Skip to main content
15 สิงหาคม 2560 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ โดยการแต่งตั้งดังกล่าวเป็นไปตาม พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ที่ิเพิ่งประกาศใช้
 
จากรายชื่อของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่ได้รับการแต่งตั้ง เห็นว่า หลายคนเคยทำงานในสภาปฏิรูปมาแล้วถึงสองสมัย หลายคนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ คสช. มาก่อน นอกจากนี้ กรรมการบางคนยังมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ได้รับเสียงคัดค้านจากภาคประชาชนเป็นเครื่องการันตี
 
จึงน่าสนใจว่าคณะทำงานชุดนี้ ท้ายที่สุดจะนำประเทศไปสู่การปฏิรูป หรือเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อใช้ควบคุมการทำงานของรัฐบาลชุดถัดไป
 
คสช. นำทัพ อดีต สปช.-สปท. และข้าราชการ ปฏิรูปประเทศ
 
จากรายชื่อบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ปรากฎว่า มีบุคคลที่คุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่จำนวนมิใช่น้อย เป็น อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรููปประเทศ(สปท.) อยู่ถึง 46 คน คิดเป็นร้อยละ 38 ของกรรมการทั้งหมด ทุกคนล้วนนั่งควบตำแหน่งในสภาปฏิรูปมาแล้วถึงสองสมัย และก็ยังได้ไปต่ออีกเป็นคำรบที่สาม 
 
นอกจากจะตั้ง 'คนหน้าเก่า' มาวางแผนปฏิรูป 'ครั้งใหม่' แล้ว กลุ่มคนที่มีสัดส่วนมากเป็นอันดับที่สอง ก็คือ กลุ่ม 'ข้าราชการและอดีตข้าราชการ' โดยคนกลุ่มนี้มีถึง 40 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 33 ถัดมาเป็นตัวแทนจากนักวิชาการหรือผู้ทรงคุณวุฒิ 22 คน คิดเป็นร้อยละ 18 และที่เหลือเป็นตัวแทนจากเอกชน 7 คน นักการเมือง 3 คน และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 2 คน คิดเป็นร้อยละ 6 3 และ 2 ตามลำดับ
 
แต่ไฮไลท์ของการแต่งตั้ง กลับอยู่ที่เก้าอี้ของประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศในแต่ละด้าน เนื่องจากผู้ที่ได้รับตำแหน่งประธานจะมีลักษณะร่วมกันอยู่สองแบบ แบบแรกคือ เป็นบุคคลซึ่งเคยรับตำแหน่งจากรัฐบาลนี้มาก่อน อย่างเช่น พรชัย รุจิประภา อดีตรัฐมนตรีกระทรวงไอซีทีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.) มาก่อน และแบบที่สอง คือ เป็นข้าราชการประจำที่ยังต้องรับคำสั่งโดยตรงจากนายกรัฐมนตรี อย่างเช่น กฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย 
 
เห็นได้ว่า สายสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการปฏิรูปแต่ละคณะกับ คสช. ค่อนข้างไม่ธรรมดา อาจจะกล่าวได้ว่า มิใช่คนอื่นคนไกล หากแต่เป็นคนที่ คสช. 'ไว้ใจ' และเคยทำงานร่วมกันมาก่อน 
 
ย้อนประวัติผลงานการปฏิรูปที่ผ่านมา หลายคณะผลงานไม่เป็นที่นิยม
 
นอกจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศชุดนี้จะหน้าซ้ำ ผลงานของกรรมการบางคนก็เป็นที่ประจักษ์ ถึงขนาดภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านกันเลยทีเดียว
 
