Skip to main content
   

ยังคิดถึงแฟนคอลัมน์อยู่เสมอนะคะ และที่หายด้วยภารกิจบางอย่างและกำลังเตรียมหาข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับแดนอิเหนาและตากาล็อคมาฝากผู้อ่านอยู่นะคะ อย่าเพิ่งลืมกันไปก่อน ช่วยให้กำลังใจด้วยนะคะ

แต่สัปดาห์นี้ก็ยังไม่มีเรื่องของอิเหนาและตากาล็อคมาให้อ่านนะคะ เพราะเห็นว่าสถานการณ์ข้าวยากหมากแพงกำลังวิกฤตในโลกเรา มีหลายประเทศที่ประสบปัญหาข้าวขึ้นราคาและขาดแคลนข้าว อย่างเร็วๆ นี้ฟิลิปปินส์แดนตากาล็อคก็มีข้าวว่า รัฐบาลต้องหาข้าวราคาถูกให้กับคนยากจนในประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่นักหากสื่อไม่เอามาพูดก็จะไม่มีใครทราบว่า ความจริงแล้วที่ฟิลิปปินส์ในพื้นที่ที่ห่างไกล ซึ่งอยู่แถบเกาะทางใต้เคยเกิดสงครามแย่งชิงอาหารมาก่อนหน้านี้แล้ว และชาวฟิลิปปินส์ก็เผชิญปัญหาค่าครองชีพแพงมานานแล้ว ไม่เช่นนั้นแรงงานฟิลิปปินส์ไม่ไหลบ่าไปขายแรงงานต่างประเทศแน่นอน
 

แต่วันนี้ขอเสนอเรื่องราวของพม่า ที่ผู้เขียนได้ยินได้ฟังมา เพราะสถานการณ์จะคล้ายๆ กัน ประชาชนชั้นล่างของพม่ากินไม่อิ่มท้องมานานแล้ว ก็อาศัยสถานการณ์ที่พวกเรากำลังตื่นยุคข้าวยาก น้ำมันแพง ของขึ้นราคามาเล่าเรื่องพม่าให้ฟังค่ะ
  ขอบคุณที่ยังเปิดอ่านอยู่นะคะ


ฉันพบชายชราที่บ้านของลูกสาวเขา ซึ่งอาจจะเรียกว่าบ้านเสียทีเดียวไม่ได้ เพราะหน้าที่ใช้สอยหลักคือ เป็นโรงเรียนสำหรับเด็กน้อยชาวพม่า ที่พ่อแม่อพยพมาขายแรงงานในจังหวัดระนอง ลูกสาวของเขาอาศัยพื้นที่บางส่วนที่อยู่ด้านหลังของโรงเรียน เป็นห้องพักซึ่งมีสองห้อง ที่สมาชิกในครอบครัวอาศัยอยู่มานาน
3 ปี หลังจากที่สามีของเธอเปลี่ยนสถานะจากคนสวนของรีสอร์ทแห่งหนึ่งในระนองมาเป็นครูและผู้ดูแลโรงเรียนแห่งนี้ เขาเรียนมาทางด้านเศรษฐกิจในระดับมหาวิทยาลัย แต่ไม่จบเพราะสถานการณ์ทางการเมืองเมื่อปี 1988 ทำให้รัฐบาลพม่าปิดมหาวิทยาลัยหลายแห่งอย่างไม่มีกำหนด และการปราบปรามที่โหดร้ายของทหารพม่า ทำให้เขาต้องหนีภัยมาขายแรงงานในประเทศไทย

ชายชราก้าวย่างช้าๆ ลงจากรถกะบะ เดินผ่านพวกเราที่กำลังนั่งประชุมอย่างเผ็ดร้อนอยู่ในห้องโถงของโรงเรียน เขาเดินไปนั่งหน้าห้องพักของลูกสาว หญิงร่างท้วมวัยกลางคนและชายร่างผอมที่มากับเขา เดินตามไปนั่งบนพื้นข้างๆ เก้าอี้ของเขา เด็กสาวสองคน และเด็กหนุ่มซึ่งกำลังอยู่ในวัยรุ่นตรงรี่เข้าไปสวมกอดและนั่งลงบนพื้นห้องเริ่มต้นสนทนากับชายชรา พวกเราที่นั่งประชุมหลายคนพักการถกเถียงตรงไปยังชายชรา และเข้าร่วมวงสนทนา ทุกคนมุ่งความสนใจไปยังชายชราผู้เพิ่งมาเยือนอย่างใจจดจ่อ ฉันไม่เข้าใจภาษาพม่า แต่ก็พอจะเดาอารมณ์แห่งการพบปะนั้นรื่นรมย์อยู่ไม่น้อย

