“ เมื่อวันจันทร์ที่ 23 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา ณ สำนักงานใหญ่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บางเขน พนักงานธนาคารฯที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้ออกมายื่นข้อเรียกร้องต่อฝ่ายนายจ้างสาระสำคัญโดยสรุปมีด้วยกัน 3 เรื่องหลักๆที่สำคัญได้แก่
ประการแรก เรื่องโครงสร้างผลตอบแทนต่างของพนักงาน อาทิเช่น โครงสร้างอัตราเงินเดือน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินตอบแทนด้านอื่นๆ ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน
ประการที่สอง เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายต่างๆที่ไม่ได้คำนึงถึงหลักคุณธรรมและความเหมาะสม
ประการสุดท้าย เรื่องของอัตรากำลัง โดยเฉพาะเกี่ยวกับผู้ช่วยพนักงาน (ลูกจ้างประจำ) ที่ควรจะให้สิทธิการบรรจุแต่งตั้งเป็นพนักงานประจำ
ประเด็นข้างต้นได้รับการตอบสนองจากฝ่ายนายจ้างไปแล้ว ส่วนการดำเนินการต่างๆก็ต้องคอยดูกันต่อไปว่า ฝ่ายนายจ้างเองจะมีข้อสรุปและต่อรองเรื่องใดบ้างเพื่อนำไปสู่ข้อตกลงร่วมกันของทั้งสองฝ่าย”
นานมากแล้วที่เราไม่ค่อยเห็นการต่อสู้ของสหภาพแรงงานต่างๆในประเทศเราอย่างเป็นจริงเป็นจัง ในสังคมปัจจุบัน เป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่งที่สหภาพแรงงานถูกลดบทบาทและล้มหายไปจากสังคมไม่เฉพาะในบ้านเราเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงสังคมโลกด้วย โลกแห่งเสรีนิยมใหม่ได้ทำการบดขยี้ขบวนการของแรงงานหรือสหภาพแรงงานไปแทบจะหมดสิ้น
ภายใต้โลกแห่งเสรีนิยมใหม่ จุดมุ่งหมายของเจ้าของกิจการต่างๆคงหนีไม่พ้นการมุ่งสร้างผลประโยชน์สูงสุดให้กับองค์กรหรือกล่าวง่ายๆคือ การสร้างกำไรให้ได้มากที่สุด ดังนั้นสิ่งใดก็ตามที่ทำให้เจ้าของกิจการต้องมีภาระมากขึ้นสิ่งนั้นก็ไม่ควรมีอยู่ภายใต้โลกแห่งเสรีนิยมใหม่ ไม่เพียงเท่านั้นกรอบคิดดังกล่าวได้ค่อยๆซึมผ่านผู้คนทีละน้อย แม้แต่แรงงานหรือลูกจ้างหรือมนุษย์เงินเดือนในปัจจุบัน ก็พลอยเห็นดีไปกับการสร้างวาทะกรรมชวนเชื่อที่อย่างน้อยก็ทำให้พวกเขาหันมาไม่เห็นด้วยกับการมีสหภาพแรงงานเกิดขึ้นเพราะมันทำให้องค์กรไม่สามารถดำเนินการไปได้อย่างราบรื่น
ปัจจุบันมีหลักคิดที่น่าสนใจของเหล่าผู้บริหารองค์กรต่างที่พยายามจะบอกว่า “สหภาพแรงงานนั้นไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด หากองค์กรให้ในสิ่งที่เหมาะสม ฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องขับเคลื่อนเชิงรุกและให้ความช่วยเหลืออย่างสมเหตุสมผล” ซึ่งสิ่งนี้เป็นตัวสะท้อนอย่างดีว่าวิธีคิดแบบเสรีนิยมใหม่ได้ทำลายคุณค่าของสหภาพแรงงานไปจนหมดสิ้น
สิ่งที่ต้องเข้าใจตามหลักวิธีคิดของสหภาพแรงงานก็คือว่า ฝ่ายที่เรียกตนเองว่า ทรัพยากรบุคคลหรืออย่างอื่น สิ่งที่แน่นอนคงกล่าวได้ว่าเป็นผู้ที่ต้องคอยดูแลสมาชิกในองค์กรโดยยึดระเบียบขององค์กรเป็นหลักซึ่งนั่นก็เท่ากับว่าเป็นตัวแทนของนายจ้างนั่นเอง คำถามก็คือว่า หากทรัพยากรบุคคลกระทำการสิ่งใดที่เห็นว่าสมควร แล้วมันสมควรอย่างไร สมควรตามความคิดของใคร สมควรในความคิดขององค์กรอาจจะไม่สมควรในความคิดของเหล่าสมาชิกขององค์กรทั้งหลายก็เป็นได้
เมื่อความสมควรเป็นความสมควรแต่เพียงฝ่ายเดียวประเด็นสำคัญที่ต้องถามตามมาก็คือ แล้วอะไรคือจุดตรงกลางที่ทำให้ความสมควรนั้นไม่เป็นความสมควรแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะฉะนั้นตัวแทนของสมาชิกจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันความสมควรให้เป็นไปในทางที่สมควรจริงๆ ดังนั้น “สหภาพแรงงาน” จึงประดุจดังตัวแทนของสมาชิกในองค์กรที่คอยประสานผลประโยชน์ของตัวเองกับตัวแทนนายจ้างเพื่อให้เป็นไปตามความสมควรของทั้งสองฝ่าย
เมื่อผนวกเอาหลักคิดของเสรีนิยมที่พยายามกันสิ่งที่เป็นขวากหนามต่อระบบทุนนิยมออกไปเพราะมันทำให้เขาเหล่านั้นได้รับผลประโยชน์น้อยลง กับ หลักการมีสหภาพแรงงาน มาคิดร่วมกันจะเห็นได้ว่า แม้ว่าเจ้าของกิจการจะให้นโยบายมาสู่ทรัพยากรบุคคลและบอกว่า “นี่คือสิ่งที่ดีที่สุด” แต่ทั้งหมดก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขผลประโยชน์เจ้าของกิจการเป็นหลัก ซึ่งสุดท้ายเมื่อเป็นนั้นการมองถึงผลประโยชน์ของเจ้าของกิจการก็ย่อมมีมากกว่ามองถึงคุณภาพชีวิตของสมาชิกองค์กรก็เป็นได้ สหภาพแรงงานจึงเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยฉุดดึงให้เจ้าของกิจการหันมามองถึงคุณภาพชีวิตของสมาชิกให้มากขึ้น
สุดท้ายในตอนต้นได้กล่าวถึงสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หากลองมองดูว่า ถ้ากรณีนี้ไม่มีสหภาพแรงงานฯเป็นกำลังหลักข้อเรียกร้องต่างๆก็คงยากพอสมควรที่จะได้รับการตอบสนอง แลเห็นอย่างนี้แล้วก็น่าคิดว่าสหภาพแรงงงานมันควรที่จะมีอยู่หรือดับไปกันแน่ ? ทุกคนควรต้องหาคำตอบกันในเรื่องนี้.......