Skip to main content

 

เมื่อไม่นานมานี้ พลเอกมินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพพม่า ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว Channel NewsAsia เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่กองทัพพม่าจะตัดสินใจทำรัฐประหาร โดยเขากล่าวชื่นชมตัวแบบรัฐประหารของกลุ่มทหารไทยเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา โดยเห็นว่าเป็นรัฐประหารที่ไม่เสียเลือดเนื้อและช่วยประกันความปลอดภัยให้กับประชาชน ซึ่งเขามองว่าสังคมไทยไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้วนอกจากการเข้ามาจัดระเบียบของกองทัพ

ส่วนกรณีการทำรัฐประหารในพม่า นายพลท่านนี้ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตามกรอบรัฐธรรมนูญพม่า หากสถานการณ์ไร้ระเบียบแพร่ระบาดจนยากควบคุม ประธานาธิบดีจะประกาศสภาวะฉุกเฉิน โดยสามารถเรียกให้กองทัพเข้ามาควบคุมสถานการณ์ได้โดยอัตโนมัติ

แต่กระนั้น นักวิเคราะห์ชาวพม่าบางท่านกลับเห็นว่า การรัฐประหารย่อมขึ้นอยู่กับการตีความสถานการณ์ความรุนแรงของผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งถูกออกแบบให้มีอำนาจเป็นอย่างมากในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉะนั้น การที่ทหารจะเคลื่อนรถถังออกมาเปลี่ยนระบอบการเมืองใหม่ พร้อมฉีกรัฐธรรมนูญ อาจเป็นฉากอนาคตที่ย่อมเป็นไปได้พอๆ กัน


พลเอกมินอ่องหล่าย พร้อมด้วยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร


การเคลื่อนพลรถถังประกอบพิธีสวนสนามในวันกองทัพพม่า กรุงเนปิดอว์

สำหรับทรรศนะของผม รูปแบบรัฐประหารในพม่า อาจมี 2 แบบ

1. รัฐประหารเงียบผ่านการประกันอำนาจในรัฐธรรมนูญ 2008 กล่าวคือ หากตรวจสอบรัฐธรรมนูญพม่าหมวด 11 ว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อใดก็ตามที่ปรากฏเหตุไม่สงบเฉพาะพื้นที่หรือที่รุนแรงแพร่ระบาดไปทั่วประเทศ ประธานาธิบดีสามารถประกาศสภาวะฉุกเฉิน โดยเรียกให้กองทัพก้าวเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครอง ซึ่งภายใต้กฎอัยการศึก อำนาจอธิปไตยในแบบปกติ คือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ จะถูกเปลี่ยนแปลงถ่ายโอนให้เข้าไปอยู่ใต้การควบคุมของโครงสร้างกองทัพ

กระนั้น หน่วยงานที่จะร่วมพิจารณากับประธานาธิบดีเกี่ยวกับสภาวะฉุกเฉิน คือ 'สภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ' ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 11 ท่าน ในจำนวนนี้พบว่า ราวเกินครึ่ง ล้วนเป็นคณะรัฐบุคคลที่เป็นพรรคพวกเดียวกันกับทาง ผบ.สส. เช่น ตัว ผบ.สส. และรอง ผบ.สส. ที่เป็นสมาชิกโดยตำแหน่ง ตลอดจน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม มหาดไทย และกิจการชายแดน ซึ่งได้รับการคัดเลือกพิจารณาขึ้นสู่ตำแหน่งโดย ผบ.สส. (ไม่ใช่ประธานาธิบดี)

ฉะนั้น หาก ผบ.สส. เห็นว่าบ้านเมืองสับสนวุ่นวายจนกองทัพต้องเข้ามาแทรกแซงจัดระเบียบ การชักสายใยอำนาจจากเครือข่ายสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อบีบประธานาธิบดีให้ประกาศภาวะฉุกเฉิน ก็อาจทำได้ ซึ่งนั่น อาจส่งผลให้กองทัพสามารถก้าวเข้ามาบริหารประเทศหรือควบคุมพื้นที่ที่มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์การเมืองได้โดยอัตโนมัติ ส่วนห้วงเวลาที่กำหนดว่าทหารจะอยู่ในอำนาจกี่ปี รัฐธรรมนูญปี 2008 ได้กำหนดระยะเวลา 1 ปี ในการคืนความสงบสู่รัฐ แต่หากมีเหตุต้องทอดเวลาออกไป สภากลาโหมฯ จะเป็นฝ่ายพิจารณาอนุมัติให้ ผบ.สส. อยู่ในอำนาจต่อไปได้อีก ซึ่งย่อมทำให้ ทหารพม่าสามารถเข้ามาปรับเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองให้มีเสถียรจนเป็นที่น่าพอใจ แล้วจึงค่อยถอยตัวออกไปเพื่อเบิกทางให้รัฐบาลกึ่งพลเรือนก้าวขึ้นมามีอำนาจต่อ

2. รัฐประหารแบบเต็มรูป ซึ่งอาจเกิดขึ้นในกรณีที่ขั้วอำนาจของประธานาธิบดีมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับกองทัพจนยากจะประนีประนอม หรือประเทศมีความแตกร้าวของสังคมที่ปะทุคุโชนในวงกว้างพร้อมนำไปสู่การทำลายความสามัคคีของคนในชาติจนยากจะฟื้นคืน หรืออาจเป็นเพราะประชาธิปไตยอำนาจนิยมที่ถูกออกแบบมาในรัฐธรรมนูญปี 2008 เริ่มเปิดช่องโหว่จนทำให้ประเทศชาติไร้ระเบียบและเสี่ยงต่อการล่มสลาย (ตามฐานตีความเรื่องความมั่นคงและผลประโยชน์ของกองทัพ) โดยทหารพม่าอาจเคลื่อนรถถังและอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อยึดอำนาจจากประธานาธิบดี ฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วหมุนการปกครองกลับไปเป็นเผด็จการอำนาจนิยมเหมือนยุคนายพลตานฉ่วย (ก่อนปี ค.ศ. 2010)

