Skip to main content

<--break->

ศึกระอุรัฐฉาน ซึ่งเกิดจากการที่กองทัพพม่า (ม่าน) ระดมยิงปืนครกและใช้อากาศยานเข้าโจมตีทิ้งระเบิดหมู่บ้านไทใหญ่ (ไต) จนส่งผลให้เกิดการแตกกระเจิงของชาวบ้านจำนวนมาก ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อภูมิทัศน์การเมืองความมั่นคงในรัฐฉานเป็นอย่างมาก

สำหรับกองทัพพม่านั้น การโจมตีฐานที่มั่นกองทัพรัฐฉานเหนือและพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (SSA-N/SSPP) ผ่านการข่มขู่กวาดไล่ชาวบ้านจนร้างที่อยู่อาศัย อาจเกิดจากแรงจูงใจอย่างน้อย 4 ประการหลัก ได้แก่

1. การคงสภาวะสงครามเพื่อเพิ่มอิทธิพลกองทัพพม่าในการต่อรองกับรัฐบาลใหม่ของนางซูจี โดยเฉพาะ บทบาทแม่ทัพภาคประจำภาคทหารบกต่างๆ ตามรัฐชายแดนภูเขา เช่น รัฐฉานและรัฐกะฉิ่น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการถ่วงดุลกับมุขมนตรี และ ครม.ส่วนภูมิภาค ที่อาจถูกแต่งตั้งมาจากแผงอำนาจของพรรค NLD

2. การแสดงศักยภาพของกำลังพลประจำหน่วย และการ exercise อาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ ของภาคทหารบกตะวันออกกลาง (Middle Eastern Military Command) ที่เมืองขัวหลำ (ซึ่งถือเป็นกองทัพภาคที่ถูกจัดตั้งขึ้นใหม่ในพื้นที่รัฐฉาน โดยมีขอบเขตปฏิบัติการครอบทับเครือข่ายฐานทหารกองทัพรัฐฉานภาคเหนือ) รวมถึงเป็นการฝึกเตรียมประสานกำลังรบของกองทัพภาคต่างๆ ไว้ล่วงหน้า ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 4 แห่งในรัฐฉาน ได้แก่ ตองจี ขัวหลำ ลาเสี้ยว เชียงตุง (หากสงครามเกิดมีการขยายวงโจมตีที่ครอบคลุมการรบกับชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นๆ ในช่วงต้นและกลางปีหน้า)

แผนที่การโจมตีของทหารพม่าและภาพประชาชนลี้ภัยที่เมืองหนอง รัฐฉานภาคกลาง (ที่มา : มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐฉาน / Shan Human Rights Foundation)

3. การใช้กำลังอากาศเข้ากวาดไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ย่อมมีผลต่อยุทธศาสตร์การรบของทหารพม่า อย่างน้อย 2 ประการ คือ

3.1 เป็นการขับไล่ชาวบ้านที่คาดว่าเป็นไส้ศึกหรือเป็นกลุ่มที่ทางการสงสัยว่าคอยแอบช่วยเหลือทหารไทใหญ่ให้ออกไปจากถิ่นฐานเพื่อสร้างสภาวะ 'หมู่บ้านร้าง' อันส่งผลดีต่อการติดตั้งอาวุธของทหารพม่าเพื่อถล่มทหารไทใหญ่ รวมถึงเป็นการเคลียร์พื้นที่ล่วงหน้า ก่อนที่ทางการจะตั้งหมู่บ้านพม่า ชุมชนยุทธศาสตร์ทหาร หรือแม้กระทั่งเขื่อนผลิตพลังไฟฟ้า ขึ้นมาแทนที่ชุมชนดั้งเดิม และ

3.2 หากสามารถกดปราบ SSA-N ได้สำเร็จ ทหารพม่าจะมีฐานกระโจนยุทธศาสตร์ (Strategic Springboard) ในการรุกคืบข้ามแม่น้ำสาละวิน เพื่อเบิกทางไปสู่กระบวนการปิดล้อมทอนกำลังกลุ่มกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ที่มีศูนย์อำนาจอยู่ตรงปางซางทางฟากตะวันออกของน้ำสาละวิน พร้อมกันนั้น ยังถือเป็นการเดินเกมเพื่อทลายความฝันของกองทัพรัฐฉานภาคใต้ ที่มีอุดมการณ์ขยายแสนยานุภาพผ่านการรวมกำลังกับกองทัพไทใหญ่ฝ่ายเหนือ ฉะนั้น การทำลายหรือลดอำนาจ SSA-N จึงเป็นแผนตัดกำลังเพื่อชิงความได้เปรียบเหนือฝ่ายตรงข้ามของทัพพม่า

