การเคลื่อนทะยานของแผงโครงข่ายโลจิสติกส์บนพื้นทวีปเอเชียอาคเนย์ มักจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ภูมิทัศน์หลักๆ อันได้แก่
1. ภูมิทัศน์แนวดิ่ง (เหนือ-ใต้) โดยเฉพาะจากคุนหมิง เข้าสู่เขตสามเหลี่ยมทองคำ แล้วเจาะทะลุเข้า กรุงเทพฯ จนไปออกสถานีปลายทางที่มาเลเซียและสิงคโปร์ และ
2. ภูมิทัศน์แนวระนาบ (ตะวันตก-ตะวันออก) ที่มีเส้นทางที่ไล่มาจากเมืองมะละแหม่งของเมียนมาร์ แล้วไปออกท่าเรือดานังของเวียดนาม กับสายที่โผล่ออกมาจากท่าเรือทวายแล้วตัดเข้าสู่พนมเปญและโฮจิมินทร์ซิตี้
กระนั้น คำถามพื้นฐานมักจะอยู่ตรงที่ว่า ภูมิทัศน์แบบใดที่น่าจะมีศักยภาพต่อการพัฒนาโลจิสติกส์และระบบการค้าการลงทุนได้มากที่สุด ซึ่งแนวคำตอบอาจจะพอเป็นไปได้ทั้งการวิเคราะห์สภาพภูมิประเทศและศักยภาพของกลุ่มหัวเมืองรายทาง หรือแม้กระทั่งการมองยุทธศาสตร์เชิงพัฒนาของบรรดารัฐและกลุ่มจังหวัดต่างๆ ที่ตั้งเรียงรายไปตามเส้นสายโลจิสติกส์ รวมถึงบทบาทอิทธิพลขององค์กรและรัฐมหาอำนาจภายนอก อย่างเช่น จีน ญี่ปุ่น หรือธนาคารพัฒนาเอเชีย
นอกจากนั้น การเชื่อมร้อยผลประโยชน์จากโครงข่ายโลจิสติกส์ ก็อาจทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อชิงโอกาสของบรรดากลุ่มท้องถิ่นและโซนภูมิภาคต่างๆ ภายในรัฐนั้นๆ อาทิ กระแสการล็อบบี้เพื่อให้มีการพัฒนาถนนจากทวายผ่าน กรุงเทพฯ เข้าไปยังหัวเมืองชายทะเลตะวันออกแล้วจึงทะลุออกไปยังกัมพูชาและเวียดนาม แต่กระนั้น กลับพบเห็นว่าบรรดาหอการค้าในภาคอีสาน ต่างก็เริ่มทยอยออกมารณรงค์เพื่อกระตุ้นให้มีการเชื่อมร้อยทวายเข้ากับจังหวัดอุบลราชธานี โดยผ่าน กรุงเทพฯ ฯแล้วโยงเข้าโคราช บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลฯ ซึ่งก็จะมีเส้นทางตัดเข้าไปยังเมืองจำปาสัก สาละวันและดานัง
โดยปรากฏการณ์ดังกล่าว ย่อมส่งผลให้เกิดการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบเพื่อตัดแบ่งทางเชื่อมทวายออกเป็นสองเส้นทางซึ่งแตกแยกย่อยออกเป็นสายที่พาดผ่านแหลมฉบัง จันทบุรี ตราด หรือ สายที่เข้าอีสานใต้แล้วยิงตรงเข้าดานังของเวียดนาม
ในทำนองเดียวกัน แนววิเคราะห์เช่นนี้ ก็มักจะเกิดขึ้นกับพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์อื่นๆ อาทิ การประเมินจุดคุ้มทุนระหว่างถนนสายเอเชียที่จะเคลื่อนจากเชียงรายเข้าสู่เชียงรุ่งสิบสองปันนา ซึ่งก็มีทั้งเส้นทางที่ผ่านเข้าเมืองเชียงตุงของเมียนมาร์ กับสายที่ผ่านหลวงน้ำทาในลาว
จากการตั้งแนวคำถามโดยคร่าวๆ คงหวังว่าท่านผู้อ่านอาจรู้สึกหรือเกิดอาการสนุกขึ้นมาที่จะร่วมวิเคราะห์ทำเลทองทางภูมิรัฐศาสตร์ตามเขตจังหวัดต่างๆ อันเป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของแต่ละท่าน หรือ ตามกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่ท่านผู้อ่านมีความสนใจเป็นพิเศษ
คำถามขบคิดที่น่าสนใจ อย่างเช่น
ขณะที่ระเบียงโลจิสติกส์แนวระนาบ เมียนมาร์จะมีทั้งทวายและมะละแหม่งเป็นสองสถานีการค้าหลัก หากแต่เวียดนาม แม้มีเพียงแค่ดานัง แต่กลับเป็นชุมสายถนนที่โยงได้ทั้งทวายและมะละแหม่ง ขณะที่ไทยกลับเป็นทั้งศูนย์กลางและทางผ่าน โดยอาจมีการก่อตัวของเมืองจุดตัดอยู่หลักๆ สี่แห่ง ได้แก่ พิษณุโลก ขอนแก่น กรุงเทพฯ และเชียงราย
จากกรณีดังกล่าว ประเทศใดน่าจะมีศักยภาพในการเก็บเกี่ยวความมั่งคั่งจากโลจิสติกส์ได้มากที่สุด หรือว่าทุกประเทศจะสามารถแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมได้ในอัตราที่ใกล้เคียงกัน หรือเมืองใดในภาคอีสานที่จะเจริญเติบโตมากที่สุดระหว่างขอนแก่น นครราชสีมาและอุบลราชธานี ขณะที่จังหวัดที่จะมีทางรถไฟและระเบียงเศรษฐกิจพาดผ่านอย่างเช่นร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หรือ มหาสารคาม เมืองใดน่าจะมีศักยภาพเพื่อเก็บเกี่ยวความมั่งคั่งจากกระแสเออีซีได้มากที่สุด
อย่างไร ลองรับไว้พิจารณาพร้อมร่วมแลกเปลี่ยนได้ตามอัธยาศัย
ดุลยภาค ปรีชารัชช