เริ่มจาก 'คณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข' ซึ่งมี 'นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์' อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และอดีตผู้รักษาการตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นหนึ่งในกรรมการ โดย "หมอณรงค์" เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกรณี เมื่อครั้ง พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช. มาตรวจเยี่ยมการทำงานและได้ให้ความเห็นเชิงสั่งการว่า เห็นด้วยกับการที่ประชาชนจะมีส่วน "ร่วมจ่าย" เมื่อรับบริการสาธารณสุข โดยที่ปลัดและรักษาการรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขผู้นี้ไม่ได้คัดค้านแต่อย่างใด ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านจากทั้งบรรดาแพทย์และประชาชนจำนวนมากว่า กระทรวงสาธารณสุขกำลังจะล้มระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ ล้ม "บัตรทอง"
 
นอกจากนี้ หนึ่งในกรรมการปฏิรูปชุดเดียวกัน อย่าง 'ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา' ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ออกมาสนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างชัดเจน โดยเคยให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เห็นด้วยกับสัดส่วนคณะกรรมการบอร์ดสปสช. เพราะได้คนไม่รู้จริงมาทำงาน จึงควรให้คนรู้ดีที่สุด คือ กระทรวงสาธารณสุข ทำงาน ทั้งที่หัวใจของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือ การสร้างระบบถ่วงดุลระหว่างประชาชนผู้รับบริการกับกระทรวงสาธารณสุขผู้ให้บริการ 
 
ถัดมาคือ 'คณะกรรมการปฏิรูปด้านพลังงาน' ที่มี พรชัย รุจิประภา เป็นประธาน โดย พรชัย เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงไอซีทีในรัฐบาลคสช. มาก่อน อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งอดีตปลัดกระทรวงพลังงานมาก่อนด้วยเช่นกัน 
 
แต่ทว่า พรชัย เคยถูกคัดค้านจากกลุ่มสภาธรรมาภิบาลและสภาปฏิรูปพลังงานไทย ภายหลัง บอร์ด ปตท. แต่งตั้งพรชัย เป็นกรรมการ ปตท. ชุดใหม่ เพราะ พรชัย มีส่วนให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. โอนบริษัท ผลิตไฟฟ้าระยอง ให้แก่บริษัท ผลิตไฟฟ้า หรือเอ็กโก ในปัจจุบัน ในสมัยที่เป็นประธานบอร์ดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 
 
มิใช่แค่นั้น หนึ่งในคนที่ภาคประชาชนกลุ่มเดียวกันออกมาคัดค้านก็คือ 'ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์' อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เนื่องจาก ปิยสวัสดิ์ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น ได้อนุญาตเปิดสัมปทานรอบที่ 20 รวม 30 แปลง เป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และมากกว่ารัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ให้สัมปทานเพียง 19 แปลง ซึ่ง 'ปิยสวัสดิ์' ก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานด้วยเช่นกัน
 
อีกคนหนึ่ง คือ 'มนูญ ศิริวรรณ' ที่ถูก 'ประสิทธิ์ชัย  หนูนวล' แกนนำเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นผู้มีความคิดเป็นภัยต่อโลกด้วยการเชียร์ให้เกิดการใช้พลังงานฟอสซิล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นเหตุแห่งการทำลายสุขภาพ และระบบนิเวศที่สำคัญของโลก
 
ชุดสุดท้ายที่อยากกล่าวถึง ก็คงไม่พ้น 'คณะกรรมการปฏิรูปด้านสื่อฯ' เนื่องจากกรรมการปฏิรูปหลายคนในคณะนี้เคยเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อฯ มาก่อน ซึ่งในตอนที่เป็น สปท. กรรมการบางคนก็เคยยกมือเห็นชอบกฎหมาย 'ร่างพ.ร.บ.ตีทะเบียนสื่อ' หรือ ร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ ร.อ.ประยุทธ เสาวคนธ์ กับ พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เปิดทางให้อำนาจรัฐแทรกแซงการรายงานข่าวของสื่อ และมีเจตนาในการปิดปากสื่อก็ตาม 
 
จับตาร่างแผนการปฏิรูปประเทศคุมเกมส์รัฐบาลหลังเลือกตั้ง
 
ตลอดสามปีของอุตสาหกรรมการปฏิรูประเทศที่ผ่านมา การปฏิรูปเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากข้อเสนอการปฏิรูปขาดความเป็นรูปธรรมและขาดการนำไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง
 