4. กองทัพพม่าใต้บังคับบัญชาของพลเอกมินอ่องหล่าย มีนโยบายอย่างแข็งขันในการเพิ่มแสนยานุภาพทางการทหารเพื่อเสริมอำนาจแข่งขันถ่วงดุลกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีทั้งรัฐขนาดกลางอย่างไทย และรัฐมหาอำนาจอย่างจีน อินเดีย โดยเฉพาะกับจีน ซึ่งเริ่มมีท่าทีไม่พอใจที่เมียนมาพยายามตีตัวออกห่างและหันไปสานสัมพันธ์กับชาติตะวันตกมากขึ้น จนมีข่าวปรากฏออกมาเป็นระยะเกี่ยวกับการขายอาวุธของกองทัพจีนให้แก่กลุ่มทหารว้า กะฉิ่นและโกก้าง ซึ่งที่ผ่านมากองทัพพม่าได้เริ่มเผชิญหน้ากับกองทัพจีนตามแนวชายแดนมากขึ้น

โดยการหมุนทิศทางเข้าตีลงไปที่สนามรัฐฉานภาคกลาง นอกจากจะทำให้ ทหารพม่าสามารถจัดการกับกองกำลังชาติพันธุ์ที่ไม่มีหลังประชิดรัฐมหาอำนาจได้อย่างเต็มที่ (โดยไม่ต้องตะขิดตะขวงใจกับรัฐที่ทรงกำลังอำนาจมากกว่าอย่างจีน) ยังถือเป็นการเตรียมความพร้อมทางการทหารอื่นๆ  เช่น การฝึกทักษะเข้าตีของทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ หรือการพัฒนาความชำนาญของนักบินอากาศยาน ก่อนที่จะมีการเปิดศึกประชิดชายแดนอย่างเต็มอัตราครั้งใหญ่ในอนาคต ซึ่งอาจมีทั้งที่ชายแดนจีนและชายแดนไทย

สำหรับในส่วนปฏิบัติการทางทหาร แม้กองทัพพม่าจะมีขีดความสามารถในการรบภาคพื้นดินอยู่พอสมควร แต่หากเมื่อเทียบประสบการณ์รบแบบกองโจรและความเจนจัดในพื้นที่ ทหารพม่ามักจะตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำเสียเปรียบชนกลุ่มน้อยอยู่ร่ำไป จนส่งผลให้ต้องสูญเสียกำลังพลเป็นจำนวนมากในระยะแรกของการรบ

แต่กระนั้น 'ตัวช่วย' ที่เริ่มเข้ามาลบจุดอ่อนของทัพพม่า คงหนีไม่พ้น อากาศยานและยุทธวิธี "ม่านเวหาพิฆาต" โดยเฉพาะการใช้เครื่องบินรบ Mig 29 และเฮลิคอปเตอร์โจมตี Mi 24/35 ที่สั่งซื้อมาจากรัสเซียจำนวนหนึ่ง ซึ่งเคยถูกใช้มาแล้วในศึกปราบกะฉิ่นและโกก้าง โดยเฉพาะเฮลิคอปเตอร์จากรัสเซีย ที่นักวิเคราะห์ทางการทหารมักยกย่องกันว่าเป็น ฮ. ที่สามารถติดอาวุธโจมตีได้โดยตรงพร้อมมีอำนาจป้องกันตนเองในระดับสูง ซึ่งมีทั้งการติดเกาะหนาและมีระบบตรวจจับป้องกันการยิงจากข้าศึก นอกจากนั้น ยังสามารถใช้เป็น ฮ.เอนกประสงค์ เช่น การลำเลียงทหารไปกับเครื่องจำนวนหนึ่ง หรือ ใช้ทำสงครามจิตวิทยาเพื่อข่มขวัญศัตรูผ่านการแผดเสียงร่อนและการหมุนของปีกใบพัดอันทรงพลัง

