Skip to main content
27 กันยายน 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษา 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรี ฐาน 'ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่' ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยศาลพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา ทั้งนี้ ศาลพยายามไม่แตะต้องประเด็นความเสียหายของรัฐจากการดำเนินนโยบายจำนำข้าว แต่เจาะจงไปยังการทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ 'G to G' เป็นหลัก
 
อย่างไรก็ดี แม้คดีนี้จะยังไม่สะท้อนภาพการแทรกแซงการดำเนินนโยบายของรัฐบาลโดยองค์กรตุลาการอย่างเด่นชัด แต่ก็น่าตั้งข้อสังเกตว่า คดีดังกล่าวจะกลายเป็นบรรทัดฐานสำหรับลงโทษรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายที่ถูกกล่าวหาว่าใช้นโยบาย 'ประชานิยม' หรือไม่ โดยเฉพาะในยุคที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้อำนาจองค์กรอิสระในการจับตารัฐบาลชุดหน้าอย่างเข้มข้น
 
'จำนำข้าว' ความผิดพลาดบนความปรารถนาดี
 
นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 เป็นต้นมา รัฐบาลพรรคเพื่อไทย นำโดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้เริ่มใช้นโยบายจำนำข้าว โดยตั้งราคารับจำนำข้าวไว้ที่ 15,000 บาท ซึ่งสูงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์และสูงกว่าราคาตลาดถึง 30 ถึง 50 เปอร์เซ็น (ขึ้นอยู่กับความผันผวนของราคาข้าวในแต่ละช่วงแต่ละปี) อีกทั้ง นโยบายนี้ยังประกาศที่จะจำนำข้าว 'ทุกเมล็ด' ซึ่งแตกต่างกับรัฐบาลชุดอื่นๆ ที่เลือกจำนำบางส่วนเพื่อป้องกันการแบ่งต้นทุนมหาศาลจากการรับจำนำข้าว
 
กิติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในยุคยิ่งลักษณ์ ได้อธิบายถึงที่มาที่ไปของนโยบายนี้ไว้ในเวทีเสวนาเกี่ยวกับการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรว่า ต้องการช่วยเหลือชาวนาที่เป็นกลุ่มคนซึ่งมีรายได้น้อยให้มีรายได้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัว ทั้งนี้ กิติรัตน์ มองว่า การช่วยเหลือชาวนาผ่านนโยบายจำนำข้าว ไม่ได้มองเพียงต้นทุนในการปลูกข้าว แต่ยังคิดรวมไปถึงต้นทุนค่าแรง ซึ่งการคิดคำนวณต้นทุนในส่วนนี้ไม่ได้สูงไปกว่าค่าแรงขั้นต่ำโดยเฉลี่ยทั้งประเทศในเวลานั้นด้วยซ้ำ ดังนั้นข้อครหาที่สูงกว่าราคาตลาดมากจึงยังไม่ถูกเสียทีเดียว
 
ด้านนักวิชาการอย่าง รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม และอาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ติดตามนโยบายดังกล่าวอย่างใกล้ชิดก็ร่วมอภิปรายกับกิติรัตน์ด้วยว่า การมีนโยบายช่วยเหลือชาวนาไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมารัฐไทยพึ่งพาการส่งออกข้าวจนถือว่าชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ถ้าจะไม่มีนโยบายเพื่ออุ้มชาวนาเลยก็ดูเป็นเรื่องที่น่าเจ็บช้ำอยู่เหมือนกัน
 
แต่ไม่ว่าจะเห็นดีเห็นงามกับความหวังดีของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือชาวนาหรือไม่ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า 'นโยบายจำนำข้าวเต็มไปด้วยช่องโหว่' 
 
แม้แต่ ร.ศ.ประภาส  ปิ่นตบแต่ง หนึ่งในคนที่พอรับได้กับนโยบายจำนำข้าวก็ยอมรับ รัฐบาลต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า  ถ้ามองเชิงธุรกิจ มันเป็นการทำธุรกิจที่ขาดทุนมหาศาล เนื่องจากรัฐต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับการบริหารจัดการเมื่อรับจำนำข้าว เช่น ต้องหาที่เก็บ เช่าโรงสี รวมไปถึงค่าเก็บรักษาดูแลข้าว 
 
นอกจากนี้ ในข้อมูลงานวิจัย “การคอร์รัปชั่น : กรณีศึกษาโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด” ของ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และคณะ ยังชี้ให้เห็นช่องโหว่อีกว่า นโยบายดังกล่าวเปิดช่องให้เกิดการคอร์รัปชั่นไล่ตั้งแต่มีการสวมสิทธิ์ข้าว นำข้าวจากต่างประเทศมาขาย การทุจริตในโรงสี การปลอมปนข้าวคุณภาพต่ำ หรือสับเปลี่ยนนำข้าวคุณภาพดีไปขาย การแจ้งบัญชีข้าวเท็จ เป็นต้น
 
จากความรับผิดทางการเมืองสู่ความรับผิดทางกฎหมาย
 
จะเห็นได้ว่า คดียิ่งลักษณ์เต็มไปด้วยข้อครหาจากความผิดพลาดในการบริหารนโยบาย และช่องโหว่จากการออกนโยบาย จนหลายภาคส่วนออกมาตักเตือนคัดค้านหลายต่อหลายครั้ง จนในที่สุดความผิดพลาดของรัฐบาลก็ถูกส่งต่อไปให้ศาลเป็นผู้พิจารณา
 
โดยเส้นทางของคดีเริ่มจาก สมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ เป็นคนแรกที่เริ่มยื่นเรื่องต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ไต่สวนนโยบายรับจำนำข้าวในข้อหาเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบายและทำผิดรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 84 ว่าด้วยรัฐต้องสนับสนุนเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรม และจากนั้นไม่นาน ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เสนอต่อ ป.ป.ช. (ลิงค์ข่าว)ให้ตรวจสอบการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวอีกคน
 
ตามมาด้วย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม สส.พรรคประชาธิปัตย์ นำรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากพรรคประชาธิปัตย์จำนวน 146 ราย ยื่นต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้มีการสอบสวนนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยตั้งประเด็นความโปร่งใสของการระบายข้าวผ่านสัญญารัฐต่อรัฐกับประเทศจีน
 
จนท้ายที่สุด อัยการสูงสุด ยื่นฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้อหากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 กรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว 
 
พร้อมระบุว่า นายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ดำเนินนโยบายโดยไม่สนใจข้อทักท้วงทั้งก่อนและระหว่างดำเนินการจากหลายหน่วยงาน ทั้ง ป.ป.ช. สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ รวมไปถึงส.ส. ว่านโยบายนี้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อคุณภาพข้าว บิดเบือนกลไกตลาดและเกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน 
 
อย่างไรก็ดี เมื่อความผิดพลาดของรัฐบาลในครั้งนี้ต้องไปสู่ศาล ก็มีนักวิชาการออกมาตั้งข้อสังเกตว่า คดีความดังกล่าวเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ โดยหนึ่งในคนที่ไม่เห็นด้วยกับการให้เป็นคดีความก็คือ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มองว่า นโยบายทางการเมืองเป็นสิ่งที่ไม่สามารถระบุได้ว่าถูกหรือผิด แต่เป็นเรื่องของความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ถ้านโยบายไหนไม่เหมาะสมก็ต้องมีการลงโทษทางการเมืองไป เช่น การตั้งกระทู้ อภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือลงโทษผ่านผลของการเลือกตั้งใหม่ ไม่สมควรที่จะต้องรับผิดทางกฎหมาย เว้นแต่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่ายิ่งลักษณ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตโดยตรง
 
ประชานิยมจะรอดหรือไม่? ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560
 
ภายหลังศาลมีคำพิพากษาออกมา แม้ว่าศาลจะพยายามไม่แตะต้องข้อกล่าวหาที่ว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายผิดพลาด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คดีนี้ 'อาจจะ' กลายเป็นบรรทัดฐานในการควบคุมรัฐบาลตั้งแต่การเสนอนโยบายไปจนถึงการนำนโยบายไปปฏิบัติ 
 
อีกทั้ง ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายที่จะออกตามรัฐธรรมนูญ ก็ยังเป็นที่น่าจับตาอยู่ว่า องค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญจะใช้กลไกเหล่านี้ในการสกัดนโยบายที่ถูกมองว่าเป็น 'ประชานิยม' อีกหรือไม่ 
 
ยกตัวอย่าง เช่น ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง พรรคการเมืองจะถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามกฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ) ที่กำหนดให้การโฆษณานโยบายของพรรคการเมืองที่ต้องใช้จ่ายเงิน ต้องมีการแสดงรายละเอียด เช่น วงเงินที่ต้องใช้ ที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย และผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย
 
หรืออย่าง ในรัฐธรรมนูญยังวางมาตรการควบคุมนโยบายของรัฐบาลผ่านคำว่า 'วินับการเงินการคลัง' โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 62 ว่า รัฐมีหน้าที่ในการรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืน ซึ่งคำว่า "วินัยการเงินการคลังของรัฐ" ได้แทรกอยู่ตามมาตราต่างๆ ที่มีผลผูกมัดให้การทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ หรือ ในมาตรา 245 ยังกำหนดให้องค์กรอิสระเป็นผู้กำกับเรื่องวินัยการเงินการคลังของรัฐบาลอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดิน กกต. และ ปปช. 
 
อีกทั้ง กฎหมายลูกที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทยอยร่างออกมาก็จะการเพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระข้างต้นเข้ามามีบทบาทในการรัดเข็มขัดรัฐบาลอีกด้วย อย่างเช่น พ.ร.ป.ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ที่ มีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานในการร่าง ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่า เบื้องต้นจะให้ สตง.มีหน้าที่ตรวจสอบงบประมาณภาครัฐว่ามีความถูกต้องหรือไม่ เพื่อให้ ป.ป.ช.ยึดรายงานจาก สตง.เป็นหลักดำเนินการสอบสวนเชิงลึกต่อ และต้องประสานงานทางข้อมูลต่างๆ ร่วมกันระหว่าง สตง.และ ป.ป.ช. โดยเมื่อไหร่ที่ สตง.พบการใช้จ่ายเงินของรัฐไม่ถูกต้องตามวินัยการเงินการคลัง ก็ประชุมร่วมกับองค์กรอิสระอื่นเพื่อท้วงติงไปยังรัฐบาลได้
 
นอกจากนี้ คสช. ยังมีกลไกอย่างยุทธศาสตร์ชาติ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 5 ว่า การกําหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน การจัดทําแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ และแผนอื่นใด รวมตลอดทั้งการจัดทํางบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ
 
หรือหมายความว่า ตั้งแต่การเลือกตั้งไปจนถึงการเป็นรัฐบาล การจะออกนโยบายจะต้องฝ่าด่านต่างๆ ที่คสช. ได้วางเอาไว้ให้ได้เสียก่อน..
 
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์ iLaw เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2560

บล็อกของ มนุษย์โรแมนติก

มนุษย์โรแมนติก
เมื่อต้องถอดบทเรียนหรือตกผลึกการลงมติ
มนุษย์โรแมนติก
วันนี้ (11 เมษายน 2562) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติ ส่งเรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการคำนวนเพื่อจัดสรร จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ ที่แต่ละพรรคการเมือง จะพึงมีได้ให้ศาลรัฐธรรมนูญิพจารณาวินิจฉัย ดังที่ปรากฎตามภาพนี้ 
มนุษย์โรแมนติก
วันพรุ่งนี้ (22 ธันวาคม 2561) จะครบรอบการจำคุก 2 ปี ของ 'ไผ่ ดาวดิน' บัณฑิตมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ต้องรับปริญญาที่หน้าศาลทหารพร้อมกับชุดนนักโทษในเรือนจำ ประกอบกับช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา มาตรา 112 กลับมาทำงานอีกครั้ง อย่างที่มันไม่เคยถูกใช้จาก 'ฝ่ายพลเรือน' แบบนี้มาสักพัก
มนุษย์โรแมนติก
12 กรกฎาคม 2561 สนช. มีวาระการประชุมพิจารณาร่างกฎหมาย 5 ฉบับ เกี่ยวกับการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการโดยเฉพาะองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ใช่แค่เงินเดือนขึ้นแต่ยังได้เงินย้อนหลังไปจนถึงปี 57 สำหรับเหตุผลของคสช.
มนุษย์โรแมนติก
หากจะพูดถึงนักแสดงมากความสามารถ หากจะขาดชื่อ ทราย-อินทิรา เจริญปุระ ไปก็คงต้องเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด เพราะนอกจากเธอจะเคยเป็นนักร้อง เป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงแล้ว เธอยังเคยทำหน้าที่เป็นพิธีกรรายการต่างๆ ควบคู่ไปกับการเป็นคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ และสำนักข่าว The Matter ด้วยเช่นกั
มนุษย์โรแมนติก
ต้องขอจั่วหัวตั้งแต่เริ่มต้นว่า บทความนี่มีเจตนา 'ปรับทัศนคติ' ผู้แทนประชาชนในนามพรรคประชาธิปัตย์ อย่างคุณมัลลิกา บุญมีตระกูลชัย (มหาสุข) หลังออกมาแสดงความคิดเห็น
มนุษย์โรแมนติก
ผมมีโอกาสได้อ่านคำถาม 9 ข้อที่พี่ดี้ ถาม ผมคิดว่าบางคำถามนั้นดีมากๆ แต่อยากแลกเปลี่ยนมุมมองว่า จริงๆ แล้วพี่ดี้ มองข้ามคำตอบบางอย่างไปหรือเปล่า และตกหล่นข้อเท็จจริงในปัจจุบันไปหรือเปล่า จึงขอทวนคำถามและตอบคำถามทั้งหมด ดังนี้ 1.มึงจะเป็นคนเลือก…มึงจะเลือกใครวะ
มนุษย์โรแมนติก
เหตุใดการพูดเรื่อง 'ความสำเร็จ' ในสังคมไทย เราจึงเชื่อบรรดากูรูทั้งหลายที่พยายามบอกว่า ตัวแปรต้นของความสำเร็จคือความทุ่มเทพยายาม และหลายครั้งเรามักจะเอาเรื่องความสำเร็จไปผูกกับความมุมานะเสียจนมั่นใจว่าเราควบคุมตัวแปรอื่นๆ อย่างถี่ถ้วนแล้วอย่างนั้น
มนุษย์โรแมนติก
“บ้านทีดีหาใช่แค่มีสิ่งปลูกสร้างที่มั่นคง สะดวกสบาย แต่มันต้องมีบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความรัก ความผูกพัน ของคนในครอบครัว” ถอยห่างจากกรุงเทพมหานครออกไปซักสองร้อยกิโลเมตร ในบ้านหลังหนึ่งในตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยก จังหวัดกาญจนบุรี มีครอบครัวครอบครัวหนึ่งอาศัยอยู่ โดยสมาชิก
มนุษย์โรแมนติก
น่าแปลกที่ช่วงหลังมานี้ เมื่อมีความตายที่ไปเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ทหาร เช่น กรณีการเสียชีวิตในโรงเรียนเตรียมทหาร ของ 'เมย' หรือ ภัคพงค์ ตัญกาญจน์ รวมไปถึงการเสียชีวิตของเครือข่าย 'หมอหยอง' ที่อยู่ระหว่างถูกควบคุมในเรือนจำค่ายทหาร กระบวนการพิสูจน์ทราบสาเหตุการตายมักจะเป็นไปอย่าง 'ผิดปกติ' โดยบทความนี้พยายามจะพาไปดูสิ่งแปลกปลอมในกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในสังคมไทย
มนุษย์โรแมนติก
แม้คำพิพากษาคดีจำนำข้าวจะยังไม่สะท้อนภาพการแทรกแซงการดำเนินนโยบายของรัฐบาลโดยองค์กรตุลาการอย่างเด่นชัด แต่ก็น่าตั้งข้อสังเกตว่า คดีดังกล่าวจะกลายเป็นบรรทัดฐานสำหรับลงโทษรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายที่ถูกกล่าวหาว่าใช้นโยบาย 'ประชานิยม' หรือไม่ โดยเฉพาะในยุคที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้อำนาจองค์กรอิสระในการจับตารัฐบาลชุดหน้าอย่างเข้มข้น
มนุษย์โรแมนติก
เมื่อสัปดาห์ก่อน นายกฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ตาม พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ที่ิเพิ่งประกาศใช้ ทั้งนี้ เมื่อสำรวจรายชื่อของคณะกรรมการชุดดังกล่าว พบว่า หลายคนเคยทำงานในสภาปฏิรูปมาแล้วถึงสองสมัย หลายคนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ คสช. มาก่อน นอกจากนี้ กรรมการบางคนยังมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ได้รับเสียงคัดค้านจากภาคประชาชนเป็นเครื่องการันตี จึงน่าสนใจว่าคณะทำงานชุดนี้จะพาประเทศไปทางไหนและมีบทบาทอย่างไรกันแน่