Skip to main content

Death Instinct/Death Drive หรือสัญชาติญาณแห่งความตาย เป็นแนวคิดใหม่ที่ซิกมุนต์ ฟรอยด์พัฒนาขึ้นมาภายหลังสงครามโลก   ทหารผ่านศึกส่วนใหญ่ล้วนตกอยู่ในอาการผวาระเบิด (shell shock)   นี่จึงเป็นโอกาสอันดีให้ฟรอยด์พิสูจน์ทฤษฎีของตัวเอง โดยใช้วิชาจิตวิเคราะห์รักษาคนไข้เหล่านี้ 

ตรงข้ามกับวาคเนอร์-ยาวเรกก์ ฟรอยด์ยืนยันว่าความชอกช้ำทางจิตใจอย่างรุนแรง (trauma) ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติทางร่างกาย   ความตกใจ ความหวาดกลัว และการทำลายล้างที่เหล่าทหารต้องเผชิญ เป็นตัวกระตุ้น (stimuli) ซึ่งมีพลังมหาศาล   เมื่อตกกระทบจิตใจ สามารถทะลุผ่าเกราะหุ้มชั้นนอก -- ฟรอยด์เชิญชวนให้เรามองภาพจิตใจว่าเป็นเหมือนก้อนเนื้อเยื่อ ประกอบไปด้วยเกราะด้านนอก ตรงกลางคือส่วนของการรับรู้ และจิตใต้สำนึกอยู่ภายใน -- เข้าจู่โจมจิตสำนึกโดยตรง   อาการต่างๆ ทางร่างกาย เช่น ตาบอดชั่วขณะ อัมพาต นอนไม่หลับ เกิดจากจิตใจของคนไข้เอง หวนระลึกกลับไปหาความรุนแรงที่ตัวประสบพบมา

กระนั้นก็ตาม คำอธิบายนี้มีปัญหา   ภายใต้กรอบคิดแบบจิตวิเคราะพ์ ที่ฟรอยด์พัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนศตวรรษ (ในผลงานชิ้นเอก The Interpretation of Dreams) จิตย่อมโหยหาความสุขและหลีกหนีจากความทุกข์ ตามหลักแห่งความพึงพอใจ (pleasure principle)   และถ้าจะมีอะไรขัดขวางปฏิบัติการตรงนั้นได้ ก็คือการตระหนักรับรู้ว่า เพื่อความสุขอันสมเหตุสมผล บางครั้งมนุษย์เราก็ต้องผลัดหรือละความสุขเฉพาะหน้าออกไปก่อน ตามหลักแห่งความเป็นจริง (reality principle)

แต่ไม่ว่าจะเป็นหลักแห่งความพึงพอใจหรือหลักแห่งความเป็นจริง ต่างไม่อาจเอามาใช้อธิบายอาการผวาระเบิด หรือความชอกช้ำทางจิตใจอย่างรุนแรงได้   ไม่มีเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น ที่จิตใต้สำนึกจะต้องพยายามหวนกลับไปหาประสบการณ์อันเลวร้ายในอดีต   จากข้อสงสัยตรงนี้เอง ฟรอยด์จึงนำมาพัฒนาเป็นแนวคิดใหม่ในหนังสือ Beyond the Pleasure Principle เพื่ออธิบายสิ่งที่อยู่เหนือกว่า หรือไปไกลกว่าหลักแห่งความพึงพอใจ

มนุษย์เรามี repetition compulsion หรือแรงกระตุ้นในการทำอะไรซ้ำซาก อยากกลับไปหาอะไรเดิมๆ ทำสิ่งเดิมๆ หรือหวนสู่เหตุการณ์ในอดีต ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะหอมหวานหรือเจ็บปวดทรมาณแค่ไหน   เหมือนกับเด็กทารกที่ชอบเล่นโยนของ โยนออกไปให้ไกลตัว ก่อนจะกู้เก็บคืนมา   สำหรับฟรอยด์แล้ว การละเล่นดังกล่าวคือการจำลองสถานการณ์อันเลวร้ายที่เด็กทารกจะต้องเผชิญ นั่นก็คือ การที่แม่และพ่อของเด็กต้องจากออกมา หรือหายตัวไปชั่วขณะหนึ่ง   ของเล่นคือตัวแทนพ่อและแม่ เพียงแต่หนนี้การหายตัวไป คือสิ่งที่เด็กเป็นผู้ก่อขึ้นมาเอง และสามารถควบคุมได้

เช่นเดียวกัน จิตใต้สำนึกของทหารผ่านศึกมีแนวโน้มที่จะหวนกลับไปสู่เหตุการณ์เลวร้ายในอดีต ไม่ว่าจะผ่านทางความฝัน หรืออาการประสาทหลอน เพียงแต่หนนี้ จิตใต้สำนึกมีบทบาทเป็นผู้กระทำ ผู้กำหนดผลลัพท์ของเหตุการณ์รุนแรงที่จำลองขึ้นมาเอง

และเนื่องจากแรงกระตุ้นในการทำอะไรซ้ำซากเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้าม แต่สามารถกดทับหลักแห่งความพึงพอใจได้ -- ในที่นี้หมายถึง ผู้ป่วยถูกบังคับด้วยสิ่งที่ดูเหมือน "อำนาจของปีศาจ" (daemonic power) ให้กลับมาทำอะไรซ้ำซาก ทั้งที่สิ่งนั้นก่อให้เกิดความไม่พึงพอใจขึ้น --  มันจึงต้องเป็นสิ่งที่อยู่เหนือกว่า ( หรือ "beyond") เป็นสัญชาติญาณดั้งเดิมสุดของมนุษย์   ฟรอยด์เรียกสิ่งนี้ว่า Death drive หรือสัญชาติญาณแห่งความตาย

ที่สุดของสภาวะดั้งเดิมที่สิ่งมีชีวิตจะกลับไปได้ ก็คือความตาย   ฟรอยด์ใช้เหตุผลทางชีววิทยามาประกอบแนวคิดของตัวเอง   แรกเริ่มเดิมที โลกนี้ปราศจากชีวิต มีเพียงทะเลของอนินทรีย์สาร   ชั่วครั้งชั่วคราวสารประกอบเหล่านี้รวมตัวกันเป็นอินทรีย์ชีวิต ก่อนจะแตกสลายกลับไปเป็นสารประกอบ   หากด้วยความบังเอิญ ชีวิตชั่วพริบตาเหล่านั้นถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยภายนอก จนมีสภาพแปรเปลี่ยนไป ระยะเวลาก่อนการแตกสลายจะยิ่งยาวนานมากขึ้น ช่องว่างระหว่างการเกิดและการตายยิ่งถ่างออกๆ 

ภายใต้กรอบคิดนี้ ชีวิตสำมะหาอันใดนอกจากหนทางอ้อมๆ ก่อนตัวเราจะดำเนินไปถึงจุดมุ่งหมายสุดท้าย ซึ่งก็คือความตาย   เราต่างรักษาชีวิตของตัวเอง เพียงเพื่อรอคอยช่วงเวลาที่เหมาะสม ดังคำพูดของฟรอยด์ "ทุกสรรพสิ่งปรารถนาที่จะตายในรูปแบบของตัวมันเอง"

ตรงข้ามกับสัญชาติญาณแห่งความตาย ก็คือสัญชาติญาณแห่งเพศสัมพันธ์ (sexual drive)   เพศสัมพันธ์ในที่นี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะการสืบพันธุ์ หากหมายรวมถึงการเปลี่ยนแปลงโดยรับเอาแรงกระตุ้น และปัจจัยจากภายนอก เพื่อให้ชีวิตดำรงต่อไปอีกสักพัก   จิตของมนุษย์จึงเป็นผลิตผลของการงัดข้อกันเองระหว่างสัญชาติญาณแห่งความตาย ซึ่งก็คือความเฉื่อย การตัดขาดตัวเองจากโลกภายนอก และสัญชาติญาณแห่งเพศสัมพันธ์ หรือการผนวกผสมผสานที่ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ 

เฉกเช่นเดียวกับทฤษฎีอื่นๆ ในวิชาจิตวิเคราะห์ สัญชาติญาณแห่งความตายเป็นแนวคิดที่ยากจะยอมรับไม่ว่าในปัจจุบัน หรือย้อนกลับไปสมัยไวมาร์   ฟรอยด์เองก็ไม่ได้ยืนยันความถูกต้องของมันอย่างกำปั้นทุบดิน ความสนใจของเราจึงไม่ได้อยู่ที่ความถูกผิดของ Beyond the Pleasure Principle แต่อยู่ตรงสัญชาติญาณแห่งความตายเป็นผลิตผลของสังคมไวมาร์ ของประเทศที่เต็มไปด้วยแม่ม่าย เด็กกำพร้า และทหารผ่านศึก เต็มไปด้วยปรัชญาความเชื่ออันหลากหลาย ที่หลั่งไหลมาจากทุกสารทิศ   อัลธูแซร์เคยกล่าวยกย่องฟรอยด์เอาไว้ว่า เพื่อจะเขียนถึงสิ่งที่ไม่เคยมีใครสร้างทฤษฎีรองรับมาก่อน ฟรอยด์หยิบยืมมาจากทุกศาสตร์ ทุกองค์ความรู้ ชีววิทยาเอย อุณหพลศาสตร์เอย เศรษฐศาสตร์เอย   และ Beyond the Pleasure Principle ถูกเขียนขึ้นมาในช่วงที่ฟรอยด์กำลังศึกษาศาสนาตะวันออก โดยเฉพาะฮินดู

ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 ภควัทคีตาได้รับการแปลเป็นภาษาเยอรมัน และส่งอิทธิพลทางความคิดต่อนักปรัชญา อาทิเช่น แฮร์เดอร์ เฮเกล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งโชเปนฮาวเออร์ ผู้เป็นที่ชื่นชอบของฟรอยด์ ความเข้าใจเกี่ยวกับนิพพานของฟรอยด์ได้รับสืบทอดมาจากบาบารา โลว์ ผู้เชี่ยวชาญภาษาสันสกฤต กุสตาฟ เฟคเนอร์ นายแพทย์ผู้ศึกษาศาสนาพุทธ รวมไปถึงโฮมาง โรลอง เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ผู้เขียนชีวประวัติปราชญ์ชาวเบงกาลี วิเวกนันทะและรามากฤษณะ

กล่าวโดยย่อ ภควัทคีตาว่าด้วยบทสนทนาระหว่างกฤษณะหรือนารายณ์อวตาร และกษัตริย์นักรบ อรชุน ณ ทุ่งกุรุเกษตร   อรชุนลังเลที่จะเข้าห่ำหั่นโรมรันกับบรรดาพระญาติ จนกฤษณะต้องกล่าวเทศนาถึงความไม่เที่ยงของร่างกาย มีเพียงแต่จิตเท่านั้นอันเป็นนิรันดร   ผู้ซึ่งรู้ตัวว่า ไม่เคยเกิด ไม่เคยตาย ไม่มีเริ่มต้น ไม่มีจุบจบ ผู้นั้นยั่งยืน ไม่เสื่อมสลายไม่เคยเปลี่ยน ผู้นั้นจะฆ่าหรือถูกฆ่าได้อย่างไรเล่า ดังนั้นจงรบเถิดอรชุน!

ไม่ว่าฟรอยด์จะเข้าใจคำเทศนาของกฤษณะไปในทางใด ในจดหมายถึงเขาเขียนถึงโกทซ์ กวีหนุ่มชาวสวิตซ์ที่สนใจในวรรณคดีสันสฤษ ฟรอยด์อธิบายถึงภควัทคีตาว่า

-- ไม่มีอะไรยั่งยืน ทุกสิ่งหลอมละลายกลายเป็นอีกสิ่ง ทันใดนั้น คุณต้องเผชิญหน้ากับความว่างเปล่า...ชาวยุโรปมักเข้าใจความว่างเปล่าอย่างผิดๆ นิพพานในศาสนาอินเดียไม่ใช่ความว่างเปล่า มันคือสิ่งที่อยู่เหนือขึ้นไปจากความขัดแย้งทั้งปวง --

จากข้อความตรงนี้ น่าเชื่อได้ถึงอิทธิพลของแนวคิดตะวันออกที่มีต่อปรัชญาจิตวิเคราะห์แห่งโลกตะวันตก