แต่ทว่า พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นจุดกำเนินของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเหล่านี้ ก็กลับให้อำนาจหน้าที่ไม่แตกต่างไปจากสภาปฏิรูปชุดก่อนๆ นั่นก็คือ การทำ 'ข้อเสนอ' การปฏิรูปเช่นเดียวกัน โดยกฎหมายกำหนด.shที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศจะต้องมาประชุมเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จากนั้นจึงจัดทำร่างแผนการปฎิรูปประเทศให้เสร็จ และต้องเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
 
โดยตัวร่างแผนการปฏิรูปประเทศนั้น จะถูกใช้เป็นแผนแม่บทในการทำงานของหน่วยงานรัฐ ซึ่ง ครม. มีหน้าที่กำกับดูแลและสนับสุนให้หน่วยงานดำเนินการ ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศมีหน้าที่ให้คำแนะนำหรือความเห็นแก่หน่วยงานที่ไม่ดำเนินการตามแผนปฏิรูป หากไม่ปฏิบัติตามก็ให้รายงานไปยังคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป และรัฐธรรมนูญ 2560 ยังกำหนดให้วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดยคสช. มีหน้าที่และอํานาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอีกด้วย
 
เท่ากับว่า 'ปลายทาง' การทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปชุดนี้ ก็คือ การทำแผนแม่บทเพื่อให้ คสช. ควบคุมทิศทางการบริหารประเทศในภายภาคหน้านั้นเอง
 
*หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์ไอลอว์ เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2560

