Skip to main content

 

 

เมื่อไม่นานมานี้ ผมพึ่งทราบข่าวว่า Total Gameplay Studio บริษัทพัฒนาเกมส์จากประเทศเมียนมาร์ ได้ประกาศเปิดตัวเกมส์ออนไลน์ฉบับกึ่งประวัติศาสตร์ โดยใช้ชื่อว่า "Age of Bayinnaung" หรือ "ตำนานบุเรงนอง" ซึ่งจะให้ผู้เล่นทำการสร้างเมืองให้แข็งแกร่งและปกป้องข้าศึกจากการรุกรานของคู่ปรปักษ์

โดยเว็บเพจ "game.mthai.com" ได้ระบุว่า ผู้เล่นเกมส์จะสามารถเลือกฝ่ายอาณาจักรที่มีอยู่ด้วยกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ ค่ายของพระเจ้าบุเรงนอง (พม่า) ค่ายของพระนเรศวร (สยาม) และค่ายของเจ้าเสือข่านฟ้า (ไทใหญ่) ซึ่งแต่ละก๊กล้วนมีความสามารถพิเศษ รวมถึงกองทัพทหารชำนาญการ และสิทธิผลประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป ต่อจากนั้น จึงค่อยเข้าสู่การเริ่มต้นสร้างหมู่บ้านเล็กๆ ให้กลายสภาพเป็นนคราขนาดใหญ่ผ่านการเก็บเกี่ยวแหล่งทรัพยากรเพื่อผลิตสิ่งปลูกสร้าง พร้อมแลกเปลี่ยนวัตถุดิบระหว่างผู้คนในหมู่บ้านที่อยู่รายรอบ หรืออาจจะทำการบุกรุกทลายหมู่บ้านใกล้เคียงเพื่อขยายอาณาเขต จากนั้น จึงค่อยๆ สร้างสมกองทหารเพื่อปกป้องเมืองให้แข็งแกร่ง ซึ่งทั้งนี้ ผู้เล่นอาจสามารถยกระดับทางการทหารด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรระหว่างหัวเมืองข้างเคียง หรืออาจเปิดศึกแย่งชิงพื้นที่เพื่อผนวกเมืองประเทศราช

จากการได้ชมภาพตัวอย่าง ทำให้ผมเห็นมุมวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์ที่แจ่มชัดขึ้นผ่านกลเกมส์ออนไลน์ของสังคมเมียนมาร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กำเนิด วิวัฒนาการ ความรุ่งเรืองและความเสื่อมถอยของแต่ละอาณาจักร ย่อมได้รับอิทธิพลจากเหตุปัจจัยหลากหลายมิติ ซึ่งส่วนหนึ่งคงหนีไม่พ้นเรื่องยุทธศาสตร์ทหารและกลยุทธ์การรบทัพจับศึก โดยการผลิตเกมส์ของโปรแกรมเมอร์ชาวเมียนมาร์ คงสะท้อนให้นักวิเคราะห์ได้มองเห็นถึงคุณลักษณะสากลในมิติทางการเมืองการทหาร ซึ่งคงจะคล้ายคลึงกันบางส่วนกับนวัตกรรมการทำสงครามแบบป้อมค่ายในวรรณกรรมสามก๊ก หรือ ข้อถกเถียงเกี่ยวกับ "The Rise and Fall of Great Powers" ของนักรัฐศาสตร์การทูตชื่อดังอย่าง Paul Kennedy ที่มองความรุ่งโรจน์แตกดับของรัฐมหาอำนาจ เช่น รัสเซีย-ออสเตรีย-ฮังการี ผ่านการดำเนินนโยบายด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน การวางโครงเรื่องให้เน้นหนักไปที่ประวัติศาสตร์การขยายมณฑล (Mandala) ขององค์ราชันย์อุษาคเนย์ โดยเฉพาะปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐจารีตหงสาวดี รัฐจารีตอยุธยา หรือแม้กระทั่ง กลุ่มนครรัฐไทใหญ่ลุ่มน้ำสาละวิน นครรัฐตองอูลุ่มน้ำสะโตง และนครรัฐล้านนาในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน ก็ได้ช่วยชี้ชวนให้เห็นถึงเขตปฏิบัติการทางทหารที่มีสนามแข่งขันหรือเส้นทางเดินทัพและแนวสะสมเสบียงในลักษณะที่ข้ามลุ่มน้ำหรือเหลื่อมทับกันระหว่างเขตที่ราบต่อที่ราบหรือระหว่างเขตที่ราบกับที่สูง ซึ่งก็ถือเป็นคุณลักษณะเฉพาะของโครงข่ายปริมณฑลในรัฐอุษาคเนย์โบราณ


พระเจ้าบุเรงนอง (ภาพจาก game.mthai.com)


พระนเรศวร (ภาพจาก game.mthai.com)

ส่วนในเรื่องของตัวละคร โปรแกรมเมอร์เมียนมาร์ได้ชูวีรบุรุษราชาชาตินิยมอย่างเช่นพระเจ้าบุเรงนอง พระนเรศวร และ เจ้าเสือข่านฟ้า เพื่อทำหน้าที่เป็นแม่ทัพหรือเจ้าเหนือหัวแห่งโลกออนไลน์ โดยการประดิษฐ์ขุนศึกบุเรงนองผู้เกรียงไกร คงจะถือเป็นเรื่องปกติที่อยู่ในความรับรู้ทั่วไปของคนพม่า หากแต่การวาดภาพพระนเรศวรที่ดูหนุ่มทะมัดทะแมง พร้อมมีฉากหลังเป็นความมืดสลับกับประกายไฟ ก็อาจสะท้อนความเข้าใจของผู้ผลิตโครงเรื่องที่ย่อมซึมซับพระนเรศวรในฐานะ "เจ้าองค์ดำ" หรือ "ราชาอัคคี" พร้อมมีการแต่งเติมเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ดูจะได้รับอิทธิพลบางส่วนจากภาพยนตร์เรื่อง "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชของไทย"


เจ้าเสือข่านฟ้า (ภาพจาก game.mthai.com)

ขณะที่ การปรากฏตัวของเจ้าเสือข่านฟ้าในฐานะนักรบที่เคลื่อนตัวมาพร้อมกับเกร็ดหิมะและกลุ่มพญาเสือโคร่งสีขาว (เสือเผือก ตามคำเรียกของคนไทใหญ่) ก็นับเป็นอีกหนึ่งฉากทัศน์ที่น่าสนใจ ทั้งนี้เนื่องจากเจ้าเสือข่านฟ้าถือเป็นวีรชนของนักชาตินิยมไทใหญ่ ซึ่งหากเทียบเคียงศักราช นับว่าทรงพระราชสมภพก่อนสมัยพระเจ้าบุเรงนองและพระนเรศวรอยู่มาก ซึ่งช่วงการทรงราชย์ของพระองค์จะตกอยู่ระหว่างปี พ.ศ.1833-1907 หรือพูดอีกแง่ คือใกล้เคียงกับรัชกาลของพระเจ้าฟ้างุ้มแห่งล้านช้างร่มขาว

โดยจุดเด่นของเจ้าเสือข่านฟ้าที่อาจจะคล้ายคลึงกับเจ้าฟ้างุ้ม คงหนีไม่พ้น การรวบรวมอาณาจักรไทใหญ่ให้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งหากพลิกหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างถ้วนทั่ว เขตมณฑลเช่นว่านี้ แท้จริงแล้ว ก็คือ อาณาจักร "โกสัมพีหมอกขาวมาวหลวง" ที่มีศูนย์อำนาจอยู่ที่เมืองมาว/เมืองรุ่ยลี่ในเขตลุ่มแม่น้ำฉ่วยลี โดยมีอาณาเขตมณฑลครอบคลุมบริเวณรัฐฉาน รัฐคะฉิ่นของเมียนมาร์ รวมถึงเขตปกครองตนเองเต๋อหงของจีนตอนใต้ปัจจุบัน (ซึ่งหลายเมืองตั้งอยู่ในเขตเขาสูงและมีหิมะปกคลุมบางช่วง)

จากกรณีดังกล่าว การที่คีย์บอร์ดออนไลน์เมียนมาร์ ทำการเนรมิตให้วีรบุรุษของชนชาติพันธุ์ในเขตที่สูง กลายเป็นจอมราชันย์ที่อยู่ในระดับเดียวกันกับพระเจ้าบุเรงนองและพระนเรศวร คงจะแสดงให้เห็นถึงการเปิดพื้นที่ประวัติศาสตร์ชาติเพื่อให้องค์ราชันย์นอกเขตใจกลางได้สำแดงนาฏกรรมทางการทหารที่ใกล้เคียงกับเจ้าราชาธิราชพื้นถิ่นอย่างเช่นผู้ชนะสิบทิศและองค์ราชาอัคคีนเรศวร

ฉะนั้นแล้ว คงหวังว่า การอัพเดทเรื่องเกมส์ออนไลน์ผ่านระบบแมนดาลา (Mandala/มณฑล) ในครั้งนี้ คงจะช่วยเผยให้เห็นถึงมโนทัศน์ทางยุทธศาสตร์และจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์ของคนพม่าบางส่วน ที่พยายามจะเชื่อมร้อยปฏิสัมพันธ์อันลุ่มลึกระหว่างพม่า-สยาม-ไทใหญ่ ซึ่งนับเป็นความเปลี่ยนแปลงที่มิเคยปรากฏมาก่อนในแวดวงออนไลน์ของเมียนมาร์ พร้อมมีนัยสำคัญต่อกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างชีวประวัติประจำชาติหรือประจำภูมิภาคผ่านภาพลายศิลป์แบบ "Japanization" และโครงเรื่องแบบ "Burmanization" ผสมกับ "Thainization", "Tainization" และ "Aseanization" ซึ่งก็นับเป็นประดิษฐ์กรรมทางการทูตเชิงวัฒนธรรมออนไลน์ ที่ทรงเสน่ห์ในยุคที่เมียนมาร์เริ่มเปิดประเทศและขึ้นแท่นเป็นประธานอาเซียนประจำปี พ.ศ.2557


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

บล็อกของ ดุลยภาค