ป๊ะซานอล ผู้สื่อข่าวอาวุโสในแวดวงสื่ออินโดนีเซีย ผู้เอื้ออารีต่อลูกหลานร่วมอาชีพ แม้ไม่ใช่คนในภาษาและสัญชาติเดียวกัน แต่ก็ให้ความช่วยเหลือแนะนำแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้เขียน แถมยังเอ็นดูเลี้ยงดูปูเสื่อผู้เขียนและเอื้ออาทรไปถึงเพื่อนร่วมทุนของผู้เขียนด้วย แต่วันนี้แวดวงสื่ออินโดไม่มีท่านเสียแล้ว แต่ทุกคนก็ยังจำคุณูปการที่ท่านทำไว้ให้กับวงการสื่อ
ในวันนั้น จากตัวเมืองมารัง ท่านนำเราไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่งเพื่อดูงานวิทยุชุมชนของหมู่บ้าน เพราะหลัง 1998 ภาคประชาชนเติบโตและเคลื่อนไหวสูงในอินโดนีเซีย มีการจัดตั้งกลุ่มสื่อภาคประชาชนขึ้นทั่วภูมิภาค วิทยุชุมชนก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ความเข้มข้นในการต่อสู้ขึ้นอยู่กับคณะผู้ก่อการ และสภาพปัญหาของหมู่บ้านนั้นๆ เราแวะเยี่ยมเยียนสองวิทยุชุมชน ต่างเมืองและห่างไกล ด้วยการเดินทางด้วยรถยนต์ถึงหนึ่งชั่วโมง
ผู้เขียนต้องขออภัยด้วยวัยที่สูงขึ้นๆ ทำให้ลืมเลือนชื่อหมู่บ้านและวิทยุชุมชนทั้งสองแห่ง แต่ทว่ายังคงจำเรื่องราวของวิทยุชุมชนได้แม่นยำ ได้แต่ลงรูปให้ได้ชื่นชมกัน
คณะผู้ก่อการวิทยุชุมชนแห่งนี้ประกอบด้วยนักศึกษาของมหาวิทยาลัยในมารัง และกลุ่มเอ็นจีโอ และอีกส่วนหนึ่งเป็นชาวบ้าน ฉะนั้นเรื่องราวความเข้มข้นของโปรแกรมรายการวิทยุจึงเข้มข้น เกี่ยวข้องการต่อสู้ เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนในชุมชน รวมไปถึงการตรวจสอบการทำงานของข้าราชการ และนักการเมืองท้องถิ่น (คล้าย อบต.บ้านเรา)
ที่สำคัญคือ ชาวบ้านในชุมชนต่างก็รู้สึกเป็นเจ้าของวิทยุชุมชนแห่งนี้ มีชาวบ้านเข้ามาร่วมแบ่งปันและกำหนดโปรแกรมรายการด้วย จึงเป็นชุมชนเข้มแข็งอีกแห่งหนึ่ง ในมารัง ส่วนหญิงสาวผมแดง ผิวขาว ชาวออสเตรเลีย เป็นอาสาสมัครในโปรแกรมอาสาสมัครช่วยเหลือประเทศโลกที่สามของรัฐบาลออสเตรเลีย เธอเล่าความจริงเธอเลือกเวียดนาม และอยากมาเที่ยวเมืองไทย แต่เผอิญชะตาให้มาอยู่อินโดนีเซีย (นั่งเครื่องบินจากออสเตรเลียมาจาการ์ตาเพียงสองชั่วโมง สายตรงออสเตรเลียไปบาหลีเพียงหนึ่งชั่วโมง) ซึ่งไม่ไกลจากบ้านเธอเล้ยยย เธออยากเห็นประเทศอื่นมากกว่าอินโดนีเซียที่คนออสเตรเลียรู้จักเป็นอย่างดีแล้ว ที่นี่เธอมีหน้าที่ช่วยพัฒนาและส่งเสริมวิทยุชุมชนให้ยั่งยืน ที่ออสเตรเลีย วิทยุชุมชนสำคัญมาก ถือเป็นสิทธิของชุมชนที่จะมีวิทยุชุมชนอย่างเสรี รัฐบาลไม่อาจปิด เซ็นเซอร์ หรือข่มขู่คุกคาม เป็นกระบอกเสียงอย่างดี แต่บริบทของปัญหาอาจต่างไปจากอินโดนีเซีย
อีกหนึ่งชั่วโมงต่อมาเราก็มาถึงวิทยุชุมชนอีกหมู่บ้าน แต่วิทยุชุมชนแห่งนี้มีผู้ก่อการเป็นชาวบ้านล้วนๆ ดีเจคนหล่อก็เป็นเด็กหนุ่มจากในหมู่บ้าน กำหนดรายการกำหนดทิศทางของวิทยุด้วยคณะกรรมการวิทยุชุมชน แต่ก็มีการประชากระจายเสียง (ประชากระจายเสียงเพราะออกอากาศเพื่อขอความคิดเห็น) จะรับไม่รับหลักการ และมีกล่องแสดงความคิดเห็นตั้งอยู่ในสถานีวิทยุ (บ้านของผู้อำนวยการ) วิทยุชุมชนแห่งนี้ส่วนใหญ่จะเน้นบันเทิง (ชาวบ้านอาจมีความสุข) เพราะกล่องที่ตั้งเรียงรายกันอยู่นั้นคือ กล่องประเภทของเพลงต่างๆ ที่ผู้ฟังต้องการฟัง ใครอยากให้เพลงใครก็มาหยอดกระดาษไว้ในกล่องจะเขียนข้อความคิดถึง หรือฝากรักก็ไม่ว่ากัน ดีเจยินดีสนองรับใช้
ผู้อำนวยการสถานีวิทยุ
กล่องเพลงนั้นทำให้ผู้เขียนตระหนักถึงความหลากหลายชาติพันธ์ในสังคมอินโดนีเซีย เพราะมีเยอะประเภทมาก กลิ่นอายโน้ตจีน กลิ่นอายโน้ตอินเดีย กลิ่นอายโน้นอินโด กลิ่นอายโน้ตลูกผสม ฯลฯ
ปัจจุบันทั้งสองวิทยุชุมชนยังคงดำเนินการอยู่ และได้ยินว่า วิทยุชุมชนอีกแหน่งหนึ่งชื่อ Angkingan ที่ยอกยาการ์ตา เดินทางศึกษางานวิทยุภาคประชาชนในต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง