ในไวมาร์เยอรมัน: Nosferatu

 

Dracula เป็นนิยายอังกฤษที่มียอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในศตวรรษที่ 19 ภายหลังจากตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1897 ช่วงเปลี่ยนผ่านศตวรรษ Dracula ได้รับการแปลเป็นภาษาเยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี เป็นนิยายยอดนิยมของแฟนๆ นักอ่านทั่วทวีปยุโรป ไม่ต้องสงสัยเลยว่าถ้าโปรดิวเซอร์ชาวเยอรมันต้องการภาพยนตร์สักเรื่อง ที่สามารถส่งขายออกต่างประเทศได้ อะไรจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมไปกว่านี้

 

Dracula ของมัวนาวแตกต่างจากฉบับดั้งเดิมมากกว่าแค่ชื่อ -- ซึ่งต้องเปลี่ยนเป็น Nosferatu เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาลิขสิทธิ์ -- แต่ใช้เนื้อเรื่องพื้นฐานเดียวกัน ชายหนุ่มเดินทางไปในดินแดนอันห่างไกล เพื่อติดต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้กับขุนนางลึกลับ ผู้ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นผีดูดเลือด ถึงแม้เขาจะรอดตายกลับไปหาคนรักได้ แต่ผีดูดเลือดก็ตามเขากลับไปสร้างหายนะ และความประหวั่นพรั่นพรึงถึงดินแดนบ้านเกิด

 

ไม่ว่าคนในปัจจุบันจะมองท่านเคาท์แดรกคูลา และบรรดาผีดูดเลือดในแง่ไหน -- สิ่งมีชีวิตกลายพันธุ์ คู่ปรับความรักของหมาป่า หรือผู้ใช้แสตนด์ -- ต้นศตวรรษที่ยี่สิบ นิยายของบราม สโตกเกอร์คือภาพสะท้อนการต่อสู้ขับเคี่ยวระหว่างอารยธรรม ระหว่างโลกตะวันตก เจ้าอาณานิคม และดินแดนตะวันออกไกล

 

แดรกคูลาคือความลี้ลับแห่งโอเรียน ที่คุกคามชาวยุโรปทั้งทางร่างกาย (สูบเลือด) และวิญญาณ (สะกดจิต) ศัตรูคู่อาฆาตของท่านเคาต์ก็คือศาสตราจารย์ วานเฮลซิง นักวิทยาศาสตร์ ตัวแทนของลัทธิรู้แจ้ง ตอนจบของนิยาย เมื่อวานเฮลซิงตอกลิ่มปักอกท่านเคาต์ได้สำเร็จ นั่นคือนาทีแห่งชัยชนะของเหตุและผลเหนือความเชื่องมงาย ของออกซิเดนตัลเหนือโอเรียน

 

อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในเมื่อมัวนาวเอานิยายของบราม สโตกเกอร์มาดัดแปลง ประเด็นต่างๆ เหล่านี้จึงยังคงอยู่ในภาพยนตร์ ทรานซิลวาเนีย ท้องถิ่นแดนไกล ถูกเรียกว่า "แผ่นดินของภูตผี" (Gespenster) ปราสาทของเคาต์โอลอก เมื่อมองเห็นแต่เนิ่นๆ แลดูเหมือนซากปรักหักพัก สิ่งปลูกสร้างที่ถูกธรรมชาติและวันเวลากลืนกิน มัวนาวตัดสลับภาพแมลงและสิงสาราสัตว์ เพื่อขับเน้นความดิบเถื่อน เดรัจฉาน เคาต์โอลอกคือพลังธรรมชาติ ผู้ยืนอยู่ตรงข้ามกับมนุษย์ เหตุและผล และก็เป็นพลังธรรมชาติอีกเช่นกัน ได้แก่ กระแสน้ำ ลมแรง และคลื่นซัดซาที่พานอสเฟอราตูข้ามทะเลบาลติก มาเหยียบแผ่นดินเยอรมัน

 

 

