Skip to main content

 

การเมืองไทยใต้อาณัติพลเอกประยุทธ์ สามารถสะท้อนจุดเด่นของเหตุผลการยึดอำนาจ และการอธิบายสูตรการปกครองของบรรดาชนชั้นนำทหารที่ถ่ายทอดเนื้อหาออกสู่สาธารณชนได้หลากหลายมิติ

หนึ่งในนั้น คือ การเถลิงอำนาจของทหารไทยเพื่อเข้ามาควบคุมสภาวะปั่นป่วนของบ้านเมือง จนดูประหนึ่งว่า ประชาธิปไตยที่ไร้ซึ่งกฎระเบียบ อาจนำมาซึ่งสภาวะอนาธิปไตยและสภาพรัฐล้มเหลว นอกจากนั้น ยังพบเห็นการอธิบายสารัตถะของระบอบการเมืองในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน ว่าจะต้องผูกติดยึดโยงอยู่กับกลิ่นอายประชาธิปไตยแบบไทยๆ รวมถึง ต้องมีการฟื้นฟูความสามัคคีของคนในชาติเพื่อลดทอนปัญหาการแตกแยกทางความคิดของผู้คน

ในทางการเมืองเปรียบเทียบ (Comparative Politics) เรามักพบเห็นแนวคิดของนักการทหารหรือนักการเมืองสายอนุรักษ์นิยม ที่มักให้ความสำคัญกับการประดิษฐ์ระบอบการเมืองบนรากฐานของกฎระเบียบและลัทธิชาตินิยม ซึ่งนับได้ว่า โครงสร้างการปกครองเหล่านี้ อาจมีความคล้ายคลึงกับโครงสร้างรัฐไทยใต้พลังระบอบประยุทธ์ จนกล่าวได้ว่า การพินิจแนวทางการใช้อำนาจของ คสช. ผ่านบริบทการเมืองเปรียบเทียบ อาจให้มุมมองแปลกใหม่ต่อการทำความเข้าใจคุณลักษณะของระบอบอำนาจนิยมหรือกึ่งอำนาจนิยมในรัฐไทยยุคปัจจุบัน

แน่นอน เทคนิคการเปรียบเทียบข้ามเวลาของระบอบการเมืองภายในประเทศเดียวกัน เช่นในกรณีของไทย อาจพบเห็นตัวอย่างของระบอบการเมืองพ่อขุนอุปถัมภ์ (Despotic Paternalism) สมัยจอมพลสฤษดิ์ หรือ ประชาธิปไตยแบบครึ่งใบสมัยพลเอกเปรม ที่พอจะใช้เทียบเคียงหรือแสดงให้เห็นถึงมรดกประวัติศาสตร์ที่ส่งผลสัมพันธ์กับจังหวะลีลาการใช้อำนาจของพลเอกประยุทธ์ กระนั้นก็ตาม หากทบทวนพลังการปกครองของระบอบที่คล้ายคลึงกันในรัฐเอเชียผ่านการเปรียบเทียบแบบข้ามประเทศ เราอาจพบเห็นตัวแบบอำนาจนิยมหรือกึ่งอำนาจอื่นๆ ที่ยังประโยชน์ต่อการศึกษาวิเคราะห์ระบอบประยุทธ์

ในบทความนี้ ผู้เขียนพบเห็น ระบอบการเมือง (Political Regime) ใน 3 ประเทศเอเชีย ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 ระบอบการเมืองย่อย อันได้แก่ เมียนมาสมัยเนวินและตานฉ่วย อินโดนีเซียสมัยซูการ์โนและซูฮาร์โต และเกาหลีใต้สมัยซิงมันรีและปักจุงฮี โดยเบื้องล่างคือโมเดลจาก 3 รัฐเอเชีย ซึ่งคาดว่าน่าจะมีความคล้ายคลึงกับระบอบการเมืองไทยใต้เงา คสช.

