สื่อยืนข้างประชาชน

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ประชาชนของเขาผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างยาวนานตั้งแต่ ในยุคอาณานิคมก็ถูกกดขี่จากอาณานิคม สเปน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เสร็จจากยุคอาณานิคมก็มาเจอยุคเผด็จการเบ็ดเสร็จภายใต้รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินัน มาร์กอสผู้ล่วงลับ จากยุคเผด็จการดันมาเจอยุคประชาธิปไตยลวงและการคอรัปชั่นอย่างหนักหน่วงในรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราดา และเพิ่งจะมีเหตุการณ์ประท้วงไปหมาดๆ เพื่อขับไล่ประธานาธิบดีอาร์โรโย ที่แปดเปื้อนด้วยการคอรัปชั่น ประชาชนชาวฟิลิปปินส์จึงมีประวัติศาสตร์การต่อสู้กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด เรียกได้ว่าขบวนการประชาชนของฟิลิปปินส์เข้มแข็งอย่างมากเป็นแบบอย่างการต่อสู้ให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้เรียนรู้มากทีเดียว  และเคียงคู่กันมากับขบวนการประชาชนเพื่อต่อสู้เรียกร้องเอกราช และความเป็นธรรมในประวัติศาสตร์นั้นฟิลิปปินส์ไม่เคยขาดสื่อข้างประชาชนในแต่ละยุคสมัย

สื่อฟิลิปปินส์เป็นสถาบันที่ถูกเอ่ยอ้างในเรื่องความมีเสรีภาพสื่อมากที่สุดประเทศหนึ่งในหมู่เอเชียอาคเนย์ ทว่าในที่นี่จะไม่เน้นเรื่องนี้ แต่จะพูดถึงบทบาทสื่อตั้งแต่ในอดีตที่มีส่วนเรียกร้องเอกราชและความเป็นธรรม ในยุคอาณานิคมนั้น สเปนได้ชื่อว่าเป็นอาณานิคมที่กระทำกับชนพื้นเมืองเหมือนทาส อาศัยศาสนาจักร ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกควบคุมประชาชน เจ้าอาณานิคมสเปนไม่เคยให้สิทธิเท่าเทียมกันกับคนพื้นเมือง คนเชื้อสายสเปนอยู่ดีกินดีดั่งราชา แถมยังเป็นเจ้าครองที่ดิน เป็นพลเมืองชั้นหนึ่งของสังคมในขณะนั้น ในขณะที่ชนพื้นเมืองกลายเป็นผู้ใช้แรงงานและเป็นพลเมืองชั้นต่ำสุดทั้งในแง่สิทธิทางการเมือง ศาสนาและการศึกษา เช่น ชนพื้นเมืองเป็นพระนักบวชไม่ได้เป็นต้น โรงเรียนชั้นนำเป็นที่เรียนของลูกหลานเจ้าอาณานิคม นอกจากนี้วัฒนธรรมและภาษาของคนพื้นเมืองก็ถูกกลืนกลาย โดยบังคับให้เรียนภาษาสเปนและใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ

การกดขี่และความไม่เท่าเทียมกันในยุคนั้นทำให้เกิดขบวนการกู้ชาติโดยใช้ความเป็นชาตินิยมชื่อ ขบวนการคาติปูนัน (ปัจจุบันเป็นชื่อถนนสายสำคัญหนึ่งในเมืองมนิลาด้วย) มีวีรบุรุษสำคัญในประวัติศาสตร์ของฟิลิปปินส์คือ นายแพทย์โฮเซ ริซัล และมาร์เชลโล เดล พิลาร์ วีรบุรุษกู้ชาติทั้งสองท่าน คนหนึ่งเป็นนักเขียนด้วย คือ โฮเซ ริซัล อีกท่านเป็นนักหนังสือพิมพ์ มาร์เชลโล เดล พิลาร์ และหนังสือพิมพ์ที่มีบทบาทเคียงข้างประชาชน คือ หนังสือพิมพ์ La Solidaridad ที่นำเสนอแนวคิดการกู้ชาติและเปิดโปงความเลวร้ายของเจ้าอาณานิคมสเปน ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ช่วง ปี 1889-1895 ที่ทรงอิทธิพลด้านความคิดประชาธิปไตยแต่ชนชั้นปัญญาชนของฟิลิปปินส์ในยุคนั้น เรียกว่า เป็นพื้นที่สะท้อนปัญหาการกดขี่ของอาณานิคมและประกาศแนวคิดในการกู้ชาติในยุคนั้น

20080519 1
ภาพจาก wikipedia หนังสือพิมพ์ La Solidaridad ที่เคียงข้างประชาชนเพื่อกู้เอกราชของประเทศ
เป็นพื้นที่ที่สองวีรบุรุษโฮเซ ริซัลกับมาร์เชลโล เดล พิลาร์ใช้เผยแพร่แนวคิดของเขาด้วย

ต่อมาในยุคเผด็จการเบ็ดเสร็จ อดีตประธานาธิบดีมาร์กอส นับว่าเป็นยุคมืดสุดของสื่อฟิลิปปินส์ เพราะมาร์กอสใช้อำนาจครอบงำทุกอย่าง โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ทั้งยังสร้างสื่อของตัวเองและจัดการกับสื่อที่อยู่ตรงข้ามกับตัวเองอย่างโหดร้ายและเด็ดขาด สื่อมวลชนสูญเสียชีวิตและติดคุกมากที่สุดในยุคนี้ เมื่อแสดงออกบนดินไม่ได้ สื่อที่อยู่เคียงข้างประชาชนก็ต้องเปลี่ยนพื้นที่การต่อสู้ คือ ลงไปสู้ใต้ดิน ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ด้วยแท่นโรเนียว ครั้งสองถึงสามพันฉบับ และแอบแจกจ่ายให้กับประชาชน หนึ่งในผู้ผลิตสื่อใต้ดิน ปัจจุบันเป็นนักพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) สายคนจนเมืองสำคัญคนหนึ่งของฟิลิปปินส์ ส่วนสื่อบนดินหรือสื่อกระแสหลักเพียงแต่เล่นไปตามกระแส เซนเซอร์ตัวเองเป็นหลัก ต่อเมื่อขบวนการประชาชนและกระแสของนางคอรี อะคีโนเริ่มเข้มแข็ง สื่อกระแสหลักจึงเอนเอียงมาเสนอข่าวฟากประชาชนมากขึ้น เรียกว่า สื่อกระแสหลักในฟิลิปปินส์ตั้งแต่เข้าสู่ยุคประกาศเอกราชกระทั่งปัจจุบันมีแนวคิดหลักคือ เล่นไปตามกระแสของสังคม แต่พวกเขาเรียกว่า เป็นการนำเสนอข่าวตามที่ข่าวมันเป็น โดยไม่เคยเอ่ยถึงการเซนเซอร์ตัวเองในสถานการณ์ที่เห็นว่า อ่อนไหวทางการเมืองและอาจมีผลต่อความอยู่รอดของหนังสือพิมพ์ เช่น การไม่เสนอข่าวรอบด้านเมื่อมีการลอบสังหารคู่ต่อสู้ทางการเมืองนายอะคีโน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม รากเหง้ายุคเผด็จการเป็นแรงผลักดันให้เกิดสื่อทางเลือก และสื่อภาคประชาชนขึ้นหลายองค์กรในฟิลิปปินส์ และมีความเข้มแข็งมากในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีบทบาทมากที่สุดในการล้มรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราดา นั่นคือ องค์กรสื่อสืบสวนสอบสวน หรือ the Philippine Center for Investigative Journalism (PCIJ) นำโดยนักข่าวสาวสวยที่ยึดมั่นในอุดมการณ์เสรีภาพสื่อและเคียงข้างประชาชนอย่าง Sheila S. Coronel แนวทางการทำงานของ PCIJ คือ การเจาะลึกหาความจริงของเหตุการณ์และเป็นพื้นที่นำเสนอภาคประชาชน รวมถึงคนชายขอบที่ลึกและเข้มข้น ซึ่งสื่อกระแสหลักไม่มีทางเปิดพื้นที่แบบนี้ได้ ผลงานที่ทำให้ PCIJ อยู่ในใจของประชาชนชาวฟิลิปปินส์ได้อย่างยาวนานคือ การขุดคุ้ยความมั่งคั่งของอดีตประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราดา กระทั่งนำไปสู่การตรวจสอบและถอดถอนประธานาธิบดี

20080519 2
หนังสือขุดคุ้ยความร่ำรวยผิดปกติของเอสตราดา โดยคณะผู้สื่อข่าวของ PCIJ

20080519 3
Sheila S. Coronel (กลางเสื้อดำ) ผู้ช่วยเหลือและให้ความรู้เรื่องสื่อฟิลิปปินส์กับผู้เขียนระหว่างอยู่ที่ฟิลิปปินส์
ถ่ายกับเพื่อนร่วมงานและพนักงานทั้งหมดของ PCij

ปัจจุบัน มีสื่อที่ยืนข้างประชาชนอยู่จำนวนมาก และสื่อยืนข้างประชาชนของฟิลิปปินส์มีหลากหลายประเภทมาก มีทั้งสื่อภาคประชาชน คือ ภาคประชาชนมีบทบาทในการนำเสนอข่าวสารเอง สื่อทางเลือกที่อยู่นอกระบบธุรกิจ และทำหน้าที่ตรวจสอบ เจาะลึก ตั้งคำถามกับสังคม สร้างพื้นที่ให้กับคนกลุ่มน้อยที่ไม่มีอำนาจทางการเมือง ถ่วงดุลข้อมูลและอำนาจของกลุ่มนักปกครองของบ้านเมือง

จากบทเรียนของฟิลิปปินส์ สื่อที่ยืนข้างประชาชนเกิดจาก สังคมที่กดขี่ข่มเหงประชาชน สังคมที่ไม่เท่าเทียมทางสิทธิและเสรีภาพ แต่คงไม่แค่นั้น ต้องอาศัยความกล้าหาญและสำนึกต่อสังคมของบุคคลากรในวงการสื่อสารมวลชนด้วย ในฟิลิปปินส์จึงมีคนคุณภาพอย่าง (ขอโทษผู้อ่านที่ขาดข้อมูลคนข่าวในยุคอาณานิคม)  Sheila S. Coronel และคนอื่นๆ อย่าง Melinda Quintos de Jesus, Carolyn O. Arguillas, Yasmin Arquiza ยังมีอีกหลายคนที่ไม่ได้เอ่ยชื่อในที่นี่ ส่วนใหญ่ผ่านการทำงานกับสื่อกระแสหลักระดับชาติและนานาชาติหลายคน แต่คนเหล่านี้กินอุดมการณ์ทิ้งความมั่นคงทางการเงินหันมาทำงานที่ตนเองเชื่อมั่นและเคารพในความเป็นสื่อมวลชนอาชีพ ที่ไม่ใช่สื่อมวลชนแบบไหลตามกระแส

The girl from the coast นวนิยายต่อต้านอาณานิคม และกระแสชาตินิยมในอินโดนีเซีย

 

ได้หนังสือเล่มนี้มาเกือบสี่ปีจากร้านขายหนังสือ a different bookstore ในแหล่งช้อปปิ้งชื่ออิสต์วูด เมืองลิบิส ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นที่รู้จักว่าหากอยากได้หนังสือแปลของนักเขียนเอเชียก็มาที่นี่ได้ เพราะเป็นแหล่งรวมงานเขียนชาวเอเชีย ประเภทประวัติศาสตร์ การเมือง วัฒนธรรมหาได้ง่ายที่สุดแห่งหนึ่งในมนิลา (หวังว่าร้านหนังสือยังไม่เจ๊งไปเสียก่อน)

ความยินดีในการเซนเซอร์ตัวเองของสื่อไทย

ผู้เขียนเคยเข้าพบสัมภาษณ์ผู้บริหารของหนังสือพิมพ์เดอะจาการ์ตาโพสต์ เกี่ยวกับการบริหารงานหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษหนึ่งเดียวในประเทศอินโดนีเซีย ความยากลำบากต่อการอยู่รอด การบริหารงานข่าว ฯลฯ เมื่อห้าปีที่แล้ว จึงขอนำตอนหนึ่งที่น่าสนใจในการพูดคุยกันมาเล่า ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์จาการ์ตา โพสต์ต้องการให้โครงสร้างของบริษัทหรือธุรกิจหนังสือพิมพ์ไม่เป็นที่ผูกขาด หากเป็นของตระกูลใดตระกูลหนึ่ง แน่นอนว่า หนังสือพิมพ์อาจเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งได้ ด้วยวิธีการหลากหลายตั้งแต่การล้อบบี้ การซื้อตัว (เจ้าของสื่อ) การขู่เข็ญ คุกคาม จากบรรดาอำนาจมืดทั้งหลายทั้งปวง

ความรักของนักข่าว


หลบเรื่องร้อนทางการเมือง ที่ทำให้หัวใจรุ่มร้อน สับสนอลหม่าน วันนี้เลยเปลือยหัวใจ แบบไร้สี เขียนเรื่องความรักของเพื่อนนักข่าวดีกว่า เป็นความรักข้ามพรมแดนและข้ามศาสนาในดินแดนสวรรค์ "บาหลี" อินโดนีเซีย 

การเซนเซอร์ตัวเองและวัฒนธรรมความกลัว

เด็กสาวแนะนำตนเองว่าเป็นนักศึกษาฝึกงานกำลังเรียนอยู่คณะนิเทศศาสตร์วิชาเอกหนังสือพิมพ์ จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เธอมักจะหาโอกาสฝึกงานทุกครั้งที่มหาวิทยาลัยปิดภาคเรียน เพื่อทดลองสนามจริงแทนที่จะเรียนแต่ในห้องเรียนเท่านั้น ผู้เขียนเห็นวิญญาณของความเป็นสื่อของเธอแล้ว เธอน่าจะเป็นสื่อมวลชนคุณภาพดาวเด่นดวงหนึ่งในแวดวงสื่อสารมวลชน หากเธอไม่ติดกรอบและถูกครอบงำจากความกลัวบางอย่างที่เธอเองก็มองไม่เห็นในโครงสร้างของสังคมไทย

การลงทุนในงานข่าวของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในอินโดนีเซีย

ในบ้านเราเรียกหนังสือพิมพ์ออกเป็น 2 ชนิด หนึ่ง คือหนังสือพิมพ์กระแสหลัก สอง หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น หนังสือพิมพ์กระแสหลักก็หมายถึงหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่เช่น เดลินิวส์ ไทยรัฐ มติชน ฯลฯ ซึ่งจัดพิมพ์อยู่ในกรุงเทพฯ และส่งออกไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย นำเสนอข่าวในประเทศและข่าวรอบโลก พิมพ์จำหน่ายเป็นรายวัน ส่วนหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นคือ หนังสือพิมพ์ทิ่ผลิตขึ้นในต่างจังหวัด ขายในจังหวัดนั้นๆ ส่วนใหญ่เป็นหนังสือพิมพ์แทปลอยด์ ข่าวส่วนใหญ่นำเสนอข่าวในท้องถิ่น พิมพ์ไม่กี่ฉบับและไม่เป็นหนังสือพิมพ์รายวัน อย่างมากก็รายสัปดาห์ หรือรายเดือน ฉะนั้นสื่อประเภทสิ่งพิมพ์ในไทย ผู้บริโภคจึงจำกัดการรับรู้อยู่ที่หนังสือพิมพ์กระแสหลักไม่กี่ฉบับ