อย่างไรก็ดีความแตกต่างสำคัญในการตีความ ระหว่าง Dracula และ Nosferatu คือ เมื่อเทียบกับอังกฤษ (และมหาอำนาจอื่นๆ ในยุโรป) เยอรมันมีประเทศเมืองขึ้นน้อยกว่ามาก เราจึงไม่อาจพูดได้อย่างเต็มปากว่าเคาต์โอลอกคือสัญลักษณ์ของดินแดนอาณานิคม

 

คำว่า Orlok มาจากภาษาเดนมาร์ก แปลว่า "สงคราม" เมื่อศาสตราจารย์บูลเวอร์ (วานเฮลซิง) อธิบายต้นกำเนิดของผีดูดเลือด เขากางแผนที่และชี้ไปยังแหลมบัลขาน ดินแดนอันเป็นแหล่งปะทุของสงครามโลก นอสเฟอราตูจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งสงคราม ความกระตือรือล้นที่ โธมัส ฮูตเตอร์แสดงออกเมื่อรู้ข่าวว่าต้องเดินทางไปทำธุรกิจในดินแดนอันห่างไกล คือภาพสะท้อนของชายหนุ่มชาวเยอรมันนับล้านคน ที่ยังสนุกสนานกับการได้ออกไปผจญภัยเมื่อต้นสงครามโลก 

 

เอลเลน ภรรยาของโธมัส คือตัวแทนของผู้หญิงที่ถูกทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง ในฉากหนึ่ง มัวนาวตัดสลับระหว่างเอลเลนผู้กำลังนอนหลับฝัน ด้วยสีหน้าวิตกกังวล และภาพโธมัสถูกผีดูดเลือดจู่โจม ฝันร้ายของเอลเลนคือเหตุการณ์จริงที่กำลังเกิดกับชายคนรัก เมื่อเธอสะดุ้งตื่น และร้องเตือนอีกฝ่าย ราวกับนอสเฟอราตูได้ยินเสียงตะโกนดังกล่าว สีหน้าเขาตื่นกลัว และถอยฉากไป ระหว่างสงคราม หญิงสาวหลายคนเชื่อว่าจิตวิญญาณของตัวเองผสานเป็นหนึ่งเดียวกับคนรัก สามารถรับรู้ได้เมื่ออีกฝ่ายกำลังตกอยู่ในอันตราย

 

ผีดูดเลือดนอสเฟอราตู เดินทางกลับมาถึงแผ่นดินเยอรมันพร้อมกับชายหนุ่ม ฉากที่โธมัสโอบกอดหญิงคนรัก ถูกตัดสลับกับฉากท่านเคาต์แบกโลงศพเข้าไปจับจองบ้านที่ซื้อไว้ นอสเฟอราตูคือประสบการณ์แห่งความตายที่โธมัสนำกลับมาด้วยจากสงคราม ภายหลังจากถูกผีดูดเลือดกัดหนหนึ่ง แม้จะรอดชีวิตมาได้ แต่ชายหนุ่มก็มีอาการของผู้ป่วยผวาระเบิด เฉกเช่นเดียวกับทหารผ่านศึก เขากลัวแสงแดด นอนผวา และอยู่ๆ ก็เป็นลมล้มสลบไป

 

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่สุดจากนิยายต้นฉบับคือ บทบาทของศาสตราจารย์บูลเวอร์ (วานเฮลซิง) ถูกลดลงจนแทบไม่เหลือหลอ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ที่ในท้ายที่สุดต่อกรกับผีดูดเลือด และนำความสงบสุขกลับคืนมาสู่บ้านเมือง 

 

คนเดียวที่ตระหนักถึงตัวตนของผีดูดเลือดกลับเป็นเอลเลน คัมภีร์โบราณที่โธมัสนำกลับมาจากทรานซิลวาเนีย กล่าวไว้ว่า สตรีใดยอมสละโลหิตของตน นางผู้นั้นจักสามารถรั้งตัวผีดูดเลือดไว้จนแสงอรุณสาดส่อง และเมื่อนั้นคือจุดจบของปีศาจร้าย เอลเลนเปิดหน้าต่างเชื้อเชิญให้เคาต์โอลอกเข้ามาดูดเลือดนาง ในวินาทีที่ทั้งคู่เผชิญหน้ากัน แอนตอน เคส์บรรยายเอาไว้ในหนังสือ Shell Shock Cinema ว่า "ใบหน้าของหญิงสาวปรากฏร่องรอยของการขับเคี่ยวกัน ระหว่างความต้องการจะหลบหนีเอาตัวรอด และจิตใต้สำนึกที่ปรารถนาความตายอันใคร่กำหนัด (erotical)" 

 

ทำไมถึงต้องเป็น "ความตายอันใคร่กำหนัด" มัวนาวสลัดเสน่ห์ทางเพศ อันเป็นเอกลักษณ์ของเคาต์แดรกคูลา ออกไปจากตัวผีดูดเลือดของเขา เหลือเพียงปีศาจหน้าตาอัปลักษณ์ (บทเจ้าสาวสามคนของแดรกคูลาก็ถูกตัดออกไป) สิ่งที่ดึงดูดเอลเลนจึงไม่ใช่รูปลักษณ์ภายนอกของปีศาจ หากเป็นความตาย และการตระหนักรู้ว่าความตายของเธอจะให้กำเนิดชีวิตใหม่ และช่วยปลดปล่อยคนทั้งเมืองให้่พ้นจากหายนะ เฉกเช่นเดียวกับ Death Drive ของฟรอยด์ นี่คือวินาทีซึ่งความปรารถนาที่จะมีและจบชีวิตผนวกเข้าหากัน

 

Dracula จบอย่างสุขสันต์ด้วยคู่รักในอ้อมแขนกันและกัน Nosferatu จบด้วยความพ่ายแพ้ของวิทยาศาสตร์ Nosferatu จึงเป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่แสดงให้เห็นแนวโน้มของการต่อต้านลัทธิรู้แจ้ง ปฏิเสธการใช้เหตุและผลในสังคมเยอรมัน 

 

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

ติดตามเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับไวมาร์เยอรมันได้ที่เพจ

http://www.facebook.com/NiSatharnrathWiMar

 

ในไวมาร์เยอรมัน มวลชนไม่เคยกระหายความจริง พวกเขาเรียกร้องแต่ภาพลวงตา

ฟรอยด์เขียน Group Psychology and the Analysis of the Ego ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับ Beyond Pleasure Principle ข้อถกเถียงพื้นฐานของทั้งสองเล่มนี้คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ ขณะที่ปัจเจกชนมีแนวโน้มจะหวนไปสู่สภาวะดั้งเดิม คือความตาย สังคมอันประกอบไปด

ในไวมาร์เยอรมัน: Death drive กับ Sexual Drive

Death Instinct/Death Drive หรือสัญชาติญาณแห่งความตาย เป็นแนวคิดใหม่ที่ซิกมุนต์ ฟรอยด์พัฒนาขึ้นมาภายหลังสงครามโลก   ทหารผ่านศึกส่วนใหญ่ล้วนตกอยู่ในอาการผวาระเบิด (shell shock)   นี่จึงเป็นโอกาสอันดีให้ฟรอยด์พิสูจน์ทฤษฎีของตัวเอง โดยใช้วิชาจิตวิเคราะห์รักษาคนไข้เหล่านี้ 

ในไวมาร์เยอรมัน: รัฐประหารคัปป์

หนึ่งในข้อเรียกร้องของสนธิสัญญาแวร์ซายก็คือ เยอรมันต้องส่งมอบตัวอาชญากรสงคราม ให้ฝ่ายพันธมิตรดำเนินคดี ในที่นี้หมายถึงวิลเฮล์ม -- ถ้าเขาไ

ในไวมาร์เยอรมัน: เผด็จการรัฐสภา และอนาธิปไตยรัฐสภา

รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐไวมาร์คือลูกผสมของรัฐธรรมนูญแห่งประเทศประชาธิปไตยต่างๆ ทั่วยุโรป ตำแหน่งประมุขของประเทศเปลี่ยนจากเชื้อพระวงศ์ มาเป็นประธานาธิบดี (president) ผู้มาจากการเลือกตั้ง และประจำตำแหน่งทุกๆ เจ็ดปี เฉกเช่นเดียวกับกษัตริย์ ประธานาธิบดีคือสัญลักษณ์สูงสุดของประเทศ สามารถแต่งตั้งและมอบอ