กระนั้น แนวรัฐประหารดังกล่าว อาจต้องอาศัยการบ่มเพาะของสถานการณ์ความรุนแรงที่สุกงอม ซึ่งชนชั้นนำทหารพม่าเอง ต่างเคยวางฐานการสร้างเอกภาพแห่งชาติไว้เป็นปฐม ก่อนทะยานขึ้นประกาศพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัยที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน โดยการล้มระบอบการปกครองลูกผสมที่พึ่งก่อรูปได้ราวๆ 5 ปี แล้วหมุนกลับไปหาการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อาจส่งผลเสียหลายประการต่อภาพลักษณ์ของประเทศรวมถึงตัวกองทัพพม่าเอง

นอกเสียจากว่า ปี 2015 ซึ่งเป็นปีที่จะมีการจัดการเลือกตั้งในพม่า เต็มไปด้วยเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองต่างๆ ที่ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อความมั่นคงแห่งรัฐ โดยการรัฐประหารแบบเปิดเผยอาจปรากฏขึ้นเพื่อตัดวงจรการงอกงามของกลุ่มอำนาจใหม่ เช่น กลุ่มทุน หรือกลุ่มนิยมประชาธิปไตย (ที่มีแนวทางแตกต่างจากที่กองทัพคิดไว้) จากนั้น จึงค่อยเป็นการเซ็ทระบบการเมืองผ่านการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภายใต้การควบคุมของกองทัพ

ขณะที่การเคลื่อนกำลังยึดอำนาจที่ต้องกระทำกันในกรุงเนปิดอว์ การระดมพลจากกองบัญชาการกองทัพแห่งชาติที่ตั้งอยู่ทางฟากตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมืองหลวง พร้อมการสั่งการจากแม่ทัพภาคเนปิดอว์ หรือบรรดาแม่ทัพ และ ผบ.กุมกำลังอื่นๆ  จากหน่วยทหารราบและทหารม้าที่เมืองตองอู มัณฑะเลย์ ตองจีและมิตถิลา อาจเกิดขึ้นได้ไม่ยากเย็นนัก เนื่องจากกองทัพพม่ายังคงมีความเหนียวแน่นของชนชั้นนำทหารอยู่ในระดับสูง


พลเอกมินอ่องหล่าย ขณะต้อนรับคณะทูตและทหารไทย ณ กองบัญชากองทัพพม่า กรุงเนปิดอว์


สิ่งปลูกสร้างของทหารพม่าในกรุงเนปิดอว์ ร่างโดย ดร.อู วิน เมื่อปี ค.ศ.2011 ซึ่งสะท้อนโครงข่ายทหาร ทั้งค่าย ป้อม คูติดต่อ และฐานอุโมงค์ใต้ดิน รวมถึงเส้นทางลำเลียงกำลัง โดยพื้นที่ดังกล่าว ตั้งอยู่ทางฟากตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเนปิดอว์ ซึ่งว่ากันว่า เป็นศูนย์อำนาจของกองทัพพม่า โดยการเนรมิตคลังยุทธศาสตร์ทหารขนาดใหญ่ นับแต่ยุคนายพลตานฉ่วย ได้ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับกระบวนการกระชับอำนาจของกองทัพพม่า ทั้งการใช้ฐานใต้ดินเป็นที่หลบซ่อนและศูนย์ควบคุมอำนวยการยุทธ์ในยามฉุกเฉิน หรือการเคลื่อนกองทหารออกจากที่ตั้งเพื่อยึดอำนาจหรือปราบจลาจล

ท้ายที่สุด คงต้องรอลุ้นกันต่อว่าทหารพม่าจะตัดสินใจทำรัฐประหารหรือไม่ และถ้าทำแล้วจะออกมาในรูปแบบใด หากแต่เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าตอนนี้ 'ประยุทธ์โมเดล' ของไทย ได้เข้าไปนั่งอยู่ในจินตภาพทางการเมืองของพลเอกมินอ่องหล่ายเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งหากมองในแง่ของศิลปะและยุทธวิธีการใช้กำลังยึดอำนาจ ทหารพม่า คงมีบทเรียนที่จะต้องเรียนรู้จากทหารไทยอยู่พอควร

อย่างไรก็ตาม ทั้งรัฐไทยและรัฐพม่า ต่างสะท้อนถึงการฟื้นคืนชีพขึ้นมาของราชวงศ์ทหารในทางการเมือง (Resurgence of Military Dynasty in Politics) อันเป็นปัจจัยที่บั่นเซาะให้กระบวนการสร้างประชาธิปไตย (Democratization) ในคลื่นประวัติศาสตร์โลกของรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดอาการติดขัดสะดุดอยู่เป็นระยะ ซึ่งนอกจากจะเป็นเรื่องของการจัดสรรสมดุลระหว่างการพัฒนาการเมืองกับการสร้างความมั่นคงทางการเมืองแล้ว ยังเป็นภาพสะท้อนที่ชี้ให้เห็นถึงโครงสร้าง 'รัฐขุนศึก' หรือ 'รัฐเสนาธิปัตย์' (Praetorian State) ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของระบอบการเมืองอำนาจนิยมทั่วไปในรัฐโลกที่สาม!


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

บล็อกของ ดุลยภาค