1. ตัวแบบเมียนมา: คำอธิบายที่ว่า ประชาธิปไตยอันไร้ซึ่งกฎระเบียบ มีค่าเท่ากับ อนาธิปไตย คือ วาทกรรมหลักที่ทหารเมียนมามักใช้ในการอธิบายเหตุผลการรวบอำนาจของทหารเพื่อยุติความขัดแย้งของคนในชาติ ดังเห็นได้จาก การเข้ามาเป็นรัฐบาลรักษาการณ์ของนายพลเนวินเมื่อปี ค.ศ. 1958-1960 ซึ่งกระทำไปเพื่อลดปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งของนักการเมืองที่นำมาสู่สภาวะตีบตันในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือ การทำรัฐประหารของนายพลเนวินเมื่อปี ค.ศ.1962 ตลอดจนการเถลิงอำนาจของนายพลตานฉ่วยหลังเหตุลุกฮือประชาชนในปี ค.ศ. 1988

ซึ่งคณะทหารมักให้เหตุผลว่าปฏิบัติการยึดอำนาจในครั้งนั้น กระทำไปเพื่อรักษาเอกภาพของบ้านเมืองและป้องกันการฉวยโอกาสของบุคคลที่ประสงค์ร้ายต่อประเทศ ซึ่งอาจเข้ามาสร้างความปั่นป่วนในช่วงสูญญากาศทางการเมือง

ในอีกทางหนึ่ง ทั้งระบอบเนวินและระบอบตานฉ่วย ยังแสดงให้เห็นถึงสไตล์การบริหารอำนาจของชนชั้นนำทหารที่ใช้ทั้งกฎเหล็กคณาธิปไตยในการข่มขู่กดดันคู่ปฏิปักษ์ฝ่ายตรงข้าม ตลอดจน การย้อนกลับไปหาพิธีกรรมแบบพุทธและประเพณีนาฏกรรมของบูรพกษัตริย์ เพื่อสร้างรัฐโรงละครศักดิ์สิทธิ์ในการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองพร้อมกล่อมประชาชนให้จงรักภักดีต่อคณะผู้ปกครอง

ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ การใช้กฎหมายและกองกำลังทหารเข้าจับกุมฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทั้งในสมัยของเนวินและตานฉ่วย หรือ การฟื้นฟูธรรมเนียมราชสำนักพุทธพม่าของนายพลตานฉ่วย อาทิ พิธีจับช้างเผือก พิธียกยอดฉัตรเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ และโครงการสร้างอนุสาวรีย์บูรพกษัตริย์พม่า ณ กรุงเนปิดอว์

2. ตัวแบบอินโดนีเซีย: ความพยายามสถาปนาระบอบประชาธิปไตยชี้นำ (Guided Democracy) ของประธานาธิบดีอะห์เม็ด ซูการ์โน ในยุคหลังเอกราช ถือเป็นกรณีเด่นชัดที่สะท้อนถึงการผลิตสูตรการปกครองของชนชั้นนำสายชาตินิยมโดยใส่หลักเอกภาพและกฎระเบียบเข้าไปในสารัตถะประชาธิปไตย ซูการ์โนเชื่อว่า ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่ใช้กันอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก มักเป็นการปกครองที่สร้างความแตกแยกไร้เสถียรภาพ ซึ่งนับเป็นการให้เหตุผลที่ได้รับความนิยมชมชอบจากชาวอินโดนีเซียในช่วงแรกๆ

กระนั้น ประชาธิปไตยแบบชี้นำ ก็ปฏิเสธการเลือกตั้งโดยประชาชน โดยซูการ์โนได้หันไปสถาปนาสภาที่ปรึกษาแห่งชาติ (National Advisory Council) ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนกลุ่มอาชีพต่างๆ เช่น ชาวนา นักชาตินิยม และทหาร โดยมีซูการ์โนเถลิงตำแหน่งเป็นประธานพร้อมประกาศกฎอัยการศึกเพื่อหยุดยั้งการเติบโตของการเมืองเสรีนิยมประชาธิปไตย จนทำให้ประชาธิปไตยนำวิถี หรือ อาจเรียกได้ว่า ประชาธิปไตยรวมศูนย์แบบอนุรักษ์นิยม สามารถสยายปีกบนกระดานภูมิทัศน์การเมืองอินโดนีเซียยุคหลังเอกราช

