แสงไฟสีส้มดวงเล็กๆ ดาหน้ากันเข้ามาจากทุกทิศทาง ยกเว้นจากส่วนที่เป็นด้านหลังไร่ เพราะนั่นคือป่าชุมชนผืนใหญ่ ที่เป็นเป้าหมายของการไปสู่ของแสงไฟเหล่านั้น ดูแล้วน่าตื่นเต้นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพายุฝนที่โหมกระหน่ำเมื่อตอนเย็นนี้
ฉันนึกถึงแนวรั้วลวดหนามด้านท้ายไร่ ที่เสร็จไปครึ่งทางแล้ว ด้วยฝีมือของตาลี
“เราทำรั้วกั้นที่ของเรา ไม่มีใครเขามาว่าได้หรอก อีกหน่อยพอฝนตกชุก คุณต้องทำประตูกั้นทางเข้าไร่ด้วยนะ ทำรั้วง่ายๆพอเป็นที่เข้าใจว่าถนนที่ตรงมาทางนี้คือทางส่วนบุคคล ไม่ใช่ทางสาธารณะ” แกย้ำถึงความจำเป็น เพราะฉันเคยลังเลกลัวว่าจะไปทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ต้องเดินอ้อมไปไกลจึงจะไปถึงป่าชุมชนนั้นได้ แต่แกยังยืนยันว่า
“เมื่อก่อนตรงนี้ไม่มีทาง ไม่มีใครเดินผ่านหรอก พอคุณมาทำทางเข้าบ้านตัวเอง เขาเห็นว่าเดินสะดวกจึงขอผ่านทางไปป่า แต่มันต้องเดินผ่านหน้าบ้านคุณ ไม่ดีหรอกไม่ปลอดภัย คนแปลกหน้าเยอะแยะที่เข้ามาในหน้าฝน”
ตาลีบอกว่าชาวบ้านจากหลายๆ หมู่บ้านที่อยู่ใกล้ป่าผืนนี้ ต่างมุ่งหน้ามาหากินในป่าเมื่อฤดูฝนมาถึง และฉันได้ประจักษ์แก่สายตาตัวเอง ทั้งที่เป็นเพียงพายุฤดูร้อนหนึ่งห่าเท่านั้น พวกเขาก็ยังกรูกันมา ราวกับฝูงมดที่ตามกลิ่นหอมหวานของชานอ้อยกระนั้น
ทำให้รู้ว่าวิถีแห่งการหาอยู่หากินยังไม่หล่นหายไปในระหว่างเส้นทางการพัฒนาไปสู่การผลิตเพื่อขาย แม้ว่ามันจะกลายเป็นเรื่องหลัก แต่นั่นก็เป็นพืชบางชนิดที่ส่งป้อนเข้าสู่โรงงาน และแต่ละชนิดมักจะเขมือบเอาปุ๋ยและสารเคมีไปกินจนลำต้นอวบอ้วน แต่คนปลูกกลับผอมแห้งแรงน้อย เช่นตาลีเป็นต้น
ป่าผืนใหญ่แห่งนี้ที่ทางจังหวัดภูมิใจหนักหนา จึงกลายเป็นป่าผืนเล็กๆที่สะอาดปราศจากสารเคมี หากเทียบกับพื้นที่ปลูกอ้อยปลูกมันสำปะหลังทั้งหลาย สัตว์ป่าต่างหลบลี้ไปอยู่ที่นั่น มันจึงกลายเป็นลานล่าของชาวบ้านที่รู้จักการหากิน
แต่เมื่อปลายปีที่แล้ว ทางราชการมีนโยบายห้ามล่าสัตว์ทุกชนิดในป่านั้น ทั้งยังมีป้ายเขียนเตือนตาเอาไว้ว่า “ฝ่าฝืนปรับ 500 บาท”
คนจะหากินกับคนที่อยากจะเก็บรักษา หากเป็นคนละกลุ่ม ความขัดแย้งก็มักจะตามมา หรือไม่ก็ต้องมีคนแหกกฏ แต่ถ้าคนที่หากินเรียนรู้ที่จะเก็บรักษา เมื่อนั้นทุกอย่างก็จะลงตัว
เรื่องความต้องการที่ไม่ลงตัว หรือความต้องการที่มุ่งไปสู่ความเห็นแก่ตัวเกี่ยวกับการใช้สารเคมี ทำให้ฉันนึกถึงเรื่องคนปลูกกะหล่ำ ที่ละเว้นไม่ฉีดยาฆ่าแมลงในแปลงกะหล่ำที่เก็บไว้กินเอง ของคนทางภาคเหนือ และที่อีสาน เขาจะไม่ฉีดยาฆ่าแมลงในแปลงแตงโมที่กินเอง หรือที่ภาคใต้ที่งดใช้ฟอร์มาลีนในปลาที่เก็บไว้กินเอง เรื่องปลาทะเล (ฉันยืนยันได้เมื่อซื้อปลาทูตัวเล็กๆ จากตลาดที่นี่ เก็บไว้หลายวันยังไม่เน่าเปื่อย แถมยามจับมาคลุกข้าวให้หมาน้อย ยังคันมือจนต้องรีบล้างมือ)
ในป่าผืนนี้มีร่องน้ำที่เป็นคล้ายตาน้ำ ยามฝนตกชุกสัตว์เล็กสัตว์น้อยต่างมาชุมนุมกันมากมาย ทั้งชนิดที่เคลื่อนไหวไปบนอากาศ เคลื่อนไหวไปตามพื้นดินและชนิดที่มุดไปตามใต้ดิน หรือทั้งที่อยู่บนดินและใต้ดิน เช่นเขียดและแย้ ที่มีอยู่มากที่สุด
การตามล่าหาเขียดตัวน้อยๆ ขนาดเท่าปลายนิ้วก้อยเป็นที่นิยมเพราะส่วนหนึ่ง เขาบอกว่ามันอร่อย เคี้ยวกรุบๆไม่มีกระดูก และการหาอยู่หากินก็ยังเป็นวิถีชีวิตของคนอีสาน ไม่ว่าคนๆนั้นจะเป็นนักลงทุนปลูกสร้างพืชเศรษฐกิจมากมายแค่ไหน หากมีเวลาพอไปหากินได้เขาก็จะไป แถมมีการคุยทับกับอีกว่าใครหากินได้เก่งกว่าใคร
“โชค” ลูกชายตาลี คืออีกคนหนึ่งที่มักจะออกหาเขียดในตอนกลางคืน เพื่อขายเอาเงินไปเรียนหนังสือในตอนกลางวัน แต่เขามักจะออกไปหาตามลำห้วยนอกเขตป่า ซึ่งมีจำนวนเขียดน้อยกว่าในป่า
“น้าครับ เขียดในสวนน้าน้าหวงไหมครับ ผมขอมาหาได้ไหมครับ” เขาเคยเอ่ยถามฉัน จนฉันต้องหัวเราะออกมาดังๆ ใครกันจะหวงเขียด แล้วเขียดจะมาอยู่ในที่ของฉันได้ยังไง ฉันยังไม่เห็นเลยสักตัว
“ที่แบบนี้แหละครับที่เขียดชอบมาอยู่ อีกหน่อยเมื่อต้นไม้โตขึ้น เขียดกับแย้จะมาอยู่กันเต็มเลยล่ะครับ”
อืม...ดีเหมือนกัน ป่าชุมชนถูกปิด แต่ป่าส่วนตัวถูกเปิดให้ล่าสัตว์ได้ ถึงเวลานั้นขอฉันคิดอีกทีก็แล้วกันว่าที่ทางขนาดนี้จะรองรับชาวบ้านทั้งห้าหกหมู่บ้านได้อย่างไร
สวนป่าขนาดย่อม ที่ฉันพยายามจัดการฟื้นฟูดินที่ตายไปนานแล้วให้กลับมามีชีวิตอีกหนด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ อย่างชนิดเลือดตากระเด็น หากว่าพอจะมีประโยชน์อยู่บ้างต่อชาวบ้าน สิ่งที่ฉันหวังไม่ใช่ให้เขามาหากิน แต่อยากให้เขาคิดได้ว่า
“หยุดใช้สารเคมี แล้วอาหารจะหวนคืน”