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

ติดตามเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับไวมาร์เยอรมันได้ที่เพจ

http://www.facebook.com/NiSatharnrathWiMar

บล็อกของ Nibuk

Nibuk
ฟรอยด์เขียน Group Psychology and the Analysis of the Ego ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับ Beyond Pleasure Principle ข้อถกเถียงพื้นฐานของทั้งสองเล่มนี้คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ ขณะที่ปัจเจกชนมีแนวโน้มจะหวนไปสู่สภาวะดั้งเดิม คือความตาย สังคมอันประกอบไปด
Nibuk
Death Instinct/Death Drive หรือสัญชาติญาณแห่งความตาย เป็นแนวคิดใหม่ที่ซิกมุนต์ ฟรอยด์พัฒนาขึ้นมาภายหลังสงครามโลก   ทหารผ่านศึกส่วนใหญ่ล้วนตกอยู่ในอาการผวาระเบิด (shell shock)   นี่จึงเป็นโอกาสอันดีให้ฟรอยด์พิสูจน์ทฤษฎีของตัวเอง โดยใช้วิชาจิตวิเคราะห์รักษาคนไข้เหล่านี้ 
Nibuk
หนึ่งในข้อเรียกร้องของสนธิสัญญาแวร์ซายก็คือ เยอรมันต้องส่งมอบตัวอาชญากรสงคราม ให้ฝ่ายพันธมิตรดำเนินคดี ในที่นี้หมายถึงวิลเฮล์ม -- ถ้าเขาไ
Nibuk
รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐไวมาร์คือลูกผสมของรัฐธรรมนูญแห่งประเทศประชาธิปไตยต่างๆ ทั่วยุโรป ตำแหน่งประมุขของประเทศเปลี่ยนจากเชื้อพระวงศ์ มาเป็นประธานาธิบดี (president) ผู้มาจากการเลือกตั้ง และประจำตำแหน่งทุกๆ เจ็ดปี เฉกเช่นเดียวกับกษัตริย์ ประธานาธิบดีคือสัญลักษณ์สูงสุดของประเทศ สามารถแต่งตั้งแล
Nibuk
อันที่จริงในหมู่ประเทศผู้ชนะสงคราม ก็ไม่ได้มีความเห็นลงรอยกันเกี่ยวกับเป้าหมายของสนธิสัญญาแวร์ซาย ฝรั่งเศสและเบลเยียมต้องการลงโทษเยอรมัน ยึดพื้นที่อุตสาหกรรมมา เพื่อให้แน่ใจว่าเยอรมันจะไม่มีโอกาสฟื้นกล
Nibuk
เดือนเมษายนปี 1919 เคาต์อูลริช วอน บรอคดอร์ฟ-รานต์ซาว รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศคนแรกของเยอรมันใหม่ เดินทางไปพระราชวังแวร์ซาย เพื่อลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ ข้อตกลงเจรจาสงบศึกที่เขาเตรียมเอาไว้คือ เยอรมันจะยอมปลดอาวุธของตัวเองเท่ากับที่เพื่อนบ้านยอมปลด ยอมสละแว่นแคว้นชายแดนภายใต้เงื่อนไขว่า ผู้คนใน
Nibuk
วีรบุรุษซิกฟรีด สายเลือดแห่งมหาเทพ ครองรักอย่างมีความสุขกับนางฟ้าตกสวรรค์ บรึนฮิลเดอ บนภูเขาที่ล้อมรอบไปด้วยทะเลเพลิง อยู่มาวันหนึ่ง ซิกฟรีดต้องการออกไปผจญภัยในโลกภายนอก หลังจากร่ำลาภรรยาสุดที่รักเขาให้สัญญาว่าจะคงรักแต
Nibuk
คานดินสกีเกิดและเติบโตในกรุงมอสโค เมืองหลวงของประเทศรัสเซีย เขาเรียนจบและประกอบอาชีพทางกฎหมายจนถึงอายุสามสิบ ก่อนหน้านั้นไม่เคยได้รับการฝึกฝนใดๆ ทางศิลปะมาก่อน เหตุการณ์สำคัญที่หักเหชีวิตของชายหนุ่ม คือการได้ชมภาพวาดกอง
Nibuk
ต้นแบบของดอกเตอร์คาลิการิคือจิตแพทย์ผู้โด่งดังสองคน คนแรกคือฌอง มาแตง ชาคูต์ จิตแพทย์ชาวฝรั่งเศสจากปลายศตวรรษที่ 18 เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกๆ ที่ศึกษาโรคฮิสทีเรียอย่างจริงจัง ในปี 1885 ฟรอยด์วัยหนุ่มเรียนหนังสืออยู่กับชาคูต์ เขาเขียนจดหมายถึงคู่หมั้นบรรยายลักษณะของอาจารย์ไว้ว่า "สูงห้าฟุตแปดนิ้