ต่อมา เมื่อนายพลซูฮาร์โตกระทำการยึดอำนาจจากซูการ์โนพร้อมสถาปนาระเบียบใหม่ (New Order/Orde Baru) ได้มีการผลิตยุทธศาสตร์การเมืองที่รวมศูนย์อยู่ที่ซูฮาร์โตในฐานะแกนกลางแห่งรัฏฐาธิปัตย์อินโดนีเซีย ดังเห็นได้จาก การปรับโครงสร้างภาครัฐผ่านการตั้งหน่วยงานความมั่นคงขึ้นมาใหม่ โดยตัวประธานาธิบดีซูฮาร์โตได้กุมตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติทั้งกองทัพบก กองบัญชาการทหารสูงสุดและรัฐมนตรีกลาโหมแต่เพียงผู้เดียว หากแต่ในภายหลัง ได้มีการถ่ายโอนอำนาจโดยแต่งตั้งบุคคลใกล้ชิดเข้าไปดำรงตำแหน่งแทน (หากแต่อำนาจการตัดสินใจสูงสุดยังคงรวมศูนย์อยู่ที่นายพลซูฮาร์โตแต่เพียงผู้เดียว)

อนึ่ง ใต้เงาระเบียบใหม่ มักพบเห็นความพยายามอ้างอิงหลักกฎหมายเพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมือง ซึ่งซูฮาร์โตมักเน้นย้ำเสมอผ่านสื่อของรัฐว่าการตัดสินใจผลิตนโยบายสาธารณะต่างๆ ล้วนมีกฎหมายหรืกฤษฎีกาของประธานาธิบดีที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบเป็นสิ่งรองรับ หาใช่การตัดสินใจตามอำเภอใจของประธานาธิบดีและรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียว

3. ตัวแบบเกาหลีใต้: รัฐบาลประธานาธิบดีซิงมันรี (อีซึงมัน) ที่ปกครองเกาหลีใต้ระหว่าง ค.ศ. 1948-1960 เป็นตัวอย่างที่ดีของรัฐบาลที่ใช้อำนาจแบบเต็มพิกัดผ่านกุศโลบายการรวบอำนาจเพื่อรักษาความยาวนานของระบอบการเมืองที่ถูกผลิตขึ้นมาใหม่ ตัวอย่างที่ชัดแจ้ง คือ การควบคุมฝ่ายค้านและปราบปรามประชาชน โดยใช้ทหารและตำรวจเป็นเครื่องมือหลัก พร้อมมีการแต่งตั้งบุคคลที่เป็นที่ไว้วางใจของประธานาธิบดีขึ้นเถลิงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจระดับสูง

ขณะเดียวกัน ความยั่งยืนของระบอบซิงมันรี ยังเกิดจากการหยิบยืมแนวคิดลัทธิขงจื้อเพื่อหลอมระเบียบการปกครองให้เป็นหนึ่งเดียว โดยโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง ได้กำหนดให้ประชาชนจะต้องเชื่อฟังจงรักภักดีต่อรัฐ ซึ่งถือว่าความจงรักภักดีมีความสำคัญมากกว่าการเชื่อฟัง

นอกจากนี้ ผู้อยู่ใต้อาณัติปกครองต้องให้ความเคารพนบนอบและให้เกียรติผู้ปกครอง ซึ่งผลของความภักดีจะทำให้ชนชั้นนำและมวลชนมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อนึ่ง แม้ความสัมพันธ์เช่นนี้ จะบ่งบอกถึงความไม่เท่าเทียมกัน หากแต่ระบอบซิงมันรี ก็พยายามตีความอธิบายว่าเป็นองค์ประกอบที่เหมาะสม หากจะนำมาใช้เพื่อสร้างสันติและนำมาซึ่งความสมัครสมานกลมเกลียวของคนในชาติ

ในอีกกรณีหนึ่ง ความสัมพันธ์เชิงคู่ของลัทธิขงจื้อ ได้แปลงสภาพเป็นโครงสร้างลำดับชั้นแนวดิ่งที่ต่อมาได้แตกหน่อผ่านการใส่แนวคิดว่าด้วยความกตัญญูรู้คุณคนเข้าไปในวิถีปฏิบัติของสังคม ในลักษณะที่ว่า บุตรจะต้องรู้จักตอบแทนบุญคุณบิดามารดาหรือเด็กเยาวชนจะต้องเคารพเชื่อฟังผู้อาวุโส จนทำให้อุดมการณ์แห่งรัฐได้เข้าไปครอบทับปริมณฑลการใช้ชีวิตในระดับครอบครัวหรือระดับปัจเจกบุคคลอย่างเหนียวแน่น

สำหรับระบอบการเมืองของนายพลปักจุงฮี ซึ่งเข้ามาปกครองเกาหลีใต้ในภายหลัง ได้สะท้อนให้เห็นการผูกขาดอำนาจของชนชั้นนำทหาร ผ่านการจัดตั้งหน่วยสืบราชการลับเพื่อหาข่าวและตามหาเบาะแสของผู้ที่ประสงค์ร้ายต่อรัฐบาลพร้อมสามารถใช้อำนาจพิเศษจัดการกับคนเหล่านั้นโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย ซึ่งลักษณะการรวบอำนาจเช่นนี้ ได้ก่อให้เกิดการกระจุกตัวของการใช้อำนาจแบบเต็มพิกัดของผู้นำ

อย่างไรก็ตาม ระบอบปักจุงฮี กลับแสดงให้เห็นถึงข้อดีบางประการของการเมืองแบบรวบอำนาจที่ใช้พลังการรวมศูนย์ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วฉับไว โดยการปกครองใต้พลังทหารแบบกึ่งอำนาจนิยมของปักจุงฮี ได้กระตุ้นให้เกิดระบบการจัดองค์กรของกระทรวงวางแผนที่เป็นหัวหอกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยกลยุทธ์การควบรวมเอาหน่วยงานวางแผนและหน่วยงบประมาณบริหารการเงินมาประสานเข้าอยู่ในกระทรวงเดียวกัน ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการกระตุ้นอุตสาหกรรมภายในประเทศในอัตราจังหวะที่รวดเร็วก้าวหน้าขึ้น

ขณะเดียวกัน ทั้งกระทรวงวางแผนและสำนักเลขาธิการทำเนียบประธานาธิบดี ได้กลายมาเป็นแหล่งรวบรวมบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิและมีชื่อเสียงของประเทศ โดยบุคคลเหล่านี้ได้รับการร้องขอจากนายพลปักจุงฮี ให้มาร่วมทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง พร้อมได้รับผลตอบแทนและความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานอย่างเต็มที่ ซึ่งก่อให้เกิดระบบบริหารรัฐกิจที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ

ระบอบประยุทธ์ ได้เผยให้เห็นถึงการผสมผสานของสูตรการปกครองที่เดินตามรอยโมเดลของเนวิน-ตานฉ่วย-ซูการ์โน-ซูฮาร์โต-ซิงมันรี-ปักจุงฮี ในมิติที่เหมือนและแตกต่างกันออกไป โดยกรณีของการแถลงเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจ นับว่าตัวแบบเนวิน-ตานฉ่วย ของเมียนมา สามารถช่วยปลุกเร้าบทบาทของทหารไทยในฐานะอัศวินขี่ม้าขาวหรือองครักษ์ผู้ค้ำจุนรัฐเพื่อเข้ามากู้สภาวะมิคสัญญีและป้องกันการแตกสลายของชาติบ้านเมือง

พร้อมกันนั้น กุศโลบายการย้อนกลับไปหาพลังราชาชาตินิยมและการสร้างรัฐนาฏกรรมผ่านการปลุกเสกพิธีกรรมและปั้นอนุสาวรีย์ศักดิ์สิทธิ์ของคณะผู้ปกครองเมียนมา ได้สะท้อนให้เห็นถึงศิลปะการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองที่คล้ายคลึงกันกับระบอบประยุทธ์ โดยเฉพาะ คำแถลงการณ์ของพลเอกประยุทธ์เกี่ยวกับการยึดอำนาจเพื่อหยุดยั้งการตีกันของกลุ่มการเมืองต่างๆ รวมถึงการเนรมิตอุทยานราชภักดิ์เพื่อสดุดีบูรพกษัตริย์ ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ในทำนองเดียวกัน ตัวแบบซูการ์โนของอินโดนีเซีย ยังสะท้อนแนวคิดหรือทัศนคติของพลเอกประยุทธ์ที่อาจมองประชาธิปไตยแบบชี้นำหรือประชาธิปไตยแบบไทยๆ ในฐานะสูตรการปกครองที่เหมาะสมคู่ควรกับสังคมไทยมากที่สุด ผลกระทบจากมุมมองดังกล่าว คือ การประดิษฐ์ความหมายประชาธิปไตยที่มักพยายามเชื่อมโยงให้เข้ากับกลิ่นอายของเอกภาพและการสร้างความสามัคคีของชนในชาติตามรูปลักษณ์ของประชาธิปไตยนำวิถี ฉะนั้น ความแตกต่างหลากหลายจึงเป็นอันตรายยิ่งต่อเสถียรภาพของรัฐไทย