ฉันมาทราบภายหลังว่า ชายชราเพิ่งเดินทางมาจากร่างกุ้งพร้อมกับลูกสาวและลูกชาย ด้วยเงินจากน้ำพักน้ำแรงของลูกสาวที่มาเป็นแรงงานในประเทศไทยส่งเงินค่าเครื่องบินไปให้ ซึ่งเป็นการเดินทางที่ง่ายขึ้นเพราะเขามีพาสปอร์ตเนื่องจากเคยเป็นข้าราชการในสายงานทหารช่างของกองทัพพม่า เพื่อมาเยี่ยมเยียนลูกสาวและครอบครัว เป็นการเดินทางมาประเทศไทยครั้งแรกในชีวิตของเขา อาจจะเป็นการเดินทางมาชั่วคราวหรือพักยาวตลอดไปขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมืองของพม่าว่า จะทำให้คุณภาพชีวิตของชาวพม่าดีขึ้นได้หรือไม่

วันรุ่งขึ้น ฉันได้รับเชิญจากครอบครัว เข้าร่วมวงอาหารเย็นด้วยกันเพื่อต้อนรับสมาชิกอาวุโส ทั้งที่เข้าสู่วัย 85 ปี แต่ชายชรายังคงแข็งแรง ประสิทธิภาพการได้ยินยังดีอยู่มาก สายตายังคงแจ่มชัด เดินเหินอย่างแข็งแรงไม่ต้องมีใครต้องคอยประคอง ฉันรู้สึกอบอุ่นด้วยสัมผัสถึงประสบการณ์ที่มีมนต์ขลังของคนสูงวัย ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันในคนทุกชาติ ความอ่อนโยน เมตตา อารมณ์ที่มั่นคงสงบเย็น และประสบการณ์ชีวิตที่เชี่ยวกาจ เขาเริ่มต้นด้วยคำต้อนรับอย่างอบอุ่น (ผ่านล่าม-หลานสาววัยรุ่นที่โตและเรียนหนังสือไทย) เพื่อไม่ให้ฉันได้เคอะเขินและแปลกหน้าสำหรับสมาชิกในครอบครัว

เขาว่า ในทางพุทธศาสนาที่พม่ายึดถือกัน การที่คนเรามาพบกันอย่างคาดไม่ถึง ขณะที่เขาอยู่ไกลถึงร่างกุ้งและฉันอยู่ที่นี่ ถือว่าเราทำบุญมาร่วมกันและเป็นญาติกัน ฉันอาจเป็นลูกหลานเขาเมื่อชาติก่อนๆ เป็นการทักทายที่อบอุ่นทำให้เราใกล้กันได้อย่างรวดเร็วขึ้น การสนทนาบนโต๊ะอาหารออกรสชาติด้วยหัวข้อความลำบากและขาดแคลนของประชาชนชาวพม่าระดับล่าง แต่บรรยากาศไม่เศร้าสร้อยกลับขบขัน ประชดประชัน และคับแค้นปะปนกันไป

เขาเกิดทันในช่วงยุคอาณานิคมอังกฤษและเปลี่ยนผ่านเป็นญี่ปุ่นเมื่อเข้าช่วงวัยรุ่นอายุเพียงสิบกว่าปี แต่จำได้ว่า อาหารการกินและเศรษฐกิจอุดมสมบูรณ์กว่าชีวิตหลังจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและพม่าเป็นเอกราชจากอาณานิคมมากนัก แต่ไม่ใช่หมายความว่า ชาวพม่าจะลืมความเจ็บปวดจากการกระทำและกดขี่ของอาณานิคมอังกฤษและญี่ปุ่น แต่มันเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่ลืมไปแล้วสำหรับชายชรา เหลือแต่เพียงช่วงเวลาที่ทุกข์ทนกับยุคเผด็จการทหาร ตั้งแต่เขาเป็นทหารช่างเล็กๆ เมื่อสี่สิบปีที่แล้วได้เงินเดือนเพียง 120 จั๊ด (1บาท ประมาณ 35 จั๊ด) เลี้ยงลูกๆ เจ็ดคน และไม่ได้รับสวัสดิการหรือการแจกจ่ายสิ่งของจากรัฐบาลเลยสักครั้งเดียว ต้องหารายได้พิเศษด้วยการเป็นช่างทำไฟให้กับเพื่อนบ้าน  และเมื่อลูกๆ โตขึ้นก็ต้องช่วยเหลือกันทำงานเลี้ยงปากเลี้ยงท้องให้กับครอบครัว ลูกๆ เข้าเรียนหนังสือเพียงชั้นประถมเท่านั้น