บล็อกของ มนุษย์โรแมนติก

มนุษย์โรแมนติก
เมื่อต้องถอดบทเรียนหรือตกผลึกการลงมติ
มนุษย์โรแมนติก
วันนี้ (11 เมษายน 2562) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติ ส่งเรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการคำนวนเพื่อจัดสรร จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ ที่แต่ละพรรคการเมือง จะพึงมีได้ให้ศาลรัฐธรรมนูญิพจารณาวินิจฉัย ดังที่ปรากฎตามภาพนี้ 
มนุษย์โรแมนติก
วันพรุ่งนี้ (22 ธันวาคม 2561) จะครบรอบการจำคุก 2 ปี ของ 'ไผ่ ดาวดิน' บัณฑิตมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ต้องรับปริญญาที่หน้าศาลทหารพร้อมกับชุดนนักโทษในเรือนจำ ประกอบกับช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา มาตรา 112 กลับมาทำงานอีกครั้ง อย่างที่มันไม่เคยถูกใช้จาก 'ฝ่ายพลเรือน' แบบนี้มาสักพัก
มนุษย์โรแมนติก
12 กรกฎาคม 2561 สนช. มีวาระการประชุมพิจารณาร่างกฎหมาย 5 ฉบับ เกี่ยวกับการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการโดยเฉพาะองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ใช่แค่เงินเดือนขึ้นแต่ยังได้เงินย้อนหลังไปจนถึงปี 57 สำหรับเหตุผลของคสช.
มนุษย์โรแมนติก
หากจะพูดถึงนักแสดงมากความสามารถ หากจะขาดชื่อ ทราย-อินทิรา เจริญปุระ ไปก็คงต้องเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด เพราะนอกจากเธอจะเคยเป็นนักร้อง เป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงแล้ว เธอยังเคยทำหน้าที่เป็นพิธีกรรายการต่างๆ ควบคู่ไปกับการเป็นคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ และสำนักข่าว The Matter ด้วยเช่นกั
มนุษย์โรแมนติก
ต้องขอจั่วหัวตั้งแต่เริ่มต้นว่า บทความนี่มีเจตนา 'ปรับทัศนคติ' ผู้แทนประชาชนในนามพรรคประชาธิปัตย์ อย่างคุณมัลลิกา บุญมีตระกูลชัย (มหาสุข) หลังออกมาแสดงความคิดเห็น
มนุษย์โรแมนติก
ผมมีโอกาสได้อ่านคำถาม 9 ข้อที่พี่ดี้ ถาม ผมคิดว่าบางคำถามนั้นดีมากๆ แต่อยากแลกเปลี่ยนมุมมองว่า จริงๆ แล้วพี่ดี้ มองข้ามคำตอบบางอย่างไปหรือเปล่า และตกหล่นข้อเท็จจริงในปัจจุบันไปหรือเปล่า จึงขอทวนคำถามและตอบคำถามทั้งหมด ดังนี้ 1.มึงจะเป็นคนเลือก…มึงจะเลือกใครวะ
มนุษย์โรแมนติก
เหตุใดการพูดเรื่อง 'ความสำเร็จ' ในสังคมไทย เราจึงเชื่อบรรดากูรูทั้งหลายที่พยายามบอกว่า ตัวแปรต้นของความสำเร็จคือความทุ่มเทพยายาม และหลายครั้งเรามักจะเอาเรื่องความสำเร็จไปผูกกับความมุมานะเสียจนมั่นใจว่าเราควบคุมตัวแปรอื่นๆ อย่างถี่ถ้วนแล้วอย่างนั้น
มนุษย์โรแมนติก
“บ้านทีดีหาใช่แค่มีสิ่งปลูกสร้างที่มั่นคง สะดวกสบาย แต่มันต้องมีบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความรัก ความผูกพัน ของคนในครอบครัว” ถอยห่างจากกรุงเทพมหานครออกไปซักสองร้อยกิโลเมตร ในบ้านหลังหนึ่งในตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยก จังหวัดกาญจนบุรี มีครอบครัวครอบครัวหนึ่งอาศัยอยู่ โดยสมาชิก
มนุษย์โรแมนติก
น่าแปลกที่ช่วงหลังมานี้ เมื่อมีความตายที่ไปเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ทหาร เช่น กรณีการเสียชีวิตในโรงเรียนเตรียมทหาร ของ 'เมย' หรือ ภัคพงค์ ตัญกาญจน์ รวมไปถึงการเสียชีวิตของเครือข่าย 'หมอหยอง' ที่อยู่ระหว่างถูกควบคุมในเรือนจำค่ายทหาร กระบวนการพิสูจน์ทราบสาเหตุการตายมักจะเป็นไปอย่าง 'ผิดปกติ' โดยบทความนี้พยายามจะพาไปดูสิ่งแปลกปลอมในกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในสังคมไทย
มนุษย์โรแมนติก
แม้คำพิพากษาคดีจำนำข้าวจะยังไม่สะท้อนภาพการแทรกแซงการดำเนินนโยบายของรัฐบาลโดยองค์กรตุลาการอย่างเด่นชัด แต่ก็น่าตั้งข้อสังเกตว่า คดีดังกล่าวจะกลายเป็นบรรทัดฐานสำหรับลงโทษรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายที่ถูกกล่าวหาว่าใช้นโยบาย 'ประชานิยม' หรือไม่ โดยเฉพาะในยุคที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้อำนาจองค์กรอิสระในการจับตารัฐบาลชุดหน้าอย่างเข้มข้น
มนุษย์โรแมนติก
เมื่อสัปดาห์ก่อน นายกฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ตาม พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ที่ิเพิ่งประกาศใช้ ทั้งนี้ เมื่อสำรวจรายชื่อของคณะกรรมการชุดดังกล่าว พบว่า หลายคนเคยทำงานในสภาปฏิรูปมาแล้วถึงสองสมัย หลายคนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ คสช. มาก่อน นอกจากนี้ กรรมการบางคนยังมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ได้รับเสียงคัดค้านจากภาคประชาชนเป็นเครื่องการันตี จึงน่าสนใจว่าคณะทำงานชุดนี้จะพาประเทศไปทางไหนและมีบทบาทอย่างไรกันแน่