ขณะเดียวกัน ศิลปะการครองอำนาจทั้งของซูการ์โนและซูฮาร์โต โดยเฉพาะ การยึดกุมหัวใจหน่วยงานความมั่นคงใต้บรรยากาศของระเบียบใหม่ ได้สร้างความลงตัวที่สัมพันธ์เหมาะเจาะกับเทคนิคการครองอำนาจของระบอบประยุทธ์ ทั้งในแง่ของการผลิตขุมกำลังอำนาจใน สนช. และกองทัพ รวมถึง การพยายามทำให้นโยบายของรัฐบาลเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นที่เคารพของประชาชน

ส่วนระบอบซิงมันรีของเกาหลีใต้ ได้ให้ตัวแบบที่ชัดเจนยิ่งเกี่ยวกับแนวคิดโครงสร้างอำนาจแบบลำดับชั้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเพราะลักษณะค่านิยมเอเชียที่นำพาให้ลัทธิขงจื้อในสังคมตะวันออกเข้าไปทับซ้อนกับสไตล์โครงสร้างบังคับบัญชาของกองทัพไทย หรือการปลูกฝังวัฒนธรรมการปกครองของรัฐและสังคมไทยในอดีต หากแต่สารัตถะในค่านิยม 12 ประการ หรือ หลักความกตัญญูรู้คุณคนและการเคารพผู้อาวุโส ได้กลายมาเป็นแนวอุดมการณ์หลักที่มีผลต่อนโยบายจัดระเบียบสังคมของรัฐบาลประยุทธ์ไปเสียแล้ว

ในขณะที่ระบอบปักจุงฮี ได้ชี้ให้เห็นถึงความรวดเร็วฉับไวของการบริหารราชการแผ่นดินและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศอันเกิดจากพลังรวมศูนย์ขับเคลื่อนของระบอบการเมือง และการเข้ามากำหนดทิศทางประเทศของบรรดาผู้ทรงความรู้ความสามารถ อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของระบอบปักจุงฮี ส่วนหนึ่งเกิดจากตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าประทับใจ กระนั้น สภาวะเศรษฐกิจขาลงของรัฐไทย ก็เป็นปัจจัยท้าทายสมรรถนะของระบอบประยุทธ์ว่าจะสามารถฝ่าฟันแรงเสียดทานเศรษฐกิจได้ทัดเทียมกับตัวแบบเกาหลีใต้สมัยปักจุงฮี ให้ดีแค่ไหน อย่างไร

กระนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่าตัวแบบระบอบการเมืองทั้ง 6 ชุด ส่วนใหญ่แล้ว มักเกิดขึ้นในยุคหลังเอกราชและสงครามเย็น (ยกเว้นระบอบตานฉ่วยที่คลุมช่วงเวลามาจนถึงยุคหลังสงครามเย็น) ซึ่งทำให้น่าคิดต่อว่าทำไมวิถีการเมืองของระบอบประยุทธ์จึงทาบทับกับประวัติศาสตร์การเมืองเมื่อหลายสิบปีก่อน โดยความเก่าแก่ของสไตล์การบริหาร คงไม่ได้เป็นตัวชี้วัดเสมอไปว่า ระบอบการเมืองไทยจะคร่ำครึและไร้สมรรถนะในการปกครองรัฐ หากแต่กลิ่นอายของตัวแบบเก่าๆ อาจสะท้อนถึงความพยายามที่จะพยุงรักษารัฐหรือการวนรอบของวัฏจักรการเมืองไทยที่ยังต้องมีพลังของระบอบอำนาจนิยม/กึ่งอำนาจนิยมเป็นส่วนผสมหลักของพัฒนาการทางการเมือง

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ คงจะเกิดขึ้นต่อไปอีกเป็นระยะหากรัฐและสังคมไทยยังมิสามารถหาจุดสมดุลระหว่างสองสมการหลัก อันได้แก่ 1. ประชาธิปไตยที่ปราศจากกฎระเบียบ มีค่าเท่ากับอนาธิปไตย และ 2. กฎระเบียบที่ปราศจากประชาธิปไตย มีค่าเท่ากับเผด็จการ

 


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค