“ไม่มีพ่อแม่ ไม่มีความฝัน ไม่มีเพื่อน ไม่มีสิ่งที่อยากทำ ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อมีคัพเข้ามา คัพทำให้ฉันกล้าเลี้ยวไปในเส้นทางที่ไม่รู้จัก ไปในที่ที่ไม่เคยไป ถ้ามีคัพแล้วละก็ที่ไหนก็ไปได้”
คำพูดถึงความรู้สึกที่มีต่อมอเตอร์ไซด์ Super Cub จากปากของเด็กสาวม.ปลายชื่อ โคกุมะ นักเรียนทุนยากจน ที่จากประวัติน่าจะเป็นเด็กกำพร้าที่อาศัยอยู่ในเมืองแห่งนี้ เมื่อถึงขึ้นม.ปลาย เธอต้องปั่นจักรยานขึ้นเนินไปยังโรงเรียนอันแสนลำบากยากเย็น ทำให้โคกุมะเป็นเด็กสาวที่ไม่มีเพื่อน ไม่มีมนุษยสัมพันธ์ใด ๆ ไม่เข้าชมรม ไม่คุยกับใคร นั่งกินข้าวคนเดียว และ กลับบ้านคนเดียว เพราะ การขี่จักรยานนั้นใช้พลังงานมากทำให้เธอไม่คิดจะไปไหน จนกระทั่ง วันหนึ่งเธอมองเห็นเด็กสาวคนหนึ่งที่ขี่จักรยานนำหน้าเธอไปอย่างมีความสุข เธอคิดว่า ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง และ นำมาสู่การซื้อ Super Cub มือสอง ที่ที่จะทำให้เธอเปลี่ยนแปลงแล้วไปไกลกว่านี้ในอนาคต
ผลงานที่เสมือนเป็นโฆษณามอเตอร์ไซด์ Super Cub ขนาดยาวนี้ เป็นผลงานจากไลท์โนเวลของ โทเนะ โคเค็ง ออกวางจำหน่ายมาจนถึงเล่ม 7 แล้ว และ มีการทำเป็นมังงะหรือหนังสือการ์ตูนออกวางจำหน่ายภายใต้ลิขสิทธิ์ของ Kadokawa ก่อนจะกลายเป็นอนิเมชั่นฉายทาง Muse Asia ทั้งหมด 12 ตอน และ พึ่งฉายตอนจบไปเมื่อไม่นานมานี้ แน่นอนว่า ตัวเรื่องได้รับกระแสตอบรับค่อนข้างดี เนื่องจากเป็นเรื่องที่ดูสบาย ๆ สโลวไลฟ์ และ มีความเติมเต็มหัวใจของตัวเองอย่างยิ่ง
สิ่งที่น่าสนใจในอนิเมชั่นเรื่องนี้นอกจากพัฒนาการของตัวละครเอกอย่าง โคกุมะ ที่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปจากเด็กสาวเงียบ ๆ กลายเป็นยัยตัวแสบ บ้าระห้ำ แสบสันต์ และ เป็นจอมซิ่งในเรื่องได้อย่างน่าตกใจ ชีวิตไม่มีสีสันของเธอเริ่มมีเพื่อนเข้ามาทีละน้อย อาทิ เรโกะ เพื่อนร่วมห้องที่มีความฝันอยากขี่ฮันเตอร์ไปพิชิตเขาฟูจิ หรือ ชิอิ เด็กสาวบ้านรวยตัวเล็กที่อยากทำร้านของบ้านให้เป็นร้านสไตล์อิตาลี การมาของทั้งคู่มาจากการขี่คัพของโคกุมะเองที่ได้ยื่นมือเข้าไปและช่วยเหลือทั้งสองคนจนกลายเป็นสิ่งมีค่าอย่างมากสำหรับเธอ
เด็กสาวคนนี้เปลี่ยนแปลงกลายเป็นคนที่กล้า และ พร้อมรับมือกับเรื่องราวของตัวเอง
แน่นอนว่า ตัวเรื่องพูดถึง Super Cub แบบนี้ คงไม่แปลกหรอกหากผู้สนับสนุนหลักของเรื่องนี้คือ Honda น่ะเอง ที่กล่าวว่า น่าจะเป็นผลงานโคกันระหว่าง Honda กับ นิยายเรื่องนี้ที่ทำให้ออกมาเป็นเหมือนงานโฆษณาชั้นดีเพื่อฉลองยอดขายของ Super Cub หนึ่งร้อยล้านคัน และ ยังคงเป็นมอเตอร์ไซด์คลาสสิคที่ยังมีคนสนใจและสะสมอย่างมากมาย
แถมกล่าวว่า พอเรื่องนี้ออกฉายคนก็อยากได้ Super Cub มาขับกันทีเดียว
นี่คือ พลังของการโฆษณาที่แฝงอยู่ในเรื่องนี้
นอกจากการขายมอเตอร์ไซด์แล้ว สิ่งที่เรื่องนี้ใส่ลงไปนั้นคือ การพูดถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น การท่องเที่ยว รวมไปถึงชนบทบ้านเมืองยังดีที่ทำให้เราต้องมองย้อนกลับมาว่า อนิเมชั่นที่สามารถทำให้เราอยากไปเที่ยวหรืออยากไปอยู่เมืองเหล่านี้ได้ทันที
มันคือ พลังของสิ่งที่เรียกว่า Soft Power
ซึ่งญี่ปุ่นนั้นนับว่า เก่งมากในการสอดแทรกการโฆษณาทั้งสถานที่ท่องเที่ยว สินค้าไปจนถึงวัฒนธรรมลงไปได้อย่างแนบเนียน และ ไม่ยัดเยียด แถมยังสะท้อนถึงภาพการเมือง การปกครอง และระบบประชาธิไคยที่แตกต่างจากประเทศของเราอย่างมาก ซึ่ง Super Cub ทำให้เรามองเห็นภาพน่าสนใจเกี่ยวกับพลังของ Soft Power จากอนิเมชั่นเรื่องนี้
- น้ำประปากินได้ ถนนสีขาว ขยะมีถังรองรับ การพัฒนาของท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพ
Super Cub ดำเนินเรื่องอยู่ในเมืองโฮคุโตะ จังหวัดยามานางิ ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ภาคกลางของญี่ปุ่น และ ถูกล้อมรอบด้วยหุบเขาจนเหมือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง พูดตรง ๆ คือ ที่นี่ไม่มีอะไรน่าสนใจเลยสำหรับโคกุมะที่ใช้ชีวิตในเมืองนี้แบบไร้สีสันและเบื่อหน่าย (ด้วยว่า เป็นนักเรียนทุน และ ขี่จักรยานไปมาในเมืองนี้) จนกระทั่งเธอได้ซื้อ Super Cub มือสองมาในราคา 10000 เยน ชีวิตของเธอก็เปลี่ยนไป แต่สิ่งที่ทำให้เราสอนใจคือ เมืองโฮคุโตะที่โคกุมะอยู่นี่ละ
แม้จะเป็นเมืองที่อยู่กลางเขา ไกลปืนเที่ยง แต่ ตัวเมืองนี้ก็เรียกได้ว่า เป็นเมืองที่มีสาธารนูปโภคพร้อมสรรพ และ ทำออกมาอย่างดี ไม่ลวก ๆ หรือ ตั้งเสาไฟกินรีเล่น ๆ ถนนในเรื่องถูกลาดยางทำอย่างดี เช่นเดียวกับเสาไฟที่มีตั้งเอาไว้แทบทุกจุดส่งผลให้ถนนแทบไม่มีความมืดเลย
เรียกได้ว่า ปลอดภัยอย่างแจ่มแจ้ง
รวมทั้งไฟแดงที่ถูกติดตั้งและทำงานตลอด 24 ชั่วโมง
แต่ที่เรียกได้ว่า เป็นสิ่งที่ทำให้คนดูถึงกับฮือฮาก็คือ ฉากที่โคกุมะไปเยี่ยมบ้านของเรโกะ และ เรโกะถามว่า จะชงกาแฟให้ แต่โคกุมะบอกว่า ขอน้ำเปล่าพอ สิ่งที่เราได้เห็นคือ เรโกะไปเปิดน้ำประปาแล้วเอาให้โคกุมะทานแทน
ฉากนี้สร้างความฮือฮาให้กับคนดูมาก ๆ เพราะ ในประเทศไทยเรานั้น แม้จะความพยายามหลายต่อหลายครั้งจะทำให้น้ำประปากินได้ (โดยเฉพาะกรุงเทพที่มีการตั้งที่ดื่มน้ำก๊อกเอาไว้ตามทางด้วยซ้ำ แต่ปัจจุบันมันอยู่ในสภาพร้าง ฝุ่นจับ และ ไม่มีใครใช้อยู่จำนวนมาก) นี่ไม่รวมในจังหวัดอื่น ๆ ที่น้ำก๊อกอยู่ในสภาพกินไม่ได้ ดำบ้าง เป็นโคลนบ้าง บ่งบอกถึงสุขภาวะอนามัยของน้ำประปาอย่างดี
นั้นทำให้คนไทยส่วนมากนิยมซื้อน้ำดื่มกินกันมาก เพราะ สะอาดปลอดภัยได้มากกว่า และ ทำให้น้ำดื่มในไทยมีราคาไม่แพงมากนัก
ในขณะที่ญี่ปุ่นนั้นน้ำประปาได้รับการดูแลอย่างดีจนสะอาดและกินได้อย่างแท้จริง แถมยังเป็นสวัสดิการที่ประชาชนควรจะได้อีกต่างหาก ดังนั้นน้ำดื่มบรรจุขวดของญี่ปุ่นจึงมีราคาที่แพงกว่าด้วยเหตุผลนี้ (และยังมีการทำให้มันเป็นน้ำแร่ หรือ น้ำเกลือแร่ต่างจากน้ำเปล่าธรรมดาน่ะเอง)
ความฮือฮานี้สะท้อนถึงการพัฒนาท้องถิ่นผ่านประชาชนเป็นศูนย์กลาง ผู้ว่า และ องค์กรส่วนท้องถิ่นต้องทำการเลือกตั้งแทบทั้งหมด โดยไม่มีการแต่งตั้งจากส่วนจังหวัดเลย ข้าราชการทำงานตามนโยบายจากส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการเลือกตั้งมาอย่างเต็มที่
ทำให้ท้องถิ่นสามารถทำนโยบายต่าง ๆ ทั้งการดูแลเมือง ปรับปรุงสาธารณูปโภค และ นโยบายส่งเสริมอื่น ๆ อาทิ เรื่องนี้ที่เป็นอนิเมะโปรโมทการท่องเที่ยวของโฮคุโตะไปพร้อม ๆ กัน
ไม่ใช่แค่ Super Cub แนวคิดนี้ยังมีปรากฏในอนิเมชั่นอื่น ๆ อาทิ Zombieland Saga ที่เป็นอนิเมะโปรโมทจังหวะซากะ หรือ Yuru Camp อนิเมชั่นตั้งแคมป์ไฟที่โปรโมทเมืองยามานาชิจนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ผู้คนไปตามรอยกัน และ สร้างเม็ดเงินจำนวนมากให้กับท้องถิ่นอย่างมหาศาล
แม้จะมีการต่อต้านหรือทำท่าเบื่อหน่ายนักท่องเที่ยวจากคนในท้องถิ่นบ้าง แต่ความสำเร็จและรายได้ที่เข้ามาก็มากพอจะทำให้บอกได้ว่า การสนับสนุนของท้องถิ่นทำให้อนิเมชั่นเหล่านี้สร้างเม็ดเงินและความน่าสนใจให้กับเมืองได้อย่างดี
เมื่อมีเงิน นอกจาก งบประมาณรัฐ และ ความคิดสร้างสรรค์ของคนญี่ปุ่นและเข้าใจวัฒนธรรมซอฟพาวเวอร์ก็ไปพัฒนาท้องถิ่นได้แบบเต็มที่
เราจึงเห็นโคกุมะขี่ Super Cub บนถนนไร้ฝุ่น เรียบด้วยลาดยางอย่างดี ไฟข้างทางสว่างมองเห็นด้านหน้าได้ชัดเจน ถังขยะพร้อม รวมทั้ง น้ำประปากินได้ แก๊สเข้าถึงทุกครัวเรือน
มันคือ ภาพของพลังอำนาจของชุมชนที่มีต่อการเลือกตัวแทนและประชาธิปไตยอันเข้มแข็งที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่นตั้งแต่ต้นจนปลายน้ำทีเดียว
- วัฒนธรรมบ้าน ๆ ทำยังไงให้ป๊อป
เบื่อไหมครับ บางทีที่เวลาดูผลงานบันเทิงของประเทศเรา แล้วเจอการจับยัดฉากขายของต่าง ๆ มาแบบยัดเยียด เช่น อยู่ ๆ ตัวละครก็ไปลอยกระทง หรือ ไปโปรโมทที่นั้นที่นี่ทั้งที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่องเลย หรือ การจับยัดโฆษณามาดื้อ ๆ จนบางทีคนดูต้องขำ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตหรือผู้สนับสนุนต้องการแต่ความไม่แนบเนียนนี่ละทำให้เรารู้สึกเหมือนถูกผลักออกจากเรื่องอย่างชัดเจน ตรงนี้เหมือนทางอนิเมชั่นเรื่องนี้และเรื่องอื่น ๆ จะรู้ดีว่า คนดูต้องการความจริงใจกับสารและไม่ยัดเยียดจนรำคาญ ดังนั้น อนิเมชั่นหลาย ๆ เรื่องของญี่ปุ่นจึงใส่วัฒนธรรม และ อื่น ๆ ไปอย่างแนบเนียน
ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ วัฒนธรรมด้านศาสนาของญี่ปุ่นที่เราคุ้นชินกัน อาทิ การไปไหว้พระที่ศาลเจ้าในวันขึ้นปีใหม่ การร่ายรำอวยพรของมิโกะ การเสี่ยงเซียมซีโชคดี หรือ การเที่ยววัดและเมืองโบราณของเกียวโตและโอซาก้า ถูกใส่ลงมาอย่างแนบเนียนจนเป็นหนึ่งเดียวกับเรื่อง และ ทำให้คนดูรู้สึกและเข้าใจวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นหรือสิ่งที่ท้องถิ่นนั้นมีได้อย่างชัดเจน
Super Cub เองก็มีฉากที่เรียกว่า เป็นการขายของทางวัฒนธรรมอยู่หลายตอน อาทิ การไปทัศนศึกษาของโคกุมะ ที่เจ้าตัวขี่ Super Cub มุ่งหน้าไปยังเมืองคามาคุระ ทั้งที่พึ่งขอลาเนื่องจากไข้ขึ้นไปหมาด ๆ ทว่าเมื่อไข้ลดลง เธอกลับขี่มอเตอร์ไซด์มุ่งหน้าไปที่คามาคุระนับร้อย ๆ กิโลเมตร ซึ่งระหว่างทางก็ต้องผ่านสถานที่ต่าง ๆ มากมายที่ถูกถ่ายทอดให้เห็นผ่านสายตาของเธอ
รวมทั้งตอนจบของเรื่องนี้ที่ โคกุมะ ชิอิ และ เรโกะ ขี่มอเตอร์ไซด์มุ่งหน้าไปคิวชู ผ่านเมืองต่าง ๆ สามวันสามคืน ระหว่างพวกเธอผ่านสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่ล้วนแล้วเป็นหน้าตาของจังหวัดและเมืองที่ผ่าน ๆ นั้น อาทิ ทะเลสาบบิวะ ในจังหวัดชิงะ เสาโอโทริกลางน้ำในจังหวัดฮิโรชิม่า เนินทรายทตโทริ จังหวัดทตโทริ ตลาดปลาและอาหารสดที่เมืองซากไกมินาโตะ หรือ สะพานแขวน คันมง ที่เชื่อมไปยังคิวชู ซึ่งจะเห็นเกาะกันริวที่ มิยาโมโตะ มูซาชิ ซามูไรอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นดวลกับซาซากิ โคจิโร่ คู่ปรับสำคัญของตนเอง
จนไปจบที่การดูซากุระที่สวนโอมูระที่นางาซากิ
จะเห็นว่า พวกเธอได้ขี่ Super Cub แวะเวียนไปตามเมืองต่าง ๆ ผ่านสถานที่ต่าง ๆ ให้เราได้เห็นและได้รู้จักกันอย่างไม่ยัดเยียดใด ๆ แถมยังมีผลให้เรารู้สึกว่า อยากไปเที่ยวตามรอยพวกเธอบ้างเหมือนกัน
ไม่ใช่แค่เรื่องนี้เท่านั้น Zombieland Saga เป็นตัวอย่างที่ดีมาก ๆ ในการขายวัฒนธรรมเหล่านี้อย่างไม่ขัดเขินใด ๆ ตั้งแต่ซีซั่นแรก เราได้เห็นประเพณีต่าง ๆ และวัฒนธรรมของเมืองซากะ อาทิ การแข่งขันโคลนที่พวกไอดอลในเรื่องมาแข่งกัน หรือ กระทั่งการแข่งเรือยนต์ที่แทบจะเป็นเอกลักษณ์ของเมืองนี้ทีเดียว
นี่รวมทั้งผลงานอย่าง Your Name ของชินไค มาโคโตะ ที่นอกอนิเมชั่นจะทำเงินถล่มทลายแล้ว ยังทำให้สถานที่ท่องเที่ยวที่ต้นแบบของเรื่องได้รับการโปรโมทและชื่นชมจากแฟน ๆ ทั่วโลกที่อยากไปสัมผัส หรือ งานประเพณีอย่างงานดอกไม้ไฟ งานวัด หรือ กระทั่งเทศกาลอื่น ๆ ก็ถูกพูดถึงจนแทบเป็นสิ่งที่คนดูรู้จักและคุ้นชินในงานเหล่านี้ไปแล้ว
เพราะมันไม่ได้ยัดเยียด แต่ทำให้ดูเป็นธรรมชาติและน่าค้นหา กับ แตะต้องได้โดยไม่นำไปเป็นของสูง เป็นสินค้าที่พร้อมจะส่งออกให้กับคนได้สัมผัสมันอย่างแท้จริง
นี่คือ สิ่งที่อนิเมชั่นญี่ปุ่นทำได้โดดเด่นอย่างมาก ณ เรื่องนี้
ในขณะวัฒนธรรมของไทยเราเต็มไปด้วยความยุ่งยาก เข้าใจไม่ได้ และ กลายเป็นของสูงจนคนเริ่มปฏิเสธมันมากขึ้น หากจะทำให้คนหันมาสนใจวัฒนธรรมหรือขายของเหล่านี้ให้กลายเป็นวัฒนธรรมป๊อปได้นั้น เราต้องหาจุดร่วมสำคัญว่า ทำยังไงให้คนเข้าถึงและไม่ได้เหยียดหยามย้ำใส่วัฒนธรรมอื่นแบบที่เคยผ่าน ๆ มา (มีภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องเชิดชูตรงนี้มากเกินไปจนกลายเป็นเหมือนสร้างศัตรูไม่เป็นมิตรและล้มเหลวไปในที่สุด)
ซึ่งหวังว่า เราจะได้เรียนรู้จากตรงนี้ สิ่งที่ญี่ปุ่น เกาหลี หรือ ไต้หวัน และ จีนทำน่ะเอง
- อิสรภาพ และ ความหวังที่มีต่อเยาวชน
ถ้านั่งมองอนิเมชั่นเรื่องนี้และหลายเรื่อง ๆ ในญี่ปุ่นหลายเรื่องดี ๆ นั้นเราจะมันคือเรื่องท้องถิ่นนิยมแบบชัดเจน อาทิ ตัวเรื่องไม่ได้กระจุกอยู่แค่ในเมืองหลวง หรือ พื้นที่เจริญแล้ว แต่มักจะเป็นเมืองเล็ก ๆ หรือพื้นที่ชนบทที่มีเรื่องราวให้เล่ามากกว่า อาทิ เมืองโฮคุโตะที่เป็นตัวเมืองหลักในเรื่อง Super Cup ก็เป็นเมืองในภาคกลางของญี่ปุ่นที่ถูกภูเขาล้อมรอบจนแทบไม่มีอะไรโดดเด่น ซากะใน Zombieland Saga ก็เป็นเมืองเล็ก ๆ ที่ไม่มีอะไรโดดเด่นอะไรเลย แถมยังบ้านนอกสุดกู่ นี่ยังไม่รวมถึงเมืองในอนิเมชั่นอื่น ๆ อาทิ จังหวัดชิงะใน K-On หรือ เมืองซาชิริกาฮะมาใน คานากาวะ จากเรื่อง เรื่องฝันปั่นป่วยของผมกับรุ่นพี่บันนี่เกิร์ล เป็นต้น การเซ็ตติ้งในพื้นที่เหล่านี้นอกจากการโฆษณาให้กับพื้นที่หรือจังหวัดนั้น ๆ แล้ว ยังมีผลให้เนื้อหาแปลกตา และ เข้ากันกับนิสัยของตัวเอกในเรื่อง
หากมองภาพก่อนหน้านี้ที่มิซึฮะ ใน Your Name อยากจะไปเมืองบ้านนอกของตัวเองแล้วไปอยู่ในโตเกียว ส่อในถึงความฝันของเด็ก ๆ ที่อยากไปให้พ้นจากความน่าเบื่อ และ ไม่มีอะไรเลยของเมืองตัวเอง อนิเมชั่นในช่วงสี่ห้าปีหลังกลับต่างออกไป เมื่อมันพูดถึงอิสรภาพและการพัฒนาเมืองของตัวเองอย่างสุดกำลังโดยคนรุ่นใหม่
อย่างที่เราทราบกัน ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และ มีเด็กเกิดน้อยลงมาก หลายเมืองมีอัตราการเกิดต่ำ และ เป็นวิกฤตสำคัญของประเทศ นำมาสู่การพยายามดึงคนจากประเทศอื่น ๆ พื้นที่อื่น ๆ เข้ามาทั้งในเรื่องกฎหมาย ภาษี และ การทำมาหากิน เรียกได้ว่า เป็นความพยายามอย่างมากที่จะให้พลิกฟื้นเมืองและประเทศให้กลับมาคึกคักมากขึ้น
เพราะผู้ใหญ่รู้ดีว่า พวกเขาไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า ต่อจากนี้ คนที่จะมาดูแลเมืองและประเทศนี้คือ เหล่าเด็ก ๆ และ คนรุ่นใหม่
พวกเขาจะเปลี่ยนแปลงและทำให้มันดีขึ้น
เหมือนที่ตัวของโคกุมะ เรโกะ และ ชิอิ เลือกเปลี่ยนแปลงตัวเองและค่อย ๆ ก้าวเท้าไปในอนาคตที่ตัวเองได้เลือกเอง หรือ เหล่า ไอดอลซอมบี้ที่นอกจากจะพยายามทำสิ่งที่ตัวเองไม่สามารถทำได้ให้สำเร็จแล้ว พวกเธอยังพยายามเปลี่ยนแปลงซากะให้ดีขึ้น แม้จะตายไปแล้ว พวกเธอก็ส่งต่อไฟแห่งการเปลี่ยนแปลงและอิสรภาพต่อให้กับบรรดาแฟน ๆ และ รุ่นน้องที่มีชีวิตได้ลุกขึ้นสู้กันต่อไป
ไม่แปลกหากว่า ตอนจบของเรื่อง Super Cub จะพูดถึงทางเดิน อิสรภาพ และ ความเชื่อมั่นในอนาคตของตัวเอง ซึ่งคงต้องบอกว่า มันคือ สิ่งที่การ์ตูน อนิเมะ ไลท์โนเวลของญี่ปุ่นพยายามสื่อมาตลอดในช่วงหลายปีนี้ ว่า อนาคตเป็นของเด็ก ๆ
จงเชื่อมั่นในสิ่งที่พวกเขาเลือก
และสร้างอิสรภาพให้พวกเขาได้สร้างอนาคตกันต่อไป
ป.ล. ทั้ง Zombieland Saga และ Super Cub สามารถหาชมแบบลิขสิทธิ์ซับไทยได้ที่ Youtube ช่อง Muse Thailand ครับ
ป.ล. น้องโคกุมะไปเป็นนางแบบรณรงค์การขับขี่จารจรให้กับสถานีตำรวจยามางิชิด้วยครับ