบัติที่ดีของนักประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในระยะหลังนักประวัติศาสตร์หันมาสนใจเรื่องไอเดียและทฤษฎีมากขึ้นจนบางครั้งละเลยข้อมูลพื้นฐาน (รวมทั้งผมเองด้วย) อาจารย์ยิ้มจึงเป็นแบบอย่างของนักประวัติศาสตร์ที่ Classic และหาตัวจับได้ยาก
อีกอย่างหนึ่งที่ทุกคนที่ได้เรียนกับอาจารย์ยิ้มจะเจอ ก็คืออาจารย์ยิ้มจะให้นิสิตอ่านวรรณกรรม 1 เล่มแล้วเขียนรายงานออกมาเสมอ อาจารย์ยิ้มเองเป็นคนชอบอ่านวรรณกรรม เข้าใจว่าอ่านพวกนิยายกำลังภายในจีนจนช่ำชอง เวลาเรียนกับอาจารย์ทุกวิชา อาจารย์จะให้จับฉลาก นิสิตแต่ละคนจะได้วรรณกรรมหนึ่งเล่ม แล้วให้เขียนสรุปวิเคราะห์โดยให้เกี่ยวเนื่องกับวิชานั้น ๆ การได้อ่านวรรณกรรมเป็นการเปิดโลกทรรศอย่างมาก ไม่มีวิชาประวัติศาสตร์อื่นใดให้อ่านวรรณกรรมยกเว้นวิชาที่อาจารย์ยิ้มเป็นผู้รับผิดชอบ ประวัติศาสตร์นั้นมีความรู้สึก ชีวิต จิตใจ และเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ผ่านงานวรรณกรรม
มีวรรณกรรมเรื่องนึงที่ผมจำได้ คือเรื่อง What is to be done? ของ Chernyshevsky ซึ่งว่ากันว่าเลนินได้อ่านหลายครั้งและเป็นแรงบันดาลใจให้เขียนหนังสือชื่อเดียวกันออกมา อันที่จริงตอนผมจับฉลากในวิชาประวัติศาสตร์รัสเซีย ผมได้วรรณกรรมเล่มอื่น แต่อาจารย์ยิ้มคงเห็นผมเป็นพวกนักกิจกรรม เลยเสนอให้อ่านเล่มนี้ เพราะเป็นภาษาอังกฤษ ไม่มีใครเขาอ่านกัน และมีให้ยืมได้ที่ห้องสมุดกลาง หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษารัสเซียในปี 1863 พอมาอ่านในยุคสมัยนี้พบว่าน่าเบื่อมากทั้งในเชิงภาษาและโครงเรื่อง ผมก็เขียนรายงานไปตามความรู้สึกและสติปัญญาที่พอจะทำได้
ต่อมาดูเหมือนว่าอาจารย์ยิ้มจะประทับใจรายงานฉบับนั้น ราวปลายปี 2559 อาจารย์ยิ้มติดต่อผมมาบอกว่าค้นเจอรายงานเรื่อง What is to be done? ที่ผมเคยเขียนเมื่อเป็นนิสิต อาจารย์อยากจะให้ผมแก้ไขบทความเล็กน้อยเพื่อเอาไปตีพิมพ์ในวารสารยุโรปศึกษา สิ่งที่ผมรู้สึกผิดมากจนถึงตอนนี้ คือในเบื้องต้นผมได้รับปากอาจารย์เอาไว้ แต่ดันมา “เบี้ยว” เอาภายหลัง เพราะขณะนั้นผมวุ่นอยู่กับการปิดเล่มวิทยานิพนธ์ปริญญาโท รวมทั้งกำลังเตรียมเขียน proposal ต่อในระดับปริญญาเอก จึงไม่ได้แก้ไขส่งไปให้อาจารย์ ได้แต่ส่งไฟล์เท่าที่ผมมีให้อาจารย์ไป นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ผมได้ติดต่อกับอาจารย์ยิ้ม