ท้ายที่สุด ยุทธวิธี 'ม่านเวหาพิฆาต' คงจะทำให้กองทัพพม่าประสบความสำเร็จทางการยุทธ์มิใช่น้อย ทว่า ความโศกเศร้าของชาวบ้านไทใหญ่ที่ต้องสูญเสียญาติพี่น้องและพลัดที่นาคาที่อยู่ รวมถึงภาพหลอกหลอนน่าสะพรึงกลัวจากปฏิบัติการทางทหารของทัพพม่า ย่อมทำให้ 'น้ำตาไต' กลายเป็นพลังตอบโต้ที่ทรงอานุภาพในยามวิกฤติพร้อมมีผลอย่างล้ำลึกต่อการลดทอนประสิทธิภาพของกองทัพพม่า โดยเฉพาะการเรียกร้องความจงรักภักดีจากประชาชนต่างเผ่า

ขณะเดียวกัน 'น้ำตาไต' อาจทำให้ 'มหาสงครามพิทักษ์มาตุภูมิ' (Great Patriotic War) ของกลุ่มชาวไตในรัฐฉาน เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างและเหนียวแน่นมากขึ้น เพื่อเป็นการตอบโต้ขับไล่ทหารพม่าออกจากดินแดนบรรพบุรุษ พร้อมกันนั้น สิ่งที่เรียกกันว่า 'ลัทธิชาตินิยมชาติพันธุ์ฉาน/ไทใหญ่' (Shan Ethno Centric Nationalism) อาจถูกปลุกระดมจนแตกหน่อกลายเป็นอาวุธสงครามชิ้นใหม่เพื่อใช้ระดมพลในการต่อกรสู้รบกับทหารพม่า

ในอีกมิติหนึ่ง การโจมตีและละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงของทหารพม่า อาจกระตุ้นให้ กลุ่มประชาสังคมต่างๆ  อาทิ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐฉาน (Shan Human Rights Foundation) กระทำการเคลื่อนไหวบนเวทีนานาชาติเพื่อประณามการคุกคามสิทธิมนุษยชนของทหารพม่า พร้อมอาจชักนำให้ชนกลุ่มน้อยเผ่าอื่นๆ  เช่น กะฉิ่นหรือกะเหรี่ยง เริ่มไม่ไว้ใจพฤติกรรมทางการพม่าจนต้องเตรียมสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ และปลุกระดมความสามัคคีของผู้คนภายในเผ่ากันมากขึ้น จนทำให้กระบวนการปรองดองระยะยาวของรัฐเมียนมา ยังคงเต็มไปด้วยอคติและความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งยากที่จะประสาน รวมถึง อาจสร้างความยากลำบากให้กับรัฐบาลใหม่ของซูจี โดยเฉพาะ การผลักดันกระบวนการสันติภาพให้คืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว

กล่าวโดยสรุป แม้กองทัพพม่าจะเชื่อมั่นว่าการ 'เขียนเสือให้วัวกลัว' พร้อมการสถาปนาอำนาจรัฐผ่านการกดปราบทางทหารอย่างรุนแรง จะทำให้ รัฐเมียนมาเต็มไปด้วยเสถียรภาพความมั่นคง หากแต่ ความเจ็บช้ำโศกเศร้าจากภัยสงครามหลายครั้งหลายคราของพี่น้องชาติพันธุ์ กลับกลายเป็นลิ่มที่ทิ่มแทงตอกลึกเข้าไปในคมขัดแย้งจนทำให้สันติภาพที่แท้จริงมิอาจเกิดขึ้นได้ในเร็ววัน โดยวงจรทับถมของการปะทะกันระหว่าง 'ม่านเวหาพิฆาต' กับ 'น้ำตาไต' หรือแม้กระทั่ง 'น้ำตากะฉิ่น' 'น้ำตาโกก้าง' ฯลฯ ย่อมทำให้เมียนมายังคงกลายเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยความเปราะบางของการสร้างรัฐสร้างชาติจนยากที่จะแก้ไขเยียวยาได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

สำหรับท่านใดที่สนใจช่วยเหลือบริจาคชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่

Sai Hor Hseng/ นายหอแสง +66 (0) 62- 941-9600 ภาษาไทใหญ่/อังกฤษ

Nam Charm Tong/นางจ๋ามตอง +66 (0)81- 603-6655 ภาษาไทย/อังกฤษ

Sai Kheun Mai/นายคืนใหม่ +66 (0) 94- 638-6759 ภาษาพม่า/อังกฤษ

 

บล็อกของ ดุลยภาค