ต้นแบบของดอกเตอร์คาลิการิคือจิตแพทย์ผู้โด่งดังสองคน คนแรกคือฌอง มาแตง ชาคูต์ จิตแพทย์ชาวฝรั่งเศสจากปลายศตวรรษที่ 18 เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกๆ ที่ศึกษาโรคฮิสทีเรียอย่างจริงจัง ในปี 1885 ฟรอยด์วัยหนุ่มเรียนหนังสืออยู่กับชาคูต์ เขาเขียนจดหมายถึงคู่หมั้นบรรยายลักษณะของอาจารย์ไว้ว่า "สูงห้าฟุตแปดนิ้ว สวมหมวกทรงสูง ดวงตาดำละมุนอย่างประหลาด ผมปรกยาวติดอยู่หลังใบหู หนวดเคราเกลี้ยงเกลา ริมฝีปากล่างยื่นออกมา แสดงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ " จากคำบรรยายเหล่านี้ ไม่น่าแปลกใจนัก ถ้าแวร์เนอร์ คราวส์จะใช้ชาคูต์เป็นต้นแบบในการรับบทบาทเป็นคาลิการิ
การบรรยายในที่สาธารณะของชาคูต์เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ไม่มีชาวปารีสคนใดอยากจะพลาด การบรรยายจัดขึ้นทุกวันอังคาร ในโรงละครขนาดห้าร้อยที่นั่ง แขกผู้ทรงเกียรติได้แก่อองรี แบร์ซอง นักปรัชญาเจ้าของรางวัลโนเบล ซาราห์ แบร์นฮาร์ดท์ ดาราหญิง กีเดอมูปาซัง นักเขียน และแน่นอน ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ในการบรรยายแต่ละครั้ง ชาคูต์จะนำเอาคนไข้ฮิสทีเรียจากในคลินิกมาแสดงต่อหน้าสาธารณชน ให้รับรู้ถึงอาการทางประสาทชนิดต่างๆ เช่น การชักกะตุก ร่างกายบิดเบี้ยว ชี้โบ๊ชี้เบ๊ หัวเราะไม่มีเหตุผล หรืออ่อนเปลี้ยพลียแข้งขา แพทย์หลายคนไม่ยอมรับในทฤษฎีและวิธีการรักษาของชาคูต์ รวมทั้งตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ คนไข้หลายคนจงใจแสดงอาการที่มากเกินกว่าความเป็นจริง เพื่อความ "เพลิดเพลิน" ของแพทย์เจ้าของอาการ และผู้ชม
บรรยากาศของการบรรยายมีลักษณะกึ่งวิชาการกึ่งละครสัตว์ ตัวชาคูต์เองก็รับบทบาทเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์และผู้ให้ความบันเทิง เฉกเช่นเดียวกับดอกเตอร์คาลิการิ นอกจากนี้ ชาคูต์ยังเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการรักษาคนไข้ฮิสทีเรียด้วยการสะกดจิต ในบันทึกของเขา ชาคูต์เล่าถึงผลกระทบจากการสะกดจิต คนไข้ที่ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมา ทั้งที่สมองยังตกอยู่ในภวังค์ เปิดช่องว่างให้ผู้สะกดจิตสามารถใส่คำสั่งอะไรก็ได้ลงไปในสมอง และให้อีกฝ่ายปฏิบัติตาม
ไม่ว่าชาคูต์จะเป็นหมอหรือจอมลวงโลก อย่างน้อยความตั้งใจที่จะรักษาคนไข้ฮิสทีเรียของเขาก็คือเรื่องจริง จึงดูไม่ค่อยยุติธรรมกับชาคูต์นัก ที่เราจะเอาเขาไปเปรียบกับนักสะกดจิตผู้ชั่วร้าย อีกต้นแบบของคาลิการิเป็นจิตแพทย์ผู้มีชื่อเสียงเช่นกัน ดอกเตอร์จูเลียส วาคเนอร์-ยาวเรกก์ แห่งมหาวิทยาลัยเวียนนา เขาเชื่อว่าอาการผวาระเบิด (shell shock) หรือการที่นายทหารถูกกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรงในสงคราม กระทั่งก่อให้เกิดผลข้างเคียงทางกายภาพ เช่น ตาบอด คลื่นไส้อาเจียน นอนไม่หลับ และอาการฮิสทีเรียอื่นๆ นั้น แท้ที่จริงเป็นอาการป่วยการเมืองของคนไข้ ที่ไม่ต้องการถูกส่งกลับไปยังสมรภูมิ วิทยาศาสตร์การแพทย์ในยุคนั้นสนับสนุนความเชื่อของวาคเนอร์-ยาวเรกก์ เนื่องจากไม่ว่าจะตรวจร่างกายคนไข้แค่ไหน ก็ไม่พบความผิดปรกติจริงๆ
วาคเนอร์-ยาวเรกก์เสนอว่า วิธีรักษาอาการผวาระเบิดที่ดีที่สุด ก็คือการช็อตไฟฟ้า ใช้กระแสไฟฟ้าแรงสูงไหลผ่านกะโหลกศีรษะ สร้างความทรมานให้แก่คนไข้ เพื่อที่พวกเขาจะได้หายกลัวสมรภูมิ และเลือกที่จะกลับไปรบ เพราะความจำเป็นด้านการทหาร วิธีรักษาของวาคเนอร์-ยาวเรกก์ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลกษัตริย์ คนไข้คนแล้วคนเล่าถูกส่งเข้าสถานบำบัด และเมื่อทนการรักษาไม่ไหว ต้องยอมกลับเข้าสมรภูมิทั้งอาการผวาระเบิด บางคนก็เสียชีวิตเพราะกระแสไฟฟ้า อีกหลายคนฆ่าตัวตาย อาจดูไม่ค่อยยุติธรรมกับคาลิการินัก ที่เราจะเอาเขาไปเปรียบกับคนอย่างวาคเนอร์-ยาวเรกก์