รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐไวมาร์คือลูกผสมของรัฐธรรมนูญแห่งประเทศประชาธิปไตยต่างๆ ทั่วยุโรป ตำแหน่งประมุขของประเทศเปลี่ยนจากเชื้อพระวงศ์ มาเป็นประธานาธิบดี (president) ผู้มาจากการเลือกตั้ง และประจำตำแหน่งทุกๆ เจ็ดปี เฉกเช่นเดียวกับกษัตริย์ ประธานาธิบดีคือสัญลักษณ์สูงสุดของประเทศ สามารถแต่งตั้งและมอบอำนาจการบริหารให้กับนายกรัฐมนตรี (Chancellor) แต่ละรัฐอิสระรักษาสิทธิในการปกครองตนเอง ส่วนอำนาจในการเก็บและแจกจ่ายภาษี การขนส่งทางน้ำและรางรถไฟ และการควบคุมกองทัพตกเป็นของรัฐบาลกลาง
ถึงแม้ประธานาธิบดีจะแต่งตั้งฝ่ายบริหาร แต่นายกรัฐมนตรีและคณะยังต้องได้รับความเห็นชอบจากไรช์ทาค หรือรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งต่างหาก เยอรมันใช้ระบบการเลือกตั้งแบบ “บัญชีรายชื่อ” กล่าวคือคนเยอรมันทั้งประเทศลงคะแนนเสียงเลือกพรรคการเมือง ไรช์ทาคประกอบไปด้วยผู้แทนราษฎรตามสัดส่วนของคะแนนเสียงที่ได้รับ (ยกตัวอย่างเช่น รัฐสภาที่มีผู้แทนราษฎร 500 คน พรรคที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งเพียงร้อยละ 1 ก็ยังมีสิทธิเอาตัวแทนพรรค 5 คนเข้าไปนั่นในสภา)
ในทางทฤษฎี ระบบบัญชีรายชื่อช่วยรับประกันได้ว่า ไม่มีกลุ่มเสียงข้างน้อยใดที่ถูกมองข้าม ในทางปฏิบัติ นักประวัติศาสตร์หลายคนลงความเห็นว่าการเลือกตั้งแบบนี้นำไปสู่ “อนาธิปไตยรัฐสภา” การเลือกตั้งให้อำนาจกับ “พรรคฝ่ายค้าย” พรรคเล็กพรรคน้อย ขัดขวางการดำเนินงานของรัฐบาล ระบบการเมืองของไวมาร์ถูกประชาชนมองว่าไร้น้ำยา ไม่สามารถลงมือทำอะไรจริงจังได้สักอย่าง ความน่าเชื่อถือของประชาธิปไตยที่เพิ่งวางรากฐานถูกบ่อนทำลาย
การเมืองของสาธารณรัฐไวมาร์ขับเคลื่อนด้วยสมดุลระหว่างขั้วอำนาจและอุดมการณ์อันหลากหลาย มองในแง่ดี นี่คือการถ่วงดุลอำนาจตามปรัชญาประชาธิปไตย แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็เป็นการบั่นทอนรัฏฐาธิปัตย์ที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน หลักฐานของภาวะอนาธิปไตยรัฐสภาคือการเปลี่ยนตัวผู้นำฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรี ทั้งหมดสิบสี่ครั้งในชั่วเวลาสิบสี่ปีของสาธารณรัฐ การครองอำนาจเพียงแค่สองหรือสามเดือน ไม่ใช่เรื่องผิดปรกติแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลผสม หรือการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อไม่ใช่สิ่งเลวร้ายโดยตัวมันเอง แต่ในยุคที่สังคมแตกแยกอย่างถึงขีดสุด ประชาชนควรจะมีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็งกว่านี้
ทุกอย่างเลวร้ายยิ่งขึ้น ภายใต้การปรากฏตัวของสองพรรคฝ่ายค้านสุดโต่ง จากสองปีกการเมือง คือ Kommunistische Partei Deutschlands (“พรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมัน”) และพรรคการเมืองปีกขวา Deutschnationale Volkspartei ("พรรคมวลชนชาตินิยมแห่งเยอรมัน") ทั้งสองพรรคมีแนวคิดทางการเมืองตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง แต่มีจุดร่วมเดียวกันคือต่างไม่ต้องการกำหนดนโยบาย หรือบริหารประเทศ พวกเขาลงสมัครเลือกตั้งเข้าไปในระบบ เพื่อทำลายประชาธิปไตยจากภายใน
ในภาวะปกติ พรรคการเมืองสุดโต่งอย่างเคเพเด และพรรคมวลชนชาตินิยมจะไม่สามารถรักษาฐานคะแนนเสียงของตัวเองไว้ได้นาน และจะค่อยๆ สลายอิทธิพลไปเอง แก่นแท้ของประชาธิปไตยคือการรักษากฎกติกา ถึงแม้จะมีอุปสรรคขวางกั้น แต่กฎกติกาจะค่อยๆ หล่อหลอมสังคมจนหาทางก้าวข้ามอุปสรรคนั้นไปได้เอง การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่ออาจไม่เหมาะสมกับสังคมไวมาร์ เคเพเดและพรรคมวลชนชาตินิยมอาจเป็นระเบิดเวลาสองลูกใหญ่ที่รอวันปะทุอยู่ในไรช์ทาค แต่ถ้าประชาธิปไตยดำเนินไปตามครรลอง หนทางจักปรากฏขึ้นมาเองในท้ายที่สุด
"ประวัติศาสตร์ของประเทศเยอรมัน คือประวัติศาสตร์แห่งความสุดโต่ง มันบรรจุทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ ยกเว้นทางสายกลาง" ไม่มีแง่มุมใดจะพิสูจน์ข้อความนี้ได้ดีไปกว่าการเมือง ประชาธิปไตยของไวมาร์ตีกลับไปมาระหว่างอนาธิปไตยรัฐสภา และเผด็จการรัฐสภา ขณะที่นักประวัติศาสตร์ยังถกเถียงกันถึงข้อดีข้อด้อยของการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ แทบทุกคนเห็นตรงกันว่ามาตรา 48 คือเมล็ดพันธุ์ที่แท้จริงของหายนะ
มาตรา 48 คืออำนาจการประกาศกฎอัยการศึก ในสภาวะคับขันตามดุลพินิจของประธานาธิบดี เมื่อใช้มาตรา 48 สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่น สิทธิในการแสดงความคิดเห็นจะถูกริบ ประธานาธิบดีสามารถสั่งการกองทัพ ตั้งศาลพิเศษขึ้นมาได้ตามใจชอบ หรือกระทั่งยุบสภา เยอรมันทั้งประเทศเข้าสู่สภาวะเผด็จการชั่วคราว เนื่องจากไม่มีมาตรการใดจำกัดกรอบการประกาศกฎอัยการศึก ตลอดห้าปีที่เขาดำรงตำแหน่ง เออแบร์ตใช้มาตรา 48 ทั้งหมด 136 ครั้ง เช่น เพื่อล้มล้างรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐซาคเซนและธูริงเกีย และที่เลวร้ายที่สุดคือ เพิ่มบทลงโทษย้อนหลังถึงขั้นประหารชีวิตให้กับกบฎแรงงานในเมื่องรูห์ร โดยส่วนใหญ่ มาตรา 48 ถูกใช้เพื่อตอบโต้ภัยคุกคามจากฝ่ายซ้าย และไม่เคยมีแม้แต่ครั้งเดียวที่เออแบร์ตจะใช้มาตรา 48 เพื่อต่อสู้ภัยคุกคามจากฝ่ายขวา
การใช้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จคือสิ่งเลวร้าย การใช้อำนาจเผด็จการที่อยุติธรรมนั้นเลวร้ายยิ่งกว่า แต่ที่เลวร้ายที่สุดกลับเป็นการใช้อำนาจเผด็จการกับเรื่องเล็กน้อยในการบริหารประเทศ เช่น การผ่านกฎหมายที่จะประสบแรงเสียดทานในไรช์ทาค มันคือการปลูกฝังค่านิยมต่อต้านประชาธิปไตย ระบบและกติกากลายเป็นสิ่งล่าช้า ไร้ประสิทธิภาพ ที่ประชาชนต้องการคือผู้นำเข้มแข็ง บริหารประเทศด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จ ตลอดสิบห้าปีของสาธารณรัฐไวมาร์ "ระบบ" กลายเป็นเป้าโจมตีในโฆษณาชวนเชื่อของพรรคการเมืองฝ่ายขวา
เผด็จการรัฐสภาอาจเป็นหนทางเดียว สำหรับให้เออแบร์ตฟันฝ่าความแตกแยกในไรช์ทาค แต่เผด็จการไม่เคยเป็นคำตอบในระยะยาว ทั้งเผด็จการรัฐสภาและอนาธิปไตยรัฐสภาเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาทั้งคู่ แต่อย่างน้อย อนาธิปไตยรัฐสภาก็ยังเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยคือการที่สังคมเรียนรู้จะอยู่กับความแตกแยก แตกต่างทางความคิด คือการรอมชอมผลประโยชน์และอุดมการณ์ของตัวเอง ภายใต้เงื่อนไขอำนาจที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ ในทางตรงกันข้าม การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของ "คนเก่งคนดี" ข้ามหัวผู้แทนราษฎร หรือที่ในสากลโลก เรียกกันว่า "เผด็จการรัฐสภา" นั่นต่างหากที่เป็นจุดเริ่มต้นของระบบนาซี
%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%
ติดตามเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับไวมาร์เยอรมันได้ที่เพจ
http://www.facebook.com/photo.php?fbid=223856564413050&set=a.197511890380851.50244.197506433714730&type=1&theater