Skip to main content

กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน

The Small Illustrated Newspaper ฉบับวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 1904 ได้ลงข่าวเกมประลองยุทธ์ระหว่างเสือกับช้างซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย ณ โคลอสเซียมกรุงเว้ หรือที่คนเวียดนามเรียกกันว่า "Hổ Quyền" ซึ่งถูกเนรมิตขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1830 อันตรงกับรัชสมัยขององค์พระจักรพรรดิมิญ หมั่ง แห่งราชวงศ์เหงียน

ตามบันทึกการต่อสู้ เสือมักเป็นฝ่ายปราชัยแทบทุกครั้งโดยมักถูกช้างกระทืบหรือเหวี่ยงสะบัดจนเสียชีวิต ทว่า ผลแห่งความพ่ายแพ้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการปลดอาวุธเสือก่อนลงสังเวียน ทั้ง การถอดเล็บ ถอนเขี้ยว และ นำเชือกมาพันรอบปากเสือเพื่อป้องกันพลังขบกัด จนแม้บางครั้ง พญาเสือโคร่งจะพุ่งกระโจนเข้าใส่พญาช้างสารหรือสามารถหลอกล่อข่มขู่คู่ต่อสู้ได้เป็นระยะ แต่สุดท้าย พยัคฆ์มักตกเป็นฝ่ายสิ้นลายปราชัยต่อกำลังพญาคชสาร

คนพื้นเมืองทางแถบอันนัมหรือโคชินไชน่า ตลอดจนดินแดนอุษาคเนย์ส่วนอื่นๆ เช่น อาเจะห์ ชวา มลายู หรือแม้กระทั่ง ลาว และ สยาม มักมองเสือในแง่ลบ โดยเฉพาะการเป็นสัญลักษณ์ของกบฏและผู้รุกราน ซึ่งความรู้สึกเช่นนี้อาจกินความไปถึงวิถีชีวิตคนท้องถิ่นที่มักถูกเสือขบกัดลอบทำร้ายหรือสังหารสัตว์เลี้ยงในครัวเรือน ขณะที่ช้าง มักถูกยกย่องเชิดชู ทั้งในฐานะตัวแทนอำนาจของพระราชาและในฐานะสัตว์ที่ทำคุณประโยชน์ต่อแผ่นดิน โดยเฉพาะ การศึกสงคราม

อนึ่ง การต่อสู้ระหว่างเสือกับช้าง หรือ ระหว่างเสือกับสัตว์คู่ปรับอื่นๆ มักถูกนำมาแสดงเพื่อข่มขวัญแขกฝรั่งที่เร่ิมเข้ามาขยายดินแดนอาณานิคม ต่อกรณีดังกล่าว เซอร์ โทมัส สแตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์ (Raffle) อดีตผู้พัฒนาเมืองสิงคโปร์และรองผู้ว่าราชการเขตอาณานิคมชวา ได้เคยระบุว่า ราชสำนักชวามักจะเปรียบชาวยุโรปว่าเป็นเหมือนดั่งเสือโคร่งผู้รุกราน จนมักมีการจัดประลองยุทธ์ระหว่างเสือกับช้างหรือระหว่างเสือกับควายป่าอยู่บ่อยๆ ซึ่งมักจบลงด้วยความปราชัยของเสือ โดยถือเป็นวิธีส่งสัญญาณจากฝ่ายกษัตริย์พื้นเมืองเพื่อข่มขวัญป้องปรามภัยคุกคามจากตะวันตก

กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน

0000

 

หมายเหตุ: ซากโบราณสถานโคลอสเซียมอุษาคเนย์หรือสังเวียนต่อสู้ระหว่างเสือกับช้างที่สมบูรณ์ย่ิงใหญ่ที่สุดในภูมิภาค คือ Hổ Quyền ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองเก่าเว้ ไม่ไกลจากฝั่งแม่น้ำหอม ทางตอนกลางของเวียดนาม ส่วนเรื่อง การมองเสือในแง่ร้ายนั้น อาจมีกรณียกเว้นในบางพื้นที่ เช่น กษัตริย์/เจ้าฟ้าไทใหญ่ ที่มักยกย่องบูชาเสือในฐานะสัตว์ที่ทรงกำลัง หรือ มีการนำเสือมาใช้ในพระนามกษัตริย์ อาทิ เจ้าเสือข่านฟ้า และ เจ้าเสือห่มฟ้า เป็นต้น

บล็อกของ ดุลยภาค