โดย... สมจิต คงทน
กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน
ก่อนจะมาเป็นนารวม ชาวบ้านเขวาโคก-เขวาทุ่ง ต.สระบัว อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด ได้รวมตัวกันเพื่อดูแลและฟื้นฟูสภาพป่าสาธารณะของชุมชนที่อยู่คู่มากับหมู่บ้าน ซึ่งมีขนาดพื้นที่ประมาณ 300 ไร่ ไว้สำหรับหา
อยู่หากิน เก็บของป่า เก็บเห็ด เก็บฟืน เพื่อใช้ในการดำรงชีวิต
แต่เมื่อปี 2538 มีกลุ่มทุนเอกชนจากนอกพื้นที่ทั้งหมด 8 ราย มาบุกรุก แผ้วถางป่าธรรมชาติดอนหนองโมง-หนองกลางของหมู่บ้าน เป็นเหตุให้ชาวบ้านที่นี่รวมกลุ่มกันต่อสู้เพื่อรักษาที่ดินผืนนี้ไว้มาตลอดจนถึงปัจจุบัน
การต่อสู้ครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อปี 2542 กรณีที่กลุ่มทุนใช้รถแทร็กเตอร์เข้าไปบุกรุกพื้นที่ ทำให้นักเรียนประมาณ 70 คน ครู 2 คน และชาวบ้าน 5 คน เข้าไปล้อมรถแทร็กเตอร์ไว้เพื่อขัดขวางการทำประโยชน์ของกลุ่มทุน จนถูกฟ้องคดีข้อหาบุกรุก แม้จะเป็นการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วก็ตาม ต่อมาชาวบ้านจึงได้ประชุมร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยได้มีการรวมตัวกันของนักเรียนและชาวบ้านประมาณ 500 คน ออกเดินจากหมู่บ้านด้วยขบวนรถอีแต๋นไปยังจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นเวลา 2 คืน 3 วัน และปักหลักอยู่หน้าบริเวณศาลากลางจังหวัดนานถึง 28 วัน
ระหว่างอยู่หน้าศาลากลางชาวบ้านได้พูดคุยสื่อสารกับคนในเมืองถึงสภาพปัญหาและความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับพี่-น้องชาวบ้าน เพื่อเรียกร้องให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการพิสูจน์สิทธิให้ถูกต้องกรณีที่ถูกกลั่นแกล้งจากอิทธิพลของนายทุน
เอกสารทางราชการที่ยืนยันมาโดยตลอดของการต่อสู้คือ "พื้นที่ 300 ไร่ เป็นที่สาธารณะที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน" แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังมีชาวบ้านและครูจำนวนหนึ่งถูกศาลอุทธรณ์ปรับคนละ 4,000บาท และโทษจำคุกอีกคนละ 2 ปี แต่รอลงอาญา จึงได้ยื่นฎีกาและกำลังรอผลความคืบหน้าของคดีอยู่
บางครั้งปัญหาที่ชาวบ้านได้ร่วมกันต่อสู้ก็สามารถเป็นจุดเชื่อมประสานไปยังเรื่องอื่นๆ ในชุมชนด้วย เช่น การสืบสานงานทางวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ การพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวพันกับเรื่องปากท้องและวิถีชีวิตของพวกเขาเอง
ชาวบ้านเขวาโคก-เขวาทุ่ง ประมาณ 35 ครอบครัว จากทั้งหมด 195 ครอบครัว ได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำนารวม เพื่อการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน เช่น สมาชิกบางคนไม่มีที่ดินทำกินแต่มีแรงงานก็มาร่วมลงแรง บางคนมีเครื่องไม้เครืองมือหรืออุปกรณ์ของใช้ก็เอามาร่วมกัน ตั้งแต่รถอีแต๋นสำหรับบรรทุกของ เครื่องสูบน้ำ รถไถนา เคียวเกี่ยวข้าว
นอกจากนี้ได้ลงขันกันซื้อปัจจัยการผลิตอย่างเมล็ดพันธุ์ หรือปุ๋ยคอก และน้ำมันดีเซล ตัวแปรสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการเปลี่ยนไปของสภาพดินฟ้าอากาศที่บางปีฝนตกหนักน้ำหลาก บางปีก็แล้งมากจนทำให้ชาวบ้านที่นี่ต้องปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตรวมกลุ่มกันไปหาเช่าพื้นที่ทำนาบริเวณใกล้แหล่งน้ำ
ฉะนั้นนารวม ในความหมายของชาวบ้านที่นี่หมายถึงนาที่หลายคนร่วมกันเป็นเจ้าของ ตั้งแต่แรกเริ่มการผลิตจนถึงการเก็บเกี่ยวและนำข้าวที่เหลือจากการแบ่งสันปันส่วนของสมาชิก มาเข้ากองทุนและมาบริหารจัดการโดยคณะกรรมการกองทุนอีกทีหนึ่ง
พ่อคูณ สงมา ชาวบ้านในชุมชนวัย 53 ปี พูดถึงการทำนารวมว่า "ปกติชาวบ้านได้รวมกันทำกิจกรรมงานประเพณีอย่างอื่นอยู่แล้ว พวกเราจึงได้พูดคุยปรึกษาหารือและวางแผนในการทำนารวม เพื่อสร้างจิตสำนึกช่วยเหลือเกื้อกูลกัน คนที่ไม่มีแบ่งปันให้คนที่มี เราอยากให้คนไม่มีที่ดินทำกินได้มีข้าวกิน ไม่ต้องไปซื้อ ไม่อพยพไปใช้แรงงานที่อื่น"
เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2551 นับเป็นครั้งแรกที่ชาวบ้านที่นี่ได้ร่วมกันเกี่ยวข้าวนารวม ซึ่งมีขนาดพื้นที่ทั้งหมดกว่า 90 ไร่ จากหมู่ 7 และหมู่ 17 บ้านเขวาโคก-เขวาทุ่ง ซึ่งได้กระจายกันอยู่ทั้งหมด 6 แปลง
พื้นที่ของนารวมได้มาโดยที่ทางกลุ่มได้คุยกับเจ้าของที่นา เพื่อขอเช่านาไร่ละ 500 บาท หรือจ่ายค่าเช่าเป็นข้าวเปลือกอันนี้ขึ้นอยู่กับความพอใจของเจ้าของนา เจ้าของนาบางรายใจดีก็ไม่ได้คาดหวังเรื่องผลผลิตมากนัก มีเท่าไหร่ก็เท่านั้น อย่างแปลงแรกที่เกี่ยวเสร็จของหมู่ที่ 7 มีสมาชิกทั้งหมด 15 ครอบครัว ชาวบ้านได้ข้าวคนละ 32 ถัง ส่วนเจ้าของนาได้ 207 ถัง
สำหรับผลผลิตที่เหลือจากการแบ่งปันกันแล้ว จะเก็บไว้ทำเมล็ดพันธุ์ในปีต่อไป และเก็บไว้ให้สมาชิกที่ข้าวไม่พอกินเพราะประมาณ 20 ครอบครัว ที่อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านเขวาโคก-เขวาทุ่งไม่มีที่ดินทำกิน
ดังเช่น นางวงศ์ผกา จิตว่อง อายุ 27 ปี มีอาชีพรับจ้างทั่วไป กำลังเก็บเงินเพื่อซื้อที่ดินแปลงเล็กๆ สำหรับสร้างบ้านและทำเกษตร วันนี้เธอบอกว่า "ได้มาเกี่ยวข้าวนารวมเพราะต้องมาใช้แรงให้เขา (สมาชิกนารวม) เพราะก่อนหน้านี้ได้ไปเอาข้าวเขามากินอยู่บ่อยๆ บางครั้งก็ได้เอาปลาไปแลกกับข้าวสาร"
ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ที่ชาวบ้านได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อรักษาที่ดินสาธารณะของชุมชนผืนนี้ไว้ได้ ทำให้นายทุนเอกชน 2 ราย ถอนตัวออกไปจากพื้นที่ และศาลได้ยกฟ้องนักเรียนที่ถูกจับในกรณีเข้าไปขัดขวางการทำประโยชน์ของนายทุนในพื้นที่ดังกล่าวเมื่อปี 2542 ถึงแม้แกนนำชาวบ้านและครูบางคนจะยังมีคดีติดตัวอยู่ เรื่องราวเหล่านี้ก็ไม่สำคัญเท่ากับการรวมตัวกันของคนในชุมชนเพื่อที่จะเรียนรู้ สรุปบทเรียนจากปัญหาที่ดินทำกินและขยายผลการทำงานไปสู่ประเด็นอื่น