กลับมาสู่เรื่องสมัยเรียนกับอาจารย์ จำได้ว่าทุกปีอาจารย์ในภาควิชาสามารถจะเปิดวิชาที่ตนสนใจได้ ปีนั้นถึงตาของอาจารย์ยิ้ม เขาจึงมาถามกับนิสิตว่า อยากจะเรียนวิชาประวัติศาสตร์โปรตุเกส หรือปรัชญาประวัติศาสตร์ อาจารย์ยิ้มเป็นอาจารย์ไม่กี่คนในไทย ที่ศึกษาประวัติศาสตร์โปรตุเกสจนเชี่ยวชาญ แต่ผมไม่แน่ใจว่าตั้งแต่อาจารย์ยิ้มเรียนจบมา เขาได้เปิดสอนวิชาประวัติศาสตร์โปรตุเกสบ้างหรือเปล่า ปีนั้นก็เช่นกัน เมื่ออาจารย์ยิ้มเสนอทางเลือกคือวิชาปรัชญาประวัติศาสตร์ ทุกคนก็เลือกที่จะเรียนวิชาปรัชญาประวัติศาสตร์ ทำให้อาจารย์ยิ้มต้องไปเตรียมสอนมาอย่างหนัก (อาจารย์ยิ้มกระซิบบอกผมว่า ให้ไป “ขโมย” syllabus ของคนชื่อสมศักดิ์ จากสำนักธรรมศาสตร์มาให้หน่อย) มีเรื่องตลกก็คือ เมื่ออาจารย์ยิ้มแจกรายชื่อหนังสืออ่านประกอบวิชาเรียบร้อยแล้ว เขาบอกว่า "ไม่ต้องไปหามาอ่านหรอก หนังสืออยู่ที่ผมหมดแล้วเพราะผมต้องใช้เตรียมสอน!"
รายชื่อ "นักประวัติศาสตร์" ที่เราต้องเรียนในวิชา "ปรัชญาประวัติศาสตร์" เพื่อนผมชื่อป่านถ่ายเอาไว้ตอนเราติวกันที่หอสมุดกลาง ป่านอัพในเฟสบุ๊คว่า "อาจารย์คะมันเยอะจังค่ะ" อาจารย์ยิ้มเขียนตอบว่า "เอาประเด็นหลักสิป่าน"
เมื่อได้เรียนกับอาจารย์หลายวิชา ก็สนิทสนมกันมากขึ้น ทุกวิชาที่ผมเรียน อาจารย์จะมอบหน้าที่ให้ผมไปซื้อกาแฟในช่วงเวลาพักครึ่ง โดยเรียกผมว่า “หนูดิน” เช่น “เอ้า หนูดิน ไปซื้อกาแฟ” ช่วงแรกเขาจะกินแต่เนสกาแฟกระป๋องซึ่งหวานเจี๊ยบ ไม่รู้กินไปได้อย่างไร เมื่อตึกใหม่ของคณะอักษรศาสตร์เปิดให้ใช้ และมีร้านกาแฟทรูมาเปิดด้วย เขาก็หันไปกินกาแฟทรูใส่นม นอกจากนี้ หากมีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยได้ ผมก็ช่วย เช่นมีอยู่ครั้งหนึ่ง USB ของอาจารย์ยิ้มโดนไวรัส ทำให้ไฟล์เหมือนจะหายไปหมด โชคดีที่ผมก็เคยโดนและเข้าใจว่าอันที่จริงมัน “ซ่อน” ไฟล์ไว้ ไม่ได้หายไปไหน ผมเลยอาสาเอา USB อาจารย์กลับบ้านแล้วช่วยล้างไวรัสให้ อาจารย์ยิ้มตกใจแทบแย่นึกว่าเอกสารทุกอย่างที่เตรียมไว้จะหายไปหมดซะแล้ว
มีอยู่ครั้งหนึ่งที่อาจารย์ยิ้มช่วยชีวิตผมเอาไว้ ด้วยความเป็นคนไม่เอาไหน ขี้เกียจ และชอบนอนเป็นชีวิตจิตใจ ผมหลับสนิทในวันที่จะต้องไปสอบวิชาประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ซึ่งเป็นวิชาบังคับของภาควิชา เมื่อหนึ่งชั่วโมงผ่านไป ผมยังไม่โผล่ไปที่ห้องสอบ อาจารย์ยิ้มซึ่งเป็นทั้งผู้สอนและผู้คุมสอบ ก็โทรเข้าเบอร์มือถือของผม ถามว่าอยู่ไหน นี่ผ่านไปชั่วโมงนึงแล้ว ผมตกใจรีบใส่กางเกง หน้าไม่ล้าง ฟันไม่แปรง ไปถึงห้องสอบภายใน 15 นาที ก่อนที่จะหมดสิทธิสอบ ที่น่าตกใจคือมีคนมาสายกว่าผมอีก มายืนร้องไห้เพราะอาจารย์ไม่ให้เข้าสอบ แต่เข้าใจว่าตอนหลังอาจารย์ยิ้มจะอนุโลมให้สอบได้อยู่เหมือนกัน วิชานั้นผมเขียนเสร็จภายในหนึ่งชั่วโมง และได้เกรด A
อาจารย์ยิ้มกับกิจกรรมนักศึกษา
นอกจากเรื่องการสอนแล้ว ความเป็นนักกิจกรรมของอาจารย์ยิ้มก็เป็นที่รู้กันดี อาจารย์มีบทบาทพบปะเข้าร่วมประชุมกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวช่วงหลังปี 53 อยู่เป็นประจำ ความเป็นนักกิจกรรมของอาจารย์ยิ้ม ย้อนกลับไปเมื่อครั้งอาจารย์เองเป็นนักศึกษา เมื่อผมได้สัมภาษณ์อาจารย์ยิ้มในหัวข้อขบวนการนักศึกษาหลัง 2519 เพื่อทำรายงานวิชาประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย อาจารย์เล่าเรื่องของการทำงานของนักเคลื่อนไหวในเมืองที่เรียกว่า “องค์กรผู้ปฏิบัติงาน” ผมจำได้ดีว่าอาจารย์ยิ้มพูดถึงความพ่ายแพ้ด้วยความโกรธ ซึ่งสะท้อนความมุ่งมั่นทุ่มเทของอาจารย์ในเรื่องการเคลื่อนไหว: “ปี 23 ยุบองค์กร ต่อมาปี 24 นี่พรรคก้าวหน้าในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ยุบหมด บนดินก็พัง ปี 27 – 28 พวกเชียร์จะกลับมา พังเพราะพรรคก็พัง พังทั้งขบวน ผมทำงาน ผู้ปฏิบัติงานลาออกทุกวัน”
ที่เกี่ยวข้องกับผมโดยตรง คือเมื่อผมและเพื่อนๆ พยายามจะจัดเสวนาเรื่อง “เสรีภาพนิสิตนักศึกษาในพระปรมาภิไธย” ในช่วงปลายปี 2554 ในนามกลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน (CCP) โดยตั้งใจจะจัดที่คณะอักษรศาสตร์ ปรากฎว่าทางคณะบ่ายเบี่ยงพยายามไม่ให้เราใช้ตึก โดยการขอเอกสารรายละเอียดเกี่ยวกับองค์กรของเราและให้มีอาจารย์ลงนาม พวกเราได้ไปขอให้อาจารย์ยิ้มช่วย และอาจารย์ก็ได้ลงนามให้เราอย่างรวดเร็ว แต่ทว่า สุดท้ายแล้วเราก็ไม่ได้จัดที่คณะอักษรฯ เพราะมีจดหมายจากคณบดีตอบกลับมาว่า “เรื่องนี้เห็นจะเกินกำลังของคณะ ให้ติดต่อมหาวิทยาลัย” เราจึงย้ายไปจัดที่คณะรัฐศาสตร์แทน
