เดือนเมษายนปี 1919 เคาต์อูลริช วอน บรอคดอร์ฟ-รานต์ซาว รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศคนแรกของเยอรมันใหม่ เดินทางไปพระราชวังแวร์ซาย เพื่อลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ ข้อตกลงเจรจาสงบศึกที่เขาเตรียมเอาไว้คือ เยอรมันจะยอมปลดอาวุธของตัวเองเท่ากับที่เพื่อนบ้านยอมปลด ยอมสละแว่นแคว้นชายแดนภายใต้เงื่อนไขว่า ผู้คนในท้องถิ่นลงประชามติยอมรับการเปลี่ยนแปลง ยอมจ่ายค่าชดเชยสงครามเฉพาะกับความเสียหายที่เกิดแก่ภาคประชาชน และอาณานิคมในแอฟริกาต้องกลับมาเป็นของเยอรมัน
ถ้าใช้คำพูดของประธานาธิบดีวิลสันแห่งสหรัฐอเมริกา ข้อเสนอนี้ รวมถึงบทบาทการทูตของบรอคดอร์ฟ-รานต์ซาว "โง่งมอย่างหาที่เปรียบมิได้" ชาวยุโรปทุกคนที่ติดตามข่าวสารบ้านเมือง ทราบดีว่าเยอรมันแพ้สงคราม ในฐานะผู้แพ้ พวกเขากล้าดียังไงถึงเป็นฝ่ายยื่นข้อเสนอ
เพราะ "ชาวยุโรปทุกคน" ในที่นี้ไม่นับรวมชาวเยอรมัน หรือเฉพาะเจาะจงเข้าไปอีก ไม่นับรวมชาวเยอรมันกลุ่มขวาจัดชาตินิยม ตลอดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สมรภูมิการศึกไม่เคยถอยร่นเข้ามาในพรมแดน พวกเขาจึงยังหลอกตัวเองได้ว่าเป็นฝ่ายมีชัย การไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ระบาดเรื้อรังยิ่งขึ้น ภายใต้การโหมโฆษณาชวนเชื่อของกองทัพ ข่าวลือแพร่กระจายออกไปว่าทหารปรัสเซียผู้เกรียงไกรไม่ได้รบแพ้ หากถูก "แทงข้างหลัง" เฉกเช่นเดียวกับวีรบุรุษซิกฟรีด และเป็นที่รู้กันว่าคนทรยศหาใช่ใครอื่นนอกจากฝ่ายซ้าย พวกคอมมิวนิสต์ นักปฏิวัติ รวมไปถึงรัฐบาลของพรรคเอสเพเด กระนั้นก็ตาม เออแบร์ต ผู้นำพรรคและประธานาธิบดีคนแรกแห่งไวมาร์กลับไม่ตระหนักถึงอันตรายใหญ่หลวงของข่าวลือนี่ ในวันที่ 10 ธันวาคม 1918 เออแบร์ตกล่าวในสุนทรพจน์ต้อนรับทหารผ่านศึกว่า "ไม่มีข้าศึกที่ไหนสยบพวกท่าน!"
ความ "โง่งมอย่างหาที่เปรียบมิได้" คือผลิตผลของการที่คนทั้งชาติหลอกตัวเอง ก่อนออกเดินทางไปปารีส บรอคดอร์ฟ-รานต์ซาว และคณะทูตจัดเตรียมเอกสาร หนังสือกฎหมาย และแผนที่หลายฉบับเพื่อไปต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตร โดยหารู้ไม่ว่า การต่อรองไม่ได้อยู่ในกำหนดการที่ทางฝรั่งเศสเตรียมไว้แม้แต่น้อย คณะทูตร้อยห้าสิบชีวิตถูกจัดยัดขึ้นรถไฟที่แล่นอย่างเอื่อยเฉื่อยไปตามชนบทของประเทศฝรั่งเศส เพื่อให้พวกเขาเป็นประจักษ์พยานความเสียหาย ซากปรักหักพัง ที่เกิดจากเงื้อมมือของกองทัพเยอรมัน กระเป๋าเสื้อผ้า ข้าวของ ถูกเจ้าบ้านโยนทิ้งอย่างไม่ไยดี เพื่อให้พวกเขาขนมันขึ้นลงยานพาหนะด้วยตัวเอง
บรอคดอร์ฟ-รานต์ซาวและคณะถูกปล่อยทิ้งไว้ในโรงแรมเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ก่อนจะถูกเรียกตัวไปพบกับวิลสัน ลอยด์ จอร์จ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และจอร์จ คลีเมนซัว นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส แทนที่จะยืนขึ้นเพื่อกล่าวสุนทรพจน์ บรอคดอร์ฟ-รานต์ซาวตัดสินใจหักหน้าผู้นำทั้งสามประเทศด้วยการนั่งอยู่กับที่ เขากล่าวย้ำถึงความบริสุทธิ์ของเยอรมันในสงครามที่เกิดขึ้น พวกเขา"รุกรานเพื่อป้องกันตัวเอง" นอกจากนี้ยังประนามทั้งสามประเทศที่เป็นต้นเหตุการเสียชีวิตอย่างไม่จำเป็นของชาวเยอรมัน เพราะการชะลอสนธิสัญญาสงบศึก และการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ
การจะเป็นนักการเมืองในประเทศที่คนส่วนใหญ่หลอกตัวเองนั้นไม่ใช่ของง่าย และจะโหดหินขึ้นไปอีกขั้น ถ้าจะต้องเป็นนักการเมืองที่มีบทบาทบนเวทีต่างประเทศ ปาฐกถาก้นติดพื้นของบรอคดอร์ฟ-รานต์ซาวหนุนให้เขากลายเป็นวีรบุรุษในบ้านเกิด แต่มันก็คือส่วนหนึ่งของหายนะทางการทูต แน่นอนว่าภายหลังการเข่นฆ่าสังหารที่ยาวนานสี่ปี อากัปกิริยาเล็กๆ น้อยๆ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความจริงได้ว่า ฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ได้เรียกเยอรมันมาที่แวร์ซายเพื่อเจรจา แต่เพื่อมาฟังและปฏิบัติตาม บรอคดอร์ฟ-รานต์ซาวอาจไม่ใช่ต้นเหตุความล้มเหลวของสันติภาพในเยอรมัน แต่เขาคือภาพสะท้อนการหลอกตัวเองอันนำมาซึ่งจุดจบของประชาธิปไตย
(ภาพประกอบไม่เกี่ยวกับเรื่อง)
%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%
แวะมาอ่านเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับไวมาร์เยอรมันได้ที่เพจ
http://www.facebook.com/photo.php?fbid=222626151202758&set=a.197511890380851.50244.197506433714730&type=1&theater