ช่วงชีวิตนี้ที่มองว่าลำบากมากแล้ว แต่หลังปี 1988 ที่มีสงครามกลางเมือง นักศึกษาเดินขบวนปฏิวัติไล่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ชีวิตของประชากรพม่าลำบากมากขึ้นไปอีก ในระหว่างการปราบปรามนักศึกษาในช่วงเวลานั้น รัฐบาลพม่าได้มีนโยบายขยายเมือง เพื่อนบ้านและครอบครัวของเขาถูกรัฐบาลโยกย้ายให้ไปอยู่ที่นิคมใหม่ที่รัฐบาลสร้างไว้รองรับประชากร ซึ่งห่างจากที่อยู่เดิมมาก ต้องนั่งรถโดยสารเข้ามาทำงานในเมืองร่างกุ้งนานถึง 1 ชั่วโมง

เขานึกถึงเหตุการณ์ชีวิตครอบครัวของเขาและเพื่อนบ้านในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานั้นลำบากมากเพียงใด  เขาพูดให้ฟังอย่างขบขันกับช่วงนั้นที่รัฐบาลประกาศให้ประชาชนกินผักเยอะๆ จะได้สุขภาพดี แต่สภาพที่อยู่อาศัย ชาวบ้านไม่มีพื้นที่เพาะปลูก ไม่มีอะไรได้มาฟรี น้ำประปาไหลวันเว้นวัน ไฟฟ้าดับวันเว้นวันตั้งแต่นั้นมาจนกระทั่งทุกวันนี้ แม้จะผ่านมาเป็นเวลา 20 ปีแล้วก็ตาม ระบบสาธารณูปโภคก็ไม่ได้พัฒนาขึ้น แม้ว่าที่นิคมที่อยู่อาศัยจะเปลี่ยนแปลง มีโรงภาพยนตร์เข้ามา มีความเจริญทางวัตถุมากขึ้น แต่ชีวิตแร้นแค้นของเขาและเพื่อนบ้านกลับไม่ได้ลดลง ยิ่งหนักขึ้นไปอีก เพราะสินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพงขึ้น ขณะที่อัตราค่าจ้างและเงินเดือนต่ำ เขาเกษียณอายุแล้ว แต่ลูกๆ ของเขารับจ้างทั่วไปเลี้ยงปากท้องอีกหลายท้อง

เขาเผยว่าเป็นเวลา 8 ปีแล้วที่ครอบครัวของเขาหุงข้าวเพียงมื้อเดียวคือ มื้อเย็น หากข้าวเย็นเหลือไปถึงมื้อเช้าก็จะซื้อขนมจีนซึ่งราคาถูกกว่าข้าวสารมาคลุกปนกับข้าวและแบ่งกันกินเพื่อให้อยู่ได้ไปวันๆ ไม่เฉพาะคนรับจ้างเท่านั้น ชาวนาที่ปลูกข้าวต้องปันข้าวขายให้กับรัฐบาลในราคาถูกเพียงกิโลละ 900 จั๊ด ถ้าหากการเพาะปลูกไม่ได้ผล ชาวนาต้องไปซื้อข้าวสารจากตลาดนอก ซึ่งมีราคาแพงคือ 1,200 จั๊ดต่อกิโลมาขายให้กับรัฐบาลในราคา 900 จั๊ด ซึ่งก็จะทำให้ลำบากขึ้นมาสองเท่าตัว ทั้งต้องหาเงินไปซื้อข้าวมาทดแทนและได้ราคาต่ำ

ฉันถามเขาว่า บอกสื่อในพม่าได้ไหมถึงเรื่องราวที่เราลำบาก เขาหัวเราะกับคำถามที่ไร้เดียงสาก่อนตอบกลับมาว่า แค่ฟังวิทยุบีบีซี ก็ถูกทหารจับแล้วหากทหารทราบว่าใครฟังข้อมูลข่าวสารจากสื่อนอก และชาวพม่าทราบดีว่า หากใครพูดถึงสิ่งไม่ดีต่อรัฐบาลหรือพูดถึงการคอรัปชั่นของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ทุกคนต้องเดือดร้อน เช่น ลูกที่เรียนอยู่ในโรงเรียนรัฐบาลอาจจะไม่ได้เรียนต่อไปอีก หรืออาจจะถูกจับเข้าคุก แม้แต่การนั่งจับกลุ่มกันหลายๆ คนเพื่อคุยกันทางการเมืองก็ไม่สามารถทำได้ หากคนของรัฐบาลทราบก็จะถูกจับ ..นี่คือ ภาพชีวิตหนึ่งของสังคมพม่าจากคำบอกเล่าของชายชรา

ในขณะที่โลกวิกฤตกับปัญหาข้าวราคาแพง ชายชราจากร่างกุ้งอยากจะบอกว่า ชาวพม่ากินข้าวไม่อิ่มท้องมานานนับสิบปีแล้ว ...โลกจ๋า

บล็อกของ กอแก้ว วงศ์พันธุ์

กอแก้ว วงศ์พันธุ์
 ได้หนังสือเล่มนี้มาเกือบสี่ปีจากร้านขายหนังสือ a different bookstore ในแหล่งช้อปปิ้งชื่ออิสต์วูด เมืองลิบิส ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นที่รู้จักว่าหากอยากได้หนังสือแปลของนักเขียนเอเชียก็มาที่นี่ได้ เพราะเป็นแหล่งรวมงานเขียนชาวเอเชีย ประเภทประวัติศาสตร์ การเมือง วัฒนธรรมหาได้ง่ายที่สุดแห่งหนึ่งในมนิลา (หวังว่าร้านหนังสือยังไม่เจ๊งไปเสียก่อน)
กอแก้ว วงศ์พันธุ์
ผู้เขียนเคยเข้าพบสัมภาษณ์ผู้บริหารของหนังสือพิมพ์เดอะจาการ์ตาโพสต์ เกี่ยวกับการบริหารงานหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษหนึ่งเดียวในประเทศอินโดนีเซีย ความยากลำบากต่อการอยู่รอด การบริหารงานข่าว ฯลฯ เมื่อห้าปีที่แล้ว จึงขอนำตอนหนึ่งที่น่าสนใจในการพูดคุยกันมาเล่า ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์จาการ์ตา โพสต์ต้องการให้โครงสร้างของบริษัทหรือธุรกิจหนังสือพิมพ์ไม่เป็นที่ผูกขาด หากเป็นของตระกูลใดตระกูลหนึ่ง แน่นอนว่า หนังสือพิมพ์อาจเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งได้ ด้วยวิธีการหลากหลายตั้งแต่การล้อบบี้ การซื้อตัว (เจ้าของสื่อ) การขู่เข็ญ คุกคาม จากบรรดาอำนาจมืดทั้งหลายทั้งปวง
กอแก้ว วงศ์พันธุ์
หลบเรื่องร้อนทางการเมือง ที่ทำให้หัวใจรุ่มร้อน สับสนอลหม่าน วันนี้เลยเปลือยหัวใจ แบบไร้สี เขียนเรื่องความรักของเพื่อนนักข่าวดีกว่า เป็นความรักข้ามพรมแดนและข้ามศาสนาในดินแดนสวรรค์ "บาหลี" อินโดนีเซีย 
กอแก้ว วงศ์พันธุ์
เด็กสาวแนะนำตนเองว่าเป็นนักศึกษาฝึกงานกำลังเรียนอยู่คณะนิเทศศาสตร์วิชาเอกหนังสือพิมพ์ จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เธอมักจะหาโอกาสฝึกงานทุกครั้งที่มหาวิทยาลัยปิดภาคเรียน เพื่อทดลองสนามจริงแทนที่จะเรียนแต่ในห้องเรียนเท่านั้น ผู้เขียนเห็นวิญญาณของความเป็นสื่อของเธอแล้ว เธอน่าจะเป็นสื่อมวลชนคุณภาพดาวเด่นดวงหนึ่งในแวดวงสื่อสารมวลชน หากเธอไม่ติดกรอบและถูกครอบงำจากความกลัวบางอย่างที่เธอเองก็มองไม่เห็นในโครงสร้างของสังคมไทย
กอแก้ว วงศ์พันธุ์
ในบ้านเราเรียกหนังสือพิมพ์ออกเป็น 2 ชนิด หนึ่ง คือหนังสือพิมพ์กระแสหลัก สอง หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น หนังสือพิมพ์กระแสหลักก็หมายถึงหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่เช่น เดลินิวส์ ไทยรัฐ มติชน ฯลฯ ซึ่งจัดพิมพ์อยู่ในกรุงเทพฯ และส่งออกไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย นำเสนอข่าวในประเทศและข่าวรอบโลก พิมพ์จำหน่ายเป็นรายวัน ส่วนหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นคือ หนังสือพิมพ์ทิ่ผลิตขึ้นในต่างจังหวัด ขายในจังหวัดนั้นๆ ส่วนใหญ่เป็นหนังสือพิมพ์แทปลอยด์ ข่าวส่วนใหญ่นำเสนอข่าวในท้องถิ่น พิมพ์ไม่กี่ฉบับและไม่เป็นหนังสือพิมพ์รายวัน อย่างมากก็รายสัปดาห์ หรือรายเดือน ฉะนั้นสื่อประเภทสิ่งพิมพ์ในไทย…
กอแก้ว วงศ์พันธุ์
   สิ่งที่ดีที่สุดของปีนี้สำหรับผู้เขียนคือ "การได้รักใครบางคน" ช่วงเวลามหัศจรรย์ที่เกิดเมื่อไม่นานนัก แต่สัมผัสได้ว่า การได้รัก (อีกครั้ง) มันเกิดพลังสร้างสรรค์ อยากทำในสิ่งที่เป็นบวกแก่คนรอบข้าง และเมื่อความอ่อนโยนอบอุ่นส่งตอบกลับมา ยิ่งก่อความอิ่มเอิบในใจและอิ่มเอมในอารมณ์ยิ่งนัก จากซึมๆ เศร้าๆ ก็กระฉับกระเฉงอย่างบอกไม่ถูก ความต้องการสรรหาแต่สิ่งดีให้แก่ความรัก ตื่นตัวตลอดเวลา...ถือว่าการได้รักใครบางคน เป็นของสิ่งที่ดีที่สุดและเป็นของขวัญวันปีใหม่ให้กับตัวเอง
กอแก้ว วงศ์พันธุ์
ข่าวการเสียชีวิตของสมาชิกผู้สนับสนุนของกลุ่มการเมืองสองกลุ่มที่ขัดแย้งกันอยู่ขณะนี้ พวกเขาพลีชีพเพราะความเชื่อ ความศรัทธาของพวกเขา ซึ่งเป็นความเชื่อที่บริสุทธิ์ที่เขาแสดงออกต่อสิ่งที่ศรัทธานั้น แต่ไม่มั่นใจว่า พวกเขาเผชิญความรุนแรงถึงขั้นเลวร้ายเช่นนี้ โดยปราศจากแรงขับของความรุนแรงที่สองฝ่ายก่อให้เกิดขึ้น ท่านผู้นำทั้งหลาย ท่านกำลังใช้ความเชื่อ ความศรัทธาของคนเหล่านี้ เพื่อบรรลุเป้าหมาย เกียรติภูมิของท่านผู้นำ ที่ปูด้วยคราบเลือด น้ำตา ของมวลชน ควรภาคภูมิใจล่ะหรือ??? ความเชื่อ ศรัทธาควรเป็นหนทางเพื่อสันติภาพ หากเมื่อใดถูกนำไปสู่ความรุนแรงแล้วไซร้…
กอแก้ว วงศ์พันธุ์
ขอเปิดพื้นที่แทนเรื่อง "สื่อ" ชั่วคราว เพื่ออุทิศให้กับแรงงานที่ประสบเหตุเสียชีวิตจากการลักลอบขนย้ายแรงงานที่สังเวยต่อการเมืองในประเทศพม่าและกระบวนการค้ามนุษย์ในไทย อู วิน (นามสมมติ) เคยทำงานเป็นอาสาสมัครขององค์กรคณะกรรมการเพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) เพื่อช่วยเหลือแรงงานพม่าในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิที่จังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่และระนอง โทรมาหาผู้เขียนด้วยน้ำเสียงเศร้าสร้อยในเช้าวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา เขาพูดถึงการเสียชีวิตหมู่ของแรงงานพม่าที่ลักลอบเข้ามาทำงานในเมืองไทย จำนวน 54 ศพ เป็นข่าวเกรียวกราวเมื่อหลายเดือนก่อน…
กอแก้ว วงศ์พันธุ์
  เช้าตรู่วันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนตื่นขึ้นด้วยเสียงโทรศัพท์ของพี่สาวที่โทรหาด้วยน้ำเสียงห่วงใย กลัวว่าจะอยู่ในที่เกิดเหตุ เนื่องจากเธอยังไม่ได้ออกเวรจากการดูแลคนไข้กะกลางคืน จึงได้เห็นข่าวเช้าของการปราบปรามประชาชนที่หน้ารัฐสภาก่อนที่จะรีบโทรมา คาดว่าด้วยวิสัยของผู้เขียนมักจะร่วมในเหตุการณ์ประท้วงอยู่บ่อยครั้ง ครั้งนี้เธอคาดผิด แต่กลับเป็นความดีใจของเธอที่น้องสาวไม่ได้อยู่ที่นั่น แต่เป็นความกังวลสำหรับผู้เขียนแทนเพราะพี่สาวคนที่สองของบ้านกลับเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ประท้วงและติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรตั้งแต่การชุมนุมครั้งที่สองเริ่มต้นขึ้น…
กอแก้ว วงศ์พันธุ์
นักผจญภัยคนหนึ่งซึ่งเลือกนั่งเรือล่องทะเลผ่านประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักข่าวเทมโปสัมภาษณ์เขาเมื่อเดินทางมาถึงอินโดนีเซียเพื่อนำเรื่องราวของเขาลงในนิตยสารเทมโป หนึ่งในคำถามนั้นให้เขาแสดงความคิดเห็นกับประเทศที่เขาล่องเรือผ่าน ซึ่งมีไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เขาตอบสิ่งที่ดีที่สุดในแต่ละประเทศ ประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด แต่ประเทศที่เขาบอกว่าอยู่แล้วสบายใจที่สุดคือ ประเทศอินโดนีเซีย เพราะเป็นประเทศเสรี ผู้คนเป็นมิตร และให้พื้นที่กับคนต่างถิ่นมากกว่าประเทศอื่นๆ ที่เขาผ่านมา ออกจะเห็นด้วยกับนักผจญภัย ....…
กอแก้ว วงศ์พันธุ์
ไทยและอินโดนีเซียในระดับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยอำนาจที่มีความหมายต่อประเทศ ที่มีมายาวนาน และเรารับทราบไม่กว้างขวางมาก เลยลงภาพให้ชมกัน ในแง่ความหลากหลายของศาสนาและชาติพันธุ์นั้น ประเทศอินโดนีเซียยึดเป็นหลักธรรมนูญของประเทศ อินโดนีเซียได้ชื่อว่ามีวัดไทย จำนวนมากตั้งอยู่ทั่วประเทศ ไม่ต่างจากอเมริกา ความเป็นชาตินิยมแบบอินโดนีเซียจึงแตกต่างอย่างมากจากความเป็นชาตินิยมของไทยค่อนข้างมาก  สัญลักษณ์รูปช้างสร้างเป็นที่ระลึกหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอินโดนีเซีย
กอแก้ว วงศ์พันธุ์
แค่ตั้งชื่อก็สะดุ้งเอง แต่แน่ใจว่าต้องใช้ชื่อนี้ เพราะเหตุเกิดที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี ค.ศ. 1946 ค่ะ เป็นกลุ่มทหารปฏิวัติหรือกลุ่มกบฎ นำโดย Gusti Ngurah Rai นายทหารผู้ก่อตั้ง กองทัพปลดปล่อยอิสรภาพจากการรุกรานของประเทศอาณานิคมดัทช์ และญี่ปุ่น เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นถอนทัพออกจากบาหลี ก็เป็นโอกาสให้ดัทช์ เจ้าอาณานิคมเก่าเข้ามาครอบครองบาหลีอีกครั้ง โดยครั้งนี้ต้องการรวมบาหลีเข้ากับอินโดนีเซีย ทหารและประชาชนชาวบาหลี ซึ่งมาจากทั่วทั้งเกาะบาหลี จึงพร้อมใจกันเข้าต่อสู้กับกองทัพดัทช์ ผู้ซึ่งมีกองกำลังพร้อมอาวุธทันสมัย แต่ทหารบาหลีมีเพียงอาวุธของชาวญี่ปุ่น…