นอกจากนี้ อาจารย์ยิ้มยังได้ช่วยเหลือกลุ่ม CCP อีกหลายครั้งทั้งทางตรงและทางอ้อม เมื่อเราจัดเสวนา “รักลั่นสนั่นเมือง” ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ปี 2556 อาจารย์ยิ้มก็ให้เกียรติมาเป็นวิทยากร (ดูรายละเอียดงานเสวนาได้ที่ https://prachatai.com/journal/2013/02/45285) พวกเราจะแซวกันว่าอาจารย์ยิ้มพูดได้ทุกเรื่อง เชิญมาร่วมงานไหนก็มา (หากไม่ติดภารกิจรับลูก) ความเป็นจริงก็คือเราประทับใจทุกครั้งที่อาจารย์ยิ้มมา เพราะอาจารย์ยิ้มรู้กว้างและลึก เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆจากอาจารย์ยิ้มอยู่เสมอ หากอาจารย์ยิ้มมาไม่ได้ เขาก็จะให้กำลังใจเรา เมื่อเราจัดเสวนา “เรายังจะจัดงานบอลกันอีกหรือ?” อาจารย์ยิ้มซึ่งเจอผมในโถงทางเดินคณะอักษรศาสตร์ ได้ให้กำลังใจและเล่าให้ฟังว่าสมัยเขาเป็นนักศึกษานั้น เขาได้ยกเลิกไม่ให้มีงานบอลและปรับเปลี่ยนงานบอลให้มีลักษณะก้าวหน้าขึ้นในปีต่อๆ ไป
อาลัยอาจารย์ยิ้ม
มีบางช่วงสมัยที่ผมเป็นนิสิต อาจารย์ยิ้มมีปัญหาสุขภาพมาก ผมจำได้ดีว่าอาจารย์ขึ้นบันไดอย่างยากลำบาก ต้องก้าวขึ้นทีละก้าว แต่ช่วงผมใกล้จบ อาจารย์สุขภาพดีขึ้นมาก ดูแข็งแรง น้ำหนักลด อาจารย์บอกผมว่าเปลี่ยนหมอและเปลี่ยนยา ทำให้เรื่องเบาหวานนั้นดีขึ้น
มีคนบอกผมเป็นระยะว่าอาจารย์ยิ้มป่วย เข้าโรงพยาบาล เมื่อราวเดือนกรกฎาคมปี 2560 ผมไม่ทราบรายละเอียด และไม่นึกว่าอาการจะหนัก หลังจากนั้นไม่นานอาจารย์ก็ออกจากโรงพยาบาล และกลับมาเล่นเฟสบุ๊ค ผมจึงสบายใจและดีใจว่าอาจารย์หายแล้ว จนสุดท้ายต้องมาเสียใจเป็นอย่างมาก เมื่อได้ข่าวว่าอาจารย์ได้จากเราไปแล้วเมื่อเช้าวันที่ 27 กันยายน 2560
ในฐานะอดีตนิสิตที่ได้เรียนกับอาจารย์ และได้รับแรงบันดาลใจเรื่องการเคลื่อนไหวของอาจารย์ ผมคงทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากตั้งใจศึกษาเล่าเรียนในปริญญาเอก กลับมาสอนหนังสือโดยมีอาจารย์เป็นตัวอย่าง (ถ้าผมได้สอน ผมจะให้นักศึกษาอ่านวรรณกรรมบ้าง อย่างที่อาจารย์ได้เคยให้พวกเราทำ) ส่วนในเรื่องบ้านเมืองนั้น แม้อาจารย์ยิ้มจะไม่ทันได้เห็นบ้านเมืองเป็น “ประชาธิปไตย” แต่อาจารย์ยิ้มได้ทิ้งมรดกไว้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือและบทความหลายชิ้นที่อาจารย์เขียน สิ่งที่อาจารย์ยิ้มได้ทิ้งไว้จะกลายเป็น “ทุน” ที่สำคัญสำหรับคนรุ่นหลังที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศก้าวหน้าเป็นประชาธิปไตยอย่างที่อาจารย์ได้วาดหวังเอาไว้ต่อไป
แด่ครูและราษฎร์บัณฑิตที่รักของเราทุกคน
ภาพสุดท้ายที่ถ่ายกับอาจารย์ยิ้ม ในรูปมีผมและเหมี่ยวเพื่อนเอกประวัติศาสตร์ ถ่ายวันที่ 28 สิงหาคม 2556 ไม่นานก่อนผมไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศส